ฟิทช์คงอันดับบริษัทจัดการกองทุนบลจ.ไทยพาณิชย์ที่ 'Highest Standards (tha)’

พฤหัส ๐๗ กรกฎาคม ๒๐๑๖ ๑๔:๐๘
บริษัท ฟิทช์ เรทติ้งส์ (ประเทศไทย) จำกัด ประกาศคงอันดับบริษัทจัดการกองทุนภายในประเทศ (National Scale Asset Manager Rating) ของบริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุนไทยพาณิชย์ จำกัด (SCBAM) ที่ 'Highest Standards (tha)' แนวโน้มอันดับบริษัทจัดการกองทุนมีเสถียรภาพ

ปัจจัยสนับสนุนอันดับบริษัทจัดการกองทุน

อันดับบริษัทจัดการกองทุนของ SCBAM สะท้อนถึงการที่บริษัทมีเครือข่ายธุรกิจที่แข็งแรงในธุรกิจการบริหารจัดการกองทุนและมีสินทรัพย์ภายใต้การจัดการ (AUM) ที่มีการกระจายตัวที่ดี และยังสะท้อนถึงกระบวนการการควบคุมความเสี่ยงหลายระดับ และการที่บริษัทมีผู้ถือหุ้นเป็นธนาคารไทยพาณิชย์ จำกัด (มหาชน) (SCB; อันดับเครดิต 'AA(tha)'/แนวโน้มอันดับเครดิตมีเสถียรภาพ/'F1+(tha)') โดยธนาคารได้ให้การสนับสนุนบริษัทเป็นอย่างดีและมีฐานะการเงินที่แข็งแกร่ง

นอกจากนี้ อันดับบริษัทจัดการกองทุนยังสะท้อนถึงการที่ SCBAM มีกระบวนการการลงทุนที่ดีพร้อม และระบบเทคโนโลยีสารสนเทศ (IT) ที่มีความพร้อมสูง อย่างไรก็ตามบริษัทมีการเปลี่ยนแปลงผู้บริหารระดับสูงในปี 2557 และ 2558 และมีประเด็นเรื่องการปฏิบัติการการลงทุนในบางเรื่อง โดยเฉพาะข้อผิดพลาดในปี 2558 ในด้านการเป็นนายทะเบียนกองทุนสำรองเลี้ยงชีพที่ได้ถูกโอนไปให้ SCB ทำแทน

อันดับบริษัทจัดการกองทุนที่ 'Highest Standards (tha)' ของ SCBAM มีพื้นฐานมาจากคะแนนของปัจจัยต่างๆในการจัดอันดับที่แสดงไว้ด้านล่าง

บริษัทและบุคลากร: High

การบริหารจัดการและการควบคุมความเสี่ยง: Highest

การบริหารจัดการการลงทุน: High

การบริหารจัดการการปฏิบัติการการลงทุน: Highest

ประสิทธิภาพทางด้านเทคโนโลยีสารสนเทศ: Highest

อันดับบริษัทจัดการกองทุนเป็นการจัดอันดับในเชิงคุณภาพ โดยที่ฟิทช์จะประเมินความสามารถของบริษัทจัดการกองทุนในด้านการบริหารจัดการการลงทุนและปฏิบัติการการลงทุน บริษัทจัดการกองทุนจะถูกจัดอันดับในระดับต่างๆแบ่งเป็น 'Good Standards' 'High Standards' หรือ 'Highest Standards' โดยเปรียบเทียบกับมาตรฐานที่นักลงทุนสถาบันภายในประเทศใช้ในการพิจารณาบริษัทจัดการกองทุน บริษัทจัดการกองทุนที่ได้รับการจัดอันดับภายในประเทศที่ระดับ 'Highest Standards (tha)' แสดงถึงการที่บริษัทมีการจัดการด้านการปฏิบัติการและการลงทุน ที่ฟิทช์คิดว่าโดดเด่นกว่ามาตรฐานที่นักลงทุนสถาบันภายในประเทศใช้ในการพิจารณาบริษัทจัดการกองทุน

บริษัทและบุคลากร

บริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุนไทยพาณิชย์ จำกัด (SCBAM) จัดตั้งขึ้นในเดือนมีนาคม 2535 บริษัทมีเครือข่ายธุรกิจที่แข็งแกร่งในธุรกิจบริหารจัดการกองทุนรวม กองทุนส่วนบุคคล และ กองทุนสำรองเลี้ยงชีพ นอกจากนี้ SCBAM มีคณะผู้บริหารระดับสูงที่มีประสบการณ์สูง มีผลิตภัณฑ์กองทุนที่มีความหลากหลาย และมีสินทรัพย์ภายใต้การจัดการ (AUM) ที่ใหญ่ที่สุดในประเทศไทย โดยมี AUM มูลค่ารวมอยู่ที่ 1.3 ล้านล้านบาท ณ สิ้นเดือนเมษายน 2559 ฟิทช์คาดว่าการที่ SCBAM ได้มุ่งเน้นกลุ่มนักลงทุนสถาบันมากขึ้นโดยเฉพาะกองทุนส่วนบุคคล จะทำให้ AUM ของบริษัทมีการกระจายตัวมากขึ้นในปี 2559 ถึง 2560

SCBAM ได้รับการสนับสนุนเป็นอย่างดีจากธนาคารไทยพาณิชย์ซึ่งเป็นผู้ถือหุ้นรายเดียวของบริษัท โดย SCB ให้การสนับสนุนในด้านสายงานต่างๆอาทิ การบริหารจัดการความเสี่ยง การตรวจสอบภายใน การกำกับดูแลการปฏิบัติงาน และด้าน IT และธนาคารยังคงเป็นตัวกลางในการจำหน่ายกองทุนสำหรับกลุ่มลูกค้ารายย่อยและกลุ่มลูกค้าสถาบันที่กำลังขยายตัวขึ้นของ SCBAM SCB ยังคงเป็นตัวกลางในการจัดจำหน่ายกองทุนรวมของ SCBAM เป็นหลัก โดยมากกว่าร้อยละ 90 ของกองทุนรวมของบริษัทถูกจัดจำหน่ายผ่านสาขาของธนาคาร

อย่างไรก็ตามทาง SCBAM ยังคงเผชิญกับความเสี่ยงจากการเปลี่ยนแปลงผู้บริหารระดับสูงอย่างต่อเนื่อง ซึ่งโดยภาพรวมอาจส่งผลต่อความต่อเนื่องในการดำเนินธุรกิจของบริษัทได้ แต่ความเสี่ยงดังกล่าวได้ถูกลดทอนลงจากการที่บุคลากรภายในบริษัทขึ้นดำรงตำแหน่งแทนผู้บริหารที่ได้ย้ายออกหรือลาออกไป

การบริหารจัดการและการควบคุมความเสี่ยง

การบริหารจัดการและการควบคุมความเสี่ยงของ SCBAM มีหลายระดับ ซึ่งพิจารณาจากการที่บริษัทมีระบบบริหารความเสี่ยงที่เชื่อมต่อกัน พนักงานบริหารความเสี่ยงที่มีประสบการณ์ และกระบวนการการควบคุมความเสี่ยงที่ครอบคลุม รวมถึงการทำการทดสอบภายใต้ภาวะวิกฤต การวิเคราะห์ความเสี่ยงทางเครดิตของคู่สัญญา และการทำรายงานความเสี่ยงจากการปฏิบัติการการลงทุนและความเสี่ยงการลงทุนอย่างสม่ำเสมอ การบริหารความเสี่ยงการลงทุนของ SCBAM เป็นส่วนหนึ่งของกระบวนการการลงทุน และมีการวัดความเสี่ยงการลงทุนตามปัจจัยความเสี่ยงจากการลงทุนต่างๆ นอกจากนี้ SCB ยังเป็นผู้กำหนดนโยบายบริหารความเสี่ยง และมีบทบาทสำคัญในคณะกรรมการบริหารความเสี่ยงของ SCBAM ในด้านการบริหารความเสี่ยง การตรวจสอบ และการกำกับดูแลการปฏิบัติงานของบริษัท ทางธนาคารเป็นผู้จัดหาบุคลากรให้กับทาง SCBAM

การบริหารจัดการการลงทุน

ฟิทช์มองว่ากระบวนการการลงทุนของบริษัทดีพร้อม โดยมีการติดตามและประเมินหลักทรัพย์ที่ลงทุนเป็นลายลักษณ์อักษร การวิเคราะห์การลงทุนในเชิงลึก และการซื้อขายหลักทรัพย์อย่างมีหลักการ โดยทั้งหมดมีคณะกรรมการพิจารณาการลงทุนเป็นผู้ดูแลและควบคุม จำนวนและประสบการณ์ของบุคลากรฝ่ายการลงทุนมีความสอดคล้องกับสินทรัพย์ที่บริหารจัดการ โดยมีบุคลากรสำหรับการวิเคราะห์ที่พอเพียง และมีการแยกความรับผิดชอบการบริหารจัดการการลงทุนอย่างชัดเจน ในช่วงที่ผ่านมาบริษัทได้ดำเนินการแก้ไขปรับปรุงกระบวนการการบริหารจัดการการลงทุนหุ้น เพื่อเพิ่มความชัดเจนในการหาแหล่งที่มาของผลประกอบการและมุ่งเน้นหาผลตอบแทนที่สูงกว่าตลาด (alpha) มากขึ้น อย่างไรก็ตามในปี 2558 การลงทุนในบางกองทุนได้ผิดไปจากนโยบายที่ทางบริษัทประกาศไว้ในบางช่วงซึ่งเกิดจากการเคลื่อนไหวของสกุลเงินต่างประเทศและการปรับมูลค่ากองทุนตามราคาตลาด ซึ่งฟิทช์มองว่าเรื่องดังกล่าวไม่ได้เกิดจากเจตนาลงทุนผิดไปจากนโยบายและถือว่าเป็นผลมาจากความเคลื่อนไหวของปัจจัยต่างๆในตลาดที่ควบคุมไม่ได้

การบริหารจัดการการปฏิบัติการการลงทุน

บริษัทมีบุคลากรด้านการปฏิบัติการที่พอเพียงเมื่อเทียบกับปริมาณและความซับซ้อนของธุรกรรมการซื้อขาย การลงทุนในหลักทรัพย์ และ ลูกค้าของบริษัท การบริหารจัดการการปฏิบัติการการลงทุนดังกล่าวมีปัจจัยสนับสนุนมาจากทรัพยากรทางด้านเทคโนโลยี และทีมงานที่มีประสบการณ์สูง รวมถึงบุคลากรที่ได้แบ่งแยกตามสายงานอย่างชัดเจน นอกจากนี้ SCBAM ยังได้รับประโยชน์จากระบบที่เชื่อมต่ออัตโนมัติที่อยู่ในระดับสูง ในด้านการเปิดเผยข้อมูลในรายงานที่เผยแพร่แก่ลูกค้าถือว่าอยู่ในเกณฑ์ที่กำหนดไว้ภายใต้กฎข้อบังคับของธุรกิจการบริหารจัดการกองทุนในประเทศไทย และใกล้เคียงกับการเปิดเผยข้อมูลของบริษัทจัดการกองทุนอื่น ฟิทช์คาดว่าหลังจากที่บริษัทเพิ่มความสามารถในการปฏิบัติการข้อมูลของระบบสายงานส่วนหลัง และโยกย้ายข้อมูลที่ไม่สำคัญออกจากระบบตามแผนงานที่บริษัทได้วางไว้ในช่วงหนึ่งปีข้างหน้า ระบบสายงานส่วนหลังของ SCBAM จะมีการทำงานได้ดีขึ้นอีก อย่างไรก็ตามทางบริษัทได้เผชิญกับปัญหาที่เกิดจากฐานข้อมูลที่ไม่ถูกต้องในส่วนงานนายทะเบียนกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ

ประสิทธิภาพทางด้านเทคโนโลยี

SCBAM ได้ประโยชน์จากการที่มีระบบ IT ที่เชื่อมต่อกัน โดยมีการยกระดับระบบต่างๆอย่างสม่ำเสมอ มีแผนรองรับการดำเนินธุรกิจอย่างต่อเนื่อง และบุคลากร IT ที่มีประสบการณ์สูง นอกจากนี้ทาง SCB ได้จัดบุคลากร IT เฉพาะสำหรับสายธุรกิจบริหารจัดการกองทุน โดยบุคลากรเฉพาะเหล่านี้มีหน้าที่สนับสนุนการดำเนินงานและการพัฒนาระบบ IT ของ SCBAM

ปัจจัยที่อาจมีผลกับอันดับบริษัทจัดการกองทุนในอนาคต

อันดับบริษัทจัดการกองทุนอาจเปลี่ยนแปลงได้ หากปัจจัยที่ใช้ในการจัดอันดับข้างต้นมีการเปลี่ยนแปลงที่สำคัญ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง สถานะทางการเงินของบริษัทที่อ่อนแอลง อัตราการเปลี่ยนแปลงพนักงานที่เพิ่มขึ้นอย่างมาก หรือ กระบวนการการลงทุนและนโยบายการบริหารจัดการที่แย่ลง ทั้งนี้การเบี่ยงเบนที่มีสาระสำคัญของปัจจัยที่ใช้ในการจัดอันดับจากหลักเกณฑ์ของฟิทช์ อาจนำไปสู่การปรับลดอันดับบริษัทจัดการกองทุนได้

ข่าวประชาสัมพันธ์ล่าสุด

๑๗:๕๔ กทม. เตรียมปรับปรุงพัฒนาระบบการให้บริการงานทะเบียนสำนักงานเขต
๑๗:๑๗ สมาคมเพื่อนชุมชน ส่งเสริมองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ถ่ายทอดองค์ความรู้ แนวทางลดก๊าซเรือนกระจก
๑๗:๔๑ กทม. เร่งติดตั้งเสา-ตะแกรงรั้วกั้นเกาะกลางถนนวิสุทธิกษัตริย์ที่ถูกรถชนเสียหาย
๑๗:๐๔ คณะวิทยาการจัดการ มหาวิทยาลัยสวนดุสิต ขอเชิญชวนนักศึกษา และบุคคลทั่วไป เข้าร่วมงาน M-Sci JOB FAIR 2024 หางานที่ใช่ สร้างงาน สร้างโอกาส วันที่ 2 พฤษภาคม 2567 เวลา 13.00-16.00 น. ณ หอประชุม รักตะกนิษฐ
๑๗:๒๘ ชไนเดอร์ อิเล็คทริค นำเสนอโซลูชั่นดิจิทัลลุยตลาดอาคารอัจฉริยะเพื่อความยั่งยืน
๑๖:๒๙ จิม ทอมป์สัน เผยทิศทางการพา แบรนด์ผ้าเมืองไทย ผงาดเวทีโลก ส่องกลยุทธ์การครีเอตผลงานคุณภาพให้สอดรับเทรนด์สิ่งทอระดับสากล
๑๖:๓๘ อาดิดาสจับมือนักฟุตบอลระดับตำนาน ส่งแคมเปญ 2006 JOSE 10 สร้างแรงบันดาลใจและความเป็นไปได้อันไร้ขีดจำกัดให้กับเหล่านักฟุตบอลเยาวชนหญิง
๑๖:๑๐ Maison Berger Paris พาชมเครื่องหอมบ้าน 2 คอลเลคชั่นใหม่ MOLECULE และ JOY จัดเต็มเซ็ตของขวัญ ครบทุกรูปแบบความหอม สร้างบรรยากาศหรูหราพร้อมกลิ่นหอมบริสุทธิ์
๑๖:๕๗ กทม. เตรียมระบบเฝ้าระวัง-ควบคุมการแพร่ระบาดโรคโควิด 19 หลังเทศกาลสงกรานต์
๑๕:๑๕ NCC. ผนึก ททท. ขยายตลาดท่องเที่ยวมูลค่าสูง ชี้ตลาดท่องเที่ยวเฉพาะทาง (Niche Market) โต ลุยจัดงาน Thailand Golf Dive Expo plus OUTDOOR Fest