ทีเอ็มบีคาด กนง. คงอัตราดอกเบี้ยนโยบายยาวถึงกลางปีหน้า

อังคาร ๒๓ พฤษภาคม ๒๐๑๗ ๑๔:๔๗
ศูนย์วิเคราะห์เศรษฐกิจ ทีเอ็มบี หรือ TMB Analytics คาด กนง. จะคงดอกเบี้ยยาวตลอดปี 2017 เพื่อสนับสนุนการลงทุนภาคเอกชนที่มีแนวโน้มฟื้นตัวได้ในปีนี้ และดอกเบี้ยมีแนวโน้มขยับขึ้นในช่วงกลางปีหน้าตามแนวโน้มอัตราดอกเบี้ยโลกที่อยู่ในช่วงขาขึ้น

เศรษฐกิจไทยในไตรมาสแรกของปีนี้ขยายตัวได้ต่อเนื่องที่ 3.3% โดยเฉพาะการบริโภคภาคเอกชนที่ขยายตัวกว่า 3.2% ซึ่งมาจากการเติบโตของการบริโภคสินค้าคงทนเป็นหลัก โดยมีแรงหนุนสำคัญจากรายได้ภาคเกษตรที่ปรับตัวดีขึ้นต่อเนื่องจากราคาสินค้าโภคภัณฑ์ที่ขยายตัวตามราคาน้ำมัน ในไตรมาสแรกรายได้ภาคเกษตรขยายตัวจากช่วงเดียวกันของปีก่อนถึง 21% อีกทั้ง ภาระหนี้ของผู้ซื้อรถยนต์จากโครงการรถยนต์คันแรกก็เริ่มทยอยหมดลงในปีนี้ นอกจากนี้ การส่งออกในไตรมาสแรกก็ขยายตัวได้กว่า 4.9% โดยขยายตัวจากทั้งด้านราคาและปริมาณ และมีแนวโน้มจะขยายตัวต่อเนื่องจากเศรษฐกิจโลกที่ฟื้นตัวและราคาน้ำมันที่ปรับเพิ่มขึ้น ในขณะที่การลงทุนภาคเอกชนกลับหดตัวกว่า 1.1% จากที่หดตัวต่อเนื่องกัน 3 ปี ตั้งแต่ปี 2013

อย่างไรก็ตาม ศูนย์วิเคราะห์ฯ มองว่าการลงทุนภาคเอกชนจะสามารถกลับมาขยายตัวได้ในปีนี้ โดยมีการขยายตัวของการส่งออกและการลงทุนภาครัฐเป็นแรงหนุนสำคัญ โดยการส่งออกในปีนี้คาดว่าจะขยายตัวได้ถึง 3.7% จากราคาน้ำมันที่ปรับตัวดีขึ้นส่งผลให้ราคาสินค้าโภคภัณฑ์ปรับตัวสูงขึ้น และจากการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลกที่ IMF ประเมินว่าจะขยายตัวที่ 3.5% ในปี 2017 เพิ่มขึ้นจาก 3.2% ในปี 2016 อีกทั้ง การลงทุนภาครัฐโดยเฉพาะเม็ดเงินลงทุนจากงบเพิ่มเติมกลางปีและเมกะโปรเจกต์อีกราว 4 แสนล้านบาทที่จะถูกอัดฉีดเข้าสู่ระบบในปีนี้ ก็เป็นส่วนหนึ่งที่จะทำให้เกิดการลงทุนภาคเอกชนเพิ่มขึ้นโดยเฉพาะการลงทุนด้านก่อสร้าง นอกจากนี้ ยังมีโครงการที่ได้รับอนุมัติ BOI แล้วในปีที่ผ่านมา มูลค่ารวมกว่า 8.6 แสนล้านบาท ทำให้ศูนย์วิเคราะห์ฯ คาดว่าปีนี้การลงทุนภาคเอกชนมีแนวโน้มกลับมาขยายตัวที่ 1.7%

ดังนั้น การคงดอกเบี้ยนโยบายในระดับต่ำจึงยังจำเป็นอยู่ ทั้งนี้เพื่อสนับสนุนการลงทุนภาคเอกชนที่มีแนวโน้มฟื้นตัวได้ในปีนี้ นอกจากนี้ แรงกดดันจากเงินเฟ้อก็ยังอยู่ในระดับต่ำ โดยไตรมาสแรกเฉลี่ยเพียง 1.25% ซึ่งยังต่ำกว่าค่ากลางของกรอบเป้าหมายเงินเฟ้อ ธปท. ที่ 2.5% โดยศูนย์วิเคราะห์ฯ คาดเงินเฟ้อจะเฉลี่ยทั้งปีที่ 1.7% สอดคล้องกับคาดการณ์ราคาน้ำมันตลาดโลกที่ ณ สิ้นปี 2017 จะยืนที่ 57 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล

นอกจากนี้ ศูนย์วิเคราะห์ฯ คาดว่าเฟดจะปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายได้อีกสองครั้งในเดือนมิถุนายนและธันวาคมในปีนี้ ทำให้ดอกเบี้ยเฟดแตะขอบบนของช่วง 1.25 – 1.5% ซึ่งจะเท่ากับอัตราดอกเบี้ยนโยบายของไทยที่ 1.5% ซึ่งจากเสถียรภาพด้านต่างประเทศของไทยที่ยังแข็งแกร่ง สถานการณ์เงินทุนไหลออกรุนแรงจึงยังไม่เป็นเรื่องน่ากังวล อย่างไรก็ตาม ในปี 2018 อัตราดอกเบี้ยไทยจะเริ่มถูกกดดันจากอัตราดอกเบี้ยเฟดที่คาดว่าจะปรับสูงขึ้นต่อเนื่อง โดยเฟดมองว่าจะปรับดอกเบี้ยขึ้นไปที่ 2.00 - 2.25% ณ สิ้นปี 2018 ดังนั้น ศูนย์วิเคราะห์ฯ คาดว่า ธปท. จะเริ่มขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายไทยในปีหน้า โดย ณ สิ้นปี 2018 จะอยู่ที่ 2% จากเศรษฐกิจไทยที่ฟื้นตัวต่อเนื่อง อัตราเงินเฟ้อที่ทยอยสูงขึ้น และแรงกดดันจากอัตราดอกเบี้ยเฟด

ข่าวประชาสัมพันธ์ล่าสุด

๑๗:๕๔ กทม. เตรียมปรับปรุงพัฒนาระบบการให้บริการงานทะเบียนสำนักงานเขต
๑๗:๑๗ สมาคมเพื่อนชุมชน ส่งเสริมองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ถ่ายทอดองค์ความรู้ แนวทางลดก๊าซเรือนกระจก
๑๗:๔๑ กทม. เร่งติดตั้งเสา-ตะแกรงรั้วกั้นเกาะกลางถนนวิสุทธิกษัตริย์ที่ถูกรถชนเสียหาย
๑๗:๐๔ คณะวิทยาการจัดการ มหาวิทยาลัยสวนดุสิต ขอเชิญชวนนักศึกษา และบุคคลทั่วไป เข้าร่วมงาน M-Sci JOB FAIR 2024 หางานที่ใช่ สร้างงาน สร้างโอกาส วันที่ 2 พฤษภาคม 2567 เวลา 13.00-16.00 น. ณ หอประชุม รักตะกนิษฐ
๑๗:๒๘ ชไนเดอร์ อิเล็คทริค นำเสนอโซลูชั่นดิจิทัลลุยตลาดอาคารอัจฉริยะเพื่อความยั่งยืน
๑๖:๒๙ จิม ทอมป์สัน เผยทิศทางการพา แบรนด์ผ้าเมืองไทย ผงาดเวทีโลก ส่องกลยุทธ์การครีเอตผลงานคุณภาพให้สอดรับเทรนด์สิ่งทอระดับสากล
๑๖:๓๘ อาดิดาสจับมือนักฟุตบอลระดับตำนาน ส่งแคมเปญ 2006 JOSE 10 สร้างแรงบันดาลใจและความเป็นไปได้อันไร้ขีดจำกัดให้กับเหล่านักฟุตบอลเยาวชนหญิง
๑๖:๑๐ Maison Berger Paris พาชมเครื่องหอมบ้าน 2 คอลเลคชั่นใหม่ MOLECULE และ JOY จัดเต็มเซ็ตของขวัญ ครบทุกรูปแบบความหอม สร้างบรรยากาศหรูหราพร้อมกลิ่นหอมบริสุทธิ์
๑๖:๕๗ กทม. เตรียมระบบเฝ้าระวัง-ควบคุมการแพร่ระบาดโรคโควิด 19 หลังเทศกาลสงกรานต์
๑๕:๑๕ NCC. ผนึก ททท. ขยายตลาดท่องเที่ยวมูลค่าสูง ชี้ตลาดท่องเที่ยวเฉพาะทาง (Niche Market) โต ลุยจัดงาน Thailand Golf Dive Expo plus OUTDOOR Fest