อีไอซีเปิดมุมมองศักยภาพการเติบโตเศรษฐกิจไทย นำเสนอแนวทางยกระดับ และเพิ่มโอกาสทางธุรกิจ

จันทร์ ๐๖ ตุลาคม ๒๐๑๔ ๐๙:๐๐
อีไอซี จัดงานสัมมนาประจำปี “EIC Conference: Thailand in Transformation” โดยมี ดร.ประสาร ไตรรัตน์วรกุล ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย ให้เกียรตินำเสนอปาฐกถาพิเศษหัวข้อ “นโยบายการเงิน การคลัง เพื่อการฟื้นฟูเศรษฐกิจไทย”

ดร.สุทธาภา อมรวิวัฒน์ Chief Economist และผู้ช่วยผู้จัดการใหญ่อาวุโส ธนาคารไทยพาณิชย์ จำกัด (มหาชน) ร่วมบรรยายหัวข้อ “วางหมากประเทศไทย สู่การเติบโตที่ยั่งยืน” พร้อมด้วยการเสวนาจาก 4 สุดยอดนักบริหารผู้ทรงคุณวุฒิแถวหน้าของประเทศ ได้แก่ ดร.วิชิต สุรพงษ์ชัย ประธานกรรมการบริหาร ธนาคารไทยพาณิชย์ จำกัด (มหาชน) อิสระ ว่องกุศลกิจ ประธานกรรมการหอการค้าไทยและสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย บุญชัย โชควัฒนา ประธานกรรมการ บริษัท สหพัฒนพิบูล จำกัด (มหาชน) และ ศุภลักษณ์ อัมพุช รองประธานกรรมการ บริษัท เดอะมอลล์ กรุ๊ป จำกัด ภายใต้หัวข้อ “ปรับมุมมอง ส่องกลยุทธ์ธุรกิจยุคปฏิรูป” อันจะเป็นแนวทางช่วยผลักดันให้ประเทศไทยสามารถเพิ่มศักยภาพการเติบโตทางเศรษฐกิจเพื่อต่อยอดธุรกิจในอนาคต

ดร.วิชิต สุรพงษ์ชัย กล่าวว่า “งานสัมมนาครั้งนี้ให้ความสำคัญกับเรื่องของศักยภาพในการเติบโตของประเทศในอนาคต เพื่อจุดประกายให้ทุกภาคส่วนเห็นทั้งโอกาสและอุปสรรคจากการเปลี่ยนแปลงเชิงโครงสร้างของประเทศทั้งในด้านโครงสร้างประชากร ด้านแรงงาน และโครงสร้างการส่งออก ซึ่งล้วนแล้วแต่เป็นวาระสำคัญของชาติ และร่วมกันคิดเพื่อนำไปสู่ข้อเสนอแนะที่เป็นรูปธรรมต่อทั้งภาคเอกชน ภาคการเงิน และภาครัฐ ในการร่วมมือกันผลักดันนโยบายและการปฏิรูปเศรษฐกิจไทยให้หลุดพ้นจากความท้าทายเชิงโครงสร้าง และก้าวเข้าสู่การเป็นผู้นำเศรษฐกิจในภูมิภาคอาเซียนต่อไป”

ดร.สุทธาภา อมรวิวัฒน์ กล่าวว่า “ประเทศไทยกำลังเข้าสู่จุดเปลี่ยนผ่านที่สำคัญ ความผันผวนทางเศรษฐกิจในช่วงผ่านมา ส่วนหนึ่งสะท้อนการที่ไทยประสบกับความท้าทายค่อนข้างมากจากทั้งวิกฤตการเงินโลกในปี 2008 สถานการณ์น้ำท่วมใหญ่ในปี 2011 และความไม่สงบทางการเมืองที่เกิดขึ้นเป็นระยะ โดยความท้าทายเหล่านี้ได้บดบังศักยภาพการเติบโตของเศรษฐกิจไทยที่ลดลง ขณะที่ภาวะแวดล้อมทางเศรษฐกิจกำลังจะเปลี่ยนไป อันได้แก่ ต้นทุนการกู้ยืมของโลกที่เพิ่มขึ้น การปฏิรูปโครงสร้างทางเศรษฐกิจของจีน บทบาทของอาเซียนที่ทวีความสำคัญในฐานะคู่แข่งของไทย และการที่ไทยไม่สามารถพึ่งพาการก่อหนี้เพื่อสนับสนุนการเติบโตได้อย่างในอดีต ซึ่งภาวะดังกล่าวจะทำให้แรงหนุนของเศรษฐกิจไทยในอนาคตหดหายไป และความอ่อนแอของพื้นฐานทางเศรษฐกิจไทยจะชัดเจนขึ้นเรื่อยๆ

อีไอซีประเมินว่าการขาดแคลนแรงงานของไทยทั้งในเชิงปริมาณและคุณภาพ รวมถึงการลงทุนที่อยู่ในระดับต่ำในช่วง 2 ทศวรรษที่ผ่านมา และยังอยู่ในระดับต่ำกว่าช่วงวิกฤตปี 1997 อีกทั้งผลิตภาพที่ชะลอลงค่อนข้างมาก จะทำให้ศักยภาพในการเติบโตของประเทศไทยในระยะกลางเฉลี่ยอยู่ที่ 3.5% เท่านั้น คำถามที่สำคัญคือ เราจะทำอย่างไรเพื่อยกระดับการเติบโตของประเทศ”

อีไอซีเสนอ 3 แนวทางเพื่อใช้ประโยชน์จากจุดแข็งของประเทศไทยในการยกระดับศักยภาพในการเติบโต:

1. ขับเคลื่อนประเทศไปสู่ห่วงโซ่การผลิตที่ใช้นวัตกรรมที่สูงขึ้น โดยทุกภาคส่วนจะต้องร่วมมือกันส่งเสริมการลงทุนด้านเทคโนโลยีที่สอดคล้องกับอุปสงค์ในตลาดโลก และการกระตุ้นให้ภาคเอกชนของไทยสนใจลงทุนด้านการวิจัยและพัฒนา เช่น การสร้างศูนย์ทดสอบผลิตภัณฑ์เพื่ออำนวยความสะดวกแก่ผู้ผลิตไทยในการพัฒนานวัตกรรม เพื่อให้ไทยสามารถขยับไปสู่ห่วงโซ่การผลิตที่สูงขึ้น

2. แสวงหาตลาดผู้บริโภคใหม่ๆ โดยการเสริมสร้างศักยภาพให้ SMEs ไทยสามารถแข่งขันในตลาดโลกได้ ตัวอย่างเช่น การปรับโครงสร้าง BOI เพื่อให้บริการที่ครอบคลุมการทำธุรกิจในต่างประเทศอย่างเต็มรูปแบบ จะเป็นสิ่งที่จำเป็นสำหรับธุรกิจไทยในการบุกเบิกตลาดที่มีโอกาสทางธุรกิจสูง เช่น ตลาดในกลุ่มประเทศ CLMV (กัมพูชา ลาว เมียนมาร์ และเวียดนาม) และกลุ่มชาวต่างชาติที่ทำงานในประเทศไทยและนักท่องเที่ยว ซึ่งมีความต้องการสินค้าและบริการที่มีความซับซ้อนมากขึ้น

3. ปรับตัวให้เข้ากับโครงสร้างประชากรที่เปลี่ยนไป ซึ่งธุรกิจควรปรับกลยุทธ์และโมเดลธุรกิจเพื่อรองรับความต้องการที่แตกต่างของผู้บริโภคจากการเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุอย่างรวดเร็ว และบทบาทที่เพิ่มขึ้นของกลุ่ม Gen Y (ผู้ที่เกิดในช่วงปี 1981-2000) ซึ่งปัจจุบันคิดเป็น 28% ของประชากร ใกล้เคียงกับกลุ่มผู้สูงอายุ และมีพฤติกรรมการใช้จ่ายที่แตกต่างชัดเจนจากประชากรกลุ่มอื่นๆ

“อีไอซีหวังว่าการสัมมนาในวันนี้จะเป็นการจุดประกาย ให้ภาคธุรกิจเห็นโอกาสในอนาคตได้ชัดเจนขึ้น ผ่านการแลกเปลี่ยนมุมมองจากนักธุรกิจชั้นนำของประเทศ และนำไปสู่การวางแผนการลงทุนเพื่อพัฒนาขีดความสามารถ ซึ่งจะเป็นแนวทางสำหรับการพัฒนาประเทศที่ยั่งยืน” ดร.สุทธาภา กล่าวสรุป

ข่าวประชาสัมพันธ์ล่าสุด

๑๗:๐๐ แคสเปอร์สกี้เผย บริษัทมากกว่าครึ่งในเอเชียแปซิฟิกใช้ AI และ IoT ในกระบวนการทางธุรกิจ
๑๗:๑๔ พร้อมจัดงาน สถาปนิก'67 ภายใต้ธีม Collective Language : สัมผัส สถาปัตย์
๑๗:๓๓ โรงแรมชามา เลควิว อโศก กรุงเทพฯ จัดโปรโมชั่นฉลองเทศกาลสงกรานต์
๑๗:๓๘ มูลนิธิป่อเต็กตึ๊ง ห่วงใยชาวสระแก้ว มอบศาลาที่พักผู้โดยสาร เพื่อเป็นสาธารณประโยชน์แก่ผู้ใช้รถใช้ถนน และเพื่อเป็นที่หลบแดดหลบฝน ณ
๑๗:๔๙ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย จัดพิธีประสาทปริญญาบัตร พร้อมมอบดุษฎีบัณฑิตกิตติมศักดิ์ 3 ท่าน
๑๗:๑๘ แน็ก ชาลี - มุก วรนิษฐ์ ชวนเปิดประสบการณ์ความเฟรช ในงาน Space of Freshtival 30 มีนาคมนี้ ที่ สยามสแควร์วัน
๑๗:๑๐ อิมแพ็ค จัดงาน Happy Hours: Wine Tasting Craft Beer ต้อนรับลูกค้าช่วงมอเตอร์โชว์
๑๗:๓๒ สำนักงานพัฒนาฝีมือแรงงานแพร่ มอบเครื่องมือพื้นฐานชุดการฝึก (ชุดเครื่องมือทำมาหากิน) รุ่นที่ 4/2567
๑๗:๕๒ ดีพร้อม ดึงผู้ประกอบการเงินทุนฯ ทั่วประเทศ เปิดพื้นที่ทดสอบตลาด จัดงาน พร้อมเปย์ ที่ DIPROM FAIR
๑๗:๔๕ เขตราชเทวีจัดเทศกิจกวดขันผลักดันผู้ค้าตั้งวางแผงค้ารุกล้ำบนทางเท้าถนนราชปรารภ