กรมทรัพย์สินทางปัญญา บก.ปอศ. และบีเอสเอ จับมือสานต่อภารกิจคุ้มครองลิขสิทธิ์ซอฟต์แวร์ ตั้งเป้าลดอัตราการละเมิดฯ เร็วสุดในอาเซียน

พุธ ๐๕ กุมภาพันธ์ ๒๐๒๐ ๑๑:๐๔
- กรมทรัพย์สินทางปัญญาขานรับมติ ครม. จัดทำคู่มือจัดซื้อลิขสิทธิ์ซอฟต์แวร์ในภาครัฐ พร้อมเดินหน้าแก้ไข กฎหมายลิขสิทธิ์ให้ทันสมัยรองรับเข้าเป็นภาคีสนธิสัญญาลิขสิทธิ์ดิจิทัล
กรมทรัพย์สินทางปัญญา บก.ปอศ. และบีเอสเอ จับมือสานต่อภารกิจคุ้มครองลิขสิทธิ์ซอฟต์แวร์ ตั้งเป้าลดอัตราการละเมิดฯ เร็วสุดในอาเซียน

- บก.ปอศ. ดำเนินคดีละเมิดลิขสิทธิ์ซอฟต์แวร์ 469 คดี ในปี 2562 เร่งตรวจสอบอีกกว่า 100 องค์กร จากเบาะแส ที่ได้รับ

- บีเอสเอชี้จุดอ่อนองค์กรธุรกิจไทยขาดทักษะการบริหารจัดการสินทรัพย์ซอฟต์แวร์ เสี่ยงลดความปลอดภัยในการรักษาความลับทางการค้าและข้อมูลสำคัญ

กรมทรัพย์สินทางปัญญา บก.ปอศ. และบีเอสเอ พันธมิตรซอฟต์แวร์ เดินหน้ารณรงค์ส่งเสริมการคุ้มครองลิขสิทธิ์ซอฟต์แวร์ กรมทรัพย์สินทางปัญญาเน้นรณรงค์ส่งเสริมการใช้ซอฟต์แวร์แท้ พร้อมทั้งปรับปรุงกฎหมายให้มีประสิทธิภาพรองรับการเผยแพร่งานลิขสิทธิ์บนสื่อดิจิทัล ด้านบก.ปอศ. เร่งลดอัตราการละเมิดลิขสิทธิ์ หลังพบจำนวนองค์กรธุรกิจละเมิดลิขสิทธิ์ซอฟต์แวร์เพิ่มมากขึ้นในปี 2562 ย้ำผู้บริหารองค์กรมีหน้าที่ต้องกำกับดูแลการใช้งานซอฟต์แวร์ให้เป็นไปอย่างถูกต้อง หวังเห็นอัตราการละเมิดลิขสิทธิ์ซอฟต์แวร์ในประเทศไทยลดลงเร็วสุด เมื่อเทียบกับประเทศอื่นในอาเซียน

นางสาวนุสรา กาญจนกูล รองอธิบดีกรมทรัพย์สินทางปัญญา เปิดเผยว่า กรมทรัพย์สินทางปัญญาได้ขานรับมติคณะรัฐมนตรี (ครม.) เมื่อวันที่ 21 พ.ค.2562 ที่ให้หน่วยงานภาครัฐทุกหน่วยงานพิจารณากลั่นกรองการจัดซื้อคอมพิวเตอร์ของหน่วยงานด้วยความรอบคอบ เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดปัญหาการใช้ซอฟต์แวร์ละเมิดลิขสิทธิ์ ในฐานะหน่วยงานที่รับผิดชอบด้านการส่งเสริมและคุ้มครองทรัพย์สินทางปัญญา กรมทรัพย์สินทางปัญญาจึงได้ริเริ่มจัดทำคู่มือการจัดซื้อ/จัดหาซอฟต์แวร์เพื่อเป็นแนวทางให้แก่หน่วยงานภาครัฐในการดำเนินการให้เป็นไปตามมติครม. ดังกล่าว ซึ่งคาดว่าจะสามารถนำออกเผยแพร่ได้ในไม่ช้า นอกจากนี้ ยังได้ให้ความสำคัญกับการแก้ไขปรับปรุงกฎหมายลิขสิทธิ์ให้มีความทันสมัย เพื่อให้ประเทศไทยเข้าร่วมเป็นภาคีสนธิสัญญาว่าด้วยลิขสิทธิ์ขององค์การทรัพย์สินทางปัญญาโลก (WCT) ซึ่งเป็นสนธิสัญญาเกี่ยวกับการคุ้มครองลิขสิทธิ์บนสื่อดิจิทัลและอินเทอร์เน็ต รวมถึงปรับปรุงบทบัญญัติเกี่ยวกับการยกเว้นความรับผิดของผู้ให้บริการอินเทอร์เน็ต (ISP) โดยอาศัยความร่วมมือระหว่างเจ้าของลิขสิทธิ์และผู้ให้บริการอินเทอร์เน็ตในการแจ้งเตือนการละเมิดลิขสิทธิ์และนำงานละเมิดลิขสิทธิ์ออกจากระบบ หรือที่เรียกว่า ระบบ Notice and Takedown ซึ่งเชื่อว่าการดำเนินการทั้งหมดนี้จะช่วยสร้างความเชื่อมั่นให้กับผู้ค้าและนักลงทุนทั้งไทยและต่างประเทศ

นางสาวนุสรา กาญจนกูล รองอธิบดีกรมทรัพย์สินทางปัญญา กล่าวต่อไปว่า "กรมทรัพย์สินทางปัญญาได้บูรณาการร่วมกับหน่วยงานภาครัฐและภาคเอกชนในการพัฒนาระบบทรัพย์สินทางปัญญาของไทย เพื่อสร้างความเชื่อมั่นให้กับผู้ค้าและนักลงทุน รวมถึงเพื่อสนับสนุนนโยบายเศรษฐกิจใหม่ที่มุ่งขับเคลื่อนสู่ประเทศไทย 4.0 ที่ให้ความสำคัญกับการพัฒนาประเทศด้วยนวัตกรรมและเทคโนโลยีเป็นสำคัญ โดยการส่งเสริมการใช้และปกป้องคุ้มครองลิขสิทธิ์ซอฟต์แวร์อย่างเหมาะสมถือเป็นเรื่องหนึ่งที่มีความสำคัญที่จะช่วยผลักดันนโยบายดังกล่าว และพร้อมที่จะเดินหน้าผลักดันให้เกิดผลอย่างเป็นรูปธรรมยิ่งขึ้นต่อไป"

- ผลการดำเนินคดีละเมิดลิขสิทธิ์ซอฟต์แวร์ในปี 2562

พล.ต.ต.ไมตรี ฉิมเฉิด ผู้บังคับการ กองบังคับการปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับอาชญากรรมทางเศรษฐกิจ (บก. ปอศ) สำนักงานตำรวจแห่งชาติ เผยว่า ในปี 2562 ได้ดำเนินคดีละเมิดลิขสิทธิ์ซอฟต์แวร์กับองค์กรธุรกิจ จำนวน 469 คดี เพิ่มขึ้นจาก 395 คดี ในปี 2561 โดยมีมูลค่าการละเมิดฯ มากกว่า 464 ล้านบาท ลดลงจาก 661 ล้านบาท ในปี 2561

องค์กรธุรกิจที่ถูกดำเนินคดีละเมิดลิขสิทธิ์ซอฟต์แวร์ ส่วนใหญ่อยู่ในอุตสาหกรรมการผลิต นอกจากนี้ ยังมีธุรกิจอื่นๆ เช่น อสังหาริมทรัพย์และก่อสร้าง ออกแบบและตกแต่งภายใน เป็นต้น บางรายเป็นองค์กรธุรกิจขนาดใหญ่ที่มีชื่อเสียง แต่มีการติดตั้งใช้งานซอฟต์แวร์โดยไม่มีสัญญาอนุญาตให้ใช้สิทธิบนคอมพิวเตอร์ถึง 100 เครื่อง องค์กรธุรกิจส่วนใหญ่ที่ถูกดำเนินคดีฯ มีสถานประกอบการตั้งอยู่ในจังหวัดที่เป็นแหล่งธุรกิจสำคัญ รวมถึงจังหวัดที่มีพื้นที่เขตนิคมอุตสาหกรรม เช่น กรุงเทพฯ ชลบุรี นนทบุรี ระยอง และสมุทรสาคร

ที่ผ่านมา บก.ปอศ. และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ได้ประชาสัมพันธ์เรื่องการดำเนินคดีละเมิดลิขสิทธิ์ซอฟต์แวร์ผ่านช่องทางต่างๆ เชื่อว่าองค์กรธุรกิจต่างตระหนักดีอยู่แล้วว่าการละเมิดลิขสิทธิ์ซอฟต์แวร์นั้นเป็นการกระทำความผิดตามกฎหมาย แต่กลับพบว่าองค์กรธุรกิจจำนวนมากยังละเลยที่จะปฏิบัติให้ถูกต้อง จึงเป็นเรื่องจำเป็นที่ผู้บริหารองค์กรต้องกำกับดูแลการใช้งานซอฟต์แวร์ให้เป็นไปอย่างถูกต้อง เพื่อลดความเสี่ยงในการทำผิดกฎหมาย ตลอดจนความเสี่ยงอื่นๆ ที่สร้างความเสียหายให้กับองค์กรได้

ในปี 2563 นี้ เจ้าหน้าที่ฯ จะเพิ่มการสื่อสารข้อมูลกับองค์กรธุรกิจในเรื่องความเสี่ยงจากการใช้งานซอฟต์แวร์โดยไม่มีสัญญาอนุญาตให้ใช้สิทธิให้มากขึ้น ควบคู่ไปกับการบังคับใช้กฎหมายกับองค์กรธุรกิจที่ละเมิดลิขสิทธิ์ซอฟต์แวร์ เพื่อลดอัตราการละเมิดลิขสิทธิ์ซอฟต์แวร์ในประเทศไทยให้ได้เร็วที่สุด จากปี 2562 มาจนถึงขณะนี้ มีผู้แจ้งเบาะแสการละเมิดลิขสิทธิ์ซอฟต์แวร์ในองค์กรธุรกิจเข้ามาจำนวนมากกว่า 100 ราย เจ้าหน้าที่ฯ อยู่ระหว่างการตรวจสอบและสืบสวนเพิ่มเติม เพื่อดำเนินการต่อไป ซึ่งในปัจจุบัน ด้วยเทคโนโลยีและเจ้าหน้าที่ผู้เชี่ยวชาญฝ่ายเทคนิคจากผู้เสียหายในคดีละเมิดลิขสิทธิ์ซอฟต์แวร์ ทำให้การตรวจสอบดำเนินไปได้อย่างรวดเร็วขึ้น โดย บก.ปอศ. ตั้งเป้าหมายว่าจะเห็นอัตราการละเมิดลิขสิทธิ์ซอฟต์แวร์ในประเทศไทยลดลงโดยเฉลี่ย มากกว่า 3% ต่อปี และลดลงเร็วสุดเมื่อเทียบกับประเทศอื่นๆ ในอาเซียน

นางสาววารุณี รัชตพัฒนากุล ผู้จัดการประจำประเทศไทยของบีเอสเอ I พันธมิตรซอฟต์แวร์ (บีเอสเอ) องค์กรที่รณรงค์ส่งเสริมการใช้งานซอฟต์แวร์อย่างถูกต้องตามกฎหมาย เผยว่า จากปี 2561 บีเอสเอยังคงสำรวจการใช้งานซอฟต์แวร์ ขององค์กรอย่างต่อเนื่อง พบกลุ่มบริษัทขนาดใหญ่ในประเทศไทยยังมีการใช้งานซอฟต์แวร์โดยไม่มีสัญญาอนุญาตให้ใช้สิทธิ และใช้งานซอฟต์แวร์ไม่ถูกต้องตามสัญญาอนุญาตให้ใช้สิทธิ ในขณะเดียวกันพบแนวโน้มการใช้งานซอฟต์แวร์โดยไม่มีสัญญาอนุญาตให้ใช้สิทธิเพิ่มสูงขึ้นในบริษัทขนาดกลางและขนาดเล็ก (SMEs)

"องค์กรธุรกิจที่ใช้งานซอฟต์แวร์โดยไม่มีสัญญาอนุญาตให้ใช้สิทธิ หรือใช้ไม่ถูกต้องตามสัญญาอนุญาตให้ใช้สิทธิ ส่วนใหญ่ยังไม่มีการบริหารจัดการสินทรัพย์ซอฟต์แวร์ (Software Asset Management : SAM) หรือมีการบริหารจัดการสินทรัพย์ซอฟต์แวร์ที่ไม่ดีพอเมื่อเทียบกับมาตรฐานสากล และขาดการบูรณาการเข้ากับกลยุทธ์ด้านการรักษาความปลอดภัยสารสนเทศ (Information Security) ทำให้องค์กรธุรกิจเหล่านี้มีความเสี่ยงด้านความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์ อาจทำให้ความลับทางการค้าและข้อมูลสำคัญรั่วไหล คู่ค้าหรือนักลงทุนต่างชาติขาดความเชื่อมั่นในการทำธุรกิจด้วย และอาจเลือกลงทุนกับองค์กรธุรกิจที่ใช้งานซอฟต์แวร์อย่างถูกต้องในประเทศอื่นในอาเซียน" นางสาววารุณี กล่าวเพิ่มเติม

ในช่วง 10 ปีที่ผ่านมา บีเอสเอเห็นว่าสิ่งที่จำเป็นที่สุดที่จะทำให้อัตราการละเมิดลิขสิทธิ์ซอฟต์แวร์ในประเทศไทยลดลงได้อย่างรวดเร็ว คือความร่วมมือจากผู้บริหารองค์กรในการกำกับดูแลการใช้งานซอฟต์แวร์ให้เป็นอย่างถูกต้อง การเพิ่มทักษะของเจ้าหน้าที่เทคโนโลยีสารสนเทศในเรื่องการบริหารจัดการสินทรัพย์ซอฟต์แวร์ในระดับสากล รวมถึงการนำเรื่องการบริหารจัดการสินทรัพย์ซอฟต์แวร์และสินทรัพย์ดิจิทัลอื่นเข้าไปเป็นส่วนหนึ่งของกลยุทธ์การบริหารองค์กร

ข่าวประชาสัมพันธ์ล่าสุด

๑๗:๐๒ บิทูเมน มารีน บริษัทลูก TASCO ลงนามสัญญาต่อเรือขนส่งยางมะตอย เสริมศักยภาพกองเรือ
๑๙ เม.ย. รมว.เกษตรฯ ลุยร้อยเอ็ด ผลักดันโครงการพัฒนาแหล่งน้ำ 3 แห่ง
๑๙ เม.ย. กูรูหุ้นเชียร์ซื้อ PSP เคาะเป้าราคาสูงสุด 8 บ./หุ้น ยอดขายพุ่ง-หนี้ลด ดันกำไรปี 67 ออลไทม์ไฮ ดีล MA สร้าง New S-Curve
๑๙ เม.ย. ข้าวกล้อง-จักรีภัทร พร้อมเต็มร้อย! ประเดิม จูเนียร์จีพี สนามแรก ประเทศอิตาลี
๑๙ เม.ย. กรมประมงขอเชิญร่วมแข่งขันตกปลาชะโด
๑๙ เม.ย. เชลล์ดอน การ์ตูนดังร่วมสาดความสนุกในเทศกาลสงกรานต์
๑๙ เม.ย. สปสช. ติดปีกเทคโนโลยีไอทีด้วยคลาวด์กลางภาครัฐ GDCC ยกระดับบริการบัตรทองรวดเร็วทันสมัย ดูแลสุขภาพคนไทยยุคดิจิทัล
๑๙ เม.ย. GSK ร่วมงาน Re-imagining UK Aging Care Event ของสถานทูตอังกฤษ มุ่งสร้างเสริมภูมิคุ้มกันผู้สูงอายุ
๑๙ เม.ย. เอส เอฟ จับมือ กปน. มอบสิทธิ์ดูฟรีรวม 1,000 ที่นั่ง เพียงใช้ MWA Point ที่ เอส เอฟ!!
๑๙ เม.ย. เตรียมพร้อมนับถอยหลัง 12 ชั่วโมงสุดท้าย! ก่อนเริ่มประวัติศาสตร์ครั้งใหม่ Bitcoin Halving ครั้งที่ 4