“น้ำซับ”จากผืนป่า สู่ ตลาดสุขภาพบ้านนาหมูม่น ตลาดที่เป็นมากกว่าตลาด

ศุกร์ ๐๕ เมษายน ๒๐๑๙ ๑๓:๕๑
ทรัพยากรน้ำ คือปัจจัยพื้นฐานในการดำรงชีพ และเป็นปัจจัยสำคัญของการทำเกษตร มีป่า มีน้ำ จึงมีอาหาร ชุนชนที่มีแหล่งน้ำธรรมชาติถือเป็นทรัพยากรที่มีคุณค่าที่ชุมชนจะต้องร่วมกันอนุรักษ์ไว้ ดังเช่นบ้านนาหมูม่น หมู่ที่ 2 ต.นาดี อ.ด่านซ้าย จ.เลย เป็นหมู่บ้านที่มีทรัพยากรน้ำที่สมบูรณ์มีแหล่งน้ำธรรมชาติจาก 2 แหล่ง คือ ลำน้ำหมันซึ่งเป็นสายน้ำที่พาดผ่านหมู่บ้านสำหรับใช้ในการทำเกษตร และแหล่งน้ำผุดหรือน้ำซับที่มีต้นน้ำจากป่า ซึ่งเกิดจากน้ำในดินที่ผ่านการกรองของชั้นหินทรายจากบนภูเขาลงมาสู่ที่ต่ำ จากผลการตรวจคุณภาพน้ำพบว่า มีคุณภาพน้ำที่สะอาดปราศจากสารปนเปื้อนในระดับมาตรฐานน้ำดื่ม ชาวบ้านเรียกว่า"น้ำเหมือง" ใช้ในการอุปโภคบริโภค และทำน้ำประปาหมู่บ้าน นอกจากนี้ยังแบ่งปันน้ำให้กับอีก 2 หมู่บ้าน คือ บ้านนาดีและบ้านอาฮี

จากสภาพภูมิประเทศของบ้านนาหมูม่นที่ตั้งอยู่บนพื้นที่สูงกว่า 340-880 เมตรจากระดับน้ำทะเลปานกลาง มีสภาพพื้นที่ป่าไม้ 38,275 ไร่ ลดลงจากปี 2545 ประมาณ 1,268 ไร่ หรือคิดเป็นร้อยละ 2.58 แต่จากฐานทรัพยากรน้ำบ่งบอกถึงความอุดมสมบูรณ์ของผืนป่าแห่งนี้

นางคุณารักษ์ มณีนุษย์ พยาบาลวิชาชีพโรงพยาบาลสมเด็จพระยุพราชด่านซ้าย ในฐานะนักวิจัยท้องถิ่น กล่าวว่า บ้านนาหมูม่นเป็นหนึ่งในหมู่บ้านต้นแบบเกษตรทางเลือกในอำเภอด่านซ้ายของ สกว. เพื่อลดปัญหาเขาหัวโล้น เพื่อที่จะรักษาทรัพยากรน้ำ แต่การจะรักษาทรัพยากรน้ำได้ ต้องรักษาป่า และการที่จะเปลี่ยนให้ชาวบ้านที่ทำเกษตรจากการปลูกพืชเศรษฐกิจเชิงเดี่ยวให้เป็นเกษตรทางเลือกได้ ก็ต้องให้ความสำคัญกับเรื่องป่า เรื่องน้ำ และจะต้องมีทางเลือกให้กับชาวบ้านด้วย

"บ้านนาหมูม่น มีแหล่งทรัพยากรน้ำที่นอกจากน้ำฝนแล้ว ยังมีน้ำจากลำน้ำหมัน และน้ำเหมือง ซึ่งเป็นน้ำผุดหรือน้ำซับที่เกิดจากแหล่งน้ำธรรมชาติจากภูเขา ชาวบ้านใช้ในการอุปโภคบริโภค นอกจากนี้ยังมีการนำน้ำเหมืองไปใช้ในแปลงปลูกผักปลอดสารพิษของกลุ่มเกษตรกร ซึ่งพบว่าผลผลิตที่ได้ไม่มีการปนเปื้อนของสารเคมีเกินค่ามาตรฐาน ถือว่าน้ำเหมืองจึงมีความสำคัญอย่างมากต่อคนในชุมชน จึงเป็นฐานทรัพยากรที่ชุมชนจะต้องดูแลรักษาและอนุรักษ์ป่า เพื่อให้เรามีน้ำใช้ตลอดทั้งปี รวมถึงระบบนิเวศต่างๆ ทั้งในลุ่มน้ำหมัน น้ำเหมือง และในทุ่งนามีความอุดมสมบูรณ์มากกว่า เพราะหมู่บ้านเรามีทรัพยากรด้านน้ำมากกว่าหมู่บ้านอื่นๆ"

รศ.ดร. เอกรินทร์ พึ่งประชา จากภาควิชามานุษยวิทยา คณะโบราณคดี มหาวิทยาลัยศิลปากร ในฐานะหัวหน้าโครงการฯ เปิดเผยว่า บ้านนาหมูม่น เป็นหนึ่งในหมู่บ้านต้นแบบในการขับเคลื่อนเรื่องด่านซ้ายกรีนเนทและด่านซ้ายโมเดล โดยใช้เกษตรทางเลือกเป็นเส้นทางในการฟื้นฟูทรัพยากรอาหาร (ดิน น้ำ และป่า) ภายใต้โครงการการเพิ่มศักยภาพเกษตรกรและหมู่บ้านต้นแบบการผลิตและการตลาดสีเขียวมาตรฐานด่านซ้ายกรีนเนท โดยประยุกต์แนวทางระบบการรับรองมาตรฐานอย่างมีส่วนร่วม อำเภอด่านซ้าย จังหวัดเลย (ปี 2560-2561) ที่สำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.) ให้การสนับสนุน

สาเหตุที่เลือกบ้านนาหมูม่นนอกจากเป็นชุมชนที่ตั้งอยู่ช่วงปลายลำน้ำหมันและมีน้ำเหมืองเป็นต้นทุนของท้องถิ่นที่มีรากวัฒนธรรมความเชื่อเรื่องพื้นที่ศักดิ์สิทธิ์ของบรรพบุรุษ ทำให้บริเวณห้วยภูได้รับการปกป้องไม่ถูกรุกล้ำ แต่ปัญหาที่กำลังเกิดขึ้นคือเรื่องของการทำเกษตรที่เริ่มเปลี่ยนไปจากที่เคยทำแบบพออยู่พอกินมาเป็นการทำเกษตรแบบการค้า ทำให้ต้องขยายพื้นที่ มีการบุกรุกพื้นป่าเพื่อทำเกษตรโดยเฉพาะการปลูกพืชเศรษฐกิจเชิงเดี่ยวขึ้นไปในป่าเพิ่มมากขึ้น ซึ่งผลการศึกษาพบว่าส่วนหนึ่งมาจากความต้องการของตลาดที่เป็นแรงจูงใจ แต่เมื่อเทียบรายได้จากการขายข้าวโพดเลี้ยงสัตว์หลังหักรายจ่ายแล้วจะเหลือเพียง 2,100 บาท/ไร่/ปี แตกต่างจากการทำเกษตรทางเลือกมีรายได้อยู่ที่ 115,200 บาท/ไร่/ปี แต่เพราะเป็นรายได้ที่ชาวบ้านได้รับเป็นรายวันแล้วนำกลับมาใช้ชีวิตประจำวัน จึงไม่รู้สึกต่างจากเงินที่ได้เป็นก้อนจากการขายข้าวโพดเลี้ยงสัตว์แต่ยังไม่ได้หักค่าใช้จ่าย

นอกจากนี้ จากผลการสำรวจทรัพยากรป่าไม้ของชุมชน โดยคณะวิจัยจากสาขาวิชาวิทยาศาสตร์สิ่งแวดล้อม คณะวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี มหาวิทยาลัยราชภัฏเลย พบว่า พื้นที่ป่าชุมชนบ้านนาหมูม่นมีสภาพป่าเป็นป่าเต็งรังผสมป่าเบญจพรรณ มีชนิดพรรณไม้กว่า 142 ชนิด เป็นไม้ยืนต้น 64 ชนิด ไม้ล้มลุก 23 ชนิด ไม้เถา 20 ชนิด ไม้พุ่ม 12 ชนิด พืชวงศ์หญ้า 18 ชนิด และเฟิร์น 5 ชนิด และยังมีสัตว์ป่าอาศัยอยู่จำนวนมาก ไม่น้อยกว่า 115 ชนิด ผลการศึกษาชี้ให้เห็นชัดว่า พื้นป่าบ้านนาหมูหม่นยังคงมีความอุดมสมบูรณ์ที่ควรแก่การอนุรักษ์ ดังนั้น เมื่องานวิจัยนี้มีเป้าหมายเพื่อลดปัญหาเขาหัวโล้น และการฟื้นฟูฐานทรัพยากรอาหาร จึงใช้เกษตรทางเลือกเข้ามาขับเคลื่อน เพื่อสร้างภาวะอยู่ดีมีสุขทั้งมิติสุขภาพและทำให้ชาวบ้านมีรายได้ จากสิ่งที่ถนัดนั่นคือ การปลูกพืชผักปลอดภัย

นางคุณารักษ์ กล่าวถึงการดำเนินงานว่า เริ่มจากการชักชวนคนที่สนใจปลูกผักไร้สารเคมี เบื้องต้นมีผู้หญิงมาสมัครเข้าร่วม 20 คน จึงเกิดการรวมกลุ่มสตรีขึ้นเพื่อสร้างเครือข่ายผลิตพืชผักปลอดภัย ต่อมามีสมาชิกเพิ่มขึ้นเป็น 44 คน จึงชักชวนคนอื่นๆ ในหมู่บ้านมาช่วยกันปรับพื้นที่ โดยใช้ทุนจาก สกว.ส่วนหนึ่ง เพื่อจัดสร้าง "ตลาดสุขภาพบ้านนาหมูม่น" ขึ้นภายในหมู่บ้านอย่างเป็นทางการเมื่อวันที่ 12 สิงหาคม 2560 มีการกำหนดกติกาและระบบการจัดการ ยอมรับว่า จากการทำตลาดนี้ทำให้คนในชุมชนเกิดการเปลี่ยนแปลงอย่างที่ไม่เคยเห็นมาก่อน ได้เห็นพลังของชุมชนในการเข้ามามีส่วนร่วมในการทำกิจกรรมต่างๆ มากมาย เช่น พลังของผู้หญิง พลังของเด็ก หรือพลังของชุมชนช่วยกันลงมือลงแรงปูกระเบื้องจากเศษกระเบื้องเหลือใช้ของคนในชุมชนที่รวบรวมกันมาบริจาคกลายเป็นงานศิลปะที่สวยงาม สร้างความภาคภูมิใจให้กับคนในชุมชน และยังเป็นศูนย์รวมของเด็กๆ ได้มารวมตัวกันเกิดกิจกรรมต่างๆ ขึ้น เช่น กิจกรรมอ่านหนังสือเล่านิทาน กิจกรรมพาปลูกผัก มีการแสดงดนตรีของเด็กๆ หรือ ทดลองให้เด็กนำของมาขาย นอกจากนี้ใช้เป็นสถานที่จัดกิจกรรมวันเด็กโดยรุ่นพี่จัดให้กับรุ่นน้อง ถือเป็นจุดเล็กๆ ที่สานต่อจนเกิดสิ่งที่ใหญ่ขึ้น

"จะเห็นว่า ตลาดแห่งนี้แม้เป็นเพียงตลาดเล็กๆ ภายในหมู่บ้าน แต่กลายเป็นจุดศูนย์รวมกลางหมู่บ้านที่สร้างความภาคภูมิใจให้กับชุมชน เพราะตลาดไม่ใช่แค่ขายของ แต่ยังช่วยส่งเสริมเรื่องของสุขภาพ สังคม และจิตวิญญาณ ในฐานะนักวิจัย ยอมรับว่า สกว.ไม่ได้เพียงแค่สร้างนักวิจัยท้องถิ่น แต่ทำให้เราได้เห็นมิติต่างๆ ทำให้เราเห็นตลาดที่มากกว่าตลาด ได้เห็นพลังของชุมชน เห็นความร่วมไม้ร่วมมือของชุมชน ได้เห็นความงามที่แตกต่าง"

ขณะที่เด็กหญิงจุฑาทิพย์ สิงห์สถิต หรือ น้องอิ๋ง ตัวแทนเยาวชนจากกิจกรรมนักสืบสายน้ำและเยาวชนกับป่า บอกว่า "ดีใจที่ได้มีส่วนร่วมในกิจกรรมเพื่ออนุรักษ์ป่าชุมชน ทำให้ได้เรียนรู้ว่า ป่าให้ประโยชน์อะไรบ้าง ได้เดินสำรวจป่าในชุมชนแตกต่างจากเมื่อก่อนที่ว่างก็จะนอนเล่นอยู่บ้านดูทีวี ติดมือถือ พอมาทำตรงนี้ได้ใช้เวลาว่างให้มีประโยชน์ ทำให้ได้เรียนรู้ชนิดและสรรพคุณของสมุนไพร ทำให้รู้เลยว่าในป่าบ้านเรามีสมุนไพรอยู่เยอะแค่ไหน เช่น ข้าวหลามดง มีสรรพคุณในการบำรุงเลือด หลังจากเข้ามาร่วมกิจกรรมทำให้รู้สึกรักและหวงแหนป่ามากขึ้น เพราะน้ำมีผลกับป่า ถ้าไม่มีน้ำป่าก็ไม่สามารถเจริญเติบโตได้เช่นเดียวกันคนถ้าขาดน้ำก็ไม่สามารถอยู่ได้ นอกจากจะสำรวจป่าแล้วก็จะช่วยกันปลูกต้นไม้ขึ้นทดแทนต้นไม้ที่ถูกขุดไป จะอนุรักษ์และไม่ตัดต้นไม้ทำลายป่า เพื่อให้ป่ายังคงอยู่กับชุมชนต่อไป"

อย่างไรก็ตาม นักวิจัยท้องถิ่น ยอมรับว่า "แม้หลังงานวิจัยเข้ามา ปัญหาเรื่องการรุกพื้นที่ป่าของชุมชนยังไม่เปลี่ยนแปลงมากนัก แต่สิ่งที่เปลี่ยนแปลงและเห็นได้ชัด คือ เรื่องของทัศนคติ มุมมอง และพฤติกรรมของชาวบ้านที่เริ่มมีความเข้าใจเกี่ยวกับต้นทุนในการปลูกข้าวโพดเลี้ยงสัตว์มากขึ้น จากเดิมที่ไม่เคยคิดเรื่องของต้นทุนและกำไร จะคิดแค่ขายข้าวโพดได้เงินเป็นก้อน แต่ขายผักได้เงินน้อย เช่น ได้เงินจากการขายข้าวโพดมา 6 แสนบาท แต่ไม่เคยหักต้นทุนค่าใช้จ่าย เช่น ค่าแรงงาน ค่าปุ๋ย ค่ายาฆ่าแมลง ค่าเมล็ดพันธุ์ และเงินที่ได้มาก็นำไปใช้หนี้และซื้อมาทำต่อหมุนเวียนเช่นนี้ไปเรื่อยๆ แต่ตอนนี้ชาวบ้านเริ่มคิดแล้วว่าเมื่อเทียบเปรียบรายได้ที่ได้จากการปลูกผักขายแม้วันละ100-200 บาท แต่มีกำไรดีกว่าการปลูกข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ เพราะการปลูกผักต้นทุนน้อยมากแทบไม่มี นอกจากการเก็บขายแล้วยังนำมาแปรรูปหรือทำเป็นเมนูอาหารขายเพิ่มมูลค่าได้อีก ซึ่งหลังจากที่งานวิจัยเข้ามาขับเคลื่อนทำให้ชุมชนเกิดการตื่นตัว เริ่มเข้าใจต้นทุนกำไรและเริ่มห่วงสุขภาพมากขึ้น

นอกจากนี้ในเรื่องของการบริโภค ชาวบ้านเริ่มรู้สึกแล้วว่าจะต้องเลิกใช้สารเคมีเปลี่ยนมาใช้สมุนไพรแทน หรือหากจะใช้สารเคมีก็จะคิดแล้วคิดอีก และต้องการให้มีการตรวจหาสารเคมีในแปลงผักว่าผักของตนอยู่เสมอ จากเมื่อก่อนที่ชาวบ้านไม่เคยสนใจ โดยมีผู้เชี่ยวชาญจากโรงพยายามสมเด็จพระยุพราชด่านซ้าย เข้ามาให้ความรู้ในเรื่องของการตรวจสอบคุณภาพอย่างเป็นระบบ วิธีการตรวจดิน น้ำ และแปลงผัก รวมถึงมีการสุ่มตรวจสารเคมีปนเปื้อนในผักที่วางจำหน่ายด้วย ซึ่งเป็นกิจกรรมหนึ่งที่ทำให้ผู้ซื้อมั่นใจเรื่องความปลอดภัยของพืชผักและอาหาร จากระบบประกันความปลอดภัยอย่างมีส่วนร่วม หรือ PGS"

นางหนูเด่น วังคำ ผู้ช่วยผู้ใหญ่บ้าน หมู่ที่ 2 บ้านนาหมูม่น ยอมรับว่า "จากเดิมที่เคยปลูกข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ ตอนนี้เลิกแล้ว และหันมาปลูกผักปลอดภัย โครงการนี้เป็นโครงการที่ดีทำให้เราได้รู้ ได้เข้าใจเรื่องต้นทุน กำไร และปัญหาที่เกิดจากการปลูกข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ ที่นอกจากต้องใช้เงินลงทุนสูงและต้องใช้สารเคมีเยอะมากแล้ว ยังเสี่ยงต่อสุขสภาพ เพราะรู้สึกได้ว่าสุขภาพเริ่มย่ำแย่ พอหันมาปลูกผักไว้ทานเองสุขภาพเริ่มดีขึ้น โดยอาจารย์และนักวิจัยเข้ามาให้ความรู้เกี่ยวกับผักปลอดภัยว่าให้ประโยชน์ต่อสุขภาพและชาวบ้านอย่างไร พอได้ทดลองปลูกแล้วเห็นผลกับตัวเอง ชาวบ้านคนอื่นๆ ก็สนใจตอบรับเข้าร่วมมากขึ้น"

นางหนูเด่น กล่าวว่า " พองานวิจัยเข้ามาชาวบ้านก็หันมาปลูกผักปลอดภัยโดยลดการใช้สารเคมีและยาฆ่าแมลง ทำให้รู้สึกได้ทันทีว่าสุขภาพดีขึ้น และรายจ่ายน้อยลง ทำให้ครอบครัวมีรายได้เพิ่มขึ้น จากที่เคยซื้อผัก 5 บาท 10 บาท แต่พอมาปลูกเองก็ลดรายจ่ายไป ผลผลิตที่เหลือก็นำมาขายได้อีก เพราะหลังจากทดลองนำเงินที่ได้จากการขายผักมาหยอดกระปุกเรื่อยๆ ทำให้รู้ว่าพอเราปลูกผักเองเราสามารถลดรายจ่ายจากที่เคยซื้อผักกินกลายมาเป็นรายได้แทน จากเดิมชาวบ้านส่วนใหญ่มองว่า ขายผักได้เงินน้อย รายได้ไม่เป็นกอบเป็นกำ ไม่เหมือนปลูกข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ที่ปีหนึ่งเก็บเกี่ยวขายได้เงินก้อน ส่วนปลูกผักขายได้เงินแค่วันละ ไม่กี่ร้อยบาท แต่เมื่อคิดต้นทุนแล้วเห็นชัดว่ารายได้จากข้าวโพดสู้ขายผักไม่ได้ เพราะการปลูกผักเราไม่ต้องทำทั้งวัน ไม่ต้องดูแลมาก ทำแค่ตอนเช้าและเย็น มีเวลาว่างไปทำอย่างอื่นได้อีก สุขภาพก็ดีขึ้น ไม่ต้องเสี่ยงกับโรคภัยจากสารเคมี

ปัจจุบันผลผลิตผักปลอดภัยของชุมชนได้กระแสตอบรับดี มีคนสนใจเข้ามาซื้อหาเป็นจำนวนมาก โดยจะมีการนำผลผลิตไปจำหน่ายที่ตลาดสุขภาพบ้านนาหมูม่นเปิดขายทุกเช้าวันอาทิตย์, ตลาดสีเขียวที่หน้าว่าที่ทำการอำเภอด่านซ้ายทุกวันอังคารและศุกร์ และตลาดคลองถมบ้านนาหมูม่นทุกบ่ายวันจันทร์และพฤหัสบดี ขายสัปดาห์ละ 5 วัน ใช้เวลาขายเพียง 2 ชั่วโมงต่อครั้ง แต่สร้างรายได้กว่า 2,000-4,000 บาทต่อเดือน ที่สำคัญคือ "ได้สุขภาพดี และไม่มีหนี้" จากจุดเริ่มต้นเล็กๆ ในตลาดสุขภาพกลางหมู่บ้าน ทำให้วันนี้ผักปลอดภัยบ้านนาหมูม่นมาตรฐานด่านซ้ายกรีนเนต เป็นที่รู้จักและได้รับการตอบรับจากผู้บริโภคมากขึ้น โดยเฉพาะกลุ่มคนที่รักสุขภาพ เพราะมั่นใจว่าผักปลอดภัยบ้านนาหมูม่นมีคุณภาพปลอดภัยมั่นใจได้

ข่าวประชาสัมพันธ์ล่าสุด

๑๗:๕๔ กทม. เตรียมปรับปรุงพัฒนาระบบการให้บริการงานทะเบียนสำนักงานเขต
๑๗:๑๗ สมาคมเพื่อนชุมชน ส่งเสริมองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ถ่ายทอดองค์ความรู้ แนวทางลดก๊าซเรือนกระจก
๑๗:๔๑ กทม. เร่งติดตั้งเสา-ตะแกรงรั้วกั้นเกาะกลางถนนวิสุทธิกษัตริย์ที่ถูกรถชนเสียหาย
๑๗:๐๔ คณะวิทยาการจัดการ มหาวิทยาลัยสวนดุสิต ขอเชิญชวนนักศึกษา และบุคคลทั่วไป เข้าร่วมงาน M-Sci JOB FAIR 2024 หางานที่ใช่ สร้างงาน สร้างโอกาส วันที่ 2 พฤษภาคม 2567 เวลา 13.00-16.00 น. ณ หอประชุม รักตะกนิษฐ
๑๗:๒๘ ชไนเดอร์ อิเล็คทริค นำเสนอโซลูชั่นดิจิทัลลุยตลาดอาคารอัจฉริยะเพื่อความยั่งยืน
๑๖:๒๙ จิม ทอมป์สัน เผยทิศทางการพา แบรนด์ผ้าเมืองไทย ผงาดเวทีโลก ส่องกลยุทธ์การครีเอตผลงานคุณภาพให้สอดรับเทรนด์สิ่งทอระดับสากล
๑๖:๓๘ อาดิดาสจับมือนักฟุตบอลระดับตำนาน ส่งแคมเปญ 2006 JOSE 10 สร้างแรงบันดาลใจและความเป็นไปได้อันไร้ขีดจำกัดให้กับเหล่านักฟุตบอลเยาวชนหญิง
๑๖:๑๐ Maison Berger Paris พาชมเครื่องหอมบ้าน 2 คอลเลคชั่นใหม่ MOLECULE และ JOY จัดเต็มเซ็ตของขวัญ ครบทุกรูปแบบความหอม สร้างบรรยากาศหรูหราพร้อมกลิ่นหอมบริสุทธิ์
๑๖:๕๗ กทม. เตรียมระบบเฝ้าระวัง-ควบคุมการแพร่ระบาดโรคโควิด 19 หลังเทศกาลสงกรานต์
๑๕:๑๕ NCC. ผนึก ททท. ขยายตลาดท่องเที่ยวมูลค่าสูง ชี้ตลาดท่องเที่ยวเฉพาะทาง (Niche Market) โต ลุยจัดงาน Thailand Golf Dive Expo plus OUTDOOR Fest