Movie Guide: Lights Out - มันออกมาขย้ำ

พุธ ๒๐ กรกฎาคม ๒๐๑๖ ๑๑:๓๔
ผู้อำนวยการสร้าง เจมส์ วาน ("The Conjuring") ขอเสนอเรื่องราวความลึกลับน่าสะพรึงกลัวที่แอบซ่อนอยู่ในความมืด

เมื่อรีเบคกาจากบ้านไป เธอนึกว่าได้ทิ้งความกลัววัยเด็กเอาไว้เบื้องหลังแล้ว เธอเติบโตมาโดยไม่เคยแน่ใจว่าอะไรจริงและอะไรไม่จริงเมื่อไฟดับมืดลง... และในตอนนี้ มาร์ติน น้องชายตัวน้อยของเธอก็กำลังประสบเหตุชวนสะพรึงที่อธิบายไม่ได้ เหตุการณ์ซึ่งครั้งหนึ่งเคยทดสอบสติสัมปชัญญะและคุกคามความปลอดภัยของเธอ ดวงวิญญาณน่าหวาดกลัวที่มีความผูกพันอันลึกลับกับโซฟี แม่ของทั้งสอง ได้ปรากฏตัวขึ้นมาอีกครั้ง

คราวนี้เมื่อรีเบคกาใกล้ที่จะไขความจริงได้ ชีวิตของทุกคนจึงต้องตกอยู่ในอันตรายอย่างไม่อาจเลี่ยง...ทันทีที่ไฟดับมืดลง

เทเรซา พาลเมอร์ ("Triple 9," "Warm Bodies") รับบทเป็นรีเบคกา, เกเบรียล เบตแมน ("Annabelle") รับบทเป็น มาร์ติน, บิลลี เบิร์ค (หนังแฟรนไชส์ "Twilight") รับบทเป็นพอล พ่อของมาร์ติน, อเล็กซานเดอร์ ดิเพอร์เซีย ("Forever") รับบทเป็นเบรต แฟนของรีเบคกา และมาเรีย เบลโล ("Prisoners") รับบทเป็นโซฟี

"Lights Out" เป็นผลงานการกำกับหนังยาวเรื่องแรกของเดวิด เอฟ แซนด์เบิร์ก จากบทภาพยนตร์โดย เอริก ไฮส์เซอเรอร์ ("Final Destination 5") ตามเค้าโครงจากหนังสั้นชื่อเดียวกันของแซนด์เบิร์ก เจมส์ วาน, ลอว์เรนซ์ เกรย์ และไฮส์เซอเรอร์รับหน้าที่เป็นผู้อำนวยการสร้าง ร่วมด้วยวอลเตอร์ ฮามาดา, เดฟ นอยสแตดเทอร์ และริชาร์ด เบรเนอร์ในฐานะผู้อำนวยการสร้างบริหาร

ทีมงานเบื้องหลัง ได้แก่ ผู้กำกับภาพ มาร์ค สไปเซอร์ ("Furious 7"), นักออกแบบงานสร้าง เจนนิเฟอร์ สเปนซ์ (หนังแฟรนไชส์ "Insidious"), มือตัดต่อ เคิร์ก มอร์รี ("The Conjuring") และมิเชล อัลเลอร์ ("Paranormal Activity: The Ghost Dimension") และนักออกแบบเครื่องแต่งกาย คริสติน เอ็ม เบิร์ก ("The Conjuring") ดนตรีโดยเบนจามิน วอลล์ฟิสช์ ("Bhopal: A Prayer for Rain")

New Line Cinema ขอเสนอผลงานการสร้างของ Grey Matter/Atomic Monster เรื่อง "Lights Out" จัดจำหน่ายโดย Warner Bros. Pictures บริษัทในเครือ Warner Bros. Entertainment

ทุกคนหวาดกลัวความมืด

เธอได้พลังจากสิ่งนั้น

จากคบเพลิงและดวงเทียนมาจนถึงหลอดไฟ LED ไฟตามท้องถนน ไฟรถยนต์ ไฟนีออน และพลุไฟ นับตั้งแต่มนุษย์เริ่มถือกำเนิด เราได้ค้นหาวิธีการหลีกหนีเงามืดที่รุกล้ำเข้ามาและสิ่งน่ากลัวที่แอบซ่อนอยู่ในเงามืดนั้น

"เราทุกคนกลัวความมืด" เจมส์ วาน กล่าว เขาเป็นผู้อำนวยการสร้างของ "Lights Out" และเชี่ยวชาญด้านภาพยนตร์สยองขวัญและเขย่าขวัญ "เมื่อยังเด็ก เราเชื่อว่ามีบางอย่างแอบอยู่ในตู้เสื้อผ้าหรือใต้เตียง และความรู้สึกนั้นก็ยังคงอยู่กับเรา มันเป็นสิ่งสากล หนังเรื่องนี้เล่นกับแนวคิดง่ายๆ นั้น นั่นล่ะครับที่ทำให้มันสนุกและยอดเยี่ยม"

แต่นอกจากความกลัวและลางสังหรณ์แล้ว ถ้าเกิดว่ามีสิ่งชั่วร้ายอาศัยอยู่ในความมืดจริงๆ ล่ะ สิ่งที่ดำรงอยู่โดยอาศัยความมืดอำพรางตนและแข็งแกร่งขึ้นจากความกลัวของเรา สิ่งเดียวที่ปกป้องเราอาจเป็นแหล่งให้แสงสว่าง ชีวิตเราจึงต้องฝากไว้กับสวิตช์ไฟ กระแสไฟฟ้าในโคมไฟเหนือหัว หรือถ่านในกระบอกไฟฉาย

คุณเห็นมันอยู่ แป๊ก คุณไม่เห็นแล้ว

คุณเห็นมันอยู่ แป๊ก คุณไม่เห็นแล้ว

มันมาตรงหน้าคุณแล้ว ยื่นนิ้วไหม้เกรียมออกมา หายใจรดหน้าคุณ…

ระวัง!

"คนเราหวาดกลัวความมืดมาตั้งแต่สมัยดึกดำบรรพ์" ผู้กำกับ เดวิด เอฟ แซนด์เบิร์กกล่าว "ตัวผมเองก็รู้สึกอยู่ลึกๆ ดังนั้นแทนที่จะปฏิเสธแรงกระตุ้นนั้น เราจึงบอกว่า 'คุณคิดถูกแล้วล่ะ คุณคิดถูกแล้วที่กลัวเพราะมีบางอย่างอยู่ตรงนั้นจริงๆ' เรานำความกลัวนั้นมาสร้างเป็นปีศาจร้าย"

และปีศาจตนนั้นก็มีชื่อ ไดอานา

"Lights Out" เป็นผลงานหนังเรื่องแรกของแซนด์เบิร์กหลังจากเขาได้เขียนบทและกำกับหนังสั้นหลายเรื่องที่มีชื่อชวนสะกิดใจอย่าง "Closet Space" และ "Attic Panic" ทั้งยังมีผู้ติดตามทางอินเตอร์เน็ตจำนวนมากที่รอคอยผลงานสุดสยองของเขา "Lights Out" ได้เค้าโครงมาจากหนังสั้นสยองขวัญชื่อเดียวกันของแซนด์เบิร์ก งานชิ้นเอกที่เปี่ยมคุณภาพและทรงพลังจนทำให้เรานอนไม่หลับได้ช่วยให้นักทำหนังรุ่นใหม่ชาวสวีเดนรายนี้ได้รับความสนใจจากฮอลลีวู้ด

"ผมจำได้ว่าได้ดูเรื่องนี้แล้วคิดว่า 'สุดยอดไปเลย มันเจ๋งจริงๆ เป็นอะไรแบบที่ผมเองก็เคยทำสมัยยังเป็นนักทำหนังหน้าใหม่'" วานกล่าว

ผู้อำนวยการสร้าง ลอว์เรนซ์ เกรย์ เล่าว่า "เมื่อราวหนึ่งปีที่แล้วนี้เอง เดวิดทำหนังสั้นในอพาร์ตเมนต์ของเขาที่สวีเดนและอัพโหลดขึ้นไปบนโลกออนไลน์ จากนั้นมันก็เริ่มกลายเป็นกระแส หนังสั้นเรื่องนี้ทรงพลังและน่ากลัวมาก ผมดูหนังมาแล้วมากมาย แต่เรื่องนี้โดดเด่นจริงๆ ตอนนี้จำนวนการเข้าชมก็เกิน 100 ล้านครั้งเข้าไปแล้ว เพราะฉะนั้นไม่ใช่ผมคนเดียวที่รู้สึกแบบนี้

"ผมติดต่อไปยังเดวิดและเราก็เริ่มคุยกันเรื่องการทำหนังและคุยกันว่าใครที่เหมาะจะมาร่วมงานนี้" เกรย์กล่าวต่อ "ตัวเลือกอันดับแรกของผมคือเอริก ไฮส์เซอเรอร์ นักเขียนผู้น่าทึ่ง ซึ่งกลายมาเป็นมือเขียนบทและผู้อำนวยการสร้างของเรา และเจมส์ วาน คนทำหนังซึ่งมีพลังมหาศาล เขาเต็มเปี่ยมไปด้วยความคิดสร้างสรรค์ ทั้งคู่ตื่นเต้นกับแนวคิดนี้มาก ดังนั้นเราจึงได้ทีมงานในฝันมาตั้งแต่ต้นเลยครับ"

ไฮส์เซอเรอร์ ซึ่งมีผลงานอย่าง "Final Destination 5" และ "Nightmare on Elm Street" ภาครีบู๊ต กล่าวว่างานต้นฉบับของแซนด์เบิร์กนั้นเป็น "งานภาพยนตร์อันน่าทึ่งซึ่งส่งผลต่อสมองส่วนสัญชาตญาณของผม มันกระตุ้นความกลัวส่วนลึกในตัวผมรวมถึงผู้ชมมากมายทั่วโลก ผมคิดว่ามันเป็นความรู้สึกที่ตกค้างมาจากบรรพบุรุษของเราเมื่อนานมาแล้วว่าอะไรก็ตามที่เคลื่อนไหวในความมืดคือผู้ล่า เราขยายแนวคิดนี้ออกไปเป็นหนังเรื่องยาว โดยแก่นเรื่องก็คือไดอานาและความหมายที่เธอสื่อถึง"

ความตั้งใจของทีมงานไม่ใช่การรีเมคหนังสั้น แต่เป็นการดึงเอาปีศาจตนนี้มาพร้อมกับหลักการและจุดมุ่งหมายอันชั่วร้ายของมัน ไฮส์เซอเรอร์อธิบายว่า "เราสร้างตำนานขึ้นมาใหม่ด้วยตัวละครนี้ เดวิดคิดค้นความน่ากลัวอันเป็นเอกลักษณ์ขึ้นมา แล้วผมก็เสริมแนวคิดเข้าไปเพื่อสำรวจความสว่างและความมืดในรูปแบบใหม่ที่สร้างสรรค์ สิ่งสำคัญคือต้องแน่ใจว่าเราเล่นกับแนวคิดเรื่องไดอานาอย่างได้ผล"

ที่สำคัญไม่แพ้กันคือการถ่ายทอดแนวทางของแซนด์เบิร์กในการสร้างความน่ากลัวจนคุณต้องสะดุ้ง ซึ่งเกิดมาจากความทุ่มเทและความเข้าใจของผู้กำกับรายนี้ ตลอดจนอารมณ์ขันที่สอดแทรกเข้ามาอย่างไม่คาดคิดซึ่งเป็นสิ่งที่แฟนหนังสยองขวัญชอบกัน "เราจำเป็นต้องค้นหาผู้กำกับที่เข้าใจวิธีการสร้างฉากน่ากลัว รวมทั้งสร้างความตึงเครียดและระทึกขวัญ แล้วเราก็เห็นได้อย่างชัดเจนจากงานของเดวิดว่าเขามีสัญชาตญาณในเรื่องนี้" วานกล่าว เขายินดีที่ได้ส่งเสริมผู้กำกับหน้าใหม่ที่มีพรสวรรค์ "พูดในฐานะผู้อำนวยการสร้าง และในฐานะคนที่มีประสบการณ์ในหนังแนวนี้มาบ้าง เราก็อยากจะช่วยหาเครื่องมือที่เหมาะสมให้ แต่จริงๆ แล้วเราก็ต้องการให้เดวิดมีอิสระที่จะทำหนังในแบบที่เขาอยากทำ มันเป็นหนังของเขาและเป็นวิสัยทัศน์ซึ่งมีเอกลักษณ์ของเขาเอง และเขาก็ทำผลงานได้อย่างดีเยี่ยม"

"การได้ผู้เชี่ยวชาญอย่างเจมส์มาช่วยเป็นเรื่องดีมากเลยครับ" แซนด์เบิร์กกล่าว "เขาช่วยให้ความเห็นที่มีประโยชน์มากระหว่างกระบวนการทำงาน แถมยังมีแนวคิดมากมายและกระตือรือร้นมากด้วย การได้เขามาร่วมทีมเป็นสิ่งที่เยี่ยมมากเลยล่ะครับ"

แซนด์เบิร์ก, วาน, ไฮส์เซอเรอร์ และเกรย์ร่วมกันขุดลึกลงไปในเรื่องราวนี้ พวกเขาจินตนาการถึงแรงกระตุ้นของวิญญาณซึ่งปรากฏตัวเฉพาะในความมืดและทำลายล้างทุกคนที่เข้ามาขวางทางเพื่อให้ได้สิ่งที่มันต้องการ ดังนั้นเมื่อ "Lights Out" ปรากฏออกมาเป็นรูปเป็นร่าง มันจึงมีมิติและความหม่นมืดมากขึ้น รวมทั้งนำเสนอตัวละครซึ่งไม่ใช่แค่เพียงเหยื่อผู้เคราะห์ร้าย แต่มีบุคลิกที่แจ่มชัดซึ่งผู้ชมสามารถเข้าถึงได้ รู้สึกเห็นอกเห็นใจและคอยเอาใจช่วย

เมื่อเหตุการณ์เริ่มต้นขึ้น รีเบคกา ตัวละครหลักของเรื่องซึ่งรับบทโดยเทเรซา พาลเมอร์ อาศัยอยู่ตามลำพังในอพาร์ตเม็นต์ใจกลางเมือง เมื่อครั้งยังเล็ก รีเบคกาหนีออกจากบ้านหลังจากพ่อของเธอจากไปอย่างปุบปับ เพราะเธอมีความสัมพันธ์ลุ่มๆ ดอนๆ กับโซฟีผู้เป็นแม่ และผู้หญิงสองคนนี้ก็ห่างเหินกันนับแต่นั้น จนกระทั่งมาร์ติน น้องชายต่างพ่ออายุ 10 ขวบเริ่มมีปัญหานอนไม่หลับและได้พบเหตุการณ์อันเลวร้าย เขาต้องการความช่วยเหลือจากเธอ รีเบคกาจึงกลับไปยังบ้านซึ่งเธอรู้สึกว่าไม่เคยต้อนรับเธอเลย

โซฟีไม่เปลี่ยนไป หรือถ้าจะเปลี่ยน ก็มีแต่ในทางที่แย่ลง ตัวละครซึ่งรับบทโดยมาเรีย เบลโลนี้ เป็นหัวหน้าครอบครัวและอดีตผู้ป่วยทางจิตซึ่งยังคงต่อสู้กับอาการซึมเศร้าอย่างหนักซึ่งเคยทำให้เธอต้องรักษาตัวอยู่ในสถานบำบัด มาบัดนี้เธอเก็บตัวอยู่ในห้องที่มืดสลัวและยังคงเป็นจุดศูนย์รวมของความก้าวร้าวรุนแรงที่รีเบคกาพยายามหลีกหนีเมื่อหลายปีก่อน ที่แปลกยิ่งกว่านั้น ดูเหมือนเธอกำลังสื่อสารอยู่กับเพื่อนเก่าที่ชื่อไดอานา ซึ่งบางครั้งจะได้ยินเสียงเหมือนกำลังเคลื่อนไหวอยู่ตามที่ต่างๆ ในบ้าน แต่ไม่มีใครเคยเห็นตัวเลยนอกจากภาพไหวๆ ในเงามืด

"ฉันเป็นแฟนหนังสยองขวัญค่ะ ก็เลยตื่นเต้นมากที่ได้มาร่วมงานนี้" พาลเมอร์กล่าว "น่าสยองมากเลยค่ะ ไดอานาคือความน่ากลัวเหมือนในฝันร้ายเลย เธอเป็นสิ่งที่น่ากลัวที่สุดเท่าที่คุณจะจินตนาการได้ ฉันคิดว่าเราเทียบความกลัวกับพลังงานด้านมืด และเธอก็หม่นมืดที่สุดเท่าที่คุณจะนึกออก ตั้งแต่รูปลักษณ์ภายนอกไปจนถึงการตอบสนองกับตัวละครในหนัง เธอเป็นฝันร้ายชัดๆ เลยค่ะ"

แม้ว่าหนังเรื่องนี้จะสะท้อนความผิดปกติและความเจ็บปวด แต่ก็ยังมีความรักด้วย ซึ่งในแง่หนึ่งก็ยิ่งทำให้อันตรายครั้งนี้หนักหนาสาหัสยิ่งขึ้น "นอกจากความน่ากลัวแล้วก็ยังมีเรื่องราวดรามาอันน่าประทับใจเกี่ยวกับครอบครัวที่ถูกดวงวิญญาณก่อกวน" พาลเมอร์เสริม

เกรย์กล่าวว่า "ถ้าคุณนำเรื่องสยองขวัญออกไปแล้วหันมาดูที่ตัวละคร ก็ยังมีเรื่องของสมาชิกครอบครัวที่ต้องรับมือกับความเจ็บปวดรูปแบบหนึ่งและความเจ็บปวดนั้นก็สร้างความแตกแยกในครอบครัว มันผลักให้คนที่รักกันต้องแยกห่างจากกัน อะไรก็ตามที่ทำให้รีเบคกาออกจากบ้านไปในตอนแรกนั้นเป็นปัญหาของแม่ แต่ตอนนี้เธอเห็นแล้วว่าอาจมีบางอย่างมากกว่าที่เธอคิด บางสิ่งที่เหนือธรรมชาติ ชั่วร้ายเลวทราม และไม่อาจควบคุมได้ เมื่อรีเบคกาตั้งใจจะปกป้องมาร์ติน เธอจึงได้กลับไปเผชิญหน้ากับสิ่งน่าสะพรึงกลัวที่รังควานเธอเมื่อครั้งยังเด็ก"

แซนด์เบิร์กกล่าวว่าความแตกต่างคือ "เมื่อคุณยังเด็กและเรื่องน่าขนลุกเกิดขึ้น ไม่มีใครคิดเป็นจริงเป็นจังกับคุณ ไม่มีใครเชื่อคุณ"

"เรื่องที่ว่าไดอานาเป็นใครหรือเป็นอะไรนั้นขึ้นอยู่กับผู้ชมจะเป็นคนตัดสิน" เบลโลกล่าว "เธอเป็นเงามืดที่เลือนรางจนคุณไม่รู้ว่าเธอกำลังจะทำอะไร ฉันคิดว่าผู้ชมจะต้องนั่งไม่ติดเก้าอี้เพราะฉันเองก็เป็นอย่างนั้นตอนที่อ่านบท คุณไม่มีทางรู้ว่ามันจะออกมาเป็นอย่างไรหรือกำลังจะไปทางไหน แต่มันจะคว้าคุณเอาไว้ในเวลาที่คุณไม่คาดฝัน"

"มีเรื่องให้ประหลาดใจแน่นอนครับ" แซนด์เบิร์กยืนยัน

นักแสดงและตัวละคร

มีผู้หญิงคนหนึ่ง…รออยู่ในเงามืด

ภาพแรกของรีเบคกา (เทเรซา พาลเมอร์) สื่อถึงหญิงสาวที่เป็นอิสระไม่ขึ้นกับใคร ฉลาด หนักแน่น และเย็นชา เธอคอยระวังตัวอยู่ตลอดเวลา "เธอมีภาพของนักสู้ซึ่งภายนอกดูแข็งแกร่ง" เกรย์กล่าว "แต่เมื่อเรื่องราวดำเนินไป เราจะเห็นความอ่อนไหวและอ่อนโยนภายใน รีเบคกาเติบโตมาพร้อมปัญหา ปัญหาแบบที่คนเรามักไม่อยากพูดถึง"

แซนด์เบิร์กเสริมว่า ด้วยเหตุนี้ "เธอจึงกลัวการผูกมัดและต้องจัดการกับปัญหาเรื่องอื่นๆ เพราะเธอไม่สามารถก้าวข้ามเหตุการณ์ในวัยเด็กได้ เทเรซา พาลเมอร์ สะท้อนสิ่งเหล่านี้ผ่านการแสดงได้ดีมาก เธอเข้าถึงอารมณ์ได้อย่างแท้จริง"

การกลับบ้านไม่ได้อยู่ในแผนของรีเบคกา แต่แล้วเธอก็ได้รับโทรศัพท์จากเจ้าหน้าที่สังคมสงเคราะห์ที่โรงเรียนของน้องชาย ซึ่งแสดงความเป็นห่วงเรื่องที่เด็กชายมาร์ตินชอบนอนหลับในห้องเรียน รีเบคกาพอจะเข้าใจว่าอะไรทำให้เขานอนไม่หลับในเวลากลางคืน สิ่งที่เธอเคยพยายามให้เหตุผลว่าเป็นแค่ฝันร้ายและเป็นจินตนาการของเธอ ถึงตอนนี้เธอรู้แล้วว่ามันต้องเป็นเรื่องจริงถ้าเกิดขึ้นกับน้อง และถ้ามาร์ตินต้องรับมือกับพลังชั่วร้ายที่ทำให้เธอออกจากบ้านเมื่ออายุ 16 เธอก็ต้องไม่ปล่อยให้เขาเผชิญหน้ากับสิ่งนั้นตามลำพัง

"ฉันชื่นชมพลังในตัวรีเบคกาทั้งที่เธอต้องเจอกับอุปสรรคต่างๆ มากมาย" พาลเมอร์กล่าวถึงตัวละครของเธอ "เห็นได้ชัดว่าเธอเจ็บปวดจากสิ่งที่เกิดขึ้นในอดีต แต่เธอก็มุ่งมั่นที่จะต่อสู้และพยายามไม่ว่าจะต้องพบเจอกับสถานการณ์แบบไหน การวิ่งหนีเป็นทางเลือกที่ง่ายที่สุดเมื่อมันเป็นเรื่องของเธอคนเดียว แต่ในตอนนี้เมื่อเธอจำเป็นต้องปกป้องมาร์ติน เธอก็พร้อมจะกลับไปและจัดการกับสิ่งที่ฉุดรั้งตัวเขาไว้"

มาร์ติน รับบทโดย เกเบรียล เบตแมน ซึ่งมีอายุ 10 ขวบในระหว่างถ่ายทำ ไฮส์เซอเรอร์บรรยายถึงตัวละครนี้ว่า "ฉลาดและโตเกินวัย เขาต้องรีบโตเพราะรู้ดีว่าแม่กำลังป่วย และเวลาที่แม่ป่วย อะไรๆ ก็มักจะไม่ดีนัก นอกจากนั้นเขายังสงสัยว่าแม่มีเพื่อนลึกลับที่มีพลังอำนาจซึ่งอาศัยอยู่ในบ้านและไม่ต้องการให้เขาอยู่ด้วย"

"เขารู้ว่าแม่มีบางอย่างผิดปกติ เขารักแม่และกลัวว่าจะเกิดอะไรขึ้นกับแม่" เบตแมนกล่าว "เขากลัวว่าจะเกิดอะไรขึ้นกับตัวเองด้วย แต่พยายามที่จะไม่แสดงความกลัวนั้นต่อหน้าแม่ เขาพยายามทำตัวเข้มแข็งเป็นผู้ใหญ่และคอยดูแลแม่ เขาเจอมาหนักเหมือนกัน"

เมื่ออยู่นอกจอ นักแสดงเด็กรายนี้ก็มีความเป็นผู้ใหญ่และมีสมาธิเช่นเดียวกับในหนังจนกระทั่งนักแสดงคนอื่นๆ สังเกตเห็น "เราคัดเลือกจากนักแสดงเป็นพันๆ คน แล้วเขาก็โดดเด่นมาแต่ไกลเลย" เกรย์กล่าวพร้อมกับบอกว่า จุดตัดสินคือการที่เบตแมนเรียนรู้ได้อย่างรวดเร็วระหว่างการทดสอบบท "เด็กๆ ซ้อมบทมานานหลายสัปดาห์เพื่อเล่นได้อย่างสมบูรณ์แบบ เราก็เลยอยากเปลี่ยนสถานการณ์เสียใหม่ เดวิดหยิบไฟฉายขึ้นมาแล้วบอกว่า 'สมมติว่านี่เป็นไฟฉายของหนูแล้วมีคนหยิบเอาของหนูไปและหนูอยากได้คืน' เราทำแบบนี้กับเด็กมากมายและเด็กส่วนใหญ่ก็ไม่ค่อยตอบสนองมากนัก แต่เกเบรียลไม่ยอมหยุดตื๊อเดวิดเพื่อเอาไฟฉายคืนมาให้ได้! เขาโหดมากจนเรารู้ว่าโยนอะไรไปให้เขาก็ได้ เขาจะฝ่าฟันไปจนสำเร็จ"

แซนด์เบิร์กเรียกกระบวนการนี้ว่า "แบบฝึกหัดด้นสด" ซึ่งมีจุดประสงค์เพื่อไม่ให้นักแสดงตอบสนองตามที่ซ้อมมาซ้ำๆ หรือได้รับการฝึกสอนมา เขากล่าวว่า "เกเบรียลทุ่มสุดตัว และผมก็ได้เห็นว่าเขาไม่กลัวและไม่ได้เหนี่ยวรั้งตัวเองเอาไว้ ซึ่งก็ตรงกับภาพของมาร์ตินที่เราจินตนาการ"

ก่อนหน้านี้มาร์ตินยังมีพอลผู้เป็นพ่อคอยช่วยเหลือเขาเมื่ออยู่ในบ้าน แต่ไดอานาสังเกตเห็นและจัดการให้มาร์ตินต้องอยู่ตามลำพัง

พอล ซึ่งรับบทโดยบิลลี เบิร์ก เป็นสามีคนที่สองของโซฟี ดังนั้นพอลจึงเป็นพ่อของมาร์ตินแต่ไม่ใช่พ่อของรีเบคกา "เขาเป็นคนจิตใจดีและคอยดูแลเอาใจใส่ผู้อื่น" ไฮส์เซอเรอร์กล่าว "เขาทราบดีถึงอาการของโซฟีและพยายามช่วยเหลือเธอ โดยไม่รู้ว่าความพยายามนั้นทำให้เขาตกเป็นเป้าของไดอานา"

ผู้ชมได้พบพอลในเหตุการณ์ตอนต้นเรื่องในโกดังสิ่งทอที่เขาทำงานอยู่ "เขาพยายามแก้ไขสถานการณ์ภายในบ้านอย่างเต็มที่" เบิร์กกล่าว "ภรรยาของเขากำลังต่อสู้กับสิ่งที่เขามองว่าเป็นแค่อาการซึมเศร้า เขาหวังว่าจะช่วยให้ทุกสิ่งดีขึ้นและรักษาครอบครัวเอาไว้ได้ จากนั้นเหตุการณ์ประหลาดในโกดังก็เข้ามาดึงดูดความสนใจตอนที่เขากำลังจะกลับบ้านพอดี เขาคิดว่าเขาเห็นอะไรบางอย่างในความมืด…"

หลังจากเกิดเรื่องขึ้น มาร์ตินตกอยู่ในอันตรายร้ายแรงกว่าเดิมและสุดท้ายก็ต้องขอความช่วยเหลือจากพี่สาวต่างพ่อที่เขาแทบจะไม่รู้จัก ส่วนรีเบคกานั้นก็ขอความช่วยเหลือไปยังเพื่อนชายของเธอ เบรต(อเล็กซานเดอร์ ดิเพอร์เซีย) ซึ่งเกรย์เผยว่า "เขาหลงรักเธอ และเธอยังไม่รู้ตัวแต่เธอเองก็หลงรักเขาเหมือนกัน เขาเป็นคนหนักแน่นมั่นคงที่ช่วยเพิ่มมิติให้หัวใจสำคัญของเรื่องราวนี้"

เช่นเดียวกับรีเบคกา เบรตมีเปลือกนอกแข็งแกร่งเพื่อปกปิดความอ่อนโยนภายใน ซึ่งก็น่าจะเป็นเหตุผลให้เขาเข้าใจการกระทำของเธอและคอยอยู่ใกล้ๆ แม้ว่าเธอจะพยายามเว้นระยะห่างเอาไว้เสมอ อเล็กซานเดอร์ ดิเพอร์เซีย ผู้รับบทนี้กล่าวว่า "เขามีลายสักและห้อยสายโซ่แล้วก็อยู่ในวงดนตรีเดธเมทัลด้วย แต่อันที่จริงแล้วเขาเป็นคนจริงใจและไว้ใจได้ แม้ว่ารีเบคกามักจะอยากให้เขาอยู่ห่างๆ ก็ตาม"

ความมั่นคงของเบรตจะได้รับการทดสอบอย่างหนัก เบรตไม่เคยพบเจอสิ่งที่รีเบคกาและครอบครัวเคยพบมาก่อน เขาก้าวเข้ามาช่วยโดยไม่รู้เรื่องรู้ราวและแทบจะไม่เชื่อเรื่องปีศาจหรือสิ่งที่ไม่สามารถอธิบายได้ด้วยหลักเหตุผล เขาจึงกระโดดเข้ามาร่วมวงด้วย...และได้เจอกับความน่าประหลาดใจ

เบรตยังได้สร้างช่วงตลกในหนังเรื่องนี้ด้วย "ผมคิดว่ามันช่วยให้อารมณ์ผ่อนคลายลงเล็กน้อยและให้คุณได้หยุดพักหายใจและหยุดกลัวชั่วคราว เวลาได้เห็นคนคู่นี้พบเรื่องธรรมดาๆ อย่างที่คู่อื่นก็ต้องเจอ" ดิเพอร์เซียกล่าว ถึงแม้ว่าช่วงเวลาเหล่านั้นอาจแสดงถึงความไม่ลงรอยกันก็ตาม "มีคนที่อยากชะลอความสัมพันธ์ให้ช้าลง มีคนที่อยากรีบกระชับความสัมพันธ์ แล้วก็มีคนที่อยากอยู่ค้างคืนด้วย มีหมดล่ะครับ"

แซนด์เบิร์กเลือกดิเพอร์เซียมารับบทไม่เพียงเพราะความสามารถและความเข้าใจในบทบาทเท่านั้น แต่เพราะเขามีเคมีที่ตรงกันกับพาลเมอร์อีกด้วย "เขาเป็นคนน่ารักซึ่งไม่ได้ทำอย่างที่คุณคาดหวังว่าจะได้เห็นในหนังสยองขวัญ คนอาจคิดว่า 'อ้อ แฟนนางเอกงั้นเหรอ เขาต้องตายแหงๆ เลย' แต่อาจจะไม่ก็ได้ ผมคิดว่าผู้ชมจะอยู่ข้างเขาและหวังว่าเจ้าหนุ่มรายนี้จะฉลาดกว่านั้น"

นานมาแล้วแม่มีเพื่อนชื่อไดอานา

มีเหตุการณ์เลวร้ายเกิดขึ้นกับเธอ

เหตุการณ์ทั้งหมดมีศูนย์กลางอยู่ที่โซฟี (มาเรีย เบลโล) เธอเป็นใจกลางของพายุซึ่งกำลังคุกคามชีวิตคนในครอบครัว แต่โซฟีต่างจากใจกลางพายุตรงที่ว่าเธอไม่อาจปกป้องตัวเองจากความบ้าคลั่งของมันได้

มาเรีย เบลโล รับบทเป็นหญิงผู้มีปัญหารายนี้ เธอกล่าวว่า "โซฟีมีอาการทางจิตอยู่แล้วตั้งแต่ครั้งแรกที่เราได้เห็นเธอ และอาการก็ย่ำแย่ลงเรื่อยๆ จิตใจเธอแหลกสลาย และเราก็ไม่เข้าใจว่าทำไม เราไม่เข้าใจความสัมพันธ์ระหว่างเธอกับไดอานาและความเกี่ยวข้องของเหตุการณ์ทั้งหมด"

แซนด์เบิร์กยอมรับว่า "โซฟีมีปัญหามากมาย เธอเป็นโรคซึมเศร้า และอาจมีอาการของโรคจิตเภทด้วย นั่นเป็นสิ่งที่ผมอยากสำรวจในหนังเรื่องนี้เพราะสิ่งที่น่ากลัวที่สุดที่อาจเกิดกับคนเราได้ก็คือการสูญเสียความคิดจิตใจของตัวเอง เรามองโลกผ่านทางนั้น นั่นคือโลกของเรา ดังนั้นถ้าเส้นแบ่งระหว่างเรื่องจริงกับเรื่องไม่จริงเกิดพังทลายขึ้นมา ทุกสิ่งก็จะผิดเพี้ยนอย่างหนัก"

คำถามคือ โซฟีเป็นพวกเดียวกันกับไดอานาผู้ลึกลับและอันตราย หรือว่าเป็นแค่ตัวประกัน โซฟีควบคุมไดอานาหรือไดอานาควบคุมโซฟีกันแน่

"มาเรียเป็นนักแสดงชั้นเยี่ยมเท่าที่เคยมีมาเลยครับ" เกรย์ยืนยัน "โซฟีเป็นตัวละครที่ซับซ้อนมาก โดยเฉพาะอย่างยิ่งในแง่การแสดง เพราะเธอมีหลายมิติอยู่ในคนคนเดียว ดูเหมือนว่าเธอสร้างสิ่งเลวร้ายให้คนในครอบครัวทั้งที่เธอก็รักพวกเขา เธอต่อสู้กับปีศาจของเธอเอง แต่อาการของเธอก็มีเรื่องลึกลับเหนือธรรมชาติเข้ามาเกี่ยวข้องด้วย จึงมีมิติมากมายให้ต้องถ่ายทอดออกมา"

"ผมติดตามผลงานของเธอมาตลอดครับ" แซนด์เบิร์กกล่าว "มาเรียเป็นนักแสดงที่มีความสามารถเหลือล้นและรับบทเป็นโซฟีได้อย่างวิเศษสุด ความสัมพันธ์ระหว่างเธอกับเกเบรียลและเทเรซาซึ่งรับบทเป็นลูกๆ ของเธอก็สมบทบาทมาก"

แต่ความเป็นไปได้ที่โซฟีจะทำลายครอบครัวกลับช่วยให้แม่กับลูกสาวได้มาคุยกัน "โซฟีกับรีเบคกามีความสัมพันธ์ที่ตึงเครียด" ไฮส์เซอเรอร์กล่าว "ทั้งคู่ผ่านความบอบช้ำมามากมายเมื่อรีเบคกาไม่เข้าใจว่าเกิดอะไรขึ้นและโทษแม่ในหลายๆ เรื่อง มาตอนนี้เมื่อเธอโตขึ้น เธอก็เข้าอกเข้าใจมากขึ้นและมองโลกด้วยมุมมองที่ต่างจากเดิม"

"รีเบคกาเป็นตัวละครที่มีเสน่ห์มากค่ะ" เบลโลเสริม "ในตอนแรกเธอตลก พึ่งตนเองได้ และสงบเยือกเย็น เธอเป็นคนคอยดูแลน้องชายและแม่ ไม่ใช่ว่าเธออยากรับหน้าที่นั้น แต่เธอก้าวเข้ามาทำเพราะจำเป็นต้องทำ นั่นคือความแข็งแกร่งที่แท้จริงของเธอ"

ขณะเดียวกัน ไดอานาที่รีเบคกาจำได้จากวัยเด็กก็แข็งแกร่งขึ้นเช่นกัน ทั้งบ้าบิ่น โกรธเกรี้ยว และคาดเดาไม่ได้ยิ่งกว่าเดิม ร่างเงาที่แคล่วคล่องว่องไวนี้คอยฉุดตัวคนในบ้านจากเงามืด ดูเหมือนว่าไดอานาไม่พอใจที่จะหลบอยู่ในความมืดอีกต่อไปแล้ว เธอต้องการให้ความมืดมาปกคลุมคนในบ้านด้วย

"เธอมีพลังในความมืดดังนั้นเธอจึงต้องล่อให้พวกเขาอยู่ในความมืดด้วยทุกวิถีทางที่เธอทำได้" แซนด์เบิร์กกล่าว "ให้พวกเขาลงไปที่ชั้นใต้ดิน ให้ไฟดับทั้งบ้าน เธอพยายามลากพวกเขาไปยังสถานที่ซึ่งเธอควบคุมได้เต็มที่"

"การเขียนบทไดอานาเป็นเรื่องซับซ้อน" ไฮส์เซอเรอร์กล่าว "เธออยู่นอกแสงสว่าง ดังนั้นเมื่อมีแสง ไม่ใช่แค่ว่าเรามองไม่เห็นเธอ แต่เธอจะไม่อยู่ตรงนั้นแล้ว ดังนั้นถ้าคุณคิดว่าจะคว้าตัวเธอไว้ได้ในแสงสว่าง คุณคิดผิดแล้ว เธอไม่ปรากฏเป็นรูปเป็นร่าง ดังนั้นจึงมีกฎเฉพาะตัวว่าเราจะเผยตัวเธอได้อย่างไรและเธอทำอะไรได้บ้าง แล้วเราก็ต้องทำตามกฎนั้น"

แทนที่จะใช้ซีจี ทีมงานเลือกใช้ของจริงโดยสร้าง ไดอานา ขึ้นมาผ่านการแต่งหน้า การติดชิ้นส่วนเทียม การให้แสง ตลอดจนทักษะของนักแสดง/สตันท์ อลิเชีย เวล่า-เบลีย์ ทีมงานพบว่าแนวทางนี้ช่วยสร้างวิญญาณที่น่าหวาดกลัวชวนสยองขวัญมากกว่าวิธีแบบดิจิตัล

"การปรากฏตัวของไดอานาประมาณ 95 เปอร์เซ็นต์เป็นแค่ร่างเงา ดังนั้นการเคลื่อนไหวจึงเป็นสิ่งสำคัญที่สุด" แซนด์เบิร์กเน้นย้ำ

"อลิเชียแข็งแรงมากจนน่าตกใจ" เกรย์กล่าวถึงอดีตนักยิมนาสติกผู้รับบทเป็นไดอานาโดยใช้การบิดร่างกายจนได้ท่าทางที่ทั้งดูเหมือนมนุษย์และไม่ใช่มนุษย์ "ความสามารถของเธอช่วยเราในการสร้างไดอานาให้รวดเร็วและแข็งแกร่ง รวมทั้งเคลื่อนไหวเร็วจนคุณตั้งตัวไม่ทัน เธออาจทิ้งตัวลงมาจากเพดานเหมือนแมงมุมหรือเลื้อยไปตามพื้น มีฉากหนึ่งเธอพุ่งเข้าหามาร์ตินแล้วเขาก็กระโดดกลับไปตรงที่สว่าง เรานึกว่าจะต้องใช้วิชวลเอฟเฟ็กต์เพื่อทำให้ตัวเธอหายไป แต่อลิเชียสามารถดึงตัวกลับได้เร็วมากจนกระทั่งดูเหมือนวิชวลเอฟเฟ็กต์ เหมือนตัวเธอสลายกลับไปสู่ความมืด"

"เวลาอลิเชียใส่ชุดแบบเต็มชุดและเราทำงานกันอยู่ในฉากที่มีแสงสลัวๆ คุณอาจเลี้ยวมาเจอเธอเข้าพอดี แล้วคุณก็ต้องร้อง 'ว้ากกกก!' ออกมา" ไฮสเซอเรอร์เล่าพลางหัวเราะ

ไม่ใช่แค่เขาคนเดียว นักแสดงและทีมงานหลายคนที่ได้เห็นเวล่า-เบลีย์ในชุดไดอานามักจะตกใจลนลาน แม้กระทั่งมาเรีย เบลโลก็ยอมรับว่า "บางทีฉันก็ยังตกใจระหว่างเล่นอยู่ในฉาก"

พาลเมอร์กล่าวว่า "ฉันรู้สึกว่าต้องสลัดความรู้สึกออกไปเมื่อทำงานเสร็จในแต่ละวันเพราะว่าเธอน่าสะพรึงกลัวมากจริงๆ"

นั่นใครน่ะ

คนที่คุ้นเคยกับงานของแซนด์เบิร์กจะสังเกตเห็นหน้าคุ้นๆ ในฉากเปิด นั่นคือหน้าของนักแสดงสาวชาวสวีเดน ล็อตตา ลอสเทน ภรรยาของแซนด์เบิร์ก ซึ่งไม่เพียงเป็นดารานำให้หนังสั้นหลายเรื่องของเขา แต่ยังเป็นมือเขียนบท/ผู้อำนวยการสร้างให้หนังสั้นทุกเรื่องด้วย

ในหนังเรื่องนี้ลอสเทนมารับบทเป็นเอสเธอร์ผู้ช่วยของพอลที่โกดัง ช่วงหลังเลิกงาน เอสเธอร์เดินผ่านกองหุ่นโชว์เก่าซึ่งก็น่ากลัวอยู่แล้ว ตอนนั้นเองที่ผู้ชมได้เห็นภาพแวบแรกของไดอานา ร่างสูงผอมแข็งแกร่งที่มืดมิดยิ่งกว่าความมืดรอบตัวเธอ

"เอสเธอร์ปิดสวิตช์ไฟและคิดว่าเธอเห็นอะไรบางอย่างที่อีกฟากหนึ่งของห้อง" แซนด์เบิร์กกล่าว "จากนั้นเมื่อเธอเปิดไฟ มันก็หายไป แล้วพอเธอปิดไฟ มันก็กลับมาใหม่ แต่ละครั้งมันยิ่งเคลื่อนเข้ามาใกล้มากยิ่งขึ้น"

เอสเธอร์ช่วยให้เราสัมผัสได้ว่าความสนุกกำลังจะเริ่มต้นขึ้นแล้ว เธอทำให้เราเห็นว่ามีบางอย่างผิดปกติในโกดังนั้นและอาจมีบางอย่างที่ผิดพลาดเกี่ยวกับกระแสไฟฟ้า ลอสเทนกล่าวว่า "เธอไม่แน่ใจว่าเห็นอะไรหรือว่าเห็นหรือเปล่าด้วยซ้ำ เพราะมันหายตัวไปเมื่อเธอเปิดไฟ ฉากนั้นเองที่กำหนดโทนเรื่องทั้งหมด"

สำหรับทีมผู้สร้างหนัง การเลือกลอสเทนมาแสดงเป็นเรื่องที่ไม่ต้องถามเลย "เราต้องการให้เธอได้มีส่วนร่วมในเรื่องนี้ เพราะความสำเร็จของหนังสั้นเรื่องนั้นเป็นชัยชนะของทั้งสองคน" เกรย์กล่าว "แฟนๆ ชอบเธอและเราก็อยากยกย่องตรงส่วนนั้นด้วย นอกจากนี้การจัดฉากของเหตุการณ์ตอนนั้นก็สะท้อนถึงองค์ประกอบในตัวงานดั้งเดิม ถึงแม้ว่าตัวละครที่ตกอยู่ในอันตรายไม่ใช่เธอ แต่เป็นพอล"

สร้างรูปลักษณ์และอารมณ์

เพื่อสนองความต้องการของคนทำหนังที่อยากได้อารมณ์สมจริงเป็นธรรมชาติมากที่สุด "Lights Out" จึงถ่ายทำแทบทั้งหมดในสถานที่จริงที่เขตไฮแลนด์พาร์คทางตะวันออกเฉียงเหนือของลอสแองเจลีส โดยถ่ายทำเพิ่มเติมในย่านใจกลางเมือง การถ่ายทำครั้งนี้เป็นการกลับมาร่วมงานกันของทีมงานหลายคนที่เคยทำงานกับผู้อำนวยการสร้าง เจมส์ วาน ซึ่งบางคนก็ร่วมงานกันมาแล้วหลายครั้ง ไม่ว่าจะเป็นผู้กำกับภาพ มาร์ค สไปเซอร์, ผู้ออกแบบงานสร้าง เจนนิเฟอร์ สเปนซ์, ผู้ออกแบบเครื่องแต่งกาย คริสติน เอ็ม เบิร์ค และหัวหน้าฝ่ายเมคอัพ เอเลนอร์ ซาบาดูเคีย

ระหว่างการทำงาน ขณะที่สร้างฉากและวางแผนคิวสตันท์ แซนด์เบิร์กอดไม่ได้ที่จะเปรียบเทียบกับการทำงานของเขาก่อนหน้านี้ "เหลือเชื่อมากครับที่มีทีมงานมากมายมาช่วยกันในโครงการที่เริ่มต้นจากหนังยาวแค่สองนาทีครึ่ง ทำกันแบบไม่มีงบโดยมีแค่ผมกับล็อตตาในอพาร์ตเมนต์ของเรา" เขากล่าว "หนึ่งปีต่อมา มีคนมาทาสีกำแพง มีทีมเมคอัพและวิชวลเอฟเฟ็กต์ มีคนมาเจาะรูที่เพดาน...สุดยอดไปเลยครับ เป็นความฝันของคนทำหนังหน้าใหม่ทุกคนเลย"

สำหรับฉากอพาร์ตเมนต์ของรีเบคกา ทีมงานใช้ตึกซึ่งเคยเป็นที่ตั้งธนาคารในย่านที่ได้รับการพัฒนาใหม่ของนอร์ธ ฟิเกอรัว ตรงถนนอะเวนิว 56 หรือที่คนท้องถิ่นรู้จักกันในชื่อ โลเวอร์ ฟิก ทีมงานใช้ชั้นสองทั้งชั้นทำเป็นพื้นที่ฉาก อันประกอบด้วยห้องสามห้องปูพื้นไม้กระดานส่งเสียงเอี๊ยดอ๊าด นั่นเป็นฉากโปรดฉากหนึ่งของสเปนซ์

"หญิงสาวรายนี้อยากเปลี่ยนแปลงตัวเองใหม่หลังออกจากบ้านและทำตัวเหินห่างจากแม่ เธอเป็นขบถอยู่เหมือนกัน" นักออกแบบรายนี้กล่าว "เธอมีความเป็นศิลปินด้วยซึ่งเป็นสิ่งที่ฉันเข้าถึงได้ ฉันก็เลยชอบทำฉากอพาร์ตเมนต์ของเธอ ฉันอยากสร้างสภาพแวดล้อมที่แสดงให้เห็นว่าเธอเป็นสาวร็อคแอนด์โรลล์ที่พยายามกันทุกคนออกไป แต่ก็ยังมีมุมหนึ่งในห้องครัวที่เธอปลูกต้นไม้ เพราะฉะนั้นแม้ว่าส่วนอื่นๆ ในอพาร์ตเมนต์จะดูฮาร์ดคอร์อยู่บ้าง แต่ก็ยังมีส่วนที่อ่อนโยน ซึ่งตัวเธอเองก็เป็นอย่างนั้นด้วยเหมือนกัน"

รายละเอียดสำคัญประการหนึ่งก็คือป้ายร้านรับสักลายที่เป็นไฟนีออนสีแดงและติดอยู่นอกหน้าต่างห้องของรีเบคกา ป้ายไฟที่ติดๆ ดับๆ นี้แสดงให้เห็นตอนไดอานากำลังเข้ามาด้วยภาพที่วาบขึ้นมาเป็นช่วงๆ "นั่นเป็นแนวคิดของเจมส์ครับ" แซนด์เบิร์กกล่าว "ไฟดับไปและเราก็เห็นไดอานาคืบคลานผ่านช่องประตูมา ไฟติดขึ้นแล้วเธอก็หายไป ไฟดับลงแล้วเธอก็มายืนอยู่ในห้องนอนของรีเบคกา ทุกครั้งเธอเข้ามาใกล้ขึ้นเรื่อยๆ"

ฉากจริงอีกฉากหนึ่งคือโกดังที่พอลเผชิญหน้ากับไดอานา ซึ่งเป็นโรงงานฟอกผ้าเดนิมในเขตอาร์ตส์ใจกลางเมืองลอสแองเจลีส ที่นี่ผู้กำกับภาพสไปเซอร์และหัวหน้าช่างจัดแสง ไมค์ แอมโบรส ได้วางแผนการจัดแสงเป็นหย่อมๆ ขณะที่พอล พยายามกระโดดข้ามเพื่อไปยังจุดที่ปลอดภัยก่อนไดอานาจะจับตัวเขาเอาไว้

เพื่อเป็นของขวัญให้แฟนๆ ฝ่ายศิลป์ได้หล่อหุ่นรูปปีศาจตัวเดิมจากหนังสั้นของแซนด์เบิร์กมาวางไว้บนชั้นหนังสือที่ห้องทำงานของพอล

แต่ฉากที่ต้องการความใส่ใจมากที่สุดคือบ้านของโซฟี ซึ่งเป็นงานฉากขนาดใหญ่ที่ประกอบด้วยฉากเล็กๆ หลายฉากอยู่ภายใน โดยส่วนที่โดดเด่นที่สุดคือห้องใต้ดิน ทีมงานได้เลือกใช้แมนชั่นเก่าหลังใหญ่ซึ่งอยู่ใกล้ฉากอพาร์ตเมนต์ของรีเบคกาในระยะเดินถึงกันได้ สถานที่แห่งนี้เคยใช้เป็นฉากภาพยนตร์มาแล้วโดยล่าสุดปรากฏในหนังเรื่อง "Ouija" สเปนซ์เลือกใช้โทนสีที่เน้นสีแดงเข้มเป็นหลัก เธอมองว่า "บ้านหลังนี้ให้ภาพที่น่ากลัวและเป็นตัวเลือกที่เหมาะมากสำหรับหนังเรื่องนี้ ภายนอกให้รูปทรงที่หนักแน่น เป็นเกราะหุ้มที่แข็งแกร่ง และสร้างจากซีเมนต์ แต่ภายในนั้นดูขุ่นมัว หมองหม่น และเปราะบาง ซึ่งในแง่หนึ่งก็เป็นการอธิบายถึงตัวโซฟี เธออยู่ในจุดที่มืดหม่นของชีวิต ดังนั้นสำหรับการออกแบบภายในบ้านของเธอ ฉันจึงได้เลือกของโบราณมาเป็นจำนวนมากที่ไม่เพียงแต่เข้ากับยุคสมัยของบ้าน แต่ยังแสดงให้เห็นว่าโซฟียึดติดอยู่กับสิ่งที่ฉุดรั้งตัวเธอ"

ในทางกลับกัน เธอชี้ให้เห็นว่า "ห้องของมาร์ตินเป็นสีเขียว เป็นห้องที่ไม่เศร้าหมองเพราะว่ามีพลังชีวิตอยู่ในนั้น ทั้งรถ หนังสือการ์ตูน และของเล่น แม่รักมาร์ตินมาก เธอจึงตกแต่งห้องของเขาอย่างดีเพราะนั่นเป็นสิ่งสำคัญสำหรับเธอ แม้ว่าเธอต้องต่อสู้กับอาการป่วย แต่ก็ยังใส่ใจในตัวเขาและสิ่งนี้ก็สะท้อนออกมาผ่านห้องของเขาด้วย"

โชคร้ายสำหรับมาร์ตินที่ห้องนอนสดใสเป็นร้อยห้องก็ไม่อาจหักลบความสยองขวัญในห้องใต้ดินได้ สเปนซ์บรรยายภาพว่า "พอลเป็นเจ้าของบริษัทเสื้อผ้า ดังนั้นคุณจึงเห็นหุ่นโชว์เก่าๆ ซึ่งทอเงามืดอยู่ในห้องใต้ดิน แล้วก็ยังมีข้อความลึกลับเขียนอยู่ด้วย เราเห็นอะไรแบบนี้ในหนังมาแล้วหลายเรื่อง ก็เลยอยากให้มันดูแตกต่างออกไป ฉันจึงวางซ้อนข้อความนั้นลงไปตามที่ต่างๆ อย่างบนบันไดและหน้าต่างแล้วจับมันผสมกันนิดหน่อย ให้คุณอ่านข้อความนั้นได้จากทิศทางเดียว"

เมื่อเราขอให้เลือกส่วนที่น่ากลัวที่สุดของหนัง ไฮส์เซอเรอร์มองว่าฉากใต้ดินน่าจะเป็นตัวเลือกอันดับต้นๆ "ตอนไหนน่ากลัวที่สุดเหรอครับ มีเยอะแยะจนยากที่จะเลือกแค่ฉากเดียว แต่ผมคงต้องบอกว่าเป็นตอนที่รีเบคกากับมาร์ตินลงไปค้นพบสิ่งที่อยู่ในชั้นใต้ดิน" เขากล่าว

เพื่อสร้างบรรยากาศความน่าอึดอัดตลอดทั้งเรื่อง เกรย์กล่าวว่า "กล้องมักจะอยู่ในมุมต่ำจากมุมมองของมาร์ติน ซึ่งทำให้ทุกอย่างดูใหญ่ขึ้นและน่าสะพรึงกลัวมากขึ้น"

ทั้งเงื่อนไขการดำรงอยู่ของไดอานาและตัวชื่อหนังเองก็บ่งบอกอยู่แล้วว่าความท้าทายสำคัญอยู่ที่การให้แสง "แสงเป็นส่วนสำคัญของเรื่องนี้ ดังนั้นเราจึงต้องวางแผนอย่างรอบคอบเพื่อให้ได้ผลลัพธ์ที่ถูกต้อง" แซนด์เบิร์กกล่าว ที่สำคัญไม่แพ้กันคือจุดที่ไม่มีแสง เพราะผู้กำกับตั้งใจที่จะไม่ใช้โทนสีฟ้าตอนกลางคืนแบบที่ใช้กันในหนังทั่วไป ถ้าทำแบบนั้นเราก็จะเห็นวัตถุต่างๆ ได้อย่างชัดเจน แต่แซนด์เบิร์กต้องการสิ่งที่เขาเรียกว่า "ความมืดที่แท้จริง ความมืดแบบที่อาจมีอะไรซ่อนอยู่ก็ได้ ผมมักจะรู้สึกว่าถ้าในเฟรมมีบางส่วนที่มองไม่เห็น มันก็จะยิ่งน่ากลัว

"ในหนังผี คุณอาจให้วิญญาณเคลื่อนไปรอบๆ เป็นเฉดสีขาวและใช้การจัดแสงช่วย แต่ไดอานาเป็นร่างเงาแทบจะตลอดเวลา" เขากล่าว "เราไม่สามารถจัดแสงให้ส่องตรงไปยังตัวเธอได้ เพราะเมื่อแสงส่องเธอก็จะต้องหายไปแล้ว ในฉากกับเจ้าหน้าที่ตำรวจ แม้กระทั่งประกายจากปากกระบอกปืนก็ทำให้ห้องสว่างมากพอที่จะทำให้เธอหายตัวไปทุกครั้งที่ตำรวจยิงเธอ ปัญหาก็คือเราจะจัดแสงให้วิญญาณซึ่งไม่สามารถอยู่ในแสงสว่างได้อย่างไร"

แซนด์เบิร์กและทีมงานใช้ความคิดสร้างสรรค์ในการพัฒนาวิธีการต่างๆ เพื่อปรับทิศทางของแสง ให้เราได้เห็นไดอานาแบบแวบๆ ในส่วนขอบและพื้นที่สีเทาเมื่อตัวละครในเรื่องเผชิญหน้ากับเธอ ทั้งหมดนี้ยิ่งช่วยเพิ่มความตึงเครียดให้มากขึ้น

เมคอัพซึ่งช่วยกำหนดรูปลักษณ์ของไดอานาแบ่งออกเป็นสามระดับเพื่อเผยร่างของเธอออกมาเป็นสามขั้น ตั้งแต่ช่วงแรกที่เป็นร่างเงาเคลื่อนไหวไปมา จนมาเป็นร่างที่มีรายละเอียดมากขึ้น และสุดท้ายคือการเผยร่างที่น่าเกลียดน่ากลัวออกมา ตลอดการถ่ายทำ อลิเชีย เวล่า-เบลีย์ใส่ชุดบอดีสูทเต็มตัวสีดำที่มีพื้นผิวพิเศษและผลิตโดยนักออกแบบชิ้นส่วนเทียม แมทธิว ดับบลิว มังเกิล นอกจากนี้เธอยังสวมวิกสีดำ ลงเมคอัพที่มือและใบหน้า รวมถึงใส่อุปกรณ์ปิดตาซึ่งดูเหมือนแว่นที่ใช้ในเตียงอบผิวแทน โดยมีเลนส์ขนาดเล็กจิ๋วให้เธอมองเห็นได้แต่บังดวงตาของเธอไว้ไม่ให้เห็นในกล้อง ส่วนในขั้นที่สองนั้นต้องติดชิ้นส่วนเทียมเพิ่มเติมพร้อมกับใส่ชุดที่เห็นรูปทรงมากยิ่งขึ้นโดยแสดงให้เห็นร่องรอยของร่างกายที่เสียหายและเสียโฉม ขั้นที่สามต้องใช้เวลาเตรียมการราวเจ็ดชั่วโมงและทีมงานเมคอัพด้านเอฟเฟ็กต์ถึงสี่คน

"เราได้ไอเดียมาว่าน่าจะทำให้ผิวหนังของเธอดูโปร่งแสงในบางส่วนจนทำให้เห็นกล้ามเนื้อและกระดูก ซึ่งทีมงานก็ทำออกมาได้อย่างสวยงาม" แซนด์เบิร์กกล่าวชื่นชม "เธอมีนิ้วงอกยาวออกมา ทีมงานยังได้เน้นช่วงกระดูกเชิงกรานและข้อศอกเพื่อให้เธอดูผอมลงด้วยเพราะเมื่อคุณทำให้ส่วนเหล่านั้นโดดเด่นออกมา ทุกอย่างก็จะดูผอมลีบลง เธอเป็นผู้หญิงที่น่ากลัวมากๆ เลยครับ"

งานที่ละเอียดกว่าก็คือการถ่ายทอดความเปลี่ยนแปลงของโซฟีที่เกิดขึ้นคู่ขนานกันไป ดังที่เบิร์ค นักออกแบบเครื่องแต่งกาย ได้ให้ความเห็นไว้ "เธอเริ่มต้นจากจุดที่ยังมีสติสัมปชัญญะดีอยู่ แทบจะเรียกได้ว่ามีบุคลิกที่งดงาม แต่เมื่อสถานการณ์เลวร้ายลง เราก็จะได้เห็นสภาพความเสื่อมถอยผ่านเครื่องแต่งกายของเธอด้วย"

รีเบคกาและเบรตใส่ชุดคล้ายเสื้อเกราะเหมือนประกาศให้โลกรู้ว่าพวกเขาแข็งแกร่ง มันเป็นภาพลวงตา แต่ก็เป็นภาพลวงตาที่เบิร์คไม่อยากให้ชัดเจนเกินไป "หลักๆ แล้วเราต้องการให้พวกเขาดูหม่นหมองและท้าทายโดยใช้สีดำและเครื่องประดับที่โดดเด่น แต่ก็ไม่ถึงกับว่าเข้าถึงไม่ได้" เธอกล่าว "รีเบคกามีสร้อยคอแปลกๆ หลายเส้น รวมถึงสร้อยคอจากศิลปินชื่อ ไคอา คูปแมน เป็นรูประเบิดมือผสมกระต่ายคล้องอยู่กับสายโซ่"

ในแง่นี้ อเล็กซานเดอร์ ดิเพอร์เซีย ตั้งข้อสังเกตว่า "มันเป็นการสร้างขั้วตรงข้ามระหว่างรูปลักษณ์กับการกระทำของตัวละครสองตัวนี้ คุณตัดสินหนังสือจากหน้าปกอย่างเดียวไม่ได้หรอกครับ เบรตไม่ได้ดูเหมือนคนที่จะเป็นจะตายกับการได้อยู่กับแฟนหรือคนที่จะทำแซนด์วิชให้น้องชายแฟน แต่เขาก็เป็นอย่างนั้น เพียงเพราะว่าพวกเขาแต่งชุดดำและฟังเพลงเดธเมทัลไม่ได้แปลว่าพวกเขาจะยอมรับเจ้าสิ่งนี้ได้ พวกเขาก็อยากหนีไปให้พ้นๆ เหมือนกับทุกคนนั่นล่ะครับ"

เอื้อมมือมาคว้าคุณ

"มีฉากสตันท์ในหนังเรื่องนี้มากกว่าที่เราคิดไว้ตอนแรก เพราะยิ่งเราคิดก็ยิ่งมีความเป็นไปได้มากมาย" แซนด์เบิร์ก กล่าว "มีหลายคนตัวลอยขึ้นไปและถูกจับทุ่มกับกำแพง เนื่องจากร่างของไดอานาอยู่ได้เฉพาะในความมืด อะไรก็ตามที่เธอยกขึ้นมาจะร่วงลงกับพื้นทันทีที่ไฟสว่าง และเราก็พบวิธีการมากมายที่จะเล่นกับเงื่อนไขนี้"

"หลักการหนึ่งที่เราใช้เป็นแนวทางก็คือลดการใช้วิชวลเอฟเฟ็กต์ให้น้อยที่สุด ดังนั้นแทบทุกอย่างจึงเป็นเอฟเฟ็กต์ที่ทำขึ้นจริงในกล้อง" เกรย์กล่าว ตัวอย่างเช่น ฉากที่ไดอานายื่นมือจากเพดานเพื่อคว้าสร้อยที่คองรีเบคกาและยกตัวเธอลอยขึ้นมาจนหายใจไม่ออกนั้นทำได้ด้วยการใช้สายรั้ง ลวดสลิง และรอก

ผู้ประสานงานฝ่ายสตันท์ มาร์ค นอร์บี ให้รายละเอียดว่า "เดวิดมีไอเดียที่จะใช้สร้อยคอ จากนั้นเมื่อถึงจุดที่สร้อยจะรั้งไว้ไม่อยู่แล้ว ไดอานาก็ยื่นมืออีกข้างหนึ่งไปคว้าผมของรีเบคกาเอาไว้ เราทำได้โดยใช้ตัวเทเรซาจริงๆ เราดึงเธอขึ้นไปเล็กน้อยและปล่อยตัวเธอลงมา เธอร่วมมือเต็มที่และทำงานได้ดีมาก ขณะเดียวกัน อลิเชียก็เกาะอยู่ที่ขอยึดบนเพดาน จึงดูเหมือนว่าไดอานากำลังซ่อนตัวอยู่ตรงมุมมืด คร่อมตัวอยู่ระหว่างผนัง แนวคิดเบื้องหลังฉากนี้คือการให้ผู้ชมรู้ว่าเธอไม่จำเป็นต้องปรากฏตัวในระดับสายตา เธออยู่ที่ไหนก็ได้"

สำหรับฉากที่ไดอานาไล่ตามเบรตนั้นต้องอาศัยสตันท์เพราะมีความสูงเข้ามาเกี่ยวข้อง โดยมีการลงสู่พื้นซึ่งดูเหมือนคอนกรีตแต่ที่จริงเป็นโฟมความหนาแน่นสูง นอกจากนี้ยังมีอุปกรณ์พิเศษช่วยชะลอความเร็วของนักแสดงก่อนถึงจุดตกกระทบ

ฉากที่นักแสดงเด็ก เบตแมน ชอบเป็นพิเศษคือฉากสตันท์ที่เขาเล่นสองฉาก "มีฉากหนึ่งซึ่งผมถูกดึงที่ใต้เตียง และอีกครั้งที่ผมถูกลากไปข้างหลัง" เขากล่าว "สนุกดีครับ"

ทีมผู้สร้างหนังต้องเห็นด้วยอย่างแน่นอน เพราะสำหรับพวกเขาแล้ว งานส่วนใหญ่ใน "Lights Out" เป็นเรื่องสนุก เป็นการทำงานที่ตัวเองรักเพื่อแฟนๆ ที่ชื่นชอบหนังแนวนี้อย่างแท้จริง และพวกเขาก็หวังว่าผู้ชมจะรู้สึกเช่นเดียวกัน เมื่อนึกย้อนกลับไปยังแรงบันดาลใจดั้งเดิม ไฮส์เซอเรอร์ให้ความเห็นว่า "ผมนึกไม่ออกเลยว่าผู้ชมจะเป็นอย่างไร ถ้าเผื่อคุณกลั้นหายใจตลอดสองนาทีครึ่งที่ดูหนังสั้นเหมือนผมล่ะก็ คุณคงต้องเตรียมพกถุงกระดาษเข้าไปช่วยหายใจเลยเพราะคุณจะต้องเจอความตื่นเต้นแบบนี้ยาวตลอด 90 นาที"

เกรย์กล่าวว่า "มีฉากน่ากลัวที่เป็นเอกลักษณ์และน่าสนใจอยู่มากมายในหนังเรื่องนี้ ผมคิดว่าผู้ชมคาดหวังได้ว่าจะได้พบเรื่องราวเขย่าขวัญน่าตื่นเต้นที่มีเอกลักษณ์เฉพาะตัว ทีมงานบางคนบอกว่าต้องคอยมองเหลียวหลังและฝันร้ายเมื่อกลับไปที่บ้าน ซึ่งในกรณีของเราถือเป็นเรื่องดีครับ"

เช่นเดียวกับเพื่อนร่วมงานซึ่งค้นพบ "Lights Out" ในรูปของเรื่องเล่าสั้นๆ ที่ได้รับความนิยมอย่างสูงในโลกออนไลน์ เจมส์ วาน ตระหนักดีถึงศักยภาพของเรื่องนี้ในการเข้าถึงคนวงกว้างด้วยสเกลที่ใหญ่กว่าเดิมมาก แต่เขายกความดีให้วิสัยทัศน์ของเดวิด แซนด์เบิร์ก และแนวคิดอันทรงพลังของแก่นเรื่องซึ่งทำให้ผลงานนี้มีความพิเศษ "สิ่งที่เดวิดทำในหนังเรื่องนี้เป็นสิ่งที่ผมชอบเลยครับ นั่นคือการทำหนังแบบที่ผมชอบดูเมื่อตอนเป็นเด็ก หนังสยองขวัญสนุกๆ ที่น่าสะพรึงกลัวแต่ก็ให้ความบันเทิงไปพร้อมกัน และทำให้คุณอยากดูอีก"

รวมทั้งอาจทำให้คุณเข้าใจธรรมชาติมนุษย์มากขึ้นด้วย แซนด์เบิร์กกล่าวว่า "ผมคิดว่าหนังเรื่องนี้มีศักยภาพที่จะทำให้คนกลัวได้เพราะการกลัวความมืดก็คือการกลัวสิ่งที่เราไม่รู้ และในแง่นั้นมันก็เป็นสิ่งที่เราทุกคนรู้สึกเหมือนกัน คุณไม่รู้ว่ามีอะไรซ่อนอยู่ในนั้นหรือว่ามันจะตามคุณมาหรือเปล่า เวลาเราปิดไฟที่บ้าน หลายคนคงเคยคิดว่า 'มีใครยืนอยู่ตรงมุมห้องรึเปล่านะ' แล้วเราก็เปิดไฟและเห็นว่า โอเค ก็แค่เสื้อโค้ตที่แขวนอยู่หรืออะไรแบบนั้น หลังจากได้ดู 'Lights Out' พร้อมผู้ชมในการฉายครั้งแรกๆ ผมดีใจมากที่ได้เห็นผู้ชมเข้าถึงเรื่องราว บางครั้งก็สะดุ้ง และบางครั้งก็หัวเราะด้วย"

เขากล่าวเสริมอย่างขำๆ ว่า "มันอาจเหมือน 'Jaws' ก็ได้นะ แต่แทนที่จะกลัวการลงทะเล คนอาจกลัวการปิดไฟกันมากขึ้นก็ได้"

Lights Out - มันออกมาขย้ำ

เปิดรอบพิเศษ วันนี้ - 20 ก.ค. สองทุ่มเป็นต้นไป ฉายจริง 21 ก.ค. นี้

https://www.facebook.com/LightsOutTheMovieThailand

https://www.youtube.com/watch?v=mFsxfHd-7NE&list=PL7AYIIr1AzMQHsMKv0qEqpm1lyUFv0DS0

ข่าวประชาสัมพันธ์ล่าสุด

๒๐:๕๙ ซีเอเค อินเตอร์เนชั่นแนล ให้การต้อนรับอาจารย์คณะวิศวกรรมศาสตร์ ม.ศรีปทุม
๒๐:๓๑ กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ลงพื้นที่เพื่อติดตามความก้าวหน้าตามข้อสั่งการของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์
๒๐:๕๒ Vertiv เปิดตัวดาต้าเซ็นเตอร์ไมโครโมดูลาร์รุ่นใหม่ที่มี AI ในเอเชีย
๒๐:๐๙ พิธีขึ้นเสาเอก เปิดไซต์ก่อสร้าง โครงการ แนชเชอแรล ภูเก็ต ไพรเวท พูลวิลล่า บ้านเดี่ยวบนทำเลทองใจกลางย่านเชิงทะเล
๒๐:๔๖ เขตบางพลัดประสาน รฟท.-กทพ. ปรับภูมิทัศน์ เพิ่มพื้นที่สีเขียวหน้าสถานีรถไฟบางบำหรุ
๒๐:๕๘ ร่วมแสดงความยินดีแก่อธิบดีกรมยุโรป ณ โรงแรมเซ็นทาราแกรนด์ฯ เซ็นทรัลเวิลด์
๒๐:๐๓ กทม. เดินหน้าจัดกิจกรรมริมคลองโอ่งอ่าง ส่งเสริมอัตลักษณ์ กระตุ้นเศรษฐกิจ-การท่องเที่ยว
๒๐:๔๙ พาราไดซ์ พาร์ค ร่วมกับ กรมการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือก พาคุณไปสัมผัสการนวดเพื่อสุขภาพจาก 4 ภูมิภาคของไทย
๒๐:๒๔ Digital CEO รุ่นที่ 7 เรียนรู้เข้มข้นต่อเนื่อง จากวิทยากรชั้นนำของวงการ
๒๐:๒๔ เด็กไทย คว้ารางวัลระดับโลก โดรนไทย ชนะเลิศนวัตกรรมสิ่งประดิษฐ์ทางด้านอากาศยานไร้คนขับ UAV ณ กรุงเจนีวา