DITP ปลื้มแบรนด์ดังระดับโลกสนใจร่วมพาร์ทเนอร์เสื้อผ้าใยสับปะรดไทย

อังคาร ๐๕ กุมภาพันธ์ ๒๐๑๙ ๑๐:๐๓
DITP เดินหน้าสนองนโยบายรัฐบาลขับเคลื่อนเศรษฐกิจชุมชน ผลักดันผู้ผลิตสินค้าจากใยสับปะรดก้าวสู่ระดับโลก พร้อมทั้งจับมือกรมราชทัณฑ์ช่วยนำออเดอร์ให้ผู้ต้องขังช่วยผลิตเพื่อส่งออก

น.ส.บรรจงจิตต์ อังศุสิงห์ อธิบดีกรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ (DITP) กระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยว่า ขณะนี้ได้รับรายงานจากกลุ่มผู้ผลิตเสื้อผ้าจากใยสับปะรดว่ามีแบรนด์เสื้อผ้าดังระดับโลกสนไทยอยากจะเข้ามาร่วมทุน เช่น แบรนด์H&M ที่เป็นผู้ผลิตเสื้อผ้าแบรนด์ดังระดับโลกให้กับหลายยี่ห้อชั้นนำในต่างประเทศ นอกจากนี้ยังมีกลุ่มธุรกิจประเภทโรงแรม เช่น โรงแรมเชอราตัน , โรงแรมในเครืออนันตรากรุ๊ปที่มีสาขามากมายอยู่หลายประเทศ และโรงแรมที่โอกินาวา ประเทศญี่ปุ่นซึ่งกำลังจะเปิดตัวในเดือนมีนาคมนี้ได้สั่งซื้อผ้าใยสับปะรดเพื่อนำไปผลิตของตกแต่งรวมถึงของที่ระลึกเกรดพรีเมียมเป็นจำนวนมาก และยังมีโครงการดอยตุง อันเนื่องมาจากพระราชดำริ ซึ่งเป็นแบรนด์ชั้นนำของเมืองไทยที่ส่งเสริมและอนุรักษ์สินค้าพื้นถิ่นเพื่อสืบสานความเป็นไทยได้สั่งซื้อผ้าใยสับปะรดไปผลิตเป็นสินค้าพรีเมียมอีกหลายประเภท หลังจากที่ทาง DITP และหน่วยงานอื่นๆ ร่วมมือกันส่งเสริมให้ผู้ประกอบการชุมชนผลิตผ้าใยสับปะรดดังกล่าว เนื่องจากผลผลิตจากเส้นใยสับปะรด ถือเป็นสินค้าที่ช่วยลดมลพิษของเสียจากวัตถุดิบเหลือทิ้งทางการเกษตร และเป็นเทรนด์ที่ทั่วโลกกำลังตื่นตัวและให้การสนับสนุนอย่างมาก

"ตอนนี้กลุ่มผู้ผลิตเสื้อผ้าและเครื่องนุ่งห่มจากใยสับปะรดหลายกลุ่มแจ้งมาว่า ได้รับออเดอร์จากต่างประเทศเข้ามาจำนวนมากจนไม่สามารถจะผลิตได้ทัน ซึ่งล่าสุดทาง DITP ได้เข้าไปให้ความช่วยเหลือโดยได้หารือกับกรมราชทัณฑ์ เพื่อให้ผู้ผลิตสินค้านำออเดอร์จากต่างประเทศของผู้ประกอบการที่ไม่สามารถผลิตสินค้าได้ทันให้ผู้ต้องขังช่วยผลิต เนื่องจากผู้ต้องขังจำนวนมากเป็นแรงงานที่ได้รับการฝึกอบรมวิชาชีพสาขาต่างๆ จากหน่วยงานภาครัฐจำนวนหลายแสนคน ซึ่งจะช่วยแก้ปัญหาการขาดแคลนแรงงานฝีมือ ล่าสุดได้รับรายงานว่าทางพาณิชย์จังหวัดสงขลาได้นำร่องนำออเดอร์ให้ผู้ต้องขังในเรือนจำจังหวัดสงขลาผลิตเส้นใยสับปะรดแล้ว ถือเป็นความร่วมมือแบบบูรณาการของหน่วยงานภาครัฐเพื่อช่วยขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศ สร้างอาชีพ สร้างรายได้ ให้ทุกภาคส่วนของสังคมอย่างแท้จริง และจะใช้กรณีดังกล่าวเป็นโมเดลในการร่วมมือกับกรมราชทัณฑ์เพื่อผลิตสินค้าอื่นๆ เพื่อส่งออกต่อไป

"ในส่วนของผู้ต้องขังนั้นหากรายใดมีศักยภาพและสนใจเป็นผู้ประกอบการ เมื่อพ้นโทษและสนใจที่จะเป็นผู้ประกอบการ กรมฯก็จะสนับสนุนให้เข้าอบรมกับสถาบันพัฒนาผู้ประกอบการยุคใหม่ (NEA) เพื่อผลักดันให้เป็นผู้ส่งออกตามนโยบายของรัฐบาลที่ต้องการส่งเสริมให้เศรษฐกิจระดับฐานรากมีความเข้มแข็ง อย่างไรก็ตามในอนาคตทาง DITP ก็จะมีการร่วมมือกับกับหน่วยงานต่างๆเพิ่มมากขึ้นเพื่อร่วมกันขับเคลื่อนเศรษฐกิจฐานรากจากก่อนหน้านี้มีการร่วมมือกับกองทัพไทย,สถานบันการเงิน,สถาบันศึกษา และผู้ประกอบการทั้งในและต่างประเทศในการพัฒนาศักยภาพผู้ประกอบการ" น.ส.บรรจงจิตต์ กล่าว

ด้านนายวินิจ สินธุรักษ์ กรรมการผู้จัดการบริษัทปราณพรหม จำกัด และประธานวิสาหกิจชุมชนกลุ่มแปรรูปผลิตภัณฑ์จากสับปะรดบ้านหนองหอย กล่าวว่า ปัจจุบันทางบริษัทได้มีการรับซื้อใบสับปะรดที่มีคุณภาพยาวเกิน 1 เมตร อายุ 2-3 ปีขึ้นไปในราคากก.ละ 2 บาท แต่หากเป็นเส้นใยสับปะรดราคาจะสูงถึงกก. ละ 300-600 บาท ส่วนการแปรรูปมีหลายแบบถ้าเป็นผ้าไหมใยสับปะรดราคา 3,000 บาทต่อหลา ผ้าฝ้ายใยสับปะรดราคาเริ่มต้นที่ 1,500 บาทต่อหลา โดยในปัจจุบันการดำเนินการผลิตด้ายด้วยเส้นใยสับปะรดยังไม่มีเครื่องจักรที่สมบูรณ์แบบจึงได้ติดต่อกับทางมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ประสานความร่วมมือด้านเครื่องจักรที่สามารถผลิตเส้นใยสับปะรดโดยเฉพาะเพราะในปัจจุบันยังไม่มีเครื่องจักรสำหรับเส้นใยสับปะรดโดยตรง โดยคาดว่าจะสามารถสร้างเครื่องจักรที่มีกำลังการผลิตสูงถึง 10 ตัน(ใบ)ต่อวัน หรือประมาณ 200 กก.ใยต่อวัน จากปกติที่ผู้ผลิตสินค้าชุมชนใช้แรงงานฝีมือคนและเครื่องจักรขนาดเล็กจะได้เส้นใยประมาณ 60 กก.ใยต่อวัน เท่านั้น จนเกิดปัญหาไม่สามารถผลิตสินค้าได้ทันต่อความต้องการตลาด

"จากการดำเนินงานที่ผ่านมาทำให้ตนเห็นว่าการได้รับการส่งเสริมจากภาครัฐถือเป็นหัวใจสำคัญของการสร้างความเข้มแข็งให้กับธุรกิจ เพราะหลายปัญหาที่เกิดขึ่น เมื่อมีหน่วยงานของภาครัฐที่กำกับดูแลเข้ามาให้ความช่วยเหลือโดยทำแบบบูรณาการหลายๆองค์กร ทำให้ปัญหาที่เกิดขึ้นก็สามารถได้รับการแก้ไขให้ผ่านพ้นไปได้ ตนจึงตั้งเป้าว่าในอนาคตทางบริษัทจะเข้าร่วมกิจกรรมกับทาง DITP ให้มากขึ้น เช่น การอบรมหลักสูตรการส่งออก การบริหารจัดการ และการร่วมกิจกรรมอื่นๆอย่างต่อเนื่องอย่างแน่นอน เพราะนอกจากจะช่วยเพิ่มศักยภาพให้กับบริษัทแล้ว ยังเป็นโอกาสที่ดีที่จะช่วยขยายสินค้าท้องถิ่นนี้ออกสู่ตลาดต่างประเทศได้อย่างมีประสิทธิภาพอีกด้วย" นายวินิจ กล่าว

นอกจากนี้ น.ส.บรรจงจิตต์ ยังกล่าวทิ้งท้ายว่า ขั้นตอนของการต่อใยสับประรด เพื่อที่จะให้ได้ด้ายใยสับปะรดสำหรับทอผ้าในปัจจุบันนั้น ได้มีการต่อยอดจากกลุ่มชาวบ้านในชุมชนไปยังเรือนจำกลางจังหวัดสงขลา เนื่องจากผู้ต้องขังมีทักษะในการทำงานด้านนี้อยู่แล้ว ซึ่งถือว่าเป็นเรื่องที่ดีที่ช่วยส่งเสริมการสร้างรายได้แก่ผู้ต้องขัง ส่วนขั้นตอนการผลิตอื่นๆ ก็จะช่วยเพิ่มรายได้ให้กับเกษตรกรเกิดการจ้างงานสร้างรายได้ให้คนในชุมชน ซึ่งสอดคล้องกับนโยบายของรัฐบาล

ผู้สนใจเข้าร่วมโครงการสามารถสอบถามรายละเอียดได้ที่ กรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ(DITP) กระทรวงพาณิชย์ www.ditp.go.th หรือโทรสายตรงการค้าระหว่างประเทศ 1169

ข่าวประชาสัมพันธ์ล่าสุด

๑๗:๐๒ บิทูเมน มารีน บริษัทลูก TASCO ลงนามสัญญาต่อเรือขนส่งยางมะตอย เสริมศักยภาพกองเรือ
๑๗:๓๓ รมว.เกษตรฯ ลุยร้อยเอ็ด ผลักดันโครงการพัฒนาแหล่งน้ำ 3 แห่ง
๑๗:๔๔ กูรูหุ้นเชียร์ซื้อ PSP เคาะเป้าราคาสูงสุด 8 บ./หุ้น ยอดขายพุ่ง-หนี้ลด ดันกำไรปี 67 ออลไทม์ไฮ ดีล MA สร้าง New S-Curve
๑๗:๔๒ ข้าวกล้อง-จักรีภัทร พร้อมเต็มร้อย! ประเดิม จูเนียร์จีพี สนามแรก ประเทศอิตาลี
๑๗:๑๕ กรมประมงขอเชิญร่วมแข่งขันตกปลาชะโด
๑๗:๑๕ เชลล์ดอน การ์ตูนดังร่วมสาดความสนุกในเทศกาลสงกรานต์
๑๗:๒๙ สปสช. ติดปีกเทคโนโลยีไอทีด้วยคลาวด์กลางภาครัฐ GDCC ยกระดับบริการบัตรทองรวดเร็วทันสมัย ดูแลสุขภาพคนไทยยุคดิจิทัล
๑๗:๑๐ GSK ร่วมงาน Re-imagining UK Aging Care Event ของสถานทูตอังกฤษ มุ่งสร้างเสริมภูมิคุ้มกันผู้สูงอายุ
๑๗:๔๓ เอส เอฟ จับมือ กปน. มอบสิทธิ์ดูฟรีรวม 1,000 ที่นั่ง เพียงใช้ MWA Point ที่ เอส เอฟ!!
๑๖:๓๖ เตรียมพร้อมนับถอยหลัง 12 ชั่วโมงสุดท้าย! ก่อนเริ่มประวัติศาสตร์ครั้งใหม่ Bitcoin Halving ครั้งที่ 4