PwC เผยกลุ่มอุตฯ บริการทางการเงินทั่วโลก ยังล้าหลังในการให้โอกาสผู้หญิงเติบโตในสายอาชีพ

พุธ ๑๒ กันยายน ๒๐๑๘ ๑๔:๒๘
PwC เผยกลุ่มอุตสาหกรรมบริการทางการเงินทั่วโลก ยังคงล้าหลังกลุ่มอุตสาหกรรมอื่นในการสนับสนุนและส่งเสริมให้ผู้หญิงสามารถเติบโตในสายอาชีพ โดยผลสำรวจพบ ผู้หญิงในอุตฯ บริการทางการเงินมากกว่าครึ่ง เชื่อว่า ความแตกต่างทางเพศยังเป็นอุปสรรคต่อความก้าวหน้าในการทำงาน อีกทั้งกังวลว่า หากใช้สิทธินโยบายการทำงานแบบยืดหยุ่นจะทำให้ตนหมดโอกาสในการเติบโต ด้าน PwC ประเทศไทย มองว่า อุตฯ บริการทางการเงินของไทยให้โอกาสหญิงเก่งมากขึ้น เห็นจากองค์กรขนาดใหญ่หนุนให้ผู้หญิงตบเท้าก้าวขึ้นเป็นผู้นำ พร้อมแนะนโยบายการทำงานแบบยืดหยุ่นต้องเน้นสร้างความสมดุลระหว่างชีวิตครอบครัวและการทำงาน โดยไม่ปิดกั้นโอกาสความก้าวหน้าในการเติบโตของผู้หญิง

นาย บุญเลิศ กมลชนกกุล หุ้นส่วน และหัวหน้าสายงาน Clients and Markets บริษัท PwC ประเทศไทย กล่าวถึงผลสำรวจ Seeing Is Believing: clearing the barriers to women's progress in financial services ได้ทำการสำรวจผู้หญิงทำงานในอุตสาหกรรมบริการทางการเงินทั่วโลกจำนวน 290 คน ที่มีอายุระหว่าง 28 ถึง 40 ปี ซึ่งนี่เป็นส่วนหนึ่งของรายงานที่ทำการสำรวจผู้หญิงทำงานจำนวนทั้งสิ้น 3,627 คนในทุกอุตสาหกรรมจากทั่วโลกว่า อุตสาหกรรมบริการทางการเงิน (Financial Services) ยังคงล้าหลังอุตสาหกรรมอื่น ในการสนับสนุนความก้าวหน้าในการทำงานและส่งเสริมให้ผู้หญิงดำรงตำแหน่งผู้บริหารระดับสูง

ทั้งนี้ รายงานระบุว่า 54% ของผู้หญิงทำงานในอุตสาหกรรมบริการทางการเงิน เชื่อว่า ความแตกต่างทางเพศเป็นอุปสรรคต่อความก้าวหน้าในสายอาชีพภายในองค์กร เปรียบเทียบกับผู้หญิงในกลุ่มอุตสาหกรรมอื่นที่ 45% โดยเกือบครึ่งหนึ่ง (43%) ของผู้หญิงทำงานในอุตสาหกรรมบริการทางการเงินทั่วโลก เคยมีประสบการณ์ในการต้องเผชิญกับคำพูดที่ดูหมิ่น ข่มขู่ และการใช้วาจาที่ไม่เหมาะสม เทียบกับอุตสาหกรรมอื่นโดยเฉลี่ยที่ 34%

นอกจากนี้ รายงานยังชี้ให้เห็นถึงความกังวลจากผลกระทบของนโยบายในที่ทำงานที่สนับสนุนผู้หญิงทำงานที่เป็นคุณแม่ว่า โดยเกือบ 60% ของคุณแม่มือใหม่ในอุตฯ นี้เชื่อว่า พวกเขาถูกมองข้าม หรือหมดโอกาสในการที่จะก้าวหน้าในสายอาชีพ หลังจากกลับมาทำงานจากลาคลอด ซึ่งมากกว่าครึ่งยังเชื่อด้วยว่า นโยบายการทำงานแบบยืดหยุ่นในที่ทำงานอาจส่งผลกระทบต่ออนาคตหากพวกเขาปฏิบัติตาม โดย 52% มองว่า นโยบายดังกล่าวไม่พร้อมใช้ในทางปฏิบัติสำหรับพวกเขา ขณะที่ 51% มองว่า อาจส่งผลกระทบเชิงลบต่ออนาคตการทำงาน หากพวกเขาปฏิบัติตามนโยบายดังกล่าว

แต่อย่างไรก็ดี ผลสำรวจได้แสดงให้เห็นถึงสัญญาณเชิงบวกในการส่งเสริมความก้าวหน้าของผู้หญิงในกลุ่มอุตสาหกรรมบริการทางการเงิน โดยมากกว่า 60% ระบุว่า พวกเขามีการเจรจาต่อรองเพื่อขอเลื่อนตำแหน่งในช่วง 2 ปีที่ผ่านมา เปรียบเทียบกับผู้หญิงในทุกกลุ่มอุตสาหกรรมที่ 48% นอกจากนี้ มากกว่า 80% ของผู้หญิงทำงานในกลุ่มอุตสาหกรรมบริการทางการเงิน ยังมีความมั่นใจในการเป็นผู้นำ และเชื่อในความสามารถที่จะผลักดันให้ตนเดินไปสู่เป้าหมายในหน้าที่การงานที่วางไว้

ทั้งนี้ มี 3 ประเด็นสำคัญที่ผู้บริหารต้องพิจารณาเกี่ยวกับเรื่องดังกล่าว ได้แก่

1. ให้ความสำคัญกับการสร้างความโปร่งใส การสื่อสาร และการสร้างความไว้วางใจ เพื่อโน้มน้าวให้ผู้หญิงเห็นว่า พวกเขาก็สามารถประสบความสำเร็จในองค์กรได้ และทำให้พวกเขาเข้าใจว่า ตนควรทำอย่างไรจึงจะก้าวหน้าในสายอาชีพ

2. ให้การสนับสนุนพนักงานอย่างเต็มที่ในการวางตัวผู้นำในอนาคต และต้องมั่นใจได้ว่า คนเหล่านี้ได้รับประสบการณ์ที่จำเป็นและสามารถเข้าถึงแหล่งความรู้และเครือข่ายที่จะช่วยพัฒนาขีดความสามารถของพวกเขา

3. สร้างสภาพแวดล้อมและวัฒนธรรมองค์กรที่ช่วยสร้างสมดุลระหว่างเรื่องส่วนตัวและแรงบันดาลในการทำงานให้กับผู้หญิง มากกว่าที่จะมีนโยบายการทำงานแบบยืดหยุ่นเพียงอย่างเดียว

นาย จอน เทอร์รี่ หัวหน้าสายงานที่ปรึกษาด้านทรัพยากรบุคคลของธุรกิจบริการทางการเงินทั่วโลกของ PwC กล่าวว่า "รายงานฉบับนี้ สะท้อนให้เห็นว่า อุตสาหกรรมบริการทางการเงินทั่วโลกกำลังเผชิญกับช่วงเวลาที่สำคัญในการหันมาส่งเสริมความหลากหลากหลายทางเพศอย่างจริงจัง เพราะเวลานี้องค์กรต่างๆ มีพนักงานที่เต็มไปด้วยกลุ่มคนรุ่นใหม่ที่ความมั่นใจและทะเยอทะยาน โดยปรารถนาที่จะก้าวขึ้นสู่ความเป็นผู้นำมากกว่าช่วงอื่นๆ ในอดีต ขณะที่นายจ้างจำนวนมากยังคงไม่ปรับตัวที่จะรับมือกับความท้าทาย หรือดำเนินการเพื่อลดอุปสรรคในเรื่องนี้

"หากดูเรื่องช่องว่างรายได้ระหว่างชายและหญิงที่ไม่ค่อยแตกต่างกันมาก เมื่อพนักงานมีอายุประมาณ 20 ปลายๆ แต่ช่องว่างนี้กลับกว้างขึ้นอย่างมีนัยสำคัญเมื่อพนักงานเข้าสู่อายุ 40 นี่จึงเป็นเรื่องสำคัญที่นายจ้างต้องเข้าใจถึงความต้องการและความกังวลของคนกลุ่มนี้ เพื่อให้องค์กรสามารถหาแนวทางปฏิบัติในการแก้ไขปัญหาดังกล่าวได้อย่างเป็นรูปธรรม อย่างไรก็ดี เราควรเห็นการเปลี่ยนแปลงนี้ เป็นโอกาสในการส่งเสริมความเท่าเทียมกันทางเพศของอุตสาหกรรมบริการทางการเงิน โดยมองเป็นโอกาสในการที่เราจะได้เพิ่มความแตกต่างหลากหลายให้กับอุตฯ ซึ่งจะเป็นประโยชน์กับธุรกิจในระยะยาว เพราะหากปล่อยไป จะกลายเป็นความท้าทายในการรักษาและดึงดูดทาเลนต์ในอนาคต"

นาย บุญเลิศ กล่าวเสริมว่า "ในส่วนของอุตสาหกรรมบริการทางการเงินไทยนั้น ผมมองว่า แทบจะไม่มีความเหลื่อมล้ำทางเพศในการทำงานเลยก็ว่าได้ เพราะธุรกิจการเงินหลายแห่ง หรือแม้แต่องค์กรระดับประเทศ ล้วนมีผู้นำองค์กรเป็นผู้หญิง นั่นสะท้อนให้เห็นว่า อุตสาหกรรมบริการทางการเงินของเรา รวมไปถึงอุตสาหกรรมอื่นๆ เอง ก็ค่อนข้างให้การสนับสนุนผู้หญิงให้มีความก้าวหน้าในอาชีพ และผลักดันให้ผู้หญิงมีโอกาสในการเป็นผู้นำองค์กรมากขึ้น และมีแนวโน้มที่จะเพิ่มขึ้น เพราะปัจจุบันมีผู้หญิงทำงานที่อยู่ในตำแหน่งผู้บริหารระดับกลางเป็นจำนวนมาก แต่สิ่งที่องค์กรไทยควรให้การสนับสนุนและส่งเสริมไม่แพ้กัน คือ นโยบายการทำงานแบบยืดหยุ่น เพื่อให้ผู้หญิงสามารถบริหารสมดุลในชีวิตครอบครัวและการทำงานได้อย่างลงตัว เพื่อให้พวกเธอทำงานอย่างมีความสุขและผลงานที่ออกมามีประสิทธิภาพมากขึ้น"

ข่าวประชาสัมพันธ์ล่าสุด

๒๘ มี.ค. องค์การบรรจุภัณฑ์โลก จับมือ อินฟอร์มา มาร์เก็ตส์ ประเทศไทย ร่วมจัดกิจกรรมสัมมนาออนไลน์
๒๘ มี.ค. การแข่งขันกีฬาขี่ม้าโปโลรายการ King Power International Ladies' Polo Tournament 2024
๒๘ มี.ค. DEXON ปักธงรายได้ปี 67 ทะลุ 700 ลบ. โชว์ Backlog เฉียด 280 ลบ. ล็อคมาร์จิ้น 35-40%
๒๘ มี.ค. JPARK ร่วมงาน Dinner Talk ผู้บริหารจดทะเบียนพบนักลงทุน จ.ราชบุรี
๒๘ มี.ค. นีเวีย ซัน และ วัตสัน จับมือต่อปีที่สองชวนดูแลท้องทะเล กับโครงการ เพราะแคร์ จึงชวนแชร์ ร่วมพิทักษ์รักษ์ทะเลไทย
๒๘ มี.ค. Cloud เทคโนโลยีที่อยู่ใกล้ตัว เพียงแค่คุณไม่รู้เท่านั้นเอง
๒๘ มี.ค. โรยัล คานิน ร่วมกับ เพ็ทแอนด์มี จัดงาน Royal Canin Expo 2024: PAWRENTS' DAY เพื่อสร้างโลกที่ดีขึ้นสำหรับน้องแมวและน้องหมา
๒๘ มี.ค. STEAM Creative Math Competition
๒๘ มี.ค. A-HOST ร่วมวาน MFEC Inspire ขึ้นบรรยายพร้อมจัดบูธ Cost Optimization Pavilion
๒๘ มี.ค. ฟินเวอร์! ส่องความคิ้วท์ 'ฟอส-บุ๊ค' ควงคู่ร่วมงาน Discover Thailand เสิร์ฟโมเมนต์ฉ่ำให้แฟนๆ ได้ดับร้อนกันยกด้อมรับซัมเมอร์ และร่วมส่งต่อความสุขในกิจกรรม 'Exclusive Unseen Food Trip กับ คู่ซี้