EXIM BANK แนะผู้ส่งออก SMEs ต้องปิดความเสี่ยงด้านอัตราแลกเปลี่ยน

จันทร์ ๑๕ มกราคม ๒๐๑๘ ๑๐:๔๑
นายพิศิษฐ์ เสรีวิวัฒนา กรรมการผู้จัดการ ธนาคารเพื่อการส่งออกและนำเข้าแห่งประเทศไทย (EXIM BANK) เปิดเผยว่า เงินบาทที่แข็งค่าขึ้นต่อเนื่องตลอดระยะเวลา 1 ปีที่ผ่านมา และล่าสุดเมื่อวันที่ 12 มกราคม 2561 เงินบาทแข็งค่าหลุด 32 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ นับเป็นการแข็งค่าที่สุดในรอบกว่า 3 ปีหรือแข็งค่าขึ้นราว 12% สูงสุดเป็นอันดับต้นๆ ของภูมิภาค สวนทางกับมูลค่าส่งออกของไทยในช่วง 11 เดือนแรกปี 2560 ที่กลับมาฟื้นตัวอย่างแข็งแกร่ง

โดยขยายตัวแตะระดับ 10% เช่นเดียวกับหลายประเทศที่สกุลเงินแข็งค่าขึ้นในระดับใกล้เคียงกับไทย แต่การส่งออกก็ยังขยายตัวได้เป็นตัวเลขสองหลัก อาทิ เกาหลีใต้ (เงินวอนแข็งค่า 13.4% มูลค่าส่งออกขยายตัว 16.5%) มาเลเซีย (เงินริงกิตแข็งค่า 12.9% มูลค่าส่งออกขยายตัว 15%) ไต้หวัน (เงินดอลลาร์ไต้หวันแข็งค่า 9.6% มูลค่าส่งออกขยายตัว 13.1%) เป็นต้น แม้เงินบาทที่แข็งค่าขึ้นจะยังไม่ส่งผลกระทบต่อความสามารถในการแข่งขันด้านราคาของผู้ส่งออกไทย แต่เงินบาทที่แข็งค่าขึ้นราว 12% ทำให้ผู้ส่งออกไทยสูญเสียรายได้เมื่อแปลงกลับมาเป็นเงินบาท ซึ่งกลุ่มที่น่าเป็นห่วงคือผู้ส่งออก SMEs ที่อาจจะได้รับผลกระทบรุนแรง เนื่องจากมีเงินทุนหมุนเวียนและมีอัตรากำไร (Margin) ไม่สูงนัก ทำให้มีแรงต้านทานต่อเงินบาทที่แข็งค่าได้น้อย

กรรมการผู้จัดการ EXIM BANK เปิดเผยต่อไปว่า แนวโน้มค่าเงินบาทในระยะถัดไปเป็นสิ่งที่คาดการณ์ได้ยากมากในภาวะปัจจุบัน เนื่องจากมีปัจจัยที่เกี่ยวข้องค่อนข้างมากและไม่ได้ขึ้นอยู่กับปัจจัยพื้นฐานทางเศรษฐกิจเพียงอย่างเดียว ไม่ว่าจะเป็นนโยบายด้านเศรษฐกิจและนโยบายการเงินของประเทศพัฒนาแล้ว โดยเฉพาะสหรัฐฯ ยุโรป และญี่ปุ่น ความขัดแย้งระหว่างประเทศต่างๆ ที่ปะทุขึ้นเป็นระยะ รวมถึงการเก็งกำไรในสินทรัพย์ประเภทต่างๆ ที่ก่อให้เกิดความปั่นป่วนของกระแสเงินทุนเข้าออก ซึ่งล้วนแล้วแต่เป็นสิ่งที่คาดการณ์และควบคุมไม่ได้ ทางที่ดีที่สุดจึงได้แก่ การปิดความเสี่ยงด้านอัตราแลกเปลี่ยน โดยซื้อประกันค่าเงิน (FX Options) ซึ่งผู้ส่งออกสามารถล็อกอัตราแลกเปลี่ยนที่จะมีการส่งมอบในอนาคตไว้ที่ราคา ณ ปัจจุบันได้ ทำให้ไม่ต้องกังวลว่า รายได้ในรูปเงินบาทจะลดลงเนื่องจากเงินบาทแข็งค่า ขณะเดียวกันก็เปิดโอกาสให้ผู้ส่งออกสามารถขายเงินตราต่างประเทศ ณ ราคาตลาดได้เช่นกันในกรณีที่เงินบาทในอนาคตกลับอ่อนค่าลง ถือเป็นการปิดความเสี่ยงด้านค่าเงินทั้งสองทาง ทำให้ผู้ส่งออกได้รับประโยชน์สูงสุด หรือขอใช้บริการสัญญาซื้อขายเงินตราต่างประเทศล่วงหน้า (Foreign Exchange Forward Contact) และหารือวิธีปิดความเสี่ยงด้านอัตราแลกเปลี่ยนกับสถาบันการเงินที่ใช้อยู่ รวมทั้ง EXIM BANK

"ขอย้ำว่า ผู้ส่งออกควรหลีกเลี่ยงการเก็งกำไรหรือลุ้นค่าเงินในทุกกรณี โดยเฉพาะผู้ส่งออก SMEs ซึ่งมักจะมีเงินทุนหมุนเวียนและมีอัตรากำไร (Margin) ไม่สูงนัก การปิดความเสี่ยงด้านอัตราแลกเปลี่ยนจะช่วยทำให้ทราบต้นทุนและรายรับในอนาคตที่ชัดเจน ขณะเดียวกันก็จะทำให้ผู้ส่งออกไม่ต้องกังวลกับทิศทางค่าเงิน สามารถทุ่มเทเวลาและทรัพยากรไปพัฒนาสินค้าและกระบวนการผลิตให้มีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น เพื่อหลีกเลี่ยงการแข่งขันด้านราคาและเพิ่มกำไรให้สูงขึ้น" นายพิศิษฐ์กล่าว

สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ส่วนสื่อสารองค์กร ฝ่ายเลขานุการและสื่อสารองค์กร EXIM BANK สำนักงานใหญ่

โทร. 0 2271 3700, 0 2278 0047, 0 2617 2111 ต่อ 1141, 1144

ข่าวประชาสัมพันธ์ล่าสุด

๑๗:๐๒ บิทูเมน มารีน บริษัทลูก TASCO ลงนามสัญญาต่อเรือขนส่งยางมะตอย เสริมศักยภาพกองเรือ
๑๗:๓๓ รมว.เกษตรฯ ลุยร้อยเอ็ด ผลักดันโครงการพัฒนาแหล่งน้ำ 3 แห่ง
๑๗:๔๔ กูรูหุ้นเชียร์ซื้อ PSP เคาะเป้าราคาสูงสุด 8 บ./หุ้น ยอดขายพุ่ง-หนี้ลด ดันกำไรปี 67 ออลไทม์ไฮ ดีล MA สร้าง New S-Curve
๑๗:๔๒ ข้าวกล้อง-จักรีภัทร พร้อมเต็มร้อย! ประเดิม จูเนียร์จีพี สนามแรก ประเทศอิตาลี
๑๗:๑๕ กรมประมงขอเชิญร่วมแข่งขันตกปลาชะโด
๑๗:๑๕ เชลล์ดอน การ์ตูนดังร่วมสาดความสนุกในเทศกาลสงกรานต์
๑๗:๒๙ สปสช. ติดปีกเทคโนโลยีไอทีด้วยคลาวด์กลางภาครัฐ GDCC ยกระดับบริการบัตรทองรวดเร็วทันสมัย ดูแลสุขภาพคนไทยยุคดิจิทัล
๑๗:๑๐ GSK ร่วมงาน Re-imagining UK Aging Care Event ของสถานทูตอังกฤษ มุ่งสร้างเสริมภูมิคุ้มกันผู้สูงอายุ
๑๗:๔๓ เอส เอฟ จับมือ กปน. มอบสิทธิ์ดูฟรีรวม 1,000 ที่นั่ง เพียงใช้ MWA Point ที่ เอส เอฟ!!
๑๖:๓๖ เตรียมพร้อมนับถอยหลัง 12 ชั่วโมงสุดท้าย! ก่อนเริ่มประวัติศาสตร์ครั้งใหม่ Bitcoin Halving ครั้งที่ 4