3 องค์กรไทย คว้ารางวัล “eASIA Awards 2019” โชว์กึ๋นยกธุรกรรมอิเล็กทรอนิกส์หนุนเศรษฐกิจดิจิทัล ระดับเอเชีย

พุธ ๐๔ ธันวาคม ๒๐๑๙ ๑๓:๒๓
ประกาศผลเป็นที่เรียบร้อยแล้วกับการประกวดและมอบรางวัล "eASIA Award 2019" เวทีที่องค์กรรัฐและเอกชนทั่วเอเชียแปซิฟิกได้แสดงศักยภาพด้านการพัฒนาเทคโนโลยีเพื่อสนับสนุนธุรกรรมอิเล็กทรอนิกส์ให้ได้มาตรฐานสากล โดยเชื่อมโยงข้อมูลอิเล็กทรอนิกส์สำหรับการค้าข้ามพรมแดน ร่วมผลักดันให้เกิดการอำนวยความสะดวกทางการค้าทั่วเอเชียแปซิฟิกให้เป็นไปในทิศทางเดียวกันตามข้อตกลงขององค์การการค้าโลก (WTO) โดยสำนักงานพัฒนาธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ (ETDA) กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม ได้รับมอบหมายจากคณะกรรมาธิการด้านการค้าและอิเล็กทรอนิกส์แห่งเอเชียแปซิฟิก (AFACT:Asia Pacific Council for Trade Facilitation and Electronic Business) เป็นเจ้าภาพการจัดงานควบคู่ไปกับการประชุม AFACT Plenary ครั้งที่ 37

ซึ่งปีนี้องค์กรของประเทศไทยแสดงพลังกวาดรางวัลมาถึง 3 รางวัลด้วยกัน อันได้แก่ กรมศุลกากร ได้รับรางวัลในกลุ่ม การอำนวยความสะดวกทางการค้าและพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ (Trade Facilitation and e-Commerce), ETDA ได้รับรางวัลในกุล่ม การสร้างโอกาสทางดิจิทัล (Creating Inclusive Digital Opportunities) และ บริษัท นิวเทคโนโลยี่ อินฟอร์เมชั่น จำกัด ได้รับรางวัล ในกุล่ม การเปลี่ยนแปลงยุคดิจิทัลของภาคเอกชน (Digital Transformation (Private Sector))

เริ่มต้นที่ รางวัลจากการประกวดด้านการอำนวยความสะดวกทางการค้าและพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ (Trade Facilitation and e-Commerce) โดยกรมศุลกากรได้รับรางวัลประเภท "Gold Award" จากการนำเสนอระบบการบริการเชื่อมโยงข้อมูลหน่วยงานภาครัฐและภาคธุรกิจ สำหรับการนำเข้าส่งออก และโลจิสติกส์ หรือที่เรียกว่า Thailand National Single Window (NSW) เป็นระบบบริการแบบอัตโนมัติที่สามารถรองรับการเชื่อมโยงข้อมูลระหว่างประเทศสมาชิกอาเซียน อำนวยความสะดวกให้ผู้นำเข้าและส่งออก โดยสามารถทำธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์กับหน่วยงานภาครัฐและภาคธุรกิจแบบปลอดภัยและไร้เอกสาร (paperless) เชื่อมโยงข้อมูลใบอนุญาตและใบรับรองระหว่างหน่วยงานภาครัฐภายในประเทศและระหว่างประเทศ และผู้ใช้บริการยังสามารถติดตามผลในทุก ๆ ขั้นตอนของการดำเนินงานนำเข้า ส่งออกและการอนุมัติต่าง ๆ ผ่านทางอินเทอร์เน็ตได้ (e-Tracking)

นายกำชัย จัตตานนท์ นักวิชาการคอมพิวเตอร์ชำนาญการ กรมศุลกากร ได้กล่าวว่า "จุดเริ่มต้นการพัฒนา NSW ของกรมศุลกากรเกิดขึ้นเพราะไทยต้องปฏิบัติตามเกณฑ์ขององค์การการค้าโลก (WTO) และองค์การศุลกากรโลก (WCO) ที่ประเทศสมาชิกจะต้องพัฒนาระบบการอำนวยความสะดวกให้เกิดในประเทศและเชื่อมโยงกับต่างประเทศได้ โดยประเทศไทยเริ่มใช้ NSW มาตั้งแต่ปี 2551 และพัฒนาต่อเนื่องโดยปัจจุบันระบบ NSW ของศุลกากรไทยเชื่อมโยงกับประเทศในอาเซียนรวม 7 ประเทศ ส่วนอีก 3 ประเทศคือฟิลิปปินส์ สปป.ลาวและเมียนมา จะพร้อมเชื่อมโยงในปีนี้ ซึ่งได้อาศัยปีที่ไทยเป็นประธานอาเซียนในปีนี้ผลักดันให้เกิดการเชื่อมโยงให้ได้ทั้ง10 ประเทศ ภายในปีนี้ เพื่อทั้งลดต้นทุนและระยะเวลาการขออนุญาตต่างๆ ให้กับผู้ประกอบการ และแผนในระยะต่อไปคือการเชื่อมระบบเข้ากับหน่วยงานรัฐของประเทศอื่น ๆ นอกภูมิภาคอาเซียน ขณะนี้หลายประเทศ ไม่ว่าจะเป็นจีน ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ สนใจที่จะเชื่อมระบบกับประเทศไทย เพราะเชื่อว่าเมื่อเชื่อมกับไทยได้แล้วจะเข้าสู่อาเซียนและทำการค้ากับภูมิภาคนี้ได้สะดวกยิ่งขึ้น"

สำหรับรางวัลที่ 2 คือด้านการสร้างโอกาสทางดิจิทัล(Creating Inclusive Digital Opportunities) ที่ ETDA จากประเทศไทยได้รับรางวัลประเภท "Gold Award" จากโปรเจ็กต์ e-Tax Invoice Project ซึ่งเป็นโครงการที่เกิดขึ้นจากความร่วมมือระหว่าง ETDA กับกรมสรรพกรในการจัดทำใบกำกับภาษีและใบรับ (Invoice) ให้อยู่ในรูปของข้อมูลอิเล็กทรอนิกส์ การสร้างลายมือชื่อดิจิทัล (Digital Signature) สำหรับนำส่งข้อมูลให้กรมสรรพากร โดยทั้งหมดต้องอาศัยการพัฒนาระบบให้เป็นไปตามมาตรฐานและมีขั้นตอนกระบวนการที่น่าเชื่อถือตาม พ.ร.บ.ธุรกรรมอิเล็กทรอนิกส์ สามารถอำนวยความสะดวกให้กับผู้ประกอบธุรกิจอย่างมาก โดยระบบนี้ใช้การมาประมาณ 5 ปีแล้ว

ดร.อุรัชฎา เกตุพรหม ผู้อำนวยการสำนักมาตรฐาน ETDA ได้ให้ข้อมูลเพิ่มเติมว่า ในปัจจุบันการพัฒนาระบบตอบความต้องการของผู้ประกอบการได้เพียง 2 กลุ่ม คือผู้ประกอบการขนาดเล็ก และองค์กรขนาดใหญ่เท่านั้น ดังนั้นในระยะต่อไป ETDA จะเป็นตัวกลางพัฒนาระบบให้ตอบความต้องการของผู้ประกอบการที่เป็นบริษัทขนาดกลาง เพื่ออำนวยความสะดวกให้กับผู้ประกอบการทุกกลุ่ม โดยการขยายการทำงานตามโครงการนี้ ทั้งหมดขึ้นอยู่กับกรมสรรพากรที่เป็นผู้ขยายทรานแซคชั่น โดย ETDA จะเป็นผู้ให้บริการที่ทำให้เอกสารน่าเชื่อถือ เช่นเรื่อง e-Timestamping หรือเรื่องของลายมือชื่อดิจิทัล และอีกส่วนหนึ่งที่จะทำคือการเป็น e-Tax Invoice Service Provider ที่มีลักษณะเหมือนโบรกเกอร์รับทำเอกสารให้เป็นอิเล็กทรอนิกส์และได้มาตรฐาน ตอบโจทย์ผู้ประกอบการที่อยู่ตรงกลางเพื่อเป็นตัวช่วยให้ผู้ประกอบการหันมาใช้ธุรกรรมอิเล็กทรอนิกส์โดยเฉพาะ e-Tax Invoice มากขึ้น และในอนาคตอาจจะขยายออกไปสู่การรับส่งข้อมูลข้ามพรมแดน"

นอกจาก 2 รางวัลข้างต้นจากหน่วยงานรัฐแล้ว ในครั้งนี้ยังมีภาคเอกชนไทยได้รับรางวัล ด้านการเปลี่ยนแปลงยุคดิจิทัลของภาคเอกชน (Digital Transformation (Private Sector)) คือบริษัท นิวเทคโนโลยี่ อินฟอร์เมชั่น จำกัด ได้รับรางวัลประเภท "Silver Award" จากโปรเจ็กต์ e-Certificate for Sugar Exporters in Thailand ซึ่งเกิดขึ้นจากการพัฒนาระบบการออกใบอนุญาตสำหรับส่งออกสินค้าน้ำตาลทรายให้กับสำนักงานคณะกรรมการอ้อยและน้ำตาลทราย (สอน.) ทั้งระบบงานขอรับใบรับรอง ใบอนุญาตส่งออกน้ำตาลทรายไปนอกราชอาณาจักร ผ่านการลงลายมือชื่ออิเล็กทรอนิกส์ (Digital Signature) และการลงเวลา (Timestamp) โดยได้ ETDA เข้ามาร่วมพัฒนาและเชื่อมโยงและแปลงข้อมูลให้สอดคล้องตามมาตรฐานสากล

นายธีรยุทธ์ ศิลาเกษ ผู้จัดการแผนกพัฒนาระบบ บริษัทนิวเทคโนโลยี่ อินฟอร์เมชั่น จำกัด ผู้ให้บริการพัฒนาซอฟท์แวร์ให้กับหน่วยงานต่าง ๆ ของภาครัฐหลายหน่วยงาน กล่าวว่า "โครงการนี้เริ่มใช้เต็มรูปแบบตั้งแต่กลางปี 2562 ช่วยลดต้นทุนและระยะเวลาในการนำส่งเอกสารให้ผู้ประกอบการได้มาก เพราะการยื่นและอนุมัติอยู่ในระบบอิเล็กทรอนิกส์ทั้งหมด แม้จะต้องส่งเอกสารเพิ่มก็ส่งเข้าในระบบไม่ต้องใช้แมสเซนเจอร์วิ่งส่งเอกสารอีก ในระยะต่อไปสิ่งที่เราอยากทำคือการพัฒนาระบบเพื่อสนับสนุนธุรกรรมอิเล็กทรอนิกส์ให้กับหน่วยงานต่าง ๆ ของภาครัฐให้มีความสมบูรณ์ยิ่งขึ้น จากปัจจุบันที่เราพัฒนาให้อยู่หลายหน่วยงานแล้วและรับรู้ความต้องการของหน่วยงานรัฐ ไม่ว่าจะเป็น สอน. กรมการค้าต่างประเทศ สำนักงาน กพร. กรมโรงงาน สถาบันไฟฟ้า รวมถึงหอจดหมายเหตุที่มีการพัฒนาระบบสืบค้นข้อมูลของหอจดหมายเหตุให้อยู่ในรูปแบบอิเล็กทรอนิกส์มากขึ้น" ผู้จัดการฝ่ายพัฒนาระบบ กล่าวในตอนท้ายว่า ทั้งเทคโนโลยีและมาตรฐานต่าง ๆ

มีการเปลี่ยนแปลงอยู่ตลอดเวลา จำเป็นอย่างยิ่งที่ผู้พัฒนาระบบจะต้องเรียนรู้อยู่ตลอดและตามให้ทัน ไม่เช่นนั้นก็ไม่สามารถตอบความต้องการของลูกค้าได้ ซึ่งการพัฒนาระยะต่อไปของบริษัทจะไปสู่การทำระบบที่โทรศัพท์เคลื่อนที่สามารถรองรับได้ จากปัจจุบันที่ระบบยังสนับสนุนเฉพาะการใช้งานผ่านคอมพิวเตอร์ตั้งโต๊ะ(พีซี) ทั้งนี้เพราะกระแสการทำธุรกรรมของผู้บริโภคส่วนใหญ่ได้ย้ายจากพีซีมาอยู่บนโทรศัพท์มือถือแล้ว

การถ่ายทอดแนวความคิดของผู้อยู่เบื้องหลังการพัฒนาระบบอำนวยความสะดวกการทำธุรกรรมอิเล็กทรอนิกส์ทั้ง 3 โปรเจ็กต์ สะท้อนให้เห็นสิ่งสำคัญที่อยู่เบื้องหลังความสำเร็จ นั่นคือการเล็งเห็นถึงประโยชน์ที่จะเกิดขึ้นจากการพัฒนาระบบเพื่ออำนวยความสะดวกทางการค้า และแม้สำเร็จแล้วก็ไม่หยุดการพัฒนา หากทั้งระบบเศรษฐกิจมีการกระตุ้นให้ผู้ประกอบการทั้งส่วนที่เป็นผู้พัฒนาระบบ และผู้ใช้ระบบขยายตัวไปสู่วงกว้างได้ต่อเนื่องย่อมหมายถึงประสิทธิภาพของโครงสร้างพื้นฐานรองรับเศรษฐกิจดิจิทัลของประเทศที่ดีขึ้นต่อไป

ข่าวประชาสัมพันธ์ล่าสุด

๐๙:๕๐ ก.แรงงาน เตือนประชาชนรอบโกดังกากของเสีย จ.ระยอง ปฏิบัติตามคำแนะนำ พร้อมกำชับดูแลความปลอดภัยของลูกจ้างแรงงาน
๐๙:๒๘ MSC ร่วมกับ AWS จัดงาน MSC x AWS ECO Connect
๐๙:๐๕ เอเอฟเอส ประเทศไทย ผนึกกำลังศิษย์เก่า แลกเปลี่ยนแนวคิดธุรกิจให้เติบโตและยั่งยืน
๐๙:๐๐ Synology ช่วยให้องค์กรต่างๆ นำแผนการกู้คืนข้อมูลจากแรนซัมแวร์ไปปรับใช้ได้อย่างไร
๐๙:๓๗ ศูนย์ฯ สิริกิติ์ ชวนคนกรุงฯ ค้นหาความสุขที่แท้จริงของชีวิต กับกิจกรรม ธรรมะในสวน ห้วข้อ เข้าใจชีวิต พิชิตสุข ณ สวนเบญจกิติ 4 พฤษภาคม 2567
๐๙:๐๒ ฉางเจียงเปิดแฟชั่นโชว์ หลอมรวมวัฒนธรรมและงานศิลป์อวดสายตาชาวโลก
๐๙:๕๗ เจาะฟีเจอร์กล้อง 108MP ใน HUAWEI nova 12i สเปกเท่าเรือธงในงบต่ำหมื่น!
๐๘:๑๓ ม.หอการค้าไทย ลงนามความร่วมมือ กับ AIT
๐๘:๒๑ จับติ้วแบ่งสายสุดเดือด ศึกลูกหนังเยาวชน แอสเซทไวส์ สยามกีฬาคัพ 2024 เริ่มโม่แข้ง 23 เม.ย.นี้!!
๐๘:๔๐ The Winner of OpsSimCom 2024 by MIT Sloan is.THAMMASAT.!!