ทริสเรทติ้งจัดอันดับเครดิตหุ้นกู้ไม่ด้อยสิทธิ ไม่มีหลักประกันวงเงินไม่เกิน 6,000 ล้านบาท “บ. ไทคอน อินดัสเทรียล คอนเน็คชั่น” ที่ระดับ “A/Stable”

ศุกร์ ๑๖ กุมภาพันธ์ ๒๐๑๘ ๑๕:๑๗
ทริสเรทติ้งคงอันดับเครดิตองค์กรและหุ้นกู้ไม่ด้อยสิทธิ ไม่มีหลักประกันชุดปัจจุบันของ บริษัท ไทคอน อินดัสเทรียล คอนเน็คชั่น จำกัด (มหาชน) ที่ระดับ "A" ในขณะเดียวกัน ทริสเรทติ้งก็จัดอันดับเครดิตให้แก่หุ้นกู้ไม่ด้อยสิทธิ ไม่มีหลักประกันชุดใหม่ในวงเงินรวมไม่เกิน 6,000 ล้านบาทของบริษัทที่ระดับ "A" ด้วยเช่นกัน โดยบริษัทจะนำเงินที่ได้รับจากการออกหุ้นกู้ไปใช้ชำระหนี้หุ้นกู้เดิมและใช้หมุนเวียนในการขยายธุรกิจของบริษัท

อันดับเครดิตของบริษัท ไทคอน อินดัสเทรียล คอนเน็คชั่น สะท้อนถึงงบดุลที่แข็งแกร่งขึ้นของบริษัทจากการเพิ่มทุนจำนวนมากผ่านการเพิ่มทุนในวงจำกัด อันดับเครดิตยังคงสะท้อนถึงผลงานที่ได้รับการยอมรับของบริษัทในธุรกิจโรงงานสำเร็จรูปและคลังสินค้าให้เช่า ตลอดจนกระแสเงินสดที่สม่ำเสมอจากรายได้ค่าเช่าโรงงานและคลังสินค้า และสินทรัพย์ให้เช่าที่กระจายตัวในพื้นที่หลากหลาย ในขณะเดียวกัน การพิจารณาอันดับเครดิตยังคำนึงถึงสถานการณ์การลงทุนที่ฟื้นตัวช้าซึ่งอาจส่งผลทำให้อุปสงค์ด้านโรงงานอุตสาหกรรมชะลอตัวตามไปด้วย

ในเดือนกันยายน 2560 บริษัทประกาศแปลงสภาพกองทุนรวมอสังหาริมทรัพย์เป็นทรัสต์เพื่อการลงทุนในอสังหาริมทรัพย์ (TREIT) ซึ่งกองทุนรวมอสังหาริมทรัพย์ของบริษัทประกอบด้วย กองทุนอสังหาริมทรัพย์ไทคอน (TFUND) กองทุนรวมอสังหาริมทรัพย์ทีพาร์คโลจิสติคส์ (TLOGIS) และกองทุนรวมสิทธิการเช่าอสังหาริมทรัพย์ไทคอน อินดัสเทรียล โกรท (TGROWTH) ภายหลังจากการแปลงสภาพกองทุนรวมอสังหาริมทรัพย์สำเร็จ TREIT จะกลายเป็นกองทรัสต์ที่แข็งแรงในแง่ของขนาดและการกระจายตัวของสินทรัพย์ ทั้งนี้ TREIT มีมูลค่าตลาดรวมประมาณ 29,407 ล้านบาท ณ วันที่ 14 กุมภาพันธ์ 2561

ในช่วง 9 เดือนแรกของปี 2560 พื้นที่ให้เช่าของบริษัท (ก่อนการขายสินทรัพย์เข้ากองทุนฯ หรือทรัสต์) เพิ่มขึ้น 69,985 ตารางเมตร(ตร.ม.) โดยประมาณ 74% ของพื้นที่ให้เช่าทั้งหมดเป็นคลังสินค้า พื้นที่คลังสินค้าให้เช่าของบริษัทเพิ่มขึ้น 51,560 ตร.ม. ในช่วง 9 เดือนแรกของปี 2560 เทียบกับการเพิ่มขึ้นเฉลี่ยปีละ 164,000 ตร.ม. ในช่วงระหว่างปี 2558-2559 การลดลงของพื้นที่คลังสินค้าของบริษัทเกิดจากการที่บริษัทเปลี่ยนกลุ่มลูกค้า ขณะนี้ลูกค้าส่วนใหญ่จะเช่าคลังสินค้าที่สร้างตามความต้องการของลูกค้า (Built-to-suit) มากกว่าคลังสินค้าสำเร็จรูป (Ready-built) ซึ่งใช้ระยะเวลาในการก่อสร้างและทำสัญญายาวกว่ากลุ่มลูกค้า Ready-built ดังนั้นบริษัทจะรวมพื้นที่เช่าของลูกค้า Built-to-suit เมื่อก่อสร้างคลังสินค้าแล้วเสร็จเท่านั้น อย่างไรก็ตาม คลังสินค้า Built-to-suit ทำให้บริษัทได้รับรายได้ค่าเช่าเป็นระยะเวลานานและมั่นคงกว่าคลังสินค้า Ready-built เนื่องจากระยะเวลาของสัญญาเช่าโดยปกติจะไม่ต่ำกว่า10 ปี นอกจากนี้ ลูกค้า Built-to-suit จะเช่าพื้นที่ค่อนข้างมาก ตัวอย่างเช่น ลูกค้าจะเช่าพื้นที่เฉลี่ยมากกว่า 8,000 ตร.ม.ในขณะที่ลูกค้า Ready-built จะเช่าพื้นที่ค่อนข้างหลากหลาย พื้นที่เช่าอยู่ระหว่าง 1,000-10,000 ตร.ม. ขึ้นอยู่กับความต้องการของลูกค้า พื้นที่โรงงานสำเร็จรูปให้เช่าของบริษัทเพิ่มขึ้น 18,425 ตร.ม. ในช่วง 9 เดือนแรกของปี 2560 เมื่อเทียบกับการเพิ่มโดยเฉลี่ยปีละประมาณ 21,000 ตร.ม.ในปี 2558-2559 ทั้งนี้ อุตสาหกรรมยานยนต์และอิเล็กทรอนิกส์ยังคงเป็นอุตสาหกรรมหลัก 2 ประเภทที่ขับเคลื่อนความต้องการพื้นที่เช่าโรงงาน ณ สิ้นเดือนกันยายน 2560 อัตราการให้เช่าพื้นที่ของบริษัทยังทรงตัว ทั้งนี้ บริษัทมีอัตราการให้เช่าซึ่งไม่รวมพื้นที่เช่าล่วงหน้า (Pre-leased Area) อยู่ที่ 57% เทียบกับระดับ 56%-61% ในปี 2558-2559

รายได้ค่าเช่าของบริษัทในช่วง 9 เดือนแรกของปี 2560 เพิ่มขึ้น 24% เป็น 1,043 ล้านบาท เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปี 2559 ซึ่งอยู่ที่ระดับ 838 ล้านบาท อันเป็นผลจากการมีพื้นที่ให้เช่าเพิ่มขึ้น เงินทุนจากการดำเนินงานของบริษัทเพิ่มขึ้นอยู่ที่ระดับ 676 ล้านบาทในช่วง 9 เดือนแรกของปี 2560 จากประมาณ 150 ล้านบาทในช่วงเดียวกันของปี 2559

บริษัทมีโครงสร้างเงินทุนที่แข็งแกร่งขึ้นอย่างมากหลังจากที่ได้รับเงินเพิ่มทุนจากบริษัทเฟรเซอร์ส พร็อพเพอร์ตี้ โฮลดิ้ง (ประเทศไทย) จำกัด จำนวน 13,230 ล้านบาท โดยอัตราส่วนเงินกู้รวมต่อโครงสร้างเงินทุนปรับตัวดีขึ้นจาก 65.5% ในปี 2558 และ 66.3% ในปี 2559 มาอยู่ที่ระดับ 35.2% ณ สิ้นเดือนกันยายน 2560 เนื่องจากบริษัทนำเงินที่ได้จากการเพิ่มทุนจำนวน 45% ไปใช้ชำระหนี้ ณ เดือนกันยายน 2560 บริษัทมีเงินสดในมือและหลักทรัพย์ในความต้องการของตลาดมูลค่ารวมทั้งสิ้น 3,015 ล้านบาท ซึ่งใช้สำหรับแผนการลงทุนบางส่วนในปี 2560 ทั้งนี้ บริษัทวางแผนงบลงทุนไว้เพียง 1,400 ล้านบาทต่อปีในระหว่างปี 2560-2562 สำหรับใช้เป็นค่าก่อสร้างอสังหาริมทรัพย์ให้เช่าเท่านั้น ภายใต้สมมติฐานของทริสเรทติ้งคาดว่าเงินทุนจากการดำเนินงานของบริษัทจะค่อย ๆ เพิ่มขึ้นเป็นประมาณ 700-1,200 ล้านบาทต่อปีในช่วงปี 2560-2562 เมื่อเทียบกับเงินทุนจากการดำเนินงานที่ไม่รวมกำไรจากการขายอสังหาริมทรัพย์เข้า TREIT ซึ่งอยู่ที่ระดับประมาณ 600 ล้านบาทต่อปีในช่วงปี 2557-2558 และ 321 ล้านบาทในปี 2559 นอกจากนี้ ยังคาดว่าอัตราส่วนเงินกู้รวมต่อโครงสร้างเงินทุนของบริษัทจะปรับตัวดีขึ้นโดยอยู่ที่ระดับต่ำกว่า 40% ในขณะที่อัตราส่วนกำไรก่อนดอกเบี้ยจ่าย ภาษี ค่าเสื่อมราคา และค่าตัดจำหน่ายต่อดอกเบี้ยจ่ายจะเพิ่มขึ้นเป็น 2-3 เท่า และอัตราส่วนเงินทุนจากการดำเนินงานต่อเงินกู้รวมจะค่อย ๆ ปรับตัวดีขึ้นมาอยู่ที่ระดับ 10%-15% ในปี 2560-2562

แนวโน้มอันดับเครดิต

แนวโน้มอันดับเครดิต "Stable" หรือ "คงที่" สะท้อนถึงความคาดหมายว่าบริษัทจะยังคงรักษาสถานะผู้นำในธุรกิจโรงงานสำเร็จรูปและคลังสินค้าให้เช่าได้ และคาดหมายว่าบริษัทจะสามารถเพิ่มอัตราการให้เช่าได้ตามแผนงานที่วางไว้ ภายใต้สมมติฐานของทริสเรทติ้งคาดว่าเงินทุนจากการดำเนินงานของบริษัทจะอยู่ที่ระดับประมาณ 1,000-1,500 ล้านบาทต่อปี ในช่วงปี 2561-2563 ในขณะที่คาดว่าอัตราส่วนเงินกู้รวมต่อโครงสร้างเงินทุนของบริษัทจะอยู่ที่ระดับต่ำกว่า 40% และคาดว่าอัตราส่วนเงินทุนจากการดำเนินงานต่อเงินกู้รวมจะยังคงอยู่ที่ระดับประมาณ 6%-15% ในช่วง 3 ปีข้างหน้า ซึ่งบางส่วนได้รับการสนับสนุนจากการขายสินทรัพย์เข้า TREIT

ปัจจัยที่อาจจะทำให้อันดับเครดิตเปลี่ยนแปลง

โอกาสในการปรับเพิ่มอันดับเครดิตในระยะใกล้นี้ยังมีน้อยมาก อย่างไรก็ตาม อันดับเครดิตมีโอกาสปรับเพิ่มขึ้นได้ในระยะยาวหากบริษัทสามารถเพิ่มอัตราการให้เช่าและเพิ่มฐานรายได้ค่าเช่าได้อย่างมีนัยสำคัญอย่างต่อเนื่องในขณะที่โครงสร้างเงินทุนยังคงแข็งแรงอยู่ ในทางตรงกันข้าม อันดับเครดิตอาจถูกปรับลดลงหากบริษัทมีผลการดำเนินงานที่ลดลงต่ำกว่าคาดอย่างต่อเนื่อง ทั้งนี้ การลงทุนที่ใช้เงินกู้จำนวนมากซึ่งจะทำให้อัตราส่วนเงินกู้รวมต่อโครงสร้างเงินทุนของบริษัทสูงกว่าคาดและส่งผลให้กระแสเงินสดส่วนเกินเพื่อรองรับการชำระหนี้ของบริษัทอ่อนแอลงก็เป็นอีกปัจจัยหนึ่งที่มีผลลบต่ออันดับเครดิตด้วยเช่นกัน

บริษัท ไทคอน อินดัสเทรียล คอนเน็คชั่น จำกัด (มหาชน) (TICON)

อันดับเครดิตองค์กร: A

อันดับเครดิตตราสารหนี้:

TICON185A: หุ้นกู้ไม่ด้อยสิทธิ ไม่มีหลักประกัน 1,200 ล้านบาท ไถ่ถอนปี 2561 A

TICON187A: หุ้นกู้ไม่ด้อยสิทธิ ไม่มีหลักประกัน 350 ล้านบาท ไถ่ถอนปี 2561 A

TICON188A: หุ้นกู้ไม่ด้อยสิทธิ ไม่มีหลักประกัน 700 ล้านบาท ไถ่ถอนปี 2561 A

TICON189A: หุ้นกู้ไม่ด้อยสิทธิ ไม่มีหลักประกัน 300 ล้านบาท ไถ่ถอนปี 2561 A

TICON191A: หุ้นกู้ไม่ด้อยสิทธิ ไม่มีหลักประกัน 600 ล้านบาท ไถ่ถอนปี 2562 A

TICON195A: หุ้นกู้ไม่ด้อยสิทธิ ไม่มีหลักประกัน 1,000 ล้านบาท ไถ่ถอนปี 2562 A

TICON19OA: หุ้นกู้ไม่ด้อยสิทธิ ไม่มีหลักประกัน 620 ล้านบาท ไถ่ถอนปี 2562 A

TICON205A: หุ้นกู้ไม่ด้อยสิทธิ ไม่มีหลักประกัน 500 ล้านบาท ไถ่ถอนปี 2563 A

TICON205B: หุ้นกู้ไม่ด้อยสิทธิ ไม่มีหลักประกัน 100 ล้านบาท ไถ่ถอนปี 2563 A

TICON208A: หุ้นกู้ไม่ด้อยสิทธิ ไม่มีหลักประกัน 600 ล้านบาท ไถ่ถอนปี 2563 A

TICON217A: หุ้นกู้ไม่ด้อยสิทธิ ไม่มีหลักประกัน 800 ล้านบาท ไถ่ถอนปี 2564 A

TICON225A: หุ้นกู้ไม่ด้อยสิทธิ ไม่มีหลักประกัน 1,000 ล้านบาท ไถ่ถอนปี 2565 A

TICON229A: หุ้นกู้ไม่ด้อยสิทธิ ไม่มีหลักประกัน 1,000 ล้านบาท ไถ่ถอนปี 2565 A

TICON235A: หุ้นกู้ไม่ด้อยสิทธิ ไม่มีหลักประกัน 2,300 ล้านบาท ไถ่ถอนปี 2566 A

TICON238A: หุ้นกู้ไม่ด้อยสิทธิ ไม่มีหลักประกัน 700 ล้านบาท ไถ่ถอนปี 2566 A

หุ้นกู้ไม่ด้อยสิทธิ ไม่มีหลักประกันในวงเงินไม่เกิน 6,000 ล้านบาท ไถ่ถอนภายใน 10 ปี A

แนวโน้มอันดับเครดิต: Stable

ข่าวประชาสัมพันธ์ล่าสุด

๑๒:๐๕ อัลลอย โซลูชั่นส์ เอเชีย หรือ ASA นำนวัตกรรมจากนิวซีแลนด์ ผลิตภัณฑ์ประตูหน้าต่างคุณภาพสูง เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม ประหยัดพลังงาน
๑๒:๕๘ H.O.G.(TM) Rally 2024 : เหล่าไบค์เกอร์ในร่างคาวบอยทั่วไทย พร้อมใจควบ Harley-Davidson(R) ตะลุยดินแดน Wild Wild West
๑๒:๐๖ Green Market Plus @Hua-Hin
๑๒:๓๖ ถิรไทย วางโรดแมปธุรกิจ 3-5 ปี ลุยตลาดหม้อแปลงไทย-ต่างประเทศ ทำรายได้ 5,000 ล้าน
๑๒:๑๙ The 1 Exclusive อัปเกรดสู่ความสะดวกสบายอย่างสมบูรณ์แบบ กับบริการที่จอดรถพิเศษ Digital Parking ผ่าน The 1 APP
๑๒:๒๖ อิ่มอร่อยแบบไม่อั้นกับ ซันเดย์ แมดเนส บรันช์บุฟเฟ่ต์ บรันช์บุฟเฟ่ต์ที่ดีที่สุดในกรุงเทพฯ ที่ฟู้ด เอ็กซ์เชนจ์
๑๒:๐๗ วช. นำเครือข่ายภาครัฐ และเอกชน Workshop สร้างประสบการณ์การออกแบบไมโครอิเล็กทรอนิกส์ มุ่งเป้าไทยเป็นฐานผลิตด้านการออกแบบ ไมโครอิเล็กทรอนิกส์
๑๒:๕๖ จังหวัดร้อยเอ็ดและเทศบาลเมืองร้อยเอ็ด ยกระดับการท่องเที่ยวเมืองรอง นำนวัตกรรมโดรนแปรอักษรส่งเสริมเทศกาลท่องเที่ยวของจังหวัด
๑๒:๓๕ ตื่นตา ! นำนวัตกรรมโดรนแปรอักษรส่งเสริมการท่องเที่ยวจ.ร้อยเอ็ด ในงาน มหาทานบารมี ประเพณีบุญผะเหวด ร้อยเอ็ด สนับสนุนโดย
๑๒:๑๓ วช.และจุฬา มอบนวัตกรรมเท้าเทียมไดนามิกsPace ให้กับโรงพยาบาลในจ.อุบล จ.ขอนแก่น จ.ร้อยเอ็ด และจ.สุรินทร์ เพื่อเพิ่มคุณภาพชีวิตให้กับผู้พิการ