ค่าใช้จ่ายด้านการวิจัยและพัฒนาของจีนและยุโรปปี 61 เติบโตสองหลัก

อังคาร ๑๓ พฤศจิกายน ๒๐๑๘ ๑๕:๔๖
- จีนและยุโรปเพิ่มงบด้านการวิจัยและพัฒนามากที่สุดในโลก ในขณะที่มูลค่าใช้จ่ายด้านการวิจัยและพัฒนาทั่วโลกสูงถึง 7.82 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐฯ

- บริษัทจำนวน 88 แห่งมีความสามารถทางการเงินเหนือกว่าคู่แข่ง แม้มีการลงทุนด้านการวิจัยและพัฒนาในระดับปานกลาง

- อเมซอน รักษาตำแหน่งบริษัทที่มีการลงทุนด้านการวิจัยและพัฒนาสูงที่สุดในโลก

- แอปเปิล ได้แชมป์บริษัทนวัตกรรมเบอร์ 1 ของโลกกลับคืนมาจาก อัลฟาเบทด้านเน็ตฟลิกซ์ติด 10 อันดับแรกเป็นครั้งแรก

- อุตสาหกรรมผู้บริโภคมีการใช้จ่ายด้านวิจัยและพัฒนาสูงที่สุด แซงหน้า อุตสาหกรรมซอฟต์แวร์และอินเทอร์เน็ตเป็นครั้งแรกในรอบ 5 ปี

บริษัท Strategy& ของ PwC เผยมูลค่าการใช้จ่ายด้านการวิจัยและพัฒนาทั่วโลกในปี 61 เพิ่มขึ้น 11% จากปีก่อนอยู่ที่ 7.82 แสนล้านเหรียญสหรัฐฯ โดยจีนและยุโรปมีการใช้จ่ายด้านการวิจัยและพัฒนามากที่สุดในโลก ที่ 34% และ 14% ตามลำดับ ขณะที่อุตสาหกรรมผู้บริโภคเห็นการใช้จ่ายด้านการวิจัยและพัฒนาในปีนี้แซงหน้าอุตสาหกรรมซอฟต์แวร์และอินเทอร์เน็ตเป็นครั้งแรกในรอบ 5 ปี ส่วนองค์กรขนาดใหญ่ของไทยตื่นตัวในการวิจัยและพัฒนา แต่ต้องรู้จักเลือกใช้เทคโนโลยีและนวัตกรรมที่เหมาะและเกิดผลคุ้มค่าต่อธุรกิจในระยะยาว ย้ำไม่จำเป็นต้องลงทุนมหาศาล

ผลการศึกษา Global Innovation 1000 Study ฉบับที่ 14 ทำการวิเคราะห์การลงทุนด้านการวิจัยและพัฒนา (Research and Development) ของบริษัทมหาชนที่ใหญ่ที่สุดทั่วโลกจำนวน 1,000 แห่ง โดยแสดงให้เห็นถึงความสำคัญของการลงทุนด้านนวัตกรรมว่า มีผลกระทบต่อกลยุทธ์เพื่อการเติบโตในระยะยาวและความมั่นใจของผู้บริหารในการดำเนินธุรกิจ

ทั้งนี้ รายงานของ Strategy& ระบุว่า มูลค่าการใช้จ่ายด้านการวิจัยและพัฒนาทั่วโลกในปี 2561 เพิ่มขึ้น 11% อยู่ที่ 7.82 แสนล้านเหรียญสหรัฐฯ (ราว 25.97 ล้านล้านบาท) โดยการใช้จ่ายเติบโตเพิ่มขึ้นในทุกทวีปทั่วโลกและเกือบทุกกลุ่มอุตสาหกรรม นำโดยสาธารณรัฐประชาชนจีน (34%) และยุโรป (14%) ซึ่งมีการใช้จ่ายเติบโตในอัตราสองหลัก ส่วนอเมริกาเหนือ (7.8%) และญี่ปุ่น (9.3%) เติบโตในตัวเลขหลักเดียว ขณะที่ความเข้มข้นของการวิจัยและพัฒนา (R&D Intensity) โดยรวม ซึ่งใช้วัดมูลค่าการใช้จ่ายต่อยอดขาย ยังคงเติบโตในระดับสูงสุดเป็นประวัติการณ์ที่ 4.5%

นาย แบร์รี่ เจรูเซลสกี้ หัวหน้าสายงานเทคโนโลยีและกลยุทธ์ด้านนวัตกรรมของ Strategy& บริษัท PwC ประเทศสหรัฐอเมริกา กล่าวว่า "มาตรฐานความเป็นเลิศด้านนวัตกรรมถูกยกระดับให้สูงขึ้นเรื่อยๆ จากการแข่งขันทางธุรกิจที่รุนแรงในศตวรรษที่ 21 แต่แม้จะมีการลงทุนจะอยู่ในระดับสูงเป็นประวัติการณ์ แต่ผลจากการศึกษาในครั้งนี้ ยังคงเป็นเครื่องยืนยันได้ดีว่า การมีนวัตกรรมที่ยอดเยี่ยมไม่ใช่สิ่งที่จะสามารถหาซื้อได้ด้วยการทุ่มเงินเพื่อการวิจัยและพัฒนาเพียงอย่างเดียว แต่เป็นผลมาจากความเอาใจใส่ต่อการวางกลยุทธ์ที่ใช่ การมีวัฒนธรรมองค์กร และการมีส่วนร่วมของผู้บริหารระดับสูง ประกอบกับข้อมูลเชิงลึกของลูกค้า และการปฏิบัติอย่างมีวินัยตลอดทั่วทั้งวงจรนวัตกรรมขององค์กร"

นอกจากนี้ เมื่อนำผลการศึกษาเกี่ยวกับผลการดำเนินงานของบริษัท และการลงทุนด้านนวัตกรรมที่เกี่ยวข้องกับคู่แข่งในอุตสาหกรรมในช่วง 5 ปีที่ผ่านมา เข้าเป็นส่วนหนึ่งของรายงานปีนี้ พบว่า มีบริษัทจำนวน 88 แห่งทั่วโลกและกลุ่มอุตสาหกรรมที่ได้รับการประเมินว่า เป็นองค์กรผู้ใช้ประโยชน์จากนวัตกรรมในระดับสูง (High-leverage innovator)

ทั้งนี้ บริษัทเหล่านี้มีผลการดำเนินงานที่โดดเด่นกว่าบริษัทคู่แข่งในกลุ่มอุตสาหกรรมเดียวกัน ดูจากตัวชี้วัดความสำเร็จทางด้านการเงิน 7 ตัวในช่วงระยะเวลา 5 ปี ขณะเดียวกันที่มีค่าใช้จ่ายในด้านการวิจัยและพัฒนาน้อยกว่า ค่ากลางของค่าใช้จ่ายในด้านดังกล่าวของบริษัทอื่นๆ ในกลุ่มอุตสาหกรรมเดียวกันตามเปอร์เซ็นต์ของยอดขาย โดยตัวชี้วัดความสำเร็จทางด้านการเงินทั้ง 7 ที่ว่านี้ประกอบด้วย การเติบโตของรายได้ การเติบโตของมูลค่าตลาดรวม อัตรากำไรจากการดำเนินงาน อัตรากำไรขั้นต้น การเติบโตของกำไรจากการดำเนินการ การเติบโตของกำไรขั้นต้น และผลตอบแทนของผู้ถือหุ้นรวม

รายงานพบว่า ขณะที่องค์กรผู้ใช้ประโยชน์จากนวัตกรรมในระดับสูงเหล่านี้ มีอัตรากำไรจากการดำเนินงานและอัตรากำไรขั้นต้นที่คล้ายคลึงกันกับบริษัทอื่นใน 1000 บริษัทนวัตกรรมชั้นนำในช่วงระยะเวลา 5 ปีสิ้นสุด 2560 แต่บริษัทเหล่านี้ กลับมีการเติบโตของยอดขายสูงกว่า 1000 บริษัทชั้นนำด้านนวัตกรรมระดับโลกถึง 2.6 เท่า และมีการเติบโตของมูลค่าตลาดสูงกว่า 2.9 เท่า นอกจากนี้ บริษัทเหล่านี้ยังมีความสามารถทางการเงินที่ดีกว่าบริษัทอื่นๆ อย่างน้อย 2 เท่าดูจากตัวชี้วัดความสำเร็จทางการเงินอื่นๆ ที่ใช้ โดยที่ค่าใช้จ่ายในการวิจัยและพัฒนานั้นน้อยกว่าค่ากลางของบริษัทอื่นๆ ในกลุ่มอุตสาหกรรมเดียวกันตามเปอร์เซ็นต์ของยอดขาย

ทั้งนี้ คุณลักษณะของกลุ่มบริษัทที่มีการเติบโตสูงนี้ ประกอบด้วย

- วางกลยุทธ์ให้เป็นไปในทิศทางเดียวกัน: 77% ของบริษัทที่เติบโตรวดเร็วที่สุดระบุว่า กลยุทธ์ด้านนวัตกรรมของตนเป็นไปในทิศทางเดียวกับกลยุทธ์ธุรกิจอย่างมาก เปรียบเทียบกับ 54% ของบริษัทที่มีการเติบโตในระดับเดียวกัน และ 32% ของบริษัทที่มีการเติบโตช้ากว่า

- วัฒนธรรม: 71% ของผู้ตอบแบบสอบถามที่รายงานว่าบริษัทของตนมีรายได้เติบโตรวดเร็วกว่าคู่แข่งระบุว่า วัฒนธรรมองค์กรของตนเป็นไปในทิศทางเดียวกับกลยุทธ์ด้านนวัตกรรมอย่างมาก เปรียบเทียบกับ 53% ของบริษัทที่มีการเติบโตในระดับเดียวกัน และ 33% ของบริษัทที่มีการเติบโตช้ากว่า

- ความเป็นผู้นำ: 78% ของบริษัทที่มีรายได้สูงกว่าคู่แข่งระบุว่า ทีมผู้บริหารมีการทำงานที่สอดคล้องและเป็นไปในทิศทางเดียวกับการลงทุนด้านการวิจัยและพัฒนา และกลยุทธ์ด้านนวัตกรรมเป็นอย่างมาก หรือใกล้เคียง เปรียบเทียบกับ 62% ของบริษัทที่มีการเติบโตในระดับเดียวกัน และ 53% ของบริษัทที่มีการเติบโตช้ากว่า

นอกจากนี้ เมื่อพิจารณาในระดับภูมิภาค ผลการศึกษาได้แสดงให้เห็นถึงการเติบโตอย่างมีนัยสำคัญของบริษัทที่มีถิ่นที่ตั้งในจีน ซึ่งเดิมเมื่อปี 2550 เคยมีบริษัทที่ใช้ประโยชน์จากนวัตกรรมในระดับสูงเพียง 3% กลับเพิ่มเป็น 17% ในปี 2560 ด้านบริษัทในยุโรปก็มีการปรับตัวเพิ่มขึ้นเช่นกันจาก 18% ในปี 2550 เป็น 30% ในปี 2560 ในทางกลับกัน จำนวนของบริษัทในอเมริกาเหนือที่ใช้ประโยชน์จากนวัตกรรมในระดับสูง ปรับตัวลดลง 45% และบริษัทในญี่ปุ่นลดลง 8%

เมื่อประเมินเป็นรายอุตสาหกรรมพบว่า จำนวนขององค์กรผู้ใช้ประโยชน์จากนวัตกรรมในระดับสูงเพิ่มขึ้นจากปี 2550 ถึงปี 2560 ในกลุ่มอุตสาหกรรมโทรคมนาคม อุตสาหกรรมผู้บริโภค อุตสาหกรรมสุขภาพ อุตสาหกรรมการผลิต อุตสาหกรรมยานยนต์ และอุตสาหกรรมการบินและยุทโธปกรณ์ ในทางตรงกันข้าม กลุ่มอุตสาหกรรมที่จำนวนขององค์กรผู้ใช้ประโยชน์จากนวัตกรรมปรับตัวลดลง ได้แก่ อุตสาหกรรมเคมีภัณฑ์และพลังงาน อุตสาหกรรมคอมพิวเตอร์และอิเล็กทรอนิกส์ และอุตสาหกรรมซอฟท์แวร์และอินเทอร์เน็ต

ทั้งนี้ จากการสำรวจบริษัทมากกว่า 1,000 ราย โดยแบ่งระยะ 5 ปีย้อนหลังออกเป็น 3 ช่วง ได้แก่ ระยะเวลา 5 ปีสิ้นสุดในปี 2550 2555 และ 2560 พบว่า มีเพียง 2 บริษัทเท่านั้นที่มีการใช้ประโยชน์จากนวัตกรรมในระดับสูงมาตลอดระยะเวลา 15 ปี ได้แก่ แอปเปิล และ แสตนลีย์ แบล็ก แอนด์ เด็กเกอร์

นาย แบร์รี่ กล่าวต่อว่า "ความสำเร็จขององค์กรผู้ใช้ประโยชน์จากนวัตกรรมในระดับสูง ยังช่วยยืนยันผลจากการศึกษาที่เราพบครั้งแล้วครั้งเล่าว่า จำนวนเม็ดเงินที่บริษัทจ่ายไปเพื่อการคิดค้นด้านนวัตกรรม และผลประกอบการทางการเงินนั้น ไม่มีความสัมพันธ์กันในระยะยาว แต่สิ่งที่สำคัญยิ่งกว่าคือ วิธีการที่บริษัทใช้เงินและทรัพยากรนั้นๆ อย่างไร รวมถึงคุณภาพของบุคลากรมากความสามารถ กระบวนการทำงาน และการตัดสินใจที่จะเชื่อมต่อและเข้าถึงความต้องการที่ซับซ้อนของลูกค้า"

1000 บริษัทชั้นนำด้านนวัตกรรมระดับโลก

ผลการศึกษา Global Innovation 1000 Study ของ Strategy& ทำการวิเคราะห์ค่าใช้จ่ายด้านการวิจัยและพัฒนาของบริษัทจดทะเบียนที่มีขนาดใหญ่ที่สุดของโลกจำนวน 1,000 ราย โดยการศึกษาครั้งนี้ ถือเป็นการศึกษาครั้งที่ 14 ซึ่งผลการศึกษาที่สำคัญ ได้แก่

- อเมซอนยังคงเป็นผู้นำที่มีการใช้จ่ายด้านการวิจัยและพัฒนาที่ใหญ่ที่สุดในโลกต่อเนื่องเป็นปีที่ 2 ในขณะที่ซาโนฟี่ และซีเมนส์กลับเข้ามาติดอันดับ 20 บริษัทที่มีค่าใช้จ่ายสูงสุดในปีนี้

- แอปเปิล กลับมาครองแชมป์บริษัทด้านนวัตกรรมเบอร์ 1 ของโลกจากอัลฟาเบท ขณะที่เน็ตฟลิกซ์ติด 10 อันดับแรกเป็นครั้งแรก

- อุตสาหกรรมผู้บริโภคแซงหน้าอุตสาหกรรมซอฟต์แวร์และอินเทอร์เน็ตเป็นครั้งแรกในรอบ 5 ปี โดยมีการใช้จ่ายด้านการวิจัยและพัฒนาในปีนี้ เติบโตรวดเร็วที่สุดเปรียบเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน (26% เปรียบเทียบ 20.6%)

- อุตสาหกรรมสุขภาพ จะกลายเป็นกลุ่มอุตสาหกรรมที่มีการใช้จ่ายด้านการวิจัยและพัฒนาที่ใหญ่ที่สุดในปี 2563

- อุตสาหกรรมคอมพิวเตอร์และอิเล็กทรอนิกส์ อุตสาหกรรมสุขภาพ และอุตสาหกรรมยานยนต์ มีค่าใช้จ่ายในการวิจัยและพัฒนารวมกันคิดเป็น 60% ของการใช้จ่ายด้านการวิจัยและพัฒนาของโลกในปีนี้

- จีนและยุโรปเห็นการเพิ่มขึ้นของจำนวนบริษัทในกลุ่ม 1,000 บริษัทชั้นนำที่มีค่าใช้จ่ายในการวิจัยและพัฒนา ในขณะที่อเมริกาเหนือ (-5%) และญี่ปุ่น (-6%) มีจำนวนบริษัทที่เป็นผู้นำด้านนวัตกรรมลดลง

ด้าน นางสาว วิไลพร ทวีลาภพันทอง หุ้นส่วนสายงานที่ปรึกษา บริษัท PwC ประเทศไทย กล่าวว่า "ตัวเลขการใช้จ่ายด้านการวิจัยและพัฒนาที่เพิ่มขึ้นสะท้อนให้เห็นว่า ผู้บริหารทั่วโลกมีความมุ่งมั่นที่จะพัฒนาสินค้าและบริการของตนเองให้ตอบโจทย์ความต้องการของผู้บริโภคที่มีความหลากหลายและซับซ้อนมากขึ้น ในอดีต การให้ความสำคัญของงานด้านการวิจัยและพัฒนาถูกจำกัดอยู่ในกลุ่มอุตสาหกรรมเพียงไม่กี่กลุ่ม แต่ในปัจจุบัน เราจะเห็นว่าแทบทุกอุตสาหกรรมต่างแสดงความต้องการในการที่จะลงทุนและพัฒนานวัตกรรมใหม่ๆ เพื่อต่อยอดผลิตภัณฑ์และบริการของตัวเองให้สอดรับกับสภาพการแข่งขัน คู่แข่ง และภาวะตลาดที่เปลี่ยนแปลงไป"

"สำหรับประเทศไทยนั้น จากประสบการณ์การเป็นที่ปรึกษาด้านเทคโนโลยีให้กับลูกค้าทั้งภาครัฐและเอกชนพบว่า หลายๆ องค์กร โดยเฉพาะองค์กรขนาดใหญ่มีความตื่นตัวและมีความพร้อมที่จะลงทุนในการวิจัยและพัฒนา โดยเฉพาะอย่างยิ่ง การนำเทคโนโลยีขั้นสูง เช่น เอไอ การวิเคราะห์ข้อมูลขั้นสูง หรือ บล็อกเชน มาประยุกต์ให้กับองค์กรของตน แต่กุญแจสำคัญที่จะช่วยขับเคลื่อนให้การวิจัยและพัฒนาสำเร็จได้ ไม่ใช่เพียงแค่เม็ดเงินลงทุนเท่านั้น แต่คือ การรู้จักเลือกว่าเทคโนโลยีหรือนวัตกรรมไหนที่เหมาะสมที่องค์กรควรจะหันมาพัฒนาและประยุกต์ใช้ให้เกิดผลคุ้มค่าต่อตัวธุรกิจในระยะยาว โดยไม่จำเป็นที่จะต้องลงทุนจำนวนมหาศาล แต่ผู้บริหารจะต้องมี Mindset ในการขับเคลื่อนองค์กรไปสู่ดิจิทัลอย่างแท้จริง" นางสาว วิไลพร กล่าวสรุป

ข่าวประชาสัมพันธ์ล่าสุด

๒๘ มี.ค. องค์การบรรจุภัณฑ์โลก จับมือ อินฟอร์มา มาร์เก็ตส์ ประเทศไทย ร่วมจัดกิจกรรมสัมมนาออนไลน์
๒๘ มี.ค. การแข่งขันกีฬาขี่ม้าโปโลรายการ King Power International Ladies' Polo Tournament 2024
๒๘ มี.ค. DEXON ปักธงรายได้ปี 67 ทะลุ 700 ลบ. โชว์ Backlog เฉียด 280 ลบ. ล็อคมาร์จิ้น 35-40%
๒๘ มี.ค. JPARK ร่วมงาน Dinner Talk ผู้บริหารจดทะเบียนพบนักลงทุน จ.ราชบุรี
๒๘ มี.ค. นีเวีย ซัน และ วัตสัน จับมือต่อปีที่สองชวนดูแลท้องทะเล กับโครงการ เพราะแคร์ จึงชวนแชร์ ร่วมพิทักษ์รักษ์ทะเลไทย
๒๘ มี.ค. Cloud เทคโนโลยีที่อยู่ใกล้ตัว เพียงแค่คุณไม่รู้เท่านั้นเอง
๒๘ มี.ค. โรยัล คานิน ร่วมกับ เพ็ทแอนด์มี จัดงาน Royal Canin Expo 2024: PAWRENTS' DAY เพื่อสร้างโลกที่ดีขึ้นสำหรับน้องแมวและน้องหมา
๒๘ มี.ค. STEAM Creative Math Competition
๒๘ มี.ค. A-HOST ร่วมวาน MFEC Inspire ขึ้นบรรยายพร้อมจัดบูธ Cost Optimization Pavilion
๒๘ มี.ค. ฟินเวอร์! ส่องความคิ้วท์ 'ฟอส-บุ๊ค' ควงคู่ร่วมงาน Discover Thailand เสิร์ฟโมเมนต์ฉ่ำให้แฟนๆ ได้ดับร้อนกันยกด้อมรับซัมเมอร์ และร่วมส่งต่อความสุขในกิจกรรม 'Exclusive Unseen Food Trip กับ คู่ซี้