ซีอีโอแห่ยกระดับทักษะแรงงานในองค์กร หวังปิดช่องว่างทางทักษะพร้อมเสริมสร้างนวัตกรรมและความไว้วางใจ

จันทร์ ๑๕ กรกฎาคม ๒๐๑๙ ๑๕:๐๓
PwC เผยซีอีโอทั่วโลกหันมาให้ความสำคัญกับการเพิ่มพูนทักษะใหม่ให้กับแรงงาน แทนที่การเฟ้นหาทาเลนท์จากภายนอกอุตสาหกรรมมากขึ้น เพื่อปิดช่องว่างทางทักษะ พร้อมเสริมสร้างนวัตกรรมและความไว้วางใจของสาธารณชน ชี้องค์กรไทยประสบปัญหานี้ ไม่ต่างจากองค์กรทั่วโลก และเริ่มหันมาลงทุนด้านระบบบริหารทรัพยากรบุคคลและพัฒนาทักษะแรงงานเดิมมากขึ้น เพื่อช่วยให้บุคลากรสามารถทำงานร่วมกับเทคโนโลยีได้อย่างไร้รอยต่อ

นางสาว ภิรตา ภักดีสัตยพงศ์ หุ้นส่วนสายงานที่ปรึกษา บริษัท PwC ประเทศไทย เปิดเผยถึงรายงาน Talent Trends 2019: Upskilling for a Digital World ของ PwC ว่า 79% ของซีอีโอทั่วโลกที่ถูกสำรวจในปีนี้ แสดงความกังวลว่า การขาดแคลนทักษะแรงงานที่จำเป็นของพนักงานภายในองค์กร กำลังเป็นภัยคุกคามที่มีผลต่อการเติบโตขององค์กรในอนาคต เปรียบเทียบกับ 63% ในปี 2557 ซึ่งนี่เป็นข้อยืนยันว่า ความกังวลเกี่ยวกับทักษะได้ปรับตัวเพิ่มขึ้น สอดคล้องกับการเข้ามาของเทคโนโลยีใหม่ๆในช่วง 5 ปีที่ผ่านมา

ทั้งนี้ ปัญหาการขาดแคลนแรงงานที่มีทักษะ ถือเป็นประเด็นความกังวลของผู้บริหารในทุกภูมิภาคทั่วโลก ยกตัวอย่าง เช่น ซีอีโอจากญี่ปุ่น (95%) และยุโรปกลางและตะวันออก (89%) แสดงความกังวลในประเด็นนี้มากที่สุด ในขณะที่ซีอีโอจากอิตาลี (55%) และตุรกี (45%) มีความกังวลเรื่องทักษะแรงงานน้อยที่สุด อย่างไรก็ตาม 55% ของบรรดาซีอีโอที่มีความกังวลมากที่สุด กล่าวว่า ธุรกิจของพวกเขาไม่สามารถสร้างสรรค์นวัตกรรมใหม่ๆ ได้อย่างมีประสิทธิภาพ และอีก 52% กล่าวว่า ต้นทุนค่าใช้จ่ายด้านแรงงานสูงขึ้นรวดเร็วกว่าที่คาดไว้

การเพิ่มพูนทักษะใหม่และเสริมสร้างทักษะเดิมที่มีอยู่กลายเป็นวาระสำคัญของซีอีโอทั่วโลก

ผลสำรวจพบว่า ซีอีโอกำลังปรับเปลี่ยนวิธีปิดช่องว่างทางทักษะความสามารถให้กับแรงงานของตน โดยเกือบครึ่ง (46%) ของซีอีโอทั่วโลกกล่าวว่า การฝึกอบรมทักษะเดิมที่มีอยู่และการเพิ่มพูนทักษะใหม่ กลายเป็นโครงการความคิดริเริ่มที่มีความสำคัญที่สุดต่อการปิดช่องว่างทางทักษะ ตรงข้ามกันกับผู้บริหารเพียง 18% ที่กล่าวว่า จะว่าจ้างแรงงานที่มีทักษะจากภายนอกอุตสาหกรรมของตน ซึ่งผลสำรวจในปีนี้ยังตรงข้ามกับผลจากการสำรวจในปีที่ผ่านๆ มา ที่ระบุว่า ซีอีโอกำลังมองหาแรงงานที่มีทักษะจากกลุ่มอุตสาหกรรมอื่นๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง อุตสาหกรรมที่เกี่ยวข้องกับนวัตกรรม และมีการจ้างแรงงานชั่วคราวจากภายนอก (Gig economy worker)

นางสาว แครอล สตับบิงส์ หัวหน้าร่วม สายงาน Global People & Organisation ของ PwC สหราชอาณาจักร กล่าวว่า

"แม้ว่าการฝึกอบรมทักษะเดิมที่มีอยู่ให้กับพนักงานจะต้องอาศัยการลงทุน แต่เมื่อเทียบกับทางเลือกอื่นๆ เช่น การจ่ายเงินชดเชยให้กับพนักงานที่ถูกปลด และต้นทุนในการเฟ้นหาพนักงานใหม่ที่มีทักษะที่กำลังเป็นที่ต้องการ มองว่า การฝึกอบรมทักษะเดิมที่มีอยู่เป็นทางเลือกที่น่าสนใจกว่า"

ทั้งนี้ การให้ความสำคัญกับการปรับปรุงทักษะเดิมที่มีอยู่ของพนักงาน ยังเป็นที่ต้องการของพนักงานด้วย โดยผลจากการสำรวจพนักงานทั่วโลกจำนวนกว่า 12,000 รายพบว่า พนักงานยินดีที่จะใช้เวลา 2 วันต่อเดือนในการเข้าฝึกอบรมเพื่อยกระดับทักษะทางด้านดิจิทัลของตนจากนายจ้าง

ปรับสมดุลเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพของงาน และสร้างความไว้วางใจ

ผลสำรวจยังชี้ด้วยว่า การหันมาให้ความสำคัญกับการเพิ่มพูนทักษะใหม่นั้น เกิดขึ้นหลังจากการเพิ่มขึ้นของการใช้ระบบออโตเมชันและเทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์ หรือ เอไอ (Artificial Intelligence: AI) โดยแม้ว่าเทคโนโลยีเกิดใหม่เหล่านี้ จะเข้ามาแทนที่พนักงานบางตำแหน่งอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ แต่ความคิดเห็นของซีอีโอกลับแตกต่างกันไปตามขนาดและความรวดเร็วของการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นนั้นๆ

อย่างไรก็ดี สิ่งหนึ่งที่ชัดเจนที่พบจากผลสำรวจคือ การลงทุนในการเพิ่มพูนทักษะทางด้านดิจิทัลนั้น เป็นแค่ส่วนหนึ่งของสิ่งที่จำเป็นต่อการสร้างแรงงานในอนาคต (Workforce of the future) เพราะการจะทำให้พนักงานมีส่วนร่วมในการมีทักษะใหม่ๆ ต้องอาศัยการมีวัฒนธรรมการเรียนรู้ขององค์กรที่แข็งแกร่ง ที่ถูกผนวกเข้าไปกับสถานที่ทำงานที่มีคุณภาพสูงอย่างแยกออกจากกันไม่ได้

"นายจ้างต้องเติมเต็มความต้องการของการสร้าง 'ผลงานที่ดี' ให้เพิ่มขึ้น โดยต้องสร้างประสบการณ์ที่เติมเต็มและมีคุณค่าสูงให้กับพนักงาน ซึ่งแม้เทคโนโลยีจะนำมาซึ่งโอกาสในการเพิ่มประสิทธิภาพและการบริหารต้นทุน แต่ก็นำมาซึ่งโอกาสในการทำให้ชีวิตการทำงานมีคุณค่าและมีความหมายมากขึ้นด้วย" นางสาว แครอล กล่าว

ฉะนั้นในการที่องค์กรจะสร้างผลงานที่ดีได้ จำเป็นที่จะต้องมีข้อมูลที่เกี่ยวกับแรงงานที่มีคุณภาพสูง โดยในขณะที่ 86% ของซีอีโอกล่าวว่า ข้อมูลของคนที่ถูกต้องมีความสำคัญ แต่ผลสำรวจพบว่า มีเพียง 29% เท่านั้นที่เชื่อว่า ข้อมูลที่พวกเขาได้รับอยู่ในปัจจุบันนั้นเพียงพอแล้ว

ซีอีโอยังตระหนักว่า ผลกระทบของระบบออโตเมชันต่อแรงงานภายในองค์กรนั้น มีผลต่อการสร้างความไว้วางใจของสาธารณชน โดยครึ่งหนึ่งของผู้ตอบแบบสอบถามเห็นว่า การขาดความไว้วางใจในธุรกิจ ถือเป็นภัยคุกคามต่อการเติบโตขององค์กร และพวกเขารู้ว่า วิธีที่พวกเขาใช้จัดการกับระบบออโตเมชันจะเป็นบททดสอบความไว้วางใจของสาธารณชน

ซึ่งในประเด็นนี้ ซีอีโอยังมีความคิดเห็นที่แตกต่างกันถึงความรับผิดชอบต่อการถูกแทนที่ด้วยระบบออโตเมชันและเอไอของพนักงานว่าควรตกเป็นของใคร โดย 66% ของซีอีโอเชื่อว่า รัฐบาลควรจัดให้มีสิ่งจูงใจเพื่อให้เกิดการพัฒนาและใช้เอไอ ในขณะที่ 56% คิดว่า รัฐบาลควรจัดให้มีมาตรการคุ้มครองพนักงานที่ถูกแทนที่ด้วยเทคโนโลยี ซึ่งประเด็นนี้ยังมีข้อที่ต้องถกเถียงอีกมาก

ด้านนาย ภูชาน เสธิ หัวหน้าร่วม สายงาน Global People & Organisation PwC สหรัฐอเมริกา กล่าวว่า

"รูปแบบของสถานที่ทำงานกำลังถูกปรับเปลี่ยนไปจากรูปแบบเดิมๆ ที่มีอยู่มานานหลายสิบปี และกำลังเข้าสู่ช่วงเวลาของการเปลี่ยนแปลงอย่างทันทีทันใดโดยไม่มีจุดสิ้นสุดที่แน่นอน ดังนั้น องค์กรจะต้องเผชิญกับอุปสรรคมากมายในการเดินไปสู่ความสำเร็จ รวมถึงการสร้างและคงไว้ซึ่งความไว้วางใจ อันจะเป็นกุญแจสำคัญทั้งต่อตัวพนักงานเอง และภาครัฐ รวมไปถึงสังคมโดยรวมด้วย"

คำแนะนำ 5 ข้อสำหรับซีอีโอ

1. ปรับปรุงการวิเคราะห์ข้อมูลของพนักงาน

2. ผู้นำธุรกิจต้องสื่อสารถึงกลยุทธ์ในการปรับปรุงทักษะเดิมที่มีอยู่ของพนักงานได้อย่างชัดเจนขึ้น และต้องชี้แจงได้ว่าแท้จริงแล้ว การปรับปรุงทักษะเดิมที่มีอยู่ มีความหมายสำหรับพนักงานของพวกเขาอย่างไร

3. การสื่อสารกับผู้มีส่วนได้ส่วนเสียจากภายนอก จะมีความสำคัญไม่แพ้กัน

4. การปรับปรุงทักษะเดิมที่มีอยู่ของพนักงานเป็นเพียงแค่ส่วนหนึ่งของการเป็นองค์กรที่คนต้องการทำงานด้วย

5. ต้องมีแนวทางใหม่ๆ ในการบริหารสถานที่ทำงาน เพื่อเปลี่ยนแปลงรูปแบบของสถานที่ทำงาน

ด้านนางสาว ภิรตา กล่าวเสริมว่า "องค์กรไทยกำลังประสบปัญหาการขาดแคลนแรงงานที่มีทักษะ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ทักษะทางด้านดิจิทัลเช่นเดียวกับองค์กรทั่วโลก โดยทาเลนท์ที่มีความเชี่ยวชาญเฉพาะด้านไม่ว่าจะเป็นการวิเคราะห์ข้อมูล ทักษะทางด้านคลาวด์คอมพิวติ้ง การเรียนรู้ของเครื่องจักร และการป้องกันความปลอดภัยของข้อมูลกำลังเป็นที่ต้องการมาก แต่อย่างไรก็ดี หลายๆ บริษัทในประเทศก็ไม่ได้นิ่งนอนใจกับปัญหานี้ ส่วนใหญ่หันมาลงทุนด้านบุคลากรมากขึ้นโดยมีการนำระบบบริหารจัดการบุคลากรเข้ามาใช้ เพื่อช่วยเพิ่มประสิทธิภาพและขยายขีดความสามารถในการวิเคราะห์ทรัพยากรบุคคลขององค์กร นอกจากนี้ บริษัทไทยหลายรายยังมุ่งเน้นในการจัดโปรแกรมฝึกอบรมการเพิ่มพูนทักษะทางด้านดิจิทัลให้แก่พนักงานมากขึ้นด้วย เพื่อปิดช่องว่างทางทักษะและลดความกังวลของพนักงานในการถูกแทนที่ด้วยเทคโนโลยี"

ข่าวประชาสัมพันธ์ล่าสุด

๑๙ เม.ย. บิทูเมน มารีน บริษัทลูก TASCO ลงนามสัญญาต่อเรือขนส่งยางมะตอย เสริมศักยภาพกองเรือ
๑๙ เม.ย. รมว.เกษตรฯ ลุยร้อยเอ็ด ผลักดันโครงการพัฒนาแหล่งน้ำ 3 แห่ง
๑๙ เม.ย. กูรูหุ้นเชียร์ซื้อ PSP เคาะเป้าราคาสูงสุด 8 บ./หุ้น ยอดขายพุ่ง-หนี้ลด ดันกำไรปี 67 ออลไทม์ไฮ ดีล MA สร้าง New S-Curve
๑๙ เม.ย. ข้าวกล้อง-จักรีภัทร พร้อมเต็มร้อย! ประเดิม จูเนียร์จีพี สนามแรก ประเทศอิตาลี
๑๙ เม.ย. กรมประมงขอเชิญร่วมแข่งขันตกปลาชะโด
๑๙ เม.ย. เชลล์ดอน การ์ตูนดังร่วมสาดความสนุกในเทศกาลสงกรานต์
๑๙ เม.ย. สปสช. ติดปีกเทคโนโลยีไอทีด้วยคลาวด์กลางภาครัฐ GDCC ยกระดับบริการบัตรทองรวดเร็วทันสมัย ดูแลสุขภาพคนไทยยุคดิจิทัล
๑๙ เม.ย. GSK ร่วมงาน Re-imagining UK Aging Care Event ของสถานทูตอังกฤษ มุ่งสร้างเสริมภูมิคุ้มกันผู้สูงอายุ
๑๙ เม.ย. เอส เอฟ จับมือ กปน. มอบสิทธิ์ดูฟรีรวม 1,000 ที่นั่ง เพียงใช้ MWA Point ที่ เอส เอฟ!!
๑๙ เม.ย. เตรียมพร้อมนับถอยหลัง 12 ชั่วโมงสุดท้าย! ก่อนเริ่มประวัติศาสตร์ครั้งใหม่ Bitcoin Halving ครั้งที่ 4