ทำไมไม่มีใครประมูลคลื่น 900 MHz

พุธ ๐๘ สิงหาคม ๒๐๑๘ ๑๖:๐๖
(ความเห็นนายประวิทย์ ลี่สถาพรวงศา กสทช. ด้านการคุ้มครองผู้บริโภคและส่งเสริมสิทธิเสรีภาพ)

เป็นที่ชัดเจนแล้วว่า การประมูลคลื่นความถี่ในเดือนสิงหาคมนี้ มีผู้ยื่นคำขอเข้าร่วมประมูลคลื่น 1800 MHz สองราย และไม่มีผู้สนใจประมูลคลื่น 900 MHz แม้แต่รายเดียว แม้ว่าจะเป็นคลื่นล็อตสุดท้ายของย่านนี้ก็ตาม

จากเหตุการณ์นี้สรุปได้ว่า คลื่น 1800 MHz ซึ่งเปิดให้ประมูล 9 ล็อต ล็อตละ 5 MHz จะยังมีคลื่นเหลือหลังการประมูลแน่นอน เพราะมีผู้เข้าประมูลเพียงสองราย กรณีต่ำสุดคือคือประมูลรายละ 1 ล็อต จะมีคลื่นเหลือ 7 ล็อต กรณีสูงสุดประมูลรายละ 4 ล็อต ก็ยังจะมีคลื่นเหลือ 1 ล็อต ส่วนคลื่น 900 MHz ไม่มีผู้ยื่นประมูลจึงเหลือ 1 ล็อตสุดท้ายเช่นเดิม

ทำไมคลื่นที่ขาดแคลนกลับขายไม่ออก แต่คลื่นที่มีเหลือกลับมีผู้สนใจมากกว่า ทั้งที่คุณสมบัติทางเทคนิคของคลื่น 900 MHz ครอบคลุมพื้นที่ได้กว้างกว่า

คำอธิบายข้อแรกก็คือเรื่องราคาคลื่น ราคาตั้งต้นของการประมูลครั้งนี้กำหนดขึ้นจากราคาชนะประมูลเมื่อสองปีที่แล้ว สำหรับคลื่น 1800 MHz นั้น ราคาชนะประมูลครั้งที่ผ่านมาใกล้เคียงกับราคาประเมินคลื่นความถี่ขั้นสูงด้วยวิธี Full Enterprise Model และต่ำกว่าราคาประมูลในหลายประเทศ จึงเป็นราคาที่ไม่แพงเกินความสามารถในการทำกำไรได้ทางทฤษฎี ประกอบกับการไม่บังคับซื้อเหมาครั้งละ 3 ล็อต (15 MHz) แต่ให้เลือกซื้อล็อตเดี่ยวๆ ได้ ทำให้เอกชนไม่ต้องแบกรับภาระเกินความจำเป็น

แต่คลื่น 900 MHz นั้น ราคาชนะประมูลครั้งที่ผ่านมาสูงกว่าราคาประเมินคลื่นความถี่ขั้นสูงถึงเกือบสามเท่า และเป็นราคาที่ทำลายสถิติโลก จึงเป็นราคาที่ไม่น่าสนใจเท่าใด หากไม่เข้าตาจน

กสทช. ออกแนวทางให้กลุ่มดีแทคจำเป็นต้องเข้าประมูลเพื่อสิทธิในการใช้คลื่นความถี่ต่อเนื่องในช่วงรอยต่อของการสิ้นสุดสัมปทานและการรับใบอนุญาตใหม่ มิเช่นนั้นจะเสียสิทธินี้ไป ในเบื้องต้นเอกชนก็มีท่าทีให้ความสนใจคลื่น 900 MHz มากกว่า 1800 MHz เพราะคลื่นย่านหลังใกล้เคียงกับคลื่น 2300 MHz ที่มีให้ใช้อยู่แล้วจากการทำสัญญากับทีโอที ในขณะที่คลื่น 900 MHz นั้นเอกชนรายนี้ยังขาดแคลนอยู่

แต่ด้วยราคาที่สูงเป็นสถิติโลก บวกกับเงื่อนไขภาระการต้องติดตั้งตัวกรองสัญญาณให้กับระบบรถไฟความเร็วสูงจากจีนและให้กับค่ายมือถือที่อยู่ติดกัน ซึ่งคำนวณแล้วมีมูลค่ามหาศาล แม้ กสทช. จะดึงดูดด้วยการลดราคาตั้งต้นการประมูลลง 2,000 ล้านบาท แต่ก็ยังไม่เพียงพอกับภาระที่เพิ่มขึ้น อีกทั้งคลื่นนี้เหลือเพียง 5 MHz ในขณะที่คู่แข่งมีคลื่นย่านนี้รายละ 10 MHz จึงเสียเปรียบตั้งแต่ยังไม่เริ่มนับหนึ่ง

คำอธิบายข้อที่สอง จึงอยู่ที่ว่า การจัดสรรคลื่น 900 MHz ให้กับระบบอาณัติสัญญาณรถไฟความเร็วสูงจากจีนทำให้คลื่นโทรคมนาคมมีปริมาณลดลง และยังเพิ่มปัญหาการรบกวนสัญญาณระหว่างกัน ทำให้มีต้นทุนเพิ่มในการติดตั้งระบบกรองสัญญาณวิทยุ ซึ่งต้องเป็นระบบที่คุณภาพสูงมากสำหรับกรณีที่การรบกวนก่อผลกระทบต่อความปลอดภัยของรถไฟความเร็วสูง ทำให้ต้นทุนสูงมากตามคุณภาพความคมของระบบกรองสัญญาณ

แล้วประเทศไทยควรเดินหน้าอย่างไร ระบบอาณัติสัญญาณรถไฟที่ใช้คลื่นในย่าน 900 MHz เป็นไปตามมาตรฐาน GSM-R ของยุโรป แต่ก็มีปัญหาในปัจจุบัน นอกจากปัญหาคลื่นรบกวนแล้ว มาตรฐาน GSM-R เป็นมาตรฐานที่กำลังจะตกยุค เพราะแม้จะใช้เทคโนโลยี GSM ซึ่งเป็นเทคโนโลยีดิจิตัลมาดัดแปลงให้เหมาะกับรถไฟ แต่ก็เป็นเทคโนโลยียุค 2G ซึ่งอุตสาหกรรมจะผลิตอุปกรณ์รองรับไม่เกินปี 2573 และยิ่งใกล้ปีดังกล่าวอุปกรณ์ก็จะยิ่งหายากและมีราคาสูง ในยุโรปจึงได้พัฒนามาตรฐานใหม่ FRMCS และมีแผนจะทยอยย้ายออกจาก GSM-R ตั้งแต่ปี 2565 โดยระบบใหม่จะออกแบบให้รองรับต่อไปอีกอย่างต่ำ 20 ปี โดยคาดว่าสวิสเซอร์แลนด์และเนเธอร์แลนด์จะปิดระบบ GSM-R โดยเร็วหลังปี 2565

ผู้เชี่ยวชาญด้านระบบอาณัติสัญญาณรถไฟจากเนเธอร์แลนด์เคยเสนอแนะเมื่อ 5 ปีก่อนว่า ต้นทุนในการเปลี่ยนระบบอยู่ที่ประมาณ 500 ล้านยูโร ในขณะที่คลื่นที่ได้คืนมาสามารถประมูลเพื่อกิจการโทรคมนาคมได้ประมาณ 3,800 ล้านยูโร จึงสมควรที่จะเร่งหาระบบใหม่ที่ทันสมัยและปลอดภัยกว่า

ทั้งนี้ มีความเป็นไปได้สูงว่าระบบใหม่จะเชื่อมต่อแบบ IP-based ผ่านเทคโนโลยีต่างๆ ไม่ว่าจะเป็น 4G 5G WiFi หรือแม้แต่สัญญาณดาวเทียม และมีความเป็นไปได้ที่จะใช้คลื่นย่านอื่น เนื่องจากคลื่น 900 MHz มีจำกัดมาก แม้แต่ในจีนก็พัฒนาระบบใหม่ด้วยเทคโนโลยี LTE บนคลื่นย่าน 450 MHz แต่รถไฟความเร็วสูงของจีนในประเทศไทยกลับใช้เทคโนโลยีเก่า

ที่ผ่านมาการตัดสินใจของ กสทช. ในการจัดสรรคลื่น 900 MHz ให้กับระบบอาณัติสัญญาณรถไฟเป็นไปตามคำขอของกระทรวงคมนาคม และอยู่บนพื้นฐานว่ารถไฟความเร็วสูงต้องใช้คลื่น 900 MHz เท่านั้น หาก กสทช. ไม่จัดสรรให้เท่ากับจะส่งผลเป็นการระงับโครงการนี้โดยปริยาย แต่จากข้อมูลปัจจุบันทำให้รู้ว่า เรามีทางเลือกมากกว่า 1 ทางในการจัดสรรคลื่นความถี่ให้รถไฟความเร็วสูง

การตัดสินใจจัดสรรคลื่น 900 MHz ที่ขาดแคลนเพื่อเทคโนโลยีที่กำลังจะตกยุคอาจเป็นเรื่องที่ต้องร่วมกันหาทางออกโดยเร็ว ก่อนที่ทุกอย่างจะสายเกินไป ไม่เช่นนั้น อีกไม่กี่ปีเราก็อาจจะต้องลงทุนเพิ่มเพื่อเปลี่ยนจากเทคโนโลยีที่จะตกยุค ทั้งที่เพิ่งลงทุนไปได้ไม่นาน

ข่าวประชาสัมพันธ์ล่าสุด

๒๘ มี.ค. องค์การบรรจุภัณฑ์โลก จับมือ อินฟอร์มา มาร์เก็ตส์ ประเทศไทย ร่วมจัดกิจกรรมสัมมนาออนไลน์
๒๘ มี.ค. การแข่งขันกีฬาขี่ม้าโปโลรายการ King Power International Ladies' Polo Tournament 2024
๒๘ มี.ค. DEXON ปักธงรายได้ปี 67 ทะลุ 700 ลบ. โชว์ Backlog เฉียด 280 ลบ. ล็อคมาร์จิ้น 35-40%
๒๘ มี.ค. JPARK ร่วมงาน Dinner Talk ผู้บริหารจดทะเบียนพบนักลงทุน จ.ราชบุรี
๒๘ มี.ค. นีเวีย ซัน และ วัตสัน จับมือต่อปีที่สองชวนดูแลท้องทะเล กับโครงการ เพราะแคร์ จึงชวนแชร์ ร่วมพิทักษ์รักษ์ทะเลไทย
๒๘ มี.ค. Cloud เทคโนโลยีที่อยู่ใกล้ตัว เพียงแค่คุณไม่รู้เท่านั้นเอง
๒๘ มี.ค. โรยัล คานิน ร่วมกับ เพ็ทแอนด์มี จัดงาน Royal Canin Expo 2024: PAWRENTS' DAY เพื่อสร้างโลกที่ดีขึ้นสำหรับน้องแมวและน้องหมา
๒๘ มี.ค. STEAM Creative Math Competition
๒๘ มี.ค. A-HOST ร่วมวาน MFEC Inspire ขึ้นบรรยายพร้อมจัดบูธ Cost Optimization Pavilion
๒๘ มี.ค. ฟินเวอร์! ส่องความคิ้วท์ 'ฟอส-บุ๊ค' ควงคู่ร่วมงาน Discover Thailand เสิร์ฟโมเมนต์ฉ่ำให้แฟนๆ ได้ดับร้อนกันยกด้อมรับซัมเมอร์ และร่วมส่งต่อความสุขในกิจกรรม 'Exclusive Unseen Food Trip กับ คู่ซี้