ฟิทช์เพิ่มอันดับเครดิตสากลระยะสั้นของ KTB เป็น 'F2’ และคงอันดับเครดิตของธนาคารพาณิชย์ไทยที่มีนัยต่อความเสี่ยงเชิงระบบอีก 4 แห่ง

พุธ ๐๒ พฤษภาคม ๒๐๑๘ ๑๖:๑๒
ฟิทช์ เรทติ้งส์ ประกาศเพิ่มอันดับเครดิตสากลสกุลเงินต่างประเทศระยะสั้น (Short-Term Issuer Default Rating) ของธนาคารกรุงไทย จำกัด (มหาชน) หรือ KTB เป็น 'F2' จาก 'F3' และคงอันดับเครดิตสากลสกุลเงินต่างประเทศระยะยาว (Long-Term Foreign Currency IDR) ที่ 'BBB' และอันดับเครดิตภายในประเทศระยะยาวที่ 'AA+(tha)' โดยธนาคารมีแนวโน้มอันดับเครดิตมีเสถียรภาพ

พร้อมกันนี้ฟิทช์ยังได้คงอันดับเครดิตของธนาคารพาณิชย์ไทยที่มีนัยต่อความเสี่ยงเชิงระบบในประเทศ (Domestic Systemically-Important Bank หรือ D-SIB) ที่เหลืออีก 4 แห่ง ดังนี้

- อันดับเครดิตสากลสกุลเงินต่างประเทศระยะยาวของธนาคารกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) หรือ BBL ธนาคารกสิกรไทย จำกัด (มหาชน) หรือ KBank และ ธนาคารไทยพาณิชย์ จำกัด (มหาชน) หรือ SCB ได้รับการคงอันดับที่ 'BBB+' และอันดับเครดิตภายในประเทศระยะยาวของธนาคารทั้ง 3 แห่งได้รับการคงอันดับที่ 'AA+(tha)' โดยทั้งหมดมีแนวโน้มอันดับเครดิตมีเสถียรภาพ

- ธนาคารกรุงศรีอยุธยา จำกัด (มหาชน) หรือ BAY ได้รับการคงอันดับเครดิตสากลสกุลเงินต่างประเทศระยะยาวที่ 'A-' และอันดับเครดิตภายในประเทศระยะยาวที่ 'AAA(tha)' โดยมีแนวโน้มอันดับเครดิตมีเสถียรภาพ

นอกจากนี้ฟิทช์ยังได้ประกาศคงอันดับเครดิตภายในประเทศของบริษัทลูกของธนาคารพาณิชย์อีก 2 แห่ง คือ บริษัทหลักทรัพย์กสิกรไทย จำกัด (มหาชน) (KS) และบริษัทหลักทรัพย์ไทยพาณิชย์ จำกัด (SCBS) โดยทั้ง 2 บริษัทได้รับการคงอันดับเครดิตภายในประเทศระยะยาวที่ 'AA(tha)' และแนวโน้มอันดับเครดิตมีเสถียรภาพ

รายละเอียดอันดับเครดิตทั้งหมดได้แสดงไว้ในส่วนท้าย

ปัจจัยสนับสนุนอันดับเครดิต – อันดับเครดิตสากลสกุลเงินต่างประเทศ อันดับเครดิตภายในประเทศ และอันดับเครดิตหุ้นกู้ไม่ด้อยสิทธิ

อันดับเครดิตสากลสกุลเงินต่างประเทศ อันดับเครดิตภายในประเทศ และอันดับเครดิตหุ้นกู้ไม่ด้อยสิทธิของ BBL KBank และ SCB พิจารณาจากอันดับความแข็งแกร่งทางการเงินของแต่ละธนาคาร (Viability Rating หรือ VR)

การสนับสนุนจากรัฐบาลไทยเป็นปัจจัยหลักในการพิจารณาอันดับเครดิตสากลสกุลเงินต่างประเทศ อันดับเครดิตภายในประเทศและอันดับเครดิตหุ้นกู้ไม่ด้อยสิทธิของ KTB โดยฟิทช์เชื่อว่ามีความเป็นไปได้สูงที่รัฐบาลจะให้การสนับสนุนพิเศษที่นอกเหนือจากการดำเนินงานตามปรกติ (Extraordinary Support) แก่ KTB ในกรณีที่มีความจำเป็น ทั้งนี้การสนับสนุนดังกล่าวจากรัฐบาลเป็นปัจจัยหนุนอันดับเครดิตสนับสนุนขั้นต่ำ (Support Rating Floor) ที่ 'BBB' ซึ่งอยู่ในระดับที่สูงกว่าอันดับความแข็งแกร่งทางการเงินของ KTB ที่ 'bbb-' การปรับเพิ่มอันดับเครดิตสากลสกุลเงินต่างประเทศระยะสั้นของ KTB สะท้อนถึงการทบทวนการประเมิน (re-assess) ความสามารถในการชำระหนี้สินระยะสั้นของธนาคาร ซึ่งฟิทช์เชื่อว่าความแตกต่างของความสามารถในการชำระหนี้ระยะสั้น ซึ่งสะท้อนจากอันดับเครดิตสากลระยะสั้นของ KTB ที่อยู่ต่ำกว่าธนาคารพาณิชย์ไทยที่มีสถานะเป็น D-SIB อยู่ 1 อันดับ นั้น อาจไม่ใช่ระดับที่เหมาะสมอีกต่อไป เนื่องจาก KTB มีอัตราส่วนทางการเงินด้านสภาพคล่องที่ปรับตัวดีขึ้นอย่างต่อเนื่องอีกทั้งธนาคารยังได้รับการสนับสนุนจากภาครัฐอย่างต่อเนื่อง

ปัจจัยการสนับสนุนจากผู้ถือหุ้นที่เป็นสถาบันการเงินเป็นปัจจัยหลักในการพิจาณาอันดับเครดิตสากลสกุลเงินต่างประเทศ อันดับเครดิตภายในประเทศ และอันดับเครดิตของหุ้นกู้ไม่ด้อยสิทธิของ BAY ทั้งนี้ฟิทช์มองว่า BAY เป็นบริษัทลูกที่มีบทบาทสำคัญในเชิงกลยุทธ์ต่อ MUFG Bank, Ltd. ('A'/แนวโน้มอันดับเครดิตมีเสถียรภาพ/'a') ซึ่งเป็นธนาคารแม่ที่มีสัดส่วนการถือหุ้นใน BAY ที่ 76.9% การดำเนินงานระหว่าง MUFG Bank กับ BAY มีความเชื่อมโยงและผสานการดำเนินงาน (integration) กันมากขึ้นอย่างต่อเนื่อง นับตั้งแต่การรวมกิจการของ MUFG Bank สาขากรุงเทพฯ เข้ามาเป็นส่วนหนึ่งของ BAY เมื่อปี 2558 BAY มีบทบาทสำคัญในการดำเนินกลยุทธ์ของกลุ่มในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้และเป็นหนึ่งในบริษัทลูกที่มีขนาดใหญ่ที่สุดนอกประเทศญี่ปุ่นของ MUFG Bank

อันดับเครดิตภายในประเทศของ KS และ SCBS พิจารณาจากการที่บริษัททั้งสองมีสถานะเป็นบริษัทลูกที่มีความสำคัญในเชิงกลยุทธ์ต่อธนาคารแม่ ซึ่งคือ KBank และ SCB ตามลำดับ โดยทั้งสองบริษัทมีบทบาทที่สำคัญในกลยุทธ์การดำเนินธุรกิจรูปแบบธนาคารครบวงจร (universal banking strategy) ของธนาคารแม่ อีกทั้งธนาคารแม่ยังเป็นผู้ถือหุ้นทั้งหมดในบริษัทลูก และยังมีการผสานการดำเนินงานและบริหารงานกันอย่างใกล้ชิดมากกับธนาคารแม่

ปัจจัยสนับสนุนอันดับเครดิต – อันดับความแข็งแกร่งทางการเงิน

อันดับความแข็งแกร่งทางการเงินของ BBL KBank SCB KTB และ BAY สะท้อนถึงเครือข่ายธุรกิจที่แข็งแกร่งในประเทศไทยและฐานลูกค้าขนาดใหญ่ ซึ่งน่าจะเป็นปัจจัยสนับสนุนให้ธนาคารทั้ง 5 แห่งมีผลการดำเนินงานที่ดีกว่าภาคอุตสาหกรรมธนาคารในระยะปานกลาง อัตรากำไรและคุณภาพสินทรัพย์ของธนาคารพาณิชย์ไทยโดยรวมเผชิญกับแรงกดดันอย่างต่อเนื่องจากสภาวะแวดล้อมในการดำเนินงานที่อ่อนแอจนถึงปี 2560 และส่งผลให้อัตราส่วนทางการเงินในด้านคุณภาพสินทรัพย์ของธนาคารทั้ง 5 แห่งปรับตัวอ่อนแอลงเมื่อเทียบกับธนาคารพาณิชย์กลุ่มเดียวกันในต่างประเทศ (global peers) แต่อย่างไรก็ตามฟิทช์คาดว่าแรงกดดันดังกล่าวน่าจะเริ่มทยอยปรับตัวลดลงในช่วงปี 2561 เนื่องจากแนวโน้มของสภาวะเศรษฐกิจที่ปรับตัวดีขึ้น อีกทั้งธนาคารได้เพิ่มความเข้มงวดในเกณฑ์การพิจารณาสินเชื่อขึ้นมาอย่างต่อเนื่องในช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมา

BBL มีเครือข่ายทางธุรกิจในประเทศที่แข็งแกร่ง โดยเฉพาะในด้านลูกค้าธุรกิจขนาดใหญ่และลูกค้าธุรกิจต่างประเทศ อันดับความแข็งแกร่งทางการเงินของ BBL สะท้อนถึงเครือข่ายธุรกิจในประเทศที่แข็งแกร่งและฐานะเงินกองทุนที่แข็งแกร่งของธนาคาร อีกทั้งยังสะท้อนถึงระดับความเสี่ยงที่ยอมรับได้ (risk appetite) ของ BBLที่ต่ำกว่าและการบริหารจัดการในด้านการระดมเงินและสภาพคล่อง (funding and liquidity) ที่ระมัดระวังกว่า เมื่อเทียบกับธนาคารพาณิชย์ในประเทศ ซึ่งสะท้อนได้จากการที่ธนาคารมีอัตราส่วนเงินฝากต่อสินเชื่อในระดับที่ต่ำกว่าธนาคารอื่นอย่างต่อเนื่องและมีสัดส่วนสินทรัพย์สภาพคล่องในระดับสูง BBL มีอัตรากำไรที่ต่ำกว่าเมื่อเทียบกับธนาคารพาณิชย์ขนาดใหญ่ในประเทศ ฟิทช์คาดว่าการเพิ่มขึ้นของสินเชื่อที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (NPL) น่าจะอยู่ในระดับที่บริหารจัดการได้ ในขณะที่อัตราส่วนสำรองหนี้สูญต่อสินเชื่อที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ของธนาคารที่ยังคงอยู่ในระดับที่สูง (160% ณ สิ้นปี 2560) และฐานะเงินกองทุนที่แข็งแกร่ง น่าจะช่วยรองรับผลกระทบจากการชะลอตัวของเศรษฐกิจในระดับที่มากกว่าคาดการณ์ได้

KBank มีเครือข่ายทางธุรกิจในประเทศที่แข็งแกร่ง โดยเฉพาะในด้านลูกค้าธุรกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (SME) อีกทั้งธนาคารยังมีฐานลูกค้าเงินฝากที่แข็งแกร่ง ซึ่งเป็นปัจจัยช่วยลดความเสี่ยงด้านการระดมเงินและสภาพคล่อง อีกทั้งยังช่วยให้ธนาคารมีต้นทุนทางการเงินที่ค่อนข้างต่ำ KBank มีอัตรากำไรและฐานะเงินกองทุนที่แข็งแกร่งกว่าธนาคารพาณิชย์ในประเทศส่วนใหญ่ ในขณะที่ธนาคารมีระดับความเสี่ยงที่ยอมรับได้ที่ต่ำกว่าเช่นกัน ฟิทช์คาดว่าอัตรากำไรและฐานะเงินกองทุนจะปรับตัวมีเสถียรภาพมากขึ้นในปี 2561 จากสภาวะแวดล้อมในการดำเนินงานที่เริ่มปรับตัวดีขึ้นนอกจากนี้ KBank ยังมีความสามารถในการรองรับความเสี่ยงที่แข็งแกร่งขึ้น ในด้าน ระดับของสำรองหนี้สูญ (loan loss reserve) และฐานะเงินกองทุน ซึ่งน่าจะช่วยให้ธนาคารสามารถรับมือกับความเสี่ยงที่อาจเกิดขึ้นในระดับที่มากกว่าคาดการณ์ โดยรวมถึงความเสี่ยงในด้านคุณภาพสินทรัพย์ ซึ่งคล้ายกับธนาคารอื่นในประเทศไทยที่คุณภาพสินทรัพย์ของธนาคารยังคงอยู่ในระดับที่ไม่ดีนัก แต่อย่างไรก็ตามคุณภาพสินทรัพย์มีแนวโน้มที่จะปรับตัวดีขึ้น

SCB มีเครือข่ายธุรกิจธนาคารครบวงจร (universal bank) ที่แข็งแกร่ง โดยเฉพาะในด้านลูกค้ารายย่อย นอกจากนี้อันดับความแข็งแกร่งทางการเงินยังสะท้อนถึงผลการดำเนินงานของ SCB ที่ค่อนข้างแข็งแกร่งเมื่อเทียบกับธนาคารพาณิชย์ในประเทศ SCB มีความสามารถในการสร้างรายได้ที่ค่อนข้างสม่ำเสมอโดยมีอัตราดอกเบี้ยสุทธิในระดับสมเหตุสมผล อีกทั้งยังมีการควบคุมต้นทุนที่ค่อนข้างดี ฟิทช์มองว่า SCB มีระดับความเสี่ยงที่ยอมรับได้ในระดับที่สูงกว่าเมื่อเทียบกันธนาคารพาณิชย์ขนาดใหญ่และมีความเสี่ยงจากการกระจุกตัวของสินเชื่อ แต่อย่างไรก็ตามธนาคารมีความสามารถในการบริหารจัดการและควบคุมความเสี่ยงดังกล่าวในระดับที่สมเหตุสมผล และธนาคารยังคงสามารถรักษาอัตราส่วนด้านคุณภาพสินทรัพย์ให้อยู่ในระดับที่ยอมรับได้ แม้ว่าจะเผชิญกับแรงกดดันที่สูงขึ้นในช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมา นอกจากนี้ฟิทช์ยังคาดว่า SCB น่าจะยังคงสามารถรักษาระดับรายได้ อัตราส่วนสำรองหนี้สูญต่อสินเชื่อที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้และฐานะเงินกองทุนให้อยู่ในระดับที่เหมาะสมได้อย่างต่อเนื่อง และทั้ง 3 ปัจจัยดังกล่าวกันน่าจะช่วยให้ธนาคารสามารถรับมือกับความเสี่ยงได้ในระดับหนึ่ง

อันดับความแข็งแกร่งทางการเงินของ KTB อยู่ต่ำกว่าอันดับความแข็งแกร่งทางการเงินของ BBL KBank และ SCB อยู่ 2 อันดับ ซึ่งสะท้อนถึงฐานะทางการเงินโดยรวมที่ด้อยกว่าโดยเฉพาะในด้านฐานะเงินกองทุน อีกทั้ง KTB (ซึ่งเป็นธนาคารที่ภาครัฐถือหุ้นในสัดส่วน 55%) มีระดับความเสี่ยงที่ยอมรับได้สูงกว่าธนาคารขนาดใหญ่ที่มีสถานะเป็น D-SIB รายอื่น ซึ่งน่าจะเป็นปัจจัยที่ส่งผลให้ธนาคารมีคุณภาพสินทรัพย์ที่ด้อยกว่า แม้ KTB ยังคงมีความเสี่ยงในด้านคุณภาพสินทรัพย์ แต่อย่างไรก็ตามฟิทช์เชื่อว่าความเสี่ยงดังกล่าวยังคงอยู่ในระดับที่บริหารจัดการได้ จากการที่ KTB ได้เพิ่มความระมัดระวังในการพิจารณาสินเชื่อในช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมา ประกอบกับสภาวะแวดล้อมในการดำเนินงานที่เริ่มปรับตัวไปในทิศทางที่ดีขึ้น ฟิทช์คาดว่าผลประกอบการโดยรวมของ KTB น่าจะยังคงด้อยกว่าธนาคาร D-SIB รายอื่น ดังนั้นฐานะเงินกองทุนของ KTB น่าจะยังคงอยู่ในระดับที่ต่ำกว่าเมื่อเทียบกับธนาคาร D-SIB ในประเทศ เนื่องจากกำไรสะสมที่น่าจะเติบโตช้ากว่า

BAY มีอันดับความแข็งแกร่งทางการเงินต่ำกว่า BBL KBank และ SCB อยู่ 1 อันดับ สะท้อนถึงเครือข่ายธุรกิจในประเทศที่เล็กกว่าและความแข็งแกร่งทางการเงินโดยรวมที่ด้อยกว่าเมื่อเทียบกันธนาคารพาณิชย์ในประเทศที่มีขนาดใหญ่กว่า ในด้านฐานะเงินกองทุนและอัตรากำไร รวมถึงระดับความเสี่ยงที่ยอมรับที่สูงกว่า BAY มีการเติบโตของธุรกิจในระดับที่สูงเมื่อเทียบธนาคารพาณิชย์ในประเทศ ในขณะที่โครงสร้างธุรกิจมีการกระจายตัวมากขึ้น เนื่องจากธนาคารมีความแข็งแกร่งทางการตลาดในด้านสินเชื่อบุคคลและสินเชื่อธุรกิจกลุ่มบริษัทญี่ปุ่น อัตราส่วนทางการเงินในด้านกำไรโดยรวมมีการปรับตัวดีขึ้นในช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมา แต่ยังคงอยู่ในระดับที่ต่ำกว่าเมื่อเทียบกับผู้นำในภาคอุตสาหกรรมธนาคารในประเทศ MUFG Bank เข้ามาเป็นผู้ถือหุ้นใหญ่ใน BAY ตั้งแต่ปี 2556 และเริ่มได้ดำเนินการเชื่อมโยงและผสานการดำเนินงาน (integration) ของ BAY เข้ากับทางกลุ่มในระดับที่สูงขึ้นมาอย่างต่อเนื่อง โดยธนาคารแม่ให้การสนับสนุนในการดำเนินงานปรกติ (ordinary support) ที่สำคัญ เช่น การระดมเงินและการบริหารจัดการ

ปัจจัยสนับสนุนอันดับเครดิต – อันดับเครดิตสนับสนุน (Support Rating) และ อันดับเครดิตสนับสนุนขั้นต่ำ

อันดับเครดิตสนับสนุนและอันดับเครดิตสนับสนุนขั้นต่ำของ BBL KBank SCB และ KTB สะท้อนถึงการที่ธนาคารพาณิชย์ทั้ง 4 แห่งมีความสำคัญต่อระบบเศรษฐกิจและการเงินของประเทศไทย ซึ่งสะท้อนได้จากการที่ธนาคารแต่ละแห่งมีส่วนแบ่งทางการตลาดในด้านเงินฝากมากกว่า 14% ของระบบธนาคารพาณิชย์ อันดับเครดิตสนับสนุนขั้นต่ำของ KTB ที่ 'BBB' อยู่สูงกว่าธนาคารพาณิชย์อีก 3 แห่ง 1 อันดับ เนื่องจาก KTB ไม่เพียงแต่มีความสำคัญต่อระบบเศรษฐกิจและการเงินของประเทศเท่านั้น แต่ KTB ยังมีความสำคัญในเชิงกลยุทย์ต่อรัฐบาลไทย โดย KTB เป็นธนาคารพาณิชย์แห่งเดียวที่รัฐบาลเป็นผู้ถือหุ้นส่วนใหญ่ ทั้งยังมีความใกล้ชิดในการดำเนินงานกับกระทรวงการคลังและธนาคารยังใช้สัญลักษณ์ทางการค้าที่มีลักษณะใกล้เคียงกับสัญลักษณ์ของกระทรวงการคลัง

อันดับเครดิตสนับสนุนของ BAY สะท้อนถึงมุมมองของฟิทช์ว่ามีความเป็นไปได้สูงมากที่ BAY จะได้รับการสนับสนุนเป็นพิเศษที่นอกเหนือจากการสนับสนุนในด้านการดำเนินงานปรกติจาก MUFG Bank แม้ว่า BAY จะมีสถานะเป็นธนาคาร D-SIB แต่ฟิทช์ไม่ได้ให้อันดับเครดิตสนับสนุนขั้นต่ำแก่ธนาคาร เนื่องจากอันดับเครดิตของ BAY พิจารณาจากการสนับสนุนจากผู้ถือหุ้นที่เป็นสถาบันการเงิน

ปัจจัยสนับสนุนอันดับเครดิต – หุ้นกู้ด้อยสิทธิ

หุ้นกู้ด้อยสิทธิที่นับเป็นเงินกองทุนชั้นที่ 2 (ที่ไม่เข้าเกณฑ์บาเซล 3) ของ BBL และ SCB มีอันดับเครดิตที่ต่ำกว่าอันดับเครดิตอันดับเครดิตสากลสกุลเงินต่างประเทศระยะยาว หรือ อันดับเครดิตภายในประเทศระยะยาวอยู่ 1 อันดับ เพื่อสะท้อนสถานะด้อยสิทธิตามโครงสร้างเงินทุนเมื่อเทียบกับอันดับเครดิตหุ้นกู้ไม่ด้อยสิทธิไม่มีหลักประกัน ซึ่งสอดคล้องกับหลักเกณฑ์ของฟิทช์ในการจัดอันดับเครดิตตราสารประเภทดังกล่าว

อันดับเครดิตของหุ้นกู้ด้อยสิทธิสกุลเงินบาทที่นับเป็นเงินกองทุนชั้นที่ 2 ตามเกณฑ์บาเซล 3 ของ KBank BAY และ KTB ได้รับการจัดอันดับให้อยู่ต่ำกว่าอันดับเครดิตภายในประเทศระยะยาวอยู่ 1 อันดับ ซึ่งสะท้อนถึงการที่หุ้นกู้ดังกล่าวไม่มีคุณสมบัติในการรองรับผลขาดทุนในลักษณะที่เป็นการบังคับตัดเป็นหนี้สูญทั้งจำนวน (mandatory full write-down) และความเสี่ยงของการขาดทุนจากการชำระคืนเงินกู้ (loss severity risk) ที่มากกว่าเมื่อเทียบกับตราสารหนี้ที่ไม่ด้อยสิทธิเนื่องจากหุ้นกู้ดังกล่าวมีสถานะด้อยสิทธิ อันดับเครดิตของหุ้นกู้ดังกล่าวไม่ได้ถูกปรับลดอันดับเพิ่มเติมเพื่อสะท้อนถึงความเสี่ยงที่ผู้ถือหุ้นกู้จะไม่ได้รับผลตอบแทนตามที่คาดการณ์ (non-performance risk) เนื่องจากหุ้นกู้ด้อยสิทธิดังกล่าวไม่มีคุณสมบัติรองรับผลขาดทุนระหว่างการดำเนินกิจการ (going-concern loss absorption)

อันดับเครดิตของหุ้นกู้ด้อยสิทธิที่นับเป็นเงินกองทุนชั้นที่ 2 ตามเกณฑ์บาเซล 3 สกุลเงินเหรียญสหรัฐฯ ของ KTB ได้รับการจัดอันดับให้อยู่ต่ำกว่าอันดับเครดิตสากลสกุลเงินต่างประเทศระยะยาวของธนาคารอยู่ 1 อันดับ ทั้งนี้แนวทางในการพิจารณาอันดับเครดิตหุ้นกู้ด้อยสิทธิดังกล่าวฟิทช์ใช้อันดับเครดิตสากลสกุลเงินต่างประเทศที่สะท้อนถึงโอกาสที่ KTB จะได้รับการสนับสนุนจากภาครัฐ (support driven) เป็นอันดับเครดิตที่ใช้อ้างอิง (anchor rating) ในการจัดอันดับแทนที่จะใช้อันดับความแข็งแกร่งทางการเงินของธนาคาร เนื่องจากฟิทช์มองว่าภาครัฐน่าจะให้การช่วยเหลือเพื่อป้องกันมิให้ธนาคารมีผลการดำเนินงานที่ไม่สามารถดำเนินกิจการต่อไปได้ (non-viability) ในขณะที่อันดับเครดิตของหุ้นกู้ดังกล่าวที่อยู่ต่ำกว่าอันดับเครดิตอ้างอิงอยู่ 1 อันดับ สะท้อนถึงสถานะด้อยสิทธิ การรองรับผลขาดทุนในลักษณะการตัดเป็นหนี้สูญบางส่วน (partial write-down) โดยไม่มีการบังคับตัดหนี้สูญทั้งจำนวน และการไม่มีคุณสมบัติที่สามารถรองรับผลขาดทุนระหว่างการดำเนินกิจการ

ปัจจัยที่อาจมีผลต่ออันดับเครดิตในอนาคต – อันดับเครดิตสากลสกุลเงินต่างประเทศ อันดับเครดิตภายในประเทศ และอันดับเครดิตหุ้นกู้ไม่ด้อยสิทธิ

อันดับเครดิตสากลสกุลเงินต่างประเทศ อันดับเครดิตภายในประเทศ และอันดับเครดิตหุ้นกู้ไม่ด้อยสิทธิของ BBL KBank และ SCB จะได้รับผลกระทบในทิศทางเดียวกันกับการเปลี่ยนแปลงของระดับความแข็งแกร่งทางการเงินของธนาคาร

อันดับเครดิตสากลสกุลเงินต่างประเทศ อันดับเครดิตภายในประเทศและอันดับเครดิตหุ้นกู้ไม่ด้อยสิทธิของ KTB อาจได้รับผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงของอันดับเครดิตสนับสนุนขั้นต่ำ ซึ่งอันดับเครดิตสนับสนุนขั้นต่ำนั้นสะท้อนถึงมุมมองของฟิทช์ต่อความสามารถของภาครัฐในการให้การสนับสนุนและโอกาสที่รัฐจะให้ความช่วยเหลือได้อย่างทันท่วงที

อันดับเครดิตสากลสกุลเงินต่างประเทศ อันดับเครดิตภายในประเทศ และอันดับเครดิตของหุ้นกู้ไม่ด้อยสิทธิของ BAY อาจเปลี่ยนแปลงได้จากการเปลี่ยนแปลงของสมมติฐานของฟิทช์ต่อความสามารถหรือโอกาสที่ MUFG Bank จะให้การสนับสนุนแก่ BAY อันดับเครดิตสากลสกุลเงินต่างประเทศของ BAY อยู่ในระดับเดียวกับเพดานอันดับเครดิตของประเทศไทย (Country Ceiling) และอันดับเครดิตภายในประเทศก็อยู่ในระดับที่สูงสุดแล้ว ดังนั้นจึงไม่มีโอกาสที่จะได้รับการปรับเพิ่มอันดับ อันดับเครดิตของ BAY อาจได้รับผลกระทบในเชิงลบหากอันดับเครดิตของ MUFG Bank ถูกปรับลดอันดับ หรือความสำคัญในเชิงกลยุทธ์ของ BAY ต่อ MUFG Bank ลดลง

อันดับเครดิตภายในประเทศของ บล.กสิกรไทย และ บล.ไทยพาณิชย์ จะได้รับผลกระทบในทิศทางเดียวกันกับการเปลี่ยนแปลงอันดับเครดิตภายในประเทศของธนาคารแม่ อีกทั้งยังอาจได้รับผละกระทบจากการเปลี่ยนแปลงมุมมองของฟิทช์เกี่ยวกับโอกาสในการที่ KBank และ SCB จะให้การสนับสนุนกับบริษัทลูก เช่น หากมีการลดการถือหุ้นในบริษัทลูกอย่างมากหรือมีการลดของระดับความใกล้ชิดหรือความเชื่อมโยงในด้านการดำเนินงานและการบริหารงาน อย่างไรก็ตามฟิทช์มองว่าเหตุการณ์ดังกล่าวไม่น่าจะเกิดขึ้นในระยะปานกลาง

ปัจจัยที่อาจมีผลต่ออันดับเครดิตในอนาคต – อันดับความแข็งแกร่งทางการเงิน

โอกาสที่อันดับความแข็งแกร่งทางการเงินของ BBL KBank และ SCB จะได้รับการปรับเพิ่มอันดับไม่น่าจะเกิดขึ้นในระยะสั้น เนื่องจากอันดับเครดิตของธนาคารทั้ง 3 แห่งอยู่ในระดับเดียวกับอันดับเครดิตสากลสกุลเงินต่างประเทศระยะยาวของประเทศไทย (BBB+/แนวโน้มอันดับเครดิตมีเสถียรภาพ) และยังมีสัดส่วนเงินลงทุนในพันธบัตรรัฐบาลในระดับสูง ในขณะที่การปรับลดอันดับเครดิตสากลสกุลเงินต่างประเทศระยะยาวของประเทศไทยน่าจะส่งผลให้อันดับความแข็งแกร่งทางการเงินของ BBL KBank และ SCB ถูกปรับลดอันดับเช่นกัน สำหรับธนาคารทั้ง 3 แห่ง การปรับตัวแย่ลงของคุณภาพสินทรัพย์และอัตรากำไรอย่างต่อเนื่องและมากกว่าระดับที่ฟิทช์คาดการณ์ในด้านคุณภาพสินทรัพย์หรือความสามารถในการทำกำไร (ทั้งนี้รวมถึงการปรับตัวเพิ่มขึ้นอย่างมากของระดับความเสี่ยงที่ยอมรับได้ ซึ่งอาจจะส่งผลให้ปัจจัยทั้ง 2 ปรับตัวลดลงอย่างมากได้ในอนาคต) พร้อมกับการที่ธนาคารไม่สามารถรักษาความสามารถในการรองรับความเสี่ยงไว้ในระดับที่เพียงพอ ในด้าน ระดับของสำรองหนี้สูญและฐานะเงินกองทุน อาจส่งผลให้ธนาคารถูกปรับลดอันดับความแข็งแกร่งทางการเงินได้

การเปลี่ยนแปลงของฐานะเงินกองทุนเป็นปัจจัยหลักที่จะส่งผลกระทบต่ออันดับความแข็งแกร่งทางการเงินของ KTB ฟิทช์อาจปรับลดอันดับเครดิตของ KTB หากธนาคารมีความเสี่ยงในด้านคุณภาพสินทรัพย์เพิ่มขึ้นและมีอัตราส่วนเงินกองทุนต่อสินทรัพย์เสี่ยงที่ลดลงต่ำกว่าธนาคารอื่นในกลุ่ม 'bbb-' ทั้งนี้เหตุการณ์ดังกล่าวอาจเกิดขึ้นได้จากการที่ KTB มีการเติบโตของสินเชื่อที่เกี่ยวข้องกับนโยบายรัฐในระดับสูงขึ้น และส่งผลให้คุณภาพสินทรัพย์ของธนาคารปรับตัวแย่ลงอย่างรวดเร็ว ในทางกลับกันอาจมีการปรับเพิ่มอันดับความแข็งแกร่งทางการเงิน หากคุณภาพสินทรัพย์และฐานะเงินกองทุนของธนาคารปรับตัวดีขึ้นอย่างมีนัยสำคัญเป็นระยะเวลาต่อเนื่อง และอัตราส่วนทางการเงินอื่นโดยรวมยังคงอยู่ในระดับที่มีเสถียรภาพ

อันดับความแข็งแกร่งทางการเงินของ BAY อาจได้รับการปรับเพิ่มอันดับหากการร่วมมือและผสานการดำเนินงานของ BAY กับ MUFG Bank ส่งผลให้ธนาคารมีเครือข่ายธุรกิจในประเทศที่แข็งแกร่งมากเพิ่มขึ้น ประกอบกับการที่ธนาคารมีฐานะเงินกองทุนที่แข็งแกร่งขึ้นโดยที่ความเสี่ยงที่ธนาคารยอมรับได้ไม่มีการเปลี่ยนแปลง ในทางกลับกันอันดับความแข็งแกร่งทางการเงินของ BAY อาจถูกปรับลดอันดับหากคุณภาพสินทรัพย์และความสามารถในการทำกำไร หรือความสามารถในการรองรับความเสี่ยงในด้านสภาพคล่อง มีการปรับตัวลดลงอย่างมีนัยสำคัญและต่อเนื่อง

ปัจจัยที่อาจมีผลต่ออันดับเครดิตในอนาคต – อันดับเครดิตสนับสนุนและอันดับเครดิตสนับสนุนขั้นต่ำ

ฟิทช์อาจต้องทบทวนการประเมินอันดับเครดิตสนับสนุนขั้นต่ำของ BBL KBank และ SCB ใหม่ หากมีการเปลี่ยนแปลงในความสามารถของรัฐบาลในการให้การสนับสนุนแก่ธนาคารพาณิชย์ เหตุการณ์ดังกล่าวอาจเกิดขึ้นได้จากการที่อันดับเครดิตสากลสกุลเงินต่างประเทศระยะยาวของประเทศไทยถูกปรับลดอันดับลง อันดับเครดิตสนับสนุนขั้นต่ำของ KTB จะเปลี่ยนแปลงไปในทิศทางเดียวกันกับอันดับเครดิตสากลสกุลเงินต่างประเทศระยะยาวของประเทศไทย

นอกจากนี้การเปลี่ยนแปลงในมุมมองของฟิทช์ต่อแนวโน้มที่รัฐบาลจะให้การสนับสนุนแก่ธนาคารพาณิชย์ที่มีความสำคัญต่อระบบเศรษฐกิจและการเงินของประเทศไทย อาจส่งผลให้มีการเปลี่ยนแปลงอันดับเครดิตสนับสนุนและอันดับเครดิตสนับสนุนขั้นต่ำของธนาคารพาณิชย์ทั้ง 4 แห่ง อย่างไรก็ตามฟิทช์มองว่าเหตุการณ์ดังกล่าวไม่น่าจะเกิดขึ้นในระยะปานกลาง

อันดับเครดิตสนับสนุนของ BAY ที่ '1' อาจได้รับผลกระทบเชิงลบจากการลดลงของโอกาสที่ MUFG Bank จะให้การสนับสนุนแก่ BAY ทั้งนี้อาจสะท้อนได้จากการปรับลดสัดส่วนการถือหุ้นลงอย่างมีนัยสำคัญหรือการลดลงของการเชื่อมโยงในการดำเนินงาน เป็นต้น อย่างไรก็ตามฟิทช์เชื่อว่าเหตุการณ์ดังกล่าวไม่น่าจะเกิดขึ้นในระยะสั้น อันดับเครดิตสนับสนุนของ BAY อาจได้รับผลกระทบจากการปรับลดอันดับเครดิตสากลสกุลเงินต่างประเทศระยะยาวของ MUFG Bank ได้เช่นกัน

ปัจจัยที่อาจมีผลต่ออันดับเครดิตในอนาคต – หุ้นกู้ด้อยสิทธิ

อันดับเครดิตของหุ้นกู้ด้อยสิทธิของธนาคารพาณิชย์แต่ละแห่งทั้ง 5 ธนาคาร จะได้รับผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงในอันดับเครดิตอ้างอิงของตราสารนั้นๆ

รายละเอียดของอันดับเครดิตทั้งหมดมีดังนี้

BBL:

- อันดับเครดิตสากลสกุลเงินต่างประเทศระยะยาว คงอันดับที่ 'BBB+'; แนวโน้มอันดับเครดิตมีเสถียรภาพ

- อันดับเครดิตสากลสกุลเงินต่างประเทศระยะสั้น คงอันดับที่ 'F2'

- อันดับความเข็งแกร่งทางการเงิน คงอันดับที่ 'bbb+'

- อันดับเครดิตสนับสนุน คงอันดับที่ '2'

- อันดับเครดิตสนับสนุนขั้นต่ำคงอันดับที่ 'BBB-'

- อันดับเครดิตภายในประเทศระยะยาว คงอันดับที่ 'AA+(tha)'; แนวโน้มอันดับเครดิตมีเสถียรภาพ

- อันดับเครดิตภายในประเทศระยะสั้น คงอันดับที่ 'F1+(tha)'

- อันดับเครดิตสากลสกุลเงินต่างประเทศระยะยาวของโครงการหุ้นกู้ Global Medium Term Note ประเภทไม่ด้อยสิทธิ ไม่มีหลักประกัน มูลค่า 3 พันล้านเหรียญสหรัฐฯ คงอันดับเครดิตที่ 'BBB+'

- อันดับเครดิตสากลสกุลเงินต่างประเทศระยะยาวของหุ้นกู้ ไม่ด้อยสิทธิ ไม่มีหลักประกัน คงอันดับที่ 'BBB+'

- อันดับเครดิตสากลสกุลเงินต่างประเทศระยะยาวของหุ้นกู้ด้อยสิทธิ คงอันดับที่ 'BBB'

KBank:

- อันดับเครดิตสากลสกุลเงินต่างประเทศระยะยาว คงอันดับที่ 'BBB+'; แนวโน้มอันดับเครดิตมีเสถียรภาพ

- อันดับเครดิตสากลสกุลเงินต่างประเทศระยะสั้น คงอันดับที่ 'F2'

- อันดับความแข็งแกร่งทางการเงิน คงอันดับที่ 'bbb+'

- อันดับเครดิตสนับสนุน คงอันดับที่ '2'

- อันดับเครดิตสนับสนุนขั้นต่ำคงอันดับที่ 'BBB-'

- อันดับเครดิตภายในประเทศระยะยาว คงอันดับที่ 'AA+(tha)'; แนวโน้มอันดับเครดิตมีเสถียรภาพ

- อันดับเครดิตภายในประเทศระยะสั้น คงอันดับที่ 'F1+(tha)'

- อันดับเครดิตสากลสกุลเงินต่างประเทศระยะยาวของโครงการหุ้นกู้ Euro Medium-Term Note ประเภทไม่ด้อยสิทธิ ไม่มีหลักประกัน มูลค่ารวม 2.5 พันล้านเหรียญสหรัฐฯ คงอันดับเครดิตที่ 'BBB+'

- อันดับเครดิตสากลสกุลเงินต่างประเทศระยะยาวของหุ้นกู้ ไม่ด้อยสิทธิ ไม่มีหลักประกัน คงอันดับที่ 'BBB+'

- อันดับเครดิตภายในประเทศระยะยาวของหุ้นกู้ด้อยสิทธิที่นับเป็นเงินกองทุนชั้นที่ 2 (ตามเกณฑ์บาเซล 3) คงอันดับที่ 'AA(tha)'

SCB:

- อันดับเครดิตสากลสกุลเงินต่างประเทศระยะยาว คงอันดับที่ 'BBB+'; แนวโน้มอันดับเครดิตมีเสถียรภาพ

- อันดับเครดิตสากลสกุลเงินต่างประเทศระยะสั้น คงอันดับที่ 'F2'

- อันดับความเข็งแกร่งทางการเงิน คงอันดับที่ 'bbb+'

- อันดับเครดิตสนับสนุน คงอันดับที่ '2'

- อันดับเครดิตสนับสนุนขั้นต่ำคงอันดับที่ 'BBB-'

- อันดับเครดิตภายในประเทศระยะยาว คงอันดับที่ 'AA+(tha)'; แนวโน้มอันดับเครดิตมีเสถียรภาพ

- อันดับเครดิตภายในประเทศระยะสั้น คงอันดับที่ 'F1+(tha)'

- อันดับเครดิตสากลสกุลเงินต่างประเทศระยะยาวของโครงการหุ้นกู้ Medium-Term Note ประเภทไม่ด้อยสิทธิ ไม่มีหลักประกัน มูลค่ารวม 3.5 พันล้านเหรียญสหรัฐฯ คงอันดับเครดิตที่ 'BBB+'

- อันดับเครดิตสากลสกุลเงินต่างประเทศระยะยาวของหุ้นกู้ ไม่ด้อยสิทธิ ไม่มีหลักประกัน คงอันดับที่ 'BBB+'

- อันดับเครดิตภายในประเทศของหุ้นกู้ระยะสั้น ไม่ด้อยสิทธิ ไม่มีหลักประกัน คงอันดับที่ 'F1+(tha)'

- อันดับเครดิตภายในประเทศระยะยาวของหุ้นกู้ด้อยสิทธิ คงอันดับที่ 'AA(tha)'

KTB:

- อันดับเครดิตสากลสกุลเงินต่างประเทศระยะยาว คงอันดับที่ 'BBB'; แนวโน้มอันดับเครดิตมีเสถียรภาพ

- อันดับเครดิตสากลสกุลเงินต่างประเทศระยะสั้น ปรับเพิ่มอันดับเป็น 'F2' จาก 'F3'

- อันดับเครดิตความแข็งแกร่งทางการเงิน คงอันดับที่ 'bbb-'

- อันดับเครดิตสนับสนุน คงอันดับที่ '2'

- อันดับเครดิตสนับสนุนขั้นต่ำ คงอันดับที่ 'BBB'

- อันดับเครดิตภายในประเทศระยะยาว คงอันดับที่ 'AA+(tha)'; แนวโน้มอันดับเครดิตมีเสถียรภาพ

- อันดับเครดิตภายในประเทศระยะสั้น คงอันดับที่ 'F1+(tha)'

- อันดับเครดิตสากลสกุลเงินต่างประเทศระยะยาวของโครงการห้นกู้ Euro Medium-Term Note ประเภทไม่ด้อยสิทธิ ไม่มีหลักประกัน มูลค่า 2.5 พันล้านเหรียญสหรัฐ คงอันดับที่ 'BBB'

- อันดับเครดิตสกุลเงินต่างประเทศระยะยาวของหุ้นกู้ไม่ด้อยสิทธิ ไม่มีหลักประกัน คงอันดับที่ 'BBB'

- อันดับเครดิตสากลสกุลเงินต่างประเทศระยะยาวของหุ้นกู้ด้อยสิทธิ ไม่มีหลักประกันสกุลเงินเหรียญสหรัฐฯ ที่นับเป็นเงินกองทุนชั้นที่ 2 (ตามเกณฑ์บาเซล 3) คงอันดับที่ 'BBB-'

- อันดับเครดิตภายในประเทศระยะยาวของโครงการห้นกู้ระยะสั้น มูลค่า 2 หมื่นล้านบาท คงอันดับที่ 'F1+(tha)'

- อันดับเครดิตภายในประเทศระยะยาวของหุ้นกู้ด้อยสิทธิที่นับเป็นเงินกองทุนชั้นที่ 2 (ตามเกณฑ์บาเซล 3) คงอันดับที่ 'AA(tha)'

BAY

- อันดับเครดิตสากลสกุลเงินต่างประเทศระยะยาวคงอันดับเครดิตที่ 'A-'; แนวโน้มอันดับเครดิตมีเสถียรภาพ

- อันดับเครดิตสากลสกุลเงินต่างประเทศระยะสั้น คงอันดับเครดิตที่ 'F2'

- อันดับความแข็งแกร่งทางการเงิน คงอันดับเครดิตที่ 'bbb'

- อันดับเครดิตสนับสนุน คงอันดับเครดิตที่ '1'

- อันดับเครดิตภายในประเทศระยะยาว คงอันดับเครดิตที่ 'AAA(tha)'; แนวโน้มอันดับเครดิตมีเสถียรภาพ

- อันดับเครดิตภายในประเทศระยะสั้น คงอันดับเครดิตที่ 'F1+(tha)'

- อันดับเครดิตภายในประเทศของหุ้นกู้ไม่ด้อยสิทธิไม่มีหลักประกัน คงอันดับเครดิตที่ 'AAA(tha)'

- อันดับเครดิตภายในประเทศของหุ้นกู้ด้อยสิทธิที่นับเป็นเงินกองทุนชั้นที่ 2 (ตามเกณฑ์บาเซล 3) คงอันดับที่ 'AA+(tha)'

บล.กสิกรไทย:

- อันดับเครดิตภายในประเทศระยะยาว คงอันดับที่ 'AA(tha)'; แนวโน้มอันดับเครดิตมีเสถียรภาพ

- อันดับเครดิตภายในประเทศระยะสั้น คงอันดับที่ 'F1+(tha)'

บล.ไทยพาณิชย์:

- อันดับเครดิตภายในประเทศระยะยาว คงอันดับที่ 'AA(tha)'; แนวโน้มอันดับเครดิตมีเสถียรภาพ

- อันดับเครดิตภายในประเทศระยะสั้น คงอันดับที่ 'F1+(tha)'

ข่าวประชาสัมพันธ์ล่าสุด

๑๗:๐๒ บิทูเมน มารีน บริษัทลูก TASCO ลงนามสัญญาต่อเรือขนส่งยางมะตอย เสริมศักยภาพกองเรือ
๑๗:๓๓ รมว.เกษตรฯ ลุยร้อยเอ็ด ผลักดันโครงการพัฒนาแหล่งน้ำ 3 แห่ง
๑๗:๔๔ กูรูหุ้นเชียร์ซื้อ PSP เคาะเป้าราคาสูงสุด 8 บ./หุ้น ยอดขายพุ่ง-หนี้ลด ดันกำไรปี 67 ออลไทม์ไฮ ดีล MA สร้าง New S-Curve
๑๗:๔๒ ข้าวกล้อง-จักรีภัทร พร้อมเต็มร้อย! ประเดิม จูเนียร์จีพี สนามแรก ประเทศอิตาลี
๑๗:๑๕ กรมประมงขอเชิญร่วมแข่งขันตกปลาชะโด
๑๗:๑๕ เชลล์ดอน การ์ตูนดังร่วมสาดความสนุกในเทศกาลสงกรานต์
๑๗:๒๙ สปสช. ติดปีกเทคโนโลยีไอทีด้วยคลาวด์กลางภาครัฐ GDCC ยกระดับบริการบัตรทองรวดเร็วทันสมัย ดูแลสุขภาพคนไทยยุคดิจิทัล
๑๗:๑๐ GSK ร่วมงาน Re-imagining UK Aging Care Event ของสถานทูตอังกฤษ มุ่งสร้างเสริมภูมิคุ้มกันผู้สูงอายุ
๑๗:๔๓ เอส เอฟ จับมือ กปน. มอบสิทธิ์ดูฟรีรวม 1,000 ที่นั่ง เพียงใช้ MWA Point ที่ เอส เอฟ!!
๑๖:๓๖ เตรียมพร้อมนับถอยหลัง 12 ชั่วโมงสุดท้าย! ก่อนเริ่มประวัติศาสตร์ครั้งใหม่ Bitcoin Halving ครั้งที่ 4