ฟิทช์จัดอันดับเครดิตหุ้นกู้มีประกันชุดใหม่บริษัท ซีพี ออลล์ จำกัด (มหาชน) ที่ ‘A+(tha)’

พฤหัส ๑๘ ธันวาคม ๒๐๑๔ ๑๕:๑๑
ฟิทช์ เรทติ้งส์-กรุงเทพฯ/ซิดนีย์/สิงคโปร์ -15 ธันวาคม 2557: บริษัท ฟิทช์ เรทติ้งส์ (ประเทศไทย) จำกัด ประกาศจัดอันดับเครดิตภายในประเทศระยะยาว (National Long-term Rating) หุ้นกู้มีประกันชุดใหม่ของ บริษัท ซีพี ออลล์ จำกัด (มหาชน) หรือ CP ALL ที่ ‘A+(tha)’

หุ้นกู้ดังกล่าวประกอบด้วยหุ้นกู้ 2 ชุด ครบกำหนดไถ่ถอนปี 2560 และปี 2569 โดยมีจำนวนเงินรวมไม่เกิน 1.0 หมื่นล้านบาท หุ้นกู้ดังกล่าวมีหลักประกันเป็นหุ้นสามัญของ บริษัท สยามแม็คโคร จำกัด (มหาชน) (Makro) ซึ่งถือโดย CP ALL เงินที่ได้รับจากการออกหุ้นกู้ดังกล่าวจะนำไปชำระคืนเงินกู้ยืมจากธนาคารบางส่วน

หุ้นกู้มีประกันดังกล่าวได้รับการจัดอันดับเครดิตในระดับเดียวกันกับอันดับเครดิตภายในประเทศระยะยาวของ CP ALL เนื่องจากหุ้นกู้ดังกล่าวได้รับหลักประกันในลักษณะและสัดส่วนที่คล้ายคลึงกับเงินกู้ยืมจากธนาคารแบบมีหลักประกัน และหุ้นกู้มีประกันของ CP ALL ซึ่งคิดเป็นสัดส่วนมากกว่าร้อยละ 90 ของหนี้สินรวมของ CP ALL

ปัจจัยที่มีผลต่ออันดับเครดิต

ผู้นำในธุรกิจร้านสะดวกซื้อ: CP ALL เป็นผู้ประกอบการค้าปลีกประเภทร้านสะดวกซื้อที่ใหญ่ที่สุดในประเทศไทย ด้วยจำนวนร้านสะดวกซื้อภายใต้เครื่องหมายการค้า 7-Eleven มากกว่า 8,000 ร้านทั่วประเทศ โดยมีส่วนแบ่งทางการตลาดประมาณร้อยละ 60 ในด้านจำนวนร้าน ซึ่งสูงกว่าผู้ประกอบการรายใหญ่อันดับสองเป็นอย่างมาก ฟิทช์เชื่อว่า CP ALL จะสามารถรักษาตำแหน่งผู้นำทางการตลาดไว้ได้ แม้ว่าธุรกิจค้าปลีกจะมีการแข่งขันที่สูง โดยมีปัจจัยสนับสนุนจากการที่บริษัทฯ มีร้านค้าในเครือในจำนวนที่มากกว่าและครอบคลุมพื้นที่มากกว่าคู่แข่งขัน รวมถึงการมีหน่วยงานในเครือที่สนับสนุนกิจการค้าปลีกของบริษัทฯ ได้แก่การบริการด้านลอจิสติกส์ การซ่อมแซมและบำรุงรักษาร้านค้าและอุปกรณ์ที่เกี่ยวข้อง รวมทั้งการฝึกอบรมและพัฒนาพนักงาน

เครื่องหมายการค้าที่เป็นที่รู้จักอย่างกว้างขวาง: CP ALL บริหารงานร้านสะดวกซื้อภายใต้เครื่องหมายการค้า 7-Eleven ซึ่งเป็นที่รู้จักทั่วโลก ภายใต้สัญญา Area License Agreement ที่ทำกับบริษัท 7-Eleven Inc., แห่งสหรัฐอเมริกา โดยได้เปิดดำเนินการร้านค้าแรกในประเทศไทยเมื่อปี 2532 ปัจจุบันประเทศไทยเป็นประเทศที่มีจำนวนร้านค้า 7-Eleven มากเป็นอันดับที่สองในโลก (ไม่รวมสหรัฐอเมริกา) รองจากประเทศญี่ปุ่น

การขยายธุรกิจไปยังธุรกิจค้าส่ง: การเข้าซื้อกิจการของ Makro ซึ่งเป็นผู้นำในธุรกิจศูนย์จำหน่ายสินค้าระบบสมาชิกแบบชำระเงินสด และบริการตนเอง (Membership based Cash & Carry trade center) ในประเทศไทย ทำให้ CP ALL สามารถขยายธุรกิจเข้าสู่ธุรกิจค้าส่ง ซึ่งจะเป็นการเพิ่มฐานลูกค้าทั้งในด้านปริมาณและความหลากหลาย หลังจากการเข้าซื้อกิจการดังกล่าว CP ALL ได้กลายเป็นผู้ประกอบกิจการค้าปลีกค้าส่งสมัยใหม่ (Modern Trade) ประเภทอาหารที่ใหญ่ที่สุดในประเทศไทย

กระแสเงินสดที่มั่นคงและการเติบโตที่แข็งแกร่ง: CP ALL มีกระแสเงินสดจากการดำเนินงานที่ค่อนข้างแน่นอน เนื่องจากสินค้าที่ขายในร้านสะดวกซื้อส่วนใหญ่จะเป็นสินค้าที่มีความจำเป็นต่อการดำรงชีพประจำวัน ในขณะที่การเติบโตของบริษัทฯ ได้รับปัจจัยสนับสนุนจากสภาวะของธุรกิจค้าปลีกสมัยใหม่ในประเทศไทยที่ยังเติบโตไม่ถึงระดับอิ่มตัว ฟิทช์คาดว่ายอดขายของ CP ALL ในปี 2557 จะมีอัตราการเติบโตที่สูงมาก ส่วนหนึ่งเป็นผลมาจากการรวมงบการเงินของ Makro ในงบการเงินรวมของบริษัทฯ เต็มปีเป็นปีแรก นอกจากนี้ ยอดขายของ CP ALL น่าจะยังคงเติบโตอย่างต่อเนื่องในปี 2558-2560 จากการเปิดร้านค้าใหม่และอัตราการเติบโตของยอดขายของร้านค้าเดิม แม้ว่าอัตราการเติบโตของยอดขายของร้านค้าเดิมอาจจะชะลอตัวลงในปี 2557

อัตราส่วนหนี้สินที่สูง: ด้วยความสามารถในการสร้างกระแสเงินสดที่แข็งแกร่งของ CP ALL ฟิทช์คาดว่าอัตราส่วนหนี้สินของบริษัทฯ จะลดลงอย่างต่อเนื่องในช่วง 4-5 ปีข้างหน้า แม้ว่าแผนการขยายสาขาที่รวดเร็วขึ้นของ Makro อาจทำให้ Makro และบริษัทฯ (เมื่อพิจารณางบการเงินรวม) มีกระแสเงินสดจากการดำเนินงานหลังหักค่าใช้จ่ายเพื่อการลงทุนและเงินปันผลจ่าย (Free Cash Flow, FCF) เป็นลบในปี 2557 แต่ฟิทช์คาดว่าการลดลงของอัตราส่วนหนี้สินน่าจะช้ากว่าที่ฟิทช์คาดการณ์ไว้เดิมเพียงเล็กน้อย โดยอัตราส่วนหนี้สินของบริษัทฯ ที่วัดจากหนี้สินสุทธิที่ปรับปรุงแล้วต่อกระแสเงินสดจากการดำเนินงานก่อนการเปลี่ยนแปลงของเงินทุนหมุนเวียน (funds flow from operations (FFO) adjusted net leverage) น่าจะลดลงเหลือประมาณ 5.0 เท่าถึง 5.5 เท่าในปี 2558 และต่ำกว่า 3.5 เท่า ในปี 2560 จาก 7.6 เท่า ณ สิ้นเดือนกันยายน 2557

ปัจจัยที่อาจมีผลต่ออันดับเครดิตในอนาคต

ปัจจัยลบ:

- การลดลงของอัตราส่วนหนี้สินที่ช้ากว่าที่คาด โดยมีอัตราส่วนหนี้สินสุทธิที่ปรับปรุงแล้วต่อกระแสเงินสดจากการดำเนินงานก่อนการเปลี่ยนแปลงของเงินทุนหมุนเวียน (FFO adjusted net leverage) ที่อยู่ในระดับสูงกว่า 5.0 เท่าอย่างมีนัยสำคัญในปี 2558 และสูงกว่า 3.5 เท่าในปี 2560

- อัตรากำไรจากการดำเนินงานก่อนดอกเบี้ยจ่าย ภาษี ค่าเสื่อมราคา ค่าตัดจำหน่ายและ ค่าเช่าต่อรายได้ (EBITDAR Margin) ที่ลดลงต่ำกว่าร้อยละ 8.5 อย่างต่อเนื่อง (9 เดือนแรกของปี 2557: ร้อยละ 10) และ/หรือ

- การมีกระแสเงินสดจากการดำเนินงานหลังหักค่าใช้จ่ายเพื่อการลงทุนและเงินปันผลจ่าย (FCF) ที่เป็นลบต่อเนื่องกัน 2 ปี

การปรับเพิ่มอันดับเครดิตในช่วง 12-24 เดือนข้างหน้ามีความเป็นไปได้น้อย เนื่องจากอัตราส่วนหนี้สินที่สูงของบริษัทฯ

ข่าวประชาสัมพันธ์ล่าสุด

๑๗:๐๒ บิทูเมน มารีน บริษัทลูก TASCO ลงนามสัญญาต่อเรือขนส่งยางมะตอย เสริมศักยภาพกองเรือ
๑๗:๓๓ รมว.เกษตรฯ ลุยร้อยเอ็ด ผลักดันโครงการพัฒนาแหล่งน้ำ 3 แห่ง
๑๙ เม.ย. กูรูหุ้นเชียร์ซื้อ PSP เคาะเป้าราคาสูงสุด 8 บ./หุ้น ยอดขายพุ่ง-หนี้ลด ดันกำไรปี 67 ออลไทม์ไฮ ดีล MA สร้าง New S-Curve
๑๙ เม.ย. ข้าวกล้อง-จักรีภัทร พร้อมเต็มร้อย! ประเดิม จูเนียร์จีพี สนามแรก ประเทศอิตาลี
๑๙ เม.ย. กรมประมงขอเชิญร่วมแข่งขันตกปลาชะโด
๑๙ เม.ย. เชลล์ดอน การ์ตูนดังร่วมสาดความสนุกในเทศกาลสงกรานต์
๑๙ เม.ย. สปสช. ติดปีกเทคโนโลยีไอทีด้วยคลาวด์กลางภาครัฐ GDCC ยกระดับบริการบัตรทองรวดเร็วทันสมัย ดูแลสุขภาพคนไทยยุคดิจิทัล
๑๙ เม.ย. GSK ร่วมงาน Re-imagining UK Aging Care Event ของสถานทูตอังกฤษ มุ่งสร้างเสริมภูมิคุ้มกันผู้สูงอายุ
๑๙ เม.ย. เอส เอฟ จับมือ กปน. มอบสิทธิ์ดูฟรีรวม 1,000 ที่นั่ง เพียงใช้ MWA Point ที่ เอส เอฟ!!
๑๙ เม.ย. เตรียมพร้อมนับถอยหลัง 12 ชั่วโมงสุดท้าย! ก่อนเริ่มประวัติศาสตร์ครั้งใหม่ Bitcoin Halving ครั้งที่ 4