ดีไอทีพี ชวนเบิ่ง 2 ทำเลทองตลาด สปป.ลาว พร้อมสูตรสำเร็จปรุงสินค้าให้ “นัวคัก” ลงทุนอย่างไรให้โกยเงินล้าน

พฤหัส ๑๒ กันยายน ๒๐๑๙ ๑๓:๓๕
ทุกคนคงรู้จัก "สปป.ลาว" เป็นอย่างดี เพราะนี่คือบ้านพี่เมืองน้องของไทยบนฝั่งซ้ายของแม่น้ำโขง ซึ่งทุกวันนี้ต้องบอกเลยว่า "ลาว" กำลังเติบโตทั้งในด้านเศรษฐกิจ การท่องเที่ยว ไลฟ์สไตล์ของผู้คน รวมทั้งเป็นประเทศน้องใหม่ที่ควรค่าการลงทุน ทั้งด้วยปัจจัยจากอัตราการขยายตัวของ GDP ที่มีกราฟพุ่งอย่างต่อเนื่อง ทรัพยากรธรรมชาติที่ยังมีความอุดมสมบูรณ์ ตลอดจนแลนด์มาร์คที่ถูกขนานนามว่าเป็น "ประตูการค้าหรือแลนด์ลิ้งค์ (Land link)" ด้วยเพราะมีพื้นที่ที่ยาวและมีพรมแดนดินต่อกับประเทศที่สำคัญ ไม่ว่าจะเป็นประเทศจีน เวียดนาม เมียนมา และกัมพูชา จึงเอื้อต่อระบบการขนส่งและโลจิสติกส์ นอกจากนี้ ถึงแม้ว่าลาวจะมีประชากรเพียงแค่ 7 ล้านคน แต่เชื่อหรือไม่ว่าทรัพยากรเหล่านี้มีกำลังซื้อที่สูงขึ้นอย่างมาก โดยเฉพาะในกลุ่มสินค้าประเภทไลฟ์สไตล์ที่เป็นแบรนด์ไทย ซึ่งครองใจผู้บริโภคชาวลาวมาแล้วหลายต่อหลายรุ่น

เมื่อเร็วๆนี้กรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ(DITP) โดยสถาบันพัฒนาผู้ประกอบการการค้ายุคใหม่(NEA) ได้ร่วมกับสภาหอการค้าแห่งประเทศไทยจัดโครงการสัมมนา "ติวเข้ม...รู้ลึก รู้จริง รู้ใจลาว" เพื่อส่งเสริมผู้ประกอบการไทยให้มีความรู้และเข้าใจการทำธุรกิจในประเทศลาว รวมทั้งเปิดโอกาสให้เห็นช่องทาง - พื้นที่ที่เหมาะแก่การเข้าไปลงทุน ตลอดจนเข้าถึงพฤติกรรมการเลือกสินค้าและการบริโภคของชาวลาวแบบอินไซด์ และสำหรับใครที่พลาดกิจกรรมดังกล่าวไปก็ไม่ต้องเสียดายหรือเสียใจ เพราะวันนี้เราย่อยทุกความรู้สำคัญเพื่อเป็นคัมภีร์สำหรับผู้สนใจในการบุกตลาดลาวแบบรู้ลึก รู้จริง กันเลยทีเดียว

- ตีตลาดใหม่กับ 2 ดินแดนเมืองลาวตอนเหนือ เริ่มกันที่ แขวงอุดมไซ เป็นเมืองที่อยู่ทางตอนเหนือของประเทศมีอาณาเขตติดต่อกับเมืองสิบสองปันนา ของประเทศจีน อาชีพหลักของประชาชนในพื้นที่ประกอบอาชีพกสิกรรม และอุตสาหกรรม แต่ปัจจุบันถูกจัดให้เป็นเขตเศรษฐกิจพิเศษ และเปิดให้นักลงทุนต่างชาติเข้าไปลงทุนเป็นจำนวนมาก ซึ่งการลงทุนของต่างประเทศที่แขวงอุดมไซมีมากถึง 36 โครงการ มีนักลงทุนเข้าไปลงทุนในแขวงอุดมไซโดยการสร้างสมาร์ทซิตี้(Smart city) ซึ่งถือว่าเป็นการดึงดูดนักลงทุนให้เข้าไปลงทุนในพื้นที่มากยิ่งขึ้น นอกจากนี้แขวงอุดมไซเป็นเมืองที่รถไฟความเร็วสูงจีน-ลาววิ่งผ่าน โดยในอนาคตจะถูกขยายให้เป็นศูนย์กลางด้านโลจิสติกส์ เพื่อรองรับการขนส่งสินค้าและการดรอปสินค้ามากยิ่งขึ้นซึ่งถือว่าเป็นการรองรับเส้นทางรถไฟความเร็วสูงจีน-ลาวที่จะเปิดบริการภายในปี 2564 ดังนั้นการทำธุรกิจในด้านโลจิสติกส์จึงมีแนวโน้มที่จะเติบโตในแขวงนี้

ตลาดต่อมาคือแขวงหลวงน้ำทา มีพื้นด้านเหนือติดกับจีนบริเวณมณฑลยูนนาน และด้านทิศตะวันตกติดกับเมียนมา ด้วยกายภาพที่มีเขตติดต่อกับหลายประเทศ รวมทั้งเป็นอีกหนึ่งเมืองที่รถไฟไทยจีน-ลาวตัดผ่าน ส่งผลให้การเดินทางและการขนส่งจะมีความรวดเร็ว ทำให้แขวงหลวงน้ำทากลายเป็นพื้นที่ที่น่าจับตามอง และมีศักยภาพในด้านลงทุนสูงมาก อีกทั้งในอนาคตแขวงหลวงน้ำทาจะกลายเป็นด่านพรมแดนที่สำคัญที่จะมีนักท่องเที่ยวชาวจีนเดินทางเข้ามาเป็นจำนวนมาก นอกจากนี้แขวงหลวงน้ำทาตั้งอยู่บนเส้นทาง R3 ซึ่งเป็นเส้นทางคมนาคมสำคัญที่เชื่อม ไทย (เชียงราย) – ลาว – จีน (คุนหมิง) โดยบริเวณด่านสากลบ่อเต็น ทำให้กลายเป็นจุดขนถ่ายสินค้าเข้าสู่จีนทั้งทางบก และทางแม่น้ำโขงที่สำคัญที่สุดแห่งหนึ่ง

- สูตรสำเร็จพิชิตใจชาวลาว พฤติกรรมการเลือกสินค้าของชาวลาวนั้นมักจะเลือกซื้อสินค้าที่มีคุณภาพและเชื่อมั่นกับสินค้ายี่ห้อเดิมที่เคยใช้เป็นประจำและเชื่อมั่นว่าสินค้าที่ออกสูตรใหม่ต้องดีกว่าสูตรเดิมเสมอ ดังนั้นหากมีการผลิตสินค้ารูปแบบใหม่ จะต้องระบุชัดเจนว่าเป็น "สูตรใหม่" และด้านคุณภาพของสินค้าจะต้องดีกว่าสูตรเดิม และต้องรักษาคุณภาพสินค้าให้ได้มาตรฐานอย่างต่อเนื่อง ไม่เช่นนั้นอาจจะมีผลกระทบต่อสินค้า เนื่องจากชาวลาวส่วนมากมักจะเชื่อมั่นคนรอบข้างมากกว่าโฆษณาในลักษณะการพูดกันแบบปากต่อปาก หากคนใกล้ชิดบอกว่าดีจะเกิดพฤติกรรมซื้อตาม ดังนั้นหากสินค้าไม่ดีจริงย่อมมีผลกระทบต่อยอดขายอย่างแน่นอน นอกจากนี้ ชาวลาวยังเชื่อเรื่องความหมายของคำ ฉะนั้นชื่อสินค้าจะต้องเป็นคำที่มีความหมายมงคล เช่น "มีทรัพย์" "มีโชค" และควรเป็นชื่อที่ง่ายต่อการจดจำด้วย

อย่างไรก็ตาม ชาวลาวเชื่อมั่นในสินค้าไทยเป็นทุนเดิมอยู่แล้วจึงถือว่าเป็นข้อได้เปรียบที่สินค้าไทยจะมีโอกาสส่งออกและเจาะตลาดลาวได้ ส่วนการทำการตลาดออนไลน์สำหรับผู้ประกอบการไม่ควรเน้นการขายสินค้าผ่านช่องทางเฟสบุ๊ค(Facebook) เพียงช่องทางเดียว เพราะอัตราการใช้เฟสบุ๊คของชาวลาวมีเพียง 2 เปอร์เซ็นต์เท่านั้น หากต้องการทำโฆษณาควรเลือกใช้ข้อความจูงใจหรือเลือกติดป้ายโฆษณาขนาดใหญ่ในจุดที่มองเห็นได้ชัดเจนและทั่วถึง เช่น ติดตามรถรับจ้าง หรือตามข้างทาง แต่วิธีการนี้จะต้องระวังเรื่องการใช้ภาษาแม้ว่าภาษาอีสานของไทยจะคล้ายกับภาษาลาวแต่ความหมายของคำบางคำต่างกัน

นางสาวยานี ศรีมีชัย ผู้อำนวยการสำนักงานส่งเสริมการค้าในต่างประเทศ ณ เวียงจันทน์ สปป.ลาว กล่าวว่า หากพูดถึงสปป.ลาว คนทั่วไปอาจจะนึกถึงเฉพาะนครหลวงเวียงจันทน์และเมืองมรดกโลกอย่างหลวงพระบาง เนื่องจากทั้งสองเมืองมีความโดดเด่นในเรื่องการท่องเที่ยว ซึ่งหากจะเข้าไปทำธุรกิจ ผู้ประกอบการไทยอาจจะต้องมองหาทำเลใหม่ๆที่มีโอกาสเติบโตทั้งระบบการขนส่ง และการขนถ่ายสินค้า โดยเฉพาะพื้นที่สปป.ลาวตอนเหนือในแขวงอุดมไซ และแขวงหลวงน้ำทา เนื่องจากทั้งสองเมืองเป็นเมืองที่มีอาณาเขตติดต่อกับประเทศจีนและกำลังจะมีรถไฟลาว-จีนระยะทาง 421 กิโลเมตร ที่มีบริการทั้งแบบขนสินค้าใช้ความเร็ว120 กิโลเมตร/ชั่วโมง และขนผู้โดยสารใช้ความเร็ว 160 กิโลเมตร/ชั่วโมง ซึ่งจะเปิดให้บริการในปี 2564 โดยรถไฟความเร็วสูงจะมีแนวเส้นทางจากด่านสากลบ่อเต็น ในแขวงหลวงน้ำทา แขวงอุดมไซ มายังสถานีรถไฟท่านาแล้ง นครหลวงเวียงจันทน์ ซึ่งสถานีนี้เป็นจุดเชื่อมต่อข้ามแดนมายังไทยบริเวณจ.หนองคาย ฉะนั้นจึงถือว่าเป็นข้อดีที่ผู้ประกอบการไทยจะสามารถเข้าไปลงทุนหรือแม้แต่การย้ายฐานการผลิตเข้าไปตั้งตามแนวรถไฟความเร็วสูง โดยเฉพาะในพื้นที่เขตเศรษฐกิจพิเศษบริเวณแขวงอุดมไซ นอกจากนี้ผู้ประกอบการไทยควรเตรียมความพร้อมที่จะผลักดันสินค้าไทยให้ต่อยอดออกไปยังประเทศอื่นๆไม่ว่าจะเป็นจีน หรือเวียดนามด้วย

ด้านนายนันทพงษ์ จิระเลิศพงษ์ ผู้อำนวยการสถาบันพัฒนาผู้ประกอบการการค้ายุคใหม่ กล่าวว่า สถาบันได้เล็งเห็นถึงความสำคัญในการเพิ่มโอกาสการเข้าถึงการทำธุรกิจในต่างประเทศของผู้ประกอบการไทย ดังนั้นเพื่อเป็นการเสริมสร้างขีดความสามารถในการแข่งขันทางการค้าของผู้ประกอบการไทยในตลาดต่างประเทศมากยิ่งขึ้น จึงได้จัดโครงการสัมมนา"ติวเข้ม...รู้ลึก รู้จริง รู้ใจลาว" เพื่อให้ผู้ประกอบการไทยได้รู้ทิศทางการทำธุรกิจในสปป.ลาว เพราะขณะนี้สปป.ลาวถือว่าเป็นประเทศที่น่าจับตามอง เนื่องจากรัฐบาลได้ให้ความสำคัญในระบบโครงสร้างพื้นฐาน และการเปิดประเทศให้นักลงทุนเข้าไปลงทุนในลาวมากยิ่งขึ้น ซึ่งเชื่อว่าข้อมูลที่ผู้ประกอบการไทยได้รับจากผู้มีความรู้และประสบการณ์จะเป็นประโยชนที่จะช่วยให้ธุรกิจประสบความสำเร็จ นอกจากนี้ยังได้เห็นความสำคัญในการถ่ายความรู้และมุ่งเน้นการยกระดับบริการภาครัฐด้วยนโยบาย "Sharing Economy" หรือ "เศรษฐกิจแบ่งปัน" โดยการเปิดโอกาสให้ทุกคนในประเทศไทยให้สามารถเข้าถึงองค์ความรู้จากผู้ที่เก่งที่สุดในแต่ละด้าน ซึ่งจะส่งเสริมให้ผู้ประกอบการไทยเข้าถึงโอกาสการทำธุรกิจในประเทศอื่นๆได้อย่างกว้างขวางมากยิ่งขึ้น

สำหรับผู้ที่สนใจสามารถติดตามโครงการและสัมมนาอื่นๆของสถาบันพัฒนาผู้ประกอบการการค้ายุคใหม่ (NEA) และสามารถติดตามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ nea.ditp.go.th และที่ www.facebook.com/nea.ditp.go.th หรือ สายด่วน 1169.

ข่าวประชาสัมพันธ์ล่าสุด

๑๙ เม.ย. บิทูเมน มารีน บริษัทลูก TASCO ลงนามสัญญาต่อเรือขนส่งยางมะตอย เสริมศักยภาพกองเรือ
๑๙ เม.ย. รมว.เกษตรฯ ลุยร้อยเอ็ด ผลักดันโครงการพัฒนาแหล่งน้ำ 3 แห่ง
๑๙ เม.ย. กูรูหุ้นเชียร์ซื้อ PSP เคาะเป้าราคาสูงสุด 8 บ./หุ้น ยอดขายพุ่ง-หนี้ลด ดันกำไรปี 67 ออลไทม์ไฮ ดีล MA สร้าง New S-Curve
๑๙ เม.ย. ข้าวกล้อง-จักรีภัทร พร้อมเต็มร้อย! ประเดิม จูเนียร์จีพี สนามแรก ประเทศอิตาลี
๑๙ เม.ย. กรมประมงขอเชิญร่วมแข่งขันตกปลาชะโด
๑๙ เม.ย. เชลล์ดอน การ์ตูนดังร่วมสาดความสนุกในเทศกาลสงกรานต์
๑๙ เม.ย. สปสช. ติดปีกเทคโนโลยีไอทีด้วยคลาวด์กลางภาครัฐ GDCC ยกระดับบริการบัตรทองรวดเร็วทันสมัย ดูแลสุขภาพคนไทยยุคดิจิทัล
๑๙ เม.ย. GSK ร่วมงาน Re-imagining UK Aging Care Event ของสถานทูตอังกฤษ มุ่งสร้างเสริมภูมิคุ้มกันผู้สูงอายุ
๑๙ เม.ย. เอส เอฟ จับมือ กปน. มอบสิทธิ์ดูฟรีรวม 1,000 ที่นั่ง เพียงใช้ MWA Point ที่ เอส เอฟ!!
๑๙ เม.ย. เตรียมพร้อมนับถอยหลัง 12 ชั่วโมงสุดท้าย! ก่อนเริ่มประวัติศาสตร์ครั้งใหม่ Bitcoin Halving ครั้งที่ 4