ทำเนียบตระกูลและมหาเศรษฐี 50 อันดับแรกของไทย ประจำปี 2559 ตามการจัดอันดับของ นิตยสาร "ฟอร์บส์"

อังคาร ๑๔ มิถุนายน ๒๐๑๖ ๑๔:๕๔
"เจียรวนนท์" ยังครองบัลลังก์ตระกูลที่ร่ำรวยที่สุดของไทย จากการจัดอันดับของนิตยสาร FORBES ประจำปี 2559

ธนินท์ เจียรวนนท์ และสุเมธ มนตรี และจรัญ จากกลุ่มเจริญโภคภัณฑ์ (เครือซีพี) ได้รับการจัดอันดับใน "ทำเนียบ 50 อันดับมหาเศรษฐีไทย" (Forbes Thailand Rich List) ประจำปี 2559 ว่าเป็นผู้มีทรัพย์สินสุทธิรวมกันมากที่สุดในประเทศไทยที่ 6.603 แสนล้านบาท โดยรายชื่อตระกูลและมหาเศรษฐี 50 อันดับแรกของไทยจัดรวบรวมไว้ที่เวบไซต์ www.forbes.com/thailand และในนิตยสารฟอร์บส์ เอเชีย และ ฟอร์บส์ ไทยแลนด์ ฉบับเดือนมิถุนายน

สี่พี่น้องตระกูลเจียรวนนท์ยังเป็นผู้ที่ทรัพย์สินเพิ่มค่ามากที่สุดในบรรดาตระกูลและมหาเศรษฐีที่อยู่ในทำเนียบปีล่าสุด โดยเพิ่มขึ้น 1.463 แสนล้านบาท ตามข้อมูลการถือครองหุ้นล่าสุด เครือซีพีภายใต้การนำของประธาน ธนินท์ เจียรวนนท์ ซึ่งฟอร์บส์เคยจัดอันดับในชื่อของเขา ยังมีดีลธุรกิจขนาดยักษ์เกิดขึ้นอย่างต่อเนื่อง ในปีที่แล้ว ทรู คอร์ป ซึ่งเป็นบริษัทโทรคมนาคมในเครือที่บริหารโดยศุภชัย ลูกชายของเขาประมูลใบอนุญาตคลื่น 4จี ได้ในราคารวมที่เป็นสถิติที่ 1.160 แสนล้านบาท

ในภาวะที่หนี้ครัวเรือนเพิ่มสูงขึ้นและเศรษฐกิจที่ขยายตัวในระดับเตาะแตะที่ 2.8% ในปี 2558 ประเทศไทยได้ตกอยู่ในภาวะที่ผู้บริโภคที่ไม่กล้าใช้จ่าย เพื่อกระตุ้นการบริโภค ผู้นำทหารได้เสนอให้สามารถนำค่าใช้จ่ายในการเดินทางท่องเที่ยวและค่าอาหารในช่วงเทศกาลปีใหม่ในเดือนธันวาคมและวันหยุดยาวในช่วงเทศกาลสงกรานต์มาลดหย่อนภาษีได้ในวงเงินไม่เกิน 1,5000 บาท ขณะที่บรรดาอภิมหาเศรษฐีเจ้าของอาณาจักรค้าปลีกซึ่งโหยหาการเติบโตต่างยุ่งอยู่กับการปิดดีลซื้อขายกิจการเพื่อขยายเส้นทางธุรกิจ

มีหลายรายที่พร้อมใจมุ่งหน้าไปเวียดนาม ประเทศเพื่อนบ้านที่เศรษฐกิจสดใส และผู้บริโภคนิยม "ซื้อสินค้าไทย" กลุ่มที่เป็นทัพหน้า คือ ตระกูลจิราธิวัฒน์ ซึ่งได้รับการจัดอันดับที่ 3 (ทรัพย์สินสุทธิ 4.640 แสนล้านบาท เพิ่มขึ้นจาก 4.389 แสนล้านบาทในปีที่แล้ว) เจ้าของกลุ่มเซ็นทรัล ซึ่งเป็นผู้ดำเนินธุรกิจห้างสรรพสินค้าแห่งแรกในประเทศ ภายใต้การนำของทศ จิราธิวัฒน์ ประธานกรรมการบริหาร และกลุ่มเหงียน คิม หุ้นส่วนผู้ค้าปลีกสินค้าอิเล็คโทรนิกส์ในเวียดนามได้เข้าซื้อหุ้นของกลุ่มคาสิโน กรุ๊ปในบิ๊กซี ซุปเปอร์เซ็นเตอร์ เวียดนาม ในราคา 36,800 ล้านบาท

ด้วยความมั่นใจในภาวะตลาดที่ไม่ต่างกัน เจ้าสัวน้ำเมา เจริญ ศิริวัฒนภักดี (มหาเศรษฐี อันดับ 2 ทรัพย์สินรวม 4.890 แสนล้านบาท) โดดเข้าร่วมการแข่งขันเพื่อชิงหุ้นของบิ๊กซี เวียดนาม หลังจากเพิ่งปิดดีล 23,600 ล้านบาทเข้าซื้อกิจการขายส่งสินค้าเมโทร แคช แอนด์ แครี่ในเวียดนามจากกลุ่มเมโทร เจ้าของสัญชาติเยอรมัน แม้ว่าเขาจะพ่ายแพ้ต่อตระกูลจิราธิวัฒน์ในดีลบิ๊กซี เวียดนาม ไม่นานเขาสามารถกวาดหุ้นเกือบ 59% ของกลุ่มคาสิโนในบิ๊กซี ประเทศไทยในราคา 1.22 แสนล้านบาท โดยซื้อในนามบริษัทเบอร์ลี่ ยุคเกอร์ บริษัทในเครือที่จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ เจริญรุกคืบหน้าต่อด้วยการซื้อหุ้น 25% ของตระกูลจิราธิวัฒน์ในบิ๊กซี ไทย

สำหรับมหาเศรษฐีในกลุ่มที่เหลือ ตลาดหุ้นที่ปรับลดลง 8% ในช่วง 12 เดือนที่ผ่านมา และค่าเงินบาทอ่อนส่งผลกระทบต่อพวกเขาอย่างมาก กว่าครึ่งหนึ่งของผู้ที่มีชื่อในทำเนียบในปีนี้อีกครั้งจำนวน 45 คนมีฐานะการเงินที่แย่ลง เจ้าของธุรกิจสื่อต่างเผชิญสถานการณ์รายได้โฆษณาลดลง เช่น กฤตย์ รัตนรักษ์ (อันดับ 6/1.178 แสนล้านบาท) และสุรางค์ เปรมปรีด์ (อันดับ 30/25,800 ล้านบาท) กรรมการผู้จัดการคนก่อนของบริษัท กรุงเทพโทรทัศน์และวิทยุ จำกัด

ผู้ที่มีทรัพย์สินมากขึ้นที่น่าสนใจ คือ วิชัย ศรีวัฒนประภา (อันดับ 7/1.160 แสนล้านบาท) เจ้าสัวร้านค้าปลอดภาษี ซึ่งสโมสรเลสเตอร์ ซิตี้ ที่เขาเป็นเจ้าของสร้างประวัติศาสตร์ของวงการกีฬาด้วยการคว้าแชมป์พรีเมียร์ลีกของอังกฤษ มีทรัพย์สินเพิ่มขึ้น 30% จากจำนวนนักท่องเที่ยวเข้าไทยที่เพิ่มขึ้นแตะ 30 ล้านคนในปี 2015

ตระกูลและมหาเศรษฐีหน้าใหม่ที่ถูกจัดอันดับในปีนี้เป็นครั้งแรก 5 ตระกูล/ราย คือ ตระกูลวิริยะพันธุ์ เจ้าของบริษัทวิริยะประกันภัย บริษัทประกันภัยที่ใหญ่ที่สุดของไทย อยู่อันดับที่ 28 ด้วยทรัพย์สินสุทธิ 30,340 ล้านบาท; ภวัฒน์ วิทูรปกรณ์ (อันดับ 31/25,520 ล้านบาท) เจ้าสัวผลิตภัณฑ์พลาสติกของอีสเทิร์นโพลีเมอร์ กรุ๊ป; กำพล พลัสสินทร์ (อันดับ 39/ 20,880 ล้านบาท) นายแพทย์ผู้ก่อตั้งกลุ่มโรงพยาบาลจุฬารัตน์ ที่เป็นบริษัทจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์; บัญชา องค์โฆษิต (อันดับ 46/17,850 ล้านบาท) ผู้ก่อตั้งบริษัทเคอีซี อีเลคโทรนิคส์ และจุน วนวิทย์ (อันดับ 49/14,810 ล้านบาท) เจ้าของบริษัทฮาตาริ อิเลคทริค ที่ขายพัดลมสำหรับใช้ในบ้านและอุตสาหกรรมในประเทศตกปีละ 8 ล้านเครื่อง

มูลค่าทรัพย์สินสุทธิต่ำที่สุดที่ได้รับการจัดอันดับในปีนี้อยู่ที่ 14,280 ล้านบาท ลดลงจาก 15,168 ล้านบาทในปี 2558

รายชื่อตระกูลและมหาเศรษฐี10 อันดับแรกของไทย

1. ตระกูลเจียรวนนท์ 6.603 แสนล้านบาท

2. เจริญ สิริวัฒนภักดี 4.890 แสนล้านบาท

3. ตระกูลจิราธิวัฒน์ 4.640 แสนล้านบาท

4. เฉลิม อยู่วิทยา 3.462 แสนล้านบาท

5. วานิช ไชยวรรณ 1.428 แสนล้านบาท

6. กฤตย์ รัตนรักษ์ 1.178 แสนล้านบาท

7. วิชัย ศรีวัฒนประภา 1.160 แสนล้านบาท

8. ประเสริฐ ปราสาททองโอสถ 1.142 แสนล้านบาท

9. สันติ ภิรมย์ภักดี 85,660 ล้านบาท

10. ทักษิณ ชินวัตร 58,890 ล้านบาท

การจัดทำเนียบฯใช้ข้อมูลทางการเงินและการถือครองหุ้นที่ได้รับจากครอบครัวและผู้ที่ได้รับการจัดอันดับ ข้อมูลจากตลาดหลักทรัพย์ นักวิเคราะห์ และหน่วยงานกำกับดูแล การจัดอันดับนี้ไม่ใช่การจัดอันดับมหาเศรษฐี เพราะรวมทรัพย์สินของครอบครัว รวมถึงทรัพย์สินที่ถือครองโดยสมาชิกแต่ละคนในกลายๆรุ่นที่อยู่รวมกันในลักษณะครอบครัวขยาย มูลค่าทรัพย์สินในบริษัทมหาชนคำนวณจากราคาหุ้น และอัตราแลกเปลี่ยน ณ วันที่ 20 พฤษภาคม 2559 ส่วนทรัพย์สินในบริษัทที่ถือครองส่วนตัวประเมินค่าโดยเปรียบเทียบกับบริษัทที่ดำเนินธุรกิจเดียวกันที่จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์

รายละเอียดเพิ่มเติม ไปที่ www.forbes.com/thailand

ข่าวประชาสัมพันธ์ล่าสุด

๑๗:๐๒ บิทูเมน มารีน บริษัทลูก TASCO ลงนามสัญญาต่อเรือขนส่งยางมะตอย เสริมศักยภาพกองเรือ
๑๗:๓๓ รมว.เกษตรฯ ลุยร้อยเอ็ด ผลักดันโครงการพัฒนาแหล่งน้ำ 3 แห่ง
๑๗:๔๔ กูรูหุ้นเชียร์ซื้อ PSP เคาะเป้าราคาสูงสุด 8 บ./หุ้น ยอดขายพุ่ง-หนี้ลด ดันกำไรปี 67 ออลไทม์ไฮ ดีล MA สร้าง New S-Curve
๑๗:๔๒ ข้าวกล้อง-จักรีภัทร พร้อมเต็มร้อย! ประเดิม จูเนียร์จีพี สนามแรก ประเทศอิตาลี
๑๗:๑๕ กรมประมงขอเชิญร่วมแข่งขันตกปลาชะโด
๑๗:๑๕ เชลล์ดอน การ์ตูนดังร่วมสาดความสนุกในเทศกาลสงกรานต์
๑๗:๒๙ สปสช. ติดปีกเทคโนโลยีไอทีด้วยคลาวด์กลางภาครัฐ GDCC ยกระดับบริการบัตรทองรวดเร็วทันสมัย ดูแลสุขภาพคนไทยยุคดิจิทัล
๑๗:๑๐ GSK ร่วมงาน Re-imagining UK Aging Care Event ของสถานทูตอังกฤษ มุ่งสร้างเสริมภูมิคุ้มกันผู้สูงอายุ
๑๗:๔๓ เอส เอฟ จับมือ กปน. มอบสิทธิ์ดูฟรีรวม 1,000 ที่นั่ง เพียงใช้ MWA Point ที่ เอส เอฟ!!
๑๖:๓๖ เตรียมพร้อมนับถอยหลัง 12 ชั่วโมงสุดท้าย! ก่อนเริ่มประวัติศาสตร์ครั้งใหม่ Bitcoin Halving ครั้งที่ 4