“ณรงค์ศักดิ์ ปลอดมีชัย” ขึ้นแท่นซีอีโอ SCBAM วางเป้าหมายเป็น บลจ.ที่ได้รับความไว้วางใจสูงสุด

อังคาร ๒๑ สิงหาคม ๒๐๑๘ ๑๔:๑๒
นายณรงค์ศักดิ์ ปลอดมีชัย ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุน ไทยพาณิชย์ จำกัด หรือ SCBAM เปิดเผยถึงนโยบายการบริหารงานภายหลังรับตำแหน่งใหม่ว่าได้วางเป้าหมายให้ความสำคัญกับลูกค้าเป็นลำดับแรก โดยมีแนวทางพัฒนาการปฏิบัติทุกด้านให้เกิดประสิทธิภาพทั้งผลิตภัณฑ์ การบริการและบุคลากร เพื่อเป้าหมายในการเป็น The Most Trusted Asset Management Company หรือ บลจ.ที่ได้รับความไว้วางใจสูงสุด

สำหรับภารกิจสำคัญที่บลจ.ไทยพาณิชย์ ได้เริ่มดำเนินการมาตั้งแต่ปี 2560 คือ การสร้างผลตอบแทนที่ดีจากการบริหารกองทุนภายใต้การบริหารจัดการความเสี่ยงที่ดี ที่ผ่านมาถือว่าประสบความสำเร็จในการสร้างผลการดำเนินงานกองทุนระดับ 5 ดาวจากมอร์นิ่งสตาร์ และจะยังคงรักษาคุณภาพเช่นนี้ไว้พร้อมทั้งมุ่งมั่นที่จะขยายผลงานติดดาวไปสู่สินทรัพย์ทุกประเภท อีกทั้งยังรักษาความเป็นผู้นำนวัตกรรมในการลงทุนหลากหลายรูปแบบเพื่อเป็นทางเลือกแก่นักลงทุนที่มีความต้องการลงทุนที่ซับซ้อนมากขึ้น

"ที่ผ่านมา บลจ.ไทยพาณิชย์มีการนำระบบปัญญาประดิษฐ์หรือ AI เข้ามาใช้ในการบริหารจัดการกองทุนเป็น บลจ.แรก เพื่อช่วยเพิ่มศักยภาพในการวิเคราะห์ข้อมูลเชิงลึกจำนวนมหาศาลได้อย่างครอบคลุมและรวดเร็ว อีกทั้งช่วยลดข้อผิดพลาดและการมีอคติของมนุษย์ได้ ระบบ AI ยังมีการเรียนรู้และพัฒนาตนเองเมื่อเจอสถานการณ์รูปแบบต่าง ๆ และสภาพตลาดที่มีการเปลี่ยนแปลงตลอดเวลา นอกจากนี้กระบวนการคัดเลือกหุ้นโดย AI ยังมีศักยภาพที่จะพัฒนากรอบการลงทุนให้กว้างขึ้นไปสู่สินทรัพย์อื่นทั่วโลก ในอนาคตจะต่อยอดไปถึงการนำระบบ AI มาใช้กับการบริหารกองทุนระยะยาวประเภท Retirement Fund อย่างไรก็ตามก็ยังให้ความสำคัญกับศักยภาพผู้จัดการกองทุนควบคู่กันไป ในส่วนกองทุนไหนที่ผู้จัดการกองทุนสามารถสร้างผลงานได้ดีอยู่แล้วก็ต้องดำเนินการต่อเพื่อให้เกิดประโยชน์สูงสุดกับลูกค้า" นายณรงค์ศักดิ์กล่าว

นอกจากการนำ AI มาประยุกต์ในการลงทุนแล้ว บลจ.ไทยพาณิชย์ยังให้ความสำคัญกับการลงทุนที่ยั่งยืน โดยการจัดตั้งกองทุนเปิดไทยพาณิชย์ หุ้นธรรมาภิบาลไทย (SCBTHAICG) โดยเน้นลงทุนในหลักทรัพย์ของบริษัทจดทะเบียนที่มีความใส่ใจในสิ่งแวดล้อม สังคม ธรรมาภิบาล และมีศักยภาพในการสร้างผลตอบแทนที่ดีอย่างยั่งยืนในระยะยาว โดยมองว่า Theme การลงทุนอย่างยั่งยืนเป็นรูปแบบการลงทุนที่กำลังนิยมเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วในกลุ่มนักลงทุนทั่วโลกโดยเฉพาะในกลุ่มคนรุ่นใหม่ซึ่งมีอัตราการขยายตัวสูงกว่า 20% ในช่วงที่ผ่านมา

อีกทั้งยังเน้นการพัฒนาด้านบริการเพื่อให้ลูกค้ามีความสะดวกเพิ่มมากขึ้น เช่น การเปิดบัญชีครั้งแรกผ่านช่องทางดิจิทัล เป็นการสร้างความสะดวกในการลงทุน รวมถึงมีการแนะนำกองทุนอย่างสม่ำเสมอ และการจัดพอร์ตการลงทุนที่เหมาะสมกับระดับความเสี่ยงที่ยอมรับได้ ทั้งยังรวมถึงแนะนำให้ปรับพอร์ตอย่างเหมาะสมต่อเนื่อง ภายใต้การคาดการณ์ความเสี่ยงและผลตอบแทนที่ชัดเจนเพื่อให้ลูกค้าได้รับประสบการณ์การลงทุนที่ดี

"เราได้มีการพัฒนาศักยภาพพนักงาน โดยการปรับสัดส่วนของพนักงานที่ทำหน้าที่บริหารกองทุน และพบปะลูกค้าเป็น 75% ซึ่งจากเดิมอยู่ที่ 58% เพื่อลูกค้าจะได้รับการดูแลและให้คำแนะนำอย่างใกล้ชิดในการลงทุนเพื่อนำไปสู่อิสระทางการเงินในระยะยาวอย่างแท้จริง และได้มีการวางเป้าหมายในการขยายฐานลูกค้าโดยรวมเพิ่มขึ้นจาก 3 แสนราย เป็น 1.5 ล้านราย ภายใน 3 ปี โดย 70% - 80% มาจากช่องทาง Digital บน SCB Easy" นายณรงค์ศักดิ์ กล่าว

ปัจจุบัน บลจ.ไทยพาณิชย์มีมูลค่าทรัพย์สินสุทธิภายใต้การจัดการ (AUM) ณ วันที่ 30 มิ.ย.2561 รวม 1,425,155 ล้านบาท ซึ่งยังคงเป็นอันดับ 1 ในอุตสาหกรรม ด้วยส่วนแบ่งตลาดสูงสุดที่ 20.60% เติบโตจากสิ้นปี 2560 คิดเป็นอัตรา 3.7% (AUM ณ 29 ธันวาคม 2560 รวม 1,374,870 ล้านบาท) กองทุนของบลจ.ไทยพาณิชย์ มีการเติบโตมากที่สุดในกลุ่มธุรกิจกองทุนส่วนบุคคล (Private Fund) โดยมี AUM ณ วันที่ 30 มิ.ย.2561 สูงถึง 392,984 ล้านบาท เติบโต 7.9% จากสิ้นปี 2560 ทำให้บริษัทมีส่วนแบ่งตลาดเพิ่มขึ้นเป็น 44.4% และยังครองอันดับ 1 อย่างต่อเนื่องจากปี 2557

สำหรับธุรกิจกองทุนรวม (Mutual Fund) มี AUM ณ วันที่ 30 มิ.ย. 2561 อยู่ที่ 920,422 ล้านบาท ซึ่งรวมกองทุนรวมโครงสร้างพื้นฐาน Infrastructure Fund มูลค่ารวม144,219 ล้านบาท และกองทุนรวมอสังหาริมทรัพย์ 20,126 ล้านบาท และธุรกิจกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ (Provident Fund) มี AUM ณ วันที่ 30 มิ.ย.2561 อยู่ที่ 111,748 ล้านบาท (ข้อมูลจากสมาคมบริษัทจัดการลงทุน)

สำหรับภาพรวมด้านการลงทุนทั้งในและต่างประเทศช่วงที่เหลือของปีนี้ นายณรงค์ศักดิ์ให้ความเห็นว่า การลงทุนในตลาดหุ้นยังลงทุนได้แม้ความผันผวนยังสูง โดยตลาดหุ้นพัฒนาแล้วได้รับอานิสงค์จากการบริโภคภายในประเทศและการจ้างงานที่ขยายตัวดีต่อเนื่อง นอกจากนี้ยังได้รับปัจจัยสนับสนุนเพิ่มเติมจากนโยบายการคลัง โดยเฉพาะสหรัฐฯ ที่รัฐบาลปรับลดภาษีทั้งภาษีบุคคลธรรมดาและภาษีนิติบุคคล การที่เศรษฐกิจขยายตัวดีก็จะส่งผลบวกต่อเนื่องถึงผลประกอบการบริษัทจดทะเบียนที่ขยายตัวดีกว่าคาดในช่วง 2 ไตรมาสที่ผ่านมา

สำหรับตลาดหุ้นเกิดใหม่ยังมีความผันผวนสูงและขาดปัจจัยสนับสนุน ปัจจัยกดดันตลาดหุ้นเกิดใหม่ในปีนี้มาจากความกังวลจากการทำสงครามการค้าของสหรัฐฯ กับจีน และนโยบายการเงินตึงตัวมากขึ้นของสหรัฐฯ การแข็งค่าของค่าเงินดอลลาร์ และการปรับขึ้นของผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลประเทศเศรษฐกิจหลักของโลก ส่งผลให้นักวิเคราะห์ปรับลดเป้าหมายการขยายตัวของผลประกอบการบริษัทจดทะเบียน และเงินทุนเคลื่อนย้ายออกจากสินทรัพย์ในภูมิภาคอย่างมาก อย่างไรก็ตามปัจจัยกังวลทั้งในเรื่องนโยบายการเงินและสงครามการค้าได้ถูกสะท้อนเข้าไปในราคาหุ้นค่อนข้างมากแล้ว จะเห็นได้จากแรงขายของนักลงทุนต่างชาติในตลาดหุ้นเกิดใหม่กว่า 2 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ในช่วง 3 เดือนที่ผ่านมา ทำให้มูลค่าของตลาดหุ้นเอเชียได้ปรับตัวลงมาต่ำกว่าค่าเฉลี่ยระยะยาว ซึ่งเป็นระดับที่น่าสนใจสำหรับนักลงทุนระยะยาว

ส่วนตลาดหุ้นไทยมองว่ายังมีโอกาสปรับตัวผันผวนในขาขึ้นต่อเนื่อง โดยมีปัจจัยสนับสนุนจากปัจจัยขับเคลื่อนเศรษฐกิจภายในประเทศที่ยังเติบโตต่อเนื่องหรือฟื้นตัวจากฐานต่ำในอดีตที่จะช่วยเสริมผลประกอบการของบริษัทจดทะเบียนที่จะได้ประโยชน์จากปัจจัยเหล่านี้ อาทิ การลงทุนโครงสร้างพื้นฐานของภาครัฐที่คาดว่าจะช่วยกระตุ้นการลงทุนภาคเอกชนในอนาคต ภาคอุตสาหกรรมการผลิตเพื่อการส่งออกทั้งอาหาร ชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ และส่วนประกอบรถยนต์ การเปิดตัวโครงการที่อยู่อาศัยที่ฟื้นตัวดีจากปีก่อน รวมไปถึงการฟื้นตัวของราคาสินค้าเกษตรบางรายการที่ทำให้การใช้จ่ายเพื่อการอุปโภคบริโภคฟื้นตัว ซึ่งคาดว่าส่งผลดีต่อแนวโน้มผลประกอบการของกลุ่มธนาคารในท้ายที่สุด

ขณะที่ตราสารหนี้ควรเน้นลงทุนระยะสั้น เนื่องจากผลตอบแทนตราสารหนี้โลกยังคงมีแนวโน้มปรับตัวเพิ่มขึ้นจากนโยบายการเงินของธนาคารกลางหลักๆ ของโลก มีแนวโน้มดำเนินนโยบายตึงตัวต่อเนื่อง เนื่องจากอัตราเงินเฟ้อมีแนวโน้มปรับตัวขึ้น ตามตลาดแรงงานที่ฟื้นตัว และราคาพลังงานที่ทรงตัวในระดับสูง ทั้งนี้ผลตอบแทนจากการลงทุนในพันธบัตรรัฐบาลโลกยังไม่น่าจูงใจเมื่อเทียบกับตราสารหนี้ไทยเนื่องจากมีต้นทุนในการป้องกันความเสี่ยงจากอัตราแลกเปลี่ยนค่อนข้างสูง

สำหรับปัจจัยเสี่ยงที่ต้องติดตามในครึ่งปีหลัง ได้แก่ การขยายตัวของเศรษฐกิจโลกชะลอลง จากมาตรการภาษีการค้าระหว่างสหรัฐฯ และประเทศคู่ค้าโดยเฉพาะกับจีน และอาจขยายวงกว้างไปสู่ประเทศคู่ค้าอื่น ๆ เช่น ยุโรป และแนวโน้มการจ้างงานที่ตึงตัวขึ้น รวมทั้งต้นทุนทางการเงินที่เพิ่มขึ้นจะส่งผลให้อัตราการทำกำไรของบริษัทจดทะเบียนมีแนวโน้มชะลอลง ขณะที่สภาพคล่องในตลาดเงินโลกมีแนวโน้มขยายตัวในอัตราที่ชะลอลง จากการลดงบดุลของธนาคารกลางสหรัฐฯ (Fed) การชะลอวงเงิน QE ของธนาคารกลางยุโรป จะส่งผลให้ตลาดหุ้นมีความผันผวนเพิ่มขึ้นและผลตอบแทนจากการลงทุนลดลงเปรียบเทียบกับช่วงที่สภาพคล่องทางการเงินทรงตัวในระดับสูง

ข่าวประชาสัมพันธ์ล่าสุด

๑๖:๐๑ ALLY ผนึก Mural ลงทุนซื้อหุ้นสมาคมมวยปล้ำสเปน หวังผลักดันมวยปล้ำสเปนขึ้นแท่นลีกหลักในยุโรปและลาตินอเมริกา
๑๖:๓๙ โอกาสจองซื้อหุ้นกู้บริษัทชั้นนำ ช.การช่าง เสนอขายช่วงวันที่ 25 - 29 เมษายน 2567 ชูผลตอบแทน 3.40 - 4.10% ต่อปี อันดับความน่าเชื่อถือ A- ติดต่อผ่าน ธ.กรุงเทพ และ ธ.กรุงไทย
๑๖:๕๔ บางจากฯ สนับสนุนการเรียนรู้และพัฒนาเยาวชนในทักษะแห่งอนาคต ผ่านโครงการ SI Sphere: Sustainable Intelligence-based Society Sphere โดย UN Global Compact Network
๑๕:๑๓ เปิดไลน์อัพ 10 ศิลปินหน้าใหม่มาแรงแห่งปีจาก Spotify RADAR Thailand 2024
๑๕:๐๘ อาร์เอส กรุ๊ป เดินหน้ากลยุทธ์ Star Commerce ยกทัพศิลปิน-ดารา เป็นเจ้าของแบรนด์ และดันยอดขายด้วย Affiliate Marketing ประเดิมส่งศิลปินตัวแม่ ใบเตย อาร์สยาม
๒๔ เม.ย. กสิกรไทยผนึกกำลังเจพีมอร์แกน เปิดตัวโปรเจกต์คารินา ดึงศักยภาพบล็อกเชน ลดระยะเวลาธุรกรรมการเงินระหว่างประเทศ
๒๔ เม.ย. สเก็ตเชอร์ส จัดกิจกรรม SKECHERS PICKLEBALL WORKSHOP ส่งเสริมสุขภาพและขยายคอมมูนิตี้กีฬา Pickleball ในไทย
๒๔ เม.ย. SHIELD จับมือแอสเซนด์ มันนี่ และ Money20/20 Asia จัดกิจกรรมระดมเงินบริจาคแก่มูลนิธิรามาธิบดี
๒๔ เม.ย. 'ASW' เตรียมโอนกรรมสิทธิ์ 4 คอนโดฯ ใหม่ ไตรมาส 2 ครอบคลุมทั้งกรุงเทพฯ และภูเก็ตมูลค่ารวมกว่า 6,600 ล้านบาท
๒๔ เม.ย. โก โฮลเซลล์ สนับสนุนเกษตรกรไทย ปูพรมจำหน่ายผลไม้ฤดูกาล สดจากสวนส่งตรงถึงมือคุณ