สมาคมธนาคารไทยจับมือ “กาชาด – มูลนิธินวัตกรรมทางสังคม” ครั้งแรก! จ้างงาน-สร้างอาชีพคนพิการครั้งใหญ่ 900 อัตรา 76 จังหวัดทั่วประเทศ

ศุกร์ ๒๐ มกราคม ๒๐๑๗ ๐๙:๕๗
สมาคมธนาคารไทย ร่วมมือ สภากาชาดไทยและมูลนิธินวัตกรรมทางสังคมตั้ง "โครงการสมาคมธนาคารไทยส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการ" ประเดิมจ้างงานและสนับสนุนอาชีพคนพิการครั้งแรก และครั้งใหญ่ 900 อัตรา กระจาย 76 จังหวัดทั่วประเทศ มุ่งส่งเสริม-พัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการ ได้ทำงานเหมาะสม ใกล้บ้าน ลดความเหลื่อมล้ำทางสังคม

นายปรีดี ดาวฉาย ประธานสมาคมธนาคารไทย กล่าวว่า "โครงการสมาคมธนาคารไทยส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการ" เป็นความร่วมมือระหว่างสมาคมธนาคารไทย สภากาชาดไทย และมูลนิธินวัตกรรมทางสังคมครั้งแรกซึ่งได้รับการสนับสนุนอย่างดียิ่งจากภาครัฐทั้งกระทรวงแรงงาน และกระทรวงพัฒนาสังคม และความมั่นคงของมนุษย์ โดยมีเป้าหมายเพื่อส่งเสริม และพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการ ให้มีงานทำ และได้ทำงานในชุมชนที่อาศัยอยู่ ช่วยลดความเหลื่อมล้ำในสังคม

"สมาชิกของสมาคมธนาคารไทยซึ่งประกอบด้วยธนาคารพาณิชย์ 14 สถาบัน ส่วนใหญ่ปฏิบัติตาม มาตรา 34 ของพระราชบัญญัติส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการ พ.ศ.2550 ด้วยการส่งเงินสมทบกองทุนส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการของกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ เป็นจำนวน 109;500 บาท/คน/ปี เนื่องจากติดข้อจำกัดที่ไม่สามารถจ้างงานคนพิการในอัตราร้อยละ 1 ของจำนวนพนักงานขององค์กร ตามข้อกำหนดในมาตรา 33 ได้ ด้วยสาเหตุบางประการ เช่น จัดหาคนพิการในพื้นที่มาทำงานตรงตามพื้นที่นั้นๆ ไม่ได้ และบางครั้งตำแหน่งงานไม่เหมาะกับคุณสมบัติของคนพิการ ส่งผลให้ยอดสะสมในกองทุนฯ เพิ่มขึ้นทุกปี ทางสมาคมฯ จึงมองหาความเป็นไปได้ที่จะนำเงินซึ่งใช้สมทบทุกๆ ปี มาสร้างประโยชน์ให้กับคนพิการโดยตรง ด้วยการสร้างโอกาส งานและอาชีพ ที่เหมาะสมกับความสามารถ ซึ่งมาตรา 35 เปิดโอกาสให้มีการจัดจ้างเหมางานให้คนพิการไปทำงานในสถานประกอบการอื่นได้โดยรวมถึงองค์กร สาธารณกุศลเพื่อสังคม ประกอบกับสมาคมฯ ได้พันธมิตรอย่างสภากาชาดไทยกับมูลนิธินวัตกรรมทางสังคมเข้าร่วมแสดงความจำนงครั้งนี้อย่างลงตัว ความร่วมมือครั้งนี้ถือเป็นครั้งแรกที่ธนาคารพาณิชย์ทั้ง 14 สถาบันภายใต้สมาคมธนาคารไทยลงมติเป็นทิศทางเดียวกันที่จะสนับสนุนการจ้างงานและสร้างอาชีพแก่คนพิการประมาณ 900 คน เพื่อให้คนพิการได้ทำงานตรงตามความถนัด และสามารถเลี้ยงดูตนเองได้และยังสามารถทำงานในหน่วยงานที่สร้างประโยชน์ต่อประเทศชาติอีกทางหนึ่งด้วย" นายปรีดีกล่าว

ด้าน คุณหญิงชฏา วัฒนศิริธรรม เหรัญญิก สภากาชาดไทย กล่าวว่า สภากาชาดไทยมีความยินดีเป็นอย่างยิ่งที่มีส่วนร่วมในโครงการนี้ โดยมุ่งหวังว่าการเปิดโอกาสให้คนพิการเข้ามาทำงานกับสภากาชาดไทยซึ่งเป็นองค์กรที่มีเกียรติ มีชื่อเสียง และเป็นองค์กรที่ทำคุณประโยชน์เพื่อสังคม จะเสริมสร้างความภูมิใจ และการมีส่วนร่วมในสังคมให้กับคนพิการ โดยจำนวนคนพิการที่สภากาชาดไทยจะรับเข้าทำงานตามโครงการนี้มีทั้งสิ้น 676 คน (จากจำนวนประมาณ 900 คน) โดยจะเข้าไปช่วยทำงานในสำนักงานเหล่ากาชาดจังหวัด 76 แห่งในทุกจังหวัด และกิ่งกาชาดอำเภออีก 240 แห่งทั่วประเทศ รวมถึงหน่วยงานอื่นๆ ของสภากาชาดไทยซึ่งจัดสรรไปตามภูมิลำเนาของผู้พิการ

นายพระนาย สุวรรณรัฐ ผู้อำนวยการสำนักงานบริหารกิจการเหล่ากาชาด สภากาชาดไทย กล่าวว่า การทำประโยชน์เพื่อคนพิการถือเป็นพันธกิจของสภากาชาดไทยประการหนึ่ง โดยในส่วนของการทำงานกับโครงการฯ สภากาชาดไทยได้ร่วมศึกษาและออกแบบโครงการจ้างเหมางานคนพิการกับมูลนิธินวัตกรรมทางสังคม ตลอดจนกำหนดคุณสมบัติ เสาะหา และคัดเลือกคนพิการที่เหมาะสม จัดสรรตำแหน่งงาน รวมถึงจัดหาวิทยากรและการอบรมที่จำเป็นให้ด้วย อาทิ การใช้โปรแกรมคอมพิวเตอร์พื้นฐาน ทักษะด้านมนุษย์สัมพันธ์ และเสริมสร้างทัศนคติเพื่อให้การทำงานในสำนักงานของคนพิการเป็นไปอย่างราบรื่น

นายอภิชาติ การุณกรสกุล ประธานมูลนิธินวัตกรรมทางสังคม กล่าวว่า ในส่วนของคนพิการที่ไม่ได้ทำงานกับสภากาชาดไทย มูลนิธินวัตกรรมทางสังคมได้ประสานไปยังหน่วยงานต่างๆ ในเครือข่าย อาทิ โรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบลในจังหวัดต่างๆ นอกเหนือจากนี้ยังมีการส่งเสริมอาชีพอิสระด้วย นับเป็นขวัญและกำลังใจสำคัญที่ทำให้คนพิการรู้สึกภาคภูมิใจที่ได้ทำงาน สามารถพึ่งพาตัวเองได้ อีกทั้งยังคงได้รับการพัฒนาทักษะด้านอาชีพเพื่อตรงตามความต้องการในสายอาชีพนั้นๆ ต่อไปด้วย

"โครงการสมาคมธนาคารไทยส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการ นับเป็นปรากฏการณ์การจ้างงานคนพิการจากกลุ่มธุรกิจเดียว ที่มีจำนวนมากที่สุดเท่าที่เคยมีมานับแต่พระราชบัญญัติส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการ พ.ศ.2550 มีผลบังคับใช้และยังเป็นการรับคนพิการเข้าทำงานในหน่วยงานสาธารณประโยชน์ในประเทศไทย และหน่วยงานกาชาดทั่วโลกที่มีจำนวนมากที่สุดในครั้งเดียวด้วย นอกจากนี้รูปแบบความร่วมมือดังกล่าวยังเป็นการสร้างตัวอย่างความร่วมมือในการจ้างเหมางานคนพิการตามมาตรา 35 ที่ภาคธุรกิจและหน่วยงานอื่นๆ สามารถนำไปใช้เป็นต้นแบบได้ ซึ่งตอนนี้การส่งเสริมคนพิการให้มีอาชีพ มีงานทำได้ถูกยกระดับไปเป็นเป้าหมายของคณะทำงานประชารัฐเพื่อสังคม ส่งผลให้มีการขยายเวลาดำเนินงานตามมาตรา 35 ไปจนถึง 31 มี.ค. 2560 นับเป็นข่าวดีที่หน่วยงานเอกชนต่างๆ ที่ยังส่งเงินเข้ากองทุน ได้มีทางเลือกในการจ้างงานและสนับสนุนอาชีพคนพิการ โดยหน่วยงานที่สนใจสามารถติดต่อได้ที่มูลนิธินวัตกรรมทางสังคม" นายอภิชาติ กล่าว

ข่าวประชาสัมพันธ์ล่าสุด

๑๙ เม.ย. บิทูเมน มารีน บริษัทลูก TASCO ลงนามสัญญาต่อเรือขนส่งยางมะตอย เสริมศักยภาพกองเรือ
๑๙ เม.ย. รมว.เกษตรฯ ลุยร้อยเอ็ด ผลักดันโครงการพัฒนาแหล่งน้ำ 3 แห่ง
๑๙ เม.ย. กูรูหุ้นเชียร์ซื้อ PSP เคาะเป้าราคาสูงสุด 8 บ./หุ้น ยอดขายพุ่ง-หนี้ลด ดันกำไรปี 67 ออลไทม์ไฮ ดีล MA สร้าง New S-Curve
๑๙ เม.ย. ข้าวกล้อง-จักรีภัทร พร้อมเต็มร้อย! ประเดิม จูเนียร์จีพี สนามแรก ประเทศอิตาลี
๑๙ เม.ย. กรมประมงขอเชิญร่วมแข่งขันตกปลาชะโด
๑๙ เม.ย. เชลล์ดอน การ์ตูนดังร่วมสาดความสนุกในเทศกาลสงกรานต์
๑๙ เม.ย. สปสช. ติดปีกเทคโนโลยีไอทีด้วยคลาวด์กลางภาครัฐ GDCC ยกระดับบริการบัตรทองรวดเร็วทันสมัย ดูแลสุขภาพคนไทยยุคดิจิทัล
๑๙ เม.ย. GSK ร่วมงาน Re-imagining UK Aging Care Event ของสถานทูตอังกฤษ มุ่งสร้างเสริมภูมิคุ้มกันผู้สูงอายุ
๑๙ เม.ย. เอส เอฟ จับมือ กปน. มอบสิทธิ์ดูฟรีรวม 1,000 ที่นั่ง เพียงใช้ MWA Point ที่ เอส เอฟ!!
๑๙ เม.ย. เตรียมพร้อมนับถอยหลัง 12 ชั่วโมงสุดท้าย! ก่อนเริ่มประวัติศาสตร์ครั้งใหม่ Bitcoin Halving ครั้งที่ 4