มิว สเปซ สตาร์ทอัพไทยรายแรกที่ได้ใบอนุญาตดาวเทียม

ศุกร์ ๐๘ ธันวาคม ๒๐๑๗ ๑๖:๑๘
กระแสของสตาร์ทอัพเข้ามามีบทบาทสำคัญในประเทศไทยรวมถึงในกลุ่มเทคโนโลยีอวกาศ หลังจากที่ บริษัท มิว สเปซ แอนด์ แอดวานซ์ เทคโนโลยี จำกัด คว้าใบอนุญาตให้ประกอบกิจการโทรคมนาคมผ่านดาวเทียมสื่อสารจากคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ หรือ กสทช. เป็นระยะเวลา 15 ปี นับว่าเป็นสตาร์ทอัพด้านเทคโนโลยีอวกาศรายแรกของประเทศไทยที่มีความพร้อมที่จะเป็นผู้ให้บริการโทรคมนาคมผ่านดาวเทียมสื่อสาร โดยครอบคลุมถึงการบริหารจัดการดาวเทียมและบริการต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับดาวเทียมดังกล่าวไปตลอดระยะเวลาจนถึงปีพ.ศ. 2575

คุณ ศมาธร เทียนกิ่งแก้ว ประธานเจ้าหน้าที่บริหารด้านเทคโนโลยี กล่าวในฐานะตัวแทนของ มิว สเปซ ว่า ทางทีมเทคโนโลยีวางเป้าหมายให้มิว สเปซ เป็นหนึ่งในตัวเลือกที่แตกต่างไปจากผู้ให้บริการผ่านดาวเทียมรายอื่น โดยกลุ่มผู้ใช้บริการสามารถเข้าถึงบริการได้ในราคาที่คุ้มค่าและง่ายต่อการติดตั้งใช้งาน นอกจากนี้ คุณศมาธร ให้ความมั่นใจอีกว่าทางทีมได้จัดเตรียมระบบที่สนับสนุนกลุ่มผู้ใช้บริการที่รวดเร็วและครอบคลุมพื้นที่ทั่วประเทศไทย รวมไปถึงชุมชนในพื้นที่ห่างไกลอีกด้วย

"ชุมชนในพื้นที่ห่างไกลส่วนใหญ่แล้ว มีจำนวนประชากรเบาบางและอยู่ห่างจากความเจริญในตัวเมืองหลัก เป็นปัจจัยสำคัญที่ทำให้บริษัทที่ให้บริการโทรคมนาคมเพียงไม่กี่รายลงทุนสร้างโครงสร้างพื้นฐานด้านโทรคมนาคมในพื้นที่ดังกล่าว ดังนั้น การใช้เทคโนโลยีดาวเทียม จึงเป็นตัวเลือกที่ดีและมีความเหมาะสมที่สุดสำหรับการให้บริการอินเทอร์เน็ตความเร็วสูงได้ในชุมชนในพื้นที่ห่างไกล" คุณศมาธร กล่าว

และเมื่อเทียบเคียงจากฐานข้อมูลกิจการโทรคมนาคมแห่งประเทศไทย ที่จัดทำโดยสำนักงาน กสทช. ชี้ให้เห็นว่า ในปัจจุบันนี้มีคนไทยเพียง 8 ล้านคนที่สามารถเข้าถึงบริการอินเทอร์เน็ตความเร็วสูงได้ ซึ่งคิดเป็นสัดส่วนเพียง 12 เปอร์เซ็นต์เมื่อเทียบกับจำนวนประชากรของประเทศไทยทั้งหมดกว่า 68 ล้าน ถือเป็นตัวเลขที่ค่อนข้างต่ำมาก แม้ว่าหลายหน่วยงานจะตระหนักถึงปัญหาดังกล่าวและหยิบยกขึ้นมาเพื่อดำเนินการแก้ไขในช่วงระยะหลายปีที่ผ่านมา แต่ก็ยังไม่เพียงพอและตอบโจทย์ความต้องการในการใช้งานของชุมชนในพื้นที่ห่างไกลได้อย่างแท้จริง

คุณศมาธร กล่าวเพิ่มเติมว่า "เราต้องการมีส่วนร่วมในการพัฒนาและยกระดับคุณภาพชีวิตของคนไทยด้วยเทคโนโลยีดาวเทียม และด้วยศักยภาพการให้บริการผ่านดาวเทียมของเราสามารถสนับสนุนและส่งเสริมนโยบายไทยแลนด์ 4.0 ของรัฐบาลได้เป็นอย่างดี ตลอดจนช่วยเชื่อมโยงสังคมเทคโนโลยีดิจิทัลและลดความเหลื่อมล้ำระหว่างชุมชนเมืองกับชุมชนในพื้นที่ห่างไกลเข้าไว้ด้วยกัน"

มิว สเปซ ได้ลงนามในบันทึกข้อตกลงความร่วมมือพหุภาคีกับทั้งทางรัฐบาลและหน่วยงานอื่นๆ เพื่อให้การสนับสนุนการสร้างและการพัฒนาโครงการ ดิจิทัล พาร์ค ไทยแลนด์ (Digital Park Thailand) และ ศูนย์การเรียนรู้ไอโอที (Internet of Things Institution หรือ IoT) นับแต่เดือนกันยายน 2560 โดยโครงการดังกล่าวจะเป็นส่วนหนึ่งในพื้นที่กว่า 600 ไร่ ของแผนการพัฒนาเขตระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก หรือ EEC ซึ่งคาดการณ์ได้ว่าจะเป็นโครงการสำคัญที่พลิกโฉมอุตสาหกรรมโทรคมนาคมและเทคโนโลยีดาวเทียมของประเทศไทย

ตามแผนงานของทางรัฐบาลนั้น โครงการพัฒนาเขตพื้นที่เศรษฐกิจภาคตะวันออกจะมุ่งเป้าไปยัง 10 อุตสาหกรรมเป้าหมาย ดังนี้ อุตสาหกรรมยานยนต์สมัยใหม่ อุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์อัจฉริยะ อุตสาหกรรมการท่องเที่ยวกลุ่มรายได้ดีและการท่องเที่ยวเชิงสุขภาพ อุตสาหกรรมการเกษตรและเทคโนโลยีชีวภาพ อุตสาหรกรรมการแปรรูปอาหาร หุ่นยนต์เพื่อการอุตสาหรกรรม อุตสาหกรรมการบินและโลจิสติกส์ อุตสาหกรรมเชื้อเพลิงชีวภาพและเคมีชีวภาพ อุตสาหกรรมดิจิทัล และ อุตสาหกรรมแพทย์ครบวงจร โดยคาดการณ์ว่า โครงการดังกล่าวจะให้ผลตอบแทนราว 1.5 ล้านล้านบาท แก่ทั้งภาครัฐและภาคเอกชนภายในระยะเวลา 5 ปี

สำหรับอุตสาหกรรมอวกาศทั่วโลกนั้น คาดการณ์ว่าจะมีมูลค่าประมาณ 2.7 ล้านล้านดอลล่าร์สหรัฐในอีก 30 ปีข้างหน้า และ มิว สเปซ ได้ก้าวเข้ามาแข่งขันในอุตสาหกรรมนี้ และมีแผนที่จะส่งดาวเทียมสื่อสารของบริษัทเองขึ้นไปในอวกาศภายในปี พ.ศ. 2564 อีกทั้ง วางแผนเชิงรุกในอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวในอวกาศให้กับกลุ่มลูกค้าในภูมิภาคเอเชียภายในสิบปีข้างหน้า

ในเดือนเดียวกันนี้เอง มิว สเปซ นับเป็นลูกค้ารายแรกของเอเชียที่ลงนามร่วมกันกับ บริษัท Blue Origin เพื่อตกลงที่จะใช้จรวด New Glenn ในการส่งดาวเทียมของ มิว สเปซ ขึ้นไปในตำแหน่งวงโคจรดาวเทียมเร็วๆ นี้ด้วย

ข่าวประชาสัมพันธ์ล่าสุด

๑๙ เม.ย. บิทูเมน มารีน บริษัทลูก TASCO ลงนามสัญญาต่อเรือขนส่งยางมะตอย เสริมศักยภาพกองเรือ
๑๙ เม.ย. รมว.เกษตรฯ ลุยร้อยเอ็ด ผลักดันโครงการพัฒนาแหล่งน้ำ 3 แห่ง
๑๙ เม.ย. กูรูหุ้นเชียร์ซื้อ PSP เคาะเป้าราคาสูงสุด 8 บ./หุ้น ยอดขายพุ่ง-หนี้ลด ดันกำไรปี 67 ออลไทม์ไฮ ดีล MA สร้าง New S-Curve
๑๙ เม.ย. ข้าวกล้อง-จักรีภัทร พร้อมเต็มร้อย! ประเดิม จูเนียร์จีพี สนามแรก ประเทศอิตาลี
๑๙ เม.ย. กรมประมงขอเชิญร่วมแข่งขันตกปลาชะโด
๑๙ เม.ย. เชลล์ดอน การ์ตูนดังร่วมสาดความสนุกในเทศกาลสงกรานต์
๑๙ เม.ย. สปสช. ติดปีกเทคโนโลยีไอทีด้วยคลาวด์กลางภาครัฐ GDCC ยกระดับบริการบัตรทองรวดเร็วทันสมัย ดูแลสุขภาพคนไทยยุคดิจิทัล
๑๙ เม.ย. GSK ร่วมงาน Re-imagining UK Aging Care Event ของสถานทูตอังกฤษ มุ่งสร้างเสริมภูมิคุ้มกันผู้สูงอายุ
๑๙ เม.ย. เอส เอฟ จับมือ กปน. มอบสิทธิ์ดูฟรีรวม 1,000 ที่นั่ง เพียงใช้ MWA Point ที่ เอส เอฟ!!
๑๙ เม.ย. เตรียมพร้อมนับถอยหลัง 12 ชั่วโมงสุดท้าย! ก่อนเริ่มประวัติศาสตร์ครั้งใหม่ Bitcoin Halving ครั้งที่ 4