ทริสเรทติ้งคงอันดับเครดิตองค์กรและแนวโน้ม “บ. ไมด้า ลิสซิ่ง” ที่ “BBB-/Stable”

ศุกร์ ๓๐ มีนาคม ๒๐๑๘ ๑๐:๔๕
ทริสเรทติ้งคงอันดับเครดิตองค์กรของ บริษัท ไมด้า ลิสซิ่ง จำกัด (มหาชน) ที่ระดับ "BBB-" โดยอันดับเครดิตดังกล่าวสะท้อนถึงสถานภาพของบริษัทในฐานะเป็นบริษัทย่อยของ บริษัท ไมด้า แอสเซ็ท จำกัด (มหาชน) ซึ่งดำเนินธุรกิจให้สินเชื่อเช่าซื้อเครื่องใช้ไฟฟ้าภายในบ้านภายใต้ตราสัญลักษณ์ที่หลากหลายและธุรกิจพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ อันดับเครดิตยังสะท้อนถึงประวัติการดำเนินธุรกิจที่ยาวนานของบริษัทในการให้บริการสินเชื่อรถยนต์ใช้แล้วและผลกำไรที่สม่ำเสมอ รวมถึงการมีเครือข่ายสาขาที่กระจายตัวอยู่ในหลายภูมิภาคทั่วประเทศ และการมีความสัมพันธ์ที่แน่นแฟ้นกับพันธมิตรทางธุรกิจด้วย อย่างไรก็ตาม จุดแข็งดังกล่าวถูกลดทอนลงจากคุณภาพสินทรัพย์ที่เสื่อมถอยลงอย่างต่อเนื่อง นอกจากนี้ บริษัทยังต้องเผชิญกับการแข่งขันที่รุนแรงในธุรกิจให้บริการสินเชื่อรถยนต์ อีกทั้งบริษัทยังมีความได้เปรียบในการแข่งขันที่อยู่ในระดับค่อนข้างต่ำเมื่อพิจารณาถึงต้นทุนทางการเงินที่ค่อนข้างสูงและสถานะทางการตลาดที่ค่อนข้างอ่อนแอโดยพิจารณาจากสินเชื่อคงค้างเมื่อเปรียบเทียบกับคู่แข่งรายใหญ่ ๆ

ประเด็นสำคัญที่กำหนดอันดับเครดิต

ประวัติการบริหารสินเชื่อที่ยาวนาน

นับตั้งแต่การก่อตั้งในปี 2543 ธุรกิจหลักซึ่งเป็นหนึ่งในแหล่งกำไรของบริษัทคือสินเชื่อเช่าซื้อรถยนต์ใช้แล้วที่ผ่านการใช้งานตั้งแต่ 5 ปีขึ้นไปหรือที่บริษัทเรียกว่า "รถยนต์มือสาม" บริษัทสร้างรายได้จากอัตราดอกเบี้ยที่สูงกว่าในธุรกิจดังกล่าวเหนือคู่แข่งซึ่งมีรายได้จากการปล่อยสินเชื่อรถยนต์ใหม่หรือรถยนต์ที่ไม่ได้ผ่านการใช้งานมานานเท่ากับของบริษัทอย่างมีนัยสำคัญ

ในช่วงระหว่างปี 2553-2558 ขนาดสินเชื่อของบริษัทแทบจะไม่มีการเติบโต โดยมูลค่าสินเชื่อคงค้างรวมทรงตัวอยู่ที่ระดับ 2,526 ล้านบาท ณ สิ้นปี 2553 และ 2,591 ล้านบาท ณ สิ้นปี 2558 ในปี 2559 สินเชื่อคงค้างกลับมาเติบโตอีกครั้งโดยยอดสินเชื่อรถยนต์คงค้างเติบโตขึ้น 10.3% ในปี 2559 และ 9.6% ในปี 2560 มาอยู่ที่ระดับ 2,859 ล้านบาทและ 3,132 ล้านบาท ตามลำดับ

ณ เดือนธันวาคม 2560 สินเชื่อรถยนต์ของบริษัทประกอบด้วยสินเชื่อเช่าซื้อในสัดส่วน 93% และสินเชื่อเพื่อเป็นเงินทุนหมุนเวียนสำหรับกลุ่มผู้ประกอบการเต็นท์รถยนต์มือสอง (หรือสินเชื่อ Floor Plan) อีก 7% อัตราการเติบโตของสินเชื่อที่อยู่ในระดับต่ำและการปราศจากอุปสรรคในการเข้าสู่ธุรกิจของผู้ประกอบการรายใหม่ส่งผลให้บริษัทมีสถานะทางการตลาดที่อ่อนแอ อย่างไรก็ตาม ผลประกอบการในอดีตแสดงให้เห็นว่าบริษัทยังสามารถประกอบธุรกิจที่สร้างผลกำไรได้แม้จะอยู่ในสถานการณ์ที่ยากลำบากก็ตาม

มีเครือข่ายสาขาที่ครอบคลุมทั่วประเทศ

ณ เดือนธันวาคม 2560 บริษัทมีสำนักงานใหญ่ในกรุงเทพฯ และมีสาขา 16 แห่งในบางจังหวัด เช่น อุบลราชธานี สุราษฎร์ธานี และนครปฐม โดยสาขาใหม่ล่าสุดซึ่งตั้งอยู่ในจังหวัดสุรินทร์ได้เปิดดำเนินการในปี 2558 เครือข่ายสาขาของบริษัทครอบคลุมทุกภูมิภาคของประเทศ สถานที่ตั้งของสาขาสอดคล้องกับนโยบายของบริษัทที่ต้องการขยายธุรกิจไปยังพื้นที่ต่างจังหวัดซึ่งเป็นที่อยู่อาศัยของกลุ่มลูกค้าเป้าหมายของบริษัท ทั้งนี้ ในปี 2560 สินเชื่อจากสำนักงานใหญ่คิดเป็น 9.8% ของสินเชื่อคงค้างรวม และ 8.9% ของสินเชื่อที่ปล่อยใหม่

ส่วนต่างของอัตราดอกเบี้ยเพิ่มสูงขึ้น

แม้ว่าขนาดสินเชื่อของบริษัทไม่ได้เติบโตอย่างเห็นได้ชัด แต่บริษัทก็มีส่วนต่างอัตราดอกเบี้ยที่สูงกว่าคู่แข่ง ถึงแม้ว่าส่วนต่างอัตราดอกเบี้ยจะลดลงเล็กน้อยในปี 2559 แต่อัตราดอกเบี้ยรับจากพอร์ตสินเชื่อยังฟื้นตัวขึ้นสู่ระดับ 16% ในปี 2560 ส่งผลให้ส่วนต่างอัตราดอกเบี้ยปรับเพิ่มขึ้นเป็น 11.2% จาก 10.8% ในปี 2559 อย่างไรก็ตาม กำไรสุทธิของบริษัทลดลงเล็กน้อยเป็น 113 ล้านบาทในปี 2560 จาก 118 ล้านบาทในปี 2559 สอดคล้องกับอัตราส่วนผลตอบแทนต่อสินทรัพย์รวมถัวเฉลี่ยที่ลดลงเป็น 3.2% ในปี 2560 จาก 3.7% ในปี 2559 ความสามารถในการทำกำไรที่ลดลงในปี 2560 เป็นผลมาจากค่าใช้จ่ายดำเนินงานที่เพิ่มสูงขึ้นรวมถึงรายได้ที่มิใช่ดอกเบี้ยที่ลดต่ำลงในปี 2560 จากการที่บริษัทไม่มีกำไรจากการขายเงินลงทุนในหลักทรัพย์เพื่อค้าตามที่ได้รับรู้เป็นรายได้ไปแล้วเมื่อปี 2559

การมีต้นทุนสูงเป็นปัจจัยลดทอนความได้เปรียบในการแข่งขัน

ในธุรกิจให้สินเชื่อรถยนต์ซึ่งมีการแข่งขันสูง ผู้ประกอบการที่มีต้นทุนทางการเงินและค่าใช้จ่ายดำเนินงานที่ต่ำย่อมมีข้อได้เปรียบในการแข่งขัน โดยผู้ประการดังกล่าวสามารถทำกำไรจากการปล่อยสินเชื่อดอกเบี้ยต่ำให้แก่ลูกค้าที่มีความเสี่ยงในระดับที่ยอมรับได้ ดังนั้น ผู้ประกอบการเหล่านี้จึงมีโอกาสสูงกว่าที่จะขยายสินเชื่อที่มีคุณภาพสินทรัพย์ที่ดีด้วยค่านายหน้าที่ต่ำกว่า ในทางกลับกัน บริษัทขยายสินเชื่อด้วยอัตราการเติบโตที่จำกัด อีกทั้งยังมีค่าใช้จ่ายดำเนินงานที่สูง และมีความเสี่ยงด้านเครดิตที่สูงจากการปล่อยสินเชื่อดอกเบี้ยสูงให้แก่กลุ่มลูกค้าที่มีเครดิตในระดับต่ำ

คุณภาพสินเชื่อที่ถดถอย

กลุ่มลูกค้าเป้าหมายของบริษัทเป็นกลุ่มที่มีสถานะเครดิตอยู่ในระดับที่อ่อนแอกว่ากลุ่มลูกค้าเป้าหมายของผู้ประกอบการสินเชื่อเช่าซื้อรถยนต์รายอื่นๆ ด้วยเหตุนี้ อัตราส่วนสินเชื่อที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (สินเชื่อค้างชำระเกิน 90 วัน) ต่อสินเชื่อรวมของบริษัทจึงสูงกว่าของคู่แข่ง

อัตราส่วนสินเชื่อที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ต่อสินเชื่อรวมของบริษัทแกว่งตัวขึ้นลงอยู่ระหว่าง 2.3% และ 3.6% ในระหว่างปี 2553-2556 การตัดหนี้สูญในช่วงครึ่งหลังของปี 2557 ช่วยลดอัตราส่วนสินเชื่อที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ต่อสินเชื่อรวมให้ลดลงมาอยู่ที่ 3.2% ณ สิ้นปี 2557 และแม้จะมีการตัดหนี้สูญออกไป อัตราส่วนดังกล่าวก็ยังปรับเพิ่มขึ้นมาอีกที่ระดับ 3.7% ณ สิ้นปี 2558 ระดับ 4.3% ณ สิ้นปี 2559 และที่ระดับ 4.6% ณ สิ้นปี 2560

บริษัทมีอัตราส่วนค่าเผื่อหนี้สงสัยจะสูญต่อสินเชื่อที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้อยู่ที่ระดับประมาณ 80% โดยเฉลี่ยในช่วง 5 ปีที่ผ่านมา ทั้งนี้ หากมาตรฐานบัญชีฉบับใหม่ที่กำลังจะมีผลบังคับใช้ในปี 2562 ทำให้บริษัทต้องตั้งสำรองค่าเผื่อหนี้สงสัยจะสูญเพิ่มขึ้นก็อาจส่งผลกระทบต่อกำไรสุทธิของบริษัทได้

สินทรัพย์สอดคล้องกับหนี้สิน

บริษัทมีสัดส่วนเงินกู้ยืมระยะยาวต่อเงินกองทุนเพิ่มขึ้นตั้งแต่ปี 2559 หลังจากการออกหุ้นกู้ใหม่ โดย ณ สิ้นปี 2560 ประมาณ 88% ของเงินกู้ยืมทั้งหมดของบริษัทเป็นเงินกู้ยืมระยะยาว บริษัทมีโครงสร้างเงินทุนที่สอดคล้องกับโครงสร้างสินเชื่อเช่าซื้อ กระแสเงินสดรับที่คาดว่าบริษัทจะได้รับในแต่ละปียังคงสูงกว่าภาระหนี้ที่ต้องจ่ายตามกำหนด บริษัทมีอายุสินเชื่อโดยเฉลี่ย 3 ปีถึง 5 ปี อย่างไรก็ตาม บริษัทมีกำหนดชำระคืนหุ้นกู้ในปริมาณที่ค่อนข้างมากในปี 2562 ซึ่งถือว่าเป็นประเด็นความเสี่ยงในการจัดหาแหล่งเงินกู้ใหม่

บริษัทมีสถานะทางการตลาดที่อ่อนแอและไม่มีแหล่งเงินทุนที่มั่นคงรองรับ ในขณะที่คู่แข่งรายสำคัญล้วนเป็นบริษัทในเครือของสถาบันการเงินขนาดใหญ่และยังสามารถเข้าถึงแหล่งเงินทุนได้ง่ายกว่าด้วย บริษัทจะต้องเผชิญกับความท้าทายหากบริษัทจะต้องขยายพอร์ตสินเชื่อให้มากขึ้น ทริสเรทติ้งคาดว่าบริษัทจะสามารถเข้าถึงแหล่งเงินกู้ใหม่ได้ ซึ่งยิ่งมีแหล่งเงินกู้มากขึ้นก็ยิ่งส่งผลให้บริษัทมีความยืดหยุ่นทางการเงินมากขึ้น

ฐานทุนอยู่ในระดับที่เพียงพอ

บริษัทมีสัดส่วนของส่วนของผู้ถือหุ้นเมื่อเทียบกับเงินทุนสูงกว่าคู่แข่ง โดยส่วนของผู้ถือหุ้นมีสัดส่วนคิดเป็นเกือบ 50% ของเงินทุนทั้งหมด ซึ่งนับเป็นระดับที่แข็งแกร่ง กำไรในอดีตและการเพิ่มทุนในระยะหลังช่วยเพิ่มระดับส่วนของผู้ถือหุ้นของบริษัท อัตราส่วนของผู้ถือหุ้นต่อสินทรัพย์รวมอยู่ในระดับสูงที่ 48.6% ณ เดือนธันวาคม 2560 แต่ลดลงเล็กน้อยเมื่อเทียบกับช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมา

บริษัทสามารถขยายอัตราการเติบโตของสินเชื่อได้โดยใช้เงินกู้ยืม อย่างไรก็ตาม ทริสเรทติ้งหวังว่าบริษัทจะสามารถดำรงฐานทุนที่แข็งแกร่งเอาไว้ได้ ซึ่งฐานทุนที่แข็งแกร่งจะช่วยบรรเทาความเสี่ยงจากกลุ่มลูกค้าหลักของบริษัทซึ่งเป็นกลุ่มที่มีความเสี่ยงในการชำระหนี้ที่ค่อนข้างสูง อีกทั้งยังมีความอ่อนไหวเป็นอย่างมากต่อการเปลี่ยนแปลงในเชิงลบของภาวะเศรษฐกิจด้วยเช่นกัน

ตามข้อกำหนดสำคัญของหุ้นกู้ บริษัทจะต้องดำรงอัตราส่วนหนี้สินต่อส่วนของผู้ถือหุ้นเอาไว้ไม่เกิน 3 เท่า ซึ่งอัตราส่วนดังกล่าว ณ สิ้นปี 2560 อยู่ที่ 1.1 เท่า จึงถือว่าบริษัทปฏิบัติตามข้อกำหนดดังกล่าว ทริสเรทติ้งเชื่อว่าบริษัทจะยังสามารถปฏิบัติตามข้อกำหนดนี้ได้ในระยะปานกลางหากพิจารณาจากแผนการขยายธุรกิจตามปกติ

แนวโน้มอันดับเครดิต

แนวโน้มอันดับเครดิต "Stable" หรือ "คงที่" สะท้อนความคาดหวังของทริสเรทติ้งว่าบริษัทจะสามารถรักษาสถานะทางการตลาดและผลประกอบการทางการเงินในระดับปัจจุบันไปพร้อมกับการรักษาฐานทุนให้แข็งแกร่งเอาไว้ได้

ปัจจัยที่อาจทำให้อันดับเครดิตเปลี่ยนแปลง

อันดับเครดิตอาจได้รับการปรับเพิ่มหากบริษัทมีส่วนแบ่งทางการตลาดและสถานะทางการแข่งขันเพิ่มขึ้นโดยที่ยังสามารถรักษาผลประกอบการทางการเงินที่แข็งแกร่งเอาไว้ได้อย่างสม่ำเสมอ อย่างไรก็ตาม อันดับเครดิตอาจถูกปรับลดลงหากคุณภาพสินทรัพย์ของบริษัทเสื่อมถอยลงจนส่งผลกระทบอย่างมีนัยสำคัญต่อความสามารถในการทำกำไรและสถานะทางการเงินของบริษัท

บริษัท ไมด้า ลิสซิ่ง จำกัด (มหาชน) (ML)

อันดับเครดิตองค์กร: BBB-

แนวโน้มอันดับเครดิต: Stable

ข่าวประชาสัมพันธ์ล่าสุด

๑๙ เม.ย. บิทูเมน มารีน บริษัทลูก TASCO ลงนามสัญญาต่อเรือขนส่งยางมะตอย เสริมศักยภาพกองเรือ
๑๙ เม.ย. รมว.เกษตรฯ ลุยร้อยเอ็ด ผลักดันโครงการพัฒนาแหล่งน้ำ 3 แห่ง
๑๙ เม.ย. กูรูหุ้นเชียร์ซื้อ PSP เคาะเป้าราคาสูงสุด 8 บ./หุ้น ยอดขายพุ่ง-หนี้ลด ดันกำไรปี 67 ออลไทม์ไฮ ดีล MA สร้าง New S-Curve
๑๙ เม.ย. ข้าวกล้อง-จักรีภัทร พร้อมเต็มร้อย! ประเดิม จูเนียร์จีพี สนามแรก ประเทศอิตาลี
๑๙ เม.ย. กรมประมงขอเชิญร่วมแข่งขันตกปลาชะโด
๑๙ เม.ย. เชลล์ดอน การ์ตูนดังร่วมสาดความสนุกในเทศกาลสงกรานต์
๑๙ เม.ย. สปสช. ติดปีกเทคโนโลยีไอทีด้วยคลาวด์กลางภาครัฐ GDCC ยกระดับบริการบัตรทองรวดเร็วทันสมัย ดูแลสุขภาพคนไทยยุคดิจิทัล
๑๙ เม.ย. GSK ร่วมงาน Re-imagining UK Aging Care Event ของสถานทูตอังกฤษ มุ่งสร้างเสริมภูมิคุ้มกันผู้สูงอายุ
๑๙ เม.ย. เอส เอฟ จับมือ กปน. มอบสิทธิ์ดูฟรีรวม 1,000 ที่นั่ง เพียงใช้ MWA Point ที่ เอส เอฟ!!
๑๙ เม.ย. เตรียมพร้อมนับถอยหลัง 12 ชั่วโมงสุดท้าย! ก่อนเริ่มประวัติศาสตร์ครั้งใหม่ Bitcoin Halving ครั้งที่ 4