BRRGIF เล็งเข้าตลาดหลักทรัพย์ต้น ส.ค.นี้ ตั้ง 3 บิ๊กสถาบันการเงินขายหน่วยลงทุน

อังคาร ๐๔ กรกฎาคม ๒๐๑๗ ๑๓:๐๓
BRRGIF เซ็นสัญญาตั้ง 3 บิ๊กสถาบันการเงิน บล.เมย์แบงก์ กิมเอ็ง (ประเทศไทย) – ธนาคารกรุงเทพ - บล.ซี แอล เอส เอ (ประเทศไทย) เป็นอันเดอร์ไรท์เตอร์ ขายหน่วยลงทุน IPO เคาะช่วงราคาเสนอขาย 9.90 – 10.40 บาท ผู้ถือหุ้นBRR จองซื้อ 7 และ 11-14 กรกฎาคม ขณะที่ นักลงทุนทั่วไป จองซื้อได้ 17-21 กรกฎาคม เล็งเข้าซื้อขายในตลาดหลักทรัพย์ต้นสิงหาคมนี้ ผู้บริหารประสานเสียงกองทุนมั่นคงทั้งรายได้และวัตถุดิบ และมีโอกาสเติบโตสูง ขณะที่ "บิ๊ก BRR" ประกาศรุกธุรกิจไม่ยั้ง แย้มมีโอกาสตั้งโรงไฟฟ้าขายเข้ากองทุนในอนาคต

นายอนันต์ ตั้งตรงเวชกิจ ประธานกรรมการบริหาร บริษัท น้ำตาลบุรีรัมย์ จำกัด (มหาชน) หรือ BRR เปิดเผยว่า BRR ร่วมกับ บริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุนรวม บัวหลวง จำกัด จัดตั้ง กองทุนรวมโครงสร้างพื้นฐานโรงไฟฟ้ากลุ่มน้ำตาลบุรีรัมย์ หรือBRRGIF ซึ่งเป็นกองทุนรวมโครงสร้างพื้นฐานที่ลงทุนในสิทธิรายได้สุทธิฯ จากโรงไฟฟ้าชีวมวลแห่งแรกของไทย ล่าสุดได้มีการจัดพิธีลงนามแต่งตั้งผู้จัดจำหน่ายและรับประกันการจัดจำหน่ายหน่วยลงทุน (อันเดอร์ไรท์เตอร์) เพื่อเสนอขายหน่วยลงทุนต่อประชาชนเป็นครั้งแรก (IPO) โดยมี บริษัทหลักทรัพย์เมย์แบงก์ กิมเอ็ง (ประเทศไทย) จำกัด (มหาชน) จัดจำหน่ายร่วมกับ ธนาคารกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) และ บริษัทหลักทรัพย์ ซี แอล เอส เอ (ประเทศไทย) จำกัด

ทั้งนี้ BRRGIF จะเข้าไปลงทุนในสิทธิรายได้สุทธิจากการประกอบกิจการโรงไฟฟ้าของบริษัท บุรีรัมย์พลังงาน จำกัด (BEC)และบริษัท บุรีรัมย์เพาเวอร์ จำกัด (BPC) ซึ่งเป็นโรงไฟฟ้าชีวมวลขนาดเล็กมาก (VSPP) ประเภทพลังงานความร้อนร่วม ที่ใช้กากอ้อยเป็นเชื้อเพลิงหลัก เป็นโรงไฟฟ้าสีเขียวที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมในกลุ่มน้ำตาลบุรีรัมย์ มีกำลังการผลิตไฟฟ้าโรงละประมาณ 9.9 เมกะวัตต์ รวม 19.8 เมกะวัตต์ โดย BEC และ BPC ได้เข้าทำสัญญาซื้อขายไฟฟ้า (PPA) กับ การไฟฟ้าส่วนภูมิภาค (กฟภ.) มีอัตรารับซื้อไฟฟ้า แบบ Feed in Tariff ("FiT") ในปริมาณพลังไฟฟ้าสูงสุดโรงละ 8 เมกะวัตต์ รวม 16 เมกะวัตต์ และมีกำลังการผลิตไอน้ำในส่วนของ BEC 85 ตันต่อชั่วโมง และ BPC มีกำลังการผลิตไอน้ำ 100 ตันต่อชั่วโมง

สำหรับรายได้จากโรงไฟฟ้าทั้ง 2 แห่งนั้น ปี 2559 อยู่ที่ 523 ล้านบาท มีอัตรากำไรขั้นต้นเฉลี่ย 68% อย่างไรก็ตามตัวเลขดังกล่าวยังไม่สะท้อนถึงผลการดำเนินงานในอนาคตภายใต้โครงสร้างกองทุนได้ เนื่องจาก ปริมาณอ้อยเข้าหีบของโรงงานน้ำตาลบุรีรัมย์ยังอยู่ช่วงการพัฒนา โดยคาดว่าปีฤดูกาลหีบอ้อย 2559/2560 นี้จะมีอ้อยเข้าหีบ 2.2 ล้านตัน และเพิ่มเป็น 3 ล้านตันในปี 2560/2561 ซึ่งจะมีปริมาณกากอ้อยสำหรับเป็นเชื้อเพลิงให้โรงไฟฟ้าทั้ง 2 โรงได้เพียงพอกับช่วงการดำเนินงานของกองทุนเต็มปี ซึ่งจากการเตรียมความพร้อมด้านเชื้อเพลิงชีวมวล การปรับโครงสร้างการบริหาร การเพิ่มประสิทธิภาพการผลิต และการกำหนดสัญญาในการประกอบกิจการที่เหมาะสม ดังนั้นภายหลังการจัดตั้งกองทุนฯ โรงไฟฟ้าจะมีผลการดำเนินงานที่ต่างจากที่ผ่านมา

ขณะเดียวกันบริษัทน้ำตาลบุรีรัมย์ จำกัด (มหาชน) จะเข้าถือหน่วยลงทุนในสัดส่วนไม่ต่ำกว่า 20% และพร้อมสนับสนุนการดำเนินงานของโรงไฟฟ้าต่อเนื่อง โดยจะนำเม็ดเงินที่ได้มาจากการขายสิทธิรายได้สุทธิฯ จากโรงไฟฟ้าทั้ง 2 แห่ง มาใช้ต่อยอดธุรกิจน้ำตาลทรายและธุรกิจต่อเนื่อง โดยจะมีการพิจารณาก่อสร้างโรงไฟฟ้าชีวมวลเพิ่มเติมด้วย

นายมนตรี ศรไพศาล ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บล.เมย์แบงก์ กิมเอ็ง (ประเทศไทย) จำกัด (มหาชน)ในฐานะที่ปรึกษาทางการเงินและผู้จัดจำหน่ายและรับประกันการจัดจำหน่ายหน่วยลงทุน เปิดเผยว่า ได้กำหนดเสนอขายหน่วยลงทุน IPO ของBRRGIF จำนวนทั้งสิ้น 350 ล้านหน่วย ในราคาระหว่าง 9.90 - 10.40 บาท โดยหน่วยลงทุน 45.5 ล้านหน่วย กำหนดให้ผู้ถือหุ้นBRR ที่มีสิทธิ จองซื้อระหว่างวันที่ 7 และ 11 – 14 กรกฎาคมนี้ ขณะที่นักลงทุนทั่วไปจำนวน 115.5 ล้านหน่วย จองซื้อได้ 17-21 กรกฎาคม โดยจะประกาศราคาสุดท้ายภายในวันที่ 24 กรกฎาคมและคาดว่าจะสามารถเข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ได้ ในต้นเดือนสิงหาคมนี้ กองทุนฯ จะได้รับรายได้สุทธิฯ ตามสูตรการคำนวณภายใต้สัญญาโอนสิทธิรายได้สุทธิฯ ซึ่งประกอบด้วย (1) รายได้ค่าซื้อขายไฟฟ้า (2) รายได้ค่าซื้อขายไอน้ำ (3) รายได้อื่นที่ได้รับจากการประกอบกิจการ โรงไฟฟ้า หักด้วย (4) ค่าใช้จ่ายของโรงไฟฟ้า

กองทุนฯ มีนโยบายปันผลไม่น้อยกว่าปีละ 2 ครั้ง ในอัตราไม่น้อยกว่า 90% ของกำไรสุทธิที่ปรับปรุงแล้ว ซึ่งบริษัทได้จัดให้มีผู้ตรวจสอบบัญชีทำประมาณการกำไรขาดทุนและการปันส่วนแบ่งกำไรในรอบ 12 เดือน (1 พ.ค. 2560 - 30 เม.ย. 2561) ประมาณการเงินปันผลของกองทุนฯอยู่ที่ประมาณ 6.5% จากสมมติฐานว่ามูลค่าเสนอขายครั้งแรกอยู่ที่ 3,717 ล้านบาทโดยมีรายละเอียดตามที่ระบุไว้ในหนังสือชี้ชวน

นายสุทธิพงศ์ พัวพันธ์ประเสริฐ รองกรรมการผู้จัดการ ฝ่าย Real Estate & Infrastructure Investment บลจ.บัวหลวง เปิดเผยว่า กองทุนนี้เป็นกองทุนที่น่าสนใจเนื่องจาก เป็นกองทุนที่ลงทุนในสิทธิรายได้สุทธิฯ ที่จะเกิดขึ้นจากการประกอบกิจการของโรงไฟฟ้าชีวมวลในกลุ่มบุรีรัมย์ ที่มีความมั่นคงทั้งในด้านของรายได้จากสัญญาการขายไฟฟ้าให้กับ กฟภ. แบบ FiT โดย BEC มีสัญญาขายไฟฟ้าถึงวันที่ 10 สิงหาคม 2571 ขณะที่ BPC มีสัญญาขายไฟฟ้าถึงวันที่ 6 เมษายน 2578

ขณะเดียวกันยังมีความมั่นคงทางด้านวัตถุดิบที่เป็นเชื้อเพลิงอย่างกากอ้อย ที่เป็นผลพลอยได้จากการผลิตน้ำตาล และไม่มีต้นทุนค่าขนส่งเนื่องจากซื้อจากโรงงานน้ำตาลบุรีรัมย์ซึ่งตั้งอยู่ในบริเวณเดียวกับโรงไฟฟ้าทั้งสอง นอกจากนี้ โรงไฟฟ้ายังมีการทำสัญญาซื้อวัตถุดิบระยะยาวกับโรงงานน้ำตาลบุรีรัมย์ ในลักษณะช่วยป้องกันความเสี่ยงในความผันผวนของราคาและปริมาณที่ได้รับด้วย อนึ่ง กองทุนฯ ยังมีโอกาสเติบโตจากการเข้าลงทุนในทรัพย์สินโรงไฟฟ้าใหม่ของกลุ่มน้ำตาลบุรีรัมย์ที่มีแผนการขยายต่อเนื่อง ดังนั้นกองทุนฯนี้จึงเหมาะกับนักลงทุนที่ต้องการผลตอบแทนสม่ำเสมอในระยะยาว

ข่าวประชาสัมพันธ์ล่าสุด

๑๖:๐๐ DEK ดิจิทัลมีเดีย SPU บุก Thailand Toy Expo 2024 โชว์ผลงานสุดคูล!
๑๖:๕๘ Zoho ยกระดับแอปพลิเคชันทางธุรกิจ ด้วยการทำงานร่วมกันของ Generative AI และ Low-Code
๑๖:๐๓ Dent Talk : Fresh Up Your Knowledge ไม่รู้.ไม่ได้แล้ววว สำนักวิชาทันตแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยแม่ฟ้า
๑๖:๓๕ โรงแรมเชอราตันหัวหิน รีสอร์ทแอนด์สปา ต้อนรับนักหมากรุกรวม 300 คน กว่า 50 ประเทศ ในการแข่งขัน Bangkok Chess Club Open ครั้งที่ 21 ประจำปี
๑๖:๓๑ 'Water War Chiang Mai 2024' เทศกาลดนตรีใหญ่ที่สุด เปียกสุด! เดือดสุด! จัดเต็มอย่างยิ่งใหญ่ใจกลางเมืองเชียงใหม่
๑๖:๒๗ TB Media Global จับมือ MQDC จัดกิจกรรมสงกรานต์ The Vibrant Forestias :Sook-San Songkran บนผืนป่าของ The
๑๘ เม.ย. SE Life อาคเนย์ประกันชีวิต รับรางวัลแบรนด์ยอดเยี่ยมประจำปี 2023
๑๘ เม.ย. โรงพยาบาลหัวเฉียว จัดโครงการธรรมโอสถ บรรยายธรรมะเรื่อง สุขในงานเบิกบานในชีวิต
๑๘ เม.ย. หมู่บ้านเกษตรกรรมกำแพงเพชร ต่อยอดความสำเร็จธนาคารน้ำใต้ดิน สร้างความมั่นคงทรัพยากรน้ำ
๑๘ เม.ย. คณะดิจิทัลมีเดีย SPU ขอเชิญร่วมกิจกรรมเสวนา หัวข้อ AI Trends Unlock Limitless Creative Potential in Digital