“หมอลี่” ชี้โปรฯ 4G ไร้ FUP อาจก่อบิลช็อก ย้ำสำนักงาน กสทช. ต้องกำกับเข้ม

พฤหัส ๑๑ กุมภาพันธ์ ๒๐๑๖ ๑๑:๑๑
กสทช. ประวิทย์ ตั้งข้อสังเกตอัตราค่าบริการ 4G ของผู้ให้บริการบนคลื่น 1800 MHz ยังไม่ชัดเจนว่าสอดคล้องตามเงื่อนไขใบอนุญาตหรือไม่ พร้อมเตือนสำนักงาน กสทช. จับตากำกับดูแลรายการส่งเสริมการขายไม่มีFUP ให้ดี หวั่นสร้างปัญหาบิลช็อก

ภายหลังจากที่สำนักงานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (สำนักงาน กสทช.) ออกใบอนุญาตให้กับผู้ชนะการประมูลคลื่น 1800 MHz ทั้งสองราย คือ บริษัท แอดวานซ์ ไวร์เลส เน็ทเวอร์ค จำกัด และบริษัท ทรู มูฟ เอซ ยูนิเวร์แซล คอมมิวนิเคชั่น จำกัด ล่าสุดเมื่อปลายเดือนที่ผ่านมา บริษัท แอดวานซ์ ไวร์เลส เน็ทเวอร์ค จำกัด ได้เปิดตัวรายการส่งเสริมการขายใหม่ที่ให้บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่บนเทคโนโลยี 4G บนย่านความถี่ดังกล่าวอย่างเป็นทางการ โดยนำเสนอโปรโมชั่นแบบรายเดือน (Postpaid) จำนวน 3 แพ็คเกจหลัก ได้แก่ แพ็คเกจ AIS 4G Max Speed แพ็คเกจ AIS 4G Multi และแพ็คเกจ AIS 4G Share ซึ่งเน้นให้บริการใช้งาน Data อย่างเต็มตัว โดยทั้ง 3 แพ็คเกจขายพ่วงบริการประเภทเสียง บริการเชื่อมต่ออินเทอร์เน็ตด้วยเทคโนโลยี 3G และ 4Gรวมไปถึงบริการเสริมอื่นๆ เช่น บริการ Wi-Fi บริการจัดเก็บข้อมูลบนคลาวด์ และบริการภาพยนตร์ออนไลน์ อย่างไรก็ตาม ยังไม่มีความชัดเจนว่าโปรโมชั่นดังกล่าวเป็นไปตามเงื่อนไขใบอนุญาตด้วยหรือไม่

ทั้งนี้ ตามประกาศหลักเกณฑ์และวิธีการอนุญาตให้ใช้คลื่นความถี่โทรคมนาคมย่าน 1800 MHz กำหนดให้ผู้ได้รับใบอนุญาตต้องกำหนดอัตราค่าบริการประเภทเสียง (Voice) และบริการข้อมูล (Data) ในอัตราต่ำกว่าค่าบริการเฉลี่ยของบริการโทรศัพท์เคลื่อนที่บนคลื่นความถี่ย่าน 2100 MHz ในวันที่ 25 สิงหาคม 2558 อีกทั้งยังต้องจัดให้มีรายการส่งเสริมการขายอย่างน้อย 1 รายการที่มีอัตราค่าบริการต่ำกว่าอัตราค่าบริการเฉลี่ยบนคลื่นความถี่ย่าน 2100MHz และต้องคิดอัตราค่าบริการตามจริง และมีคุณภาพบริการไม่ต่ำกว่าคุณภาพบริการเฉลี่ยของบริการโทรศัพท์เคลื่อนที่บนย่าน 2100 MHz ซึ่งจากการคำนวณอัตราค่าบริการเฉลี่ยของบริการบนย่านความถี่ 2100 MHz วันที่ 25 สิงหาคม 2558 โดยสำนักงาน กสทช. พบว่า บริการประเภทเสียงอยู่ที่ 0.69 บาทต่อนาที ค่าบริการข้อความสั้น (SMS) 1.15 บาทต่อข้อความ ค่าบริการข้อความมัลติมีเดีย (MMS) 3.11 บาทต่อข้อความ และบริการเชื่อมต่ออินเทอร์เน็ต 0.26 บาทต่อเมกกะไบท์

นายประวิทย์ ลี่สถาพรวงศา หรือ "หมอลี่" กสทช. ด้านคุ้มครองผู้บริโภคและส่งเสริมสิทธิเสรีภาพของประชาชน เปิดเผยว่า อัตราค่าบริการเฉลี่ยทั้งหมดทุกรายการส่งเสริมการขายของผู้ให้บริการจะเกินกว่าอัตราค่าบริการเฉลี่ยที่กำหนดไว้หรือไม่นั้นเป็นเรื่องยากที่ผู้ใช้บริการจะสามารถตรวจสอบได้ เพราะมีลักษณะเป็นการขายพ่วงบริการ ดังนั้นจึงเป็นหน้าที่ที่สำนักงาน กสทช. ต้องดำเนินการติดตามตรวจสอบ และรายงานผลต่อสาธารณะเป็นระยะ เพื่อให้ผู้ใช้บริการมั่นใจได้ว่าผู้ให้บริการไม่มีการผลักภาระให้กับผู้ใช้บริการจนต้องจ่ายค่าบริการในราคาที่แพงขึ้น อย่างไรก็ตาม จากการเปิดตัวรายการส่งเสริมการขายของผู้ให้บริการ พบว่าเป็นรายการส่งเสริมการขายที่คิดค่าบริการแบบเหมาจ่ายรายเดือนเท่านั้น ยังไม่พบว่ามีรายการส่งเสริมการขายอย่างน้อย 1 รายการตามที่ประกาศกำหนดว่าต้องคิดค่าบริการตามจริง ใช้งานเท่าไร จ่ายเท่านั้น ไม่ใช่การคิดค่าบริการแบบเหมาจ่าย รวมถึงต้องการันตีคุณภาพของบริการว่าต้องดีกว่าบริการบนคลื่นความถี่เดิมด้วย ซึ่งสำนักงาน กสทช. คงต้องเร่งติดตามผู้ให้บริการว่าจะสามารถออกรายการส่งเสริมการขายในลักษณะดังกล่าวได้เมื่อใด

นอกจากนี้ นายประวิทย์ยังได้ตั้งข้อสังเกตด้วยว่า รายการส่งเสริมการขายที่ออกมาไม่มี Fair Usage Policy (FUP) หรือไม่ได้ระบุว่าใช้งานไม่จำกัดเหมือนที่เคยมีในอดีต ทำให้เมื่อผู้ใช้บริการเชื่อมต่ออินเทอร์เน็ตเกินกว่าที่กำหนดไว้ในแพ็คเกจแล้วต้องจ่ายค่าบริการเพิ่มจากเดิม ต่างจากในอดีตที่เมื่อใช้งานเกินกว่าแพ็คเกจแล้วความเร็วจะลดลง ซึ่งผู้ใช้บริการสามารถใช้งานต่อเนื่องได้โดยไม่ต้องจ่ายค่าบริการเพิ่ม การตัด FUP ออกจากรายการส่งเสริมการขายจึงเพิ่มความเสี่ยงที่ผู้ใช้บริการจะถูกคิดค่าบริการเพิ่มจากเดิมโดยไม่รู้ตัว หากผู้ให้บริการไม่มีระบบการแจ้งเตือนหรือ Credit Limit ที่มีประสิทธิภาพอย่างเพียงพอ

"โปรโมชั่นลักษณะนี้จะยิ่งก่อให้เกิดความยุ่งยากให้กับสำนักงาน กสทช. ในการกำกับดูแลมากยิ่งขึ้น โดยสำนักงาน กสทช. ต้องกำกับอย่างเข้มงวดให้ผู้ให้บริการมีการแจ้งเตือนผู้ใช้งานทุกครั้งที่ปริมาณอินเทอร์เน็ตตามรายการส่งเสริมการขายใกล้หมด เพื่อให้ผู้ใช้งานรู้ตัวก่อนที่จะมีการคิดค่าบริการเพิ่ม รวมทั้งมีการแจ้งเตือนเป็นระยะๆ เป็นขั้นบันไดเมื่อมีการใช้งานเพิ่มสูงขึ้นเรื่อยๆ เพื่อป้องกันปัญหาบิลช็อกที่อาจเกิดขึ้นตามมา ซึ่งก็ในขณะเดียวกัน ผู้ใช้บริการก็สามารถป้องกันปัญหาได้ด้วยตัวเอง โดยติดตั้งแอพพลิเคชั่นตรวจสอบปริมาณการใช้งานอินเทอร์เน็ตและหมั่นตรวจสอบว่าปริมาณการใช้งานใกล้หมดแล้วหรือยัง รวมทั้งแจ้งจำกัดวงเงินการใช้งานผ่าน Call Center หรือที่ศูนย์บริการของผู้ให้บริการ เพื่อควบคุมยอดค่าใช้บริการไม่ให้บานปลาย" นายประวิทย์กล่าว

ข่าวประชาสัมพันธ์ล่าสุด

๑๗:๕๔ กทม. เตรียมปรับปรุงพัฒนาระบบการให้บริการงานทะเบียนสำนักงานเขต
๑๗:๑๗ สมาคมเพื่อนชุมชน ส่งเสริมองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ถ่ายทอดองค์ความรู้ แนวทางลดก๊าซเรือนกระจก
๑๗:๔๑ กทม. เร่งติดตั้งเสา-ตะแกรงรั้วกั้นเกาะกลางถนนวิสุทธิกษัตริย์ที่ถูกรถชนเสียหาย
๑๗:๐๔ คณะวิทยาการจัดการ มหาวิทยาลัยสวนดุสิต ขอเชิญชวนนักศึกษา และบุคคลทั่วไป เข้าร่วมงาน M-Sci JOB FAIR 2024 หางานที่ใช่ สร้างงาน สร้างโอกาส วันที่ 2 พฤษภาคม 2567 เวลา 13.00-16.00 น. ณ หอประชุม รักตะกนิษฐ
๑๗:๒๘ ชไนเดอร์ อิเล็คทริค นำเสนอโซลูชั่นดิจิทัลลุยตลาดอาคารอัจฉริยะเพื่อความยั่งยืน
๑๖:๒๙ จิม ทอมป์สัน เผยทิศทางการพา แบรนด์ผ้าเมืองไทย ผงาดเวทีโลก ส่องกลยุทธ์การครีเอตผลงานคุณภาพให้สอดรับเทรนด์สิ่งทอระดับสากล
๑๖:๓๘ อาดิดาสจับมือนักฟุตบอลระดับตำนาน ส่งแคมเปญ 2006 JOSE 10 สร้างแรงบันดาลใจและความเป็นไปได้อันไร้ขีดจำกัดให้กับเหล่านักฟุตบอลเยาวชนหญิง
๑๖:๑๐ Maison Berger Paris พาชมเครื่องหอมบ้าน 2 คอลเลคชั่นใหม่ MOLECULE และ JOY จัดเต็มเซ็ตของขวัญ ครบทุกรูปแบบความหอม สร้างบรรยากาศหรูหราพร้อมกลิ่นหอมบริสุทธิ์
๑๖:๕๗ กทม. เตรียมระบบเฝ้าระวัง-ควบคุมการแพร่ระบาดโรคโควิด 19 หลังเทศกาลสงกรานต์
๑๕:๑๕ NCC. ผนึก ททท. ขยายตลาดท่องเที่ยวมูลค่าสูง ชี้ตลาดท่องเที่ยวเฉพาะทาง (Niche Market) โต ลุยจัดงาน Thailand Golf Dive Expo plus OUTDOOR Fest