สรุปภาวะตลาดหลักทรัพย์และการซื้อขายหลักทรัพย์ประจำไตรมาส 1/2554 และเดือนมีนาคม 2554

ศุกร์ ๒๒ เมษายน ๒๐๑๑ ๑๕:๐๔
ภาพรวมภาวะตลาดหลักทรัพย์ไทย ไตรมาส 1/2554 ปรับตัวดีขึ้นต่อเนื่อง โดยดัชนีตลาดหลักทรัพย์ไทย ณ สิ้นไตรมาส 1/2554 ปิดที่ 1,047.48 จุด ปรับตัวเพิ่มขึ้น 1.43% จากสิ้นปี 2553 และปรับตัวเพิ่มขึ้น 6.03% จากสิ้นเดือนกุมภาพันธ์ สวนทางกับตลาดหลักทรัพย์อินโดนีเซีย และฟิลิปปินส์ ที่ปรับตัวลดลงจากสิ้นปี 2553 เนื่องจากผู้ลงทุนต่างประเทศกลับมาซื้อสุทธิ 19,537 ล้านบาท ในเดือนมีนาคม โดยเพิ่มน้ำหนักการลงทุนในหลักทรัพย์หมวดพลังงาน ในช่วงที่ราคาน้ำมันปรับตัวสูงขึ้น และหมวดธนาคารที่ได้รับประโยชน์จากการขึ้นดอกเบี้ยนโยบาย

การเพิ่มขึ้นของดัชนีตลาดหลักทรัพย์ส่งผลให้มูลค่าหลักทรัพย์ตามราคาตลาด (market capitalization) เพิ่มขึ้นมาอยู่ที่ 8,488,105 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 1.84% จากสิ้นปี 2553 แต่อัตราส่วนระหว่างราคาหลักทรัพย์ต่อกำไรสุทธิคาดการณ์ต่อหุ้น (forward P/E ratio) ของตลาดหลักทรัพย์ไทย (SET) ณ สิ้นไตรมาส 1/2554 ปรับลดลงเป็น 12.38 เท่า ต่ำกว่า ณ สิ้นปี 2553 ซึ่งอยู่ที่ 14.72 เท่า เนื่องจากกำไรสุทธิคาดการณ์ต่อหุ้นในปี 2554 ของบริษัทจดทะเบียนไทยปรับสูงขึ้นจากปี 2553 ประมาณ 20.00% ซึ่งเป็นปัจจัยสนับสนุนให้การลงทุนในตลาดหลักทรัพย์ไทยได้รับความสนใจมากยิ่งขึ้น สำหรับมูลค่าซื้อขายเฉลี่ยรายวันของ SET และ mai ในไตรมาส 1/2554 อยู่ที่ 31,255.62 ล้านบาท ลดลง 14.46% จากไตรมาสก่อน ด้านตลาดอนุพันธ์มีปริมาณการซื้อขายเฉลี่ยรายวันรวม 27,226 สัญญา เพิ่มขึ้น 15.51% จากไตรมาสก่อน เนื่องจากการเพิ่มขึ้นของ Gold Futures ขนาด 10 บาท ที่เพิ่มขึ้นสูงถึง 59.13% จากไตรมาสก่อน

ในไตรมาส 1/2554 ดัชนีตลาดหลักทรัพย์ไทยปิดที่ 1,047.48 จุด ปรับตัวเพิ่มขึ้น 1.43% จากสิ้นปี 2553 แม้ว่าจะปรับตัวลดลงค่อนข้างมากในเดือนมกราคม เนื่องจากการเคลื่อนย้ายเงินทุนออกจากกลุ่มประเทศตลาดเกิดใหม่ไปลงทุนในตลาดหลักทรัพย์ที่คาดว่าจะได้รับผลดีจากการฟื้นตัวของเศรษฐกิจสหรัฐอเมริกา รวมทั้งปัจจัยลบซึ่งส่งผลต่อความเชื่อมั่นในการลงทุนในตลาดทุนทั่วโลก ได้แก่ เหตุการณ์ความไม่สงบทางการเมืองในประเทศแถบตะวันออกกลางและแอฟริกาเหนือในเดือนกุมภาพันธ์ ซึ่งส่งผลให้ราคาน้ำมันปรับตัวสูงขึ้นมาก รวมถึงเหตุการณ์แผ่นดินไหวและสึนามิในญี่ปุ่น ในเดือนมีนาคม อย่างไรก็ตาม ทั้งสองเหตุการณ์ส่งผลให้ดัชนีตลาดหลักทรัพย์ส่วนใหญ่ทั่วโลก รวมถึงตลาดหลักทรัพย์ไทยปรับตัวลดลงเพียงระยะสั้นๆ

เดือนมีนาคม 2554 ดัชนีตลาดหลักทรัพย์ไทยปรับตัวเพิ่มขึ้น 6.03% จากสิ้นเดือนก่อน ซึ่งเป็นผลจากการกลับมาซื้อสุทธิของผู้ลงทุนต่างประเทศ มูลค่า 19,537 ล้านบาท เช่นเดียวกับตลาดหลักทรัพย์ส่วนใหญ่ในเอเชียที่ผู้ลงทุนต่างประเทศซื้อสุทธิเช่นกัน สำหรับดัชนีตลาดหลักทรัพย์ mai ปิดที่ 279.53 จุด ปรับตัวเพิ่มขึ้น 2.47% จากสิ้นปี 2553 ส่วนดัชนีหลักทรัพย์รายอุตสาหกรรมส่วนใหญ่ปรับตัวเพิ่มขึ้น โดยกลุ่มทรัพยากรและกลุ่มธุรกิจการเงินปรับตัวเพิ่มขึ้นสูงสุด 2 ลำดับแรก โดยปรับตัวเพิ่มขึ้น 4.79% และ 3.89% จากสิ้นปี 2553 ตามลำดับ

ราคาหลักทรัพย์ที่ปรับตัวเพิ่มขึ้นส่งผลให้มูลค่าหลักทรัพย์ตามราคาตลาด (market capitalization) ณ สิ้นไตรมาส 1/2554 ของ SET อยู่ที่ 8,488,105 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 1.84% จากสิ้นปี 2553 ขณะที่ของ mai มีมูลค่าอยู่ที่ 55,969 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 1.53% จากสิ้นปี 2553 แม้ว่าราคาหลักทรัพย์จะปรับตัวเพิ่มขึ้น แต่อัตราส่วนระหว่างราคาหลักทรัพย์ต่อกำไรสุทธิคาดการณ์ต่อหุ้น (forward P/E ratio) ของตลาดหลักทรัพย์ไทย (SET) ณ สิ้นไตรมาส 1/2554 อยู่ที่ระดับ 12.38 เท่า ต่ำกว่า ณ สิ้นปี 2553 ซึ่งอยู่ที่ 14.72 เท่า เนื่องจากกำไรสุทธิคาดการณ์ต่อหุ้นในปี 2554 ของบริษัทจดทะเบียนไทยที่มีแนวโน้มสูงขึ้นกว่าปี 2553 ประมาณ 20.00% หากเปรียบเทียบกับสิ้นไตรมาส 1/2553 ภายหลังการปรับการคาดการณ์กำไรต่อหุ้น ค่า forward P/E ratio ของไทยยังคงเพิ่มขึ้นจากระดับ 11.84 เท่า ณ สิ้นไตรมาส 1/2553 อย่างไรก็ตาม ตลาดหลักทรัพย์ไทยยังคงให้อัตราเงินปันผลตอบแทนสูงสุดในภูมิภาค โดย ณ สิ้นไตรมาส 1/2554 มีอัตราเงินปันผลตอบแทนอยู่ที่ระดับ 3.67% เพิ่มขึ้นจาก 3.56% ณ สิ้นปี 2553 ขณะที่ตลาดหลักทรัพย์ mai มีอัตราเงินปันผลตอบแทนอยู่ที่ระดับ 4.10% ณ สิ้นไตรมาส 1/2554 ลดลงเล็กน้อยเมื่อเทียบกับระดับ 4.20% ณ สิ้นปี 2553

มูลค่าซื้อขายเฉลี่ยรายวันของ SET และ mai ไตรมาส 1/2554 อยู่ที่ 31,255.62 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 59.42% จากไตรมาส 1/2553 แต่ลดลง 14.46% จากไตรมาสก่อน ด้านผู้ลงทุนต่างประเทศ และผู้ลงทุนสถาบันมีสัดส่วนมูลค่าซื้อขายเพิ่มขึ้นเป็น 24.07% และ 9.50% ของมูลค่าซื้อขายรวมจาก 16.90% และ 7.80% ในไตรมาสก่อนตามลำดับ สัดส่วนมูลค่าการซื้อขายของผู้ลงทุนต่างประเทศในไตรมาสนี้เป็นสัดส่วนที่สูงที่สุดในรอบ 10 ไตรมาสนับจากไตรมาส 4/2551 ซึ่งเป็นช่วงที่วิกฤต subprime ส่งผลกระทบในวงกว้าง ในไตรมาส 1/2554 ผู้ลงทุนต่างประเทศขายสุทธิ 710.70 ล้านบาท และผู้ลงทุนบุคคลในประเทศขายสุทธิ 1,541.70 ล้านบาทเช่นกัน ในขณะที่ผู้ลงทุนสถาบันในประเทศซื้อสุทธิ 1,185 ล้านบาท เฉพาะในเดือนมีนาคม 2554 มูลค่าซื้อขายเฉลี่ยรายวันของ SET และ mai อยู่ที่ 29,632.37 ล้านบาท เพิ่มขึ้น18.76% จากเดือนมีนาคม 2553 และเพิ่มขึ้น 5.36% จากเดือนก่อน และในเดือนนี้ ผู้ลงทุนต่างประเทศกลับมาซื้อสุทธิ 19,536.93 ล้านบาท ในขณะที่ผู้ลงทุนบุคคลในประเทศขายสุทธิ 32,071.66 ล้านบาท

หากพิจารณาตามกลุ่มอุตสาหกรรมในไตรมาส 1/2554 พบว่าสัดส่วนมูลค่าการซื้อขายหลักทรัพย์ในหมวดธนาคารเพิ่มขึ้นมากที่สุดเมื่อเทียบกับหมวดอื่น โดยเพิ่มขึ้นเป็น 21.63% ของมูลค่าซื้อขายรวมจาก 14.73% ในไตรมาสก่อน นอกจากนี้ หากพิจารณาสัดส่วนมูลค่าซื้อขายแยกตามกลุ่มหลักทรัพย์ตามราคาตลาด (market capitalization) ในไตรมาส 1/2554 พบว่า ผู้ลงทุนสนใจซื้อขายหลักทรัพย์ในกลุ่มที่มูลค่าหลักทรัพย์ตามราคาตลาดสูงสุด 10 อันดับแรก เพิ่มขึ้นมากกว่ากลุ่มอื่นโดยมีสัดส่วนมูลค่าการซื้อขายหลักทรัพย์เพิ่มขึ้นมาอยู่ที่ 41.80% ของมูลค่าซื้อขายรวม เทียบกับ 32.57% ในไตรมาสก่อนหน้า สำหรับในเดือนมีนาคม 2554 ผู้ลงทุนให้ความสนใจซื้อขายหลักทรัพย์ขนาดเล็กเพิ่มมากขึ้นเมื่อเทียบกับเดือนก่อนหน้า โดยสัดส่วนมูลค่าการซื้อขายหลักทรัพย์ในกลุ่มที่มูลค่าหลักทรัพย์ตามราคาตลาดสูงสุด 10 อันดับแรกปรับลดลงเหลือ 38.52% เทียบกับ 45.59% ในเดือนก่อนหน้า ขณะที่หลักทรัพย์ขนาดเล็กในกลุ่ม Non-SET50 มีสัดส่วนการซื้อขายเพิ่มขึ้นเป็น 24.04% เทียบกับ 18.92% ในเดือนก่อน

สำหรับตลาดอนุพันธ์ในไตรมาส 1/2554 ปริมาณการซื้อขายเฉลี่ยรายวันรวม 27,226 สัญญา เพิ่มขึ้น 15.51% จากไตรมาสก่อน ทั้งนี้เนื่องจากการเพิ่มขึ้นของ Gold Futures ขนาด 10 บาท ที่เพิ่มขึ้นสูงถึง 59.13% และ SET50 Index Futures ที่เพิ่มขึ้นสูงถึง 21.44% จากไตรมาสก่อน เฉพาะในเดือนมีนาคม 2554 มีปริมาณการซื้อขายเฉลี่ยรายวันรวม 29,469 สัญญา เป็นการปรับเพิ่มขึ้นในทุกผลิตภัณฑ์ยกเว้น Gold Futures ขนาด 50 บาท ที่ลดลงเล็กน้อย ในขณะที่ Gold Futures ขนาด 10 บาท กลับมีปริมาณการซื้อขายเฉลี่ยรายวันเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องเป็น 4,017 สัญญา ซึ่งสูงสุดนับตั้งแต่เริ่มซื้อขายในเดือนสิงหาคม 2553

ด้านการระดมทุนของบริษัทจดทะเบียน ในไตรมาส 1/2554 บริษัทจดทะเบียนมีการระดมทุนในรูปตราสารทุนมูลค่ารวม 41,080 ล้านบาท โดยมีการระดมทุนในตลาดแรก 1 บริษัท คือ บมจ. วินเทจ วิศวกรรม (VTE) มูลค่าระดมทุน 32 ล้านบาท และกองทุนรวมอสังหาริมทรัพย์ 2 กอง คือกองทุนรวมอสังหาริมทรัพย์และสิทธิการเช่าดุสิตธานี (DTCPF) และกองทุนรวมอสังหาริมทรัพย์ตรีนิตี้ (TNPF) มูลค่าระดมทุน 4,094 ล้านบาท และ 710 ล้านบาท ตามลำดับ ขณะที่มีการระดมทุนในตลาดรองมูลค่ารวม 36,276 ล้านบาท ส่วนใหญ่เป็นการระดมทุนของ บมจ. อินโดรามาเวนเจอร์ส (IVL) มูลค่าระดมทุน 17,279.50 ล้านบาท เพื่อรองรับการขยายธุรกิจด้านผลิตภัณฑ์ปิโตรเคมีในอนาคต สำหรับการระดมทุนในเดือนมีนาคม 2554 บริษัทจดทะเบียนมีการระดมทุนในรูปตราสารทุนมูลค่ารวม 3,309.94 ล้านบาท

ผู้สนใจสามารถติดตามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ www.set.or.th/setresearch/ หรือสอบถามข้อมูลที่ S-E-T Call Center โทร. 0 2229 2222

ข่าวประชาสัมพันธ์ล่าสุด

๑๖:๐๑ ALLY ผนึก Mural ลงทุนซื้อหุ้นสมาคมมวยปล้ำสเปน หวังผลักดันมวยปล้ำสเปนขึ้นแท่นลีกหลักในยุโรปและลาตินอเมริกา
๑๖:๓๙ โอกาสจองซื้อหุ้นกู้บริษัทชั้นนำ ช.การช่าง เสนอขายช่วงวันที่ 25 - 29 เมษายน 2567 ชูผลตอบแทน 3.40 - 4.10% ต่อปี อันดับความน่าเชื่อถือ A- ติดต่อผ่าน ธ.กรุงเทพ และ ธ.กรุงไทย
๑๖:๕๔ บางจากฯ สนับสนุนการเรียนรู้และพัฒนาเยาวชนในทักษะแห่งอนาคต ผ่านโครงการ SI Sphere: Sustainable Intelligence-based Society Sphere โดย UN Global Compact Network
๑๕:๑๓ เปิดไลน์อัพ 10 ศิลปินหน้าใหม่มาแรงแห่งปีจาก Spotify RADAR Thailand 2024
๑๕:๐๘ อาร์เอส กรุ๊ป เดินหน้ากลยุทธ์ Star Commerce ยกทัพศิลปิน-ดารา เป็นเจ้าของแบรนด์ และดันยอดขายด้วย Affiliate Marketing ประเดิมส่งศิลปินตัวแม่ ใบเตย อาร์สยาม
๑๕:๒๐ กสิกรไทยผนึกกำลังเจพีมอร์แกน เปิดตัวโปรเจกต์คารินา ดึงศักยภาพบล็อกเชน ลดระยะเวลาธุรกรรมการเงินระหว่างประเทศ
๑๕:๐๖ สเก็ตเชอร์ส จัดกิจกรรม SKECHERS PICKLEBALL WORKSHOP ส่งเสริมสุขภาพและขยายคอมมูนิตี้กีฬา Pickleball ในไทย
๑๕:๕๖ SHIELD จับมือแอสเซนด์ มันนี่ และ Money20/20 Asia จัดกิจกรรมระดมเงินบริจาคแก่มูลนิธิรามาธิบดี
๑๕:๔๓ 'ASW' เตรียมโอนกรรมสิทธิ์ 4 คอนโดฯ ใหม่ ไตรมาส 2 ครอบคลุมทั้งกรุงเทพฯ และภูเก็ตมูลค่ารวมกว่า 6,600 ล้านบาท
๑๕:๔๑ โก โฮลเซลล์ สนับสนุนเกษตรกรไทย ปูพรมจำหน่ายผลไม้ฤดูกาล สดจากสวนส่งตรงถึงมือคุณ