ทริสเรทติ้งคงอันดับเครดิตองค์กร &หุ้นกู้ไม่ด้อยสิทธิ ไม่มีหลักประกัน และแนวโน้ม “บ. น้ำตาลมิตรผล” ที่ “A+/Stable”

พุธ ๒๔ กุมภาพันธ์ ๒๐๑๖ ๐๘:๓๑
ทริสเรทติ้งคงอันดับเครดิตองค์กรและหุ้นกู้ไม่ด้อยสิทธิ ไม่มีหลักประกันของ บริษัท น้ำตาลมิตรผล จำกัด ที่ระดับ "A+" ด้วยแนวโน้ม "Stable" หรือ "คงที่" อันดับเครดิตสะท้อนถึงสถานะทางการตลาดที่แข็งแกร่งของบริษัทในอุตสาหกรรมน้ำตาลในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก การกระจายตัวทางด้านการดำเนินงานในเชิงภูมิศาสตร์ แบรนด์สินค้าที่มีชื่อเสียง กระบวนการผลิตน้ำตาลที่มีประสิทธิภาพ และการมีแหล่งรายได้ที่หลากหลาย อย่างไรก็ตาม อันดับเครดิตถูกลดทอนบางส่วนจากความเป็นวัฏจักรของราคาน้ำตาล ความผันผวนของปริมาณผลผลิตอ้อยรวมถึงความเสี่ยงด้านกฎระเบียบของธุรกิจในต่างประเทศ

แนวโน้มอันดับเครดิต "Stable" หรือ "คงที่" สะท้อนถึงการคาดการณ์ของทริสเรทติ้งว่ากลุ่มมิตรผลจะยังคงดำรงสถานะผู้นำในอุตสาหกรรมน้ำตาลทั้งในประเทศไทยและจีนได้ต่อไป การมีแหล่งรายได้ที่หลากหลายจะช่วยให้บริษัทสามารถประคองตัวอยู่ได้ในช่วงที่ราคาน้ำตาลในตลาดโลกอยู่ในระดับต่ำ ทั้งนี้ ปัจจัยที่มีผลเชิงลบต่ออันดับเครดิตได้แก่ราคาน้ำตาลที่ตกต่ำอย่างมากจนส่งผลให้อัตรากำไรจากการดำเนินงานของบริษัทลดลง หรือการลงทุนขนาดใหญ่ที่ทำให้อัตราส่วนเงินกู้รวมต่อโครงสร้างทุนอ่อนแอลง ในขณะที่ปัจจัยเชิงบวกต่ออันดับเครดิตของบริษัทในระยะสั้นมีอยู่ไม่มากเนื่องจากการฟื้นตัวของราคาน้ำตาลยังไม่มีเสถียรภาพ

บริษัทน้ำตาลมิตรผลก่อตั้งในปี 2489 โดยตระกูลว่องกุศลกิจซึ่งถือหุ้นในบริษัทเต็ม 100% ผ่าน บริษัท น้ำตาลมิตรสยาม จำกัด บริษัทน้ำตาลมิตรผลมีโรงงานน้ำตาลในประเทศไทย จีน ลาว และออสเตรเลีย ในฤดูการผลิต 2557/2558 บริษัทมีผลผลิตน้ำตาลจาก 4 ประเทศรวมทั้งสิ้น 3.97 ล้านตัน

บริษัทเป็นผู้นำในอุตสาหกรรมอ้อยและน้ำตาลในประเทศไทยมาอย่างยาวนานโดยเป็นผู้ผลิตน้ำตาลรายใหญ่ที่สุดในประเทศไทย ทั้งนี้ ในฤดูการผลิต 2557/2558 โรงงานในประเทศไทยของบริษัทผลิตน้ำตาลได้ 2.3 ล้านตัน หรือคิดเป็นสัดส่วน 20.4% ของปริมาณน้ำตาลทั้งประเทศ บริษัทยังเป็นเจ้าของและบริหารโรงงานน้ำตาล 6 แห่งในประเทศจีนโดยมีผลผลิตน้ำตาล 1.06 ล้านตันในปีการผลิต 2557/2558 ปัจจุบันบริษัทมีส่วนแบ่งทางการตลาด 8.7% ในประเทศจีนซึ่งถือเป็นผู้ผลิตน้ำตาลรายใหญ่อันดับ 2 ส่วนโรงงานน้ำตาลของบริษัทในประเทศลาว และในประเทศออสเตรเลียผลิตน้ำตาลรวมกันได้ 0.7 ล้านตันในฤดูการผลิต 2557/2558 นอกเหนือจากธุรกิจน้ำตาลแล้ว บริษัทยังขยายการลงทุนไปยังธุรกิจที่เกี่ยวเนื่องกับอ้อยและน้ำตาลเพื่อใช้ประโยชน์สูงสุดจากอ้อยรวมถึงขยายไปธุรกิจอื่นที่เกี่ยวข้องด้วย อาทิ ธุรกิจผลิตไฟฟ้า ธุรกิจผลิตเอทานอล ธุรกิจผลิตวัสดุทดแทนไม้และธุรกิจโลจิสติกส์

ในปี 2557 บริษัทมีรายได้รวม 89,378 ล้านบาท ธุรกิจน้ำตาลเป็นธุรกิจที่สร้างรายได้ในสัดส่วนที่สูงที่สุดคิดเป็น 80% ของรายได้รวม โดยรายได้จากธุรกิจน้ำตาลในไทยมีสัดส่วน 44% ในขณะที่รายได้จากประเทศจีนมีสัดส่วน 29% ของรายได้รวม ส่วนรายได้จากธุรกิจน้ำตาลในประเทศลาวและออสเตรเลียมีสัดส่วน 7% รายได้จากธุรกิจไฟฟ้าและเอทานอลคิดเป็น 15% ของรายได้รวม

การกระจายตัวทางด้านการดำเนินงานช่วยสนับสนุนการดำเนินงานของบริษัทในช่วง 9 เดือนแรกของปี 2558 ท่ามกลางราคาน้ำตาลทรายที่ลดลงต่อเนื่อง ธุรกิจน้ำตาลในประเทศไทยได้รับผลกระทบจากราคาขายน้ำตาลทรายที่ลดลง 12.9% แต่ผลกระทบดังกล่าวได้รับการชดเชยจากการฟื้นตัวของธุรกิจน้ำตาลในประเทศจีนและธุรกิจวัสดุทดแทนไม้ ในขณะที่ธุรกิจเอทานอลและไฟฟ้ายังคงสร้างกำไรในระดับที่ดีต่อเนื่อง อัตรากำไรจากการดำเนินงานก่อนค่าเสื่อมราคาและค่าตัดจำหน่ายของบริษัทรวมกำไรหรือขาดทุนจากการซื้อขายน้ำตาลล่วงหน้า ปรับตัวดีขึ้นเป็น 18.6% ในช่วง 9 เดือนแรกของปี 2558 จาก 15.8% ในช่วงเดียวกันของปีก่อน เนื่องจากธุรกิจน้ำตาลในประเทศจีนมีผลการดำเนินงานที่ดีขึ้นอย่างมากเนื่องจากต้นทุนอ้อยที่ลดลง 9% ขณะที่ราคาขายน้ำตาลในประเทศจีนปรับตัวสูงขึ้น 31.8% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน จากผลผลิตน้ำตาลในประเทศจีนลดลงมากกว่า 10% จากพื้นที่เพาะปลูกอ้อยที่ลดลงและอากาศที่ไม่เอื้ออำนวย ธุรกิจไฟฟ้าและเอทานอลในประเทศไทยยังคงมีผลการดำเนินงานที่ดีจากนโยบายของรัฐบาลที่ยังคงสนับสนุนการใช้พลังงานทางเลือก ส่วนธุรกิจวัสดุทดแทนไม้มีอัตรากำไรที่สูงขึ้นจากต้นทุนวัตถุดิบที่ลดลง กำไรก่อนดอกเบี้ยจ่าย ภาษี ค่าเสื่อมราคา และค่าตัดจำหน่าย (EBITDA) ของบริษัทอยู่ที่ 14,216 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 8.3% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน บริษัทมีเงินทุนจากการดำเนินงานทรงตัวอยู่ที่ 11,410 ล้านบาทเนื่องจากบริษัทมีผลขาดทุนจากอัตราแลกเปลี่ยนจำนวน 775 ล้านบาทแต่บริษัทได้รับเงินชดเชยจากกองทุนอ้อยและน้ำตาลทราย เนื่องจากราคาอ้อยขั้นสุดท้ายในฤดูการผลิต 2557/2558 ต่ำกว่าราคาอ้อยขั้นต้น ซึ่งตาม พรบ. อ้อยและน้ำตาลทรายระบุว่าหากราคาอ้อยขั้นสุดท้ายต่ำกว่าราคาอ้อยขั้นต้น กองทุนอ้อยและน้ำตาลทรายต้องจ่ายส่วนต่างให้กับโรงงานน้ำตาลตามระบบการแบ่งปันรายได้ของอุตสาหกรรมน้ำตาลทราย ขณะที่ชาวไร่ไม่ต้องคืนส่วนต่างราคาอ้อย เงินชดเชยนี้ทำให้บริษัทมีรายได้อื่นเพิ่มขึ้น 665 ล้านบาท อัตราส่วน EBITDA ต่อดอกเบี้ยจ่ายอยู่ที่ระดับ 7.5 เท่าถือว่าน่าพอใจในช่วงที่อุตสาหกรรมน้ำตาลอยู่ในภาวะตกต่ำ อัตราส่วนเงินทุนจากการดำเนินงานต่อเงินกู้รวมยังอยู่ในระดับเพียงพอที่ 19.1% ในปี 2557 และ 22.0% (ปรับเป็นอัตราส่วนเต็มปีด้วยผลการดำเนินงานย้อนหลัง 12 เดือน) ในช่วง 9 เดือนแรกของปี 2558 อัตราส่วนการก่อหนี้ของบริษัทอยู่ในระดับปานกลาง โดยอัตราส่วนเงินกู้รวมต่อโครงสร้างเงินทุนอยู่ในระดับ 48%-51% ในช่วงสิ้นปี 2555 จนถึงเดือนกันยายน 2558

ราคาน้ำตาลทรายดิบในตลาดโลกได้ฟื้นตัวขึ้นจากราคาเฉลี่ย 12 เซนต์ต่อปอนด์ในช่วงไตรมาสที่ 4 ของปี 2558 มาอยู่ในระดับ 13-15 เซนต์ต่อปอนด์ในช่วงต้นปี 2559 การฟื้นตัวของราคาน้ำตาลทรายส่วนหนึ่งเป็นผลจากสภาพอากาศที่ไม่เอื้ออำนวยต่อการเพาะปลูก ซึ่งคาดว่าจะทำให้ประเทศผู้ผลิตน้ำตาลทรายที่สำคัญของโลกอาทิ เช่น ประเทศไทย อินเดีย จีน มีผลผลิตน้ำตาลลดลงในฤดูการผลิต 2558/2559 ทำให้ดุลน้ำตาลของโลกในฤดูการผลิต 2558/2559 อยู่ในสถานะขาดดุลเป็นปีแรกหลังจากที่น้ำตาลโลกเกินดุลมา 5 ปีติดต่อกัน อย่างไรก็ตาม การฟื้นตัวของราคาน้ำตาลยังมีความไม่แน่นอน เนื่องจากการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลกที่ยังไม่ชัดเจน การอ่อนค่าของเงินเรียลของประเทศบราซิลรวมถึงแนวโน้มผลผลิตน้ำตาลที่จะสูงขึ้นของประเทศบราซิลซึ่งเป็นผู้ส่งออกน้ำตาลรายใหญ่ของโลก ในกรณีฐานคาดว่าบริษัทจะมี EBITDA ปีละประมาณ 15,000 ล้านบาท บริษัทมีค่าใช้จ่ายลงทุนประจำเฉลี่ย 5,000 ล้านบาทต่อปี และบริษัทได้รับอนุมัติจากคณะกรรมการอ้อยและน้ำตาลทรายให้เพิ่มกำลังการหีบน้ำตาลรวม 84.000 ตันอ้อยต่อวัน คาดว่าใช้เงินลงทุนประมาณ 20,000 ล้านบาทซึ่งจะมีการทยอยลงทุนเป็นลำดับ ดังนั้นคาดว่าบริษัทจะมีอัตราส่วนเงินทุนจากการดำเนินงานต่อเงินกู้รวมอยู่ในระดับ 20%-25% และมีอัตราส่วน EBITDA ต่อดอกเบี้ยจ่ายอยู่ในระดับ 6-7 เท่า

บริษัท น้ำตาลมิตรผล จำกัด (MPSC)

อันดับเครดิตองค์กร: A+

อันดับเครดิตตราสารหนี้:

MPSC165A: หุ้นกู้ไม่ด้อยสิทธิ ไม่มีหลักประกัน 600 ล้านบาท ไถ่ถอนปี 2559 A+

MPSC16OA: หุ้นกู้ไม่ด้อยสิทธิ ไม่มีหลักประกัน 1,000 ล้านบาท ไถ่ถอนปี 2559 A+

MPSC16OB: หุ้นกู้ไม่ด้อยสิทธิ ไม่มีหลักประกัน 3,500 ล้านบาท ไถ่ถอนปี 2559 A+

MPSC175A: หุ้นกู้ไม่ด้อยสิทธิ ไม่มีหลักประกัน 600 ล้านบาท ไถ่ถอนปี 2560 A+

MPSC179A: หุ้นกู้ไม่ด้อยสิทธิ ไม่มีหลักประกัน 900 ล้านบาท ไถ่ถอนปี 2560 A+

MPSC185A: หุ้นกู้ไม่ด้อยสิทธิ ไม่มีหลักประกัน 700 ล้านบาท ไถ่ถอนปี 2561 A+

MPSC18OA: หุ้นกู้ไม่ด้อยสิทธิ ไม่มีหลักประกัน 2,150 ล้านบาท ไถ่ถอนปี 2561 A+

MPSC199A: หุ้นกู้ไม่ด้อยสิทธิ ไม่มีหลักประกัน 900 ล้านบาท ไถ่ถอนปี 2562 A+

MPSC199B: หุ้นกู้ไม่ด้อยสิทธิ ไม่มีหลักประกัน 1,900 ล้านบาท ไถ่ถอนปี 2562 A+

MPSC209A: หุ้นกู้ไม่ด้อยสิทธิ ไม่มีหลักประกัน 1,300 ล้านบาท ไถ่ถอนปี 2563 A+

MPSC20OA: หุ้นกู้ไม่ด้อยสิทธิ ไม่มีหลักประกัน 1,000 ล้านบาท ไถ่ถอนปี 2563 A+

MPSC20OB: หุ้นกู้ไม่ด้อยสิทธิ ไม่มีหลักประกัน 1,850 ล้านบาท ไถ่ถอนปี 2563 A+

MPSC219A: หุ้นกู้ไม่ด้อยสิทธิ ไม่มีหลักประกัน 2,000 ล้านบาท ไถ่ถอนปี 2564 A+

MPSC21OA: หุ้นกู้ไม่ด้อยสิทธิ ไม่มีหลักประกัน 2,000 ล้านบาท ไถ่ถอนปี 2564 A+

MPSC229A: หุ้นกู้ ไม่ด้อยสิทธิ ไม่มีหลักประกัน 2,000 ล้านบาท ไถ่ถอนปี 2565 A+

MPSC22OA: หุ้นกู้ไม่ด้อยสิทธิ ไม่มีหลักประกัน 2,000 ล้านบาท ไถ่ถอนปี 2565 A+

MPSC233A: หุ้นกู้ ไม่ด้อยสิทธิ ไม่มีหลักประกัน 2,500 ล้านบาท ไถ่ถอนปี 2566 A+

MPSC249A: หุ้นกู้ ไม่ด้อยสิทธิ ไม่มีหลักประกัน 3,200 ล้านบาท ไถ่ถอนปี 2567 A+

MPSC256A: หุ้นกู้ไม่ด้อยสิทธิ ไม่มีหลักประกัน 2,400 ล้านบาท ไถ่ถอนปี 2568 A+

MPSC259A: หุ้นกู้ ไม่ด้อยสิทธิ ไม่มีหลักประกัน 1,000 ล้านบาท ไถ่ถอนปี 2568 A+

MPSC186A: หุ้นกู้ไม่ด้อยสิทธิ ไม่มีหลักประกัน 126 ล้านหยวน ไถ่ถอนปี 2561 A+

แนวโน้มอันดับเครดิต: Stable

ข่าวประชาสัมพันธ์ล่าสุด

๑๙ เม.ย. บิทูเมน มารีน บริษัทลูก TASCO ลงนามสัญญาต่อเรือขนส่งยางมะตอย เสริมศักยภาพกองเรือ
๑๙ เม.ย. รมว.เกษตรฯ ลุยร้อยเอ็ด ผลักดันโครงการพัฒนาแหล่งน้ำ 3 แห่ง
๑๙ เม.ย. กูรูหุ้นเชียร์ซื้อ PSP เคาะเป้าราคาสูงสุด 8 บ./หุ้น ยอดขายพุ่ง-หนี้ลด ดันกำไรปี 67 ออลไทม์ไฮ ดีล MA สร้าง New S-Curve
๑๙ เม.ย. ข้าวกล้อง-จักรีภัทร พร้อมเต็มร้อย! ประเดิม จูเนียร์จีพี สนามแรก ประเทศอิตาลี
๑๙ เม.ย. กรมประมงขอเชิญร่วมแข่งขันตกปลาชะโด
๑๙ เม.ย. เชลล์ดอน การ์ตูนดังร่วมสาดความสนุกในเทศกาลสงกรานต์
๑๙ เม.ย. สปสช. ติดปีกเทคโนโลยีไอทีด้วยคลาวด์กลางภาครัฐ GDCC ยกระดับบริการบัตรทองรวดเร็วทันสมัย ดูแลสุขภาพคนไทยยุคดิจิทัล
๑๙ เม.ย. GSK ร่วมงาน Re-imagining UK Aging Care Event ของสถานทูตอังกฤษ มุ่งสร้างเสริมภูมิคุ้มกันผู้สูงอายุ
๑๙ เม.ย. เอส เอฟ จับมือ กปน. มอบสิทธิ์ดูฟรีรวม 1,000 ที่นั่ง เพียงใช้ MWA Point ที่ เอส เอฟ!!
๑๙ เม.ย. เตรียมพร้อมนับถอยหลัง 12 ชั่วโมงสุดท้าย! ก่อนเริ่มประวัติศาสตร์ครั้งใหม่ Bitcoin Halving ครั้งที่ 4