ตลาดเกิดใหม่ยังคงแข็งแกร่งไปจนถึงปี 2560

อังคาร ๑๘ ตุลาคม ๒๐๑๖ ๑๐:๕๗
โดย ดร. มูรัต อูลเกิน ผู้อำนวยการบริหาร ฝ่ายกลยุทธ์ตลาดเกิดใหม่ ธนาคารเอชเอสบีซี

เรามีมุมมองเชิงบวกต่อตลาดเกิดใหม่มาเกือบ 1 ปีแล้ว สินทรัพย์ทางการเงินของตลาดเกิดใหม่ให้ผลตอบแทนที่ดีที่สุดในรอบ 3 ปี โดยในปี 2559 มีเงินทุนไหลกลับเข้ามาลงทุนในตลาดเกิดใหม่ภายหลังจากที่ได้ไหลออกไปในช่วง 3 ปี ซึ่งเราพบว่ามาจากสาเหตุ 2 ประการ และคาดว่าจะเป็นสาเหตุที่เอื้อต่อการสร้างผลตอบแทนของสินทรัพย์ในตลาดเกิดใหม่ต่อเนื่องจนถึงปีหน้า

ประการแรก คือ ปัจจัยเกื้อหนุนจากภายนอกในปี 2559 จากการที่อัตราดอกเบี้ยพื้นฐานอยู่ในระดับต่ำ การดำเนินนโยบายของธนาคารกลางทั่วโลกที่เป็นกลางโน้มเอียงไปทางผ่อนคลาย เงินดอลลาร์สหรัฐที่เคลื่อนไหวขึ้นลงไม่มาก กิจกรรมทางเศรษฐกิจของจีนที่มีเสถียรภาพ และราคาน้ำมันและสินค้าโภคภัณฑ์โดยรวมมีเสถียรภาพ หากไม่ขยับสูงขึ้น ปัจจัยเหล่านี้มีแนวโน้มที่จะไม่เปลี่ยนแปลงในมุมมองด้านกลยุทธ์เศรษฐกิจมหภาคของเอชเอสบีซี และการกดอัตราดอกเบี้ยให้อยู่ในระดับต่ำต่อไปอีกในระยะยาว

ประการที่สอง คือ ภาวะเศรษฐกิจมหภาคของตลาดเกิดใหม่ขนาดใหญ่หลายแห่งฟื้นตัวขึ้นอย่างมั่นคงและค่อยเป็นค่อยไป ภาพรวมของตลาดเกิดใหม่ดูดีขึ้นกว่าที่เคยเป็นมาอย่างน้อยก็ในรอบ 3 ปีที่แล้ว และในปี 2560 ก็น่าจะเห็นการฟื้นตัวเพิ่มขึ้นอีก ซึ่งจะทำให้ตลาดเกิดใหม่มีความแข็งแกร่งพร้อมรับมือกับเหตุการณ์ผันผวนต่าง ๆ อาทิ การแกว่งตัวของอัตราดอกเบี้ยพื้นฐาน การลงประชามติ Brexit ข่าวเกี่ยวกับการเลือกตั้งประธานาธิบดีของสหรัฐ เป็นต้น

รายงานฉบับนี้ เราได้เจาะลึกถึงตัวแปรต่างๆของตลาดเกิดใหม่ที่ฟื้นตัวขึ้น เราชี้ให้เห็นถึงแนวโน้ม 8 ประการที่นำไปสู่ความแข็งแกร่งของตลาดเกิดใหม่ อันได้แก่

1. ความตึงเครียดทางการเงินลดลง

2. การค้าโลกเริ่มมีเสถียรภาพมากขึ้น

3. เศรษฐกิจของตลาดเกิดใหม่เติบโตได้ดีกว่าตลาดที่พัฒนาแล้ว

4. วัฏจักรการระบายสินค้าคงคลังที่ยาวนานกำลังสิ้นสุดลง

5. วัฏจักรรายได้ของบริษัทจดทะเบียนอยู่ในช่วงขาขึ้น

6. ความไม่สมดุลจากปัจจัยภายนอกลดลง

7. แรงกดดันเงินเฟ้ออยู่ในระดับต่ำ

8. การปฏิรูปเชิงโครงสร้างมีแนวโน้มที่ดีขึ้น

มุมมองเชิงบวกต่อสินทรัพย์ทุกประเภท – ให้น้ำหนักลงทุนในหุ้นตลาดเกิดใหม่มากกว่าสินทรัพย์อื่นเล็กน้อย

โดยรวมแล้ว เรายังคงมีมุมมองเป็นบวกต่อการลงทุนในสินทรัพย์ทุกประเภทในตลาดเกิดใหม่ และมองการปรับฐานเป็นโอกาสเข้าซื้อ เนื่องจากเราเชื่อว่าภาวะเศรษฐกิจมหภาคในขณะนี้มีทั้งปัจจัยภายนอกและภายในประเทศ เกื้อหนุน

ในด้านตราสารหนี้ ภาวะดอกเบี้ยที่อยู่ในระดับต่ำทั่วโลก และอัตราดอกเบี้ยที่แท้จริงที่ค่อนข้างสูงในตลาดเกิดใหม่ซึ่งเป็นผลจากภาพรวมเงินเฟ้อที่ซบเซา น่าจะยังเป็นปัจจัยบวกต่ออัตราผลตอบแทนของตราสารหนี้ต่อไป ดังนั้น เราจึงให้น้ำหนักลงทุนในประเทศที่มีความคืบหน้าด้านการปฏิรูปเชิงโครงสร้าง หรือมีนโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจในภาพรวม ดังที่เราเห็นโอกาสสร้างผลตอบแทนในอินเดีย อินโดนีเซีย บราซิล และรัสเซีย ขณะเดียวกัน เราแนะนำให้ป้องกันความเสี่ยงจากแนวโน้มการปรับขึ้นของอัตราดอกเบี้ยในแอฟริกาใต้ และเม็กซิโก และคาดว่าความชันของเส้นอัตราผลตอบแทนในตุรกีมีโอกาสปรับเพิ่มขึ้น (steepen) เนื่องจากประเทศเหล่านี้มีการดำเนินนโยบายและการปฏิรูปเศรษฐกิจที่ล่าช้า

การปรับแนวนโยบายการเงินให้เข้มงวดอย่างค่อยเป็นค่อยไปของเฟด การเพิ่มความมีเสถียรภาพของเศรษฐกิจจีน และราคาสินค้าโภคภัณฑ์ที่ร่วงลงถึงระดับต่ำสุดแล้ว โดยทั่วไปมีแนวโน้มสนับสนุนการเติบโตของตลาดอัตราแลกเปลี่ยนในตลาดเกิดใหม่ นักกลยุทธ์ด้านอัตราแลกเปลี่ยนของเอชเอสบีซี คาดจะเห็นการเคลื่อนไหวของอัตราแลกเปลี่ยนของสกุลเงินในตลาดเกิดใหม่ไปในระนาบเดียวกัน ขณะที่สกุลเงินที่ให้ผลตอบแทนสูงยังมีโอกาสสร้างผลตอบแทนที่โดดเด่น เช่น เงินรูปีอินเดีย (INR) เงินรูเปียอินโดนีเซีย (IDR) เงินแรนด์แอฟริกาใต้ (ZAR) เงินลีราใหม่ตุรกี (TRY) เงินเปโซโคลอมเบีย (COP) และสกุลเงินประเทศที่มีการเกินดุลบัญชีเดินสะพัดสูงที่ให้ผลตอบแทนต่ำกว่า เช่น เงินวอนเกาหลีใต้ (KRW) เงินดอลลาร์ไต้หวัน (TWD) เงินบาทไทย (THB) เงินชาคิลล์อิสราเอล (ILS) และเงินโฟรินท์ฮังการี (HUF)

ส่วนหุ้นของตลาดเกิดใหม่ รายได้ของบริษัทจดทะเบียนเติบโตในทิศทางเดียวกับตลาดที่พัฒนาแล้ว สภาพคล่องที่มีอยู่มากทั่วโลก และมูลค่าหุ้นที่ยังมีราคาไม่แพง กำลังกระตุ้นความต้องการลงทุนในหุ้น นอกจากนี้ ทีมนักวิเคราะห์ตลาดหุ้นเกิดใหม่ทั่วโลกของเอชเอสบีซี เห็นว่านอกจากปัจจัยดังกล่าวแล้ว ยังมีสัญญาณล่วงหน้าบ่งบอกถึงการฟื้นตัวในภาคการลงทุนโดยทั่วไป ซึ่งหากเป็นการฟื้นตัวที่ยั่งยืน ก็จะเป็นแรงส่งสำหรับหุ้นตลาดเกิดใหม่ได้ ในบรรดาเศรษฐกิจของตลาดเกิดใหม่ เราได้ให้น้ำหนักลงทุนเพิ่มขึ้นในตลาดที่สำคัญ ได้แก่ อินโดนีเซีย รัสเซีย แอฟริกาใต้ และตุรกี

เราคิดว่าหุ้นจะสามารถเป็นหลักประกันที่ดีในระยะอันใกล้ได้ ถ้าหากว่าเงินเฟ้อเริ่มขยับเพิ่มสูงขึ้นจากผลกระทบของราคาน้ำมันที่อยู่ในระดับต่ำ นอกจากนี้ ที่ผ่านมาหุ้นในตลาดเกิดใหม่ยังสร้างผลตอบแทนได้ต่ำกว่าหุ้นในตลาดที่พัฒนาแล้วอยู่มาก และยังมีผลตอบแทนต่ำกว่าตลาดตราสารหนี้ในตลาดเกิดใหม่อีกด้วย ดังนั้น เมื่อเปรียบเทียบแล้วจึงน่าสนใจที่จะลงทุน และเมื่อพิจารณาอย่างรอบด้านแล้ว แม้เราจะยังคงมีมุมมองเป็นบวกต่อสินทรัพย์ทุกประเภทในตลาดเกิดใหม่ แต่ขณะนี้เราให้น้ำหนักลงทุนในหุ้นมากกว่าสินทรัพย์ประเภทอื่นอยู่เล็กน้อย

การเมืองในตลาดที่พัฒนาแล้วยังเป็นปัจจัยเสี่ยง

ความเสี่ยงที่มีต่อมุมมองเชิงบวกของเราในตลาดเกิดใหม่ยังคงเป็นปัจจัยการเมืองของตลาดที่พัฒนาแล้ว อันเนื่องมาจากห้วงเวลาของการเลือกตั้งในหลาย ๆ ประเทศ ซึ่งมีโอกาสนำไปสู่การดำเนินนโยบายทั้งประชานิยม และปกป้องนิยม อย่างที่นักเศรษฐศาสตร์ของเอชเอสบีซีได้มีการวิพากษ์วิจารณ์ และโดยเฉพาะอย่างยิ่งในกรณีของยูโรโซน

ข่าวประชาสัมพันธ์ล่าสุด

๒๘ มี.ค. องค์การบรรจุภัณฑ์โลก จับมือ อินฟอร์มา มาร์เก็ตส์ ประเทศไทย ร่วมจัดกิจกรรมสัมมนาออนไลน์
๒๘ มี.ค. การแข่งขันกีฬาขี่ม้าโปโลรายการ King Power International Ladies' Polo Tournament 2024
๒๘ มี.ค. DEXON ปักธงรายได้ปี 67 ทะลุ 700 ลบ. โชว์ Backlog เฉียด 280 ลบ. ล็อคมาร์จิ้น 35-40%
๒๘ มี.ค. JPARK ร่วมงาน Dinner Talk ผู้บริหารจดทะเบียนพบนักลงทุน จ.ราชบุรี
๒๘ มี.ค. นีเวีย ซัน และ วัตสัน จับมือต่อปีที่สองชวนดูแลท้องทะเล กับโครงการ เพราะแคร์ จึงชวนแชร์ ร่วมพิทักษ์รักษ์ทะเลไทย
๒๘ มี.ค. Cloud เทคโนโลยีที่อยู่ใกล้ตัว เพียงแค่คุณไม่รู้เท่านั้นเอง
๒๘ มี.ค. โรยัล คานิน ร่วมกับ เพ็ทแอนด์มี จัดงาน Royal Canin Expo 2024: PAWRENTS' DAY เพื่อสร้างโลกที่ดีขึ้นสำหรับน้องแมวและน้องหมา
๒๘ มี.ค. STEAM Creative Math Competition
๒๘ มี.ค. A-HOST ร่วมวาน MFEC Inspire ขึ้นบรรยายพร้อมจัดบูธ Cost Optimization Pavilion
๒๘ มี.ค. ฟินเวอร์! ส่องความคิ้วท์ 'ฟอส-บุ๊ค' ควงคู่ร่วมงาน Discover Thailand เสิร์ฟโมเมนต์ฉ่ำให้แฟนๆ ได้ดับร้อนกันยกด้อมรับซัมเมอร์ และร่วมส่งต่อความสุขในกิจกรรม 'Exclusive Unseen Food Trip กับ คู่ซี้