ตลาดหุ้นทั่วโลก ปิดผสมผสาน ท่ามกลางความกังวลการเจรจาการค้าระหว่างสหรัฐฯ-จีน ที่ยังไม่คืบหน้า

อังคาร ๒๓ กรกฎาคม ๒๐๑๙ ๑๐:๓๗
วิเคราะห์เจาะลึกประเด็นการลงทุนประจำสัปดาห์ วันที่ 22 – 26 กรกฎาคม 2562

ในสัปดาห์ที่ผ่านมา (15 – 19 ก.ค.) ตลาดหุ้นทั่วโลก ปิดผสมผสาน โดยตลาดหุ้นสหรัฐฯ ปิดลบ เนื่องจาก การเจรจาการค้าระหว่างสหรัฐฯ-จีน ยังไม่มีความคืบหน้า และเจ้าหน้าที่ธนาคารกลางสหรัฐฯ (Fed) หลายราย ระบุว่า พร้อมจะปรับลดดอกเบี้ยเพียง 0.25% น้อยกว่าที่นักลงทุนบางส่วนคาดว่า Fed จะปรับลดดอกเบี้ย 0.5% ในการประชุมสิ้นเดือนก.ค. นี้ ด้านตลาดหุ้นญี่ปุ่น ปิดลบ โดยได้รับแรงกดดันจากเงินเยนที่แข็งค่าขึ้นเทียบดอลลาร์ สหรัฐฯ และความกังวลต่อผลประกอบการของบริษัทจดทะเบียน (บจ.) ของญี่ปุ่น จากสงครามการค้าที่ยืดเยื้อ ขณะที่ตลาดหุ้นยุโรป ปิดบวก จากความคาดหวังว่า ธนาคารกลางยุโรป (ECB) จะส่งสัญญาณผ่อนคลายนโยบายการเงิน ด้านราคาน้ำมัน ปรับลดลง เนื่องจากความกังวลต่อการผลิตน้ำมันของสหรัฐฯ ที่จะเพิ่มขึ้น หลังบริษัทน้ำมันในอ่าวเม็กซิโก เริ่มกลับมาดำเนินการผลิต และสต็อกน้ำมันดิบสหรัฐฯ ลดลงน้อยกว่าคาด ขณะที่ราคาทองคำ ปิดบวก จากความกังวลการเจรจาการค้าระหว่างสหรัฐฯ-จีน ที่ยังไม่คืบหน้า และ Fed ส่งสัญญาณปรับลดอัตราดอกเบี้ย

ตลาดหุ้นสหรัฐฯ ปิดลบ โดยนักลงทุนกังวลการเจรจาการค้าระหว่างสหรัฐฯ-จีนที่ยังไม่คืบหน้า แม้ตลาดจะปรับเพิ่มขึ้น หลังถ้อยแถลงของประธาน Fed สาขานิวยอร์ก ทำให้นักลงทุนคาดว่า Fed จะลดดอกเบี้ยในการประชุม 30-31 ก.ค.นี้ แต่ตลาดฯ ได้ลดช่วงบวกลง หลังเจ้าหน้าที่ Fed หลายรายชี้ว่า พวกเขาพร้อมที่จะปรับลดอัตราดอกเบี้ยลงเพียง 0.25% แต่ไม่ถึง 0.5% ในการประชุมสิ้นเดือน ก.ค.นี้

ตลาดหุ้นยุโรป ปิดบวก เนื่องจาก นักลงทุนคาดว่า ECB จะส่งสัญญาณผ่อนคลายนโยบายการเงินในสัปดาห์หน้า และ Fed จะปรับลดอัตราดอกเบี้ยสิ้นเดือน ก.ค.นี้ แต่ตลาดฯ ปรับเพิ่มขึ้นอย่างจำกัด นักลงทุนกังวลการเจรจาการค้าสหรัฐฯ-จีนที่ยังไม่คืบหน้า

ตลาดหุ้นญี่ปุ่น ปิดลบ ได้รับแรงกดดันจากเงินเยนที่แข็งค่าขึ้นเทียบดอลลาร์ สหรัฐฯ ท่ามกลางความกังวลข้อพิพาทการค้าระหว่างสหรัฐฯ-จีนที่ยืดเยื้อ จะส่งผลกระทบต่อผลประกอบการบริษัทจดทะเบียนของญี่ปุ่น และ คาดว่า Fed จะปรับลดอัตราดอกเบี้ยลงในเดือนนี้

ตลาดหุ้นจีน (A-Share) ปิดลบ เนื่องจาก นักลงทุนกังวลข้อพิพาทการค้าระหว่างสหรัฐฯ-จีน หลังประธานาธิบดี ทรัมป์ ระบุการเจรจายังไม่คืบหน้า และขู่ที่จะเก็บภาษีสินค้านำเข้าจากจีนเพิ่มขึ้น ขณะที่อุปสรรคที่เกี่ยวข้องกับประเด็น บริษัท หัวเว่ย เทคโนโลยียังมีอยู่

ตลาดหุ้นไทย ปรับลดลงช่วงต้นสัปดาห์ จากความกังวลสงครามการค้าระหว่างสหรัฐฯ-จีน แต่ดัชนีฯ ลดช่วงลบลงในช่วงท้ายสัปดาห์ หลังประธาน Fed สาขานิวยอร์ก ส่งสัญญาณการเร่งปรับลดอัตราดอกเบี้ย และ "ฟิทช์ เรทติ้งส์" ยังได้ปรับเพิ่มมุมมองประเทศไทยจาก "Stable" เป็น "Positive"

ตลาดน้ำมัน ปิดร่วงลง เนื่องจาก นักลงทุนกังวลต่อปริมาณการผลิตน้ำมันของสหรัฐฯ ที่จะเพิ่มขึ้น โดยบริษัทน้ำมันในอ่าวเม็กซิโกได้เริ่มกลับมาผลิตแล้วกว่า 80% หลังเผชิญพายุเฮอร์ริเคน Barry ขณะที่ความตึงเครียดระหว่างสหรัฐฯ-อิหร่านลดลง และ สต็อกน้ำมันดิบสหรัฐฯ ลดลงน้อยกว่าคาด

ตลาดทองคำ ปิดบวก นักลงทุนกังวลเจรจาการค้าระหว่างสหรัฐฯ-จีนที่ไม่คืบหน้า และ Fed ส่งสัญญาณลดอัตราดอกเบี้ย แต่ราคาลดช่วงบวกลง หลังเงินดอลลาร์ สหรัฐฯ แข็งค่า

เหตุการณ์สำคัญ (KEY EVENTS)

การประชุม ECB (25 ก.ค.) คาดว่า ECB จะยังคงอัตราดอกเบี้ยนโยบาย (Refinancing Rate) อยู่ที่ 0% พร้อมกับคงอัตราดอกเบี้ยเงินฝากที่ธนาคารพาณิชย์ฝากไว้กับ ECB อยู่ที่ -0.40% ขณะที่คงอัตราดอกเบี้ยเงินกู้ อยู่ที่ 0.25% อย่างไรก็ดี นักลงทุนคาดว่า ECB จะเริ่มส่งสัญญาณปรับลดดอกเบี้ยลงในเดือน ก.ย. และ การเข้าซื้อพันธบัตรตามมาตรการผ่อนคลายเชิงปริมาณ (QE) ในเดือน ต.ค.เพื่อหนุนเศรษฐกิจยูโรโซนที่ซบเซาลง

คาดว่า นายบอริส จอห์นสัน มีโอกาสค่อนข้างมาก ที่จะได้รับการโหวตเลือกตั้งให้เป็นหัวหน้าพรรคอนุรักษ์นิยมคนใหม่ ซึ่งจะกลายเป็นนายกฯของอังกฤษคนต่อไป และอาจผลักดันให้อังกฤษออกจากการเป็นสมาชิกสหภาพยุโรป โดยไม่มีข้อตกลง (No Deal) ภายในเส้นตายสิ้นเดือน ต.ค.นี้ ซึ่งจะทำให้เกิดความวุ่นวายทางการเมือง และส่งผลลบต่อเศรษฐกิจอังกฤษและยุโรปต่อไป

คาดว่า ตัวเลข GDP ในไตรมาส 2/2562 ของสหรัฐฯ จะขยายตัวชะลอลงจากในไตรมาส 1/2562 จากการชะลอตัวของภาคการผลิตและลงทุน

มุมมองของเราในสัปดาห์นี้

ในสัปดาห์นี้ ตลาดหุ้นโลกยังมีแนวโน้มเคลื่อนไหวผันผวน โดยปัจจัยที่สนับสนุนให้ตลาดฯ ปรับเพิ่มขึ้น ได้แก่ การส่งสัญญาณดำเนินนโยบายการเงินที่ผ่อนคลายของธนาคารกลางหลักๆ ของโลก ได้แก่ Fed และ ECB อย่างไรก็ตาม ตลาดฯ มีแนวโน้มปรับเพิ่มขึ้นอย่างจำกัด เนื่องจาก ความกังวลต่อประเด็นการออกจากสหภาพยุโรปของอังกฤษ (Brexit) โดยไม่มีข้อตกลง (No deal) หากนายบอริส จอห์นสัน ได้รับเลือกให้เป็นนายกรัฐมนตรีของอังกฤษคนต่อไป รวมทั้ง ประเด็นความคืบหน้าการเจรจาการค้าระหว่างสหรัฐฯ-จีน โดยเฉพาะกรณีของบริษัท หัวเว่ย และความกังวลต่อสถานการณ์ความตึงเครียดในตะวันออกกลาง สำหรับตลาดหุ้นไทย คาดว่า จะได้รับปัจจัยกดดันจากการรายงานตัวเลขส่งออกในเดือน มิ.ย.ที่หดตัวลง จากผลกระทบของสงครามการค้า และการแข็งค่าของเงินบาท อย่างไรก็ตาม นักลงทุนรอติดตามการแถลงนโยบายของรัฐบาลต่อรัฐสภา (25-26 ก.ค.) และการทยอยประกาศผลประกอบการบริษัทจดทะเบียนในไตรมาส 2/2562 ซึ่งหากออกมาดีกว่าคาด จะส่งผลบวกต่อตลาดหุ้นไทย

ปัจจัยจับตาสัปดาห์นี้

ตัวเลขเศรษฐกิจ ได้แก่ ยอดขายบ้านใหม่และบ้านมือสองของสหรัฐฯ / ยอดสั่งซื้อสินค้าคงทนของสหรัฐฯ / GDP ไตรมาส 2/2562 ของสหรัฐฯ / ดัชนี PMI ภาคการผลิต ของสหรัฐฯ ยุโรป เยอรมนี และญี่ปุ่น / การส่งออก ของไทย

เหตุการณ์สำคัญ ได้แก่ ผลการประชุม ECB / ผลการเลือกตั้งหัวหน้าพรรคอนุรักษ์นิยมอังกฤษ / การเลือกตั้งสภาสูงของญี่ปุ่น/ ผลประกอบการบริษัทจดทะเบียนในไตรมาส 2 / การเจรจาการค้าระหว่างสหรัฐฯ-จีน / รัฐบาลไทยแถลงนโยบายต่อรัฐสภา

ข่าวประชาสัมพันธ์ล่าสุด

๒๘ มี.ค. องค์การบรรจุภัณฑ์โลก จับมือ อินฟอร์มา มาร์เก็ตส์ ประเทศไทย ร่วมจัดกิจกรรมสัมมนาออนไลน์
๒๘ มี.ค. การแข่งขันกีฬาขี่ม้าโปโลรายการ King Power International Ladies' Polo Tournament 2024
๒๘ มี.ค. DEXON ปักธงรายได้ปี 67 ทะลุ 700 ลบ. โชว์ Backlog เฉียด 280 ลบ. ล็อคมาร์จิ้น 35-40%
๒๘ มี.ค. JPARK ร่วมงาน Dinner Talk ผู้บริหารจดทะเบียนพบนักลงทุน จ.ราชบุรี
๒๘ มี.ค. นีเวีย ซัน และ วัตสัน จับมือต่อปีที่สองชวนดูแลท้องทะเล กับโครงการ เพราะแคร์ จึงชวนแชร์ ร่วมพิทักษ์รักษ์ทะเลไทย
๒๘ มี.ค. Cloud เทคโนโลยีที่อยู่ใกล้ตัว เพียงแค่คุณไม่รู้เท่านั้นเอง
๒๘ มี.ค. โรยัล คานิน ร่วมกับ เพ็ทแอนด์มี จัดงาน Royal Canin Expo 2024: PAWRENTS' DAY เพื่อสร้างโลกที่ดีขึ้นสำหรับน้องแมวและน้องหมา
๒๘ มี.ค. STEAM Creative Math Competition
๒๘ มี.ค. A-HOST ร่วมวาน MFEC Inspire ขึ้นบรรยายพร้อมจัดบูธ Cost Optimization Pavilion
๒๘ มี.ค. ฟินเวอร์! ส่องความคิ้วท์ 'ฟอส-บุ๊ค' ควงคู่ร่วมงาน Discover Thailand เสิร์ฟโมเมนต์ฉ่ำให้แฟนๆ ได้ดับร้อนกันยกด้อมรับซัมเมอร์ และร่วมส่งต่อความสุขในกิจกรรม 'Exclusive Unseen Food Trip กับ คู่ซี้