สุวิทย์ แจงลงทุนจริงเกิดต่อเนื่องเน้นกลุ่มR&D วิทยาศาสตร์นวัตกรรม เพื่อสร้างมูลค่าเพิ่ม

อังคาร ๑๖ พฤษภาคม ๒๐๑๗ ๑๓:๑๘
สุวิทย์ เมษินทรีย์ ชี้แจง การลงทุนจริงเปลี่ยนจากอุตสาหกรรมขนาดใหญ่ไปสู่ อุตสาหกรรมที่เน้นนวัตกรรม ชูนโยบายใหม่ดูดการลงทุนด้านวิจัยและพัฒนา พร้อมย้ำ ไทยยังจำเป็นต้องให้สิทธิประโยชน์ทางภาษีเพื่อดึงดูดการลงทุนกลุ่มอุตสาหกรรมเป้าหมาย และไม่ได้ยกเว้นภาษีให้กับทุกธุรกิจ

นายสุวิทย์ เมษินทรีย์ รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า ตามที่มีบางท่านให้ข่าวว่าการลงทุนไทยไม่กระเตื้องและหดตัวต่อเนื่องนั้น เป็นความเข้าใจที่คลาดเคลื่อน เนื่องจากหลังจากที่บีโอไอได้ประกาศใช้ "ยุทธศาสตร์การส่งเสริมการลงทุนในระยะ 7 ปี (พ.ศ. 2558 – 2564)" ได้หันมาให้ความสำคัญกับโครงการลงทุนที่มีคุณภาพ มากกว่าการเน้นเม็ดเงินลงทุนเหมือนในอดีต ดังจะเห็นได้ว่ามาตรการต่างๆ ของ บีโอไอในปัจจุบันมุ่งเน้นผลักดันให้เกิดการลงทุนด้านการวิจัยและพัฒนา การพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ การลงทุนในอุตสาหกรรมที่ใช้เทคโนโลยีขั้นสูง หรือกิจการที่สร้างมูลค่าเพิ่มสูงต่อระบบเศรษฐกิจ ซึ่งกิจการเหล่านี้มักจะมีมูลค่าการลงทุนต่อโครงการไม่สูงมาก อีกทั้งในระยะหลังจะมีโครงการลงทุนของกลุ่ม Startup ในธุรกิจดิจิทัลขอรับการส่งเสริมเป็นจำนวนมาก ซึ่งมีมูลค่าการลงทุนไม่สูง แต่สามารถสร้างนวัตกรรมและสร้างมูลค่าเพิ่มได้อย่างมาก ยกตัวอย่างเช่น ตั้งแต่เริ่มใช้นโยบายใหม่เมื่อปี 2558 จนถึงเดือนมีนาคม 2560 มีกิจการวิจัยและพัฒนา ยื่นขอรับการส่งเสริมจำนวน 43 โครงการ เงินลงทุนรวม 6,400 ล้านบาท และกิจการพัฒนาซอฟต์แวร์ ยื่นขอรับการส่งเสริมมากถึง 455 โครงการ เงินลงทุนรวม 4,000 ล้านบาท นอกจากนี้ โดยธรรมชาติของการลงทุนขนาดใหญ่ในหลายอุตสาหกรรม เช่น ปิโตรเคมี รถยนต์ อิเล็กทรอนิกส์ จะมีลักษณะเป็น Cycle มิได้มีการลงทุนใหม่เกิดขึ้นทุกปี โดยเมื่อลงทุนไปแล้ว จะต้องมีการใช้กำลังการผลิตให้มากกว่าร้อยละ 60-70 จึงจะมีการขยายการลงทุนใหม่เพิ่มเติม

สำหรับตัวเลขการลงทุนจริงของโครงการที่ได้รับการส่งเสริมการลงทุนที่ลดลงในช่วง 1-2 ปีที่ผ่านมานั้น นายสุวิทย์ กล่าวว่า สาเหตุเกิดจากในช่วงปี 2556-2557 มีการลงทุนจริงของโครงการขนาดใหญ่ในกลุ่มสาธารณูปโภค เช่น อุตสาหกรรมปิโตรเคมี กิจการโรงไฟฟ้า และขนส่งทางอากาศ รวมประมาณ 6 แสนล้านบาท ขณะที่กลุ่มที่ลงทุนจริงในปี 2558-2560 ส่วนใหญ่มีขนาดเล็กกว่า แต่เป็นกลุ่มอุตสาหกรรมเป้าหมายที่มีเทคโนโลยีและมูลค่าเพิ่มสูง อย่างไรก็ตาม หากพิจารณาสถิติในขั้นการอนุมัติให้การส่งเสริมและการออกบัตรส่งเสริมของบีโอไอแล้ว จะเห็นได้ว่าในช่วงไตรมาสแรกของปี 2560 มีมูลค่าเงินลงทุนที่อนุมัติและออกบัตรเพิ่มขึ้นร้อยละ 120 และร้อยละ 85 ตามลำดับ ซึ่งเป็นสัญญาณที่ดีว่าจะมีการทยอยลงทุนจริงในระยะเวลาอันใกล้

ส่วนกรณีที่มีงานวิจัยของสถาบันวิจัยป๋วย เสนอแนะว่ารัฐบาลไม่มีความจำเป็นที่จะต้องขยายสิทธิประโยชน์แก่นักลงทุนเพื่อเพิ่มความสามารถในการแข่งขันด้านภาษีในการดึง FDI อีก แต่ควรปรับเงื่อนไขการให้สิทธิประโยชน์ทางภาษีเพื่อความคุ้มค่า เพราะยังมีปัจจัยอื่นที่มีผลต่อการตัดสินใจลงทุนมากกว่า คือความยากง่ายในการทำธุรกิจนั้น นายสุวิทย์ ให้ความเห็นว่า ประเทศไทยยังจำเป็นต้องให้สิทธิประโยชน์ทางภาษี เพื่อเป็นเครื่องมือในการกระตุ้นให้เกิดการลงทุนในอุตสาหกรรมยุทธศาสตร์ ซึ่งเป็นอุตสาหกรรมที่ประเทศต้องการและไม่สามารถเกิดขึ้นได้ตามกลไกตลาด ทั้งนี้เนื่องจากประเทศคู่แข่งในภูมิภาคยังใช้สิทธิประโยชน์ทางภาษีเป็นเครื่องมือแย่งชิงการลงทุนที่มีคุณค่า ถึงแม้ว่าจะมีอัตราภาษีเงินได้นิติบุคคลในระดับต่ำแล้วก็ตาม ทั้งนี้ บีโอไอได้ใช้เครื่องมือสิทธิประโยชน์ทางภาษีโดยคำนึงถึงผลประโยชน์ที่ประเทศจะได้รับ และไม่ได้ให้การส่งเสริมในทุกประเภทธุรกิจ ระดับของการให้สิทธิประโยชน์ของแต่ละประเภทกิจการก็จะแตกต่างกันตามคุณค่าของประเภทกิจการนั้นๆ โดยจะมีเฉพาะกลุ่มอุตสาหกรรมเป้าหมายที่มีการพัฒนาเทคโนโลยีและนวัตกรรม หรืออุตสาหกรรมยุทธศาสตร์ที่จะก่อให้เกิดประโยชน์ต่อประเทศในวงกว้างเท่านั้น จึงจะอยู่ในข่ายได้รับสิทธิประโยชน์ในระดับสูง

นายสุวิทย์ เมษินทรีย์ เน้นย้ำว่ารัฐบาลและบีโอไอ ได้ให้ความสำคัญอย่างมากกับการเร่งแก้ไขปัญหาและอุปสรรคด้านการลงทุนต่างๆ เพื่ออำนวยความสะดวกในการประกอบธุรกิจ (Ease of Doing Business in Thailand) เช่น การออก พ.ร.บ.การอำนวยความสะดวกในการพิจารณาอนุญาตของทางราชการ พ.ศ.2558 เพื่อให้มีกฎหมายกลางที่จะกำหนดขั้นตอนและระยะเวลาในการพิจารณาอนุญาตที่ชัดเจนและไม่เป็นอุปสรรคต่อประชาชน การออกคำสั่ง คสช. เมื่อเดือนเมษายน 2560 เพื่อปรับปรุงแก้ไขกฎหมายบางฉบับเพิ่มเติม เช่น ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ กฎหมายคุ้มครองแรงงาน กฎหมายประกันสังคม กฎหมายล้มละลาย เพื่อแก้ไขขั้นตอนต่างๆ ตามกฎหมายเหล่านี้ให้เอื้อต่อการประกอบธุรกิจมากยิ่งขึ้น ตลอดจนการลดการขอเอกสารซ้ำซ้อน อีกทั้งขณะนี้บีโอไอได้หารือกับภาคเอกชน และได้นำเสนอแนวทางแก้ไขปัญหาและอำนวยความสะดวกแก่นักลงทุนต่อคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุนมาอย่างต่อเนื่อง เช่น ปัญหาด้านวีซ่าและใบอนุญาตทำงาน ปัญหาเรื่องเขตปลอดอากร เป็นต้น

นายสุวิทย์ กล่าวเพิ่มเติมว่า จากความพยายามของรัฐบาลในการเร่งแก้ไขปัญหาและอุปสรรคด้านการลงทุนต่างๆ รวมทั้งความพยายามแก้ไขปัญหาทุจริตคอรัปชั่นและผลักดันให้ประเทศไทยมีขีดความสามารถในการแข่งขันที่ดีขึ้น ประกอบกับขณะนี้ พ.ร.บ. ส่งเสริมการลงทุนฉบับแก้ไขและ พ.ร.บ.การเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศสำหรับอุตสาหกรรมเป้าหมาย ได้มีผลใช้บังคับแล้ว อีกทั้งรัฐบาลกำลังเร่งรัดนโยบายระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก (EEC) ให้เห็นผลเป็นรูปธรรมโดยเร็วที่สุด สิ่งเหล่านี้จะช่วยกระตุ้นให้เกิดการลงทุนที่มีคุณภาพในประเทศไทยเพิ่มขึ้นในอนาคต

ข่าวประชาสัมพันธ์ล่าสุด

๐๙:๒๒ เสนา ตอกย้ำความสำเร็จ ในการจัดการคาร์บอนฟุตพริ้นท์ขององค์กร
๐๙:๑๑ EP พร้อมเดินหน้ารับรู้รายได้โรงไฟฟ้าพลังงานลม ดันผลงานปี67โตทะยาน 4 เท่า หลังได้รับการสนับสนุนเงินกู้ Project Finance จาก
๐๙:๓๘ BEST Express บุก บางบัวทอง เปิดแฟรนไซส์ขนส่งสาขาใหม่ มุ่งศึกษาพื้นที่ เจาะกลุ่มลูกค้าที่แตกต่าง ตอบความต้องการตรงจุด
๐๙:๑๗ ผถห.TQR โหวตจ่ายปันผลปี 66 อีก 0.226 บ./หุ้น รวมทั้งปี 0.40 บ./หุ้น ลุยพัฒนาโปรดักส์ประกันภัยต่อรูปแบบใหม่เต็มสปีด
๐๙:๓๗ CPANEL APM ร่วมต้อนรับคณะนักธุรกิจชาวกัมพูชา พร้อมนำเยี่ยมชมกระบวนการผลิต Precast จ.ชลบุรี
๐๘:๒๒ SCGP ทำกำไรไตรมาสแรก 1,725 ล้านบาท เดินหน้ากลยุทธ์สร้างการเติบโตอย่างมีคุณภาพ
๐๘:๐๑ คณะเทคโนโลยีวิทยาศาสตร์สุขภาพ ราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์ เปิดบ้านต้อนรับนักเรียนมัธยม โชว์หลักสูตรฉุกเฉินการแพทย์
๐๘:๔๗ ค่ายสมหวัง สร้างโอกาส รุ่นที่ 4 ขยายความรู้ทางการเงินสู่เครือข่ายคนรุ่นใหม่ต่อเนื่อง
๐๘:๕๓ ส่องสัญญาณฟื้นตัว ตลาดรับสร้างบ้านไตรมาส 2 รับผลบวกมาตรการรัฐกระตุ้นกำลังซื้อ - ยอดสั่งสร้าง
๐๘:๕๕ RSP จัดประชุมสามัญผู้ถือหุ้นประจำปี 2567 ผถห.ไฟเขียวจ่ายปันผล 0.13 บ./หุ้น กำหนดจ่าย 15 พ.ค. นี้