ทริสเรทติ้งคงอันดับเครดิตองค์กร & หุ้นกู้ไม่ด้อยสิทธิ ไม่มีหลักประกัน และแนวโน้ม “บล. เคที ซีมิโก้” ที่ “BBB+/Stable”

จันทร์ ๑๒ มีนาคม ๒๐๑๘ ๑๖:๑๘
ทริสเรทติ้งคงอันดับเครดิตองค์กรและหุ้นกู้ไม่ด้อยสิทธิ ไม่มีหลักประกันของ บริษัทหลักทรัพย์ เคที ซีมิโก้ จำกัด ที่ระดับ "BBB+" โดยอันดับเครดิตดังกล่าวได้รับการปรับเพิ่มขึ้นจากอันดับเครดิตเฉพาะของบริษัทในฐานะเป็นบริษัทลูกที่มีความสำคัญในเชิงกลยุทธ์ของธนาคารกรุงไทย จำกัด (มหาชน) ซึ่งถือหุ้นในบริษัทในสัดส่วน 50% ทั้งนี้ อันดับเครดิตเฉพาะของบริษัทสะท้อนถึงส่วนแบ่งทางการตลาดในธุรกิจนายหน้าซื้อขายหลักทรัพย์และธุรกิจสัญญาซื้อขายล่วงหน้าของบริษัท ตลอดจนการมีสถานภาพทางธุรกิจในกลุ่มประเทศอินโดจีนโดยผ่านการดำเนินงานของบริษัทหลักทรัพย์ในเครือ รวมถึงแหล่งรายได้ที่กระจายตัว และการสนับสนุนจากธนาคารกรุงไทยทั้งในด้านการดำเนินธุรกิจและด้านการเงิน อย่างไรก็ตาม อันดับเครดิตยังมีข้อจำกัดจากความสามารถในการทำกำไรที่อ่อนแอลง ฐานทุนที่ค่อนข้างตึงตัว และแรงกดดันด้านอัตราค่าธรรมเนียมนายหน้าซื้อขายหลักทรัพย์ภายใต้การแข่งขันที่รุนแรง

ประเด็นสำคัญที่กำหนดอันดับเครดิต

เป็นบริษัทลูกที่มีความสำคัญในเชิงกลยุทธ์ของธนาคารกรุงไท

บล. เคที ซีมิโก้ ทำหน้าที่เป็นเครื่องมือของธนาคารกรุงไทยในการให้บริการเกี่ยวกับธุรกิจหลักทรัพย์แก่ลูกค้าของธนาคารและบริษัทได้ใช้ประโยชน์จากสาขาของธนาคารกรุงไทยในการขยายฐานลูกค้ารายย่อยมาโดยตลอด โดย 42% ของบัญชีที่เปิดใหม่ของบริษัทในปี 2560 เป็นลูกค้าที่ผ่านการแนะนำโดยธนาคารกรุงไทย เทียบกับในปี 2553 ซึ่งมีสัดส่วนไม่ถึง 10% สำหรับบัญชีลูกค้าที่แนะนำโดยธนาคารกรุงไทยที่มีการเคลื่อนไหวบัญชีอยู่เป็นประจำก็มีสัดส่วนเพิ่มขึ้นจาก 10% ในปี 2554 เป็น 24% ในปี 2560 นอกจากการสนับสนุนทางธุรกิจแล้ว ธนาคารกรุงไทยยังให้การสนับสนุนแก่บริษัทในด้านการเงินด้วย โดยประมาณ 68% ของวงเงินสินเชื่อทั้งหมดที่บริษัทมีเป็นวงเงินที่ได้รับจากธนาคารกรุงไทยซึ่งช่วยเสริมสภาพคล่องและทำให้มีเงินทุนเพียงพอในการขยายธุรกิจ อีกทั้งในปี 2560 บริษัทยังมีรายได้ค่าธรรมเนียมและบริการอยู่ที่ 175 ล้านบาท ซึ่งเพิ่มขึ้น 14% จากปี 2559 โดยส่วนหนึ่งเป็นผลมาจากการแนะนำลูกค้าจากธนาคารกรุงไทยด้วยเช่นกัน

แหล่งรายได้ที่กระจายตัวดี

บริษัทมีความพยายามอย่างต่อเนื่องในการกระจายแหล่งที่มาของรายได้ ในปี 2560 รายได้ของบริษัทในสัดส่วน 58% มาจากรายได้ค่านายหน้าซื้อขายหลักทรัพย์และสัญญาซื้อขายล่วงหน้าเมื่อเปรียบเทียบกับสัดส่วน 77% ในปี 2556 นอกจากนี้ บริษัทยังมีรายได้จากค่าธรรมเนียมและบริการคิดเป็น 12% ของรายได้รวมของบริษัทในปี 2560 ซึ่งเพิ่มขึ้นจาก 8% ในปี 2559 การกระจายแหล่งรายได้เพื่อลดการพึ่งพารายได้จากค่านายหน้าส่งผลให้บริษัทสามารถรับมือกับแรงกดดันด้านอัตราค่าธรรมเนียมนายหน้าซื้อขายหลักทรัพย์ภายใต้การแข่งขันที่รุนแรงในตลาดจากการเปิดเสรีค่าธรรมเนียมการให้บริการตั้งแต่เดือนมกราคม 2555 ได้ดียิ่งขึ้น การเพิ่มขึ้นของรายได้จากแหล่งอื่นๆทำให้บริษัทสามารถลดการพึ่งพารายได้จากค่านายหน้ามาตั้งแต่ปี 2557

บริษัทยังได้มีการกระจายฐานรายได้ไปยังภูมิภาคอื่นด้วยโดยบริษัทเป็นผู้ประกอบการธุรกิจหลักทรัพย์ไทยรายแรก ๆ ที่ขยายธุรกิจไปในภูมิภาคอินโดจีน บริษัทถือหุ้น 30% ใน BCEL-KT Securities Co., Ltd. (BCEL-KT) ซึ่งเป็นบริษัทหลักทรัพย์ 1 ใน 4 แห่งของสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว (สปป. ลาว) โดยผ่านการลงทุนใน Thanh Cong Securities Joint Stock Company (TCSC) ของบริษัทหลักทรัพย์ ซีมิโก้ จำกัด (มหาชน) (บล. ซีมิโก้) ซึ่งเป็นผู้ถือหุ้นใหญ่ของบริษัทอีกรายหนึ่ง (ในสัดส่วน 49.71%) ล่าสุดบริษัทยังได้จัดตั้งบริษัทร่วมทุนกับ Ruby Hills Finance เพื่อจัดตั้งบริษัทหลักทรัพย์ในประเทศเมียนมาด้วย การมีเครือข่ายในภูมิภาคและความได้เปรียบจากการริเริ่มขยายธุรกิจไปยังต่างประเทศก่อนคู่แข่งน่าจะสร้างความได้เปรียบให้แก่บริษัทเหนือคู่แข่งท้องถิ่นในการให้บริการวาณิชธนกิจที่เกี่ยวข้องกับธุรกรรมข้ามชาติได้เป็นอย่างดี

สถานะทางการตลาดที่อ่อนแอลง

ท่ามกลางการแข่งขันที่รุนแรง บริษัทมีกลยุทธ์หลีกเลี่ยงการตัดราคาเพื่อเพิ่มส่วนแบ่งทางการตลาดซึ่งส่งผลให้ส่วนแบ่งทางการตลาดในธุรกิจนายหน้าซื้อขายหลักทรัพย์ของบริษัทลดลงในช่วงหลายปีที่ผ่านมา โดยลดลงจาก 2.96% ในปี 2557 (อันดับ 13) มาอยู่ที่ 2.80% ในปี 2558 (อันดับ 15) อยู่ที่ 2.57% ในปี 2559 (อันดับ 19) และอยู่ที่ 2.27% ในปี 2560 (อันดับ 22) ถึงแม้ว่าอัตราค่าธรรมเนียมนายหน้าโดยเฉลี่ยของบริษัทจะปรับตัวลดลงเล็กน้อยในช่วงครึ่งแรกของปี 2560 จากปี 2559 แต่อัตราค่าธรรมเนียมนายหน้าโดยเฉลี่ยของบริษัทก็ยังคงสูงกว่าค่าธรรมเนียมโดยเฉลี่ยในอุตสาหกรรมซึ่งยังคงปรับตัวลดลงอย่างต่อเนื่อง ส่วนแบ่งทางการตลาดของรายได้ธุรกิจหลักทรัพย์ของบริษัทลดลงเล็กน้อยจาก 4% ในปี 2559 มาอยู่ที่ประมาณ 3% ณ เดือนมิถุนายน 2560 ส่วนธุรกิจสัญญาซื้อขายล่วงหน้านั้น ส่วนแบ่งทางการตลาดของรายได้ของบริษัทก็มีทิศทางลดลงเช่นกัน โดยลดลงจากประมาณ 6% ในปี 2557 มาอยู่ที่ประมาณ 3% ณ เดือนมิถุนายน 2560

ความสามารถในการทำกำไรที่ลดลง

ภายหลังการรับโอนธุรกิจหลักทรัพย์มาจาก บล. ซีมิโก้ในปี 2552 บริษัทก็เริ่มมีผลการดำเนินงานที่มีกำไร แต่เนื่องจากการเพิ่มขึ้นอย่างมากของค่าใช้จ่ายหนี้สูญและหนี้สงสัยจะสูญในช่วง 6 เดือนแรกของปี 2560 จึงส่งผลทำให้บริษัทมีผลขาดทุนสุทธิ 86 ล้านบาทและทำให้อัตราส่วนผลตอบแทนต่อสินทรัพย์รวมถัวเฉลี่ยในช่วง 6 เดือนแรกของปี 2560 ของบริษัทอยู่ที่ -0.9% ตามอัตราส่วนที่ยังไม่ได้ปรับให้เป็นตัวเลขเต็มปีโดยเทียบกับค่าเฉลี่ยของอุตสาหกรรมที่ 1.65% ทั้งนี้ ในปี 2560 บริษัทมีกำไรสุทธิ 3.2 ล้านบาทและมีอัตราส่วนผลตอบแทนต่อสินทรัพย์รวมถัวเฉลี่ยเท่ากับ 0.03% สัดส่วนกำไรต่อรายได้ของบริษัทก็ยังอยู่ในระดับค่อนข้างต่ำเนื่องจากมีค่าใช้จ่ายในการดำเนินงานที่สูง โดยอัตราส่วนค่าใช้จ่ายดำเนินงานต่อรายได้สุทธิอยู่ที่ระดับ 89% ในช่วง 6 เดือนแรกของปี 2560 ซึ่งสูงกว่าค่าเฉลี่ยของอุตสาหกรรมที่ 64% ในช่วงเวลาเดียวกัน อัตราส่วนค่าใช้จ่ายดำเนินงานต่อรายได้สุทธิของบริษัทอยู่ที่ระดับ 84% ในปี 2560 การปรับตัวลดลงของกำไรสุทธิเป็นผลหลักๆ มาจากการลดลงของรายได้จากค่านายหน้าซื้อขายหลักทรัพย์และสัญญาซื้อขายล่วงหน้าและการเพิ่มขึ้นอย่างมากของค่าใช้จ่ายหนี้สูญและหนี้สงสัยจะสูญ

มีความเสี่ยงที่จำกัดทั้งในด้านการตลาดและด้านเครดิต

ปัจจุบันบริษัทมีการจำกัดความเสี่ยงด้านการตลาดให้เหลือน้อยลงโดยไม่มีการลงทุนแบบเก็งกำไรเหมือนในอดีต แต่เน้นการลงทุนแบบ Arbitrage กับการลงทุนเพื่อป้องกันความเสี่ยงจากการออกใบสำคัญแสดงสิทธิอนุพันธ์ให้มากขึ้น บริษัทยังมีความเสี่ยงด้านเครดิตจากการให้สินเชื่อเพื่อซื้อหลักทรัพย์ โดยยอดลูกหนี้สินเชื่อเพื่อซื้อหลักทรัพย์ของบริษัทพุ่งขึ้นสูงสุดในปี 2559 ที่มูลค่าประมาณ 6,700 ล้านบาท แต่ ณ เดือนกันยายน 2560 ก็ปรับตัวลดลงมาอยู่ที่ 4,700 ล้านบาท และอยู่ที่ 5,000 ล้านบาท ณ สิ้นปี 2560 ถึงแม้ว่าบริษัทจะมีส่วนแบ่งการให้สินเชื่อเมื่อเทียบกับยอดลูกหนี้สินเชื่อเพื่อซื้อหลักทรัพย์รวมทั้งอุตสาหกรรมที่เพิ่มขึ้นอย่างมากโดยอยู่ที่ระดับประมาณ 11.6% ในปี 2559 แต่ส่วนแบ่งดังกล่าวก็เริ่มลดลงในช่วงปี 2560 และอยู่ที่ระดับ 7.2% ณ เดือนกันยายน 2560 ทั้งนี้ ทริสเรทติ้งคาดหวังว่าบริษัทจะจำกัดวงเงินสินเชื่อเพื่อซื้อหลักทรัพย์ไม่ให้เกินระดับสูงสุดที่บริษัทเคยมีที่ประมาณ 7,000 ล้านบาทเมื่อปี 2559

มีฐานทุนที่ค่อนข้างตึงตัว

บริษัทเป็นผู้ประกอบการที่มีหนี้สินเมื่อเทียบกับทุนที่สูงมากที่สุดรายหนึ่งเมื่อเปรียบเทียบกับบริษัทหลักทรัพย์รายอื่น ๆ ที่

ทริสเรทติ้งจัดอันดับเครดิต ทั้งนี้ ในปี 2560 บริษัทมีฐานทุนอยู่ที่ 2,400 ล้านบาทซึ่งอยู่ในระดับเดียวกับในปี 2559 ถึงแม้ว่าอัตราส่วนของส่วนของผู้ถือหุ้นต่อสินทรัพย์ที่ปรับตัวเลขแล้วจะเพิ่มขึ้นจาก 26.3% ในปี 2559 มาอยู่ที่ 34% ในช่วงครึ่งแรกของปี 2560 แต่ก็ยังคงอยู่ในระดับที่ต่ำกว่าค่าเฉลี่ยของอุตสาหกรรมที่ 58.4% ในช่วงเวลาเดียวกัน ณ สิ้นปี 2560 อัตราส่วนของส่วนของผู้ถือหุ้นต่อสินทรัพย์ที่ปรับตัวเลขแล้วของบริษัทอยู่ที่ 33.2% อีกนัยหนึ่งอาจกล่าวได้ว่าฐานเงินทุนของบริษัทอยู่ในระดับที่ค่อนข้างต่ำเมื่อเปรียบเทียบกับคู่แข่งในอุตสาหกรรม บริษัทมีอัตราส่วนเงินกองทุนสภาพคล่องสุทธิต่อหนี้สินทั่วไปเพิ่มขึ้นมาอยู่ที่ 18% ในปี 2560 จาก 13% ในปี 2559 ทั้งนี้ ความพยายามในการใช้ประโยชน์จากฐานทุนอย่างเต็มที่ทำให้บริษัทเป็นหนึ่งในบริษัทหลักทรัพย์ที่มีอัตราส่วนเงินกองทุนสภาพคล่องสุทธิต่อหนี้สินทั่วไปที่ต่ำมากที่สุดแห่งหนึ่ง

แนวโน้มอันดับเครดิต

แนวโน้มอันดับเครดิต "Stable" หรือ "คงที่" สะท้อนถึงความคาดหมายว่าบริษัทจะยังคงได้รับการสนับสนุนอย่างเต็มที่จากธนาคารกรุงไทยต่อไป รวมทั้งจะสามารถรักษาส่วนแบ่งรายได้ในธุรกิจนายหน้าซื้อขายหลักทรัพย์เอาไว้ได้ภายใต้สภาพการแข่งขันที่ทวีความรุนแรงยิ่งขึ้น และจะคงไว้ซึ่งระบบจัดการความเสี่ยงที่เพียงพอในการให้สินเชื่อเพื่อซื้อหลักทรัพย์ซึ่งรวมไปถึงกิจกรรมป้องกันความเสี่ยงที่เกี่ยวข้องกับการออกใบสำคัญแสดงสิทธิอนุพันธ์ นอกจากนี้ ทริสเรทติ้งยังคาดหวังว่าบริษัทจะไม่ขยายธุรกิจอย่างรวดเร็วเกินไปจนกระทบต่อสัดส่วนหนี้สินต่อทุนของบริษัทอย่างมีนัยสำคัญด้วย

ปัจจัยที่อาจทำให้อันดับเครดิตเปลี่ยนแปลง

อันดับเครดิตและ/หรือแนวโน้มอันดับเครดิตของบริษัทอาจปรับเพิ่มขึ้นได้หากบริษัทสามารถขยายอัตราการเติบโตของกำไรและส่วนแบ่งทางการตลาดได้อย่างยั่งยืน หรือหากธนาคารกรุงไทยแสดงให้เห็นถึงความมุ่งมั่นมากขึ้นในการที่จะให้การสนับสนุนแก่บริษัทในฐานะเป็นบริษัทลูกที่มีความสำคัญในเชิงกลยุทธ์ของธนาคาร ในทางกลับกัน อันดับเครดิตและ/หรือแนวโน้มอันดับเครดิตของบริษัทอาจปรับลดลงได้หากบริษัทสูญเสียส่วนแบ่งทางการตลาดในธุรกิจนายหน้าซื้อขายหลักทรัพย์อย่างมีนัยสำคัญซึ่งเกิดจากผลประกอบการทางการเงินที่ลดลงอย่างต่อเนื่อง หรือหากบริษัทเพิ่มสัดส่วนหนี้สินต่อทุนอย่างมีนัยสำคัญ ทั้งนี้ หากความสำคัญในเชิงกลยุทธ์ของบริษัทที่มีต่อธนาคารกรุงไทยลดลง อันดับเครดิตของบริษัทก็จะได้รับผลกระทบตามไปด้วยเช่นกัน

บริษัทหลักทรัพย์ เคที ซีมิโก้ จำกัด (KTZ)

อันดับเครดิตองค์กร: BBB+

อันดับเครดิตตราสารหนี้:

KTZ195A: หุ้นกู้ไม่ด้อยสิทธิ ไม่มีหลักประกัน 450 ล้านบาท ไถ่ถอนปี 2562 BBB+

KTZ205A: หุ้นกู้ไม่ด้อยสิทธิ ไม่มีหลักประกัน 1,000 ล้านบาท ไถ่ถอนปี 2563 BBB+

แนวโน้มอันดับเครดิต: Stable

ข่าวประชาสัมพันธ์ล่าสุด

๒๘ มี.ค. องค์การบรรจุภัณฑ์โลก จับมือ อินฟอร์มา มาร์เก็ตส์ ประเทศไทย ร่วมจัดกิจกรรมสัมมนาออนไลน์
๒๘ มี.ค. การแข่งขันกีฬาขี่ม้าโปโลรายการ King Power International Ladies' Polo Tournament 2024
๒๘ มี.ค. DEXON ปักธงรายได้ปี 67 ทะลุ 700 ลบ. โชว์ Backlog เฉียด 280 ลบ. ล็อคมาร์จิ้น 35-40%
๒๘ มี.ค. JPARK ร่วมงาน Dinner Talk ผู้บริหารจดทะเบียนพบนักลงทุน จ.ราชบุรี
๒๘ มี.ค. นีเวีย ซัน และ วัตสัน จับมือต่อปีที่สองชวนดูแลท้องทะเล กับโครงการ เพราะแคร์ จึงชวนแชร์ ร่วมพิทักษ์รักษ์ทะเลไทย
๒๘ มี.ค. Cloud เทคโนโลยีที่อยู่ใกล้ตัว เพียงแค่คุณไม่รู้เท่านั้นเอง
๒๘ มี.ค. โรยัล คานิน ร่วมกับ เพ็ทแอนด์มี จัดงาน Royal Canin Expo 2024: PAWRENTS' DAY เพื่อสร้างโลกที่ดีขึ้นสำหรับน้องแมวและน้องหมา
๒๘ มี.ค. STEAM Creative Math Competition
๒๘ มี.ค. A-HOST ร่วมวาน MFEC Inspire ขึ้นบรรยายพร้อมจัดบูธ Cost Optimization Pavilion
๒๘ มี.ค. ฟินเวอร์! ส่องความคิ้วท์ 'ฟอส-บุ๊ค' ควงคู่ร่วมงาน Discover Thailand เสิร์ฟโมเมนต์ฉ่ำให้แฟนๆ ได้ดับร้อนกันยกด้อมรับซัมเมอร์ และร่วมส่งต่อความสุขในกิจกรรม 'Exclusive Unseen Food Trip กับ คู่ซี้