สรุปภาพรวมเศรษฐกิจและอุตสาหกรรมของไทยในปัจจุบันและแนวโน้มของปี 2559 และผลงานให้บริการอันดับเครดิตในปี 2558

พฤหัส ๑๒ พฤษภาคม ๒๐๑๖ ๑๖:๐๐
บริษัท ทริสเรทติ้ง จำกัด โดยนางสาววัฒนา ถิรานุชิต กรรมการผู้จัดการ ได้จัดแถลงข่าวเพื่อสรุปภาพรวมเศรษฐกิจและอุตสาหกรรมของไทย รวมทั้งมุมมองของทริสเรทติ้งเกี่ยวกับอุตสาหกรรมที่น่าจับตามองในปี 2559 พร้อมทั้งสรุปผลงานให้บริการจัดอันดับเครดิตของทริสเรทติ้งประจำปี 2558 ซึ่งเป็นปีที่ 22 ที่ทริสเรทติ้งได้ให้บริการมาตั้งแต่ปี 2536

สรุปภาพรวมเศรษฐกิจไทยปี 2558 และแนวโน้ม 2559

เศรษฐกิจไทยในปี 2558 ขยายตัวต่ำกว่าคาดด้วยอัตรา 2.8% แม้ว่าจะเป็นอัตราการขยายตัวที่ดีขึ้นเมื่อเทียบกับปี 2557 แต่ยังคงเป็นอัตราการขยายตัวที่ต่ำกว่าศักยภาพของประเทศเมื่อพิจารณาจากอัตราการขยายตัวที่แท้จริงของผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ (Gross Domestic Product - GDP) โดยเฉลี่ยที่เคยเท่ากับ 4.5% ต่อปีในระหว่างปี 2543-2555 เปรียบเทียบกับอัตราการขยายตัวโดยเฉลี่ยที่เท่ากับเพียง 2.1% ในระหว่างปี 2556 ถึง 2558

การขยายตัวของเศรษฐกิจไทยในปี 2558 ได้รับการสนับสนุนจากการเพิ่มขึ้นของการเกินดุลการค้าสินค้า (คิดเป็น 40%) การเกินดุลการค้าบริการ (27%) และการขยายตัวของการลงทุนจากภาครัฐ (18%) ทั้งนี้ การเพิ่มขึ้นของดุลการค้าบริการสอดคล้องกับการเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วของจำนวนนักท่องเที่ยวจากต่างประเทศ อย่างไรก็ดี การเพิ่มขึ้นของดุลการค้าสินค้าระหว่างประเทศนั้นกลับเป็นผลสะท้อนมาจากการลดลงของการนำเข้าเป็นส่วนใหญ่ ทั้งจากการลดลงของราคาน้ำมัน และลดลงของการนำเข้าสินค้า ซึ่งเป็นผลมาจากสภาพเศรษฐกิจที่อ่อนแอของประเทศไทย ในส่วนของปัจจัยลบที่ทำให้เศรษฐกิจไทยไม่ขยายตัวเท่าที่ควรได้แก่การลดลงอย่างต่อเนื่องของมูลค่าการส่งออก ราคาพืชผลเกษตรที่ตกต่ำที่ทำให้รายได้ในภาคการเกษตรลดลง การชะลอตัวของการบริโภคในประเทศ และความล่าช้าของการลงทุนโครงการขนาดใหญ่ภาครัฐ

ทริสเรทติ้งพบว่าภาคอุตสาหกรรมที่ได้รับผลกระทบจากการชะลอตัวด้านเศรษฐกิจของไทยในปี 2558 ประกอบด้วยการค้าส่งค้าปลีก ธุรกิจที่อยู่อาศัย การผลิตและจำหน่ายรถยนต์ ผู้ผลิตสินค้าเกษตร นอกจากนี้ สินค้าเกษตรซึ่งเน้นการส่งออกเป็นสำคัญ ได้แก่ กลุ่มอาหารทะเล เช่น ปลาทูน่า และกุ้ง ก็ได้รับผลกระทบจากปัญหาด้านผลผลิตจากการระบาดของโรคติดต่อ รวมทั้งมาตรการกีดกันทางการค้าที่เพิ่มขึ้นในรูปของมาตรฐานการนำเข้าที่สูงขึ้นจากประเทศผู้นำเข้าที่สำคัญ แม้ว่าราคาสินค้าเกษตรในตลาดโลก เช่น น้ำตาล และยางธรรมชาติ เริ่มมีการฟื้นตัว แต่ความต้องการในตลาดโลกยังคงอ่อนตัว ประกอบกับการแข่งขันที่รุนแรงจากผู้ส่งออกรายอื่น ๆ

ดัชนีทางเศรษฐกิจของไทยในช่วงไตรมาสแรกของปี 2559 แสดงถึงการฟื้นตัวเล็กน้อยของการบริโภคของภาคเอกชนและการเพิ่มขึ้นของผลผลิตและราคาสินค้าเกษตร อย่างไรก็ดี มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของภาครัฐยังคงมีความจำเป็นเพื่อกระตุ้นการบริโภค และการลงทุนของภาคเอกชน ในขณะที่ผลประกอบการที่อ่อนตัวลงของธุรกิจในต่างจังหวัด แต่สินเชื่อส่วนบุคคลกลับมีการเติบโตอย่างรวดเร็ว ยังคงเป็นสัญญาณที่แสดงให้เห็นถึงการอ่อนตัวของกำลังซื้อในภาคเกษตรและความต้องการสินเชื่อเพื่อการอุปโภคบริโภคที่เพิ่มขึ้นมาก ซึ่งควรจะต้องมีการบริหารความเสี่ยงอย่างเหมาะสมเพื่อป้องกันการเพิ่มขึ้นของสินทรัพย์ด้อยคุณภาพในระยะปานกลางและระยะยาว

ภาวะเศรษฐกิจไทยสำหรับปี 2559 คาดว่าจะยังคงอ่อนตัว โดยมีอัตราการขยายตัวระหว่าง 2.7%-3.0% โดยมีปัจจัยสนับสนุนหลักจากมาตรการของรัฐบาลในการกระตุ้นการบริโภคในประเทศ และการลงทุนโครงการสาธารณูปโภคขนาดใหญ่ซึ่งจะช่วยสนับสนุนการลงทุนของภาคเอกชน รวมทั้งการฟื้นตัวของราคาสินค้าเกษตรที่จะส่งผลต่อรายได้ของเกษตรกร ในขณะที่ปัจจัยลบที่ยังคงอยู่ได้แก่การฟื้นตัวที่ต่ำกว่าคาด ของเศรษฐกิจประเทศคู่ค้าที่สำคัญของประเทศไทยโดยเฉพาะ จีน อาเซียน และญี่ปุ่น ในขณะที่มาตรการที่มีลักษณะเป็นการกีดกันทางการค้าสินค้าเกษตรส่งออกของไทยโดยอเมริกาและยุโรปมีแนวโน้มเพิ่มขึ้น รวมทั้งผลกระทบจากภาวะภัยแล้งและสภาพภูมิอากาศที่อาจกระทบต่อผลผลิตในประเทศ

ภาพรวมอุตสาหกรรมของไทยในปัจจุบันและแนวโน้มในปี 2559

ธุรกิจธนาคารพาณิชย์ แนวโน้มคงที่ถึงลบ

ในปี 2559 คาดว่าอัตราการเติบโตของสินเชื่อของธนาคารพาณิชย์ยังคงชะลอตัวต่อเนื่องจากปี 2558 และความสามารถในการทำกำไรมีแนวโน้มทรงตัวถึงลดลงจากปีก่อน อันเป็นผลจากการชะลอตัวทางเศรษฐกิจอย่างต่อเนื่องตั้งแต่ปี 2556 รวมถึง ภาระหนี้ภาคครัวเรือน และภาคธุรกิจที่เพิ่มขึ้น ส่งผลให้เกิดหนี้เสียเพิ่มขึ้นจำนวนมาก และความสามารถในการทำกำไรของธนาคารพาณิชย์ลดลงจากภาระการสำรองหนี้สูญที่เพิ่มขึ้น ทั้งนี้ ใน Q1 ปี 2559 ผลประกอบการของธนาคารพาณิชย์เอกชนที่ยังไม่สอบทานก็ยังคงบ่งบอกแนวโน้มของการลดลงในความสามารถทำกำไรอย่างต่อเนื่อง

ยอดคงค้างสินเชื่อรวมของระบบธนาคารพาณิชย์จากรายงานของธนาคารแห่งประทศไทย มีอัตราเติบโตชะลอตัวลงจาก 11% ในปี 2556 เป็น 5% และ 4% ในปี 2557 และ 2558 ตามลำดับ โดยในปี 2558 สินเชื่อแก่ธุรกิจขนาดใหญ่แทบไม่เปลี่ยนแปลงจากปี 2557 ขณะที่สินเชื่อธุรกิจขนาดกลางและย่อม และสินเชื่อรายย่อยยังมีอัตราเติบโตประมาณ 6% อัตราสินเชื่อที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (NPL) เพิ่มขึ้นจาก 2.2% ในปี 2557 เป็น 2.6% ในปี 2558 โดยเป็นการเพิ่มขึ้นของ NPL ในสินเชื่อที่ให้แก่ทั้ง 3 กลุ่ม โดยมีอัตรา NPL ในระดับ 1.6%, 3.5% และ 2.6% ตามลำดับ

ผลประกอบการปี 2558 ของธนาคารพาณิชย์ที่จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ 11 แห่ง ในฐานข้อมูลของทริสเรทติ้ง มีอัตราผลตอบแทนต่อสินทรัพย์ที่ก่อให้เกิดรายได้เฉลี่ย 1.65% ลดลงต่อเนื่องจาก 1.98% ในปี 2556 และ 1.86% ในปี 2557 เนื่องจากต้นทุนด้านเครดิตเฉลี่ยที่เพิ่มขึ้น จาก 0.7% ในปี 2557 เป็น 1% ในปี 2558 อย่างไรก็ตาม ธนาคารพาณิชย์มีระดับเงินกองทุนในระดับเพียงพอรองรับความเสี่ยงในอนาคต

ทริสเรทติ้งคาดว่า การขยายตัวของสินเชื่อธนาคารพาณิชย์ในปี 2559 จะมีอัตรา 3%-5% สอดคล้องกับการขยายตัวเศรษฐกิจและได้รับผลบวกจากนโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจของรัฐบาล รวมถึงการขยายการลงทุนในโครงสร้างพื้นฐานและระบบคมนาคมขนส่ง ส่วนความสามารถในการทำกำไรของธนาคารพาณิชย์ยังได้รับแรงกดดันจากภาระการสำรองหนี้สูญที่เพิ่มขึ้น การถดถอยลงของคุณภาพสินทรัพย์ ยังเป็นปัจจัยที่ต้องจับตามองอย่างใกล้ชิดต่อไป

ณ วันที่ 11 พ.ค. 2559 ธนาคารพาณิชย์ ที่จัดอันดับเครดิตโดยทริสเรทติ้งมีทั้งสิ้น 6 ราย มีอันดับเครดิตตั้งแต่ระดับ "A-" ถึง "AAA" ได้แก่ ธ. กรุงศรีอยุธยา (AAA/Stable) ธ. เมกะสากลพาณิชย์ (AA+/Stable) ธ. ธนชาต (AA-/Stable)

ธ. ทิสโก้ (A/Stable) ธ. เกียรตินาคิน (A-/Stable) และ ธ. แลนด์แอนด์เฮ้าส์ (A-/ Positive Alert) ส่วนบริษัทโฮลดิ้งของธนาคารพาณิชย์ ได้แก่ บมจ. ทุนธนชาต (A+/Stable) และ บมจ. ทิสโก้ (A-/Stable)

ธุรกิจสินเชื่อเช่าซื่อรถยนต์ แนวโน้มคงที่

ในปี 2559 คาดว่าอุตสาหกรรมนี้จะยังคงชะลอตัวต่อเนื่องจากปี 2558 จากผลกระทบของโครงการรถยนต์คันแรก (1.25 ล้านคัน) ที่กระตุ้นให้เกิดความต้องการซื้อรถยนต์เกินอัตราที่แท้จริง เกิดเป็นการก่อหนี้ภาคครัวเรือนในระดับสูงและเกิดปัญหาอุปทานส่วนเกินในรถยนต์มือสองจนกระทั่งราคารถยนต์มือสองลดลงอย่างต่อเนื่องมากถึง 30%-35% เป็นนานถึง 2 ปีตั้งแต่กลางปี 2556 เมื่อรวมกับผลจากภาวะเศรษฐกิจที่ชะลอตัวอย่างต่อเนื่องตั้งแต่ปี 2556 ส่งผลให้เกิดหนี้เสียเพิ่มขึ้นจำนวนมาก และความสามารถในการทำกำไรของผู้ประกอบการลดลง จากภาระการสำรองหนี้สูญที่เพิ่มขึ้น

ยอดคงค้างสินเชื่อเช่าซื้อรถยนต์ของผู้ประกอบการรายใหญ่ 20 รายในฐานข้อมูลของทริสเรทติ้ง มีมูลค่ารวม 1.9 ล้านล้านบาท ฟื้นตัวขึ้น 0.6% ในปี 2558 จากที่หดตัวลง 1.8% ในปี 2557 เทียบกับที่ขยายตัวเกินจริงถึง 38% ในปี 2555 และ 21% ในปี 2556 ในขณะเดียวกัน คุณภาพสินเชื่อเช่าซื้อรถยนต์ก็ถดถอยลงอย่างต่อเนื่องในปี 2555 ถึง 2557 โดยอัตราสินเชื่อที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (NPL) เพิ่มขึ้นจาก 1.2% ในปี 2556 เป็น 2.2% ในปี 2557 และทรงตัวในระดับ 2.2% ในปี 2558

จากภาวะเศรษฐกิจที่มีแนวโน้มชะลอตัวต่อไปในปี 2559 รวมทั้ง ราคารถยนต์มือสองฟื้นตัวเพียงเล็กน้อย

ทริสเรทติ้งจึงมองว่าทิศทางการขยายตัวของสินเชื่อเช่าซื้อรถยนต์จะยังคงจำกัด ในขณะที่คุณภาพสินเชื่อเช่าซื้อรถยนต์น่าจะมีทิศทางที่ทรงตัวถึงลดลงหลังจากที่ผู้ประกอบการได้ตัดหนี้สูญออกไปจำนวนมากและมีภาระต้นทุนทางเครดิตในการตั้งสำรองเพิ่มขึ้นในอัตราสูงในช่วงปี 2557-2558 ซึ่งกระทบต่อความสามารถในการทำกำไรในช่วงดังกล่าว อย่างไรก็ตาม การถดถอยลงของคุณภาพสินทรัพย์ยังเป็นปัจจัยที่ต้องจับตามองอย่างใกล้ชิดต่อไป

ณ วันที่ 11 พ.ค. 2559 ผู้ประกอบการเช่าซื้อรถยนต์ที่จัดอันดับเครดิตโดยทริสเรทติ้งมีทั้งสิ้น 8 ราย มีอันดับเครดิตตั้งแต่ระดับ "BBB-" ถึง "AAA" โดยรายใหญ่เป็นธนาคารพาณิชย์ 3 ราย ได้แก่ ธ. ธนชาต (AA-/Stable) ธ. ทิสโก้ (A/Stable) และ ธ. เกียรตินาคิน (A-/Stable) นอกจากนี้ ยังมี บจก. โดโยต้าลีสซิ่ง (หุ้นกู้มีค้ำประกัน AAA/Stable) บมจ. อยุธยา แคปิตอล ออโต้ลีส (AA-/Stable) บมจ. เอเซียเสริมกิจลีสซิ่ง (BBB+/Stable) บมจ. ราชธานีลีสซิ่ง (BBB+/Stable) และ บมจ. ไมด้าลีสซิ่ง (BBB-/Stable)

ธุรกิจการเกษตร แนวโน้มคงที่ถึงลบ

เริ่มเห็นสัญญาณฟื้นตัวในบางกลุ่มหลังจากที่กำไรของบริษัทต่าง ๆ ในอุตสาหกรรมลดลงจากราคาตกต่ำในช่วงที่ผ่านมา ในส่วนของ ธุรกิจน้ำตาล นั้น ราคาน้ำตาลเริ่มฟื้นตัวตั้งแต่ไตรมาสที่ 3 ของปี 2558 ภาวะเอลนิโน่ส่งผลให้ผลผลิตอ้อยและน้ำตาลของประเทศผู้ผลิตรายใหญ่ เช่น ไทย จีน และอินเดีย ลดลงในปี 2558/2559 ขณะที่บราซิลผู้ผลิตน้ำตาลอันดับหนึ่งของโลกผลิตน้ำตาลน้อยลงเพราะฝนตกหนักและยังคงนำอ้อยไปผลิตเอทานอลในสัดส่วนที่มากขึ้น ทำให้ปี 2558/2559 จะเป็นปีแรกในรอบ 6 ปีที่เกิดภาวะขาดดุลน้ำตาล (Deficit) ในตลาดโลก อย่างไรก็ตาม ผู้ผลิตน้ำตาลในประเทศไทยยังเผชิญความท้าทายจากปัญหาสภาพอากาศที่ไม่เอื้ออำนวยต่อการเพาะปลูกทำให้ผลผลิตอ้อยและผลผลิตน้ำตาลต่อตันอ้อยลดลง คาดว่าผลผลิตน้ำตาลของไทยในปี 2558/2559 จะลดลงราว 10% เหลือประมาณ 10 ล้านตัน จากปีก่อนที่ผลิตน้ำตาลได้ 11.34 ล้านตัน ทำให้การฟื้นตัวของกำไรและกระแสเงินสดอาจจะเป็นไปอย่างจำกัดจากปัญหาต้นทุนเพิ่มและผลผลิตน้ำตาลที่ลดลง

ปัจจุบันทริสเรทติ้งจัดอันดับเครดิตให้แก่ผู้ประกอบธุรกิจน้ำตาล 3 ราย ได้แก่ บจก. น้ำตาลมิตรผล (A+/Stable) บมจ. น้ำตาลขอนแก่น (KSL -- A/Stable) และ บมจ. น้ำตาลบุรีรัมย์ (BRR -- BBB-/Stable)

ในส่วนของ ธุรกิจไก่และหมู นั้น ปัญหาอุปทานล้นตลาดส่งผลให้ธุรกิจเข้าสู่วงจรตกต่ำตามวัฏจักรอีกครั้งในปี 2558 สำหรับปี 2559 คาดว่าผู้ประกอบการในธุรกิจสัตว์บกจะได้รับประโยชน์จากต้นทุนอาหารสัตว์ที่ลดลงและการฟื้นตัวของราคาเนื้อสัตว์บก ปัจจัยบวกสำหรับธุรกิจไก่ยังคงมาจากความต้องการส่งออกที่เพิ่มขึ้น โดยในช่วงปี 2558 ประเทศไทยมีการส่งออกผลิตภัณฑ์ไก่รวม 681,073 ตัน เติบโต 17.5% เมื่อเทียบกับปีก่อน คาดว่าผู้ประกอบการจะมีความสามารถในการทำกำไรที่ดีขึ้นและมีผลกำไรที่ดีขึ้นในปี 2559

ทริสเรทติ้งจัดอันดับเครดิตให้แก่ผู้ประกอบที่ดำเนินธุรกิจสัตว์บก 2 ราย ได้แก่ บมจ. เจริญโภคภัณฑ์อาหาร (CPF -- A+/Stable) และ บมจ. เบทาโกร (A/Stable)

ในส่วนของ ธุรกิจอาหารทะเล นั้น ยังคงต้องจับตาเรื่องการประมงที่ผิดกฎหมาย ขาดการรายงานและไร้การควบคุม (IUU) ซึ่งปัจจุบันอยู่ระหว่างการตรวจสอบจากสหภาพยุโรป หากสหภาพยุโรปตัดสินว่าการประมงของไทยไม่เป็นไปตามเกณฑ์ IUU หรือการแก้ไขปัญหาทางด้านประมงของประเทศไทยให้เป็นไปตามมาตรฐานของสหภาพยุโรปยังไม่คืบหน้าอย่างชัดเจน สหภาพยุโรปจะประกาศห้ามนำเข้าอาหารทะเลจากประเทศไทย การห้ามนำเข้าอาจรวมถึงผลิตภัณฑ์กุ้งซึ่งใช้ปลาป่นที่จับจากเรือประมงในการเลี้ยง ดังนั้นการส่งอาหารทะเลรวมถึงกุ้งไปสหภาพยุโรปมูลค่า 20,791 ล้านบาท ซึ่งคิดเป็นสัดส่วน 10% ของการส่งออกสินค้าประมงไทย ในปี 2558 ได้รับผลกระทบ ทางด้านปัจจัยบวกในธุรกิจนี้จะเป็นเรื่องปัญหาโรคกุ้งตายด่วนที่คลี่คลายลงเป็นลำดับ คาดว่าผลผลิตกุ้งจะเพิ่มขึ้นประมาณ 10% เป็น 290,000 ตันในปี 2559 แต่ผู้ประกอบการอาจเจอความท้าทายทางด้านการหาตลาดทดแทนตลาดสหภาพยุโรปหลังจากสหภาพยุโรปได้ยกเลิกสิทธิประโยชน์ภาษีสำหรับกุ้งนำเข้าจากไทยภายใต้ GSP ตั้งแต่ปี 2557-2558

ทริสเรทติ้งจัดอันดับเครดิตให้แก่ผู้ประกอบธุรกิจเกี่ยวกับอาหารทะเล 2 ราย ได้แก่ บมจ. ไทย ยูเนี่ยนกรุ๊ป (TU – AA-/Stable) และ บมจ. ซีเฟรชอินดัสตรี (BBB/Stable) ซึ่งคาดว่าจะได้รับผลกระทบจากปัญหา IUU ไม่รุนแรงหากทาง EUประกาศยกเลิกการนำเข้าอาหารทะเลรวมถึงกุ้งจากไทยเนื่องจากมีตลาดและฐานการผลิตในประเทศอื่นช่วยลดความเสี่ยง

ธุรกิจโทรศัพท์เคลื่อนที่ แนวโน้มคงที่ถึงลบ

สภาพตลาดค่อนข้างอิ่มตัว โดย ณ สิ้นปี 2558 จำนวนผู้ใช้บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่ในทุกระบบอยู่ที่ 83.0 ล้านเลขหมาย ลดลงจาก 97.0 ล้านเลขหมาย ณ สิ้นปี 2557 ซึ่งส่วนใหญ่เป็นผลกระทบมาจากการลงทะเบียนซิมโทรศัพท์เคลื่อนที่ในระบบเติมเงิน ส่วนอัตราการใช้บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่ต่อประชากรอยู่ที่ 123.5% ทั้งนี้ พฤติกรรมของผู้บริโภคที่เปลี่ยนไปตามการเปลี่ยนแปลงของเทคโนโลยี ประกอบกับราคาโทรศัพท์มือถือที่ลดลง ทำให้มีการขยายตัวมากขึ้นของการใช้บริการด้านข้อมูล ซึ่งส่งผลให้สัดส่วนรายได้จากการให้บริการด้านข้อมูลผ่านโทรศัพท์มือถือ (Non-Voice Services) เพิ่มขึ้น ในอนาคตการใช้โทรศัพท์มือถือเพื่อวัตถุประสงค์อื่นนอกจากการสื่อสารปกติทั่วไป (เช่น เพื่อความบันเทิง การซื้อขายสินค้าผ่านออนไลน์ การทำธุรกรรมทางการเงิน) จะยังคงเติบโตต่อไป

ภายใต้สภาวะที่จำนวนผู้ใช้บริการที่ค่อนข้างอิ่มตัว และการที่ผู้ใช้บริการมีความอ่อนไหวด้านราคา ทำให้การแข่งขันระหว่างผู้ประกอบการยังคงรุนแรง โดยผู้ประกอบการได้ออกโปรแกรมส่งเสริมการขายอย่างต่อเนื่อง เพื่อแย่งผู้ใช้บริการมาจากคู่แข่ง นอกจากนั้น ความต้องการใช้ข้อมูลที่ขยายตัวอย่างรวดเร็วทำให้ผู้ประกอบการเร่งสร้างความพร้อมของเครือข่าย ซึ่งสะท้อนได้จากการประมูลใบอนุญาตการใช้คลื่นความถี่ 1800 เมกะเฮิรตซ์ และ 900 เมกะเฮิรตซ์ ที่มีการแข่งขันที่รุนแรงจนทำให้ราคาใบอนุญาตสูงเกินกว่าที่คาดไปมาก

เมื่อมองไปข้างหน้าผู้ประกอบการจะยังคงมีภาระต้นทุนค่าใบอนุญาตในระดับสูง การลงทุนขยายโครงข่ายอย่างต่อเนื่อง และภาระหนี้ที่เพิ่มขึ้น ในขณะที่ผลประกอบการจะถูกกดดันจากการแข่งขันที่สูง และข้อกำหนดของทางการที่ควบคุมราคาค่าบริการ

ทั้งนี้ ปัจจุบันทริสเรทติ้งจัดอันดับเครดิตให้แก่บริษัทในกลุ่มธุรกิจนี้ 4 บริษัท ได้แก่ บมจ. โทเทิ่ล แอ็คเซ็ส คอมมูนิเคชั่น (AA+/Stable) บริษัท ดีแทค ไตรเน็ต จำกัด (AA+/Stable) บมจ. ทรู คอร์ปอเรชั่น (BBB+/Stable) และ บริษัท ทรู มูฟ เอช ยูนิเวอร์แซล คอมมิวนิเคชั่น จำกัด (BBB+/Stable)

ธุรกิจที่อยู่อาศัย แนวโน้มคงที่

ทริสเรทติ้งยังคงแนวโน้ม "คงที่" สำหรับธุรกิจพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ในปี 2559 โดยยอดขายที่อยู่อาศัยในเขตกรุงเทพฯ และปริมณฑลอาจเติบโตได้เพียงเล็กน้อยในขณะที่ความต้องการในต่างจังหวัดยังคงได้รับผลกระทบเชิงลบจากภาวะภัยแล้งและราคาพืชผลทางการเกษตรที่ตกต่ำ กลุ่มผู้ประกอบการที่ได้รับการจัดอันดับเครดิตจากทริสเรทติ้งยังคงเน้นกลุ่มลูกค้าและนักลงทุนที่มีรายได้ค่อนข้างสูงในเขตกรุงเทพฯ และปริมณฑล ทั้งนี้ เนื่องจากธนาคารพาณิชย์ส่วนใหญ่ยังคงค่อนข้างเข้มงวดในการปล่อยกู้ให้แก่กลุ่มลูกค้าที่มีรายได้ต่ำโดยธนาคารยังมีความกังวลเกี่ยวกับภาระหนี้ครัวเรือนที่ยังคงอยู่ในระดับสูง ความพยายามของภาครัฐในการกระตุ้นความต้องการซื้อที่อยู่อาศัยโดยการให้ธนาคารของรัฐปล่อยสินเชื่อที่มีอัตราดอกเบี้ยต่ำแก่ผู้ซื้อบ้านหลังแรกสำหรับที่อยู่อาศัยที่มีราคาต่ำกว่า 1.5 ล้านบาทน่าจะช่วยกระตุ้นตลาดได้ในระยะสั้นถึงปานกลาง อย่างไรก็ตาม ทริสเรทติ้งมองว่าการลงทุนของภาครัฐในโครงการสาธารณูปโภคพื้นฐานน่าจะเป็นปัจจัยหลักที่จะช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจภายในประเทศและกระตุ้นความต้องการซื้อบ้านในระยะยาว

ในส่วนของราคาที่อยู่อาศัยนั้นยังคงมีการปรับตัวเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะในเขตเมือง เนื่องจากราคาที่ดินที่เพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญแม้ราคาวัสดุก่อสร้างและค่าแรงจะทรงตัวก็ตาม อัตรากำไรของผู้ประกอบการหลายรายมีแนวโน้มที่จะปรับลดลงจากการให้ส่วนลดหรือมีการส่งเสริมการขายเพื่อกระตุ้นยอดโอนเพิ่มมากขึ้น การแข่งขันน่าจะทวีความรุนแรงยิ่งขึ้นในสินค้าที่อยู่อาศัยทุกระดับราคา โดยการเติบโตของยอดขายบ้านที่มีราคาค่อนข้างต่ำยังชะลอตัวอยู่ ในขณะที่อุปทานที่อยู่อาศัยราคาสูงมีเพิ่มมากขึ้น ผู้ประกอบการบางรายที่ได้รับการจัดอันดับเครดิตจากทริสเรทติ้งจึงหันไปเน้นกลุ่มลูกค้าเป้าหมายที่เป็นชาวต่างชาติในประเทศต่าง ๆ เช่น ไต้หวัน ฮ่องกง สิงคโปร์ และจีน

ปัจจุบัน ทริสเรทติ้งมีการจัดอันดับเครดิตให้แก่ผู้ประกอบการในธุรกิจพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ทั้งสิ้น 19 ราย โดยมีอันดับเครดิตอยู่ระหว่าง "BB+" ถึง "A+" ยอดจองซื้อ (Pre-sale) ที่ค่อนข้างสูงในช่วงปี 2555-22556 ส่งผลให้การรับรู้รายได้ของผู้ประกอบการส่วนใหญ่ยังคงเติบโตในปี 2558 อย่างไรก็ตาม ตัวเลขอัตราส่วนทางการเงินของผู้ประกอบการในธุรกิจนี้มีแนวโน้มที่อ่อนตัวลง โดยผู้ประกอบการหลายรายมีอัตรากำไรที่ลดลงในขณะที่ภาระหนี้สินอยู่ในระดับที่ค่อนข้างสูง ยอดขายสะสมคงเหลือ (Pre-sale) ณ สิ้นปี 2558 ของผู้ประกอบการทั้ง 19 รายอยู่ที่ระดับประมาณ 240,000-250,000 ล้านบาท เพิ่มขึ้นเล็กน้อยเมื่อเทียบกับปีก่อนหน้า ผู้ประกอบการส่วนใหญ่มีแนวโน้มอันดับเครดิต "Stable" หรือ "คงที่" ทริสเรทติ้งปรับลดอันดับเครดิตผู้ประกอบการ 1 รายในปี 2558 และสำหรับไตรมาสที่ 1 ของปี 2559 ทริสเรทติ้งปรับลดอันดับเครดิตผู้ประกอบการ 2 รายและปรับเพิ่มอันดับเครดิต 1 ราย

ธุรกิจการท่องเที่ยว แนวโน้มเป็นบวก

การท่องเที่ยวของไทยมีศักยภาพในการเติบโตที่ดีเนื่องจากมีแหล่งท่องเที่ยวที่มีคุณภาพในขณะที่ค่าครองชีพไม่สูงมากเมื่อเปรียบเทียบกับประเทศรอบข้าง การเติบโตทางเศรษฐกิจของประเทศในเอเชียโดยเฉพาะจีนกระตุ้นให้ความต้องการท่องเที่ยวเติบโตสูงมากในช่วงหลายปีที่ผ่านมา ซึ่งช่วยลดทอนผลกระทบบางส่วนจากปัญหาด้านเศรษฐกิจ การเมือง และภัยธรรมชาติในประเทศ รายได้จากนักท่องเที่ยวต่างชาติขยายตัวอย่างรวดเร็วจากที่เคยคิดเป็นสัดส่วน 5% ของ GDP ในปี 2553 เพิ่มเป็น 11% ในปี 2558 จำนวนนักท่องเที่ยวจากต่างประเทศ เพิ่มขึ้นเป็น 30 ล้านคนในปี 2558 โดยกว่าหนึ่งในสี่ของจำนวนนี้เป็นนักท่องเที่ยวจากประเทศจีน

รายได้ของผู้ประกอบธุรกิจโรงแรมส่วนมากขยายตัวขึ้นในปี 2558 เมื่อเปรียบเทียบกับปี 2557 ซึ่งเป็นปีที่ได้รับผลกระทบในเชิงลบจากปัญหาการเมือง ผู้ประกอบการที่จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ฯ มีรายได้รวมสูงขึ้น 8% ในขณะที่อัตรากำไรจากการดำเนินงานค่อนข้างทรงตัวโดยอยู่ที่ 21% ในปี 2558 อัตราหนี้ต่อทุนขยับเพิ่มขึ้นมาอยู่ที่ระดับ 0.87 เท่า

จากการลงทุนต่อเนื่องของผู้ประกอบการรายใหญ่

ทริสเรทติ้งจัดอันดับเครดิตให้แก่ผู้ประกอบธุรกิจโรงแรม 3 ราย ได้แก่ บมจ. ไมเนอร์ อินเตอร์เนชั่นแนล (MINT -- A+/Stable) บมจ. โรงแรมเซ็นทรัลพลาซา (CENTEL-- A/Stable) และ บมจ. ดุสิตธานี (DTC -- BBB+/Stable)

ผลงานให้บริการอันดับเครดิตในปี 2558 และ 2559

กรรมการผู้จัดการทริสเรทติ้งกล่าวว่า ในช่วงปี 2558 ทริสเรทติ้งให้บริการจัดอันดับเครดิตให้แก่ลูกค้าใหม่จำนวน 29 ราย เพิ่มขึ้นจากปีที่แล้วที่ 20 ราย โดยปัจจุบัน มีลูกค้าที่ใช้บริการจัดอันดับเครดิตทั้งประเภทองค์กรและตราสารหนี้ซึ่งเป็นลูกค้าทั้งภาคเอกชนและรัฐวิสาหกิจที่ให้ทริสเรทติ้งเปิดเผยผลดับเครดิตต่อสาธารณชนรวม 141 ราย

มูลค่าการออกตราสารหนี้ใหม่ภาคเอกชนในปี 2558 เท่ากับ 572,424 ล้านบาท เพิ่มขึ้นเล็กน้อยจาก 568,887 ล้านบาทในปี 2557 ส่วนในช่วงสี่เดือนแรกของปี 2559 มูลค่าการออกตราสารหนี้ใหม่ภาคเอกชนเท่ากับ 202,371 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 48% เมื่อเทียบกับ 136,834 ล้านบาทในช่วงเวลาเดียวกันของปี 2558 สำหรับปี 2559 ทริสเรทติ้งคาดว่า มูลค่าการออกตราสารหนี้ใหม่ภาคเอกชนจะอยู่ในช่วง 550,000-580,000 ล้านบาท อัตราดอกเบี้ยที่ยังอยู่ในระดับต่ำยังคงกระตุ้นให้ผู้ประกอบการออกตราสารหนี้เพื่อเป็นแหล่งเงินทุนระยะยาวที่มีต้นทุนต่ำเพื่อใช้สำหรับขยายกิจการหรือการชำระคืนหนี้เดิม โดยอุตสาหกรรมที่มีการออกตราสารหนี้มากที่สุดได้แก่ อสังหาริมทรัพย์ สื่อสาร วัสดุก่อสร้าง อาหาร ขนส่ง รวมถึงธนาคารและสถาบันการเงินที่ไม่ใช่ธนาคาร

ข่าวประชาสัมพันธ์ล่าสุด

๒๘ มี.ค. องค์การบรรจุภัณฑ์โลก จับมือ อินฟอร์มา มาร์เก็ตส์ ประเทศไทย ร่วมจัดกิจกรรมสัมมนาออนไลน์
๒๘ มี.ค. การแข่งขันกีฬาขี่ม้าโปโลรายการ King Power International Ladies' Polo Tournament 2024
๒๘ มี.ค. DEXON ปักธงรายได้ปี 67 ทะลุ 700 ลบ. โชว์ Backlog เฉียด 280 ลบ. ล็อคมาร์จิ้น 35-40%
๒๘ มี.ค. JPARK ร่วมงาน Dinner Talk ผู้บริหารจดทะเบียนพบนักลงทุน จ.ราชบุรี
๒๘ มี.ค. นีเวีย ซัน และ วัตสัน จับมือต่อปีที่สองชวนดูแลท้องทะเล กับโครงการ เพราะแคร์ จึงชวนแชร์ ร่วมพิทักษ์รักษ์ทะเลไทย
๒๘ มี.ค. Cloud เทคโนโลยีที่อยู่ใกล้ตัว เพียงแค่คุณไม่รู้เท่านั้นเอง
๒๘ มี.ค. โรยัล คานิน ร่วมกับ เพ็ทแอนด์มี จัดงาน Royal Canin Expo 2024: PAWRENTS' DAY เพื่อสร้างโลกที่ดีขึ้นสำหรับน้องแมวและน้องหมา
๒๘ มี.ค. STEAM Creative Math Competition
๒๘ มี.ค. A-HOST ร่วมวาน MFEC Inspire ขึ้นบรรยายพร้อมจัดบูธ Cost Optimization Pavilion
๒๘ มี.ค. ฟินเวอร์! ส่องความคิ้วท์ 'ฟอส-บุ๊ค' ควงคู่ร่วมงาน Discover Thailand เสิร์ฟโมเมนต์ฉ่ำให้แฟนๆ ได้ดับร้อนกันยกด้อมรับซัมเมอร์ และร่วมส่งต่อความสุขในกิจกรรม 'Exclusive Unseen Food Trip กับ คู่ซี้