บ๊อช กรุยทางพัฒนาการขับขี่ปลอดภัยในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ พร้อมเร่งสนับสนุนให้เอเชียตะวันออกเฉียงใต้มีความปลอดภัยยิ่งขึ้นสำหรับผู้ขับขี่รถยนต์

พุธ ๑๕ มีนาคม ๒๐๑๗ ๑๖:๕๗
- ตัวเลขการเสียชีวิตบนท้องถนนในกลุ่มประเทศสมาชิกอาเซียนอยู่ที่ประมาณ 117,000 รายต่อปี โดยสาเหตุมากกว่าครึ่งหนึ่งเกิดจากรถจักรยานยนต์

- ประเทศที่เริ่มออกข้อบังคับให้รถจักรยานยนต์รุ่นใหม่ต้องติดตั้งระบบเบรกป้องกันล้อล็อกหรือระบบเบรก ABS มีจำนวนเพิ่มขึ้น เช่น ประเทศในกลุ่มสหภาพยุโรป ญี่ปุ่น ไต้หวัน และอินเดีย

- มาเลเซียเป็นประเทศแรกและประเทศเดียวในกลุ่มประเทศสมาชิกอาเซียน ที่จะเริ่มบังคับให้รถยนต์รุ่นใหม่ทุกคันต้องติดตั้งระบบการควบคุมการทรงตัวของรถยนต์ หรือ ระบบ ESC นับตั้งแต่ปี 2561 เป็นต้นไป

บ๊อชเชื่อมั่นว่ามีหลายสิ่งที่สามารถทำได้เพื่อช่วยส่งเสริมความปลอดภัยบนท้องถนนในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ในแต่ละปี มีรายงานผู้เสียชีวิตจากอุบัติเหตุบนท้องถนนประมาณ 63,000 รายในกลุ่มประเทศสมาชิกอาเซียน ขณะที่องค์การอนามัยโลกเชื่อว่าตัวเลขที่แท้จริงอาจอยู่ที่ราว 117,000 รายต่อปี ซึ่งอาจเกิดจากข้อมูลที่ไม่เที่ยงตรงหรือมีจำนวนอุบัติเหตุที่ไม่ได้บันทึกไว้ ทั้งนี้ พบว่า อัตราการเสียชีวิตจากอุบัติเหตุบนท้องถนน มีความแตกต่างกันอย่างมากระหว่างแต่ละประเทศในภูมิภาคนี้ โดยเมื่อเทียบกับจำนวนประชากรต่อคน สิงคโปร์เป็นหนึ่งในประเทศที่มีการเสียชีวิตบนท้องถนนน้อยที่สุดในโลก ในขณะที่ไทยเป็นประเทศที่มีการเสียชีวิตบนท้องถนนมากที่สุดในโลกเป็นอันดับสอง รองจากลิเบีย ส่วนฟิลิปปินส์เป็นประเทศที่มีการเสียชีวิตบนท้องถนนน้อยเป็นอันดับสองในภูมิภาคนี้ รองจากสิงคโปร์

"เราต้องเร่งหาหนทางแก้ไขปัญหาอย่างยั่งยืน จากสาเหตุการเสียชีวิตในกลุ่มคนหนุ่มสาวของภูมิภาคนี้ ซึ่งได้คร่าชีวิตผู้คนจำนวนมาก และทำให้รัฐบาลของแต่ละประเทศต้องสูญเสียงบประมาณจำนวนมหาศาลในแต่ละปี" มร. มาร์ติน เฮย์ส ประธานบริหาร บ๊อช ภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ กล่าวในคำปราศรัยสำคัญระหว่างการประชุมสุดยอดธุรกิจสหภาพยุโรป-อาเซียน (EU-ASEAN Business Summit) ที่จัดขึ้น ณ กรุงมะนิลา ประเทศฟิลิปปินส์เมื่อเร็วๆ นี้ "การสูญเสียชีวิตผู้คนมากมาย และความเสียหายต่อทรัพย์สิน รวมถึงชื่อเสียงด้านความปลอดภัย ได้กลายมาเป็นภัยคุกคามต่อความเจริญก้าวหน้าทางด้านสังคมและเศรษฐกิจของกลุ่มประเทศสมาชิกอาเซียน"

ผู้นำทั้งหลายของกลุ่มประเทศสมาชิกอาเซียนจึงได้ลุกขึ้นมาให้ความสำคัญอย่างจริงจังต่อภัยคุกคามนี้ เนื่องจากอุบัติเหตุบนท้องถนนได้สร้างความเสียหายต่อสุขภาพและสวัสดิภาพของประชากร รวมทั้งต่อเศรษฐกิจของประเทศด้วย ในเดือนพฤศจิกายน 2558 รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคมจากกลุ่มประเทศที่มีข้อตกลงทางเศรษฐกิจระหว่างประเทศในภูมิภาคนี้ ได้ร่วมกันสร้างยุทธศาสตร์ความปลอดภัยทางถนนในภูมิภาคอาเซียน (ASEAN Regional Road Safety Strategy) ที่ได้เสนอกรอบการทำงานเชิงยุทธศาสตร์และแนวทางปฏิบัติต่างๆ โดยมีจุดมุ่งหมายเพื่อลดจำนวนการเสียชีวิตบนท้องถนนภายในภูมิภาคนี้ลงครึ่งหนึ่ง ภายในปี 2563 นอกจากนี้ ยุทธศาสตร์ดังกล่าว ยังได้รับการตอบรับจากรัฐมนตรีด้านเศรษฐกิจจากประเทศต่างๆ ในอาเซียน รวมถึงจากคณะมนตรีประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน เมื่อเดือนกุมภาพันธ์ที่ผ่านมาอีกด้วย โดยรัฐมนตรีเหล่านี้ จะร่วมกันทำงานเพื่อพัฒนานโยบายและแผนงานต่างๆ ด้านความปลอดภัยบนท้องถนน และปรับปรุงกฎเกณฑ์ข้อบังคับด้านความปลอดภัยของภูมิภาคนี้ ให้สอดคล้องกับข้อบังคับของสหประชาชาติ ทั้งนี้ ที่ประชุมสหประชาชาติ ได้ประกาศอย่างเป็นทางการให้ช่วงเวลาระหว่างปี 2554-2563 เป็นทศวรรษแห่งการสร้างความปลอดภัยบนท้องถนน โดยมุ่งเป้าเพื่อยับยั้งและลดจำนวนผู้เสียชีวิตบนท้องถนนในทั่วโลก

"สำหรับบ๊อช การมีผู้เสียชีวิตจากอุบัติเหตุบนท้องถนนเพียงรายเดียว ก็นับว่ามากพอแล้ว" มร. เฮย์ส กล่าว "ในฐานะที่เป็นหนึ่งในผู้ผลิตด้านยานยนต์ เราเชื่อว่า สิ่งสำคัญที่อุตสาหกรรมยานยนต์สามารถทำได้คือ การสร้างยานพาหนะที่มีความปลอดภัยมากยิ่งขึ้น ซึ่งพร้อมสรรพด้วยระบบความปลอดภัยที่ทันสมัย"

นับเป็นเวลาหลายทศวรรษแล้ว ที่บ๊อชมุ่งมั่นพัฒนาความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีด้วยวิสัยทัศน์ในการสร้างวิถีการขับขี่ที่ไร้อุบัติเหตุ โดยระบบเบรกป้องกันล้อล็อกหรือระบบเบรก ABS สำหรับรถนั่งส่วนบุคคลตัวแรกของโลกที่พัฒนาโดยบ๊อช ได้กลายมาเป็นเทคโนโลยีขั้นพื้นฐานในการช่วยป้องกันล้อล็อกเมื่อต้องเบรกกะทันหันนับตั้งแต่ปี 2521 เป็นต้นมา นวัตกรรมนี้ช่วยให้ผู้ขับขี่สามารถควบคุมพวงมาลัยในสถานการณ์ต่างๆ ขณะขับขี่ได้ และยังช่วยลดระยะในการเบรกโดยป้องกันการลื่นไถลได้ ในปี 2538 บ๊อชได้ปรับปรุงเทคโนโลยีนี้ให้ดียิ่งขึ้น โดยคิดค้นระบบการควบคุมการทรงตัวของรถยนต์ Electronic Stability Program (หรือที่รู้จักกันในชื่อ ESP และ ESC) ตัวแรกของโลกซึ่งในปัจจุบันพบว่า ร้อยละ 64 ของรถยนต์รุ่นใหม่ทั่วโลก ได้มีการติดตั้งระบบ ESP แล้ว โดยเฉพาะในทวีปยุโรป ระบบ ESP สามารถช่วยรักษาชีวิตผู้คนกว่า 8,500 ราย และยังช่วยป้องกันไม่ให้เกิดอุบัติเหตุกว่า 250,000 ครั้ง จนถึงปัจจุบัน

เนื่องจากเอเชียตะวันออกเฉียงใต้เป็นตลาดรถจักรยานยนต์ที่ใหญ่เป็นอันดับสามของโลก ผู้เสียชีวิตจากอุบัติเหตุบนท้องถนนในภูมิภาคนี้มากกว่าครึ่งหนึ่งจึงเป็นผู้ใช้รถจักรยานยนต์ ในแต่ละปี เฉพาะในประเทศอินโดนีเซียและไทย มีผู้ใช้รถจักรยานยนต์ที่เสียชีวิตจากอุบัติเหตุถึง 21,000 ราย เทคโนโลยีที่สำคัญที่จะช่วยเพิ่มความปลอดภัยในการขับขี่รถจักรยานยนต์คือระบบเบรก ABS ซึ่งเป็นระบบป้องกันล้อล็อกจากการเบรก ทำให้รถยังคงทรงตัวได้ดีและผู้ขับขี่สามารถโดยสารได้อย่างปลอดภัย ระบบเบรก ABS สำหรับรถจักรยานยนต์ เริ่มใช้ครั้งแรกในปี 2538 โดยสามารถช่วยลดความเสี่ยงจากการล้ม ย่นระยะในการหยุดรถ จึงลดความเสี่ยงในการชนหรือปะทะกันอย่างเห็นได้ชัด งานวิจัยของบ๊อชคาดคะเนว่า หากรถจักรยานยนต์ทุกคันในกลุ่มประเทศสมาชิกอาเซียน ได้รับการติดตั้งระบบเบรก ABS แล้ว จะสามารถช่วยป้องกันอุบัติเหตุจากรถจักรยานยนต์ลงไปได้ถึง 1 ใน 4 ส่วน ขณะที่ทั่วโลก มีประเทศที่อยู่ระหว่างการออกข้อบังคับให้มีการติดตั้งระบบเบรก ABS ในรถจักรยานยนต์รุ่นใหม่ทุกคันมากขึ้นเรื่อยๆ อาทิ ประเทศในกลุ่มสหภาพยุโรป ญี่ปุ่น ไต้หวัน และอินเดีย

มร. เฮย์ส กล่าวว่า "รัฐบาลคือผู้แสดงบทบาทสำคัญในการส่งเสริมระบบความปลอดภัยต่างๆ เหล่านี้ ในกลุ่มประเทศที่พัฒนาแล้วและกำลังพัฒนาทั่วโลก ต่างก็ดำเนินมาตรการทางกฎหมาย ในการออกข้อบังคับเกี่ยวกับระบบและอุปกรณ์ด้านความปลอดภัยต่างๆ แทบทั้งสิ้น"

อย่างไรก็ตาม ยังมีอีกหลายประเทศที่ยังไม่มีการออกกฎข้อบังคับให้มีการติดตั้งระบบด้านความปลอดภัย อาทิ ระบบ ESC และระบบ ABS สำหรับรถจักรยานยนต์และรถยนต์นั่งส่วนบุคคล ได้แก่ ประเทศในทวีปแอฟริกา และบางประเทศในอเมริกาใต้ ตะวันออกกลาง และประเทศส่วนใหญ่ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ในปัจจุบัน มาเลเซียถือเป็นประเทศแรกและประเทศเดียวในกลุ่มประเทศสมาชิกอาเซียน ที่มีการออกข้อบังคับให้ยานยนต์รุ่นใหม่ทุกคันต้องติดตั้งระบบ ESC นับตั้งแต่ปี 2561 เป็นต้นไป

ยานพาหนะที่มีมาตรฐานความปลอดภัยระดับสูง อาทิ มีการติดตั้งถุงลมนิรภัย ระบบ ESC หรือระบบ ABS นั้น ไม่เพียงแต่จะช่วยสร้างความปลอดภัยให้กับผู้โดยสารเท่านั้น แต่ยังช่วยสร้างโอกาสด้านการส่งออกให้กับผู้ผลิตในประเทศต่างๆ สำหรับตลาดยานยนต์หลักๆ ทั่วโลกอีกด้วย มร.เฮย์ส กล่าวว่า "เรามีความเห็นว่ารัฐบาลในประเทศต่างๆ ควรให้ความสนใจอย่างจริงจัง ในการส่งเสริมอุปกรณ์และระบบด้านความปลอดภัยต่างๆ เหล่านี้ หากต้องการนำอาเซียนไปสู่ความเป็นศูนย์กลางการผลิตด้านยานยนต์ระดับโลก ซึ่งมีการแข่งขันสูงทั่วโลก นอกจากนี้ ยังเป็นการส่งเสริมให้เกิดความก้าวหน้าทางเศรษฐกิจและสังคมในภูมิภาคนี้ได้อีกด้วย"

มร.เฮย์ส กล่าวสรุปว่า "การเสริมสร้างความปลอดภัยบนท้องถนน ไม่สามารถทำให้สำเร็จลุล่วงในเวลาเพียงชั่วข้ามคืน เราต้องเข้าใจด้วยว่า นี่เป็นกระบวนการที่ต้องค่อยเป็นค่อยไป และต้องอาศัยความร่วมมือจากผู้ที่มีส่วนเกี่ยวข้องในหลายภาคส่วน ได้แก่ รัฐบาล วงการวิทยาศาสตร์ องค์กรอิสระทั้งหลาย และภาคอุตสาหกรรมยานยนต์"

ข่าวประชาสัมพันธ์ล่าสุด

๑๙ เม.ย. บิทูเมน มารีน บริษัทลูก TASCO ลงนามสัญญาต่อเรือขนส่งยางมะตอย เสริมศักยภาพกองเรือ
๑๙ เม.ย. รมว.เกษตรฯ ลุยร้อยเอ็ด ผลักดันโครงการพัฒนาแหล่งน้ำ 3 แห่ง
๑๙ เม.ย. กูรูหุ้นเชียร์ซื้อ PSP เคาะเป้าราคาสูงสุด 8 บ./หุ้น ยอดขายพุ่ง-หนี้ลด ดันกำไรปี 67 ออลไทม์ไฮ ดีล MA สร้าง New S-Curve
๑๙ เม.ย. ข้าวกล้อง-จักรีภัทร พร้อมเต็มร้อย! ประเดิม จูเนียร์จีพี สนามแรก ประเทศอิตาลี
๑๙ เม.ย. กรมประมงขอเชิญร่วมแข่งขันตกปลาชะโด
๑๙ เม.ย. เชลล์ดอน การ์ตูนดังร่วมสาดความสนุกในเทศกาลสงกรานต์
๑๙ เม.ย. สปสช. ติดปีกเทคโนโลยีไอทีด้วยคลาวด์กลางภาครัฐ GDCC ยกระดับบริการบัตรทองรวดเร็วทันสมัย ดูแลสุขภาพคนไทยยุคดิจิทัล
๑๙ เม.ย. GSK ร่วมงาน Re-imagining UK Aging Care Event ของสถานทูตอังกฤษ มุ่งสร้างเสริมภูมิคุ้มกันผู้สูงอายุ
๑๙ เม.ย. เอส เอฟ จับมือ กปน. มอบสิทธิ์ดูฟรีรวม 1,000 ที่นั่ง เพียงใช้ MWA Point ที่ เอส เอฟ!!
๑๙ เม.ย. เตรียมพร้อมนับถอยหลัง 12 ชั่วโมงสุดท้าย! ก่อนเริ่มประวัติศาสตร์ครั้งใหม่ Bitcoin Halving ครั้งที่ 4