แผนพัฒนาตลาดทุนไทย

พฤหัส ๐๕ พฤศจิกายน ๒๐๐๙ ๑๐:๐๓
คณะกรรมการรัฐมนตรีเศรษฐกิจได้มีมติเห็นชอบแผนพัฒนาตลาดทุนไทย ตามที่คณะกรรมการพัฒนาตลาดทุนไทย ที่มีรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังเป็นประธาน ได้นำเสนอ

แผนพัฒนาตลาดทุนไทยฉบับนี้เกิดขึ้นเนื่องจากกระทรวงการคลังได้เล็งเห็นถึงความสำคัญและความจำเป็นที่จะต้องเร่งพัฒนาตลาดทุนไทยให้เป็นกลไกหลักในการขับเคลื่อนระบบเศรษฐกิจ และก่อให้เกิดการจ้างงาน ตลอดจนเป็นช่องทางการออมของประชาชน การมีตลาดทุนที่เข้มแข็งจะช่วยลดความผันผวนต่อปัจจัยทางเศรษฐกิจในยุคปัจจุบันที่การเคลื่อนย้ายเงินทุนทำได้อย่างรวดเร็ว

จากความสำคัญของตลาดทุนดังกล่าว นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี ได้มีคำสั่งสำนักนายกรัฐมนตรีแต่งตั้ง “คณะกรรมการพัฒนาตลาดทุนไทย” ขึ้น เมื่อวันที่ 27 มกราคม 2552 โดยเป็นการแต่งตั้งเพื่อให้เกิดความต่อเนื่องจากคณะรัฐบาล 2 ชุดก่อนหน้า ที่ได้มีการแต่งตั้งคณะกรรมการพัฒนาตลาดทุนไทยครั้งแรกไว้ เมื่อวันที่ 25 มีนาคม 2551 โดยมีรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังเป็นประธาน และมีองค์ประกอบคณะกรรมการจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทั้งภาครัฐและเอกชน คณะกรรมการพัฒนาตลาดทุนไทยมีหน้าที่จัดทำแผนพัฒนาตลาดทุนไทยอย่างเป็นองค์รวม ตลอดจนมีหน้าที่กำกับและติดตามการดำเนินการตามแผนดังกล่าวให้เห็นผลเป็นรูปธรรมอย่างแท้จริง

สาระสำคัญของแผนพัฒนาตลาดทุนไทย คณะกรรมการพัฒนาตลาดทุนไทยได้กำหนดวิสัยทัศน์ (Vision) และพันธกิจ (Mission) ของการพัฒนาตลาดทุนไทยสำหรับช่วงระยะเวลา 5 ปี (2552 - 2556) และมาตรการเพื่อการปฏิรูปตลาดทุนไทย ซึ่งประกอบด้วยมาตรการที่จะมีผลกว้างไกลต่อการพัฒนาตลาดทุนไทยและก่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงอย่างมีนัยสำคัญ และมาตรการเสริมอื่น ๆ ซึ่งจะส่งเสริมสภาวะแวดล้อม และพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานต่าง ๆ ของระบบตลาดทุนไทยในระยะยาว ดังนี้

1. วิสัยทัศน์ (Vision)

ตลาดทุนไทยเป็นกลไกหลักในการรวบรวม จัดสรร และติดตามดูแลการใช้ทรัพยากรทางเศรษฐกิจที่มีประสิทธิภาพ เพื่อเกิดประโยชน์สูงสุดต่อการพัฒนาศักยภาพและความสามารถใน การแข่งขันของประเทศ

2. พันธกิจ (Mission)

ภายใต้วิสัยทัศน์ของแผนพัฒนาตลาดทุนไทยข้างต้น คณะกรรมการพัฒนาตลาดทุนไทยได้กำหนดพันธกิจ (Mission) หรือเป้าหมายเพื่อที่จะบรรลุวัตถุประสงค์ของการจัดทำแผนพัฒนาตลาดทุนไทยที่สอดรับกับวิสัยทัศน์ 6 พันธกิจ คือ

2.1 ให้ผู้ลงทุนและผู้ระดมทุนสามารถเข้าถึงตลาดได้โดยง่ายและทั่วถึง

2.2 พัฒนาคุณภาพและความหลากหลายของสินค้าและบริการ

2.3 ลดต้นทุนทางการเงิน (cost of fund) และต้นทุนการทำธุรกรรม (intermediary and transaction cost) ให้ธุรกิจไทยสามารถแข่งขันได้

2.4 สร้างโครงสร้างพื้นฐานที่มีประสิทธิภาพ ทั้งทางด้านกฎหมาย

ระเบียบ บัญชี ภาษี ข้อมูล เทคโนโลยี และการกำกับดูแล

2.5 ให้ผู้ลงทุนมีความรู้และได้รับการคุ้มครองอย่างเหมาะสม

2.6 ส่งเสริมการแข่งขันในตลาดทุนไทย และเชื่อมโยงกับตลาดทุนโลก

3. มาตรการปฏิรูปตลาดทุนไทยที่จะมีผลกว้างไกลต่อการพัฒนาตลาดทุนไทย

คณะกรรมการพัฒนาตลาดทุนไทยได้ระดมความคิดเห็นจากผู้ที่เกี่ยวข้องใน การกำหนดมาตรการที่จะต้องดำเนินการ เพื่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงของโครงสร้างตลาดทุนไทย จนสามารถพัฒนาได้อย่างสอดคล้องกับวิสัยทัศน์และพันธกิจที่กำหนดไว้ แบ่งออกเป็น 2 ส่วน คือ

3.1 มาตรการเพื่อการปฏิรูปตลาดทุนไทยที่จะมีผลกว้างไกลต่อการพัฒนา

ตลาดทุนไทยและก่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงอย่างมีนัยสำคัญ ที่คณะกรรมการพัฒนาตลาดทุนไทย เห็นว่ามีความสำคัญที่ต้องดำเนินการในระยะต้น ๆ เนื่องจากมีความจำเป็น และเมื่อมีการดำเนินการแล้วจะก่อให้เกิดผลกระทบต่อโครงสร้างของตลาดทุนไทยอย่างมีนัยสำคัญ มี 8 มาตรการ ดังนี้

มาตรการที่ 1: การยกเลิกการผูกขาดและการยกระดับความสามารถในการแข่งขันของตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (ตลท.) เนื่องจากการเปิดเสรีการเคลื่อนย้ายเงินทุนระหว่างประเทศ และธุรกิจตลาดหลักทรัพย์รูปแบบใหม่ๆ ส่งผลกระทบต่อความสามารถในการแข่งขันของตลาดหลักทรัพย์ไทย และทำให้ตลาดหลักทรัพย์ไทยมีแนวโน้มที่จะถูกลดความสำคัญลง ดังนั้น เพื่อให้ตลาดหลักทรัพย์สามารถตอบสนองต่อสภาวะแวดล้อมที่เปลี่ยนแปลงไปอย่างรวดเร็ว จึงมีความจำเป็นต้องปรับโครงสร้างการบริหารการจัดการของ ตลท. เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและพัฒนาศักยภาพในการแข่งขัน โดยการปฏิรูป ตลท. เป็นบริษัทมหาชนจำกัด แยกงานด้านธุรกิจตลาดหลักทรัพย์และงานด้านการพัฒนาตลาดทุนออกจากกัน และจัดตั้งกองทุนส่งเสริมการพัฒนาตลาดทุน (Capital Market Development Fund: CMDF) ขึ้นเป็นหน่วยงานที่เข้ามาดูแลด้านการพัฒนาตลาดทุนในด้านต่าง ๆ นอกจากนี้ ยังส่งเสริมให้เกิดการแข่งขันโดยยกเลิกการผูกขาดการประกอบกิจการตลาดหลักทรัพย์ เปิดสิทธิการซื้อขายให้แก่ผู้ร่วมตลาดที่ไม่ใช่สมาชิก (open access) และเปิดโอกาสให้มีการซื้อขายหลักทรัพย์จดทะเบียนนอกตลาดได้ ซึ่งจะเป็นการช่วยเพิ่มสภาพคล่องและเป็นการขยายฐานการลงทุนให้มีความเชื่อมโยงกับตลาดโลก เพื่อลดข้อจำกัดต่อการเติบโตของตลาดทุนไทยในอนาคต

มาตรการที่ 2: การเปิดเสรีและการเพิ่มประสิทธิภาพของสถาบันตัวกลาง เพื่อให้สอดคล้องกับกระแสการเปิดเสรีระบบการเงิน และเป็นการเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันให้ตลาดทุนไทยสามารถรองรับการเคลื่อนย้ายของเงินทุนที่เปลี่ยนไปอย่างรวดเร็ว จึงกำหนดมาตรการให้มีการเปิดเสรีใบอนุญาต

การประกอบธุรกิจหลักทรัพย์ และเปิดเสรีค่าธรรมเนียมการซื้อขายหลักทรัพย์ (commission) เพื่อลดข้อจำกัดด้านจำนวนใบอนุญาตให้หมดไป ส่งผลให้ปริมาณผู้ประกอบธุรกิจหลักทรัพย์มีจำนวนที่เหมาะสมสอดคล้องกับกลไกตลาด ซึ่งจะเป็นแรงผลักดันให้บริษัทหลักทรัพย์มีการปรับตัวเพื่อความอยู่รอดโดยการพัฒนาสินค้าและบริการใหม่ๆ หรือร่วมมือกับ strategic partner ทั้งในและต่างประเทศ หรือการควบรวมกิจการกัน ส่งผลให้ต้นทุนในการบริหารเงินออมและการระดมทุนต่ำลง โดยในระยะยาวจะช่วยให้ปริมาณการซื้อขายเพิ่มมากขึ้นอีกด้วย

มาตรการที่ 3: การปฏิรูปกฎหมายสำหรับการพัฒนาตลาดทุน ปัจจุบัน มีกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับตลาดทุนที่อยู่ในขั้นตอนการเสนอร่างสู่การพิจารณาของสภาผู้แทนราษฎร คือ ร่างพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมพระราชกำหนดนิติบุคคลเฉพาะกิจเพื่อการแปลงสินทรัพย์เป็นหลักทรัพย์ พ.ศ. 2540 พ.ศ. .... ร่างพระราชบัญญัติหลักประกันทางธุรกิจ พ.ศ. .... และร่างพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมาย

แพ่งและพาณิชย์ (ฉบับที่ ..) พ.ศ. .... ที่ควรได้รับการผลักดัน อย่างต่อเนื่องจากรัฐบาล และคณะกรรมการพัฒนาตลาดทุนไทยเห็นสมควรให้มีการปฏิรูปกฎหมายเพิ่มเติม ได้แก่ 1) การเสนอกฎหมายว่าด้วยการส่งเสริมการควบรวมกิจการที่ปัจจุบันมีข้อจำกัดหลายประการ ใช้เวลานาน และมีขั้นตอนยุ่งยาก

2) การกำหนดมาตรการบังคับทางกฎหมายที่เป็นมาตรการทางเลือกอื่นนอกจากมาตรการทางอาญา เช่น มาตรการลงโทษทางแพ่งและมาตรการบังคับทางปกครอง เพื่อให้การบังคับใช้พระราชบัญญัติหลักทรัพย์ฯ

เกิดประสิทธิภาพยิ่งขึ้นและ 3) การผลักดันร่างพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง (ฉบับที่ ..) พ.ศ. .... ในส่วนที่เกี่ยวกับการดำเนินคดีแบบกลุ่ม (class action)

มาตรการที่ 4: การปรับระบบภาษีสำหรับการพัฒนาตลาดทุน เพื่อขจัดอุปสรรคทางภาษีต่อการทำธุรกรรมในตลาดทุนไทย ปรับปรุงระบบการจัดเก็บภาษีให้มีความเป็นกลาง รวมทั้งการให้สิทธิประโยชน์ทางภาษีสำหรับธุรกรรมที่รัฐต้องการให้ความสนับสนุนเพื่อการพัฒนาตลาดทุนไทย โดยแนวทางการปรับปรุงกฎหมายภาษีจะครอบคลุมในเรื่องต่าง ๆ ได้แก่ การปรับโครงสร้างและการควบรวมกิจการ การลงทุนในตราสารหนี้ การขจัดปัญหาภาระภาษีซ้ำซ้อนกรณีเงินปันผลที่บริษัทจำกัดได้รับจากบริษัทอื่น การให้สิทธิประโยชน์ที่เท่าเทียมระหว่างการลงทุนตรงและการลงทุนผ่านตัวกลาง การโอนย้ายเงินออมในกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ กองทุนการออมแห่งชาติ การลงทุนในกรมธรรม์ประกันชีวิต ตราสารการเงินเพื่อระดมทุนตามหลักศาสนาอิสลาม การยืมและให้ยืมหลักทรัพย์ของธนาคารแห่งประเทศไทย

และธุรกิจเงินร่วมลงทุน

มาตรการที่ 5: การพัฒนาผลิตภัณฑ์ทางการเงิน เนื่องจากตลาดทุนไทยยังคงมีความหลากหลายของผลิตภัณฑ์ทางการเงินต่ำ ทำให้ขาดความน่าสนใจในการลงทุนและไม่สามารถสนองตอบต่อความต้องการลงทุนของผู้ลงทุนที่มีความหลากหลายได้ จึงมีแนวทางที่จะผลักดันให้เกิดกลุ่มสินค้าทางการเงินใหม่ๆ ซึ่งจะส่งผลดีทั้งในด้านการเพิ่มความหลากหลายของผลิตภัณฑ์ทางการเงิน และการเพิ่มพัฒนาการของตลาดทุนไทยที่มากขึ้นเป็นลำดับ ได้แก่ การจัดตั้งกองทุนรวมเพื่อลงทุนในโครงสร้างพื้นฐาน (infrastructure fund) เพื่อเพิ่มการเข้ามามีส่วนร่วมในการลงทุนของภาคเอกชน ตลอดจนลดภาระของภาครัฐในด้านงบประมาณ การส่งเสริมการออกกรมธรรม์ประกันชีวิตแบบบำนาญ การเปิดให้ซื้อขายตราสารอนุพันธ์ที่อ้างอิงอัตราดอกเบี้ย หรือพันธบัตรรัฐบาลเพื่อป้องกันความเสี่ยงให้แก่ผู้ลงทุน การระดมทุนที่สอดคล้องกับหลักศาสนาอิสลาม การส่งเสริมธุรกิจเงินร่วมลงทุน และการนำหุ้นที่กระทรวงการคลังถืออยู่กระจายใน ตลท. เพิ่มขึ้น

มาตรการที่ 6: การจัดตั้งกองทุนการออมแห่งชาติ (กอช.) โดยกระทรวงการคลังได้เสนอร่างกฎหมายเพื่อจัดตั้งกองทุนการออมแห่งชาติ (กอช.) ซึ่งคณะรัฐมนตรีได้ให้ความเห็นชอบแล้ว

เมื่อวันที่ 20 ตุลาคม 2552 โดยจะครอบคลุมแรงงานส่วนใหญ่ของประเทศที่ยังไม่มีระบบการออมเพื่อการชราภาพอีกร้อยละ 70 ของผู้มีงานทำ ซึ่งมีวัตถุประสงค์เพื่อจัดให้มีการออมระยะยาวเพื่อการชราภาพที่เป็นระบบ สร้างความเท่าเทียมและเป็นธรรมในการดูแลจากภาครัฐ และเพื่อให้แรงงานนอกระบบสามารถมีรายได้หลังเกษียณอย่างน้อยในระดับพื้นฐาน สร้างความมั่นคงในชีวิตวัยชรา โดย กอช. จะเป็นแหล่งเงินออม และเงินทุนที่สำคัญภายในประเทศอันจะส่งผลต่อเนื่องสำหรับการพัฒนาตลาดทุนไทยในภาพรวม

ช่วยลดความผันผวนจากการเคลื่อนย้ายเงินทุนระหว่างประเทศ รวมทั้งยังส่งผลทางอ้อมต่อการพัฒนาผลิตภัณฑ์ทางการเงินใหม่ ๆ ตามความต้องการเงินทุนที่เพิ่มขึ้นด้วย

มาตรการที่ 7: การสร้างวัฒนธรรมการลงทุนผ่านการออมระยะยาวให้เกิดขึ้นอย่างกว้างขวาง เพื่อให้สมาชิกกองทุนสำรองเลี้ยงชีพและกองทุนบำเหน็จบำนาญข้าราชการมีโอกาสเลือกแผนการลงทุนที่สอดคล้องกับความต้องการของตนเองและเพื่อกระตุ้นให้เกิดความตื่นตัวที่จะแสวงหาความรู้ความเข้าใจในสินค้าตลาดทุน จึงจำเป็นต้องผลักดันในเรื่องของ employee’s choice ให้เกิดขึ้น

โดยให้สามารถครอบคลุมทั้งกองทุนสำรองเลี้ยงชีพและกองทุนบำเหน็จบำนาญข้าราชการ ที่จะต้องมีนโยบายการลงทุนมากกว่า 1 แบบ เพื่อให้สมาชิกสามารถเลือกนโยบายการลงทุนได้ตามต้องการ

มาตรการที่ 8: การพัฒนาตลาดตราสารหนี้ในประเทศ เพื่อส่งเสริมการพัฒนาวิธีการบริหารเงินสดของรัฐบาล รวมถึงการศึกษาแนวทางและยกร่างการแก้ไขกฎหมายที่เกี่ยวกับเงินคงคลัง

เพื่อให้รัฐบาลสามารถออกตั๋วเงินคลังได้อย่างมีประสิทธิภาพ และสามารถนำเงินคงคลังมาบริหารให้มีผลตอบแทนได้ โดยอาจนำไปฝากไว้ที่สถาบันการเงินอื่นนอกจากที่ธนาคารแห่งประเทศไทย ซึ่งจะช่วยลดต้นทุนของรัฐบาลได้ นอกจากนี้ ธนาคารแห่งประเทศไทยจะเป็นแกนนำในการส่งเสริมการทำธุรกรรม private repo และ SBL (Securities Borrowing and Lending) ที่จะช่วยให้ตลาดตราสารหนี้มีเครื่องมือในการบริหารสภาพคล่องที่มีประสิทธิภาพและมีความเสี่ยงต่ำ ส่งผลต่อการเพิ่มสภาพคล่องโดยรวม

ของตลาดให้สูงขึ้นอีกด้วย

3.2 มาตรการปฏิรูปตลาดทุนไทยอื่น ๆ

นอกจากมาตรการเพื่อการปฏิรูปตลาดทุนไทยที่จะมีผลกว้างไกลต่อการพัฒนาตลาดทุนไทยและก่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงอย่างมีนัยสำคัญ 8 มาตรการที่กล่าวมาข้างต้น ในแผนพัฒนาตลาดทุนไทยยังบรรจุมาตรการเสริมอีกกว่า 30 มาตรการที่ควรจะต้องดำเนินการ ซึ่งจะมีส่วนช่วยใน การปรับสภาวะแวดล้อมและพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านต่างๆ ของตลาดทุนไทยในระยะยาว อันจะนำไปสู่ความสำเร็จตามเป้าหมายของแผนพัฒนาตลาดทุนไทยอย่างยั่งยืน

4. แนวทางการกำกับดูแลการดำเนินการตามแผนพัฒนาตลาดทุนไทยเพื่อประโยชน์ในการติดตามความคืบหน้าและประสิทธิภาพของการดำเนินมาตรการต่าง ๆ ตามแผนพัฒนาตลาดทุนไทยให้เป็นไปตามกำหนดเวลาและบรรลุเป้าหมายที่วางไว้ คณะกรรมการพัฒนา

ตลาดทุนไทยได้จัดทำตัวชี้วัดผลการดำเนินงาน โดยแบ่งการวัดใน 2 ระดับ คือ ระดับวิสัยทัศน์ และระดับพันธกิจ รวมทั้งจะปรับบทบาทของคณะอนุกรรมการจัดทำแผนพัฒนาตลาดทุนไทยไปเป็นคณะอนุกรรมการกำกับและติดตามการดำเนินการตามแผนพัฒนาตลาดทุนไทย เพื่อทำหน้าที่กำกับ และติดตามให้มีการดำเนินงานตามแผนฯ อย่างจริงจังและต่อเนื่อง โดยจะจัดให้มีการรายงานผลการดำเนินการ ความก้าวหน้า ความล่าช้า และข้อจำกัดต่าง ๆ ของมาตรการต่อคณะกรรมการพัฒนาตลาดทุนไทย และผู้มีส่วนได้ส่วนเสียที่เกี่ยวข้องกับมาตรการต่าง ๆ ทุก 6 เดือน นอกจากนี้ จะจัดให้มีการเปิดเผยข้อมูลผ่านช่องทางต่าง ๆ เช่น website ขององค์กรที่รับผิดชอบการจัดสัมมนา และการจัดทำบทความเผยแพร่เพื่อให้ประชาชนทั่วไปได้เห็นถึงความก้าวหน้าของการดำเนินการตามแผนฯ

5. ประโยชน์ที่จะได้รับ

คณะกรรมการพัฒนาตลาดทุนไทยเชื่อมั่นว่าการบรรลุเป้าหมายของแผนพัฒนาตลาดทุนไทยที่กำหนดไว้นี้ นอกจากจะส่งผลกระทบโดยตรงต่อการพัฒนาตลาดทุนไทยแล้ว ยังจะก่อให้เกิดผลกระทบต่อเศรษฐกิจและสังคมไทยในวงกว้าง ได้แก่ การสร้างขีดความสามารถในการแข่งขัน การส่งเสริมการออมและการเตรียมพร้อมสำหรับสังคมผู้สูงอายุ ความต้องการระดมทุนของภาครัฐ ความเชื่อมโยงระหว่าง

ตลาดทุนไทยและตลาดทุนโลก และการเอื้อประโยชน์ต่อภาคส่วนต่าง ๆ ของสังคม ซึ่งผลลัพธ์ที่จะเกิดขึ้นจะสะท้อนให้เห็นพัฒนาการของตลาดทุนไทยอย่างมีนัยสำคัญในด้านต่างๆ ได้แก่ ตลาดทุนไทยจะมีขนาดและสภาพคล่องเพิ่มขึ้น จนสามารถเป็นตลาดที่ช่วยเสริมสร้างความสมดุลและมีเสถียรภาพของระบบการเงินไทย และกลายเป็นกลไกสำคัญในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศ ซึ่งสุดท้ายแล้ว

จะนำมาซึ่งความเป็นอยู่ สวัสดิภาพและความมั่งคั่ง (wealth and welfare) ของประชากรไทยที่เพิ่มขึ้นในระยะยาว

สำนักงานเศรษฐกิจการคลัง

สำนักนโยบายการออมและการลงทุน

โทร 0-2273-9020 ต่อ 3646

ข่าวประชาสัมพันธ์ล่าสุด

๑๖:๐๑ ALLY ผนึก Mural ลงทุนซื้อหุ้นสมาคมมวยปล้ำสเปน หวังผลักดันมวยปล้ำสเปนขึ้นแท่นลีกหลักในยุโรปและลาตินอเมริกา
๑๖:๓๙ โอกาสจองซื้อหุ้นกู้บริษัทชั้นนำ ช.การช่าง เสนอขายช่วงวันที่ 25 - 29 เมษายน 2567 ชูผลตอบแทน 3.40 - 4.10% ต่อปี อันดับความน่าเชื่อถือ A- ติดต่อผ่าน ธ.กรุงเทพ และ ธ.กรุงไทย
๑๖:๕๔ บางจากฯ สนับสนุนการเรียนรู้และพัฒนาเยาวชนในทักษะแห่งอนาคต ผ่านโครงการ SI Sphere: Sustainable Intelligence-based Society Sphere โดย UN Global Compact Network
๑๕:๑๓ เปิดไลน์อัพ 10 ศิลปินหน้าใหม่มาแรงแห่งปีจาก Spotify RADAR Thailand 2024
๑๕:๐๘ อาร์เอส กรุ๊ป เดินหน้ากลยุทธ์ Star Commerce ยกทัพศิลปิน-ดารา เป็นเจ้าของแบรนด์ และดันยอดขายด้วย Affiliate Marketing ประเดิมส่งศิลปินตัวแม่ ใบเตย อาร์สยาม
๑๕:๒๐ กสิกรไทยผนึกกำลังเจพีมอร์แกน เปิดตัวโปรเจกต์คารินา ดึงศักยภาพบล็อกเชน ลดระยะเวลาธุรกรรมการเงินระหว่างประเทศ
๑๕:๐๖ สเก็ตเชอร์ส จัดกิจกรรม SKECHERS PICKLEBALL WORKSHOP ส่งเสริมสุขภาพและขยายคอมมูนิตี้กีฬา Pickleball ในไทย
๑๕:๕๖ SHIELD จับมือแอสเซนด์ มันนี่ และ Money20/20 Asia จัดกิจกรรมระดมเงินบริจาคแก่มูลนิธิรามาธิบดี
๑๕:๔๓ 'ASW' เตรียมโอนกรรมสิทธิ์ 4 คอนโดฯ ใหม่ ไตรมาส 2 ครอบคลุมทั้งกรุงเทพฯ และภูเก็ตมูลค่ารวมกว่า 6,600 ล้านบาท
๑๕:๔๑ โก โฮลเซลล์ สนับสนุนเกษตรกรไทย ปูพรมจำหน่ายผลไม้ฤดูกาล สดจากสวนส่งตรงถึงมือคุณ