ทริสเรทติ้งเพิ่มอันดับเครดิตองค์กร “บ. วิทยุการบินแห่งประเทศไทย” เป็น “AAA” จาก “AA+” ด้วยแนวโน้ม “Stable”

จันทร์ ๒๐ กรกฎาคม ๒๐๑๕ ๑๐:๒๐
ทริสเรทติ้งปรับเพิ่มอันดับเครดิตองค์กรของ บริษัท วิทยุการบินแห่งประเทศไทย จำกัด เป็นระดับ "AAA" จากเดิมที่ระดับ "AA+" ด้วยแนวโน้ม "Stable" หรือ "คงที่" โดยปัจจัยที่เป็นแรงหนุนในการปรับเพิ่มอันดับเครดิต ได้แก่ บริการขนส่งทางอากาศที่เติบโตอย่างมาก ตลอดจนสถานะสภาพคล่องของบริษัทที่แข็งแกร่งขึ้นและความสามารถของบริษัทในการปรับอัตราค่าบริการ อันดับเครดิตที่แข็งแกร่งขึ้นสะท้อนถึงการที่บริษัทได้รับการสนับสนุนจากรัฐบาลเนื่องจากบริษัทมีความสำคัญเชิงกลยุทธ์ต่อประเทศจากการเป็นหน่วยงานให้บริการการเดินอากาศของประเทศไทย อันดับเครดิตยังคงสะท้อนถึงสถิติด้านความปลอดภัยที่ดีและคณะผู้บริหารของบริษัทที่มีประสบการณ์ด้วย อย่างไรก็ตาม จุดแข็งดังกล่าวอาจได้รับผลกระทบเชิงลบจากความอ่อนไหวของอุตสาหกรรมการบินที่มีต่อความเสี่ยงจากเหตุการณ์ต่าง ๆ ตลอดจนภาระหนี้ที่อยู่ในระดับสูง และความจำเป็นในการลงทุนจำนวนมากของบริษัทในช่วง 2-3 ปีข้างหน้า

แนวโน้มอันดับเครดิต "Stable" หรือ "คงที่" สะท้อนถึงการเป็นผู้ให้บริการเพียงรายเดียวของประเทศไทยของบริษัทและการสนับสนุนอย่างเต็มที่จากภาครัฐ อันดับเครดิตของบริษัทอาจถูกปรับลดได้หากสภาพคล่องของบริษัทปรับตัวลดลงอย่างมาก หรือรัฐบาลลดสัดส่วนการถือหุ้นหรือปรับลดการสนับสนุนที่มีแก่บริษัทลง

บริษัทวิทยุการบินแห่งประเทศไทยเป็นรัฐวิสาหกิจที่มีรัฐบาลไทยถือหุ้น 91% และที่เหลืออีก 9% ถือหุ้นโดยบริษัทสายการบินต่าง ๆ รัฐบาลไทยในฐานะรัฐภาคีขององค์การการบินพลเรือนระหว่างประเทศ (International Civil Aviation Organization -- ICAO) มีหน้าที่รับผิดชอบให้การขนส่งทางอากาศมีความปลอดภัยและมีประสิทธิภาพโดยมีพื้นที่รับผิดชอบครอบคลุมเขตแถลงข่าวการบินกรุงเทพฯ (Bangkok Flight Information Region -- BKK FIR) ซึ่งประกอบไปด้วยพื้นที่บริเวณประเทศไทย อ่าวไทย และบางส่วนของทะเลอันดามัน โดยบริษัทได้รับมอบหมายจากรัฐบาลให้เป็นผู้ให้บริการควบคุมจราจรทางอากาศเพียงรายเดียวของประเทศ ซึ่งการให้บริการของบริษัทนั้นเป็นไปตามมาตรฐานและระเบียบวิธีปฎิบัติขององค์การการบินพลเรือนระหว่างประเทศ การดำเนินงานของบริษัทอยู่ภายใต้การกำกับดูแลจากภาครัฐผ่านกรมการบินพลเรือน กระทรวงคมนาคม โดยคณะกรรมการของบริษัทจำนวน 9 คนจาก 11 คนได้รับการแต่งตั้งโดยรัฐบาล ส่วนอีก 2 คนเป็นผู้แทนผู้ถือหุ้นที่เป็นบริษัทสายการบินสมาชิก ซึ่งคณะกรรมการที่เป็นตัวแทนของรัฐบาลประกอบด้วยผู้แทนจากกระทรวงคมนาคมและกระทรวงการคลัง ทั้งนี้ แผนวิสาหกิจและงบประมาณการลงทุนของบริษัทต้องได้รับความเห็นชอบจากกระทรวงคมนาคมและคณะรัฐมนตรี เนื่องจากบริษัทเป็นองค์กรไม่แสวงหากำไร วิธีคิดค่าบริการของบริษัทจึงยึดหลักการชดเชยต้นทุนที่เกิดขึ้นโดยสามารถปรับวิธีคิดค่าบริการได้ตามความเหมาะสม โดยการปรับเปลี่ยนอัตราค่าบริการควบคุมจราจรทางอากาศแต่ละครั้งจะต้องได้รับการอนุมัติจากคณะกรรมการการบินพลเรือน

รายได้ของบริษัทมากกว่า 90% มาจากการให้บริการจราจรทางอากาศ โดยคาดว่าการจราจรทางอากาศจะเติบโตไปในทิศทางเดียวกับการท่องเที่ยวและการเติบโตทางเศรษฐกิจโดยเฉพาะในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก แม้ว่าอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวจะมีความอ่อนไหวต่อความเสี่ยงจากเหตุการณ์ที่เหนือความคาดหมายต่าง ๆ แต่ก็มีการเติบโตอย่างมีนัยสำคัญจากการเพิ่มขึ้นของทั้งจำนวนนักท่องเที่ยวชาวไทยและนักท่องเที่ยวต่างชาติ โดยปริมาณเที่ยวบินที่ผ่านท่าอากาศยานของบริษัท ท่าอากาศยานไทย จำกัด (มหาชน) ทั้ง 6 แห่งเพิ่มขึ้นโดยเฉลี่ย 12% ต่อปีในระหว่างปีงบประมาณ 2553-2557 เนื่องจากการเพิ่มขึ้นของจำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติจากการที่ประเทศไทยเป็นจุดหมายที่เป็นที่นิยมและการเติบโตอย่างรวดเร็วของสายการบินต้นทุนต่ำ โดยในช่วงดังกล่าว อัตราการเติบโตของจำนวนเที่ยวบินภายในประเทศและเที่ยวบินระหว่างประเทศอยู่ระหว่าง 8%-18% ยกเว้นอัตราการเติบโตในระดับต่ำที่ 2.6% ของจำนวนเที่ยวบินระหว่างประเทศในปีงบประมาณ 2557 ที่ได้รับผลกระทบจากความขัดแย้งทางการเมืองภายในประเทศที่ยืดเยื้อ

นอกจากการเติบโตของปริมาณเที่ยวบินแล้ว บริษัทยังมีการปรับการคำนวณค่าบริการ 2-3 ครั้งในช่วง 4 ปีที่ผ่านมา ซึ่งช่วยให้รายได้ของบริษัทเพิ่มขึ้น 13%-16% ต่อปีในระหว่างปีงบประมาณ 2554-2556 และเพิ่มขึ้น 18.5% ในปีงบประมาณ 2557 โดยการเพิ่มขึ้นในปีงบประมาณ 2557 ยังรวมถึงการขึ้นค่าบริการในอัตรา 4% ด้วย สำหรับช่วง 6 เดือนแรกของปีงบประมาณ 2558 รายได้ของบริษัทยังคงเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องที่ระดับ 9.3% จากช่วงเดียวกันของปีก่อนสู่ระดับ 5,259 ล้านบาทตามการเติบโตของปริมาณเที่ยวบิน หลังจากที่บริษัทมีค่าบริการรอเรียกเก็บจากบริษัทสายการบินสมาชิกในช่วงปีงบประมาณ 2552 และปีงบประมาณ 2553 เนื่องจากภาวะเศรษฐกิจที่ถดถอยและความวุ่นวายทางการเมือง บริษัทกลับมีค่าบริการเรียกเก็บเกินจากบริษัทสายการบินสมาชิกจำนวน 377 ล้านบาทในปีงบประมาณ 2554 และเพิ่มขึ้นเป็น 1,756 ล้านบาทในปีงบประมาณ 2557 และ 982 ล้านบาทในช่วง 6 เดือนแรกของปีงบประมาณ 2558

เงินกู้รวมของบริษัทลดลงจาก 4,683 ล้านบาทในปีงบประมาณ 2556 เป็น 3,717 ล้านบาท ณ สิ้นเดือนมีนาคม 2558 ซึ่งส่งผลให้อัตราส่วนเงินกู้รวมต่อโครงสร้างเงินทุนปรับตัวดีขึ้นโดยลดลงสู่ระดับ 81% ในช่วง 6 เดือนแรกของปีงบประมาณ 2558 จากระดับ 85% ในปีงบประมาณ 2556 อย่างไรก็ตาม คาดว่าอัตราส่วนเงินกู้รวมต่อโครงสร้างเงินทุนจะเพิ่มสูงขึ้นเนื่องจากบริษัทมีแผนการลงทุนจำนวน 8,400 ล้านบาทในช่วง 3 ปีข้างหน้า โดยการลงทุนหลักคือการลงทุนในโครงการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานระบบบริการการเดินอากาศมูลค่าประมาณ 4,500 ล้านบาท โครงการดังกล่าวจะเป็นการติดตั้งระบบควบคุมการจราจรทางอากาศแบบใหม่โดยใช้เทคโนโลยีดาวเทียม ซึ่งระบบใหม่นี้จะช่วยปรับปรุงความสามารถของบริษัทในการจัดการการจราจรทางอากาศที่เพิ่มขึ้นอย่างมากในอนาคต ทั้งนี้ โครงการเริ่มดำเนินการแล้วในปีงบประมาณ 2557 จนถึงปัจจุบันมีการเบิกจ่ายเงินลงทุนแล้ว 20% โดยบริษัทได้ทำสัญญากู้ยืมระยะยาวจำนวน 3,480 ล้านบาทสำหรับโครงการลงทุนนี้ ทริสเรทติ้งคาดว่าอัตราส่วนเงินกู้รวมต่อโครงสร้างเงินทุนของบริษัทจะกลับเพิ่มสูงขึ้นถึง 85%-88% ในช่วง 3 ปีข้างหน้า

เงินทุนจากการดำเนินงานของบริษัทอยู่ที่ระดับมากกว่า 2,000 ล้านบาทในปีงบประมาณ 2556 โดยเพิ่มขึ้นสู่ระดับ 2,815 ล้านบาทในปีงบประมาณ 2557 และอยู่ในระดับ 1,768 ล้านบาทในช่วง 6 เดือนแรกของปีงบประมาณ 2558 ซึ่งส่งผลให้อัตราส่วนเงินทุนจากการดำเนินงานต่อเงินกู้รวมปรับตัวดีขึ้นจาก 43.7% ในปีงบประมาณ 2556 เป็น 69.7% ในปีงบประมาณ 2557 และ 78.8% (ปรับเป็นอัตราส่วนเต็มปีด้วยตัวเลข 12 เดือนย้อนหลัง) ในช่วง 6 เดือนแรกของปีงบประมาณ 2558 ในขณะที่อัตราส่วนกำไรก่อนดอกเบี้ยจ่าย ภาษี ค่าเสื่อมราคา และค่าตัดจำหน่าย (EBITDA) ต่อดอกเบี้ยจ่ายปรับตัวเพิ่มขึ้นจาก 11.6 เท่าในปีงบประมาณ 2556 เป็น 19.9 เท่าในปีงบประมาณ 2557 และ 29 เท่าในช่วง 6 เดือนแรกของปีงบประมาณ 2558 ณ สิ้นเดือนมีนาคม 2558 บริษัทมีความคล่องตัวทางการเงินเพิ่มขึ้นจากการมีเงินสดจำนวน 3,395 ล้านบาทและมีวงเงินกู้ยืมจากธนาคารที่ยังไม่ได้เบิกใช้อีกจำนวน 880 ล้านบาท โดยบริษัทมีภาระหนี้ที่จะครบกำหนดชำระประมาณ 600 ล้านบาทต่อปีในช่วง 3 ปีข้างหน้า ในอนาคตทริสเรทติ้งคาดว่าอัตราส่วนความสามารถในการชำระหนี้ของบริษัทจะไม่ลดต่ำลงไปกว่าระดับ 1.5 เท่า

ในปี 2558 องค์การการบินพลเรือนระหว่างประเทศได้ประกาศว่าประเทศไทยมีข้อบกพร่องที่มีนัยสำคัญต่อความปลอดภัยทางการบิน โดยข้อบกพร่องดังกล่าวประกอบด้วยกระบวนการรับรองผู้ดำเนินการเดินอากาศของกรมการบินพลเรือนและการรับรองการขนส่งสินค้าอันตราย ซึ่งส่งผลให้บางประเทศระงับเที่ยวบินเช่าเหมาลำจากสายการบินที่จดทะเบียนในประเทศไทย นอกจากนี้ กระบวนการอนุมัติเส้นทางบินใหม่ก็เข้มงวดยิ่งขึ้น การที่องค์การการบินพลเรือนระหว่างประเทศได้แสดงให้เห็นถึงความตั้งใจที่จะให้ความช่วยเหลือและชี้แนะแก่กรมการบินพลเรือนในการปรับปรุงแก้ไขกระบวนการปฏิบัติงานดังกล่าวเพื่อให้เป็นไปตามมาตรฐานขององค์การการบินพลเรือนระหว่างประเทศนั้น ทริสเรทติ้งคาดว่าสถานการณ์ดังกล่าวจะดีขึ้นในเร็ว ๆ นี้ ทั้งนี้ ผลกระทบจากความกังวลขององค์การการบินพลเรือนระหว่างประเทศอาจส่งผลทำให้อัตราการเติบโตของการบินในบางเส้นทางที่ตั้งเป้าหมายไว้ลดลง การที่บริษัทมีสภาพคล่องจำนวนมากน่าจะช่วยลดผลกระทบจากกรณีดังกล่าวลงไปได้บางส่วนหากบริษัทมีค่าบริการรอเรียกเก็บจากบริษัทสายการบินสมาชิกในระยะปานกลาง

บริษัท วิทยุการบินแห่งประเทศไทย จำกัด (AEROTHAI)

อันดับเครดิตองค์กร: AAA

แนวโน้มอันดับเครดิต: Stable

ข่าวประชาสัมพันธ์ล่าสุด

๑๖:๑๑ เปิดโพล! สงกรานต์ คนไทยยังอยาก รวย อวย Soft Power เสื้อลายดอก-กางเกงช้าง ต้องใส่สาดน้ำ
๑๖:๓๖ ฮีทสโตรก : ภัยหน้าร้อน อันตรายถึงชีวิต
๑๖:๐๐ STX เคาะราคา IPO 3.00 บาท/หุ้น เปิดจองซื้อ 18,19 และ 22 เม.ย. นี้ ปักธงเทรด mai 26 เมษายน 67
๑๖:๓๗ ถอดบทสัมภาษณ์คุณอเล็กซานเดอร์ ฟาบิก (Alexander Fabig) และคุณปีเตอร์ โรห์เวอร์ (Peter Rohwer) ผู้เชี่ยวชาญ
๑๖:๑๖ HIS MSC จัดงานสัมมนา The SuperApp ERP for Hotel
๑๖:๒๑ ที่สุดแห่งปี! ครบรอบ 20 ปี TDEX (Thailand Dive Expo) มหกรรมธุรกิจท่องเที่ยวดำน้ำระดับเอเชีย งานเดียวที่นักดำน้ำรอคอย
๑๗ เม.ย. เคทีซีเสนอดอกเบี้ยพิเศษ 19.99% ต่อปี แบ่งเบาภาระสมาชิกใหม่บัตรกดเงินสด เคทีซี พราว
๑๗ เม.ย. ก.ล.ต. นับหนึ่งไฟลิ่ง CHAO เตรียมเสนอขาย IPO ไม่เกิน 87.7 ล้านหุ้น ระดมทุนเข้าจดทะเบียนใน SET
๑๗ เม.ย. แอร์เอเชีย บิน สุวรรณภูมิ-หาดใหญ่ เริ่มต้น 1,000 บาทต่อเที่ยว* เสริมทัพหาดใหญ่ บินเลือกได้ทั้งดอนเมืองและสุวรรณภูมิ!
๑๗ เม.ย. YONG จัดประชุมสามัญผู้ถือหุ้นปี 2567 ผถห.ไฟเขียวทุกวาระ อนุมัติจ่ายเงินปันผล ในอัตรา 0.08 บาท/หุ้น