บล.เอเซีย พลัส มองทิศทางตลาดหุ้นไทยไตรมาส 4 ปีนี้ ยังผันผวนสูง แม้มีกระแสเลือกตั้งหนุน แต่ถูกฉุดด้วยสงครามการค้า-กำไรบจ.

พุธ ๒๖ กันยายน ๒๐๑๘ ๑๖:๕๕
สายงานวิจัย บล.เอเซีย พลัส ในกลุ่มบมจ.เอเซีย พลัส กรุ๊ป โฮลดิ้งส์ (ASP) ประเมินทิศทางตลาดหุ้นไทยในไตรมาส 4/2561 จะยังผันผวนสูง โดยถูกกดดันจากสงครามการค้าสหรัฐฯ กับจีน ที่ทวีความรุนแรงมากขึ้น รวมทั้งกำไรบริษัทจดทะเบียนของไทยที่ต่ำกว่าคาด ขณะที่มีแรงหนุนจากการเลือกตั้งในประเทศเข้ามา กลยุทธ์การลงทุนจึงเน้นหุ้นที่อิงกับเศรษฐกิจในประเทศเป็นหลัก

คุณภรณี ทองเย็น รองกรรมการผู้อำนวยการ สายงานวิจัย บล.เอเซีย พลัส กล่าวว่า ไตรมาสสุดท้ายของปีนี้ มีทั้งปัจจัยบวกและลบเข้ามา ทำให้มองว่าตลาดจะแกว่งตัวสูง ในกรอบ 1,620-1,733 จุด แต่เปิดช่องให้ดัชนีฯ ขึ้นไปแตะระดับ 1,790-1,848 จุดได้ หากเงินทุนต่างชาติไหลกลับเข้าตลาดหุ้นไทยอย่างชัดเจน

"โค้งสุดท้ายของปีนี้ ตลาดหุ้นไทยยังผันผวนสูงมาก ฝั่งของปัจจัยลบที่ยังมีน้ำหนักมาก ก็คือสงครามการค้า โดยเฉพาะสหรัฐฯ กับจีน ยังไม่มีทีท่าจะผ่อนคลาย กระทบการค้าและเศรษฐกิจโลกช่วงปลายปีนี้และปีหน้าแน่นอน ส่วนฝั่งของปัจจัยบวก ก็คือการเลือกตั้งในบ้านเรา" คุณภรณี กล่าว

รองกรรมการผู้อำนวยการ สายงานวิจัย บล.เอเซีย พลัส กล่าวว่า ขณะนี้สงครามการค้าขยายตัววงกว้าง และพบว่ายอดวงเงินในการกีดกันการค้าสูงขึ้นมาก โดยเฉพาะสงครามการค้าระหว่างสหรัฐฯกับจีน สูงถึง 2.5 แสนล้านเหรียญฯ ผลักดันให้ต้นทุนสูงขึ้น และทำให้อัตราเงินเฟ้อขยับขึ้น เชื่อว่าผลกระทบจากสงครามการค้า จะกระทบการค้าโลกชัดเจนปลายปีนี้ และกดดันเศรษฐกิจโลกอย่างชัดเจนในปี 2562

ทั้งนี้ เมื่ออัตราเงินเฟ้อของสหรัฐฯ สูงกว่าอัตราดอกเบี้ยนโยบาย จะยิ่งเป็นการเร่งให้ธนาคารกลางสหรัฐ (Fed) ปรับขึ้นดอกเบี้ย โดยคาด Fed จะปรับขึ้นดอกเบี้ยนโยบายอีก 2 ครั้งในปีนี้ ขณะที่ในปี 2562 และ 2563 Fed มีแผนขึ้นดอกเบี้ยราว 3 ครั้ง และ 2 ครั้ง ตามลำดับ โดยเชื่อว่ากรอบการขึ้นดอกเบี้ยของ Fed น่าจะหยุดไว้ที่เพียงปี 2562 เพราะการกีดกันการค้ากระทบผู้บริโภค และภาคการผลิตในวงกว้าง น่าจะกดดันให้เศรษฐกิจสหรัฐฯ เข้าสู่ภาวะชะลอตัวในปี 2562

เศรษฐกิจโลก ยังถูกซ้ำเติมด้วยปัญหาค่าเงินของประเทศในตลาดเกิดใหม่หลายแห่ง ซึ่งเกิดจากปัญหาพื้นฐานของประเทศ ไม่ว่าจะเป็นการขาดดุลการค้า การขาดดุลบัญชีเดินสะพัด ภาระหนี้ต่างประเทศ ขณะที่เงินทุนสำรองระหว่างประเทศมีน้อย กดดันให้ค่าเงินตกต่ำ เช่น ตุรกี เวเนซุเอล่า และอาร์เจนติน่า เป็นต้น

สำหรับประเทศในเอเชีย ส่วนใหญ่แข็งแกร่ง โดยเฉพาะไทยที่เกินดุลบัญชีเดินสะพัด และเกินดุลการค้าติดต่อกัน 4 ปี มีเงินทุนสำรองระหว่างประเทศสูง ยกเว้นบางประเทศ เช่น อินเดีย มีปัญหาขาดดุลบัญชีเดินสะพัดนานเกิน 13 ปี ขาดดุลการค้าตั้งแต่ปี 2545 จนถึงปัจจุบัน และเงินทุนสำรองระหว่างประเทศอยู่ระดับต่ำ รวมถึงอินโดนีเซีย ที่ขาดดุลบัญชีเดินสะพัดติดต่อกันราว 6 ปี มีเงินทุนสำรองระหว่างประเทศต่อหนี้ต่างประเทศต่ำ

ดังนั้น จากนี้ไป จึงเป็นปีแห่งการเฝ้าสังเกตผลกระทบจากปัจจัยต่างๆ ที่มีต่อเศรษฐกิจโลก ซึ่งถือว่าในช่วงนี้เป็นการเข้าสู่รอบปีที่ 10 นับจากเกิดวิกฤติซับไพรม์ในสหรัฐฯ เมื่อช่วงปี 2551-2552 ด้วย

คุณภรณี กล่าวว่า อีกปัจจัยที่จะกดดันตลาดหุ้นไทย นั่นก็คือ กำไรของบริษัทจดทะเบียน (บจ.) ในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย เนื่องจากกำไรบจ.งวดครึ่งปีแรก คิดเป็น 50% ของประมาณการทั้งปี 2561 ที่สายงานวิจัยฯ ทำไว้ 1.1 ล้านล้านบาท หรือ EPS 110.78 บาทต่อหุ้น แต่เมื่อพิจารณารายบริษัทแล้ว พบว่า บางบริษัทบันทึกรายการพิเศษขนาดใหญ่, บางบริษัทกำไรดำเนินงานต่ำกว่าคาด, บางบริษัทไปซื้อกิจการ ส่งผลให้เกิดภาระดอกเบี้ยจ่ายสูง กดดันกำไร

สายงานวิจัยฯ จึงได้ปรับลดประมาณการกำไรบจ.ปี 2561 ลงราว 2.65 หมื่นล้านบาท หรือลดลง 2.4% จากเดิม ส่งผลให้กำไรสุทธิของบจ.ปีนี้ลดลงมาที่ 1.07 ล้านล้านบาท คิดเป็นกำไรสุทธิต่อหุ้น (EPS) 108 บาทต่อหุ้น เติบโต 10.3% จากปีก่อน

ขณะที่ในปี 2562 ได้ปรับลดประมาณการกำไรบจ. ลงเล็กน้อยราว 3.1 พันล้านบาท หรือ 0.27% จากประมาณการเดิม ส่งผลให้กำไรปีหน้า อยู่ที่ 1.15 ล้านล้านบาท หรือคิดเป็น EPS ราว 115.5 บาทต่อหุ้น เติบโต 6.9% จากปีนี้ ทั้งนี้ แม้ว่าสายงานวิจัยฯ ปรับลดประมาณการกำไรตลาดหุ้นไทยลง แต่อัตราการเติบโตใกล้เคียงตลาดหุ้นภูมิภาค

สำหรับปัจจัยบวกต่อตลาดหุ้นไทย คือ การเมืองในประเทศคลี่คลายลง หลังพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญ (พ.ร.ป.) ว่าด้วยการได้มา ส.ว.และพ.ร.ป.ว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส. ประกาศลงในราชกิจจานุเบกษา เมื่อวันที่ 12 ก.ย. 2561 ทำให้กำหนดการเลือกตั้งมีความชัดเจน กล่าวคือ การเลือกตั้งต้องเกิดขึ้นภายในกรอบเวลา 240 วัน ซึ่งหากพิจารณาจากเงื่อนไขของเวลาแล้ว การเลือกตั้งอาจเป็นได้ทั้งวันที่ 24 ก.พ. 2562 หรือวันที่ 31 มี.ค. 2562 แต่ต้องไม่เกินวันที่ 5 พ.ค. 2562

โดยภาพรวมของสถานการณ์ทางการเมืองในประเทศ ปัจจุบันถือได้ว่าความเสี่ยงที่จะทำให้การเลือกตั้งทั่วไปไม่เกิดขึ้นนั้นน้อยลง จากนี้ไปการประกาศปลดล็อคการเมือง น่าจะส่งผลดีต่อตลาดหุ้นในระยะสั้น แต่สถานการณ์การเมืองหลังการเลือกตั้ง ยังเป็นประเด็นสำคัญที่ต้องติดตามกันต่อไป

รองกรรมการผู้อำนวยการ สายงานวิจัย บล.เอเซีย พลัส กล่าวว่า กลยุทธ์การลงทุนในภาวะตลาดที่ยังผันผวนสูงดังกล่าว แนะนำเน้นหุ้นที่พึ่งพาเศรษฐกิจในประเทศ จากกระแสเลือกตั้งที่จะเกิดขึ้นในไตรมาส 1/2562 คือ หุ้นกลุ่มอุปโภคบริโภคในประเทศ ได้แก่ BJC, ADVANC, DTAC กลุ่มวัสดุก่อสร้างและที่อยู่อาศัย ได้แก่ DCC, SEAFCO, LPN

กลุ่มสาธารณูปโภคขั้นพื้นฐาน ได้แก่ EASTW, BGRIM, RJH กลุ่มสื่อนอกบ้าน และมีเงินสดสุทธิ ได้แก่ MACO รวมถึงหุ้นส่งออกที่คาดกำไรโดดเด่นในไตรมาส 2/2561 แต่ราคาหุ้นยัง Laggard ได้แก่ TU, CPF

ข่าวประชาสัมพันธ์ล่าสุด

๒๘ มี.ค. องค์การบรรจุภัณฑ์โลก จับมือ อินฟอร์มา มาร์เก็ตส์ ประเทศไทย ร่วมจัดกิจกรรมสัมมนาออนไลน์
๒๘ มี.ค. การแข่งขันกีฬาขี่ม้าโปโลรายการ King Power International Ladies' Polo Tournament 2024
๒๘ มี.ค. DEXON ปักธงรายได้ปี 67 ทะลุ 700 ลบ. โชว์ Backlog เฉียด 280 ลบ. ล็อคมาร์จิ้น 35-40%
๒๘ มี.ค. JPARK ร่วมงาน Dinner Talk ผู้บริหารจดทะเบียนพบนักลงทุน จ.ราชบุรี
๒๘ มี.ค. นีเวีย ซัน และ วัตสัน จับมือต่อปีที่สองชวนดูแลท้องทะเล กับโครงการ เพราะแคร์ จึงชวนแชร์ ร่วมพิทักษ์รักษ์ทะเลไทย
๒๘ มี.ค. Cloud เทคโนโลยีที่อยู่ใกล้ตัว เพียงแค่คุณไม่รู้เท่านั้นเอง
๒๘ มี.ค. โรยัล คานิน ร่วมกับ เพ็ทแอนด์มี จัดงาน Royal Canin Expo 2024: PAWRENTS' DAY เพื่อสร้างโลกที่ดีขึ้นสำหรับน้องแมวและน้องหมา
๒๘ มี.ค. STEAM Creative Math Competition
๒๘ มี.ค. A-HOST ร่วมวาน MFEC Inspire ขึ้นบรรยายพร้อมจัดบูธ Cost Optimization Pavilion
๒๘ มี.ค. ฟินเวอร์! ส่องความคิ้วท์ 'ฟอส-บุ๊ค' ควงคู่ร่วมงาน Discover Thailand เสิร์ฟโมเมนต์ฉ่ำให้แฟนๆ ได้ดับร้อนกันยกด้อมรับซัมเมอร์ และร่วมส่งต่อความสุขในกิจกรรม 'Exclusive Unseen Food Trip กับ คู่ซี้