กระแสรักษ์โลกมาแรง ... หนุนการขยายตัวของพลาสติกชีวภาพ

ศุกร์ ๒๘ มิถุนายน ๒๐๑๙ ๑๔:๐๐
จากเทรนด์ธุรกิจรักษ์โลก ส่งผลให้วัสดุทดแทนอย่างพลาสติกชีวภาพ (Bioplastics) มีความต้องการขยายตัวอย่างรวดเร็วจาก 4 % เป็น 40% ในอีก 10 ปี โดยเฉพาะตลาดบรรจุภัณฑ์อาหารและเครื่องดื่มที่เป็นผลิตภัณฑ์ใช้ครั้งเดียว (Single-use Plastics) ในเอเชียที่มีอัตราการเติบโตเฉลี่ยสูงสุด (CAGR) 22%

ที่ผ่านมา พลาสติกชีวภาพในไทยยังไม่ได้รับความนิยม จากข้อจำกัดด้านการเข้าถึงเทคโนโลยีขั้นสูงในการผลิตเม็ดพลาสติกชีวภาพ และการผลักดันความต้องการของผู้บริโภคผ่านมาตรการของรัฐ ขณะนี้ นับว่าเป็นโอกาสดีในการพัฒนาของอุตสาหกรรมพลาสติกชีวภาพไทยทั้งแรงกดดันจากกระแสโลก และข้อจำกัดที่ได้รับการแก้ไข

ศูนย์วิจัยกสิกรไทยมองว่า จีน ญี่ปุ่น และสหรัฐฯ เป็นโอกาสในการขยายธุรกิจบรรจุภัณฑ์พลาสติกชีวภาพของไทย จากกฏการยกเลิกใช้พลาสติก โดยมีมูลค่าตลาดส่งออกสูงถึง 16,697 ล้านบาทในปี 2562 และคาดว่าจะมีมูลค่า 19,107 ล้านบาท ในปี 2563 หรือเติบโต 14% และคาดว่าจะเป็นพลาสติกชีวภาพที่เข้าไปทดแทนอย่างน้อยราว 30 % ของพลาสติกจากปิโตรเคมี

ที่มา: Wood Mackenzie (2019)

ขยะพลาสติกที่นับวันจะเป็นต้นเหตุของปัญหาสิ่งแวดล้อมในขณะนี้ ทั้งปัญหาปริมาณขยะและมลพิษในรูปของก๊าซเรือนกระจก ส่งผลให้นานาประเทศพยายามหาวิธีแก้ไข โดยการเคลื่อนไหวรณรงค์ลดการใช้ผลิตภัณฑ์พลาสติก (Petroleum Based Plastics) หลักๆ คือ ขยะประเภทผลิตภัณฑ์ใช้ครั้งเดียว (Single-use Plastics)1 ที่ถึงเกือบร้อยละ 50 เป็นผลิตภัณฑ์บรรจุภัณฑ์ (Packaging) เช่น ขวดพลาสติก แผ่นฟิล์มใสถนอมอาหารและถุงพลาสติก ที่ผลิตจากเม็ดพลาสติกพอลิเอทิลีน (Polyethylene: PE) พอลิโพรไพลีน (Polypropylene: PP) และพอลิเอทิลีน เทเรฟทาเลต (Polyethylene Terephthalate: PET) อย่างไรก็ดี เราไม่อาจหลีกเลี่ยงความต้องการใช้พลาสติกได้ อีกทั้งยังมีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้นจากการขยายตัวของจำนวนประชากร การเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมของผู้บริโภค หรือการเพิ่มขึ้นของประชากรในเขตเมือง ด้วยเหตุนี้ วัสดุทางเลือกอย่างพลาสติกชีวภาพ (Bioplastics)2 ที่ผลิตจากพืช ย่อยสลายง่าย เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม จึงเริ่มเป็นที่นิยมใช้แทนบรรจุภัณฑ์พลาสติกแบบดั้งเดิม

1 Single-use Plastic คือ พลาสติกแบบใช้ครั้งเดียว เป็นพลาสติกที่มีอายุการใช้งานสั้น แต่ใช้ระยะเวลาย่อยสลายนาน

2 Bioplastics สามารถย่อยสลายได้โดยการฝังกลบและโดยการกระทำของจุลินทรีย์ตามธรรมชาติ โดยใช้เวลาย่อยสลายกลายเป็นปุ๋ยได้ภายในระยะเวลา 6 เดือน

"เทรนด์ธุรกิจรักษ์โลก" หนุนความต้องการพลาสติกชีวภาพโต

จากเมกะเทรนด์เกี่ยวกับเศรษฐกิจหมุนเวียน (Circular economy) ที่มีแนวคิดเรื่องการนำทรัพยากรที่ถูกนำไปใช้แล้วให้กลับมาแปรรูปและนำกลับไปใช้ได้อีกในอนาคต และการใช้ทรัพยากรให้เกิดประสิทธิภาพสูงสุด เพื่อแก้ปัญหาการใช้ทรัพยากรเกินขนาดจากการขยายตัวของประชากรโลก ทำให้เกิด 'เทรนด์ธุรกิจรักษ์โลก' ส่งผลให้สหภาพยุโรปที่เป็นตลาดผู้บริโภคบรรจุภัณฑ์พลาสติกขนาดใหญ่ลำดับต้นๆ ออกมาตรการเพื่อลดการใช้พลาสติกที่ย่อยสลายได้ยากตั้งแต่ปี 2545 และมีแผนที่จะเลิกใช้ในอนาคต รวมไปถึงในบางประเทศเช่นกัน ทำให้ตลาดพลาสติกชีวภาพเติบโตอย่างรวดเร็ว โดยจากการคาดการณ์ของ Grand View Research พบว่าในอีก 10 ปี มูลค่าของตลาดพลาสติกชีวภาพจาก 21 พันล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ในปี 2562 เพิ่มเป็นมูลค่า 324 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ ในปี 2573 คิดเป็นสัดส่วนความต้องการพลาสติกชีวภาพจากร้อยละ 4 เป็นร้อยละ 40 ของความต้องการผลิตภัณฑ์พลาสติกทั้งหมด ศูนย์วิจัยกสิกรไทยประมาณการว่า กว่าร้อยละ 70 ของตลาดพลาสติกชีวภาพในปี 2573 จะเป็นผลิตภัณฑ์บรรจุภัณฑ์อาหารและเครื่องดื่ม3 โดยบรรจุภัณฑ์พลาสติกชีวภาพสำหรับอาหารและเครื่องดื่มนิยมผลิตจากเม็ดพลาสติกชีวภาพ PLA ทดแทนเม็ดพลาสติกประเภท PE PP และ PET เนื่องจากมีคุณสมบัติคล้ายกัน แต่สามารถทดแทนได้บางส่วนขึ้นอยู่กับความเหมาะสมของการใช้งานผลิตภัณฑ์

ที่มา: IHS (2018)

ปัจจุบันตลาดหลักสำหรับบรรจุภัณฑ์พลาสติกชีวภาพคือ (1) ยุโรปตะวันตก เป็นตลาดผู้บริโภครายใหญ่ เนื่องจากพฤติกรรมของประชาชนในยุโรปถึงร้อยละ 75 ยอมจ่ายเงินเพิ่มขึ้นเพื่อซื้อสินค้าที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม เช่น ประเทศเยอรมัน และเนเธอร์แลนด์ (2) อเมริกาเหนือ เป็นพื้นที่ที่มีการบริโภคบรรจุภัณฑ์พลาสติกมากที่สุดในโลก และเริ่มมีการยกเลิกการใช้บรรจุภัณฑ์พลาสติกในบางพื้นที่ เช่น แคนนาดา แม็กชิโก ส่วนสหรัฐฯ มีการงดใช้แล้วบางรัฐ (3) เอเชีย แปซิฟิกและโอเชียเนีย ที่ผ่านมาพาสติกชีวภาพยังไม่เป็นที่นิยม แต่การตื่นตัวตามกระแสและการกระตุ้นผ่านมาตรการจากภาครัฐ ผลักดันให้บางประเทศ เช่น ไต้หวัน จีน (บางมณฑล) ฮ่องกง อินเดีย อินโดนีเซีย อิสราเอล มาเลเซีย เมียนมาร์ และบังกลาเทศ เริ่มลดใช้พลาสติกและหาผลิตภัณฑ์ทดแทน โดยในอนาคตเอเชียแปซิฟิกจะเป็นหนึ่งในตลาดที่มีศักยภาพที่จะก้าวมาเป็นผู้นำตลาดแทนยุโรปในอีก 5 ปีข้างหน้า จากอัตราการเติบโตของความต้องการพลาสติกชีวภาพเฉลี่ยสะสมต่อปีถึงร้อยละ 224

ศูนย์วิจัยกสิกรไทยมองว่า เม็ดพลาสติกชีวภาพ PLA จะถูกนำมาทดแทนเม็ดพลาสติกจากปิโตรเคมีในอุตสาหกรรมบรรจุภัณฑ์อาหารและเครื่องดื่มมากขึ้นในอนาคต และมีแนวโน้มจะขยายตลาดมายังภูมิภาคเอเชียจากความต้องการเพิ่มขึ้นของผู้บริโภคที่มาในรูปแบบของผลิตภัณฑ์ที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม เห็นได้จากบริษัทอุปโภคบริโภคชั้นนำส่วนใหญ่เริ่มใช้พลาสติกชีวภาพ PLA ทดแทนในผลิตภัณฑ์บรรจุภัณฑ์บางประเภท เช่น แก้ว การ์ด ถุงขนม ถ้วยโยเกิร์ต บรรจุภัณฑ์ผักผลไม้/สลัด แผ่นห่ออาหาร เป็นต้น

3 ส่วนใหญ่บรรจุภัณฑ์อาหารและเครื่องดื่มจัดได้ว่าเป็นผลิตภัณฑ์ใช้ครั้งเดียว (Single-use Plastic) ที่ก่อให้เกิดปัญหาสิ่งแวดล้อม และมีความต้องการเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง

4 ตัวเลขคาดการณ์จาก Zion Market Research (2018)

ที่มา: Trade Map (2018), รวบรวมโดยศูนย์วิจัยกสิกรไทย

ทั้งนี้ เม็ดพลาสติกชีวภาพ PLA สามารถผลิตได้จากพืช ได้แก่ ข้าวโพด มันสำปะหลัง หัวบีท อ้อย ข้าวสาลี และข้าวไรย์ ซึ่งที่นิยมมากที่ คือ มันสำปะหลัง อ้อย และข้าวโพด จากการพัฒนาเทคโนโลยีชั้นสูงจากพืชในพื้นที่ แรงสนับสนุนจากความต้องการของตลาดที่ขยายตัวเร็ว และมาตรการของรัฐ ส่งผลให้ผู้ผลิตเม็ดพลาสติกชีวภาพรายใหญ่คือ สหรัฐฯ เยอรมัน เนเธอร์แลนด์ จีน และญี่ปุ่น อย่างไรก็ดี สหรัฐฯ เป็นผู้นำการผลิตและยังส่งออกเม็ดพลาสติกชีวภาพไปตลาดหลักในประเทศ เนเธอร์แลนด์ ไต้หวัน และจีน โดยประเทศผู้นำเข้าเหล่านี้จะทำการแปรรูปพลาสติกชีวภาพเป็น บรรจุภัณฑ์เพื่อสนองความต้องการของตลาดปลายทางในอุตสาหกรรมอาหารและเครื่องดื่มรายใหญ่เป็นหลัก และอุตสาหกรรมต่อเนื่องอื่นตามมา หากพิจารณาสถิติตั้งแต่ปี 2557 – 2561 พบว่า 3 ประเทศหลักที่นำเข้าเม็ดพลาสติกชีวภาพได้แก่ เนเธอร์แลนด์ ไต้หวัน และเยอรมัน ซึ่งเป็นประเทศที่มีความกังวลเรื่องขยะพลาสติกและสิ่งแวดล้อมสูง อีกทั้งปริมาณการผลิตพลาสติกชีวภาพในประเทศยังไม่เพียงพอกับความต้องการที่เพิ่ม

ศูนย์วิจัยกสิกรไทยมองว่า ความได้เปรียบในการแข่งขันของอุตสาหกรรมพลาสติกชีวภาพขึ้นอยู่กับความสามารถในการเข้าถึงแหล่งวัตถุดิบตั้งต้น เนื่องจากต้นทุนการผลิตผลิตภัณฑ์พลาสติกกว่าร้อยละ 70 มาจากเม็ดพลาสติกซึ่งส่งผลอย่างมีนัยสำคัญต่อความสามารถในการทำกำไรและการแข่งขันในตลาด ที่ผ่านมาประเทศผู้เป็นเจ้าของเทคโนโลยีการผลิตเม็ดพลาสติกชีวภาพมีความสามารถในการแข่งขันสูง ต่อมาเมื่อเทคโนโลยีการผลิตแพร่หลายมากขึ้นจากการแข่งขันกันเองของเจ้าของเทคโนโลยี ประกอบกับประเทศผู้ผลิตดั้งเดิมเกิดการประหยัดจากขนาด (Economy of Scale) จึงเริ่มมองหาแหล่งลงทุนใหม่ๆ ที่มีศักยภาพสูงด้านวัตถุดิบเพื่อผลิตเม็ดพลาสติกชีวภาพตอบสนองความต้องการที่คาดว่าจะกระโดด ซึ่งไทยน่าจะมีศักยภาพในตลาดพลาสติกชีวภาพเช่นกัน

บรรจุภัณฑ์พลาสติกชีวภาพสำหรับอาหารและเครื่องดื่ม… โอกาสทางธุรกิจของไทย ?

อุตสาหกรรมพลาสติกไทยเป็นอุตสหกรรมครบวงจรตั้งแต่ต้นน้ำถึงปลายน้ำที่มีความเข้มแข็งมายาวนาน โดยผลิตเม็ดพลาสติกและบรรจุภัณฑ์พลาสติกเพื่อบริโภคภายในประเทศและส่งออก ซึ่งอุตสาหกรรมผลิตเม็ดพลาสติกมักจะดำเนินงานโดยผู้ประกอบการรายใหญ่จากความพร้อมด้านเงินทุน ปริมาณร้อยละ 75 ของการผลิตใช้บริโภคภายในประเทศ และส่วนที่เหลือร้อยละ 25 ส่งออกไปประเทศหลักๆ คือ จีน อินเดีย และญี่ปุ่น ส่วนของอุตสาหกรรมแปรรูปผลิตภัณฑ์พลาสติกจะเป็นผู้ประกอบการทั้งรายใหญ่และรายย่อยเพราะเทคโนโลยีการผลิตไม่ซับซ้อน โดยมีตลาดส่งออก คือ จีน ญี่ปุ่น และสหรัฐฯ ทั้งนี้ ผู้ประกอบการไทยที่ส่งออกมักเป็นกิจการขนาดใหญ่ ส่วนผู้ประกอบการรายย่อยมักจะขายในประเทศเป็นหลัก

อุตสาหกรรมพลาสติกชีวภาพ ในอดีตความต้องการผลิตภัณฑ์ชีวภาพยังจำกัด และการรับรู้จากผู้บริโภคยังน้อย อีกทั้งขาดการพัฒนาในอุตสาหกรรมต้นน้ำที่ต้องอาศัยเทคโนโลยีการผลิตระดับสูงที่ต้องอาศัยการสนับสนุนด้านเงินทุน และการส่งเสริมจากรัฐ ทำให้การพัฒนาเชิงอุตสาหกรรมยังอยู่ในระยะเริ่มต้น โดยพึ่งพาการนำเข้าเม็ดพลาสติกทดแทน ส่งผลให้ราคาพลาสติกชีวภาพมีราคาสูงและไม่สามารถแข่งขันได้ เช่น แก้วพลาสติกชีวภาพ PLA มีราคาขายปลีกเฉลี่ย 3.25 บาท/ใบ ในขณะที่แก้วพลาสติกทั่วไปราคา 0.8 -1.8 บาท/ใบ แต่หากมีแรงผลักดันจากรัฐผ่านมาตรการ เช่น มาตรการยกเลิกใช้พลาสติก 7 ชนิด ภายในปี 2568 จะทำให้เกิดอุปสงค์ขึ้นได้ ทั้งนี้ ความต้องการพลาสติกชีวภาพตามกระแสรักษ์โลก ยังส่งผลให้ผู้ประกอบการจำเป็นต้องปรับตัวเพื่อรักษาฐานลูกค้าและขยายตลาดเพื่อลดความเสี่ยงจากลูกค้าปลายทางมีแนวโน้มความต้องการพลาสติกชีวภาพตามกฎสากล โดยสามารถพิจารณาโอกาสทางธุรกิจในห่วงโซ่อุตสาหกรรม ดังนี้

ผู้ผลิตเม็ดพลาสติกชีวภาพ PLA ก่อนหน้านี้ไม่สามารถผลิตเองได้ในประเทศ โดยนำเข้าเม็ดพลาสติกชีวภาพประมาณ 400 ตันต่อปี จากสหรัฐ ญี่ปุ่น และเยอรมัน เพื่อแปรรูปตามคำสั่งของลูกค้าต่างประเทศ ต่อมา ผลจากการลงทุนร่วมกับบริษัทพันธมิตรที่เป็นผู้ผลิตชั้นนำจากต่างประเทศ พร้อมกับการจัดทำมาตรฐานอุตสาหกรรม และการส่งเสริมการลงทุนของภาครัฐ ทำให้ปัจจุบันไทยเริ่มผลิตเม็ดพลาสติกชีวภาพ PLA ได้เอง จากจุดแข็งของความอุดมสมบรูณ์ของผลผลิตทางการเกษตร ที่ส่งออกมากเป็นอันดับต้นของโลก เช่น อ้อย และมันสำปะหลัง ศูนย์วิจัยกสิกรไทยมองว่า จากปัจจัยดังกล่าวในระยะแรก ที่ความต้องการพลาสติกชีวภาพในประเทศยังไม่สูง ผู้ประกอบควรเจาะตลาดส่งออกจากฐานลูกค้าเดิมที่ไทยส่งออกเม็ดพลาสติก เช่น จีน ญี่ปุ่น อินเดีย อินโดนีเซีย และเวียดนาม โดยเฉพาะในตลาด จีน และญี่ปุ่น ที่มีกฎระเบียบออกมาเพื่อลดการใช้พลาสติกทั่วไปทั้งในผลิตภัณฑ์บรรจุภัณฑ์ และอุตสาหกรรมต่อเนื่องอื่นๆ เช่น ยานยนต์ หรือการอุปกรณ์ทางการแพทย์ ทำให้อุปสงค์ในประเทศมีมากกว่าอุปทาน จึงเป็นโอกาสสำหรับผู้ประกอบการ

อย่างไรก็ดี เมื่อไทยสามารถผลิตเม็ดพลาสติกชีวภาพ จะยิ่งช่วยเสริมโอกาสทางธุรกิจให้กับผู้ประกอบการขึ้นรูปผลิตภัณฑ์ที่มีมาตรฐานเป็นที่ยอมรับในตลาดอยู่แล้ว ในการบุกตลาดผลิตภัณฑ์บรรจุภัณฑ์อาหารและเครื่องดื่มเพื่อส่งออกไปยังประเทศที่มีความต้องการสูงโดยเฉพาะประเทศที่มีจำนวนประชากรที่เพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว และมีกฎหมายลดการใช้พลาสติกที่เข้มงวดเพิ่มขึ้น ศูนย์วิจัยกสิกรไทยมองว่า ผู้ประกอบการควรขยายตลาดไปยังผู้บริโภคปลายทางผ่านฐานกลุ่มฐานลูกค้าเดิมเพื่อลดความกังวลเรื่องตลาดรองรับในระยะเริ่มต้น และขยายฐานลูกค้าภายในประเทศเพิ่มขึ้นจากมาตรการของรัฐที่กำลังออกมารณรงค์ลดใช้บรรจุภัณฑ์อาหารและเครื่องดื่มในอนาคต ศูนย์วิจัยกสิกรไทยมองว่า ตลาดที่มีศักยภาพสูงสุด คือ ตลาดของผู้ผลิตบรรจุภัณฑ์พลาสติกเพื่อใช้ในห้างค้าส่ง หรือค้าปลีกขนาดใหญ่ เนื่องจากมีการรณรงค์บังคับใช้ก่อนผลิตภัณฑ์ประเภทอื่นๆ อีกทั้งไม่ต้องใช้เทคโนโลยีใหม่ในการขึ้นรูป ทำให้ผู้ประกอบการขึ้นรูปส่วนใหญ่สามารถทำได้ทันที

ตลาดบรรจุภัณฑ์พลาสติกเพื่อใช้ในห้างค้าส่ง หรือค้าปลีกขนาดใหญ่ ซึ่งเป็นผลิตภัณฑ์เป้าหมายที่มีการบังคับให้เลิกใช้แล้วบางประเทศ เช่น ภาชนะหรือบรรจุภัณฑ์อาหารหรือเครื่องดื่มที่ใช้ครั้งเดียว โดยที่ผ่านมาไทยเป็นฐานการผลิตบรรจุภัณฑ์ให้กับบริษัทชั้นนำในต่างประเทศ เช่น ญี่ปุ่น สหรัฐฯ และยุโรป อยู่บ้าง และคาดว่าในอนาคตจะมีความต้องการใช้พลาสติกชีวภาพเพิ่มขึ้นอีกอย่างแน่นอนจากจำนวนประชากรที่ขยายตัว ศูนย์วิจัยกสิกรไทยมองว่า จีน ญี่ปุ่น และสหรัฐฯ เป็นโอกาสในการขยายธุรกิจบรรุภัณฑ์พลาสติกชีวภาพของไทย ทั้งกฎการยกเลิกใช้พลาสติก โดยมีมูลค่าตลาดส่งออกสูงถึง 16,697 ล้านบาทในปี 2562 และคาดว่าจะมีมูลค่า 19,107 ล้านบาท ในปี 2563 หรือเติบโตร้อยละ 14 โดยคาดว่าจะเป็นพลาสติกชีวภาพจะเข้าไปทดแทนราวร้อยละ 30 ของพลาสติกจากปิโตรเคมี จากที่มา: สำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม (2019), รวบรวมและคาดการณ์โดยศูนย์วิจัยกสิกรไทย

นโยบายของรัฐและเอกชน และยังสามารถขยายตลาดในสินค้าคุณภาพสูง (High Value Added Product) อย่างผลิตภัณฑ์พลาสติกชีวภาพสำหรับอาหาร เครื่องดื่ม และอุปกรณ์การแพทย์ในอนาคต โดยจีนที่เป็นผู้นำการผลิตในเอเชียนั้นมีศักยภาพผลิตในสินค้าทั่วไป (Mass Products) เท่านั้น

ตลาดบรรจุภัณฑ์สำหรับอาหารเพื่อการส่งออก เนื่องจากไทยเป็นผู้ส่งออกอาหารที่สำคัญของโลก โดยเฉพาะการส่งออกเนื้อสัตว์สด ผักและผลไม้สด ที่ต้องอาศัยการห่อหุ้มด้วยบรรจุภัณฑ์พลาสติก ซึ่งไทยส่งออกไปยังประเทศญี่ปุ่น เนเธอร์แลนด์ สหรัฐฯ และมาเลเซีย และมีแนวโน้มว่าในอนาคตบางประเทศจะมีมาตรการงดใช้หรือนำเข้าพลาสติกจากปิโตรเคมีสำหรับอาหารและเครื่องดื่ม ส่งผลให้ผู้แปรรูปผลิตภัณฑ์พลาสติกชีวภาพมีตลาดรองรับจากกลุ่มลูกค้านี้ในระยะต่อไป

กล่าวโดยสรุป ที่ผ่านมาไทยพัฒนาอุตสาหกรรมพลาสติกจากพื้นฐานปิโตรเคมีเป็นหลัก จนกระทั่งกระแสรักษ์สิ่งแวดล้อมและมาตรการของรัฐเริ่มเข้ามามีอิทธิพลต่อพฤติกรรมและความต้องการของผู้บริโภค ส่งผลให้บรรจุภัณฑ์พลาสติกชีวภาพเติบโตตามกระแสของโลก ซึ่งไทยนับได้ว่ามีศักยภาพในการพัฒนาอุตสาหกรรมพลาสติกชีวภาพให้ครบวงจรจากปัจจัยที่สำคัญ คือ ความเพียงพอวัตถุดิบทางการเกษตร ความเข้มแข็งอุตสาหกรรมพลาสติก และนโยบายสนับสนุนจากรัฐที่ชัดเจน อีกทั้งยังอาศัยหุ้นส่วนเชิงยุทธศาสตร์ (Strategic Partnership) กับเจ้าของเทคโนโลยีและผู้นำตลาดของโลกที่จะเอื้อประโยชน์ให้ไทยเข้าสู่ตลาดโลกได้เร็วขึ้น ในขณะเดียวกันการพัฒนาอุตสาหกกรมพลาสติกชีวภาพยังช่วยสร้างมูลค่าจากสินค้าเกษตรและวัสดุเหลือทิ้งจนเกิดระบบเศรษฐกิจหมุนเวียนในอนาคต (Circular Economy) และเกิดการพัฒนาอย่างยั่งยืน ศูนย์วิจัยกสิกรไทยมองว่า พลาสติกชีวภาพที่ผลิตขึ้นไม่เพียงแต่ส่งเสริมอุตสาหกรรมบรรจุภัณฑ์อาหารและเครื่องดื่ม แต่ในอนาคตยังมีโอกาสทางธุรกิจเชื่อมโยงไปอุตสาหกรรมต่อเนื่องอื่นที่มีมูลค่าสูง ที่มีไทยเป็นฐานการผลิตเพื่อส่งออก เช่น อุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์ ยานยนต์ และเครื่องมือแพทย์ เป็นต้น

ข่าวประชาสัมพันธ์ล่าสุด

๑๒:๑๔ องค์การบรรจุภัณฑ์โลก จับมือ อินฟอร์มา มาร์เก็ตส์ ประเทศไทย ร่วมจัดกิจกรรมสัมมนาออนไลน์
๑๒:๑๒ การแข่งขันกีฬาขี่ม้าโปโลรายการ King Power International Ladies' Polo Tournament 2024
๑๒:๔๔ DEXON ปักธงรายได้ปี 67 ทะลุ 700 ลบ. โชว์ Backlog เฉียด 280 ลบ. ล็อคมาร์จิ้น 35-40%
๑๒:๑๐ JPARK ร่วมงาน Dinner Talk ผู้บริหารจดทะเบียนพบนักลงทุน จ.ราชบุรี
๑๒:๒๓ นีเวีย ซัน และ วัตสัน จับมือต่อปีที่สองชวนดูแลท้องทะเล กับโครงการ เพราะแคร์ จึงชวนแชร์ ร่วมพิทักษ์รักษ์ทะเลไทย
๑๒:๕๗ Cloud เทคโนโลยีที่อยู่ใกล้ตัว เพียงแค่คุณไม่รู้เท่านั้นเอง
๑๒:๒๘ โรยัล คานิน ร่วมกับ เพ็ทแอนด์มี จัดงาน Royal Canin Expo 2024: PAWRENTS' DAY เพื่อสร้างโลกที่ดีขึ้นสำหรับน้องแมวและน้องหมา
๑๒:๑๐ STEAM Creative Math Competition
๑๒:๔๔ A-HOST ร่วมวาน MFEC Inspire ขึ้นบรรยายพร้อมจัดบูธ Cost Optimization Pavilion
๑๒:๔๗ ฟินเวอร์! ส่องความคิ้วท์ 'ฟอส-บุ๊ค' ควงคู่ร่วมงาน Discover Thailand เสิร์ฟโมเมนต์ฉ่ำให้แฟนๆ ได้ดับร้อนกันยกด้อมรับซัมเมอร์ และร่วมส่งต่อความสุขในกิจกรรม 'Exclusive Unseen Food Trip กับ คู่ซี้