ทริสเรทติ้งคงอันดับเครดิตองค์กร &หุ้นกู้ไม่ด้อยสิทธิ ไม่มีหลักประกัน และแนวโน้ม “บ. อิตาเลียนไทย ดีเวล๊อปเมนต์” ที่ “BBB-/Stable”

จันทร์ ๑๙ ตุลาคม ๒๐๑๕ ๑๐:๐๘
ทริสเรทติ้งคงอันดับเครดิตองค์กรและหุ้นกู้ไม่ด้อยสิทธิ ไม่มีหลักประกันของ บริษัท อิตาเลียนไทย ดีเวล๊อปเมนต์ จำกัด (มหาชน) ที่ระดับ "BBB-" ด้วยแนวโน้ม "Stable" หรือ "คงที่" โดยอันดับเครดิตสะท้อนถึงสถานะที่มั่นคงของบริษัทในธุรกิจรับเหมาก่อสร้างภายในประเทศ ตลอดจนผลงานที่เป็นที่ยอมรับทั้งในโครงการก่อสร้างภาครัฐและเอกชน โครงการที่ยังไม่ส่งมอบ (Backlog) ขนาดใหญ่และมีความหลากหลาย และความสามารถในการรับงานก่อสร้างหลายประเภททั้งในประเทศและต่างประเทศ อย่างไรก็ตาม ความแข็งแกร่งดังกล่าวถูกลดทอนบางส่วนจากการความสามารถในการทำกำไรที่ลดลง รวมทั้งภาระหนี้ที่สูง ความเสี่ยงจากการดำเนินโครงการระยะยาว และวัฏจักรของธุรกิจรับเหมาก่อสร้าง

แนวโน้มอันดับเครดิต "Stable" หรือ "คงที่" สะท้อนถึงความคาดหมายว่าบริษัทจะสามารถประมูลงานใหม่จำนวนมากได้อย่างต่อเนื่อง อีกทั้งจะยังคงรักษาสถานะทางการตลาดที่แข็งแกร่งเอาไว้ได้ท่ามกลางภาวะแวดล้อมที่ยากลำบาก อีกทั้งเพิ่มความสามารถในการทำกำไรได้ นอกจากนี้ บริษัทยังสามารถเพิ่มความเข้มแข็งของโครงสร้างเงินทุนซึ่งจะช่วยให้บริษัทสามารถดำเนินงานในโครงการระยะยาวได้โดยที่ยังคงความสามารถในการรักษาอัตราส่วนเงินกู้รวมต่อโครงสร้างเงินทุนให้ต่ำกว่า 70% หรืออัตราส่วนเงินกู้ต่อส่วนของผู้ถือหุ้นให้อยู่ในระดับต่ำกว่า 2.3 เท่าได้ในช่วงปี 2558-2561

โอกาสในการปรับเพิ่มอันดับเครดิตในช่วง 12-18 เดือนข้างหน้ามีค่อนข้างจำกัดเนื่องจากสถานะการเงินที่อ่อนแอของบริษัท ในขณะที่อันดับเครดิต/และหรือแนวโน้มอันดับเครดิตอาจปรับลดลงได้ หากความสามารถในการทำกำไรของบริษัทยังคงถดถอย หรือบริษัทมีการกู้ยืมเงินจำนวนมากเพื่อใช้ลงทุนจนเป็นสาเหตุให้อัตราส่วนเงินกู้รวมต่อโครงสร้างเงินทุนอยู่ในระดับเกินกว่า 70%

บริษัทอิตาเลียนไทย ดีเวล๊อปเมนต์มีสถานะทางธุรกิจที่แข็งแกร่งจากการมีสถานะผลงานที่มั่นคงยาวนานและเป็นที่ยอมรับในหมู่ผู้ประกอบการรายใหญ่ในประเทศ บริษัทเป็นผู้รับเหมาก่อสร้างซึ่งจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยที่มีรายได้สูงสุดในธุรกิจรับเหมาก่อสร้าง โดยบริษัทมีรายได้รวมในปี 2557 อยู่ที่ 4.8 หมื่นล้านบาทและ 2.39 หมื่นล้านบาทในครึ่งแรกของปี 2558 สถานะทางธุรกิจของบริษัทยังได้รับแรงหนุนจากการมีผลงานที่เป็นที่ยอมรับทั้งในโครงการภาครัฐและเอกชน ทั้งประสบการณ์และทรัพยากรที่มีอยู่ช่วยทำให้บริษัทสามารถรับงานก่อสร้างได้หลากหลายประเภท บริษัทรับงานก่อสร้างทั่วประเทศซึ่งช่วยให้บริษัทมีกลุ่มลูกค้าที่หลากหลาย ทั้งนี้ จุดแข็งดังกล่าวช่วยให้บริษัทลดความเสี่ยงจากการระจุกตัวที่เกิดจากทั้งจำนวนลูกค้า ประเภทงาน และทำเลที่ตั้งโครงการ

นอกจากธุรกิจรับเหมาก่อสร้างภายในประเทศซึ่งเป็นธุรกิจหลักแล้ว บริษัทยังพยายามกระจายฐานรายได้โดยการขยายงานไปในต่างประเทศและแสวงหาโอกาสทางธุรกิจใหม่ ๆ ด้วย รายได้จากต่างประเทศส่วนใหญ่มาจากโครงการก่อสร้างในประเทศอินเดียผ่านการดำเนินงานของบริษัทลูกรายหนึ่งที่บริษัทถือหุ้นส่วนใหญ่ นอกจากนี้บริษัทยังมีโครงการลงทุนระยะยาวอีก 5 โครงการ ได้แก่ โครงการเหมืองแร่โปแตชในประเทศไทย โครงการนิคมอุตสาหกรรมในประเทศพม่า โครงการทางด่วนในประเทศบังคลาเทศ โครงการเหมืองแร่ Bauxite และโรงงาน Alumina ในประเทศลาว และโครงการสัมปทานก่อสร้างทางรถไฟและท่าเรือน้ำลึกในประเทศโมซัมบิก โดยในปัจจุบัน บริษัทยังไม่มีการรับรู้รายได้จากการก่อสร้างหรือมีรายได้จากโครงการเหล่านี้แต่อย่างใด เนื่องจากยังต้องใช้เวลานานในการพัฒนาโครงการ

อันดับเครดิตของบริษัทอ่อนแอลงจากความสามารถในการทำกำไรที่ลดลงทั้งจากโครงการในประเทศและต่างประเทศ โดยบริษัทรายงานผลกำไรที่ลดลงในปีที่ผ่านมา กำไรจากการดำเนินงานถูกลดทอนด้วยภาระดอกเบี้ยจ่ายจำนวนมาก บริษัทรายงานผลขาดทุนในช่วงครึ่งแรกของปี 2558 ทั้งนี้ อันดับเครดิตของบริษัทก็ถูกจำกัดจากโครงสร้างเงินทุนที่มีภาระหนี้สูงด้วยเช่นกัน ทั้งนี้ ภาระหนี้ของบริษัทมาจากการกู้ยืมเพื่อโครงการลงทุนระยะยาวและเพื่อใช้เป็นเงินทุนหมุนเวียนซึ่งส่งผลให้บริษัทมีภาระดอกเบี้ยจำนวนมากและมีสถานะการเงินอ่อนแอลง ในการสร้างความหลากหลายของธุรกิจทำให้บริษัทเผชิญกับความเสี่ยงสูงจากการดำเนินโครงการ โดยเฉพาะความเสี่ยงของประเทศที่เข้าไปลงทุน รวมทั้งความเสี่ยงด้านกฎระเบียบซึ่งส่งผลกระทบอย่างมากต่อประโยชน์จากการลงทุน เช่นเดียวกับบริษัทรับเหมาก่อสร้างอื่น ๆ บริษัทต้องเผชิญกับวัฏจักรของธุรกิจรับเหมาก่อสร้าง ทั้งนี้ ในช่วงวัฏจักรขาลงจะส่งผลกระทบต่อกระแสรายได้ของบริษัทด้วยเช่นกัน

ณ เดือนมิถุนายน 2558 บริษัทมีมูลค่างานในมือที่ยังไม่ส่งมอบจำนวน 2.29 แสนล้านบาท โดยมูลค่างานดังกล่าวรวมโครงการสัมปทานก่อสร้างทางรถไฟและท่าเรือน้ำลึกในประเทศโมซัมบิกมูลค่า 1.12 แสนล้านบาท รวมถึงโครงการสัมปทานทางด่วนในประเทศบังคลาเทศมูลค่า 3.78 หมื่นล้านบาท ซึ่งงานก่อสร้างหลักของทั้ง 2 โครงการยังไม่ได้เริ่มดำเนินการ นอกจากนี้ บริษัทยังมีโครงการเหมืองหงสาในประเทศลาวมูลค่าอีก 2.52 หมื่นล้านบาทซึ่งจะทยอยรับรู้เป็นรายได้เป็นระยะเวลา 15 ปีด้วย หากไม่นับรวมโครงการสัมปทานในประเทศโมซัมบิกและโครงการทางด่วนในบังคลาเทศแล้ว มูลค่างานในมือของบริษัทจะสามารถรับรู้เป็นรายได้ประมาณ 20%-40% ของรายได้ในปี 2558-2560

สถานะทางการเงินของบริษัทในช่วง 12 เดือนที่ผ่านมาต่ำกว่าประมาณการพื้นฐานของทริสเรทติ้ง แม้ว่ารายได้ในครึ่งแรกของปี 2558 จะเพิ่มขึ้น 5.4% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อนก็ตาม อัตราส่วนกำไร (อัตราส่วนกำไรจากการดำเนินงานก่อนค่าเสื่อมราคาและค่าตัดจำหน่ายต่อรายได้) ของบริษัทในครึ่งแรกของปี 2558 อยู่ที่ 5.2% ลดลงจาก 8.4% ในปี 2557 โดยส่วนหนึ่งเนื่องมาจากการตั้งค่าเผื่อหนี้สงสัยจะสูญของ ITD Cementation India Ltd. (ITD Cem) มูลค่า 621 ล้านบาท อัตราส่วนเงินกู้รวมต่อโครงสร้างเงินทุน ณ เดือนมิถุนายน 2558 ของบริษัทเท่ากับ 69% เพิ่มขึ้นจาก 66.8% ในปี 2557 จากการเพิ่มขึ้นของลูกหนี้การค้าจากโครงการรถไฟฟ้า อัตราส่วนเงินทุนจากการดำเนินงานต่อเงินกู้รวมของบริษัทในครึ่งแรกของปี 2558 (ปรับอัตราส่วนให้เป็นตัวเลขเต็มปีด้วยตัวเลข 12 เดือนย้อนหลัง) อยู่ที่ 6.85% ลดลงจาก 8.23% ในปี 2557 ในขณะที่อัตราส่วนเงินกู้สุทธิต่อส่วนของส่วนของผู้ถือหุ้นเพิ่มขึ้นเป็น 2.1 เท่า ณ เดือนมิถุนายน 2558 ซึ่งใกล้เคียงกับเงื่อนไขของหุ้นกู้ชุดหนึ่งที่ต้องไม่เกิน 2.5 เท่า

ในช่วงปี 2558-2561 ประมาณการพื้นฐานของทริสเรทติ้งคาดว่าบริษัทจะมีรายได้ (ไม่รวมรายได้จากโครงการระยะยาว 5 โครงการ) อยู่ในช่วง 4.5-5.5 หมื่นล้านบาทต่อปี อัตราส่วนกำไรจากการดำเนินงานของบริษัทน่าจะอยู่ในระดับค่อนข้างคงที่และโดยเฉลี่ยน่าจะอยู่สูงกว่า 8% อัตราส่วนเงินกู้รวมต่อโครงสร้างเงินทุนของบริษัทคาดว่าจะอยู่ในช่วง 65%-70% หรืออัตราส่วนเงินกู้ต่อส่วนของผู้ถือหุ้นอยู่ที่ 2-2.3 เท่า ทั้งนี้ภาระหนี้สินในระดับดังกล่าวจะส่งผลให้อัตราส่วนเงินกู้ต่อส่วนของผู้ถือหุ้นของบริษัทเข้าใกล้เพดานสูงสุดที่กำหนดไว้ในเงื่อนไขของหุ้นกู้ที่ไม่ให้เกิน 2.5 เท่า บริษัทน่าจะสามารถสร้างกระแสเงินทุนจากการดำเนินงานได้อย่างน้อย 2,500 ล้านบาทต่อปี ค่าใช้จ่ายฝ่ายทุนของบริษัทคาดว่าจะอยู่ในระดับ 2,000-2,500 ล้านบาทต่อปี ยกเว้นในปี 2558 ที่ค่าใช้จ่ายฝ่ายทุนอาจปรับเพิ่มขึ้นอีกประมาณ 1,000 ล้านบาทเพื่อการลงทุนในโครงการหงสา อัตราส่วนเงินทุนจากการดำเนินงานต่อเงินกู้รวมน่าจะอยู่ในระดับสูงกว่า 8% ในขณะที่อัตราส่วนกำไรก่อนดอกเบี้ยจ่าย ภาษี ค่าเสื่อมราคา และค่าตัดจำหน่ายต่อดอกเบี้ยจ่ายน่าจะอยู่ในระดับที่สูงกว่า 2 เท่า

บริษัท อิตาเลียนไทย ดีเวล๊อปเมนต์ จำกัด (มหาชน) (ITD)

อันดับเครดิตองค์กร: BBB-

อันดับเครดิตตราสารหนี้:

ITD166A: หุ้นกู้ไม่ด้อยสิทธิ ไม่มีหลักประกัน 3,500 ล้านบาท ไถ่ถอนปี 2559 BBB-

ITD196A: หุ้นกู้ไม่ด้อยสิทธิ ไม่มีหลักประกัน 6,000 ล้านบาท ไถ่ถอนปี 2562 BBB-

แนวโน้มอันดับเครดิต: Stable

ข่าวประชาสัมพันธ์ล่าสุด

๑๙ เม.ย. บิทูเมน มารีน บริษัทลูก TASCO ลงนามสัญญาต่อเรือขนส่งยางมะตอย เสริมศักยภาพกองเรือ
๑๙ เม.ย. รมว.เกษตรฯ ลุยร้อยเอ็ด ผลักดันโครงการพัฒนาแหล่งน้ำ 3 แห่ง
๑๙ เม.ย. กูรูหุ้นเชียร์ซื้อ PSP เคาะเป้าราคาสูงสุด 8 บ./หุ้น ยอดขายพุ่ง-หนี้ลด ดันกำไรปี 67 ออลไทม์ไฮ ดีล MA สร้าง New S-Curve
๑๙ เม.ย. ข้าวกล้อง-จักรีภัทร พร้อมเต็มร้อย! ประเดิม จูเนียร์จีพี สนามแรก ประเทศอิตาลี
๑๙ เม.ย. กรมประมงขอเชิญร่วมแข่งขันตกปลาชะโด
๑๙ เม.ย. เชลล์ดอน การ์ตูนดังร่วมสาดความสนุกในเทศกาลสงกรานต์
๑๙ เม.ย. สปสช. ติดปีกเทคโนโลยีไอทีด้วยคลาวด์กลางภาครัฐ GDCC ยกระดับบริการบัตรทองรวดเร็วทันสมัย ดูแลสุขภาพคนไทยยุคดิจิทัล
๑๙ เม.ย. GSK ร่วมงาน Re-imagining UK Aging Care Event ของสถานทูตอังกฤษ มุ่งสร้างเสริมภูมิคุ้มกันผู้สูงอายุ
๑๙ เม.ย. เอส เอฟ จับมือ กปน. มอบสิทธิ์ดูฟรีรวม 1,000 ที่นั่ง เพียงใช้ MWA Point ที่ เอส เอฟ!!
๑๙ เม.ย. เตรียมพร้อมนับถอยหลัง 12 ชั่วโมงสุดท้าย! ก่อนเริ่มประวัติศาสตร์ครั้งใหม่ Bitcoin Halving ครั้งที่ 4