บลจ.ไทยพาณิชย์ จับมือ คณะบริหารธุรกิจและคณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่

จันทร์ ๒๗ พฤษภาคม ๒๐๑๙ ๑๔:๐๓
บลจ.ไทยพาณิชย์ จับมือ คณะบริหารธุรกิจและคณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ เปิดตัวโครงการพัฒนาองค์ความรู้ด้านการเงินและวิศวกรรมคอมพิวเตอร์มุ่งสร้างนักเทคโนโลยีการเงินรับยุค disruptive

นายณรงค์ศักดิ์ ปลอดมีชัย ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุน ไทยพาณิชย์ จำกัด เปิดเผยว่า บริษัทฯ ได้เดินหน้าสร้าง บลจ.ไทยพาณิชย์ ให้เป็นองค์กรแห่งการเรียนรู้ เป็นที่ไว้วางใจของลูกค้า และงอกงามด้วยวัฒนธรรมแห่งการเรียนรู้และปฏิบัติได้อย่างแท้จริง โดยล่าสุดได้ร่วมมือกับคณะบริหารธุรกิจ ภาควิชาการเงินและการธนาคาร และคณะวิศวกรรมศาสตร์ ภาควิชาวิศวกรรมคอมพิวเตอร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ จัดทำโครงการพัฒนาองค์กรความรู้ด้านการเงินและวิศวกรรมคอมพิวเตอร์ (CMU - SCBAM Machine Learning: Application for Smart Investment) สร้างโอกาสเรียนรู้ในสภาพการปฏิบัติงานจริง เพื่อเตรียมความพร้อมรับการเปลี่ยนแปลงฉับพลันในบริบทการเงินโลก

โดยโครงการนี้จัดการเรียนรู้แบบ project based learning บูรณาการองค์ความรู้ด้านการเงินเข้ากับความรู้ด้านวิศวกรรมคอมพิวเตอร์ ถือเป็นความสอดคล้องกับหลักการสร้างทักษะให้แก่ผู้เรียนเพื่อสามารถตอบโจทย์ความต้องการของอุตสาหกรรมปัจจุบัน ซึ่งการจัดการความร่วมมือในโครงการดังกล่าวสำหรับภาควิชาการเงินและการธนาคาร คณะบริหารธุรกิจ จะมีบทบาทเกี่ยวกับองค์ความรู้ด้านการเงินการธนาคาร และภาควิชาวิศวกรรมคอมพิวเตอร์ คณะวิศวกรรมศาสตร์จะมีบทบาทความร่วมมือด้านเทคโนโลยีคอมพิวเตอร์ โดยเฉพาะเทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์ เทคโนโลยี Machine Learning และ Big Data จะเป็นเครื่องมือหลักที่จะร่วมกันใช้เพื่อบ่มเพาะนักการเงินและวิศวกรคอมพิวเตอร์ในโครงการ และในส่วนของบลจ.ไทยพาณิชย์ จะมีบทบาทในการวิเคราะห์การลงทุน สนับสนุนข้อมูลและความเชี่ยวชาญในเชิงวิชาชีพ

นายณรงค์ศักดิ์ กล่าวว่า การดำเนินโครงการดังกล่าวในขั้นแรกได้แก่การประยุกต์ใช้เทคโนโลยี Machine Learning ในการพัฒนาดัชนีชี้วัดความยั่งยืน (ESG Index)ครอบคลุมดัชนีที่มีมิติวัดสามประเด็นหลักของความยั่งยืน ได้แก่ สิ่งแวดล้อม สังคม และการกำกับดูแลกิจการ (Environment Social และ Governance) ซึ่งโครงการแรกนี้จะเป็นโครงการวิจัยการพัฒนาการประเมินความยั่งยืนและระดับ ESG ของบริษัทจดทะเบียนที่สามารถส่งผลต่อผลการดำเนินงานที่ดีแก่บริษัท โครงการดังกล่าวจะมีนักศึกษาภาควิชาการเงินและการธนาคาร ชั้นปีที่ 3 รวมทั้งนักศึกษาภาควิชาวิศวกรรมคอมพิวเตอร์ ร่วมศึกษาการประเมินความยั่งยืน การให้คะแนน ESG ของบริษัทจดทะเบียน โดยมุ่งเน้นที่บริษัทขนาดกลางและเล็กซึ่งอาศัยข้อมูลจากการสอบถามบริษัทจดทะเบียน งบการเงิน หรือใช้ machine learning เข้ามาช่วยเพื่อความสมบูรณ์และความครอบคลุมให้มากที่สุด สำหรับการนำข้อมูลมาวิเคราะห์และทดสอบก่อนนำมาใช้งานจริงนั้นได้กำหนดกรอบเวลาสิ้นสุดโครงการประมาณช่วงสิ้นปี และจะจัดให้มีการวัดประสิทธิภาพของข้อมูลในการลงทุน โดยกลุ่มที่ได้รับผลตอบแทนจากการทดสอบการลงทุนย้อนหลัง (Back Test) สูงที่สุดจะได้รางวัลด้วยการเปิดโอกาสให้เข้าร่วมฝึกงานกับ บลจ.ไทยพาณิชย์ และนักศึกษาทุกคนที่เข้ามามีส่วนร่วมจะได้รับใบประกาศนียบัตรด้วย

"บลจ.ไทยพาณิชย์ ได้ให้ความสำคัญกับการนำเทคโนโลยีดิจิทัล ซึ่งอาศัยความสามารถในการคำนวณ ประมวลผลที่รวดเร็ว และมีประสิทธิภาพของสมองกลมาใช้ในการวิเคราะห์หาปัจจัยในการลงทุนเพื่อสร้างผลตอบแทนส่วนเพิ่ม (Alpha) ในการบริหารจัดการพอร์ตการลงทุนของบลจ.อย่างต่อเนื่อง นอกจากนี้ บลจ.ยังเล็งเห็นว่าการลงทุนอย่างยั่งยืนและมีความรับผิดชอบต่อสังคมจะสามารถสร้างผลการดำเนินงานที่ดีได้ในระยะยาว ซึ่งในปัจจุบันแนวทางการลงทุนที่มีการพิจารณาถึงปัจจัย ESG เติบโตขึ้นอย่างต่อเนื่อง จากข้อมูลการลงทุนของ UN Principles for Responsible Investment (UNPRI) ในระหว่างปี ค.ศ.1995 - 2017 แสดงให้เห็นว่าสมาชิก PRI จากทั่วโลกได้มีการนำเงินไปลงทุนในบริษัทที่มีการดำเนินงานที่ให้ความสำคัญกับสิ่งแวดล้อม สังคม และธรรมาภิบาล (ESG) โดยดูจากมูลค่าเงินลงทุนในบริษัทเหล่านี้ที่เติบโตขึ้นกว่า 10 เท่า จากประมาณ 6 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐฯ เป็นมูลค่าประมาณ 65 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐฯ " นายณรงค์ศักดิ์ กล่าว

ทั้งนี้รองศาสตราจารย์ ดร.สิริวุฒิ บูรณพิร คณบดีคณะบริหารธุรกิจ กล่าวถึงการดำเนินโครงการในครั้งนี้ว่า "พัฒนาการแบบเปลี่ยนแปลงฉับพลัน หรือที่เรียกว่า disruptive จะส่งผลชัดเจนต่อวงการธุรกิจ สิ่งสำคัญคือการปรับตัว ขยายองค์ความรู้สู่ขอบเขตใหม่ๆ ที่จะเพิ่มโอกาสในการแข่งขัน ความท้าทายของคณะฯ คือการสร้างบุคลากรที่มีทักษะในเชิงบูรณาการเทคโนโลยีสู่การทำงานปกติ"

ด้านผู้ช่วยศาสาสตราจารย์ ดร.ณัฐ วรยศ คณบดีคณะวิศวกรรมศาสตร์ ผู้รับบทบาทจัดการความร่วมมือทางเทคโนโลยี กล่าวว่า "คณะวิศวกรรมศาสตร์มีแนวทางในการใช้เทคโนโลยีเพื่อสนับสนุนการทำงานในอุตสาหกรรมต่างๆ โดยมีการดำเนินงานเกี่ยวข้อง สนับสนุนวิชาการข้ามสาขาอย่างต่อเนื่อง ความรู้ทางวิศวกรรมคอมพิวเตอร์โดยเฉพาะเทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์ เทคโนโลยี Machine Learning และ Big Data จะเป็นเครื่องมือหลักที่คณะทำงานจะร่วมกันใช้เพื่อบ่มเพาะนักการเงินและวิศวกรคอมพิวเตอร์ในโครงการ"

ข่าวประชาสัมพันธ์ล่าสุด

๑๙ เม.ย. บิทูเมน มารีน บริษัทลูก TASCO ลงนามสัญญาต่อเรือขนส่งยางมะตอย เสริมศักยภาพกองเรือ
๑๙ เม.ย. รมว.เกษตรฯ ลุยร้อยเอ็ด ผลักดันโครงการพัฒนาแหล่งน้ำ 3 แห่ง
๑๙ เม.ย. กูรูหุ้นเชียร์ซื้อ PSP เคาะเป้าราคาสูงสุด 8 บ./หุ้น ยอดขายพุ่ง-หนี้ลด ดันกำไรปี 67 ออลไทม์ไฮ ดีล MA สร้าง New S-Curve
๑๙ เม.ย. ข้าวกล้อง-จักรีภัทร พร้อมเต็มร้อย! ประเดิม จูเนียร์จีพี สนามแรก ประเทศอิตาลี
๑๙ เม.ย. กรมประมงขอเชิญร่วมแข่งขันตกปลาชะโด
๑๙ เม.ย. เชลล์ดอน การ์ตูนดังร่วมสาดความสนุกในเทศกาลสงกรานต์
๑๙ เม.ย. สปสช. ติดปีกเทคโนโลยีไอทีด้วยคลาวด์กลางภาครัฐ GDCC ยกระดับบริการบัตรทองรวดเร็วทันสมัย ดูแลสุขภาพคนไทยยุคดิจิทัล
๑๙ เม.ย. GSK ร่วมงาน Re-imagining UK Aging Care Event ของสถานทูตอังกฤษ มุ่งสร้างเสริมภูมิคุ้มกันผู้สูงอายุ
๑๙ เม.ย. เอส เอฟ จับมือ กปน. มอบสิทธิ์ดูฟรีรวม 1,000 ที่นั่ง เพียงใช้ MWA Point ที่ เอส เอฟ!!
๑๙ เม.ย. เตรียมพร้อมนับถอยหลัง 12 ชั่วโมงสุดท้าย! ก่อนเริ่มประวัติศาสตร์ครั้งใหม่ Bitcoin Halving ครั้งที่ 4