ฟอร์ด ออสเตรเลีย เผยโฉมศูนย์ทดสอบรถแบบเสมือนจริงแห่งใหม่ จำลอง สภาพแวดล้อมแบบเสมือนจริงได้ในความละเอียดสูง

ศุกร์ ๒๙ สิงหาคม ๒๐๑๔ ๑๕:๕๙
ห้องทดลองฟอร์ด อิมเมอร์สีฟ เวอร์ชัวร์ เอ็นไวรอนเมนต์ (Ford immersive Virtual Environment หรือ FiVE) แห่งใหม่ เพียบพร้อมด้วยเทคโนโลยีอัจฉริยะในรูปแบบเดียวกับห้องทดลองอันทันสมัยในเมืองดีทรอยต์ ช่วยให้นักออกแบบและวิศวกรของฟอร์ดในออสเตรเลียทำงานร่วมกับทีมพัฒนาผลิตภัณฑ์ระดับโลกไปพร้อมๆ กันได้อย่างราบรื่น

ห้องทดลอง FiVE ใช้เทคโนโลยีจับความเคลื่อนไหวและการแสดงภาพ 3 มิติ แบบเดียวกับที่ใช้สร้างภาพเคลื่อนไหวในอุตสาหกรรมภาพยนตร์และเกมส์ ในการสร้างประสบการณ์และจำลองรถทั้งคันแบบเสมือนจริงเพื่ออำนวยความสะดวกในการทำงานให้กับทีมนักออกแบบและวิศวกร

ห้องทดลองใหม่อันทันสมัยนี้สะท้อนถึงความสำคัญของทีมพัฒนาผลิตภัณฑ์ประจำภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก ในฐานะผู้นำด้านการพัฒนาผลิตภัณฑ์ในโครงการระดับโลกของบริษัท

ฟอร์ดเป็นผู้นำด้านการใช้งานเครื่องมือแสดงภาพแบบเสมือนจริงเพื่อช่วยให้นักออกแบบและนักกายวิภาคศาสตร์ประเมินผลการออกแบบชิ้นส่วนที่เชื่อมต่อระหว่างคนกับเครื่องจักรได้แบบเสมือนจริง จึงช่วยลดบางขั้นตอนการทำงานเช่น การสร้างรถต้นแบบจริงๆ ขึ้นมา

ก่อนหน้านี้ ฟอร์ดได้นำเทคโนโลยีเสมือนจริงมาใช้ในประเทศออสเตรเลียอยู่แล้วในฐานะส่วนหนึ่งของการพัฒนารถถึง 6 รุ่นที่จะวางจำหน่ายทั่วโลกรวมทั้งในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิกในช่วงปี พ.ศ. 2557 และ 2558 รวมทั้งยังเป็นเครื่องมือสนับสนุนการพัฒนารถยนต์ในโครงการระดับโลกอื่นๆ

ฟอร์ดเผยโฉมห้องทดลองฟอร์ด อิมเมอร์สีฟ เวอร์ชัวร์ เอ็นไวรอนเมนต์ (Ford immersive Virtual Environment หรือ FiVE) แห่งใหม่ในกรุงเมลเบิร์น เพื่อช่วยให้นักออกแบบได้ทำงานกับรถเสมือนจริงที่มีขนาดเท่ารถจริง

“ฟอร์ดเป็นหนึ่งในบริษัทแรกๆ ที่นำเทคโนโลยีเสมือนจริงมาใช้ในกระบวนการพัฒนาผลิตภัณฑ์ โดยห้องทดลอง FiVE ที่มีประสิทธิภาพสูงนี้สะท้อนให้เห็นถึงความมุ่งมั่นใส่ใจในรายละเอียดและสะท้อนความประณีตในการพัฒนางานออกแบบของฟอร์ด” นายปีเตอร์ บันติ้ง ผู้จัดการฝ่ายนวัตกรรมดิจิตอล ประจำภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก กล่าว “เทคโนโลยีนี้เป็นส่วนสำคัญในการผลิตรถที่มีคุณภาพให้แก่ลูกค้าของเราทั่วโลก”

ช่วงต้นปีที่ผ่านมา ฟอร์ด ออสเตรเลีย ได้เพิ่มเงินลงทุนในศูนย์ทดลองเสมือนจริงเป็นครั้งที่ 2 หลังจากบริษัทเปิดตัวศูนย์ทดลองเสมือนจริงเป็นครั้งแรกเมื่อปีพ.ศ. 2555 โดยคราวนี้บริษัทได้ปรับปรุงระบบฮาร์ดแวร์และซอฟต์แวร์ รวมถึงติดตั้งซอฟต์แวร์การประมวลภาพเสมือนจริง (photo-realistic virtual reality software หรือ VRED) ชุดใหม่ พร้อมอุปกรณ์ตรวจจับความเคลื่อนไหวแบบเดียวกับที่ใช้ในอุตสาหกรรมภาพยนตร์และเกมส์

นอกจากนี้ ห้องทดลองใหม่ยังมีพื้นที่กว้างขวางมากขึ้น เพียงพอสำหรับการสร้างแบบจำลองรถเสมือนจริงทั้งคัน ทำให้นักออกแบบ ‘เดินรอบรถ’ และสัมผัสประสบการณ์แบบเดียวกับที่ผู้บริโภคสัมผัสในโชว์รูมได้แบบเสมือนจริง

“ผู้ที่ต้องการซื้อรถรู้ดีว่าเวลาดูรถ บางครั้งคุณต้องถอยหลังออกมาเพื่อมองภาพของรถทั้งคันให้ชัดเจนขึ้น ห้องทดลองที่มีขนาดใหญ่ขึ้นทำให้เรามีพื้นที่มากพอที่จะได้สัมผัสประสบการณ์ทั้งหมดในภาพรวม ตั้งแต่รายละเอียดภายในรถไปจนถึงรูปลักษณ์ภายนอก” นายบันติ้ง กล่าว

เทคโนโลยีใหม่ พร้อมความสามารถใหม่

ซอฟต์แวร์ VRED ใหม่มอบภาพเสมือนจริงในความละเอียดสูงหรือที่ความละเอียดสูงกว่าระบบ HD ทั่วไปถึง 4 เท่า โดยใช้ระบบคอมพิวเตอร์ที่ได้รับการปรับปรุงใหม่พร้อมชุดครอบศีรษะที่ประมวลภาพสัญญาณต่ำแบบครบวงจรเพื่อทำให้เกิดภาพ 3 มิติ ก่อให้เกิดเป็นโลกเสมือนจริงที่มีความละเอียดสูงแบบที่ห้องทดลองในอดีตไม่เคยมีมาก่อน

“ห้องทดลอง FiVE สร้างภาพจำลองเสมือนจริงที่มีความละเอียดสูงมาก ทำให้เรามองเห็นโครงสร้างรถทั้งภายนอกและภายในเพื่อดูว่าชิ้นส่วนต่างๆ ทำงานประสานกันอย่างไร จากทั้งมุมมองด้านสถาปัตยกรรม เครื่องยนต์กลไก และระบบไฟฟ้า” นายบันติ้ง กล่าว “เทคโนโลยีนี้ช่วยให้เราแก้ไขปัญหาทั้งด้านวิศวกรรมและการออกได้ในคราวเดียว”

เทคโนโลยีที่ได้รับการปรับปรุงใหม่ในห้องทดลอง FiVE ได้แก่

จอแสดงผลที่มีความละเอียดระดับ 4K ใหม่ ทำให้วิศวกรตรวจสอบปัญหาต่างๆ ที่เกิดขึ้นได้ตลอดกระบวนการพัฒนา โดยระบบจะตรวจจับการเคลื่อนไหวของนักออกแบบและวิศวกร และแสดงภาพรถแบบเสมือนจริงให้สอดคล้องกับการเคลื่อนไหว ทีมงานทั่วโลกของฟอร์ดจึงวิเคราะห์และตรวจสอบรถเสมือนจริงที่มีรายละเอียดตรงกันได้ในเวลาเดียวกัน เรียกได้ว่าซอฟต์แวร์ของห้องทดลองมอบประสบการณ์เสมือนจริงที่มีรายละเอียดใกล้เคียงกับรถจริงๆ

การเพิ่มศักยภาพในการทำงานของเทคโนโลยีเสมือนจริงช่วยให้เทคโนโลยีจับความเคลื่อนไหวที่ใช้ในการติดตามความเคลื่อนไหวของผู้ใช้งานมีประสิทธิภาพดีขึ้นถึง 2 เท่า เทคโนโลยีดังกล่าวจึงใกล้เคียงกับที่อุตสาหกรรมภาพยนตร์และเกมส์นำมาใช้เพื่อจับความเคลื่อนไหวต่างๆ มาใส่ไว้ในภาพยนตร์หรือเกมส์

ระบบคอมพิวเตอร์และการ์ดแสดงผลที่ได้รับการพัฒนาให้ดีขึ้น ทำหน้าที่ประมวลภาพสัญญาณต่ำแบบครบวงจรเพื่อทำให้เกิดประสบการณ์ภาพ 3 มิติ ผ่านทางชุดครอบศีรษะที่ทันสมัย เมื่อผู้ใช้งานเคลื่อนไหว ระบบจะแสดงภาพและโต้ตอบกับผู้ใช้งานได้เหมือนกับกำลังมองเห็นรถจริงๆ อยู่ตรงหน้า ยิ่งไปกว่านั้น ชุดครอบศีรษะยังมอบการมองเห็นภาพจริงตรงหน้าได้พร้อมๆ กัน ผู้ใช้งานจึงมองเห็นร่างกายของตนมีปฏิสัมพันธ์กับรถเสมือนจริงได้

โลกเสมือนจริงกับผลลัพธ์จริง

ฟอร์ดเริ่มนำเทคโนโลยีเสมือนจริงมาใช้ในดีทรอยต์เมื่อปีพ.ศ. 2549 เพื่อทดสอบการออกแบบ รูปร่างลักษณะและตัวเลือกทางกายวิภาคศาสตร์อื่นๆ เพื่อนำมาปรับปรุงรถรุ่นใหม่ก่อนเข้าสู่กระบวนการสร้างรถต้นแบบขึ้นมา เพราะการเปลี่ยนแปลงใดๆ แม้เพียงเล็กน้อยหลังจากขั้นตอนนี้จะก่อให้เกิดค่าใช้จ่ายสูงและใช้เวลามาก การที่ฟอร์ดให้ความสำคัญต่อการออกแบบที่แม่นยำก่อนกระบวนการผลิต มีส่วนช่วยปรับปรุงคุณภาพและความสวยงามของรถฟอร์ดทั่วโลก ซึ่งเราสังเกตเห็นได้อย่างชัดเจนจากพัฒนาการด้านออกแบบรถที่วางจำหน่ายอยู่ทั่วโลกในปัจจุบัน

ตัวอย่างเช่น รถฟอร์ด มัสแตงใหม่ ที่วิศวกรเริ่มกระบวนการผลิตด้วยการสร้างรถในโลกเสมือนจริงเพื่อศึกษาชิ้นส่วนต่างๆ บนแผงหน้าปัด รวมถึงปรับปรุงรถให้ตอบสนองต่อสรีระของผู้ขับขี่ทั้งสำหรับรถที่ขับพวงมาลัยขวาและพวงมาลัยซ้าย นอกจากนี้ ยังค้นพบวิธีการซ่อนน๊อตยึดต่างๆ เพื่อให้รถดูสวยขึ้น มัสแตง ใหม่ จึงมีรูปลักษณ์ภายนอกที่เพรียวและประณีตขึ้น นับเป็นการสร้างมาตรฐานใหม่ของงานช่างฝีมืออันยอดเยี่ยม

ระหว่างการพัฒนารถฟอร์ด เอสคอร์ท ใหม่ และฟอร์ด เอเวอเรสต์ ใหม่ วิศวกรและนักออกแบบของฟอร์ดในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก ได้ศึกษาการออกแบบรถให้สอดคล้องกับสรีระของผู้ใช้งานอย่างรอบด้านเพื่อความมั่นใจว่าอุปกรณ์ต่างๆ ภายในห้องโดยสารได้รับการจัดวางในตำแหน่งที่เหมาะสมและสะดวกสำหรับผู้ขับขี่ การสร้างภาพเสมือนจริงและความสามารถในการโต้ตอบกับภาพเสมือนได้แบบเดียวกับผู้ขับขี่จริง จึงทำให้วิศวกรและนักออกแบบประเมินผลและจัดวางอุปกรณ์และตัวควบคุมในห้องโดยสารได้ในตำแหน่งที่ดีที่สุด

ศูนย์กลางของภูมิภาคจากแผน One Ford

เครือข่ายของศูนย์พัฒนาและออกแบบเสมือนจริงของฟอร์ดประกอบด้วยห้องทดลอง FiVE 2 แห่ง ในประเทศออสเตรเลียและสหรัฐอเมริกา รวมถึงศูนย์ประสานงานในเยอรมนี จีน อินเดีย บราซิล และเม็กซิโก โดยตั้งแต่ต้นปีที่ผ่านมา ฟอร์ดได้ใช้เทคโนโลยีนี้ทดสอบรายละเอียดมากกว่า 150,000 รายการในรถต้นแบบเสมือนจริงกว่า 200 คันที่ผลิตขึ้นในห้องทดลอง FiVE

“แผน One Ford ของเราคือการพัฒนารถให้ตรงกับความต้องการของผู้บริโภคทั่วโลกมากยิ่งขึ้น” นายบันติ้ง กล่าว “เทคโนโลยีนี้ช่วยให้เราบรรลุวัตถุประสงค์ดังกล่าวได้ด้วยการทำให้นักออกแบบและวิศวกรได้ทำงานร่วมกันในระดับนานาชาติแบบเรียลไทม์ ควบคู่กับการพัฒนาคุณภาพของงานไปพร้อมกันด้วย”

ระบบนี้ช่วยให้วิศวกรและนักออกแบบทั่วโลกคัดสรรชิ้นงานจากการออกแบบเสมือนจริงและเลือกสิ่งที่ดีที่สุดได้อย่างรวดเร็ว กระบวนการนี้ทำให้มั่นใจได้ว่ารถทุกคันได้ผ่านการตรวจสอบอย่างละเอียดเพื่อให้การออกแบบตอบสนองต่อการใช้งาน ลงตัว และให้แสงเงาตามที่ต้องการ ซึ่งเป็นคุณสมบัติที่ระบบเสมือนจริงทำได้ดี

“ทีมงานของเราทั่วโลกพร้อมทำงานเคียงข้างกันผ่านโลกเสมือนจริงเพื่อร่วมพัฒนาผลิตภัณฑ์แต่ละรุ่น” นายทอด วิลลิ่ง ผู้อำนวยการฝ่ายออกแบบ ฟอร์ด เอเชียแปซิฟิก กล่าว “ด้วยจอแสดงผลที่มีความละเอียดระดับ 4K ในห้องทดลอง FiVE และในสตูดิโอออกแบบ วิศวกรและนักออกแบบของฟอร์ดจึงพัฒนาทุกรายละเอียดของรถฟอร์ดแต่ละคันร่วมกันได้ ไม่ว่าคุณจะอยู่ที่เมลเบิร์นหรือที่ใดในโลก”

ข่าวประชาสัมพันธ์ล่าสุด

๒๐:๕๙ ซีเอเค อินเตอร์เนชั่นแนล ให้การต้อนรับอาจารย์คณะวิศวกรรมศาสตร์ ม.ศรีปทุม
๒๐:๓๑ กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ลงพื้นที่เพื่อติดตามความก้าวหน้าตามข้อสั่งการของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์
๒๐:๕๒ Vertiv เปิดตัวดาต้าเซ็นเตอร์ไมโครโมดูลาร์รุ่นใหม่ที่มี AI ในเอเชีย
๒๐:๐๙ พิธีขึ้นเสาเอก เปิดไซต์ก่อสร้าง โครงการ แนชเชอแรล ภูเก็ต ไพรเวท พูลวิลล่า บ้านเดี่ยวบนทำเลทองใจกลางย่านเชิงทะเล
๒๐:๔๖ เขตบางพลัดประสาน รฟท.-กทพ. ปรับภูมิทัศน์ เพิ่มพื้นที่สีเขียวหน้าสถานีรถไฟบางบำหรุ
๒๐:๕๘ ร่วมแสดงความยินดีแก่อธิบดีกรมยุโรป ณ โรงแรมเซ็นทาราแกรนด์ฯ เซ็นทรัลเวิลด์
๒๐:๐๓ กทม. เดินหน้าจัดกิจกรรมริมคลองโอ่งอ่าง ส่งเสริมอัตลักษณ์ กระตุ้นเศรษฐกิจ-การท่องเที่ยว
๒๐:๔๙ พาราไดซ์ พาร์ค ร่วมกับ กรมการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือก พาคุณไปสัมผัสการนวดเพื่อสุขภาพจาก 4 ภูมิภาคของไทย
๒๐:๒๔ Digital CEO รุ่นที่ 7 เรียนรู้เข้มข้นต่อเนื่อง จากวิทยากรชั้นนำของวงการ
๒๐:๒๔ เด็กไทย คว้ารางวัลระดับโลก โดรนไทย ชนะเลิศนวัตกรรมสิ่งประดิษฐ์ทางด้านอากาศยานไร้คนขับ UAV ณ กรุงเจนีวา