บทบาทของตลาดทุน กับการเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุของประเทศไทย (Aging Society)

ศุกร์ ๑๔ กรกฎาคม ๒๐๑๗ ๑๒:๒๖
Highlight

- ประเทศไทยเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุ (Aging Society) ตั้งแต่ปี 2548 และกำลังจะเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุโดยสมบูรณ์ (Aged Society) ในอีก 5 ปีข้างหน้า ซึ่งส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจและสังคมหลายด้าน

- หลายประเทศทั่วโลกจัดให้มีระบบการออมเพื่อการเกษียณตามแนวคิดเสาหลัก 5 ต้น (Five Pillar Framework) และใช้มาตรการภาษีเพื่อช่วยสนับสนุนการออมแบบสมัครใจ อาทิเช่น ญี่ปุ่น เกาหลีใต้

- สำหรับประเทศไทยนั้น แม้จะมีระบบการออมครบทุกเสาหลัก และมีการให้สิทธิประโยชน์ทางภาษีกับการออมแบบสมัครใจเช่นกัน แต่การออมเพื่อวัยเกษียณยังอยู่ในระดับที่น้อยมาก

- ภาคส่วนต่างๆในตลาดทุนจึงมีบทบาทสำคัญอย่างยิ่งในการช่วยยกระดับการออมเพื่อวัยเกษียณให้มาก

ในปัจจุบัน หลายประเทศทั่วโลกกำลังอยู่ในช่วงเวลาของการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างทางประชากรที่สำคัญ ได้แก่ การเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุ[1] โดยองค์การสหประชาชาติ (United Nation) นิยามผู้สูงอายุไว้ที่ประชากรซึ่งมีอายุมากกว่า 60 ปีขึ้นไป ขณะที่ข้อมูลจากรายงาน World Population Aging 2015 ของ United Nation (UN) ระบุจำนวนผู้สูงอายุทั่วโลกอยู่ที่ประมาณ 900 ล้านคน หรือคิดเป็น 12.3% ของประชากรทั่วโลก และมีแนวโน้มขยายตัวเพิ่มขึ้นโดยคาดว่าจะแตะ 2.1 พันล้านคน หรือ 21.5% ของประชากรทั่วโลกในปี 2050 อันเป็นผลจากความเจริญก้าวหน้าทางด้านเทคโนโลยีและด้านการแพทย์ที่ช่วยให้ประชากรมีอายุยืนยาวขึ้น ขณะที่อัตราการเกิดลดลงอย่างต่อเนื่อง

ในส่วนของประเทศไทยนั้น ได้เข้าสู่สังคมผู้สูงอายุแล้วตั้งแต่ปี 2548 (ประชากรที่มีอายุมากกว่า 60 ปีเป็นสัดส่วน 10.4% ของประชากรทั้งหมด และมีสัดส่วนเพิ่มขึ้นเป็น 16.5% ในปี 2559) และจากการคาดการณ์ประชากรของไทยโดยสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.)[2] คาดว่าใน 5 ปีข้างหน้า ประเทศไทยจะเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุโดยสมบูรณ์ (ประชากรที่มีอายุมากกว่า 60 ปีคาดว่าจะอยู่ที่ 20.5%ของประชากรทั้งหมด) ส่งผลให้อัตราการเป็นภาระในวัยสูงอายุ (Old-Age Dependency Ratio[3])เพิ่มขึ้นจาก 25.1% ในปี 2559 สู่ 32.6% สะท้อนให้เห็นว่าประชากรในวัยแรงงานจะต้องมีภาระเพิ่มขึ้นในการดูแลผู้สูงอายุ

หลายประเทศทั่วโลกจัดให้มีระบบการออมเพื่อการเกษียณตามแนวคิดเสาหลัก 5 ต้น (Five Pillar Framework) ของธนาคารโลก และใช้มาตรการภาษีช่วยในส่วนการออมแบบสมัครใจ

หากพิจารณาถึงสถานการณ์ของการเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุในต่างประเทศพบว่า ประเทศที่พัฒนาแล้วเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุมากกว่าประเทศที่กำลังพัฒนา โดยยุโรปเป็นภูมิภาคที่มีสัดส่วนผู้สูงอายุต่อประชากรทั้งหมดมากที่สุด ขณะที่ประเทศที่มีสัดส่วนผู้สูงอายุต่อประชากรทั้งหมดมากที่สุด 5 อันดับแรกในปี 2015 ได้แก่ ญี่ปุ่น อิตาลี เยอรมัน ฟินแลนด์ และโปรตุเกส ในขณะที่ประเทศไทยเป็น ลำดับที่ 63 ด้วยเหตุดังกล่าวการมีระบบการออมเพื่อการเกษียณที่เพียงพอสำหรับการเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุจึงเป็นประเด็นที่หลายประเทศในความสำคัญ ตามแนวคิดเกี่ยวกับระบบการออมเพื่อเกษียณอายุโดยธนาคารโลก (World Bank) ที่เรียกว่า ทฤษฎีเสาหลัก 5 ต้น (Five Pillar Framework) ประกอบด้วย

A non-contributory "zero pillar"

เป็นเงินสวัสดิการสังคมแบบให้เปล่าของภาครัฐ ที่มาจากเงินงบประมาณ

· A mandatory "first pillar" (Public pension, Publicly managed, Defined benefit system: DB) เป็นระบบแบบบังคับ โดยประชาชนจ่ายส่วนหนึ่งและรัฐจะจ่ายเงินอุดหนุนอีกส่วนหนึ่ง บริหารโดยหน่วยงานของรัฐกำหนดผลประโยชน์เป็นอัตราขั้นต่ำที่สมาชิกจะได้รับ ในประเทศไทย ได้แก่ กองทุนประกันสังคมกรณีชราภาพ

· A mandatory "second pillar" (Occupational/Personal pension, Privately managed, Defined contribution system: DC) เป็นระบบแบบบังคับ โดยเงินสะสมจากการทำงานของตนเองและนายจ้างช่วยสมทบ รูปแบบการออมเป็นบัญชีรายบุคคล เอกชนเป็นผู้บริหาร ในประเทศไทย ได้แก่ กองทุนบำเหน็จบำนาญข้าราชการ (กบข.)

· A voluntary "third pillar" (Privately managed, Voluntary taking many forms e.g. individual saving, employer sponsored, DB or DC) เป็นระบบการออมแบบสมัครใจโดยเงินสะสมของตนและนายจ้างสมทบ รูปแบบการออมเป็นบัญชีรายบุคคล เอกชนเป็นผู้บริหาร ในประเทศไทย ได้แก่ กองทุนสำรองเลี้ยงชีพ กองทุนรวมเพื่อการเลี้ยงชีพ ประกันชีวิตแบบบำนาญ และกองทุนการออมแห่งชาติ

· A non-financial "fourth pillar" (Other financial & nonfinancial assets, informal support e.g. family

support) ได้แก่ ทรัพย์สินส่วนบุคคลอื่นๆ การเข้าถึงสวัสดิการต่างๆ การสนับสนุนอย่างไม่เป็นทางการ เช่น จากครอบครัว

การออมเพื่อวัยเกษียณของประเทศไทยยังอยู่ในระดับที่ต่ำ ขณะที่รายได้ของผู้สูงอายุส่วนใหญ่มาจากการพึ่งพิงบุตรเป็นหลัก

สำหรับประเทศไทยนั้น แม้จะมีระบบการออมครบทุกเสาหลักเช่นเดียวกับหลายประเทศ และมีการให้สิทธิประโยชน์ทางภาษีกับการออมแบบสมัครใจเช่นกัน แต่คงต้องยอมรับว่าการออมเพื่อวัยเกษียณยังคงอยู่ในระดับที่น้อยมาก ทั้งนี้ ข้อมูลจากผลสำรวจประชากรสูงอายุในประเทศไทย พ.ศ.2557 โดยสำนักงานสถิติแห่งชาติระบุว่า ด้านความเพียงพอของรายได้ (Income sufficiency) ผู้สูงอายุส่วนใหญ่ตอบว่า เพียงพอ (62.0%) เพียงพอเป็นบางครั้ง (21.3%) และไม่เพียงพอ (14.8%) อย่างไรก็ตาม เมื่อพิจารณาแหล่งที่มาของรายได้พบว่า รายได้หลักในการดำรงชีวิตของผู้สูงอายุส่วนใหญ่ยังต้องพึ่งพิงจากบุตร (36.7%) รองลงมาได้แก่ รายได้จากการทำงานเอง (33.9%) จากเบี้ยยังชีพทางราชการ (14.8%) ขณะที่รายได้จากเงินบำเหน็จบำนาญ (4.9%) และส่วนที่มาจากการเงินออมของตนมีเพียงเล็กน้อยเท่านั้น (3.9%) ซึ่งหาก

เมื่อมองไปถึงแนวโน้มโครงสร้างประชากรในอนาคตที่ประชากรวัยเด็กและวัยแรงงานจะมีจำนวนลดลง ทำให้การที่ผู้สูงอายุจะหวังพึ่งพิงรายได้หลักจากบุตรเช่นในปัจจุบันจะเป็นไปได้ยากขึ้น จึงมีความจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องสร้างความมั่นคงทางการเงินให้กับตนเองด้วยการออมเพื่อวัยเกษียณให้มากขึ้น

ภาครัฐเองได้มีการดำเนินการที่สำคัญในการเพิ่มสัดส่วนการออมแบบบังคับ (a mandatory "second pillar") โดย คณะรัฐมนตรีได้เห็นชอบในหลักการของร่างพ.ร.บ.กองทุนบำเหน็จบำนาญแห่งชาติ (กบช.) ซึ่งเป็นกองทุนสำรองเลี้ยงชีพภาคบังคับ สำหรับแรงงานในระบบที่มีอายุตั้งแต่ 15 - 60 ปี ครอบคลุมลูกจ้างเอกชน ลูกจ้างชั่วคราวส่วนราชการ พนักงานราชการ และพนักงานรัฐวิสาหกิจ ซึ่งยังไม่ได้เป็นสมาชิกกองทุนสำรองเลี้ยงชีพเพื่อช่วยให้บุคคลในกลุ่มนี้มีรายได้หลังเกษียณเพิ่มขึ้น โดยให้มีการจ่ายเงินเข้ากองทุนจาก 2 ฝ่าย คือ ลูกจ้าง และนายจ้าง ซึ่งลูกจ้างจะได้รับบำนาญหรือบำเหน็จเมื่ออายุครบ 60 ปี และกำหนดให้ กบช. เปิดรับสมาชิกตั้งแต่ปี 2561

ทุกภาคส่วนในตลาดทุนมีบทบาทสำคัญอย่างมากในการเพิ่มระดับการออมเพื่อวัยเกษียณ

การที่จะเพิ่มระดับการออมเพื่อวัยเกษียณให้เกิดผลอย่างเป็นรูปธรรมได้นั้น จะต้องอาศัยความร่วมมือและการสนับสนุนจากทุกภาคส่วนในตลาดทุนอย่างต่อเนื่องไม่ว่าจะเป็นสำนักงานก.ล.ต. ตลาดหลักทรัพย์ฯ ตลอดจน ผู้ประกอบธุรกิจในตลาดทุน ในรูปแบบต่างๆ อาทิเช่น

- การจัดกิจกรรมเพื่อประชาสัมพันธ์ให้นักเรียน นักศึกษา รวมถึงประชาชนทั่วไปรับรู้ และตระหนักถึงความสำคัญของการออมเพื่อวัยเกษียณ เพื่อให้เห็นว่าไม่ใช่เรื่องที่ไกลตัว และควรเริ่มต้นการออมตั้งแต่อายุยังน้อยโดยไม่ต้องรอให้ใกล้วัยเกษียณ

- การให้ความรู้และคำปรึกษาในเรื่องของการวางแผนทางการเงิน เพื่อให้มีเงินออมหลังเกษียณในระดับที่เพียงพอต่อการดำรงชีพ ซึ่งอาจทำได้โดยการที่สถาบันการเงินต่างๆจัดอบรมให้คำแนะนำด้านวางแผนทางการเงินแก่ประชาชนทั่วไป รวมถึง การจัดให้มีโปรแกรมที่ช่วยวางแผนการออมที่ประชาชนสามารถดาวน์โหลดและเข้าไปใช้งานด้วยตนเองได้ในรูปแบบที่ง่ายต่อการใช้งาน ซึ่งในส่วนของสมาคมบริษัทหลักทรัพย์ไทยและสถาบันฝึกอบรม สมาคมบริษัทหลักทรัพย์ไทย (ATI) ก็ได้จัดทำ application ที่ชื่อ อิทธิ RICH เพื่อให้ความรู้และช่วยในการวางแผนทางการเงินเพื่อให้บรรลุเป้าหมายที่ตั้งไว้

- การมีผลิตภัณฑ์ทางการเงินที่ช่วยตอบโจทย์การออมระยะยาว ซึ่งมีการบริหารโดยผู้ที่มีความรู้ความชำนาญและเพิ่มโอกาสได้ผลตอบแทนระยะยาวที่น่าพอใจมากขึ้น เพื่อเป็นทางเลือกให้กับผู้ที่ยังไม่มั่นใจที่จะตัดสินใจลงทุนด้วยตนเอง อาทิเช่น กองทุนหุ้นปันผล รวมถึง การสนับสนุนการลงทุนอย่างต่อเนื่องแบบ DCA (Dollar Cost Average) เพื่อสร้างวินัยในการออม

- การพิจารณาเพิ่มรูปแบบการออมภาคสมัครใจที่มีความยืดหยุ่นมากขึ้นในอนาคต อาทิเช่น บัญชีการลงทุนรูปแบบพิเศษในทำนองเดียวกับ NISA ของญี่ปุ่นหรือ ISAs ของเกาหลีใต้ ที่สามารถเลือกลงทุนในสินทรัพย์ได้หลากหลายขึ้นในบัญชีเดียว และสามารถตัดสินใจลงทุนได้ด้วยตนเอง แต่ทั้งนี้ คงต้องคำนึงถึงระยะเวลาการถือครองบัญชีที่นานพอ เพื่อให้สามารถบรรลุวัตถุประสงค์ของการออมเพื่อวัยเกษียณอย่างแท้จริง

[1] องค์การสหประชาชาติ (United Nation) แบ่งระดับการเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุ เป็น 3 ระดับ ได้แก่ 1.สังคมผู้สูงอายุ (Aging society) หมายถึง สังคมหรือประเทศที่มีประชากรอายุ 60 ปีขึ้นไปมากกว่า 10% ของประชากรทั้งประเทศหรือมีประชากรอายุตั้งแต่ 65 ปีมากกว่า 7% ของประชากรทั้งประเทศ 2.สังคมผู้สูงอายุโดยสมบูรณ์ (Aged society) หมายถึงสังคมหรือประเทศที่มีประชากรอายุ 60 ปีขึ้นไปมากกว่า 20% ของประชากรทั้งประเทศหรือมีประชากรอายุตั้งแต่ 65 ปี มากกว่า 14% ของประชากรทั้งประเทศ 3.สังคมผู้สูงอายุอย่างเต็มที่ (Super-aged society) หมายถึงสังคมหรือประเทศที่มีประชากรอายุ 65 ปีขึ้นไปมากกว่า 20% ของประชากรทั้งประเทศ

[2] การคาดประมาณประชากรของไทย 2553-2583 โดยสศช. (กุมภาพันธ์ 2556)

[3] จำนวนประชากรอายุตั้งแต่ 60 ปี ขึ้นไป หารด้วยจำนวนประชากรอายุ 15 - 59 ปี

ข่าวประชาสัมพันธ์ล่าสุด

๑๗:๐๐ แคสเปอร์สกี้เผย บริษัทมากกว่าครึ่งในเอเชียแปซิฟิกใช้ AI และ IoT ในกระบวนการทางธุรกิจ
๑๗:๑๔ พร้อมจัดงาน สถาปนิก'67 ภายใต้ธีม Collective Language : สัมผัส สถาปัตย์
๑๗:๓๓ โรงแรมชามา เลควิว อโศก กรุงเทพฯ จัดโปรโมชั่นฉลองเทศกาลสงกรานต์
๑๗:๓๘ มูลนิธิป่อเต็กตึ๊ง ห่วงใยชาวสระแก้ว มอบศาลาที่พักผู้โดยสาร เพื่อเป็นสาธารณประโยชน์แก่ผู้ใช้รถใช้ถนน และเพื่อเป็นที่หลบแดดหลบฝน ณ
๑๗:๔๙ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย จัดพิธีประสาทปริญญาบัตร พร้อมมอบดุษฎีบัณฑิตกิตติมศักดิ์ 3 ท่าน
๑๗:๑๘ แน็ก ชาลี - มุก วรนิษฐ์ ชวนเปิดประสบการณ์ความเฟรช ในงาน Space of Freshtival 30 มีนาคมนี้ ที่ สยามสแควร์วัน
๑๗:๑๐ อิมแพ็ค จัดงาน Happy Hours: Wine Tasting Craft Beer ต้อนรับลูกค้าช่วงมอเตอร์โชว์
๑๗:๓๒ สำนักงานพัฒนาฝีมือแรงงานแพร่ มอบเครื่องมือพื้นฐานชุดการฝึก (ชุดเครื่องมือทำมาหากิน) รุ่นที่ 4/2567
๑๗:๕๒ ดีพร้อม ดึงผู้ประกอบการเงินทุนฯ ทั่วประเทศ เปิดพื้นที่ทดสอบตลาด จัดงาน พร้อมเปย์ ที่ DIPROM FAIR
๑๗:๔๕ เขตราชเทวีจัดเทศกิจกวดขันผลักดันผู้ค้าตั้งวางแผงค้ารุกล้ำบนทางเท้าถนนราชปรารภ