ฟิทช์: ธุรกิจโทรศัพท์เคลื่อนที่เข้าสู่ภาวะอิ่มตัวเพิ่มความเสี่ยงต่อผู้ประกอบการ

จันทร์ ๑๓ พฤษภาคม ๒๐๑๙ ๑๗:๒๐
ฟิทช์กล่าวว่า ผลประกอบการไตรมาสที่ 1 ของปี 2562 ของผู้ประกอบการโทรคมนาคมไทยรายใหญ่สองราย แสดงให้เห็นว่าอุตสาหกรรมโทรคมนาคมอาจเผชิญกับความท้าทายจากการเติบโตของรายได้จากการให้บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่ที่ชะลอตัวลง ผู้ประกอบการน่าจะยังคงแข่งขันกันอย่างรุนแรง ซึ่งรวมถึงการเสนอแพคเก็จให้บริการด้านข้อมูลแบบไม่จำกัด ซึ่งน่าจะเพิ่มแรงกดดันต่อรายได้ และส่งผลต่อการฟื้นตัวของกำไรผู้ประกอบการ

ฟิทช์เชื่อว่า ผู้ประกอบการรายใหญ่อันดับที่สาม ได้แก่ บริษัท โทเทิ่ล แอ็คเซ็ส คอมมูนิเคชั่น จำกัด (มหาชน) หรือ DTAC (อันดับเครดิตที่ BBB/AA(tha) แนวโน้มเครดิตมีเสถียรภาพ) น่าจะได้รับผลกระทบมากที่สุด เนื่องจากรายได้หลักของบริษัทมาจากการให้บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่ ในขณะที่ผู้ประกอบการรายใหญ่อันดับหนึ่ง ได้แก่ บริษัท แอดวานซ์ อินโฟร์ เซอร์วิส จำกัด (มหาชน) หรือ AIS (อันดับเครดิตที่ BBB+/AA+(tha) แนวโน้มเครดิตมีเสถียรภาพ) มีการกระจายรายได้ไปยังบริการอินเตอร์เน็ตความเร็วสูง ซึ่งน่าจะช่วยลดความเสี่ยงจากการเติบโตที่ช้าลงของการให้บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่

รายได้จากการให้บริการของ DTAC ปรับตัวลดลงร้อยละ 5.7 ในโตรมาสที่ 1 ของปี 2562 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีที่แล้ว (ปี 2561: ลดลงร้อยละ 2.8) แต่กำไรจากการดำเนินงานก่อนดอกเบี้ยจ่าย ภาษี ค่าเสื่อมราคา และค่าตัดจำหน่าย (EBITDA) ลดลงในระดับที่สูงกว่าที่ร้อยละ 26.3 เนื่องจากค่าใช้จ่ายด้านการตลาดที่สูงส่งผลให้กำไรลดลง ในขณะที่ EBITDA ของ AIS อยู่ในระดับไม่เปลี่ยนแปลงมากนักเมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีที่แล้ว แม้ว่ารายได้จากการให้บริการจะเพิ่มขึ้นร้อยละ 2.5 เนื่องจากการเติบโตอย่างรวดเร็วของธุรกิจอินเตอร์เน็ตความเร็วสูง ได้ชดเชยการชะลอตัวในธุรกิจโทรศัพท์เคลื่อนที่

ผู้ประกอบการโทรคมนาคมไทยน่าจะยังคงเผชิญแรงกดดันต่อรายได้ จากการที่รายได้จากการให้บริการด้านข้อมูลที่เติบโตในอัตราที่ต่ำลง การเติบโตของจำนวนผู้ใช้บริการด้านข้อมูลรายใหม่เริ่มชะลอตัวในช่วง 2-3 ไตรมาสที่ผ่านมาเนื่องจากสัดส่วนการใช้โทรศัพท์เคลื่อนที่ระบบ 4G เพิ่มขึ้น ในขณะที่การเติบโตของปริมาณการใช้ข้อมูลของผู้ใช้บริการรายเดิมไม่ได้ส่งผลให้รายได้ขยายตัวอย่างเต็มที่เนื่องจากการแข่งขันด้านราคาในการให้บริการข้อมูลที่รุนแรง การเติบโตของรายได้จากการให้บริการด้านข้อมูลของผู้ให้บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่ในประเทศไทย อาจไม่เพียงพอที่จะชดเชยรายได้จากการให้บริการด้านเสียง และข้อความสั้น (SMS) ที่ลดลง และอาจส่งผลให้รายได้จากการให้บริการโดยรวมลดลงในช่วงสองปีข้างหน้า ผู้ประกอบการอาจต้องให้ส่วนลดค่าบริการ และส่วนลดค่าเครื่อง เพื่อที่จะเร่งการเติบโตของการให้บริการด้านข้อมูล โดย ณ สิ้นโตรมาสที่ 1 ของปี 2562 อัตราส่วนของการใช้โทรศัพท์เคลื่อนที่ระบบ 4G ในประเทศไทยอยู่ในระดับสูง คิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 69 ของผู้ใช้โทรศัพท์เคลื่อนที่ทั้งหมดของ DTAC และร้อยละ 63 ของผู้ใช้โทรศัพท์เคลื่อนที่ทั้งหมดของ AIS

อย่างไรก็ตามผู้ประกอบการจะต้องเพิ่มประสิทธิภาพในการสร้างรายได้จากการให้บริการด้านข้อมูลให้เพิ่มขึ้น เพื่อการเติบโตในระยะยาวของรายได้เมื่อจำนวนผู้ใช้บริการด้านข้อมูลเข้าสู่ภาวะอิ่มตัว ซึ่งขึ้นอยู่กับความสามารถของผู้ประกอบการในการปรับเปลี่ยนกลยุทธ์ในการเสนอราคาการให้บริการข้อมูล โดยการลดหรือยกเลิกแพ็คเกจข้อมูลแบบไม่จำกัดหรือแพ็คเกจที่ให้ปริมาณการใช้ข้อมูลจำนวนมาก แล้วเปลี่ยนมาคิดค่าบริการตามปริมาณการใช้งานจริง นอกจากนี้การเสนอบริการหลายรูปเป็นแพคเก็จ เช่น โทรศัพท์เคลื่อนที่ อินเตอร์เน็ตความเร็วสูง และ โทรทัศน์ น่าจะทำให้ลูกค้าเปลี่ยนไปใช้บริการกับบริษัทอื่นยากขึ้น และเพิ่มรายได้เฉลี่ยต่อลูกค้า อย่างไรก็ตาม การดำเนินการดังกล่าวอาจมีความท้าทายในภาวะตลาดที่มีการแข่งขันสูง

ฟิทช์คาดว่าสถานะทางการตลาดของ DTAC น่าจะปรับตัวดีขึ้นในปี 2562 หลังจากที่บริษัทชนะการประมูลคลื่นความถี่ 1.8 GHz และ 900 MHz โดยก่อนหน้านี้บริษัทมีความเสียเปรียบในด้านคลื่นความถี่ที่ถือครองอยู่ และคุณภาพของเครือข่ายเมื่อเทียบกับคู่แข่ง ซึ่งเป็นข้อจำกัดในการแข่งขันในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา อย่างไรก็ตามการปรับปรุงคุณภาพเครือข่ายและการปรับปรุงภาพลักษณ์ของบริษัท น่าจะใช้เวลาหลายไตรมาส ดังนั้นการปรับตัวดีขึ้นของกำไรจากการดำเนินงานก่อนดอกเบี้ยจ่าย ภาษี ค่าเสื่อมราคา และค่าตัดจำหน่าย (EBITDA) น่าจะเกิดขึ้นได้เร็วที่สุดในปี 2563 อย่างไรก็ตามการฟื้นตัวของรายได้และกำไรที่ช้า ยังไม่น่าจะส่งผลกระทบต่ออันดับเครดิตของบริษัทในทันที เนื่องจากอัตราส่วนหนี้สินสุทธิที่ปรับปรุงแล้วต่อกระแสเงินสดจากการดำเนินงานก่อนการเปลี่ยนแปลงของเงินทุนหมุนเวียน (FFO-Adjusted Net Leverage) ยังอยู่ในระดับต่ำกว่า 2.5 เท่า ซึ่งเป็นระดับที่สอดคล้องกับอันดับเครดิตปัจจุบันได้ โดยบริษัทมีอัตราส่วนหนี้สินดังกล่าวที่ 2.2 เท่า ณ สิ้นโตรมาสที่ 1 ของปี 2562

AIS น่าจะได้รับประโยชน์จากกลยุทธ์ในการขยายธุรกิจไปสู่ธุรกิจอินเตอร์เน็ตความเร็วสูง โดยธุรกิจอินเตอร์เน็ตความเร็วสูงได้แสดงให้เห็นว่ามีความผันผวนที่ต่ำกว่า และมีศักยภาพในการเติบโตที่สูงกว่าธุรกิจโทรศัพท์เคลื่อนที่ในช่วง 1-2 ปีที่ผ่านมา ฟิทช์คาดว่าการเติบโตของรายได้โดยรวมอย่างต่อเนื่อง กำไรจากการดำเนินงานที่สามารถคาดการณ์ได้ และการลงทุนที่ลดลง น่าจะทำให้บริษัทสามารถรักษาอัตราส่วนหนี้สินให้สอดคล้องกับอันดับเครดิตปัจจุบันได้ในช่วง 2-3 ปีข้างหน้า กระแสเงินสดสุทธิ (Free Cash Flow) ของ AIS ในปี 2562 น่าจะเป็นบวก เนื่องจากค่าใช้จ่ายสำหรับคลื่นความถี่ที่ลดลง และการลดลงของการลงทุนในโครงข่าย หลังจากที่บริษัทเสร็จสิ้นการลงทุนก่อสร้างโครงข่าย 3G และ 4G ซึ่งน่าจะส่งผลให้อัตราส่วนหนี้สินสุทธิที่ปรับปรุงแล้วต่อกระแสเงินสดจากการดำเนินงานก่อนการเปลี่ยนแปลงของเงินทุนหมุนเวียน (FFO-Adjusted Net Leverage) ปรับตัวลดลงมาอยู่ที่ระดับ 1.5-1.6 เท่าในปี 2562 จาก 1.7 เท่าในปี 2561 และทำให้AIS มีความคล่องตัวทางการเงินมากขึ้นเพื่อรองรับค่าใช้จ่ายด้านการตลาดที่เพิ่มขึ้น

ข่าวประชาสัมพันธ์ล่าสุด

๒๘ มี.ค. องค์การบรรจุภัณฑ์โลก จับมือ อินฟอร์มา มาร์เก็ตส์ ประเทศไทย ร่วมจัดกิจกรรมสัมมนาออนไลน์
๒๘ มี.ค. การแข่งขันกีฬาขี่ม้าโปโลรายการ King Power International Ladies' Polo Tournament 2024
๒๘ มี.ค. DEXON ปักธงรายได้ปี 67 ทะลุ 700 ลบ. โชว์ Backlog เฉียด 280 ลบ. ล็อคมาร์จิ้น 35-40%
๒๘ มี.ค. JPARK ร่วมงาน Dinner Talk ผู้บริหารจดทะเบียนพบนักลงทุน จ.ราชบุรี
๒๘ มี.ค. นีเวีย ซัน และ วัตสัน จับมือต่อปีที่สองชวนดูแลท้องทะเล กับโครงการ เพราะแคร์ จึงชวนแชร์ ร่วมพิทักษ์รักษ์ทะเลไทย
๒๘ มี.ค. Cloud เทคโนโลยีที่อยู่ใกล้ตัว เพียงแค่คุณไม่รู้เท่านั้นเอง
๒๘ มี.ค. โรยัล คานิน ร่วมกับ เพ็ทแอนด์มี จัดงาน Royal Canin Expo 2024: PAWRENTS' DAY เพื่อสร้างโลกที่ดีขึ้นสำหรับน้องแมวและน้องหมา
๒๘ มี.ค. STEAM Creative Math Competition
๒๘ มี.ค. A-HOST ร่วมวาน MFEC Inspire ขึ้นบรรยายพร้อมจัดบูธ Cost Optimization Pavilion
๒๘ มี.ค. ฟินเวอร์! ส่องความคิ้วท์ 'ฟอส-บุ๊ค' ควงคู่ร่วมงาน Discover Thailand เสิร์ฟโมเมนต์ฉ่ำให้แฟนๆ ได้ดับร้อนกันยกด้อมรับซัมเมอร์ และร่วมส่งต่อความสุขในกิจกรรม 'Exclusive Unseen Food Trip กับ คู่ซี้