Movie: San Andreas มหาวินาศแผ่นดินแยก

จันทร์ ๒๕ พฤษภาคม ๒๐๑๕ ๑๒:๑๗
เมื่อรอยเลื่อนซานแอนเดรสอันลือชื่อเคลื่อนตัวจนก่อให้เกิดแผ่นดินไหวที่มีความรุนแรงกว่า 9 ริกเตอร์ในแคลิฟอร์เนีย นักบินเฮลิคอปเตอร์ของทีมค้นหาและกู้ภัย (ดเวย์น จอห์นสัน) และภรรยาผู้ไม่ลงรอยกัน (คาร์ลา กูจิโน) จึงร่วมเดินทางจากลอสแองเจลีสไปยังซานฟรานซิสโกเพื่อช่วยลูกสาวเพียงคนเดียวของทั้งสอง?

แต่การเดินทางขึ้นเหนือที่เต็มไปด้วยอันตรายเป็นเพียงจุดเริ่มต้น และเมื่อทั้งสองคิดว่าสิ่งที่เลวร้ายที่สุดได้ผ่านพ้นไปแล้ว... มันกลับเพิ่งเริ่มต้นขึ้น

ภาพยนตร์แอ็คชั่นระทึกขวัญ “San Andreas” ได้นำ ดเวย์น จอห์นสัน กลับมาร่วมงานกับผู้กำกับ แบรด เพย์ตัน และผู้อำนวยการสร้าง โบ ฟลินน์ หลังจากเคยร่วมงานกันในหนังฮิตเรื่อง “Journey 2: The Mysterious Island”

หนังเรื่องนี้ยังร่วมแสดงโดย คาร์ลา กูจิโน, อเล็กซานดรา แดดดาริโอ, ไอโอน กรัฟฟัดด์, อาร์ชี แพนจาบี, ฮิวโก จอห์นสโตน-เบิร์ต, อาร์ต พาร์คินสัน และผู้เข้าชิงรางวัลออสการ์ พอล จิอาแม็ตติ (“Cinderella Man”)

บทภาพยนตร์เรื่องนี้เขียนโดย คาร์ลตัน คิวส์ เนื้อเรื่องโดย อังเดร ฟาบริซิโอ และเจเรมี พาสมอร์ โดยมีริชาร์ด เบรเนอร์, ซามูเอล เจ. บราวน์, ไมเคิล ดิสโก, โทบี เอ็มเมอริช, ร็อบ โคแวน, ทริปป์ วินสัน และบรูซ เบอร์แมน รับหน้าที่เป็นผู้อำนวยการสร้างบริหาร

ทีมงานฝ่ายสร้างสรรค์ของหนัง ได้แก่ ผู้กำกับภาพ สตีฟ เยดลิน นักออกแบบงานสร้าง แบร์รี ชูซิด ผู้ตัดต่อ บ็อบ ดักเซย์ นักออกแบบเครื่องแต่งกาย เวนดี ชัค ผู้อำนวยการวิชวลเอฟเฟ็กซ์ แรนดัลล์ สตาร์ ผู้ควบคุมวิชวลเอฟเฟ็กต์ คอลิน สเตราส์ และนักแต่งเพลง แอนดรูว์ ล็อคคิงตัน

“San Andreas” ออกฉายผ่านระบบ RealD 3D ในโรงภาพยนตร์แบบจำกัดโรง

New Line Cinema ร่วมกับ Village Roadshow Pictures ขอนำเสนอผลงานการสร้างของ FlynnPictureCo. และผลงานการกำกับของแบรด เพย์ตัน เรื่อง “San Andreas” ภาพยนตร์เรื่องนี้จัดจำหน่ายโดย Warner Bros. Pictures ในเครือ Warner Bros. Entertainment และในบางพื้นที่โดย Village Roadshow Pictures

www.sanandreasmovie.net

ท่านสามารถดาวน์โหลดข้อมูลทั่วไปสำหรับสื่อมวลชนได้ที่

https://mediapass.warnerbros.com/

?

เบื้องหลังงานสร้าง

“แล้วถ้าสิ่งที่เกิดขึ้นในเนวาดาไม่ใช่สิ่งผิดปกติ

ถ้าเกิดว่ามันเป็นจุดตั้งต้นล่ะ” – ดร. ลอว์เรนซ์ เฮเยส

“San Andreas” จินตนาการภาพแผ่นดินไหวที่รุนแรงที่สุดเท่าที่เคยมีมาในประวัติศาสตร์ การเคลื่อนตัวของเปลือกโลกตามรอยเลื่อนที่ไม่เคยตรวจพบมาก่อนใกล้เขื่อนฮูเวอร์ในเนวาดาข้ามพรมแดนมาส่งผลต่อรอยเลื่อนซานแอนเดรสอันลือชื่อในแคลิฟอร์เนีย เกิดเป็นการสั่นสะเทือนครั้งใหญ่ที่ทำให้ลอสแองเจลีสถูกเขย่าถึงฐานราก แต่มันไม่ได้หยุดเพียงแค่นั้น คลื่นความสั่นสะเทือนแล่นขึ้นไปตามรอยเลื่อน กลายเป็นภัยพิบัติและการทำลายล้างที่กระจายวงกว้างไปถึงซานฟรานซิสโก

ดเวย์น จอห์นสัน รับบทเป็นตัวละครสำคัญในเรื่องที่มีชื่อว่า เรย์ นักบินเฮลิคอปเตอร์ค้นหาและกู้ภัยของหน่วยดับเพลิงลอสแองเจลีสซึ่งออกปฏิบัติการเพื่อเป้าหมายส่วนตัวเมื่อภัยพิบัติเข้าโจมตี ด้วยความตั้งใจที่จะนำภรรยาผู้ไม่ลงรอยกันและลูกสาวมายังที่ปลอดภัยท่ามกลางสถานการณ์อันเลวร้ายขึ้นเรื่อยๆ “ผมประทับใจบทหนังเรื่องนี้ครับ มันซึ้งมาก ทำให้ผมรู้สึกเหมือนมีบางอย่างจุกอยู่ที่คอและพูดไม่ออกเลย” เขากล่าว “เมื่อแผ่นดินไหวโจมตี จะไม่มีการเตือนล่วงหน้า เปลือกโลกที่เคลื่อนตัวสามารถก่อให้เกิดอาฟเตอร์ช็อคหรือแม้กระทั่งเกิดแผ่นดินไหวซ้ำได้อีก คุณต้องพยายามเอาตัวรอดจากมันให้ได้แบบนาทีต่อนาที และนั่นคือสิ่งที่ทำให้ ‘San Andreas’ เป็นประสบการณ์ที่ชวนระทึกมาก มันคอยโจมตีคุณตลอดเวลา”

“หนังแบบนี้สำคัญอยู่ที่ขนาดและขอบเขตงานสร้าง” เขากล่าวต่อ “คุณกำลังจินตนาการถึงแผ่นดินไหวครั้งใหญ่ที่สุดเท่าที่เคยมีมา เพราะฉะนั้นมันจะมีหน้าตาเป็นอย่างไรล่ะในสายตาผู้ชม แต่สำหรับเรย์แล้วมันมากกว่าการอยู่รอด เขาพยายามรวมครอบครัวเข้าไว้ด้วยกัน...จากในหลายๆ แง่มุม”

การผสมผสานระหว่างหายนะครั้งใหญ่กับความสัมพันธ์อันลึกซึ้งนี้ดึงดูดจอห์นสัน รวมถึงผู้กำกับแบรด เพย์ตัน ให้มาสนใจโครงการนี้ ขณะที่มันยังอยู่ระหว่างช่วงหลังของการพัฒนากับผู้อำนวยการสร้าง โบ ฟลินน์ ทั้งสามเคยร่วมงานกันมาแล้วในหนังฮิตทั่วโลกอย่าง “Journey 2: The Mysterious Island” และยินดีที่ได้มีโอกาสร่วมงานกันอีกครั้งในเรื่องราวที่ต่างไปจากเดิมมาก ในแง่ที่ทุกๆ อย่าง ไม่ว่าจะเป็นฉากแอ็คชั่น ขนาดโครงการ และความตื่นเต้นเร้าใจ ถูกเร่งกำลังขึ้นมาอีกระดับ

เพย์ตันกล่าวว่า “เรื่องนี้แตกต่างจากทุกเรื่องที่เราเคยทำมา มันเป็นงานที่ยากขึ้นในแง่ความยิ่งใหญ่อลังการ และขณะเดียวกันก็ต้องถ่ายทอดความตรงไปตรงมาในโทนหนังด้วย ผมอยากให้ตัวละครดูสมจริงจนกระทั่งผู้ชมสามารถมองเห็นเหตุการณ์ผ่านมุมมองของตัวละครได้แทนที่จะมองอยู่ห่างๆ และสังเกตการณ์จากระยะปลอดภัย เพราะถึงแอ็คชั่นจะมีพลังมากแค่ไหน แต่หัวใจของเรื่องราวทุกเรื่องก็คือคนที่คุณห่วงใย”

แนวคิดเรื่อง “San Andreas” เริ่มต้นจากฟลินน์ ซึ่งชื่นชอบหนังหายนะคลาสสิกมานานแล้ว และอยากพัฒนาหนังแนวนี้ด้วยความสามารถของภาพสามมิติและเทคโนโลยีอันล้ำสมัยในปัจจุบันเพื่อสร้างภาพที่สมจริงคล้ายภาพถ่าย นอกเหนือจากนั้นเขายอมรับว่า “เหตุผลที่หนังเรื่องนี้ตรงกับตัวผมมากคือภายในช่วงสามสัปดาห์ที่ผมย้ายไปยังลอสแองเจลีส ก็เกิดแผ่นดินไหวขึ้นที่นอร์ธริดจ์ ผมไม่เคยสัมผัสแรงสั่นสะเทือนมาก่อนและการได้สัมผัสแผ่นดินไหวใหญ่ครั้งนั้นก็ทั้งน่ากลัวและทรงพลัง มันทำให้คุณรู้สึกตัวเล็กจิ๋วและต่ำต้อย ผมสนใจรอยเคลื่อนซานแอนเดรสมาตลอด ถึงแม้ผมจะเติบโตมาในไมอามีซึ่งอยู่ห่างออกไป 3,000 ไมล์ มันเป็นสิ่งที่ผู้คนต่างรู้อยู่ในใจไม่ว่าจะรู้ตัวหรือไม่ มันอยู่ในความคิดคำนึงของยุคสมัย”

เพื่อให้ผู้ชมนั่งไม่ติดที่ ผู้สร้างหนัง “San Andreas” ได้เพิ่มความเสี่ยงในภาพยนตร์ให้สูงขึ้น ด้วยการนำอิสระในการสร้างสรรค์มาใช้กับภัยคุกคามในโลกจริง ฉากเหตุการณ์ซึ่งขยายวงกว้างของหนังเรื่องนี้มุ่งนำเสนอแอ็คชั่นและดรามาที่ยกระดับให้ตื่นเต้นขึ้น แต่แม้ว่าสิ่งที่ปรากฏบนจอภาพยนตร์ไม่ได้มาจากความเป็นจริงทั้งหมด ตัวหนังก็ยังอ้างอิงความเป็นจริงที่อยู่เบื้องหลัง

เมื่อเดือนมีนาคม 2015 หน่วยสำรวจทางธรณีวิทยาของสหรัฐ (USGS) ประเมินว่ามีโอกาสเพิ่มขึ้นที่แคลิฟอร์เนียจะประสบเหตุแผ่นดินไหวขนาดตั้งแต่ 8 ริกเตอร์ขึ้นไปในช่วง 30 ปีข้างหน้า เช่นเดียวกับความเป็นไปได้ที่จะเกิดการเคลื่อนตัวของรอยเลื่อนหลายรอยพร้อมกันเหมือนปฏิกริยาลูกโซ่ ความสนใจมุ่งไปยังรอยเคลื่อนซานแอนเดรสซึ่งมีชื่อเสียงมานานแล้วแต่ก็มีรอยเคลื่อนอื่นๆ ที่มีแรงกดดันเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ อันได้แก่ รอยเคลื่อนพูเอนเตฮิลส์ซึ่งทอดจากออเรนจ์เคาน์ตีไปยังใจกลางเมืองลอสแองเจลีส และเขตมุดตัวของเปลือกโลกแคสเคเดีย (Cascadia Subduction Zone) ซึ่งอยู่ใต้น้ำจากแคลิฟอร์เนียตอนเหนือถึงเกาะแวนคูเวอร์ ซึ่งมีศักยภาพที่จะสร้างคลื่นสึนามิโจมตีชายฝั่งได้ เมื่อไม่นานมานี้มีรายงานแผ่นดินไหวในเนวาดา เวอร์จิเนีย โอคลาโฮมา มิสซูรี และจุดเกิดเหตุซึ่งไม่เคยระบุพบมาก่อนทั่วประเทศ และแผ่นดินไหวก็กลายเป็นสิ่งที่พบได้ทั่วไปตามจุดต่างๆ ทั่วโลก โดย USGS ประเมินว่ามีแผ่นดินไหวที่ตรวจวัดได้ราว 500,000 ครั้งทั่วโลกในแต่ละปี โดยในจำนวนนี้มี 100,000 ครั้งที่รู้สึกได้ และมีถึง 100 ครั้งที่สร้างความเสียหาย

“ผมนำเอาความกลัวของผมทั้งหมดมาถ่ายทอดลงไปในบทภาพยนตร์” มือเขียนบท คาร์ลตัน คิวส์ กล่าว “ผมรู้ดีว่าแบรดจะนำฉากแต่ละฉากมานำเสนอได้อย่างยอดเยี่ยม และเขาก็ทำได้เหนือความคาดหมาย”

ด้วยการใช้ฉากหลังเป็นเหตุแผ่นดินไหวครั้งร้ายแรง หัวใจของ “San Andreas” อยู่ที่สัญชาตญาณอันหยั่งลึกซึ่งถูกกระตุ้นขึ้นมาจากพลังธรรมชาติอันไม่อาจคาดการณ์และไม่อาจควบคุมได้ นั่นคือความต้องการของเราที่จะยื่นมือออกไปหาผู้อื่นและยืนยันในสิ่งที่สำคัญต่อเรามากที่สุด “ภัยพิบัติมีวิธีการนำเอาสิ่งที่ดีที่สุดในตัวผู้คนออกมา” เพย์ตันเสนอ “มันทำให้คนมีความมุ่งมั่นและค้นพบความแข็งแกร่งของตน คนทั่วไปกลายเป็นวีรบุรุษ ขณะที่วีรบุรุษก็จะผลักดันตัวเองไปให้เกินขีดจำกัด”

ฟลินน์เสริมว่า “ผมว่าไม่ผิดนะที่จะบอกว่าไม่มีใครรู้หรอกว่าจริงๆ แล้วตัวเองจะทำอย่างไรในสถานการณ์ที่ต้องเลือกว่าจะสู้หรือจะหนี เราสำรวจประเด็นนี้กันในหนังเรื่องนี้”

สำหรับเรย์ สัญชาตญาณนี้ได้รับการทดสอบถึงขั้นสูงสุด “ทุกคนสามารถเข้าถึงประเด็นเรื่องครอบครัวได้ และเรื่องที่ว่าเราจะยอมทำมากแค่ไหนเพื่อปกป้องคนที่เรารัก” จอห์นสันกล่าว

“San Andreas” เล่าเรื่องสามส่วนที่เกิดขึ้นพร้อมกัน หลังจากแผ่นดินไหวครั้งแรกโจมตีลอสแองเจลีส เรย์ค้นหาอดีตภรรยา เอมมา ที่รับบทโดยคาร์ลา กูจิโน ในการกู้ภัยด้วยเฮลิคอปเตอร์อันชวนระทึก ขณะที่หญิงผู้เด็ดเดี่ยวกล้าหาญปีนซากปรักหักพังของตึกระฟ้าใจกลางเมืองที่พังลงมา จากนั้นทั้งสองก็ร่วมกันออกค้นหาลูกสาว เบลค ในเหตุการณ์ภายหลังแผ่นดินไหวครั้งที่สองในซานฟรานซิสโกซึ่งอยู่ห่างออกไปราว 400 ไมล์ ระหว่างที่ทั้งสองเดินทางขึ้นเหนือ เบลค วัย 19 ปี ซึ่งรับบทโดยอเล็กซานดรา แดดดาริโอ ถูกปล่อยให้เคว้งคว้างเมื่อแดเนียล พ่อเลี้ยงในอนาคตของเธอซึ่งรับบทโดย ไอโอน กรัฟฟัดด์ ได้หายตัวไป เธอต้องพึ่งสัญชาตญาณของตัวเองและความแคล่วคล่องในการเอาชีวิตรอดเพื่อหาหนทางไปสู่ที่ปลอดภัย โดยมีชายหนุ่มที่เธอเพิ่งได้พบอย่าง เบน รับบทโดย ฮิวโก จอห์นสโตน-เบิร์ต มาร่วมทางด้วย

“ตัวละครของคาร์ลาและอเล็กซานดราเป็นผู้หญิงที่เข้มแข็ง ไม่ใช่หญิงสาวอ่อนแอที่รอให้คนมาช่วย เรื่องนี้สำคัญสำหรับเรา” ฟลินน์กล่าว “พวกเธอได้เล่นฉากแอ็คชั่นดีๆ และมีส่วนร่วมในการทำอะไรเจ๋งๆ มากมายหลายอย่างในหนังเรื่องนี้ ผมมีลูกสาวสองคน ดังนั้นผมจึงชอบเป็นพิเศษที่ได้เห็นผู้หญิงรับบทบาทเหล่านี้ เพราะในความเป็นจริงแล้วผู้หญิงมักเป็นฮีโร่ของจริง”

พอล จิอาแม็ตติ รับบทเป็นลอว์เรนซ์ เฮย์เยส นักวิชาการด้านแผ่นดินไหวชั้นนำซึ่งเชื่อว่าเขาได้พบหนทางที่จะตามรอยแผ่นดินไหวและเชื่อว่าเหตุการณ์ที่เลวร้ายกว่านี้กำลังจะเกิดขึ้น เมื่อประสบปัญหาจากความขัดข้องและความเสียหายของระบบไฟฟ้าและระบบสื่อสารที่ห้องแล็บของเขาในพาซาเดนา เขาจึงต้องทำทุกวิถีทางเพื่อส่งข้อความเตือนออกไปให้ได้ ด้วยความช่วยเหลือของนักข่าวทีวีผู้กล้าหาญซึ่งต้องมาติดอยู่กับเขาอย่างเซเรนา รับบทโดยอาร์ชี แพนจาบี คิวส์ระบุว่า “เรื่องแผ่นดินไหวกลายเป็นแกนหลักของเรื่องราวในหนังซึ่งเป็นตัวกำหนดกรอบและสร้างสภาพแวดล้อมของภัยพิบัติขึ้นมา”

“แบรดเป็นนักเล่าเรื่องที่เก่งมาก เขารู้ชัดว่าความเป็นดรามาและหัวใจของเรื่องราวอยู่ที่ไหน” ฟลินน์กล่าว “เขามักดึงจุดสนใจกลับมายังตัวละครและช่วงเวลาเล็กๆ ไม่ว่าจะเป็นคู่รักหนุ่มสาวอย่างเบลคและเบนที่เริ่มต้นความสัมพันธ์ท่ามกลางการทำลายล้าง หรือเรย์และเอ็มมา คู่รักที่มีความทรงจำมากมายร่วมกันและได้กลับไปค้นพบสิ่งดีๆ ในตัวอีกฝ่ายหนึ่งเมื่อสถานการณ์เลวร้ายที่สุด”

เพื่อถ่ายทอดความรู้สึกอันลึกซึ้งดังกล่าว เพย์ตันจึงพยายามทำงานให้จบในกล้องมากที่สุดเท่าที่จะทำได้ ด้วยการระดมคิวบู๊ ฉาก และเอฟเฟ็กต์จริงอย่างเต็มที่ ตัวอย่างหนึ่งก็คือฉากการช่วยเหลือเอ็มมาจากหลังคาตึก มันเป็นฉากยาวต่อเนื่องนานหลายนาทีซึ่งเขาเล่าว่า “เราเดินทางร่วมไปกับเธอผ่านตึกที่พังทลายลงมาโดยไม่มีการคัต คุณเคลื่อนไปพร้อมกับเธอและเห็นเหตุการณ์ผ่านสายตาของเธอ รู้สึกได้ถึงการตัดสินใจในช่วงเสี้ยววินาทีเพื่อเดินทางจากจุดหนึ่งไปยังอีกจุดหนึ่งขณะที่สภาพแวดล้อมเปลี่ยนแปลงไปตลอดเวลา และคาร์ลาก็ถ่ายทอดความน่าตื่นเต้นและอันตรายอย่างแท้จริงที่ตัวละครของเธอได้พบตั้งแต่เริ่มต้นจนจบ”

ผู้ชมจะได้เข้าร่วมเส้นทางที่เต็มไปด้วยเศษซากซึ่งกำลังถล่มลงมา อยู่ในรถยนต์ที่แขวนอย่างน่าหวาดเสียวอยู่บนหน้าผา ใต้น้ำ และบนสันเขื่อนฮูเวอร์ที่กำลังจะพังทลาย

“San Andreas” เต็มไปด้วยภาพชิ้นส่วนที่เคลื่อนไหวจำนวนมากมายมหาศาล และได้ใช้วิชวลเอฟเฟ็กต์กว่า 1300 ช็อตในฉากที่ถนนโค้งงอ สะพานหัก มีไฟไหม้ตามส่วนต่างๆ ของเมือง และอาคารพังถล่มลงมาชนเข้ากับอาคารอื่นๆ เหมือนโดมิโนขนาดยักษ์ แล้วเมื่อคุณคิดว่าพอจะหายใจหายคอได้บ้าง ก็เกิดสึนามิสูงเท่าตึก 15 ชั้น เหมือนกำแพงน้ำที่เข้าถาโถมซานฟรานซิสโก

“แบรดภูมิใจที่ได้สร้างแรงสั่นสะเทือน” จอห์นสันยืนยัน “เขาทำงานเต็มกำลังทุกๆ วันที่กองถ่าย คอยมองหาวิธีการใหม่ๆ ที่จะสร้างความประทับใจให้ผู้ชมทั้งในแง่อารมณ์และในแง่ภาพ”

เกาะเอาไว้ … เกาะเกี่ยวกันไว้ให้มั่น

“เข้มแข็งเอาไว้นะลูก เรากำลังไปรับ” – เรย์

ก่อนที่แผ่นดินข้างใต้เท้าของเขาจะถล่ม นักบินเฮลิคอปเตอร์ค้นหาและกู้ภัยอย่างเรย์ เกนส์ ก็ยืนอยู่บนฐานที่สั่นคลอนอยู่แล้ว อดีตภรรยา เอ็มมา เพิ่งส่งเอกสารหย่ามาให้เขา เป็นขั้นตอนที่แม้ว่าจะไม่เหนือความคาดหมาย แต่ก็บ่งบอกถึงจุดจบของชีวิตแต่งงานซึ่งเขารู้ดีว่าน่าจะรักษามันไว้ได้ดีกว่านี้ และหลายชั่วโมงก่อนหน้าที่แผ่นดินไหวครั้งแรกจะเริ่มขึ้น เรย์ก็ได้รู้ว่าไม่เพียงแต่เอ็มมาจะย้ายเข้าไปอยู่ในบ้านแฟนใหม่ของเธอที่ชื่อแดเนียล แต่แดเนียลกำลังพาลูกสาวของเรย์และเอ็มมาไปส่งที่วิทยาลัยในแคลิฟอร์เนียตอนเหนือ เป็นการเดินทางที่เรย์หวังว่าจะได้เป็นผู้พาเบลคไปด้วยตนเอง

“เรย์เป็นคนที่พิเศษมาก เขามีความกล้าหาญและความซื่อตรงซึ่งเป็นคุณสมบัติที่เรามักมองหาในบทบาทที่ได้รับ” จอห์นสันกล่าว “ก็เหมือนกับคนดีหลายๆ คนที่ต้องเผชิญอันตรายประเภทนี้อยู่ทุกๆ วัน เขาสามารถดูแลคนอื่นและช่วยชีวิตคนได้เพราะนั่นเป็นงานและเป็นอาชีพของเขา แต่ภายใน เขาก็ต้องต่อสู้กับบางสิ่งบางอย่าง เขากำลังจะหย่าและใครก็ตามที่เคยผ่านเรื่องแบบนั้นมาก็จะรู้ว่ามันยากแค่ไหน โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อคุณมีครอบครัว” ในฐานะพ่อคนหนึ่ง เขาย้ำว่า “ผมจะทำทุกอย่างเพื่อปกป้องลูกสาวตัวน้อยๆ ของผม”

ความสัมพันธ์ระหว่างเรย์และภรรยาที่ไม่ลงรอยกัน รวมถึงความสัมพันธ์ระหว่างเรย์กับลูกสาวเป็นหมุดหมายสำคัญของหนังเรื่องนี้ และเพย์ตันก็กล่าวถึงการที่จอห์นสันนำเอามิติต่างๆ ในเรื่องราวของเรย์มาถ่ายทอดให้เป็นจริง “เขาไม่เพียงแต่เป็นดาราแอ็คชั่นชั้นนำระดับโลก แต่เขามีเสน่ห์ ตลก และเข้าถึงได้ เขานำหลายสิ่งหลายอย่างมาให้บทเรย์ ทำให้ตัวละครนี้สมจริงสมจังและมีเอกลักษณ์ ดเวย์นได้เพิ่มมิติให้ตัวละครตัวนี้

“วีรบุรุษมีอยู่สองแบบ” ผู้กำกับรายนี้กล่าว “มีคนที่ไม่มีอะไรมาหยุดยั้งได้ พวกที่สามารถเดินทะลุกำแพงและเราไม่มีทางเป็นแบบนั้นได้ กับคนที่สามารถรับหมัดแล้วยังกลับมาสู้ต่อ นั่นคือคนที่เราหวังอยากเป็น ในแง่หนึ่ง เรย์เป็นคนทั้งสองแบบ มีบางเวลาที่เขาทำในสิ่งซึ่งดูเหมือนเป็นไปไม่ได้และทำให้คุณคิดว่า ‘ว้าว สุดยอด’ ขณะเดียวกันคุณก็เห็นว่าเขามีข้อบกพร่อง เขาก็มีปัญหา เขาทำสิ่งผิดพลาดที่เขาพยายามแก้ไขให้ถูกต้องและเขาเป็นแค่คนที่พยายามทำให้ดีที่สุดและหาทางออกให้ได้ ดเวย์นทำให้เรย์เป็นคนที่คุณเข้าใจและเอาใจช่วยแม้ว่าคุณจะทึ่งกับสิ่งที่เขาทำได้ก็ตาม แน่นอนว่าเราทุกคนอยากเป็นดเวย์น จอห์นสัน”

ฟลินน์เสริมว่า “แนวทางของดเวย์นในการรับบทนี้คือ ‘คุณจะทำอย่างไรให้ตัวละครนี้หนักแน่นและสมจริงสมจัง แทนที่จะเป็นการบังคับหรือประดิษฐ์มากเกินไป ซึ่งน่าตื่นเต้นมากเพราะมันเผยให้เห็นความเปราะบางในระดับหนึ่งซึ่งผมไม่เคยเห็นเขาเล่นอะไรแบบนี้มาก่อน”

เมื่อเรย์ได้รู้ข่าวของเอ็มมา ก็เป็นที่แน่ชัดว่าเขายังคงมีใจให้เธอแต่ยอมสลัดความรู้สึกนี้ออกไปเพื่อให้เธอมีความสุข และถ้าการก้าวจากไปจะทำให้เธอมีความสุข ก็ปล่อยให้เป็นอย่างนั้น

คาร์ลา กูจิโน ซึ่งรับบทเป็นเอ็มมาอธิบายว่า “มันเป็นความสัมพันธ์ฉันมิตรที่ทั้งสองยังคงมีต่อกัน คุณได้ค้นพบว่าเหตุผลที่ทั้งสองแยกทางกันไม่ใช่เพราะทั้งสองไม่ได้รักกัน แต่เพราะมีสิ่งเลวร้ายเกิดขึ้นซึ่งพวกเขาไม่อาจไกล่เกลี่ยกันได้และไม่สามารถก้าวข้ามไปได้ ดังนั้นชีวิตแต่งงานของทั้งคู่จึงค่อยๆ พังทลายลง”

“คาร์ลาเหมาะกับบทนี้มากครับ” ฟลินน์กล่าว “เธอแกร่ง เซ็กซี่ และเข้ากันได้อย่างดีกับดเวย์น เธอไม่เกรงกลัวอะไรและจะไม่มีอะไรมาหยุดยั้งเธอจากการค้นหาลูกสาวได้”

ในแง่อารมณ์และกายภาพของบท กูจิโนเสริมว่า “การรับบทเป็นเอ็มมามีความท้าทายในแง่ดีอย่างเหลือเชื่อ และเหนื่อยมากอย่างที่ควรจะเป็น มันเป็นประสบการณ์ที่พิเศษสุดค่ะ”

เมื่อแผ่นดินไหวระลอกแรกโจมตีลอสแองเจลีส ทำให้ตึกระฟ้าใจกลางเมืองซึ่งเอ็มมานั่งกินมื้อเที่ยงอยู่ได้รับแรงสั่นสะเทือนอย่างหนัก จึงไม่น่าแปลกใจเลยที่เธอหันไปขอความช่วยเหลือจากเรย์ และเขาก็ไม่ทำให้เธอผิดหวัง แต่เมื่อเรย์ดึงเอ็มมาให้มาสู่ที่ปลอดภัยได้ในที่สุดเพียงไม่นานก่อนที่โครงสร้างตึกนั้นจะถล่มลง ทั้งสองก็ได้ทราบว่าเขตเบย์แอเรียก็ถูกโจมตีอย่างหนักเช่นกัน จึงทำให้ทั้งสองต้องร่วมมือกันทันทีเพื่อจุดประสงค์เพียงอย่างเดียว คือการค้นหาลูกสาวซึ่งอยู่ที่ไหนสักแห่งท่ามกลางซากปรักหักพังในซานฟรานซิสโก

มันเป็นการเดินทางที่อันตรายและชวนตื่นตระหนกซึ่งเต็มไปด้วยอุปสรรคและทางตัน ระหว่างนั้นทั้งสองก็ใช้โอกาสทุกอย่างและการเดินทางแทบทุกรูปแบบที่เป็นไปได้ ตั้งแต่เฮลิคอปเตอร์และเครื่องบินไปจนถึงรถบรรทุกและสปีดโบ๊ต รวมถึงต้องสำรวจจิตใจของตนเองไประหว่างทาง “มันตลกดีนะ คุณคิดว่ากำลังจะเดินไปทางหนึ่งในชีวิต แล้วบางสิ่งก็เกิดขึ้น และจู่ๆ คุณก็ต้องมุ่งไปยังหนทางที่แตกต่างออกไปโดยสิ้นเชิงและมุมมองทั้งหมดของคุณก็เปลี่ยนแปลงไป” จอห์นสันตั้งข้อสังเกต

ห่างออกไปหลายร้อยไมล์ เบลคฟื้นจากความหวาดกลัวของการติดอยู่ในรถที่ถูกบดขยี้ในลานจอดรถชั้นใต้ดินและพยายามเรียกสติกลับคืนมา เมื่อไม่สามารถติดต่อกับพ่อแม่ทางโทรศัพท์ได้นอกจากเพียงช่วงสั้นๆ เธอก็ได้ค้นพบว่าบทเรียนที่พ่อเคยสอนเอาไว้เกี่ยวกับทักษะการเอาตัวรอดยังคงมีประโยชน์และช่วยเป็นแนวทางให้เธอ

“สิ่งต่างๆ อาจเกิดขึ้นเมื่อไหร่ก็ได้ ชีวิตเป็นสิ่งคาดเดาไม่ได้เลย” อเล็กซานดรา แดดดาริโอยอมรับ “มันน่าสนใจที่ได้เห็นเธอใช้ทักษะทั้งหมดที่ได้เรียนรู้มาจากพ่อและใช้ความสามารถที่เธอมีอยู่และอาจไม่รู้ตัวมาก่อนว่ามี เธอเป็นตัวละครที่เข้มแข็ง แกร่ง และรอบรู้ แต่ก็ยังเป็นเด็กสาวธรรมดาที่ผู้คนเข้าถึงได้ และคุณจะได้เห็นเธอพัฒนาตัวเองผ่านบทพิสูจน์นี้เพื่อกลายเป็นผู้หญิงเต็มตัว แล้วก็แน่ล่ะค่ะว่าการเล่นเป็นลูกสาวของดเวย์นทำให้ฉันรู้สึกว่าตัวเองแกร่งยิ่งกว่าที่เป็นจริงๆ”

“อเล็กซานดราเป็นคนฉลาด มีความสามารถ และมีเสน่ห์ ตอนที่เธอเข้ามาทดสอบบท เรารู้ทันทีเลยว่าเราเจอเบลคของเราแล้ว” ฟลินน์เล่า “ไม่ใช่เรื่องง่ายที่จะทำให้คนดูเชื่อว่าคุณเป็นลูกสาวของดเวย์น จอห์นสัน และเธอก็เหมาะสมกับเขาเป็นที่สุด”

ด้วยการฟังคำแนะนำของพ่อ เบลคเดินเท้าผ่านซากปรักหักพัง อาฟเตอร์ช็อค และเศษซากสิ่งของ เพื่อไปยังอาคารสำคัญที่สูงที่สุดและมีชื่อเสียงมากที่สุดแห่งหนึ่งของเมือง ตึกคอยท์ทาวเวอร์ ที่ซึ่งเรย์และคาร์ลาสัญญาว่าจะมาพบเธอ แต่เธอไม่ได้ไปตามลำพัง คนที่ร่วมเดินทางมากับเธอด้วยคือ เบน เด็กหนุ่มอังกฤษผู้ขี้อายแต่กล้าหาญซึ่งรับบทโดยนักแสดงชาวออสเตรเลีย ฮิวโก จอห์นสโตน-เบิร์ต เบนเข้ามาในเมืองเพื่อสัมภาษณ์งานและหยุดพักผ่อนพร้อมกับมีน้องชายตามมาด้วย เบนบังเอิญพบกับเบลคที่โถงตึกระฟ้าอันล้ำสมัยแห่งหนึ่ง ซึ่งทั้งสองได้หว่านเสน่ห์ใส่กันจนสุดท้ายเธอให้เบอร์โทรเขาไว้ ไม่นานหลังจากนั้นตึกก็เริ่มถล่ม และเบนก็ไม่ยอมทิ้งเพื่อนที่เพิ่งพบกันไว้เบื้องหลัง

“โชคดีที่เลวร้ายที่สุดในโลก” จอห์นสโตน-เบิร์ตกล่าวคำพูดซึ่งสะท้อนความขำขันเบาสมองที่ตัวละครของเขานำเข้ามาในเรื่อง “เขาเป็นชายหนุ่มผู้น่าสงสารที่มาหยุดพักผ่อนและสัมภาษณ์งาน เขาเพิ่งได้เบอร์ของสาวสวยคนหนึ่งแต่แล้วทุกอย่างก็สับสนอลหม่านไปหมด”

เพื่อตอกย้ำความจริงที่ว่าคุณไม่มีทางรู้ว่าใครจะยื่นมือเข้ามาช่วยเมื่อถึงคราวจำเป็น ตัวละครทั้งสามคือ เบลค เบน และน้องชายแก่แดด ออลลี ซึ่งรับบทโดย อาร์ต พาร์คินสัน นักแสดงชาวไอริชในวัย 12 ปีระหว่างถ่ายทำ จึงต้องมารวมตัวกัน ผลัดเปลี่ยนกันช่วยเหลือและพึ่งพาซึ่งกันและกัน แดดดาริโอกล่าวว่า “เมื่อแผ่นดินไหวเข้าโจมตี พวกเขาก็ได้สร้างสัมพันธ์ที่แน่นแฟ้นและเดินหน้าต่อไป”

เบนและออลลีต้องอาศัยศรัทธาอย่างแรงกล้าในการอยู่กับเบลคขณะที่คนอื่นๆ มุ่งหน้าไปยังทางตรงกันข้าม แต่ศรัทธาของเบลคนั้นอยู่ที่พ่อของเธอและจุดที่พ่อสัญญาไว้ว่าจะไปพบเธอ

ในขณะที่เบลคและเพื่อนๆ คืบหน้าเข้าใกล้อาคารดังกล่าว เรย์กับเอ็มมาก็ดิ้นรนสุดชีวิตเพื่อไปให้ถึงซานฟรานซิสโก ความตึงเครียดยิ่งทวีขึ้นที่อาคารของสถาบันคาลเทคในพาซาดีนา นักวิชาการด้านแผ่นดินไหว ลอว์เรนซ์ เฮย์เยส ได้คำนวณข้อมูลและติดตามเครื่องตรวจวัดต่างๆ มานานก่อนที่แผ่นดินไหวจะโจมตีแคลิฟอร์เนีย เขาศึกษาเหตุแผ่นดินไหวที่น่าจะเป็นจุดเริ่มต้นของเหตุการณ์ครั้งนี้ เป็นแผ่นดินไหวในเนวาดาที่ทำลายเขื่อนฮูเวอร์ก่อนจะส่งผลไปยังรอยเคลื่อนซานแอนเดรส

ถ้าเขาคิดถูก มันจะยืนยันความถูกต้องของงานที่เขาทำมาทั้งชีวิต แต่นั่นย่อมหมายถึงการทำลายล้างเป็นวงกว้างยิ่งขึ้นอีก “เขาเป็นนักวิทยาศาสตร์ที่ปราดเปรื่องและเชื่อมั่นในความคิดของตัวเองในฐานะนักวิจัยแนวหน้าในงานด้านนี้” พอล จิอาแม็ตติกล่าวถึงตัวละครที่เขาเล่น “ลอว์เรนซ์ได้พัฒนาทฤษฎีขึ้นมาด้วยการแกะรอยเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นก่อนแผ่นดินไหวและติดตามพัฒนาการของมันเพื่อพยายามทำนายการเกิดแผ่นดินไหวใหญ่ครั้งต่อไป”

ชายผู้ยึดมั่นในภารกิจของตนเองอย่างลอว์เรนซ์เชื่อแล้วว่าข้อมูลของเขาบ่งชี้ถึงความผันผวนของการเกิดแผ่นดินไหวที่เพิ่มขึ้นและจำเป็นต้องกระจายข่าวออกไปให้รวดเร็วและเป็นกระแสใหญ่ให้ได้ ในจุดนี้เองที่นักข่าวทีวีอย่างเซเรนาก้าวเข้ามา “เซเรนาทำข่าวแผ่นดินไหวระยะแรกในเนวาดาซึ่งเป็นสิ่งที่ไม่มีใครคาดคิดมาก่อน” นักแสดงชาวอังกฤษ อาร์ชี แพนจาบี ผู้รับบทนี้กล่าว “เธออยู่ที่คาลเทคเพื่อสัมภาษณ์ลอว์เรนซ์มาทำข่าว และระหว่างอยู่ที่นั่นเธอก็ต้องมาติดอยู่ท่ามกลางปฏิกริยาลูกโซ่ครั้งใหญ่กว่าจากรอยเคลื่อนซานแอนเดรสพร้อมกับลอว์เรนซ์และทีมงาน มันอาจเป็นเหตุการณ์ใหญ่ที่สุดไม่เพียงในอาชีพการงานของเธอ แต่ในอาชีพของนักข่าวทุกคน”

“San Andreas” ร่วมแสดงโดยไอโอน กรัฟฟัดด์ในบทสถาปนิกซึ่งเป็นคนรักของเอ็มมา แดเนียล บทบาทซึ่งเผยให้เห็นธรรมชาติอันไม่อาจคาดเดาได้ของผู้คนที่ตกอยู่ใต้แรงกดดันอย่างรุนแรง แดเนียลปรากฏตัวครั้งแรกด้วยความตั้งใจดี เขาเปิดใจและเปิดบ้านรับเอ็มมาและลูกสาวเข้ามา ทั้งยังอาสาจะพาเบลคไปส่งที่วิทยาลัยเมื่อเรย์ไม่สามารถเดินทางไปได้ “ระหว่างทาง” กรัฟฟัดด์กล่าว “แดเนียลเปิดใจกับเบลค สารภาพว่าเขาไม่เคยมีลูกมาก่อนเพราะมัวแต่ยุ่งอยู่กับงาน แต่เขาดีใจมากที่ได้รับเธอเข้ามาอยู่ในชีวิตของเขา เธอชื่นชมความตรงไปตรงมานี้และคุณเห็นได้ว่าเธอเต็มใจที่จะให้โอกาสผู้ชายคนนี้”

แต่แดเนียลกลับพึ่งพาไม่ได้ในเวลาที่สำคัญที่สุด “เขาเป็นภาคตรงกันข้ามกับผู้ชายที่วิ่งเข้าไปในตึกที่ไฟไหม้เพื่อช่วยชีวิตคน” กรัฟฟัดด์กล่าวเสริม “ที่น่าสนใจคือแดเนียลอาจคิดมาตลอดชีวิตว่าเขาจะทำตัวเป็นวีรบุรุษ แต่แล้วก็ต้องมาพบว่าเมื่อเผชิญกับเหตุการณ์เฉียดตายเข้าจริงๆ เขากลับทำตรงกันข้ามเลย”

แต่ก็ใช่ว่าเรื่องนั้นจะทำให้เขากลายเป็นคนเลวเสมอไป เพย์ตันให้ความเห็นว่า “มันช่วยตั้งคำถามว่าเราแต่ละคนจะทำอย่างไรในสถานการณ์เดียวกัน”

ฉาก คิวบู๊ และเอฟเฟ็กต์

“พ่ออยากให้ลูกขึ้นไปบนที่สูงนะ ลูกจำคอยท์ทาวเวอร์ได้ไหม เราจะไปพบกันที่นั่น” – เรย์

ด้วยการนำองค์ประกอบเชิงสร้างสรรค์หลายส่วนมาประสานเข้าด้วยกัน ตั้งแต่ฉาก สถานที่ถ่ายทำ และคิวบู๊ ไปจนถึงเอฟเฟ็กต์จริงและเอฟเฟ็กต์ดิจิตัล แนวทางของเพย์ตันคือการทำให้ชิ้นส่วนโมเสกแต่ละชิ้นให้ภาพที่สมจริงมากที่สุดเท่าที่เป็นไปได้ แม้ว่า “San Andreas” จะมีการใช้ซีจีอยู่มาก นั่นหมายถึงการต้องถ่ายทำฉากแอ็คชั่นจำนวนมากผ่านกล้อง ซึ่งเกินกว่าที่คาดหวังกันในหนังสเกลนี้

“ผมคิดว่ามีเวลาสักสามวันได้ที่เราเดินอยู่ติดพื้นจริงๆ” เพย์ตันเล่า “ถ้าเราไม่อยู่ในน้ำ เราก็อยู่บนโครงเรือหรืออยู่บนโครงเฮลิคอปเตอร์ มีอยู่สัปดาห์หนึ่งที่ผมถ่ายทำเรือบนโรงถ่ายที่ด้านหลังเป็นฉากเขียว เราถ่ายฉากบู๊ทั้งหมดโดยมีน้ำสาดกระจายไปทั่ว จากนั้นอีกสัปดาห์หนึ่งก็เป็นเฮลิคอปเตอร์ แล้วก็เครื่องบิน มันค่อนข้างวุ่นวายเลยล่ะครับ ผมคิดว่าการเปลี่ยนยานพาหนะไปเรื่อยก็เป็นเรื่องดีสำหรับหนังเรื่องนี้เพราะเราต้องเคลื่อนที่ไปตลอดเวลา”

เพื่อตอบสนองความซับซ้อนในการออกแบบภาพแต่ละภาพ เขากล่าวว่า “แม้ว่ามันเป็นช็อตซีจี อย่างช็อตที่ถ่ายจากด้านหลังคนที่อยู่บนเรือ ผมจะขอให้คนตัดต่อนำองค์ประกอบในฉากเขียวของเรือทั้งหมดใส่ลงไป ดังนั้นเมื่อผมเรียงภาพเข้าด้วยกันผมจะได้รู้ว่ามันต้องไปเร็วแค่ไหน ผมต้องการภาพอ้างอิงเหล่านั้น ผมอาจมีทั้งภาพจำลองล่วงหน้า ช็อตองค์ประกอบ ช็อตจากสถานที่ถ่ายทำ แล้วก็ช็อตวิชวลเอฟเฟ็กต์ ดังนั้นจึงมีภาพสี่ภาพของสิ่งที่ผมจะนำมาประกอบเป็นภาพภาพเดียว และนั่นก็เป็นแค่ขั้นเบื้องต้น คุณต้องคิดหาวิธีการนำองค์ประกอบทั้งหมดนี้มารวมเข้าด้วยกันในหนังแบบนี้ เพราะตามความเป็นจริงแล้วมีช็อตที่มีองค์ประกอบอยู่ 15 ส่วนด้วย มีตัวแปรอยู่มากมาย”

ผู้อำนวยการวิชวลเอฟเฟ็กต์ แรนดัลล์ สตาร์ ซึ่งมาร่วมงานกับเพย์ตันเป็นครั้งที่สามกล่าวว่า “แทบทุกช็อตมีบางอย่างเกิดขึ้น แม้ว่ามันจะเป็นสิ่งเล็กน้อยอย่างการใส่รอยร้าวลงไปบนกำแพงที่เรียบร้อยสวยงาม หรือให้ฝุ่นร่วงลงมาเพื่อเพิ่มความตึงเครียดในฉาก ไปจนถึงคลื่น อาคาร และสะพานที่สร้างขึ้นด้วยคอมพิวเตอร์ทั้งหมด ดังนั้นงานของเราจึงมีครบทุกระดับ”

เพย์ตันชอบถ่ายทำบนแกน Z เพื่อสร้างความรู้สึกของการเคลื่อนที่ห่างออกจากกล้องและเข้าหากล้อง “แม้กระทั่งในภาพแบบสองมิติ มันก็ยังทำให้คุณรู้สึกได้ถึงการเคลื่อนไหว และในแบบสามมิติมันจะยิ่งน่าทึ่งมาก คุณจะรู้สึกได้ถึงการเคลื่อนไหวทั้งหมดเหมือนคุณอยู่ภายในพื้นที่นั้นและเคลื่อนที่ไปตามทางเดินเหล่านี้ มันเป็นเทคนิคที่ยอดเยี่ยมและระบบสามมิติก็ทำให้มันยิ่งดูดีขึ้นอีก” เขาอธิบาย

ฟลินน์อำนวยการสร้างหนังยาวเรื่องแรกที่ถ่ายทำในระบบสามมิติความละเอียดสูง ซึ่งก็คือ “Journey to the Center of the Earth” เมื่อปี 2008 และใช้การแปลงเป็นสามมิติใน “San Andreas” ฟลินน์กล่าวว่า “ผมเป็นคนที่เชื่อมั่นในเทคโนโลยีสามมิติมากๆ ครับ มันพัฒนาแบบก้าวกระโดด โดยเฉพาะอย่างยิ่งในแง่การแปลงภาพ สำหรับ ‘San Andreas’ เราต้องการสร้างภาพยนตร์เกี่ยวกับแผ่นดินไหวแบบสามมิติขึ้นมาเป็นครั้งแรก นั่นคือหน้าที่ของเราในฐานะคนทำหนัง ซึ่งก็คือการยกระดับประสบการณ์ในการเข้าโรงภาพยนตร์ให้แก่ผู้ชม

หนังเรื่องนี้ถ่ายภาพพื้นที่ภายนอกของลอสแองเจลีสและซานฟรานซิสโกเป็นจำนวนมากซึ่งจะนำไปรวมกับการถ่ายทำสถานที่ภายในและโดยรอบเขตโกลด์โคสต์ทางตะวันออกเฉียงใต้ของควีนส์แลนด์ในออสเตรเลีย มีการสร้างฉากขนาดใหญ่หลายฉากในโรงถ่ายของ Village Roadshow Studios รวมถึงแท็งค์น้ำขนาดเกือบ 13,000 ตารางฟุต เป็นแท็งค์น้ำเพื่อการถ่ายทำภาพยนตร์ขนาดใหญ่ที่สุดในออสเตรเลียและใหญ่เป็นอันดับต้นๆ ของโลก ด้วยความจุถึง 1.5 ล้านแกลลอน

ฉากกู้ภัยจากยอดตึกกลางเมืองลอสแองเจลีส

เมื่อแผ่นดินไหวโจมตีลอสแองเจลีส เอ็มมาอยู่ในร้านอาหารหรูชั้นบนของตึกระฟ้าอันทันสมัยใจกลางเมืองที่มองเห็นวิวรอบด้านและเป็นอาคารที่สมมุติขึ้นมา

นักออกแบบงานสร้าง แบร์รี ชูซิด จินตนาการภาพร้านอาหารแห่งนี้ว่าเป็นสถานที่ซึ่งมีความงดงามเป็นอมตะด้วยโคมไฟระย้า บ่อน้ำ ไม้กระถาง และการตกแต่งที่หรูหราอย่างเสาคอลัมน์และบาร์สีน้ำผึ้งออนิกซ์ ทั้งหมดนี้สร้างขึ้นพร้อมรูปแบบการสัญจรที่เพย์ตันวางผังไว้ร่วมกับหัวหน้าสเปเชียลเอฟเฟ็กต์ ไบรอัน ค็อกซ์ และผู้ประสานงานฝ่ายสตันท์ แอลลัน ป็อปเปิลตัน เพื่อนำไปสู่เหตุโกลาหลที่จะตามมาเมื่อบรรดาลูกค้าผู้แตกตื่นพากันวิ่งกรูไปยังทางออก

เพย์ตันถ่ายทอดเหตุการณ์ทั้งหมดนี้ด้วยการเคลื่อนกล้องอย่างต่อเนื่องเพียงครั้งเดียว เริ่มต้นจากมุมมองของเอ็มมา ตั้งแต่การรับรู้ด้วยความตกตะลึงในตอนแรกว่าเกิดอะไรขึ้น ไปจนถึงการพยายามออกจากร้านอาหารและขึ้นบันไดไปหาเครื่องเฮลิคอปเตอร์ของเรย์ขณะที่ทุกสิ่งรอบตัวกำลังแตกเป็นเสี่ยงๆ จนกระทั่งการป่ายปีนขึ้นไปอย่างยากลำบากเหนือแผ่นคอนกรีตบนหลังคาซึ่งสั่นไหวและถล่มลงมา เกิดเป็นปากหลุมกว้างและทางลาดชัน

“เธอเริ่มต้นจากชั้นบนและอาคารถล่มลงมาสามหรือสี่ชั้น” เพย์ตันกล่าว “เธอปีนออกจากซากปรักหักพังแล้วตกลงมาอีก มันเป็นการเดินทางที่เหลือเชื่อ”

ป็อปเปิลตันซึ่งวางเส้นทางให้คาร์ลา กูจิโนและคนอื่นๆ อธิบายว่าขั้นตอนนี้ทำได้อย่างไร “เราเรียกมันว่าแพนเค้ก มันเป็นอุปกรณ์เหมือนแพนเค้กแผ่นใหญ่ที่เราให้เธอขึ้นไปอยู่บนนั้น มันช่วยให้เธอตกลงมาด้วยความสูงที่ดูเหมือนตึกสี่ชั้นก่อนที่เธอจะปีนกลับขึ้นไปบนหลังคา”

“ตากล้องสเตดีแคมกับฉันต้องอยู่ด้วยกันตลอดในช่วงสองสามวันนั้น เขาคอยตามเอ็มมาตลอดทางในการถ่ายทำช็อตเดียวที่พิเศษสุดๆ” กูจิโนกล่าว เธอเปรียบเทียบการแสดงครั้งนี้เหมือนการเล่นละครเวที “ฉันเล่นละครเวทีมาเยอะ มันเหมือนการที่คุณไต่อยู่บนเส้นเชือกซึ่งคุณไม่สามารถกระโดดออกไปได้และได้แต่เดินไปข้างหน้าเท่านั้น มันทำให้เลือดลมคุณสูบฉีดและต้องตั้งสมาธิให้ดีๆ ฉันคิดว่าการทำอย่างนั้นช่วยสร้างพลังให้กับฉากนี้ได้อย่างสมบูรณ์แบบ แบรดมีสัญชาตญาณดีมากที่เลือกถ่ายทำออกมาด้วยวิธีนี้”

“ทั้งฉากนั้นเป็นกระบวนการจัดลำดับคิวที่ซับซ้อน โดยการกระทำแต่ละครั้งนำไปสู่การกระทำขั้นต่อไป” ค็อกซ์อธิบาย ขณะที่ฉากเริ่มต้นขึ้นด้วยแก้วน้ำที่สั่นเล็กน้อยหรือมีดที่กระทบกับผิวโต๊ะและทวีความรุนแรงขึ้นเมื่อผนังแตกและท่อแก็สพังทำให้เกิดลูกไฟพุ่งออกมาจากในครัว “เรามีต้นไม้และบ่อน้ำติดตั้งอยู่บนระบบรางที่เราสามารถสั่นไปข้างหน้าข้างหลังได้ รวมถึงโต๊ะเก้าอี้ที่เคลื่อนไหวเป็นเอกเทศจากกัน มีการเคลื่อนไหวในระดับความถี่ต่างๆ กันอยู่”

การทำงานของค็อกซ์สอดคล้องกับการทำงานของฝ่ายวิชวลเอฟเฟ็กต์ สตาร์กล่าวว่าเพื่อให้เป็นไปตามแนวทางของเขา “เราแบ่งฉากนี้ออกเป็นส่วนๆ แล้วนำชิ้นส่วนแต่ละชิ้นมาประกอบเข้าด้วยกันจนครบสมบูรณ์” สำหรับภาพทิวทัศน์ของเมืองที่ผ่านการดัดแปลงทางดิจิตัลซึ่งเขาพยายามทำให้มีความสมจริงนั้น เขาเสริมว่า “อาคารย่านใจกลางเมืองหลายแห่งสร้างขึ้นในทศวรรษต่างๆ กัน ดังนั้นจึงมีความเป็นไปได้ที่บางแห่งจะพังลงมา ในขณะที่บางแห่งที่ใหม่กว่าอาจแค่โงนเงนไปมา เราจึงสร้างสิ่งเหล่านั้นทั้งหมดขึ้นมาในฉาก”

ช็อตของเรย์ในเฮลิคอปเตอร์เป็นส่วนเคลื่อนไหวอีกส่วนหนึ่ง โดยมีการถ่ายทำนักแสดงในโรงถ่ายฉากเขียวบนสิ่งที่ชูซิดเรียกว่า “หุ่นเฮลิคอปเตอร์” ที่สร้างขึ้นตามแบบจำลองจากหน่วยดับเพลิงลอสแองเจลีสและตั้งอยู่บนแกนหมุน แกนหมุนนั้นได้รับการดัดแปลงใหม่ในภายหลังเพื่อใช้ควบคุมสปีดโบ๊ตที่เรย์และเอ็มมาขับผ่านน้ำท่วมจากสึนามิ

“ผมควบคุมทุกอย่างที่มีปีกหรือล้อในหนังเรื่องนี้และผมได้เป็นคนขับเรือเองด้วยซ้ำ” จอห์นสันกล่าว “นักแสดงชอบที่ได้พูดว่าเราเล่นฉากบู๊ด้วยตัวเอง ผมมีสตันท์แมนที่เก่งมากซึ่งทำงานกับผมมาหลายปี แต่เพราะเราถ่ายทำหลายส่วนผ่านกล้องโดยไม่มีการตัด ผมก็เลยต้องเล่นหลายส่วนด้วยตัวเองอย่างเช่นการโหนตัวจากเฮลิคอปเตอร์”

จอห์นสันและนักแสดงที่รับบทเป็นลูกทีมของเรย์ในฉากต้นๆ ได้เข้าฝึกกับ CareFlight บริษัทเฮลิคอปเตอร์เพื่อเหตุฉุกเฉินซึ่งเป็นองค์กรไม่แสวงหากำไรในควีนสแลนด์ ทั้งนี้เพื่อเรียนรู้ขั้นตอนพื้นฐาน เครื่องมือ อุปกรณ์ และการทำงานโดยรวมของทีมงานลักษณะดังกล่าว CareFlight ยังได้ให้ยืมเครื่องเฮลิคอปเตอร์ Bell 412 และให้เข้าใช้โรงเก็บเฮลิคอปเตอร์เพื่อการถ่ายทำอีกด้วย

“ผมใช้เวลากับนักบินเฮลิคอปเตอร์อยู่นานสองนานเพื่อพยายามเข้าใจกลไกการบินของเฮลิคอปเตอร์และเข้าใจความคิดในหัวของพวกเขาครับ” จอห์นสันกล่าว “ว่านักบินมองงานของเขาเป็นอย่างไร พวกเขาคิดอะไร และพวกเขาสามารถแยกความรู้สึกออกจากงานได้อย่างไร เพราะเป็นธรรมดาที่มนุษย์จะเข้าสู่โหมดของการตัดสินใจว่าจะสู้หรือจะหนีเมื่อสิ่งเหล่านี้เกิดขึ้น คนกลุ่มนี้เป็นนักรบที่น่าทึ่ง การได้ใช้เวลากับพวกเขามีค่าอย่างยิ่งเลยครับ”

การทำลาย เดอะ เกต ตึกสูงที่สุดของซานฟรานซิสโก

ภารกิจของเบลคในการค้นหาที่สูงในซานฟรานซิสโกได้นำเธอไปยัง เดอะ เกต อาคารสมมุติอีกแห่งหนึ่งซึ่งออกแบบโดยแดเนียลและอยู่ระหว่างการก่อสร้าง ขณะที่เธอ เบน และน้องชาย ออลลี เข้าไปอาศัยหลบอยู่ พวกเขาขึ้นไปถึงประมาณชั้น 14 เมื่อสึนามิเข้าถล่มเมือง ทำให้น้ำท่วมตึกและบังคับให้พวกเขาไต่สูงขึ้นเรื่อยๆ ขณะที่น้ำเพิ่มระดับขึ้นและอาฟเตอร์ช็อคยังคงเกิดขึ้นและค่อยๆ ทำลายตึกที่เอียงอยู่แล้ว เบลคก็ถูกซากตึกขนาดใหญ่มาขวางทางไว้ให้ไปต่อไม่ได้...โดยมีอากาศเหลืออยู่น้อยมาก

แอ็คชั่นส่วนใหญ่เกิดขึ้นระหว่างชั้นที่ 12 และ 15 ดังนั้นการก่อสร้างจึงเน้นไปที่การสร้างฉากจริงทั้งสามชั้นนี้ โดยฝากความรับผิดชอบในส่วนขยายเพิ่มเติม หน้าต่าง ทิวทัศน์ด้านนอก และรายละเอียดยิบย่อยต่างๆ ให้ทีมวิชวลเอฟเฟ็กต์ นิค แดร์ ผู้ออกแบบฉากหนึ่งในสามคนของทีมสร้างเรื่องนี้ซึ่งทำงานกับชูซิดที่เดอะ เกต กล่าวว่า “วิธีการของเราคือการสร้างแท่นที่มีฉากทั้งสามฉากและสามารถจุ่มลงไปในแท็งค์น้ำได้ มันต้องใช้องค์ประกอบทางวิศวกรรมขนาดใหญ่และใช้เวลาหลายสัปดาห์ในการนำคานและแปเหล็กที่ผลิตขึ้นเป็นพิเศษมาประกอบเข้าด้วยกันก่อนจะสร้างฉากขึ้นมาได้ แท่นนี้สร้างอยู่บนทางลาดไฮดรอลิกสี่ตัวที่ดันมันขึ้นลงและมันสามารถเอียงได้เป็นมุมประมาณ 11 องศา เราคำนวณว่าอาคารจะเอียงทำมุม 15 องศา แต่ 15 องศาเป็นพื้นที่ที่คนเดินไม่ได้ ดังนั้นเพื่อให้เหมาะกับการแสดงเราจึงต้องลดองศาลง และส่วนใหญ่แล้วเราใช้งานมันที่เก้าหรือหกหรือสามองศา”

“ความท้าทายประการสำคัญที่สุดคือน้ำหนักของมัน” ค็อกซ์กล่าว “สุดท้ายเราได้น้ำหนักที่ 105 ตันและต้องวางแอร์แบ็กไว้ข้างใต้เพื่อช่วยยกมันในบางจุด”

การเพิ่มหรือลดความสูงของแท่นนี้จะเป็นตัวกำหนดระดับน้ำ นอกจากนี้น้ำจะถูกปล่อยจากถังเก็บความจุ 9000 แกลลอนเมื่อจำเป็น เช่น เมื่อโครงสร้างที่เสียหายเอนลงมาอย่างกะทันหันและมีน้ำพุ่งเข้ามาเพิ่ม ในแง่การออกแบบฉากนั้น ทุกอย่างในฉากจะต้องกันน้ำได้หรือทำจากวัสดุที่สามารถทนคลอรีนได้ตลอดเดือนและหลายส่วนจะต้องถูกตรึงไว้กับที่ ชิ้นส่วนขนาดใหญ่มีรูระบายให้น้ำไหลผ่านเพื่อลดแรงดันบางส่วน

นักแสดงรวมถึงทีมงานส่วนใหญ่ นักแสดงสตันท์ นักประดาน้ำ และผู้ดูแลความปลอดภัยต้องใช้เวลานานอยู่ในน้ำ “แท็งค์น้ำเป็นฉากที่น่าทึ่งมากค่ะ” แดดดาริโอเล่า “พลังของมันคอยผลักตัวเรากลับไป และบางครั้งความตกใจและประหลาดใจจากการถูกน้ำหลายแกลลอนถาโถมเข้ามาก็เป็นของจริง มันง่ายที่ฉันจะเชื่อว่าตัวเองกำลังกลัวอยู่ถึงแม้จะฉันรู้ว่าสามารถหนีออกไปเมื่อไหร่ก็ได้ก็ตาม”

ฉากแขวนตัวบนหน้าผาที่ถนนเลียบภูเขา ฉากอาคารจอดรถ ฉากคาลเทค และฉากอื่นๆ

ในฉากตอนต้นที่แสดงถึงความสามารถ ความเป็นห่วงเป็นใย และสติที่มั่นคงของเรย์ เขาและทีมเฮลิคอปเตอร์ได้ช่วยคนขับรถซึ่งรถลื่นไถลออกจากถนนและกำลังจะตกหน้าผา ด้วยการสร้างฉากภายนอกขนาด 50x50 ฟุต ที่สถานที่ถ่ายทำในออสเตรเลีย ฉากดังกล่าวได้รับการจำลองอย่างละเอียดเพื่อใช้แทนถนนในเขตทิวเขาซานตาโมนิกา ตัวแบบได้จากเหมืองหินที่อยู่ใกล้กันโดยใช้โฟมทำขึ้นมา องค์ประกอบเหล่านี้ติดอยู่กับโครงไม้ซึ่งมีฐานคอนกรีตเอาไว้ให้นักแสดงเหยียบและถุงดินเพื่อวางต้นไม้ลงไป

ตัวรถได้รับการติดตั้งโดยใช้สายเคเบิลเกือบเป็นแนวตั้งแนบไปกับหน้าผาเพื่อให้มันถูกหย่อนลงมาในระดับต่างๆ ด้วยระบบไฮดรอลิก และเฮลิคอปเตอร์จริงก็ถูกแขวนไว้โดยใช้เครนเป็นมุมเอียงเหมือนคนแตะหมวกซึ่งนักแสดงและสตันท์ต้องห้อยตัวลงมาเพื่อไปให้ถึง

ต่อมาในซานฟรานซิสโกมีการเล่าเหตุการณ์ตอนที่เบลคพยายามพาตัวเองออกจากรถที่ติดอยู่ใต้คานที่หล่นลงมา โรงรถในเกาะคาพรีเป็นโครงหลักให้ฉากนี้ โดยนักออกแบบงานสร้าง ชูซิด ได้นำมันมาปรับแต่งด้วยแสงไฟฉุกเฉิน เครื่องฉีดน้ำ ป้ายบอกทาง และรายละเอียดอื่นๆ เขาต้องการให้เสาอาคารเผยให้เห็นโครงเหล็กและเหล็กเส้นอยู่ภายใต้คอนกรีตที่แตกหลังแผ่นดินไหว ฉากที่เป็นการผสมผสานเอฟเฟ็กต์จริงเข้ากับซีจีนี้ต้องอาศัยนักขับสตันท์เพื่อเร่งความเร็วรถในระยะราว 50 ฟุตก่อนจะตกลงไปผ่านรอยแยกจำลองซึ่งหลังจากนั้นเขาจะนำรถลงไปยังพื้นชั้นล่าง รถมีหลังคายางที่สามารถรับการกระแทกได้หลายครั้ง

สำหรับเหตุร้ายที่เขื่อนฮูเวอร์ในเนวาดา ทีมงานได้สร้างฉากถนนที่ลานจอดรถของ Outback Spectacular และส่วนหนึ่งของอุโมงค์บนฐานแบบสั่นได้ในโรงถ่าย ซึ่งทีมวิชวลเอฟเฟ็กต์ได้แปรสภาพให้เป็นเหตุการณ์ขนาดใหญ่เมื่อเขื่อนแตกและถนนแยกออกจากกัน เช่นเดียวกันสะพานโกลเด้นเกตอันเป็นเอกลักษณ์ของซานฟรานซิสโกก็ได้รับการถ่ายทอดผ่านสิ่งก่อสร้างท่อนกลางขนาด 55 ฟุตพร้อมด้วยชิ้นส่วนที่แตกออกซึ่งสามารถใช้ถ่ายทำจากด้านไหนก็ได้ จากนั้นค่อยนำไปปรับด้วยดิจิตัล

สำนักงานของลอว์เรนซ์และแล็บแผ่นดินไหวของคาลเทคที่ซึ่งเขาและทีมงานควานหาข้อมูลขณะที่อาฟเตอร์ช็อคทำอันตรายต่อระบบไฟฟ้าและคุกคามความปลอดภัย ได้รับการสร้างขึ้นบนพื้นที่สนามบิน Archerfield ในบริสเบน ติดกับพื้นที่ซึ่งใช้เป็นฐานหน่วยดับเพลิงแอลเอของเรย์ “มันมีสถาปัตยกรรมยุคทศวรรษ 1950 ซึ่งมีความสวยงามและมีรายละเอียดที่แบร์รีชอบมาก ทั้งเสาคอนกรีตทาสีและพื้นลิโนเลียม” จาซินตา เหลียง ผู้กำกับฝ่ายศิลป์หนึ่งในสามคนของหนังเรื่องนี้กล่าว

พอล จิอาแม็ตติ ซึ่งถ่ายทำฉากส่วนใหญ่ที่นี่ กล่าวว่า “เนื่องจากแบรดอยากให้หลายส่วนเป็นเอฟเฟ็กต์จริง เราจึงนั่งอยู่ในฉากคาลเทค โดยมีทีมงานคอยเขย่าโต๊ะ โคมไฟแกว่งไปมาและดับลง ทำให้เราเหมือนอยู่ในเหตุการณ์จริง”

นักออกแบบเครื่องแต่งกาย เวนดี ชัค ระบุว่า เมื่อเรื่องราวจบลงอย่างยิ่งใหญ่ไม่เพียงแต่ตัวละครจะผ่านนรกอันโหดร้ายมาแล้ว แต่เสื้อผ้าของพวกเขาก็ผ่านสมรภูมิมาเช่นกัน ด้วยความที่เหตุการณ์เกิดขึ้นอย่างรวดเร็ว นักแสดงทุกคนจึงใส่เสื้อผ้าชุดเดียว แต่ชุดที่เห็นว่าเป็นชุดเดียวนั้นมาจากชุดแบบเดียวกันหลายๆ ชุดซึ่งผ่านการใช้งานและเผชิญสภาพแวดล้อมในระดับต่างๆ กัน “เรามีทั้งเลือด ฝุ่น ความเสียหาย และการเสื่อมสภาพในทุกๆ ระดับ” เธอกล่าว “แค่ดูเสื้อผ้าคุณก็จะเห็นโครงเรื่องทั้งเรื่องได้เลย”

“ฝันถึงแคลิฟอร์เนีย

เพื่อสร้างดนตรีสำหรับ “San Andreas” เพย์ตันหันไปหาแอนดรูว์ ล็อคคิงตัน นักแต่งเพลงที่ทำงานทั้งใน “Journey to the Center of the Earth” และ “Journey 2: The Mysterious Island” ด้วยการเริ่มต้นกระบวนการให้เร็วที่สุดเท่าที่จะทำได้ เพย์ตันอธิบายว่า “วิธีการที่ผมชอบในการสร้างโลกในหนังขึ้นมาก็คือการดูจากโทนและดนตรี สำหรับ ‘San Andreas’ คำถามอยู่ที่ทำอย่างไรจึงจะสร้างดนตรีประกอบที่ยิ่งใหญ่ เป็นเอกลักษณ์ และเปี่ยมด้วยอารมณ์ ดังนั้นเราจึงรีบเริ่มงานและทดลองไปเรื่อยๆ เพื่อค้นหาเพลงธีมและบรรยากาศของหนังเรื่องนี้ คุณอาจเล่นกับตัวละครหรือเล่นกับเหตุการณ์ก็ได้ ดังนั้นคุณจึงต้องตัดสินใจว่า ‘นี่คือช่วงเวลาที่เรามองประสบการณ์ผ่านมุมมองของคนคนหนึ่งหรือว่าเรากำลังนำเสนอภาพมุมกว้าง’”

ด้วยการเปิดกว้างรับอิทธิพลที่มีเอกลักษณ์ ล็อคคิงตันได้นำเอาสิ่งหนึ่งซึ่งเข้ากับเรื่องนี้ได้เป็นอย่างดีมาใช้ นั่นคือเสียงจากข้อมูลจริงในรูปคลื่นที่เก็บได้จากรอยเคลื่อนซานแอนเดรสเมื่อหนึ่งปีก่อน “ด้วยการใช้ข้อมูลการเคลื่อนตัวของเปลือกโลกตามเวลาจริงที่ได้มาจากหน่วยสำรวจธรณีวิทยาของสหรัฐ เราพบองค์ประกอบที่สามารถนำมาดัดแปลงเพื่อสร้างเป็นเสียงที่น่าทึ่งเหล่านี้ได้” เขาเสนอ “เราไม่ได้ใช้มันมากนัก แต่มันก็เป็นส่วนแต่งเติมที่เพิ่มเข้ามา โดยเฉพาะอย่างยิ่งในฉากคาลเทค”

เพื่อถ่ายทอดความรู้สึกผิดเพี้ยน ล็อคคิงตันเล่าว่า “ผมได้เปียโนเก่ามาตัวหนึ่งและใช้เวลาสองวันทำลายมันด้วยค้อนขนาดใหญ่และคีมตัดลวด เราอัดเสียงขณะทุบมันด้วยค้อนและเสียงเหล่านั้นก็ถูกนำไปผสมกับดนตรีออร์เคสตราในหนัง หลังจากนั้นผมก็นั่งลงเล่นเครื่องดนตรีที่จะพังมิพังแหล่ตัวนี้ ผมเล่นโน้ตได้แต่เสียงมันไม่ได้ออกมาเหมือนอย่างที่ควรจะเป็น มันไม่ได้ฟังคล้ายเสียงเปียโนด้วยซ้ำ เราก็เลยได้เครื่องดนตรีใหม่ขึ้นมาและเสียงเหล่านั้นก็ได้ปรากฏอย่างโดดเด่นในบางฉากด้วย มันเป็นเครื่องให้จังหวะที่น่าสนใจ” จากนั้นนักแต่งเพลงรายนี้ก็ทำงานกับโปรแกรมเมอร์เพื่อนำโน้ตที่ได้จากเปียโนพังตัวนี้มาสังเคราะห์กลายเป็นสิ่งที่เขาเรียกว่า “เสียงที่ดิบและน่าสะพรึงกลัวจนแทบจะเหมือนการทุบกำปั้นลงไปยังดนตรีส่วนที่เหลือ’”

เมื่อเปลี่ยนจากอารมณ์กลัวและการทำลายล้างมาเป็นความพยายามและความหวัง ล็อคคิงตันก็ได้นำเอาเสียงร้องของคณะนักร้องประสานเสียงเด็กชายมาใช้ “เพื่อแหวกผ่านทุกสิ่งที่กำลังเกิดขึ้นและเข้าสู่ห้วงลึกทางอารมณ์และความมุ่งมั่นที่จะเอาชนะอุปสรรคของตัวละครเหล่านี้ แล้วเราก็มีเพลงธีมที่ไพเราะซึ่งอยู่เหนือเหตุภัยพิบัติโดยเน้นเสียงเครื่องสายเป็นหลัก”

ด้วยโทนที่สอดคล้องกันนี้ ศิลปินผู้เข้าชิงรางวัลแกรมมีหลายครั้งและเจ้าของผลงานติดชาร์ตทั่วโลกอย่าง Sia ก็ได้นำเพลงคลาสสิกยุคทศวรรษ 1960 อย่าง “California Dreaming” มาตีความใหม่เพื่อเป็นซาวด์แทร็กของ “San Andreas” เธอขับร้องบทเพลงนี้เพื่อหนังเรื่องนี้โดยเฉพาะผ่านฝีมือการโปรดิวซ์ของโอลิเวอร์ เคราส์ เพลงนี้ดังขึ้นในช่วงท้ายและเครดิตจบเพื่อสะท้อนถึงอารมณ์ปลุกเร้าและมีความหวังในฉากจบอันยิ่งใหญ่ของเรื่อง

“เมื่อเราพูดถึงการนำประสบการณ์ของตัวละครมาประสานเข้ากับดนตรี เราพยายามเห็นในสิ่งที่ตัวละครเห็น” เพย์ตันกล่าว แนวคิดนี้น่าจะเข้ากันได้ดีกับแนวทางโดยรวมของเขา “นอกเหนือจากแอ็คชั่นอลังการ ตึกพังถล่ม และคลื่นที่ถาโถมเข้าใส่เมือง ก็ยังมีเรื่องราวความรัก ความผูกพัน และการที่ครอบครัวกลับมารวมกันอีกครั้ง”

“มันเป็นเรื่องราวอย่างที่ผมชอบเล่าครับ คือมีความยิ่งใหญ่ทั้งในแง่คอนเซ็ปต์และอารมณ์” ฟลินน์กล่าว “มีแนวคิดอันทรงพลังอยู่มากมายใน ‘San Andreas’ แล้วมันก็ยังเป็นหนังที่ดูสนุกมากด้วย ผมสนใจแนวคิดที่ว่าอะไรทำให้คนเรากลายเป็นวีรบุรุษได้”

“มันมีทั้งแอ็คชั่น ความรัก ดรามา และวีรบุรุษ” ดเวย์น จอห์นสันสรุป “และมีศัตรูที่ยิ่งใหญ่ที่สุดเท่าที่มนุษย์เคยรู้จัก นั่นก็คือพลังธรรมชาติ”

ข่าวประชาสัมพันธ์ล่าสุด

๑๒:๑๔ องค์การบรรจุภัณฑ์โลก จับมือ อินฟอร์มา มาร์เก็ตส์ ประเทศไทย ร่วมจัดกิจกรรมสัมมนาออนไลน์
๑๒:๑๒ การแข่งขันกีฬาขี่ม้าโปโลรายการ King Power International Ladies' Polo Tournament 2024
๑๒:๔๔ DEXON ปักธงรายได้ปี 67 ทะลุ 700 ลบ. โชว์ Backlog เฉียด 280 ลบ. ล็อคมาร์จิ้น 35-40%
๑๒:๑๐ JPARK ร่วมงาน Dinner Talk ผู้บริหารจดทะเบียนพบนักลงทุน จ.ราชบุรี
๑๒:๒๓ นีเวีย ซัน และ วัตสัน จับมือต่อปีที่สองชวนดูแลท้องทะเล กับโครงการ เพราะแคร์ จึงชวนแชร์ ร่วมพิทักษ์รักษ์ทะเลไทย
๑๒:๕๗ Cloud เทคโนโลยีที่อยู่ใกล้ตัว เพียงแค่คุณไม่รู้เท่านั้นเอง
๑๒:๒๘ โรยัล คานิน ร่วมกับ เพ็ทแอนด์มี จัดงาน Royal Canin Expo 2024: PAWRENTS' DAY เพื่อสร้างโลกที่ดีขึ้นสำหรับน้องแมวและน้องหมา
๑๒:๑๐ STEAM Creative Math Competition
๑๒:๔๔ A-HOST ร่วมวาน MFEC Inspire ขึ้นบรรยายพร้อมจัดบูธ Cost Optimization Pavilion
๑๒:๔๗ ฟินเวอร์! ส่องความคิ้วท์ 'ฟอส-บุ๊ค' ควงคู่ร่วมงาน Discover Thailand เสิร์ฟโมเมนต์ฉ่ำให้แฟนๆ ได้ดับร้อนกันยกด้อมรับซัมเมอร์ และร่วมส่งต่อความสุขในกิจกรรม 'Exclusive Unseen Food Trip กับ คู่ซี้