PwC คาดเศรษฐกิจไทยใหญ่เป็นอันดับที่ 25 ของโลกในปี 93 แต่พ่ายเวียดนาม เหตุประชากรวัยทำงานหด

พุธ ๐๑ มีนาคม ๒๐๑๗ ๑๒:๑๗
PwC เผยอีก 34 ปีข้างหน้าเศรษฐกิจอินโดนีเซีย ฟิลิปปินส์ เวียดนาม และมาเลเซีย อาจแซงหน้าไทย หลังคาดการณ์จีดีพี (พีพีพี) ของไทยปี 93 อยู่ที่ 2.78 ล้านล้านดอลลาร์ ร่วงจากอันดับ 20 ในปี 59 ไปอยู่ที่อันดับ 25 เหตุอัตราการเกิดติดลบส่งผลให้วัยทำงานหด กระทบภาคการผลิตและการบริโภคภายในประเทศ ระบุขั้วอำนาจทางเศรษฐกิจของโลกจะย้ายจากกลุ่มประเทศที่พัฒนาแล้วมายังกลุ่มประเทศตลาดเกิดใหม่ และจีนจะผงาดขึ้นเป็นมหาอำนาจเศรษฐกิจของโลก พร้อมแนะรัฐเตรียมรับมือโครงสร้างประชากรที่เปลี่ยนแปลงไป และปฏิรูปโครงสร้างเศรษฐกิจในระดับมหภาค ลงทุนด้านการศึกษา โครงสร้างพื้นฐาน และเทคโนโลยี

นาย ศิระ อินทรกำธรชัย ประธานกรรมการบริหาร และหุ้นส่วน บริษัท PwC ประเทศไทย เปิดเผยถึงรายงาน The World in 2050: The long view: how will the global economic order change by 2050? ที่ทำการศึกษาผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ หรือ GDP ที่คำนวณตามหลักความเท่าเทียมกันของอำนาจซื้อ (Purchasing power parities หรือ PPPs) โดยใช้ราคาสินค้าและบริการในสหรัฐอเมริกาเป็นฐานในการคำนวณ และแสดงผลในสกุลเงินดอลลาร์สหรัฐฯ เพื่อเทียบมาตรฐาน GDP เป็นแบบเดียวกันทั่วโลกจาก 32 ประเทศ ซึ่งคิดเป็นสัดส่วนรวมกันสูงถึง 85% ของ GDP โลกว่า ในอีก 34 ปีข้างหน้า (ปี 2593) ประเทศเพื่อนบ้านในแถบอาเซียนอย่าง อินโดนีเซีย ฟิลิปปินส์ เวียดนาม และมาเลเซีย จะมีอัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจแซงหน้าไทย ทั้งนี้ จากการจัดอันดับการเติบโตของจีดีพี (พีพีพี) ในปี 2593 พบว่า ไทยจะตกไปอยู่ในอันดับที่ 25 จากอันดับที่ 20 เมื่อปี 2559 โดยคาดการณ์ว่า จีดีพี (พีพีพี) ของไทยในปี 2593 จะมีมูลค่า 2.78 ล้านล้านดอลลาร์ จากปี 2559 มีมูลค่า 1.16 ล้านล้านดอลลาร์

ขณะที่อินโดนีเซียจะขยับขึ้นมาอยู่ในอันดับที่ 4 ของโลก โดยคาดการณ์ว่า มูลค่าของจีดีพี (พีพีพี) ในปี 2593 จะอยู่ที่ 10.5 ล้านล้านดอลลาร์ จากปี 2559 อยู่ในอันดับที่ 8 มีมูลค่า 3 ล้านล้านดอลลาร์ ฟิลิปปินส์จะขึ้นมาอยู่ในอันดับที่ 19 โดยคาดการณ์ว่า มูลค่าของจีดีพี (พีพีพี) ในปี 2593 จะอยู่ที่ 3.3 ล้านล้านดอลลาร์ จากปี 2559 อยู่ในอันดับที่ 28 มีมูลค่า 8 แสนล้านดอลลาร์ เวียดนามจะขึ้นมาอยู่ในอันดับที่ 20 โดยคาดการณ์ว่า มูลค่าของจีดีพี (พีพีพี) ในปี 2593 จะอยู่ที่ 3.1 ล้านล้านดอลลาร์ จากปี 2559 อยู่ในอันดับที่ 32 มีมูลค่า 5.9 แสนล้านดอลลาร์ ส่วนมาเลเซียจะขึ้นมาอยู่ในอันดับที่ 24 โดยคาดการณ์ว่า มูลค่าของจีดีพี (พีพีพี) ในปี 2593 จะอยู่ที่ 2.8 ล้านล้านดอลลาร์ จากปี 2559 อยู่ในอันดับที่ 27 มีมูลค่า 8.6 แสนล้านดอลลาร์

"ปัจจัยสำคัญที่ส่งผลให้อัตราการเติบโตของจีดีพีของไทยลดลงในอีก 30 ปีข้างหน้า เกิดจากการที่ไทยกำลังเผชิญกับภาวะขาดแคลนประชากรวัยทำงาน โดยคาดการณ์ว่า อัตราการเพิ่มของประชากรไทยในปี 2593 จะติดลบ 0.3% หมายความว่า อัตราการเกิดจะน้อยกว่าอัตราการตาย ทำให้ไทยก้าวเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ ซึ่งจะส่งผลกระทบต่อภาคการผลิต ขณะที่อุปสงค์ภายในประเทศก็จะชะลอตัวตามไปด้วย และวัยทำงานที่ลดลงอาจส่งผลให้ค่าแรงมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นและกดดันอัตราเงินเฟ้อในที่สุด" นาย ศิระ กล่าว

ทั้งนี้ จากรายงานอัตราการเพิ่มขึ้นของประชากรโดยเฉลี่ยระหว่างปี 2559-2593 ของประเทศในกลุ่มอาเซียนพบว่า อัตราการเพิ่มขึ้นของประชากรเฉลี่ยของไทยจะอยู่ที่ -0.3% ต่อปี ขณะที่อินโดนีเซียมีอัตราการเพิ่มขึ้นของประชากรเฉลี่ยอยู่ที่ 0.6% ต่อปี ฟิลิปปินส์มีอัตราการเพิ่มขึ้นของประชากรเฉลี่ยอยู่ที่ 1.1% ต่อปี มาเลเซียมีอัตราการเพิ่มขึ้นของประชากรเฉลี่อยู่ที่ 0.8% ต่อปี และเวียดนามมีอัตราการเพิ่มขึ้นของประชากรเฉลี่ยอยู่ที่ 0.5% ต่อปี

กลุ่มประเทศ E7 ขั้วอำนาจใหม่ของเศรษฐกิจโลก

นาย ศิระ กล่าวต่อว่า ในอีก 34 ปีข้างหน้าอัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจของโลกเฉลี่ย (ปี 2559-2593) คาดจะอยู่ที่ 2.6% ต่อปี โดยขั้วอำนาจทางเศรษฐกิจของโลกจะย้ายออกจากกลุ่มประเทศที่พัฒนาแล้ว (Advanced economies) โดยเฉพาะอย่างยิ่งยุโรป มาสู่กลุ่มประเทศตลาดเกิดใหม่ (Emerging market countries) ซึ่งตลาดเกิดใหม่นี้ จะมีประเทศในกลุ่ม E7 เป็นแรงสำคัญในการขับเคลื่อนการเติบโตของเศรษฐกิจโลก โดยคาดว่า ในอีก 34 ปีข้างหน้า อัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจเฉลี่ยของกลุ่ม E7 จะอยู่ที่ 3.5% ต่อปี เปรียบเทียบกับอัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจเฉลี่ยของกลุ่ม G7 จะอยู่ที่ 1.6% ต่อปี

ทั้งนี้ ในปี 2593 การเติบโตของจีดีพี (พีพีพี) ของประเทศในกลุ่ม E7 คาดว่าจะมีสัดส่วนสูงถึง 50% ของ GDP โลก ขณะที่กลุ่ม G7 จะมีสัดส่วนลดลงเหลือเพียงประมาณ 20% ขณะที่จีนจะกลายเป็นประเทศมหาอำนาจที่มีขนาดเศรษฐกิจใหญ่เป็นอันดับหนึ่งของโลกแทนที่สหรัฐฯ โดยคาดการณ์ว่า มูลค่าของจีดีพี (พีพีพี) ในปี 2593 ของจีนจะอยู่ที่ 58.4 ล้านล้านดอลลาร์ ขณะที่คาดการณ์มูลค่าของจีดีพี (พีพีพี) ของสหรัฐฯ จะอยู่ที่ 34.1 ล้านล้านดอลลาร์ หล่นไปอยู่ในอันดับที่ 3 ส่วนอันดับที่ 2 ตกเป็นของอินเดีย โดยคาดว่า มูลค่าของจีดีพี (พีพีพี) จะอยู่ที่ 44.1 ล้านล้านดอลลาร์

รายงานระบุว่า การขยายตัวของเศรษฐกิจในตลาดเกิดใหม่ที่เพิ่มขึ้น จะมาจากความต้องการภายในประเทศที่เพิ่มขึ้นตามจำนวนประชากรที่เติบโต ส่งผลให้จำนวนแรงงานในกลุ่มประเทศเหล่านี้มีขนาดใหญ่ขึ้นตามไปด้วย อย่างไรก็ดี กลุ่มประเทศเหล่านี้ยังคงต้องลงทุนด้านการศึกษา และพัฒนาปัจจัยพื้นฐานระบบเศรษฐกิจมหภาค เพื่อให้แน่ใจว่าตลาดแรงงานจะสามารถรองรับกับจำนวนคนรุ่นใหม่ที่เพิ่มขึ้นได้

นอกจากนี้ ผลสำรวจยังพบว่า เวียดนาม อินเดีย และบังคลาเทศ จะเป็น 3 ประเทศตลาดเกิดใหม่ที่มีอัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจสูงที่สุดระหว่างปี 2559-2593 เฉลี่ยอยู่ที่ราว 5% ต่อปี ขณะที่มีอัตราการขยายตัวของรายได้เฉลี่ยต่อหัวของประชากร (GDP per capita) อยู่ที่ราว 4.1-4.5% ต่อปี เปรียบเทียบกับประเทศมหาอำนาจทางเศรษฐกิจของโลกอย่างจีนและสหรัฐฯ ที่คาดว่าจะเติบโตน้อยกว่า โดยจีนจะมีอัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจเฉลี่ยอยู่ที่ 3% ต่อปี ขณะที่อัตราการขยายตัวของรายได้เฉลี่ยต่อหัวของประชากรอยู่ที่ 3.1% ต่อปี ด้านสหรัฐฯ มีอัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจเฉลี่ยอยู่ที่ 1.8% ต่อปี ขณะที่อัตราการขยายตัวของรายได้เฉลี่ยต่อหัวของประชากรอยู่ที่ 1.3% ต่อปี

สหรัฐฯ ผู้นำประเทศที่มีรายได้ต่อหัวสูงที่สุด

อย่างไรก็ดี หากเปรียบเทียบรายได้เฉลี่ยต่อหัว (Average income) ยังพบว่า กลุ่มประเทศที่พัฒนาแล้วจะยังคงมีระดับรายได้เฉลี่ยต่อหัวสูงกว่ากลุ่มประเทศตลาดเกิดใหม่อย่างจีนและอินเดียที่จะค่อยๆปิดช่วงห่างรายได้ให้แคบลง โดยในปี 2593 สหรัฐฯ จะยังเป็นประเทศที่มีระดับรายได้ต่อหัวสูงที่สุดในกลุ่ม G7 ตามด้วยเยอรมนี แคนาดา และสหราชอาณาจักร

ในปี 2559 รายได้เฉลี่ยต่อหัวของประชากรของสหรัฐฯ สูงเป็น 4 เท่าของจีนและเกือบ 9 เท่าของอินเดีย แต่ในปี 2593 คาดว่าช่วงห่างรายได้นี้จะแคบลงโดยระดับรายได้เฉลี่ยต่อหัวของสหรัฐฯ น่าจะเป็น 2 เท่าของจีน และ 3 เท่าของอินเดีย แต่ก็มีความเป็นไปได้เช่นกันว่า ความไม่เท่าเทียมกันของรายได้ในแต่ละประเทศจะปรับตัวเพิ่มสูงขึ้นด้วยเป็นผลมาจากเทคโนโลยีที่เปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว

แม้แนวโน้มเศรษฐกิจของกลุ่มประเทศตลาดเกิดใหม่จะมีทิศทางที่ดีและกลายเป็นกลุ่มประเทศที่น่าจับตามอง นาย ศิระ กล่าวว่ากลุ่มประเทศเหล่านี้ยังคงต้องปรับตัวเพื่อรองรับกับการเติบโตในระยะยาว ทั้งในแง่ของการพัฒนาด้านการศึกษา การลงทุนโครงสร้างพื้นฐาน และเทคโนโลยี ควบคู่ไปกับการพัฒนาสถาบันทางสังคม เศรษฐกิจ การเมือง และกฎหมาย เพื่อกระตุ้นให้เกิดการเติบโตอย่างยั่งยืนให้กับระบบเศรษฐกิจ นอกจากนี้ ยังต้องสามารถมองข้ามปัจจัยที่สร้างความผันผวนในระยะสั้นไปให้ได้

นาย ศิระ กล่าวทิ้งท้ายว่า สำหรับประเทศไทยคงต้องเร่งวางแผนเพื่อรับมือโครงสร้างประชากรที่จะเปลี่ยนแปลงไปในอีก 30 ปีข้างหน้า โดยรัฐฯอาจมีมาตรการสนับสนุนให้ภาคการผลิตนำนวัตกรรมและเทคโนโลยีเข้ามาใช้ เพื่อทดแทนแรงงานที่จะลดลงในอนาคตและเพื่อเป็นการเพิ่มประสิทธิภาพในการผลิตอีกทางหนึ่งด้วย นอกเหนือจากมาตรการกระตุ้นให้ครอบครัวไทยมีบุตรมากขึ้นผ่านมาตรการทางภาษี เพื่อลดปัญหาอัตราการเกิดที่มีแนวโน้มลดลง และกระตุ้นให้คนไทยออมเพื่อการเกษียณอายุให้มากขึ้น เพื่อลดภาระของรัฐบาลและการใช้จ่ายของผู้สูงอายุในปัจจุบัน ที่อาจไม่เพียงพอต่อการขับเคลื่อนเศรษฐกิจในอนาคตข้างหน้า

ข่าวประชาสัมพันธ์ล่าสุด

๑๗:๔๑ PRM ร่วมงาน OppDay มั่นใจธุรกิจปี 67 สดใส
๑๗:๓๘ Bitkub Chain ร่วม OpenGuild และ Polkadot เปิดพื้นที่รวมตัว Community รับ SEA Blockchain Week 2024
๑๗:๔๙ HOYO SOFT AND SAFE ผู้ผลิตคอกกั้นเด็กคุณภาพสูง มุ่งเน้นเรื่องความปลอดภัย ได้รับการไว้วางใจจากประสบการณ์ลูกค้าโดยการบอกปากต่อปาก
๑๗:๓๗ แนวทางสร้างสมดุลระหว่าง อันตรายต่อสิ่งแวดล้อม และ คำมั่นสัญญาของ Generative AI
๑๖:๔๖ Maison Berger Paris เผยเครื่องหอมสำหรับบ้านรูปแบบใหม่ล่าสุด 'Mist Diffuser' ภายใต้คอลเลคชันยอดนิยมตลอดกาล Lolita
๑๖:๐๕ โรคอุจจาระร่วงเฉียบพลัน (acute diarrhea)
๑๖:๓๙ JGAB 2024 จัดเต็มครั้งแรกในประเทศไทยและอาเซียน กับกิจกรรมและโซนจัดแสดงเครื่องประดับสุดพิเศษ พร้อมต้อนรับนักธุรกิจอัญมณีและเครื่องประดับทั่วโลก เริ่ม 1 พ.ค. 67
๑๖:๒๘ สอศ. จับมือแอร์มิตซูบิชิ ดิวตี้ รับมอบเครื่องปรับอากาศในการจัดการเรียนการสอน เพื่อพัฒนากำลังคนอาชีวศึกษาด้านเครื่องปรับอากาศ
๑๖:๓๘ DKSH ประเทศไทย คว้า 8 รางวัลอันทรงเกียรติ ในงาน Employee Experience Awards ประจำปี 2567
๑๖:๑๖ เด็กล้ำ! นักศึกษา SE SPU คว้ารางวัลรองชนะเลิศ Best Paper ผลงานนวัตกรรมเนื้อสัตว์แพลนต์เบส สุดยอดแห่งความยั่งยืน