ฟิทช์ปรับอันดับเครดิตสากล ปตท. ตามการปรับอันดับเครดิตของประเทศไทย

พฤหัส ๒๘ กรกฎาคม ๒๐๑๖ ๑๗:๓๔
ฟิทช์ เรทติ้งส์ ประกาศลดอันดับเครดิตสากลระยะยาวสกุลเงินในประเทศ (International Long-term Local-Currency Issuer Default Rating) ของบริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) หรือ ปตท. เป็น 'BBB+' จาก 'A-' แนวโน้มเครดิตมีเสถียรภาพ เนื่องจากการลดอันดับเครดิตสากลระยะยาวสกุลเงินในประเทศของประเทศไทยเป็น 'BBB+' จาก 'A-' แนวโน้มเครดิตมีเสถียรภาพ เมื่อวันที่ 22 กรกฎาคมที่ผ่านมา (สามารถดูรายละเอียดเพิ่มเติมในรายงาน "Fitch Reviews Thailand's Ratings, Applies Criteria Changes" ได้ในเวปไซต์ www.fitchratings.com)

ในขณะเดียวกัน ฟิทช์ประกาศคงอันดับเครดิตสากลระยะยาวสกุลเงินต่างประเทศ (International Long-term Foreign-Currency Issuer Default Rating) ที่ระดับ 'BBB+' อันดับเครดิตสากลระยะสั้นสกุลเงินต่างประเทศ (International Short-term Foreign-Currency Issuer Default Rating) ที่ระดับ 'F2' อันดับเครดิตภายในประเทศ (National Rating) ระยะยาวที่ระดับ 'AAA(tha)' อันดับเครดิตภายในประเทศระยะสั้นที่ระดับ 'F1+(tha)' และอันดับเครดิตภายในประเทศระยะยาวของหุ้นกู้ไม่มีหลักประกันและไม่ด้อยสิทธิที่ระดับ 'AAA(tha)' แนวโน้มเครดิตมีเสถียรภาพ

อันดับเครดิตโดยลำพัง (Standalone Rating) ของ ปตท. ปัจจุบันอยู่ในระดับเดียวกันกับอันดับเครดิตสากลระยะยาวสกุลเงินต่างประเทศและอันดับเครดิตสากลระยะยาวสกุลเงินในประเทศของประเทศไทยที่ 'BBB+' แนวโน้มเครดิตมีเสถียรภาพ

ปัจจัยที่มีผลต่ออันดับเครดิต

ธุรกิจสำรวจและผลิตปิโตรเลียมที่อ่อนแอลง: สถานะปริมาณสำรองน้ำมันและก๊าซธรรมชาติของบริษัทลดลงอย่างต่อเนื่อง ซึ่งต่ำกว่าปริมาณสำรองของบริษัทสำรวจและผลิตปิโตรเลียมที่ได้รับการจัดอันดับในระดับ 'BBB' นอกจากนี้ฟิทช์คาดว่ากระแสเงินสดจากการดำเนินงานของธุรกิจสำรวจและผลิตปิโตรเลียมของ ปตท. จะลดลงไปอีกในปี 2559 อย่างไรก็ตามสัดส่วนหนี้สินของธุรกิจสำรวจและผลิตปิโตรเลียมของบริษัทฯและของ ปตท. โดยรวมยังคงอยู่ในระดับที่ต่ำ และสภาพคล่องทางการเงินของบริษัทฯยังคงอยู่ในระดับสูง

ความเป็นบริษัทน้ำมันและก๊าซธรรมชาติครบวงจรของ ปตท.: อันดับเครดิตของ ปตท. สะท้อนถึงการดำเนินธุรกิจน้ำมันและก๊าซธรรมชาติแบบครบวงจรของบริษัทฯ และความมีเสถียรภาพจากการที่ ปตท. มีขนาดธุรกิจกลางน้ำและปลายน้ำที่มีขนาดใหญ่และมั่นคง ธุรกิจเหล่านี้ช่วยลดผลกระทบจากผลการดำเนินงานของธุรกิจสำรวจและผลิตปิโตรเลียมที่ลดลงมาตั้งแต่ช่วงครึ่งหลังของปี 2557

กระแสเงินสดจากการดำเนินงานของธุรกิจก๊าซที่มีความสม่ำเสมอ: สถานะทางการเงินของ ปตท. ได้รับประโยชน์จากกระแสเงินสดจากการดำเนินงานจากธุรกิจก๊าซธรรมชาติที่มีความสม่ำเสมอ อันเป็นผลมาจากอุปสงค์ที่มีอย่างต่อเนื่อง และสัญญาการจัดจำหน่ายระยะยาวซึ่งมีการกำหนดปริมาณการซื้อขั้นต่ำจากคู่สัญญาในลักษณะ take-or-pay รวมถึงโครงสร้างราคาที่สามารถส่งผ่านต้นทุนการขายให้แก่ลูกค้าได้

อย่างไรก็ตาม กำไรจากธุรกิจก๊าซธรรมชาติปรับตัวลดลงตามราคาน้ำมัน เนื่องจากส่วนต่างกำไรจากการขายก๊าซธรรมชาติให้แก่โรงงานอุตสาหกรรม และผลิตภัณฑ์ก๊าซจากโรงแยกก๊าซที่ลดลง ซึ่งเป็นผลจากราคาต้นทุนของก๊าซลดลงช้ากว่าราคาขาย ฟิทช์คาดว่าสถานการณ์จะปรับตัวดีขึ้นเมื่อราคาต้นทุนก๊าซปรับลดลงตามเวลาในสัญญาและเมื่อราคาน้ำมันปรับตัวขึ้น

อัตราส่วนทางการเงินที่อ่อนแอลง: ฟิทช์คาดว่าอัตราส่วนหนี้สินสุทธิที่ปรับปรุงแล้วต่อกระแสเงินสดจากการดำเนินงานก่อนการเปลี่ยนแปลงของเงินทุนหมุนเวียน (FFO adjusted net leverage) จะเพิ่มขึ้นเป็น 1.7 เท่าในปี 2559 (2558: 1.3 เท่า) เนื่องจากกระแสเงินสดที่คาดว่าจะลดลง แม้ว่า ปตท. ได้มีการประกาศลดแผนการลงทุนในปี 2559 ลงประมาณร้อยละ 15 ฟิทช์คาดว่า ปตท. น่าจะมีกระแสเงินสดสุทธิ (free cash flow) เป็นลบในช่วงสองถึงสามปีข้างหน้า อย่างไรก็ตามอัตราส่วนหนี้สินที่วัดจาก FFO adjusted net leverage น่าจะอยู่ต่ำกว่า 2.25 เท่า

บริษัทน้ำมันและก๊าซธรรมชาติแห่งชาติ: อันดับเครดิตสะท้อนถึงความเป็นผู้นำของ ปตท. ในธุรกิจน้ำมันและก๊าซธรรมชาติในประเทศไทย ความสำคัญในเชิงกลยุทธ์และการเป็นตัวจักรสำคัญของรัฐบาลในการขับเคลื่อนนโยบายที่เกี่ยวกับการพัฒนาและความมั่นคงทางพลังงานของประเทศ ปตท. เป็นผู้ดำเนินการระบบท่อส่งก๊าซธรรมชาติและเป็นผู้จัดหาและจัดจำหน่ายก๊าซธรรมชาติแต่เพียงรายเดียวในประเทศไทย โดยซื้อก๊าซจากผู้ผลิตและนำมาขายให้แก่ผู้บริโภคก๊าซธรรมชาติในประเทศไทยเกือบทั้งหมด นอกจากนี้ ปตท. ยังเป็นบริษัทชั้นนำในธุรกิจสำรวจและผลิตปิโตรเลียม ธุรกิจน้ำมัน และธุรกิจปิโตรเคมีในประเทศไทยอีกด้วย

สมมุติฐานที่สำคัญ

- ราคาน้ำมันดิบ (เบรนท์) ที่ราคา 35 เหรียญสหรัฐฯต่อบาร์เรลในปี 2559, 45 เหรียญสหรัฐฯต่อบาร์เรลในปี 2560, 55 เหรียญสหรัฐฯต่อบาร์เรลในปี 2561 และ 65 เหรียญสหรัฐฯต่อบาร์เรลในปี 2562 เป็นต้นไป;

- ปริมาณการขายและการผลิตของธุรกิจสำรวจและผลิตปิโตรเลียมคงที่ในปี 2559 แต่ EBITDA ลดลงเนื่องจากราคาน้ำมันและก๊าซธรรมชาติที่ลดลง;

- EBITDA จากธุรกิจก๊าซธรรมชาติยังคงอยู่ในระดับที่ต่ำกว่าปกติในปี 2559;

- EBITDA จากธุรกิจปิโตรเคมีและโรงกลั่นน้ำมันลดลงในปี 2559 เนื่องจากส่วนต่างระหว่างราคาผลิตภัณฑ์กับวัตถุดิบที่ลดลง แต่ยังคงอยู่ในระดับที่สูงมาก;

- เงินลงทุนคิดเป็นร้อยละ 10-12 ของยอดขายในปี 2559-2560;

- ไม่รวมการควบรวมและการเข้าซื้อกิจการ อย่างไรก็ตามบริษัทฯ มีความสามารถในการรองรับการเพิ่มขึ้นของอัตราส่วนหนี้สินสำหรับการควบรวมและการเข้าซื้อกิจการได้ในระดับหนึ่ง

ปัจจัยที่อาจมีผลกับอันดับเครดิตในอนาคต

ปัจจัยบวก:

- การปรับเพิ่มอันดับเครดิตสากลระยะยาวของประเทศไทย โดยที่ความสัมพันธ์ระหว่างกันยังคงเหมือนเดิม

การปรับเพิ่มอันดับเครดิตโดยลำพังของ ปตท. ไม่น่าจะเกิดขึ้นในช่วง 18-24 เดือนข้างหน้า เนื่องจากความอ่อนแอของธุรกิจสำรวจและผลิตปิโตรเลียมโดยเฉพาะสถานะปริมาณสำรองน้ำมันและก๊าซธรรมชาติ

ปัจจัยลบ:

- การปรับลดอันดับเครดิตสากลระยะยาวของประเทศไทย

ปัจจัยที่อาจมีผลต่อการปรับลดอันดับเครดิตโดยลำพังของ ปตท. รวมไปถึง:

- การลงทุนจำนวนมากโดยใช้เงินกู้ยืม หรือกระแสเงินสดจากการดำเนินงานที่ต่ำกว่าที่คาด ซึ่งทำให้อัตราส่วนหนี้สินสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง ซึ่งวัดจาก FFO adjusted net leverage ที่สูงกว่า 2.75 เท่า

- สถานะทางการเงินของธุรกิจสำรวจและผลิตปิโตรเลียมที่อ่อนแอลง ซึ่งวัดจาก FFO adjusted net leverage ที่สูงกว่า 2.5 เท่า และการที่ปริมาณสำรองน้ำมันและก๊าซธรรมชาติลดลงอย่างต่อเนื่องในระยะสองถึงสามปีข้างหน้า

- การเปลี่ยนแปลงในเรื่องกฎระเบียบ การแก้ไขสัญญาซื้อขายก๊าซธรรมชาติและการปรับค่าผ่านท่อก๊าซที่ส่งผลกระทบในแง่ลบต่อ ปตท.

อย่างไรก็ตามฟิทช์จะพิจารณาให้อันดับเครดิตเพิ่มขึ้นหนึ่งอันดับแก่ อันดับเครดิตสากลระยะยาวของ ปตท. ในกรณีที่อันดับเครดิตโดยลำพังของ ปตท. ต่ำกว่าอันดับเครดิตสากลระยะยาวของประเทศไทย ที่ 'BBB+' เพื่อสะท้อนถึงความสัมพันธ์กับผู้ถือหุ้นรายใหญ่ซึ่งได้แก่รัฐบาลไทยตามหลักเกณฑ์การจัดอันดับเครดิตของฟิทช์ในเรื่องความสัมพันธ์ระหว่างบริษัทใหญ่กับบริษัทย่อย (Parent and Subsidiary Rating Linkage Methodology)

ข่าวประชาสัมพันธ์ล่าสุด

๑๒:๑๔ องค์การบรรจุภัณฑ์โลก จับมือ อินฟอร์มา มาร์เก็ตส์ ประเทศไทย ร่วมจัดกิจกรรมสัมมนาออนไลน์
๑๒:๑๒ การแข่งขันกีฬาขี่ม้าโปโลรายการ King Power International Ladies' Polo Tournament 2024
๑๒:๔๔ DEXON ปักธงรายได้ปี 67 ทะลุ 700 ลบ. โชว์ Backlog เฉียด 280 ลบ. ล็อคมาร์จิ้น 35-40%
๑๒:๑๐ JPARK ร่วมงาน Dinner Talk ผู้บริหารจดทะเบียนพบนักลงทุน จ.ราชบุรี
๑๒:๒๓ นีเวีย ซัน และ วัตสัน จับมือต่อปีที่สองชวนดูแลท้องทะเล กับโครงการ เพราะแคร์ จึงชวนแชร์ ร่วมพิทักษ์รักษ์ทะเลไทย
๑๒:๕๗ Cloud เทคโนโลยีที่อยู่ใกล้ตัว เพียงแค่คุณไม่รู้เท่านั้นเอง
๑๒:๒๘ โรยัล คานิน ร่วมกับ เพ็ทแอนด์มี จัดงาน Royal Canin Expo 2024: PAWRENTS' DAY เพื่อสร้างโลกที่ดีขึ้นสำหรับน้องแมวและน้องหมา
๑๒:๑๐ STEAM Creative Math Competition
๑๒:๔๔ A-HOST ร่วมวาน MFEC Inspire ขึ้นบรรยายพร้อมจัดบูธ Cost Optimization Pavilion
๑๒:๔๗ ฟินเวอร์! ส่องความคิ้วท์ 'ฟอส-บุ๊ค' ควงคู่ร่วมงาน Discover Thailand เสิร์ฟโมเมนต์ฉ่ำให้แฟนๆ ได้ดับร้อนกันยกด้อมรับซัมเมอร์ และร่วมส่งต่อความสุขในกิจกรรม 'Exclusive Unseen Food Trip กับ คู่ซี้