ฟิทช์คงอันดับเครดิต ปตท.; แนวโน้มเครดิตมีเสถียรภาพ

ศุกร์ ๑๐ เมษายน ๒๐๑๕ ๑๔:๕๒
ฟิทช์ เรทติ้งส์ ประกาศคงอันดับเครดิตสากลระยะยาวสกุลเงินต่างประเทศ (International Long-term Foreign-Currency Issuer Default Rating) ของบริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) หรือ ปตท. ที่ระดับ ‘BBB+’ อันดับเครดิตสากลระยะยาวสกุลเงินในประเทศ (International Long-term Local-Currency Issuer Default Rating) ที่ระดับ ‘A-’ และอันดับเครดิตสากลระยะสั้นสกุลเงินต่างประเทศ (International Short-term Foreign-Currency Issuer Default Rating) ที่ระดับ ‘F2’ แนวโน้มเครดิตมีเสถียรภาพ

ในขณะเดียวกันฟิทช์คงอันดับเครดิตภายในประเทศ (National Rating) ระยะยาวที่ระดับ ‘AAA(tha)’ อันดับเครดิตภายในประเทศระยะสั้นที่ระดับ ‘F1+(tha)’ และอันดับเครดิตภายในประเทศระยะยาวของหุ้นกู้ไม่มีหลักประกันและไม่ด้อยสิทธิที่ระดับ ‘AAA(tha)’ แนวโน้มเครดิตมีเสถียรภาพ

เนื่องจากราคาน้ำมันและก๊าซธรรมชาติที่ลดลง ฟิทช์คาดว่าอัตราส่วนทางการเงินที่ใช้ในการพิจารณาอันดับเครดิตของ ปตท. ในปี 2558 น่าจะอ่อนแอลง แต่ยังคงสอดคล้องกับอันดับเครดิตที่ระดับ ‘A-’ ซึ่งเป็นอันดับเครดิตโดยลำพัง (Standalone Rating) ของปตท. อย่างไรก็ตามอันดับเครดิตโดยลำพัง (Standalone Rating) ของปตท. ถูกกดดันจากธุรกิจสำรวจและผลิตปิโตรเลียมที่ลดความแข็งแกร่งลง เนื่องจากปริมาณสำรองน้ำมันและก๊าซธรรมชาติที่หามาทดแทนมีน้อยกว่าปริมาณการผลิตในช่วงสามปีที่ผ่านมา ซึ่งทำให้ปริมาณสำรองน้ำมันและก๊าซธรรมชาติสำหรับการผลิตลดลงเหลือประมาณ 6 ปี ณ สิ้นปี 2557

อันดับเครดิตสากลระยะยาวสกุลเงินต่างประเทศของปตท. ถูกจำกัดอยู่ที่ ‘BBB+’ ซึ่งเท่ากับอันดับเครดิตสากลระยะยาวสกุลเงินต่างประเทศของประเทศไทย เนื่องจากกระทรวงการคลังเป็นผู้ถือหุ้นรายใหญ่ของปตท. โดยถือหุ้นอยู่ร้อยละ 51

ปัจจัยที่มีผลต่ออันดับเครดิต

แรงกดดันจากรายได้ที่ลดลง – อัตราส่วนทางการเงินที่ใช้ในการพิจารณาอันดับเครดิตของ ปตท. ในปี 2558 จะได้รับผลกระทบจากกระแสเงินสดจากการดำเนินงานที่ลดลงจากราคาน้ำมันที่ลดลง และความคล่องตัวในการปรับเปลี่ยนแผนการลงทุนที่ค่อนข้างจำกัด อย่างไรก็ตามฟิทช์คาดว่าอัตราส่วนหนี้สินสุทธิที่ปรับปรุงแล้วต่อกระแสเงินสดจากการดำเนินงานก่อนการเปลี่ยนแปลงของเงินทุนหมุนเวียน (FFO adjusted net leverage) น่าจะยังคงอยู่ในระดับที่ต่ำกว่า 2.5 เท่าในปี 2558-2559 ซึ่งยังคงสอดคล้องกับอันดับเครดิตโดยลำพัง (Standalone Rating) ของปตท.ที่ระดับ ‘A-’ ที่สะท้อนถึงการเป็นบริษัทน้ำมันและก๊าซธรรมชาติครบวงจร

กระแสเงินสดจากการดำเนินงานที่แข็งแกร่ง - สถานะทางการเงินของ ปตท. ได้รับประโยชน์จากกระแสเงินสดจากการดำเนินงานจากธุรกิจก๊าซธรรมชาติที่มีความสม่ำเสมอ อันเป็นผลมาจากสัญญาการจัดจำหน่ายระยะยาวซึ่งมีการกำหนดปริมาณการซื้อขั้นต่ำจากคู่สัญญาในลักษณะ take-or-pay รวมถึงโครงสร้างราคาที่สามารถส่งผ่านต้นทุนการขายให้แก่ลูกค้าได้ ธุรกิจก๊าซธรรมชาติมีสัดส่วนประมาณร้อยละ 22 (หรือประมาณ 5.4 หมื่นล้านบาท) ของกำไรจากการดำเนินงานก่อนดอกเบี้ยจ่าย ภาษี ค่าเสื่อม และค่าตัดจำหน่าย (EBITDA) รวมของ ปตท. ในปี 2557 โดยในจำนวนนี้ประมาณร้อยละ 73 (หรือประมาณ 4 หมื่นล้านบาท) มาจากธุรกิจการขายก๊าซธรรมชาติให้ผู้ผลิตไฟฟ้า และโรงแยกก๊าซธรรมชาติ และธุรกิจการขนส่งผ่านท่อก๊าซธรรมชาติ โดยกำไรจากธุรกิจเหล่านี้จะถูกกระทบน้อยจากความผันผวนของราคาน้ำมันและก๊าซธรรมชาติ

นอกจากนี้ในธุรกิจสำรวจและผลิตปิโตรเลียมซึ่งมีสัดส่วนประมาณร้อยละ 70 ของกำไรจากการดำเนินงานก่อนดอกเบี้ยจ่าย ภาษี ค่าเสื่อม และค่าตัดจำหน่ายรวมของ ปตท. ในปี 2557 นั้น ร้อยละ 69 ของปริมาณการผลิตมาจากก๊าซธรรมชาติซึ่งจำหน่ายในประเทศเป็นส่วนใหญ่ แม้ว่าราคาขายก๊าซธรรมชาติในธุรกิจสำรวจและผลิตปิโตรเลียมจะลดลงตามราคาน้ำมันที่ลดลง แต่ระดับราคาที่ลดลงของก๊าซธรรมชาติน่าจะน้อยกว่าระดับราคาที่ลดลงของน้ำมัน นอกจากนี้ฟิทช์คาดว่า ปตท. น่าจะได้รับประโยชน์จากการปรับขึ้นราคาก๊าซปิโตรเลียมเหลว (LPG) หน้าโรงแยกก๊าซ และราคาขายปลีกก๊าซธรรมชาติสำหรับรถยนต์ (NGV) การปรับขึ้นราคาดังกล่าวน่าจะทำให้ปตท. มีกระแสเงินสดเพิ่มขึ้นประมาณ 490 ล้านเหรียญสหรัฐฯ โดยใช้สมมุติฐานจากปริมาณการจำหน่าย LPG และ NGV เทียบเท่าปี 2557

แผนการลงทุนที่ยังคงสูง – ปตท. มีแผนที่จะปรับลดแผนการลงทุนตามราคาน้ำมันที่ลดลง โดยงบลงทุนเดิมของบริษัท ปตท.เอง ในระยะ 5 ปีข้างหน้า (ปี 2558-2562) ซึ่งอยู่ที่ 3.27 แสนล้านบาทจะถูกปรับลดลงประมาณร้อยละ 9 อย่างไรก็ตาม เนื่องจากแผนการลงทุนในธุรกิจสำรวจและผลิตปิโตรเลียมที่สูงขึ้น (จากบริษัท ปตท.สำรวจและผลิตปิโตรเลียม) เงินลงทุนในงบรวมของ ปตท. ในปี 2558 น่าจะอยู่ในระดับที่สูงกว่าในปี 2557 ปตท. มีความคล่องตัวในการปรับเปลี่ยนแผนการลงทุนโดยรวมที่จำกัดกว่าบริษัทน้ำมันและก๊าซธรรมชาติที่ใช้เปรียบเทียบในการจัดอันดับเครดิต เนื่องจากปริมาณสำรองน้ำมันและก๊าซธรรมชาติสำหรับการผลิตที่ต่ำกว่าปริมาณสำรองน้ำมันและก๊าซธรรมชาติสำหรับการผลิตที่ลดลง – ปตท. มีปริมาณสำรองน้ำมันและก๊าซธรรมชาติที่หามาทดแทน และปริมาณสำรองน้ำมันและก๊าซธรรมชาติสำหรับการผลิต ต่ำกว่าบริษัทน้ำมันและก๊าซธรรมชาติที่ใช้เปรียบเทียบในการจัดอันดับเครดิตมาก และปริมาณสำรองน้ำมันและก๊าซธรรมชาติสำหรับการผลิตที่ประมาณ 6 ปียังต่ำกว่าระดับเฉลี่ยของบริษัทสำรวจและผลิตปิโตรเลียมที่ฟิทช์จัดอันดับเครดิตในกลุ่ม ‘BBB’ บริษัทฯมีปริมาณสำรองน้ำมันและก๊าซธรรมชาติที่ยังไม่พิสูจน์ในจำนวนที่สูงกว่ามาก แต่จำเป็นต้องใช้เงินลงทุนจำนวนมากและเวลาในการพัฒนา ปริมาณสำรองน้ำมันและก๊าซธรรมชาติสำหรับการผลิตที่ลดลงต่อเนื่องอาจจะส่งผลกระทบในทางลบต่ออันดับเครดิตโดยลำพัง (Standalone Rating) ของปตท.ได้

บริษัทน้ำมันและก๊าซธรรมชาติแห่งชาติ – อันดับเครดิตสะท้อนถึงความเป็นผู้นำของ ปตท. ในธุรกิจน้ำมันและก๊าซธรรมชาติในประเทศไทย ความสำคัญในเชิงกลยุทธ์และการเป็นตัวจักรสำคัญของรัฐบาลในการขับเคลื่อนนโยบายที่เกี่ยวกับการพัฒนาและความมั่นคงทางพลังงานของประเทศ ปตท. เป็นผู้ดำเนินการระบบท่อส่งก๊าซธรรมชาติและเป็นผู้จัดหาและจัดจำหน่ายก๊าซธรรมชาติแต่เพียงรายเดียวในประเทศไทย โดยก๊าซธรรมชาติเป็นเชื้อเพลิงหลักในการผลิตไฟฟ้าของประเทศ นอกจากนี้ ปตท. ยังเป็นบริษัทชั้นนำในธุรกิจสำรวจและผลิตปิโตรเลียม ธุรกิจน้ำมัน และธุรกิจปิโตรเคมีในประเทศไทยอีกด้วย

บริษัทน้ำมันและก๊าซธรรมชาติครบวงจรขนาดกลาง - อันดับเครดิตโดยลำพัง (Standalone Rating) ของปตท. สะท้อนถึงการดำเนินธุรกิจน้ำมันและก๊าซธรรมชาติแบบครบวงจรของบริษัทฯ โดยขนาดของธุรกิจ การดำเนินธุรกิจ และอัตราส่วนทางการเงินที่ใช้ในการจัดอันดับเครดิตของธุรกิจสำรวจและผลิตปิโตรเลียมของปตท. เทียบเคียงได้กับบริษัทสำรวจและผลิตปิโตรเลียมที่ได้รับการจัดอันดับเครดิตสูงในกลุ่ม ‘BBB’ ยกเว้นตัวเลขทางด้านปริมาณสำรองน้ำมันและก๊าซธรรมชาติสำหรับการผลิต

สมมุติฐานที่สำคัญ

สมมุติฐานที่สำคัญของฟิทช์ที่ใช้ในการประมาณการ:

- ราคาน้ำมันตามประมาณการราคาน้ำมันและก๊าซธรรมชาติของฟิทช์ตามรายงาน “Fitch Oil and Gas Assumptions Summary” ลงวันที่ 11 กุมภาพันธ 2558

- ปริมาณการขายของธุรกิจสำรวจและผลิตปิโตรเลียมเพิ่มขึ้นร้อยละ 6 ในปี 2558 แต่กำไรจากการดำเนินงานก่อนดอกเบี้ยจ่าย ภาษี ค่าเสื่อม และค่าตัดจำหน่าย ลดลงเนื่องจากราคาน้ำมันและก๊าซธรรมชาติที่ลดลง

- แผนการลงทุนประมาณร้อยละ 7-9 ของยอดขายในปี 2558-2560

ปัจจัยที่อาจมีผลกับอันดับเครดิตในอนาคต

ปัจจัยบวก:

-การปรับเพิ่มอันดับเครดิตของประเทศไทย

การปรับเพิ่มอันดับเครดิตโดยลำพัง (Standalone Rating) ของปตท.ไม่น่าจะเกิดขึ้น เนื่องจากธุรกิจสำรวจและผลิตปิโตรเลียมที่เผชิญแรงกดดัน และขนาดของธุรกิจปตท.เมื่อเทียบกับบริษัทน้ำมันและก๊าซธรรมชาติที่ฟิทช์จัดอันดับเครดิตในกลุ่ม ‘A’

ปัจจัยลบ:

-การปรับลดอันดับเครดิตของประเทศไทย

ปัจจัยลบที่อาจมีผลกระทบทางลบต่ออันดับเครดิตโดยลำพัง (Standalone Rating) ของปตท.

-การเปลี่ยนแปลงในเรื่องกฎระเบียบ การแก้ไขสัญญาซื้อขายก๊าซธรรมชาติและการปรับค่าผ่านท่อก๊าซที่ส่งผลกระทบในแง่ลบต่อ ปตท.

-การลงทุน/การเข้าซื้อกิจการโดยใช้เงินกู้ยืมในจำนวนที่สูง และ/หรือ กระแสเงินสดจากการดำเนินงานที่ต่ำกว่าที่คาด ซึ่งทำให้อัตราส่วนหนี้สินสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง ซึ่งวัดจากอัตราส่วนหนี้สินสุทธิที่ปรับปรุงแล้วต่อกระแสเงินสดจากการดำเนินงานก่อนการเปลี่ยนแปลงของเงินทุนหมุนเวียน (FFO adjusted net leverage) ที่สูงกว่า 2.25 เท่าอย่างต่อเนื่อง (ณ สิ้นปี 2557 อัตราส่วนหนี้สินดังกล่าวอยู่ที่ 1.2 เท่า)

-ปริมาณสำรองน้ำมันและก๊าซธรรมชาติที่ยังคงลดลงอย่างต่อเนื่องในช่วง 18-24 เดือนข้างหน้า

- EBITDA จากธุรกิจก๊าซธรรมชาติลดลงต่ำกว่าร้อยละ 20 ของ EBITDA รวมของบริษัทฯ อย่างต่อเนื่อง

อย่างไรก็ตาม ในกรณีที่อันดับเครดิตโดยลำพัง (Standalone Rating) ของปตท. ต่ำกว่าอันดับเครดิตของประเทศไทย ฟิทช์จะพิจารณาให้อันดับเครดิตเพิ่มขึ้นหนึ่งอันดับจากอันดับเครดิต Standalone ของ ปตท. เพื่อสะท้อนถึงการสนับสนุนของภาครัฐ ต่อ ปตท. ในทางอ้อม (Implicit Support) ตามหลักเกณฑ์การจัดอันดับเครดิตของฟิทช์ในเรื่องความสัมพันธ์ระหว่างบริษัทใหญ่กับบริษัทย่อย (Parent and Subsidiary Rating Linkage Methodology)

สำหรับอันดับเครดิตของประเทศไทย มีปัจจัยที่อาจมีผลกับอันดับเครดิตในอนาคต ซึ่งได้แสดงไว้ในรายงานเครดิตลงวันที่ 5 มีนาคม 2558 ดังนี้

ปัจจัยลบ:

-การเติบโตทางเศรษฐกิจที่ต่ำอย่างต่อเนื่อง ประกอบกับการเกิดความไม่สมดุลทางเศรษฐกิจมหภาค (macroeconomic)

-ความไม่แน่นอนทางการเมืองที่เพิ่มขึ้นซึ่งส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจของประเทศอย่างมาก

-การเพิ่มขึ้นอย่างมากและอย่างต่อเนื่องของอัตราส่วนหนี้สินของภาครัฐ

-ภาระรับผิดชอบที่อาจเกิดขึ้นในอนาคตที่เกิดจากหนี้สินสาธารณะในภาพกว้างและหนี้สินภาคเอกชนที่สูง

ปัจจัยบวก:

-การเติบโตทางเศรษฐกิจที่สูงกว่าที่คาดการณ์ โดยไม่เกิดความไม่สมดุลทางเศรษฐกิจมหภาค ที่ทำให้รายได้ของประเทศใกล้เคียงกับประเทศที่มีอันดับเครดิตในกลุ่ม ‘A’

-การแก้ไขปัญหาการแบ่งแยกทางสังคมและการเมือง ที่เพิ่มประสิทธิภาพในการดำเนินนโยบายภาครัฐในการบริหารประเทศและการพัฒนาประเทศ

ข่าวประชาสัมพันธ์ล่าสุด

๑๘ เม.ย. DEK ดิจิทัลมีเดีย SPU บุก Thailand Toy Expo 2024 โชว์ผลงานสุดคูล!
๑๘ เม.ย. Zoho ยกระดับแอปพลิเคชันทางธุรกิจ ด้วยการทำงานร่วมกันของ Generative AI และ Low-Code
๑๘ เม.ย. Dent Talk : Fresh Up Your Knowledge ไม่รู้.ไม่ได้แล้ววว สำนักวิชาทันตแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยแม่ฟ้า
๑๘ เม.ย. โรงแรมเชอราตันหัวหิน รีสอร์ทแอนด์สปา ต้อนรับนักหมากรุกรวม 300 คน กว่า 50 ประเทศ ในการแข่งขัน Bangkok Chess Club Open ครั้งที่ 21 ประจำปี
๑๘ เม.ย. 'Water War Chiang Mai 2024' เทศกาลดนตรีใหญ่ที่สุด เปียกสุด! เดือดสุด! จัดเต็มอย่างยิ่งใหญ่ใจกลางเมืองเชียงใหม่
๑๘ เม.ย. TB Media Global จับมือ MQDC จัดกิจกรรมสงกรานต์ The Vibrant Forestias :Sook-San Songkran บนผืนป่าของ The
๑๘ เม.ย. SE Life อาคเนย์ประกันชีวิต รับรางวัลแบรนด์ยอดเยี่ยมประจำปี 2023
๑๘ เม.ย. โรงพยาบาลหัวเฉียว จัดโครงการธรรมโอสถ บรรยายธรรมะเรื่อง สุขในงานเบิกบานในชีวิต
๑๘ เม.ย. หมู่บ้านเกษตรกรรมกำแพงเพชร ต่อยอดความสำเร็จธนาคารน้ำใต้ดิน สร้างความมั่นคงทรัพยากรน้ำ
๑๘ เม.ย. คณะดิจิทัลมีเดีย SPU ขอเชิญร่วมกิจกรรมเสวนา หัวข้อ AI Trends Unlock Limitless Creative Potential in Digital