CONC Thammasat เผยผลวิจัยบริการเรียกรถผ่านแอปฯ มูลค่า 21,000 ล้าน พร้อมชู 5 แนวทางหลักในการกำกับดูแลของภาครัฐ

พฤหัส ๒๖ กันยายน ๒๐๑๙ ๑๖:๕๙
ศูนย์ให้คำปรึกษาและพัฒนาผู้บริหารทางธุรกิจแห่งมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ (CONC Thammasat) แถลงผลการศึกษาและวิจัยเชิงวิชาการภายใต้หัวข้อ "อุตสาหกรรมการให้บริการยานพาหนะผ่านทางแอปพลิเคชัน (Ride-hailing service): บทบาทในการสนับสนุนเศรษฐกิจไทยและความจำเป็นในการพัฒนาหลักเกณฑ์และกฎหมายให้ตอบโจทย์การพัฒนาที่ยั่งยืน" เพื่อใช้ต่อยอดและสนับสนุนการยกระดับมาตรฐานให้กับอุตสาหกรรม Ride-hailing ทั้งในด้านคมนาคมขนส่ง ความปลอดภัย การพัฒนาเศรษฐกิจและการท่องเที่ยว ตลอดจนการส่งเสริมการใช้เทคโนโลยี พร้อมนำเสนอ 5 แนวทางหลักที่ภาครัฐควรนำมาพิจารณาในการกำกับดูแลบริการ Ride-hailing โดยมุ่งเน้นการสร้างประโยชน์สูงสุดกับทุกภาคส่วน ทั้งผู้โดยสาร ผู้ขับ ผู้ให้บริการแอปพลิเคชัน ภาครัฐ ตลอดจนสังคมโดยรวม ควบคู่ไปกับส่งเสริมการพัฒนาประเทศในยุคดิจิทัลอย่างยั่งยืน

ดร. สุทธิกร กิ่งแก้ว ในฐานะหัวหน้าโครงการศึกษาและวิจัยฯ กล่าวว่า "ปัจจุบัน อุตสาหกรรมการให้บริการยานพาหนะผ่านทางแอปพลิเคชันหรือ Ride-hailing ได้เปลี่ยนวิถีชีวิตและการเดินทางของคนในหลายประเทศทั่วโลก ซึ่งรวมถึงประเทศไทย ด้วยความง่ายและสะดวกในการใช้บริการ ประกอบกับปัจจัยเกื้อหนุนต่างๆ ทั้งการเข้าถึงสมาร์ทโฟนและอินเทอร์เน็ต การเติบโตของสังคมเมือง (Urbanization) การพัฒนาทางเทคโนโลยีและดิจิทัล รวมถึงรูปแบบการใช้ขีวิตของคนยุคใหม่ที่เน้นความคล่องตัวมากขึ้น ส่งผลให้บริการ Ride-hailing ซึ่งเป็นตัวกลางจับคู่ระหว่างผู้ขับขี่และผู้โดยสารผ่านแอปพลิเคชัน ได้รับความนิยมมากขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะคนที่อาศัยอยู่ในสังคมเมือง ซึ่งปัจจุบันมีจำนวนมากถึง 34.5 ล้านคน หรือคิดเป็นร้อยละ 50 ของคนไทยทั้งประเทศ และคาดว่าจะเพิ่มขึ้นเป็นร้อยละ 73 ในอีก 30 ปีข้างหน้า"

ปัจจุบัน อุตสาหกรรม Ride-hailing ในประเทศไทยมีมูลค่าตลาดรวมอยู่ที่ประมาณ 21,000 ล้านบาท หรือคิดเป็นร้อยละ 6 ของ GDP ภาคขนส่งโดยสารทางบกไทย ทั้งนี้ จากความนิยมของผู้ใช้บริการที่เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง จึงเป็นที่คาดการณ์ว่าอุตสาหกรรมนี้จะมีการเติบโตสูงขึ้นจนมีมูลค่าถึง 1.2 แสนล้านบาทในปี พ.ศ. 2568 หรือคิดเป็นร้อยละ 20 – 25 ของ GDP ภาคขนส่งโดยสารทางบกไทยในอีก 6 ปีข้างหน้า โดยมีผู้โดยสารใช้บริการ Ride-hailing ในประเทศไทยในปี พ.ศ. 2561 ประมาณ 2.4 ล้านคนต่อเดือน และคาดว่าจะเพิ่มขึ้นเป็น 11 ล้านคนต่อเดือนในปี พ.ศ. 2568 ในขณะที่มีผู้ขับขี่รถยนต์โดยสารเพื่อให้บริการ Ride-hailing ในปี พ.ศ. 2561 ประมาณ 105,000 คนต่อเดือน และคาดว่าจะเพิ่มขึ้นเป็น 590,000 คนต่อเดือนในปี พ.ศ. 2568

ดร. สุทธิกร กล่าวเสริมว่า "แม้ว่าอุตสาหกรรม Ride-hailing จะได้รับการยอมรับจากภาคประชาชนและกลายเป็นหนึ่งในทางเลือกสำคัญในการเดินทางให้กับคนไทยควบคู่ไปกับแท็กซี่ในระบบดั้งเดิม แต่ธุรกิจดังกล่าวยังอยู่ระหว่างการพิจารณาของภาครัฐในการกำหนดขอบเขต หลักเกณฑ์ และแนวทางการแก้ไขกฎหมายเพื่อให้รถยนต์ส่วนบุคคลสามารถนำมาให้บริการเป็นรถสาธารณะผ่านแอปพลิเคชันได้อย่างถูกต้อง โดยปัจจุบัน ประเทศไทยเป็น 1 ในสามประเทศสุดท้ายในภูมิภาคอาเซียนที่ยังไม่มีกฎหมายรองรับการให้บริการ Ride-hailing ทั้งนี้ จากผลการสำรวจข้อมูลเกี่ยวกับบริการ Ride-hailing เมื่อเร็วๆ นี้ ระบุว่า 95% ของผู้บริโภคเห็นด้วยกับการทำให้บริการเรียกรถผ่านแอปพลิเคชันอย่าง Grab หรือ Uber ถูกกฎหมาย และ 77.24% ของคนไทยเห็นว่าจำเป็นต้องแก้ปัญหาดังกล่าวอย่างเร่งด่วน"

จากผลการศึกษาและวิจัยของ CONC Thammasat พบว่า การพัฒนาและผลักดันให้อุตสาหกรรม Ride-hailing สามารถดำเนินธุรกิจได้อย่างถูกกฎหมายนั้นจะช่วยสร้างประโยชน์ให้กับหลายภาคส่วน และส่งผลต่อการพัฒนาสังคมและเศรษฐกิจของประเทศ ไม่ว่าจะเป็น

- ผู้โดยสาร: Ride-hailing ทำให้การเดินทางในชีวิตประจำวันมีความสะดวกมากยิ่งขึ้น ช่วยเพิ่มความมั่นใจในการเดินทางด้วยเทคโนโลยีและมาตรฐานด้านความปลอดภัย และสามารถเชื่อมต่อการคมนาคมขนส่งในรูปแบบอื่นๆ ได้อย่างมีประสิทธิภาพ

- 92% ของผู้โดยสารเห็นว่า บริการ Ride-hailing มีความปลอดภัยกว่าทางเลือกอื่นๆ

- 95% ของผู้โดยสารเห็นว่า บริการ Ride-hailing ช่วยเชื่อมต่อการเดินทางระหว่างระบบขนส่งสาธารณะอื่นๆ ได้ง่ายขึ้น

- 77% ของผู้โดยสารระบุว่า การใช้บริการ Ride-hailing มีความสะดวกและช่วยประหยัดเวลาในการเรียกรถ

- 86% ของผู้โดยสารระบุว่า บริการ Ride-hailing มีส่วนช่วยให้มีเวลาเพิ่มขึ้นในการทำงาน หรือทำกิจกรรมอื่นๆ ระหว่างการเดินทาง

- ผู้ขับขี่ที่ให้บริการ: Ride-hailing เป็นช่องทางในการประกอบอาชีพ ที่ช่วยสร้างรายได้และลดภาระหนี้สิน

- 60% ของคนที่นำรถยนต์ส่วนบุคคลมาให้บริการ Ride-hailing เป็นผู้ที่ไม่ได้ประกอบอาชีพอื่นว่างงาน หรือบุคคลที่เกษียณอายุแล้ว ซึ่งช่วยสร้างงานและรายได้ให้กับพวกเขา

- 99% ของผู้ขับที่เป็นแท็กซี่ระบุว่า แอปพลิเคชันเรียกรถเพื่อให้บริการ Ride-hailing ช่วยทำให้มีผู้โดยสารและมีรายได้เพิ่มมากขึ้น

- 94% ของผู้ขับระบุว่า รายได้ที่เกิดขึ้นจากการให้บริการผ่านแอปพลิเคชันช่วยลดภาระหนี้สินได้

- ภาคสังคม: Ride-hailing ได้เข้ามาช่วยยกระดับระบบคมนาคมขนส่งของไทย โดยเพิ่มทางเลือกในการเดินทางให้กับประชาชน พร้อมช่วยพัฒนาคุณภาพชีวิตของคนไทยโดยการใช้ประโยชน์จากเทคโนโลยี ไม่ว่าจะเป็นทั้งผู้ขับขี่และผู้โดยสาร

- ภาคเศรษฐกิจ: Ride-hailing ช่วยสร้างประโยชน์ส่วนเพิ่มให้กับระบบเศรษฐกิจ ทั้งรายได้โดยตรงที่เกิดขึ้นจากการให้บริการ และรายได้ทางอ้อมที่เกิดขึ้นจากการดำเนินงานที่เกี่ยวข้อง โดยรายได้เหล่านี้ได้กระจายไปสู่อุตสาหกรรมหลักต่างๆ เพื่อขับเคลื่อนเศรษฐกิจโดยรวม

- ภาคการท่องเที่ยว: Ride-hailing มีส่วนช่วยในการส่งเสริมการท่องเที่ยวภายในประเทศ โดยได้กลายเป็นหนึ่งในทางเลือกสำคัญที่ช่วยรองรับการให้บริการนักท่องเที่ยวทั้งชาวไทยและต่างชาติ โดยเฉพาะในยุคปัจจุบันที่นักท่องเที่ยวแบบกลุ่มเล็กหรือมีการท่องเที่ยวแบบอิสระ (Free Individual Traveler) มีสัดส่วนมากถึงร้อยละ 75 ในขณะที่นักท่องเที่ยวแบบกลุ่มใหญ่เหลือเพียงร้อยละ 25 เท่านั้น นอกจากนี้ ยังช่วยลดอุปสรรคด้านภาษาที่ใช้ในการสื่อสารกับนักท่องเที่ยวด้วยเทคโนโลยีแปลภาษาผ่านแอปพลิเคชัน และปัญหาด้านค่าโดยสารที่ไม่เป็นธรรมด้วยการแจ้งราคาล่วงหน้าก่อนการเดินทาง

นอกจากนี้ CONC Thammasat ยังได้นำเสนอแนวทางในการกำหนดมาตรฐานการกำกับดูแลบริการ Ride-hailing ในประเทศไทยซึ่งหน่วยงานภาครัฐที่เกี่ยวข้องควรใช้ในการพิจารณา โดยการรับฟังความคิดเห็นและมุมมองจากผู้มีส่วนได้ส่วนเสียกลุ่มต่างๆ ทั้งผู้โดยสาร ผู้ขับขี่ที่ให้บริการ Ride-hailing ผู้ขับแท็กซี่ในระบบดั้งเดิม ผู้ให้บริการแอปพลิเคชัน หน่วยงานภาครัฐที่เกี่ยวข้อง รวมถึงนักวิชาการ ซึ่งครอบคลุม 5 ประเด็นหลัก อันได้แก่

มาตรฐานด้านความปลอดภัยของแพลตฟอร์มที่ให้บริการ

- มีเทคโนโลยีที่รองรับด้านความปลอดภัย เช่น ระบบ GPS เพื่อติดตามตำแหน่งและสถานะของการเดินทางแบบเรียลไทม์ หรือมีปุ่มแจ้งเหตุฉุกเฉิน เป็นต้น

- มีระบบตรวจสอบและยืนยันตัวตนของผู้ขับ เช่น ระบบ Biometrics

- มีศูนย์บริการให้ความช่วยเหลือและรับเรื่องร้องเรียนตลอด 24 ชั่วโมง

- มีประกันคุ้มครองให้กับทั้งผู้ขับและผู้โดยสารในทุกเที่ยวการเดินทาง

มาตรฐานผู้ขับขี่และรถยนต์

- ผู้ขับต้องผ่านการคัดกรองและตรวจสอบประวัติอาชญากรรมก่อนให้บริการ

- ผู้ขับต้องได้รับการอบรมในด้านความปลอดภัย

- การกำหนดมาตรฐานของรถยนต์ควรอิงด้านความปลอดภัยของตัวรถ และเปิดโอกาสให้ประชาชนนำทรัพย์สินที่มีอยู่มาสร้างรายได้

มาตรฐานการให้บริการและเทคโนโลยี

- มีศักยภาพในการให้บริการอย่างครอบคลุมและฐานผู้ขับที่เพียงพอกับความต้องการ

- เทคโนโลยีที่นำมาใช้ต้องมีเสถียรภาพและสามารถรองรับการขยายตัวของธุรกิจ

- มีระบบแปลภาษาที่ช่วยสื่อสารกับนักท่องเที่ยวชาวต่างชาติ

- สามารถชำระค่าบริการได้หลายรูปแบบ ทั้งเงินสดและธุรกรรมอิเล็กทรอนิกส์

มาตรฐานด้านราคา

- ควรให้มีการคำนวณราคาค่าบริการตามกลไกตลาด หรือ Dynamic Pricing ที่สะท้อนปริมาณความต้องการและจำนวนรถที่ให้บริการ (Demand-Supply) ณ เวลานั้นๆ

- ต้องมีการแจ้งราคาค่าบริการให้ผู้โดยสารทราบล่วงหน้าก่อนการเดินทาง

- ควรกำหนดราคาโดยคำนึงถึงความสมดุลระหว่างความต้องการของทั้งผู้โดยสารและผู้ขับขี่

- โดยเป็นราคาที่ผู้ขับสามารถสร้างรายได้ ในขณะเดียวกันผู้โดยสารก็ต้องยอมรับได้

มาตรฐานของบริษัทผู้ให้บริการแพลตฟอร์มหรือผู้พัฒนาแอปพลิเคชัน

- ต้องเป็นบริษัทที่จดทะเบียนเพื่อดำเนินธุรกิจอย่างถูกต้องในประเทศไทย

- ควรมีผู้ถือหุ้นส่วนใหญ่เป็นคนไทยหรือบริษัทไทย

- มีการเสียภาษีให้กับประเทศ

- มีเงินทุนหมุนเวียนเพียงพอที่จะรองรับการขยายตัวของธุรกิจในอนาคต

"Ride-hailing ถือเป็นทางเลือกสำคัญที่ช่วยสร้างประโยชน์ต่อระบบคมนาคมขนส่งทั้งระบบ เพราะไม่เพียงแต่จะช่วยอำนวยความสะดวกในด้านการเดินทางให้กับคนไทย แต่ยังรวมถึงกลุ่มนักท่องเที่ยวซึ่งนำรายได้มหาศาลมาสู่ประเทศไทยด้วย นอกจากนี้ ข้อมูลดิจิทัลที่ถูกบันทึกจากแอปพลิเคชันยังสามารถนำมาช่วยในการต่อยอดและพัฒนาในด้านต่างๆ ไม่ว่าจะเป็น การท่องเที่ยว การวางแผนแก้ไขปัญหาการจราจร หรือการวางผังเมืองในอนาคต ซึ่งปฏิเสธไม่ได้ว่า Ride-hailing ได้กลายเป็นจิ๊กซอว์ชิ้นสำคัญในโครงสร้างพื้นฐานของระบบคมนาคมขนส่งที่ช่วยพัฒนาเศรษฐกิจโดยรวมและขับเคลื่อนประเทศไทยในโลกยุคดิจิทัล" ดร. สุทธิกร กล่าวทิ้งท้าย

ข่าวประชาสัมพันธ์ล่าสุด

๑๑ เม.ย. อ.อ.ป. ร่วม พิธีสรงน้ำพระ ขอพร เนื่องในวันสงกรานต์ประจำปี 2567 ทส.
๑๑ เม.ย. 1 จาก 1,159 ศูนย์การค้า เดอะ พาลาเดียม เวิลด์ ช้อปปิ้ง ส่งมอบลอตเตอรี่ที่ไม่ถูกรางวัล จำนวน 125,500 ใบ ให้กับศูนย์สาธารณสงเคราะห์เด็กพิเศษ วัดห้วยหมู
๑๑ เม.ย. JPARK ประชุมสามัญผู้ถือหุ้นประจำปี 2567 ผถห. อนุมัติปันผล 0.0375 บาทต่อหุ้น
๑๑ เม.ย. สเก็ตเชอร์ส สนับสนุนเทคโนโลยีเพื่อความสบายแก่บุคลากรทางการแพทย์ บริจาครองเท้ารุ่น GOwalk 7(TM) สำหรับบุคลากรทางการแพทย์
๑๑ เม.ย. ศูนย์คนหายไทยพีบีเอส ร่วมกับสถาบันนิติวิทยาศาสตร์ ทำงานเชิงป้องกัน เก็บก่อนหาย ในผู้สูงอายุ
๑๑ เม.ย. จุฬาฯ อันดับ 1 ของไทย การจัดอันดับมหาวิทยาลัยโดย QS WUR by Subject 2024
๑๑ เม.ย. ครั้งแรกในไทย 'Pet Us' เนรมิตพื้นที่จัดกิจกรรม มะหมามาหาสงกรานต์ ชวนน้องหมาทั่วทั้ง 4 ภาคร่วมสนุกในช่วงสงกรานต์ 13-14 เมษายน ตอกย้ำความสำเร็จฉลอง 'Pet Us' ครบ 3
๑๑ เม.ย. LINE STICKER OCHI MOVE จาก OCEAN LIFE ไทยสมุทร คว้ารางวัลชนะเลิศ Best Sponsored Stickers in Insurance ในงาน LINE THAILAND AWARDS
๑๑ เม.ย. วว. ผนึกกำลังหน่วยงานเครือข่าย พัฒนาเชื่อมโยงการค้า ตลาด วิจัย เทคโนโลยี นวัตกรรม สู่การพัฒนาที่ยั่งยืน
๑๑ เม.ย. บริษัท เค วัน วัน ดี จำกัด ถือฤกษ์ดีจัดพิธีบวงสรวง ซีรี่ส์ Girl's Love เรื่องใหม่ Unlock Your Love : รักได้ไหม ?