ส่งออกหักทองคำเดือน มิ.ย. หดตัว -8.7%YOY อีไอซีคงมุมมองส่งออกทั้งปีหดตัว -1.6%

อังคาร ๒๓ กรกฎาคม ๒๐๑๙ ๐๘:๔๖
Key Data

มูลค่าการส่งออกไทยเดือน มิ.ย. 2019 โดยรวมหดตัวที่ -2.1%YOY แต่หากหักทองคำ การส่งออกหดตัวถึง -8.7%YOY (จากการส่งออกทองคำเดือน มิ.ย. ขยายตัวในระดับสูงถึง 317.4%YOY) โดยหากไม่รวมการส่งกลับอาวุธไปยังสหรัฐฯ ในเดือน ก.พ. มูลค่าส่งออกของไทยหดตัวติดต่อกันเป็นเดือนที่ 8 และในช่วงครึ่งแรกของปี 2019 มูลค่าการส่งออกหดตัวที่ -4.4%YOY

- สินค้าสำคัญที่มีการหดตัวยังคงเป็นสินค้าที่เป็นส่วนหนึ่งในห่วงโซ่อุปทานของการผลิตสินค้าส่งออกของจีนที่ได้รับผลกระทบจากมาตรการกีดกันทางการค้าของสหรัฐฯ เช่น คอมพิวเตอร์-อุปกรณ์และส่วนประกอบ (-15.5%YOY) เคมีภัณฑ์และพลาสติก (-19.3%YOY) และแผงวงจรไฟฟ้า (-20.6%YOY) นอกจากนี้ ยังมีสินค้าส่งออกประเภทอื่นที่มีการหดตัว เช่น ข้าว (-34.6%YOY) เม็ดพลาสติก (-17.6%YOY) เครื่องใช้ไฟฟ้า (-5.9%YOY) ผลิตภัณฑ์ยาง (-9.2%YOY) และน้ำตาลทราย (-19.4%YOY) ขณะที่ สินค้าสำคัญที่มีการขยายตัวในเดือน มิ.ย. คือยางพาราที่พลิกกลับมาขยายตัวที่ 11.8%YOY จากการส่งออกไปยังตลาดจีน (+48.7%YOY) และสหรัฐฯ (+10.4%YOY)

- การส่งออกหดตัวเกือบทุกตลาดสำคัญ โดยเฉพาะการส่งออกไปจีนที่หดตัวถึง -14.9%YOY รวมถึงการส่งออกไป CLMV ที่หดตัว -9.3%YOY โดยมีการหดตัวทั้งการส่งออกไปกัมพูชา (-12.5%YOY หดตัวมากจากการส่งออกจักรยานยนต์) ลาว (-6.6%YOY หดตัวมากจากการส่งออกน้ำมันสำเร็จรูป) เมียนมา (-18.0%YOY หดตัวมากจากการส่งออกเครื่องจักร) และเวียดนาม (-4.5%YOY หดตัวมากจากการส่งออกเม็ดพลาสติก) อย่างไรก็ดี การส่งออกไปยังอินเดียยังสามารถขยายตัวได้ที่ 8.1%YOY

มูลค่าการนำเข้าหดตัวที่ -9.4%YOY จากการหดตัวในทุกหมวดสินค้า โดยเฉพาะการนำเข้าสินค้าเชื้อเพลิงที่หดตัวถึง -18.8%YOY ขณะที่ การนำเข้าสินค้าทุนและวัตถุดิบก็มีการหดตัวเช่นกันที่

-11.3%YOY และ -5.2%YOY ตามลำดับ ซึ่งจากมูลค่าการนำเข้าสินค้าที่ยังต่ำกว่ามูลค่าส่งออกสินค้า ทำให้ดุลการค้าเกินดุลที่ 3,212 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ในเดือน มิ.ย. ที่ผ่านมา

Implication

การส่งออกของไทยยังไม่มีสัญญาณฟื้นตัว เช่นเดียวกับหลายประเทศในภูมิภาค (รูปที่ 1) โดยมูลค่าการส่งออกของหลายประเทศมีการหดตัวต่อเนื่องและหากพิจารณาอัตราการการขยายตัวของมูลค่าส่งออกในเดือน มิ.ย. พบว่า ในหลายประเทศ การส่งออกมีทิศทางหดตัวมากขึ้นจากตัวเลขในเดือน พ.ค. ซึ่งส่วนหนึ่งอาจเกิดจากสงครามการค้าที่ยกระดับความรุนแรงเพิ่มขึ้นเมื่อเดือน พ.ค. ที่ผ่านมา ซึ่งเดือน มิ.ย. เป็นเดือนแรกที่ได้รับผลกระทบจากความรุนแรงที่เพิ่มขึ้นดังกล่าว สำหรับมูลค่าการส่งออกของไทยในเดือน มิ.ย. เมื่อหักผลจากการส่งออกทองคำพบว่า มีทิศทางหดตัวมากขึ้นเช่นเดียวกัน ดังนั้นอีไอซีประเมินว่า สถานการณ์ส่งออกทั้งของไทยและของหลายประเทศผู้ส่งออกสำคัญในภูมิภาคยังไม่มีสัญญาณฟื้นตัว

คงมุมมองส่งออกปี 2019 หดตัว -1.6% โดยการส่งออกอาจหดตัวได้มากถึง -3.1% ในกรณีเลวร้ายที่สุด จากตัวเลขการส่งออกครึ่งปีแรกที่หดตัว -4.4%YOY (ไม่รวมการส่งกลับอาวุธ) อีไอซีประเมินว่า ยังเป็นตัวเลขที่ใกล้เคียงกับประมาณการที่คาดไว้ล่าสุด (อ่านต่อได้ในบทความ Outlook ไตรมาส 3/2019 https://www.scbeic.com/th/detail/product/6115) โดยคาดว่าในช่วงครึ่งหลังของปี แม้การส่งออกจะไม่ได้มีสถานการณ์ดีขึ้น แต่จะได้รับอานิสงส์จากปัจจัยฐานต่ำในช่วงครึ่งหลังของปี 2018 ที่ภาวะสงครามการค้าได้เริ่มส่งผลกระทบ จึงทำให้คาดว่ามูลค่าการส่งออกทั้งปี 2019 มีแนวโน้มหดตัวที่ -1.6% (เทียบกับตัวเลข Consensus (Asia Pacific Consensus Forecast, survey date: July, 8 2019) ที่มีคาดการณ์เฉลี่ยอยู่ที่ 0.2%) อย่างไรก็ดี แม้สถานการณ์สงครามการค้าหลังการประชุม G20 เมื่อปลายเดือน มิ.ย. จะปรับตัวดีขึ้นบ้าง จากการที่จีนและสหรัฐฯ ได้ตกลงกลับเข้าสู่การเจรจาอีกครั้ง และไม่มีการปรับขึ้นภาษีนำเข้าเพิ่มเติม แต่อีไอซีคาดว่า ในระยะข้างหน้ายังมีความไม่แน่นอนสูงจึงได้จัดทำการวิเคราะห์ในกรณีต่าง ๆ (ตารางที่ 1) ซึ่งในกรณีฐานมีสมมติฐานว่าสถานการณ์ด้านสงครามการค้าจะไม่เปลี่ยนแปลงจากปัจจุบัน แต่หากสถานการณ์เลวร้ายเพิ่มขึ้น โดยสมมติให้สหรัฐฯ มีการปรับเพิ่มภาษีนำเข้าของสินค้าจีนมูลค่าประมาณ 3 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐที่ 10% ก็จะทำให้มูลค่าการส่งออกของไทยปี 2019 หดตัวเพิ่มขึ้นเป็น -2.3% ขณะที่ ในกรณีเลวร้ายที่สุด คือสหรัฐฯ มีการเก็บภาษีเพิ่มเติมกับสินค้ากลุ่มดังกล่าวที่ 25% ก็จะทำให้มูลค่าการส่งออกของไทยปี 2019 หดตัวได้มากถึง -3.1% (อ่านรายละเอียดด้านผลกระทบต่อเศรษฐกิจในกรณีต่าง ๆ ได้ที่ Outlook ไตรมาส 3/2019)

การส่งออกที่หดตัวต่อเนื่อง มีแนวโน้มทำให้ GDP ไตรมาส 2/2019 ชะลอตัวจากไตรมาสแรก โดยหากพิจารณามูลค่าการส่งออกไม่รวมทองคำ (และหักผลของการส่งกลับอาวุธเดือน ก.พ.) ซึ่งเป็นตัวเลขที่ส่งผลต่อ GDP โดยตรง พบว่า ในช่วงไตรมาสแรกและไตรมาสสองมีการหดตัวเท่ากันที่ -5.3%YOY สะท้อนว่าสถานการณ์ด้านส่งออกในช่วงไตรมาส 2 ยังไม่มีทิศทางดีขึ้นจากไตรมาสแรก

อย่างไรก็ดี การหดตัวที่ต่อเนื่องของภาคส่งออกได้เริ่มกระจายไปยังภาคเศรษฐกิจอื่น ๆ เช่น การชะลอลงของภาคท่องเที่ยวและการลงทุนภาคเอกชน จึงทำให้คาดว่า GDP ไตรมาสที่ 2 จะมีแนวโน้มชะลอลงจากไตรมาสแรกที่ขยายตัว 2.8%YOY ทั้งนี้อีไอซียังคงมุมมองอัตราการขยายตัวของ 2019 GDP ที่ 3.1%

ความเสี่ยงด้านบวกจากมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของรัฐบาล สำหรับสมมติฐานของแรงกระตุ้นจากภาครัฐในกรณีฐานของอีไอซีนั้น เราประเมินว่าจะมีแรงกระตุ้นเพิ่มเติม 2 หมื่นล้านบาท (จากวงเงินที่รัฐบาลมีอยู่ภายใต้งบกลาง 8 หมื่นล้านบาท) ในช่วงครึ่งหลังของปี ดังนั้นหากรัฐบาลสามารถกระตุ้นเศรษฐกิจได้มากกว่าคาด แรงกระตุ้นนี้อาจเป็นความเสี่ยงเชิงบวกต่ออัตราการเติบโตของเศรษฐกิจไทยปี 2019 โดยจากการประมาณการของอีไอซีพบว่า มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจผ่านการบริโภคขนาด 3 หมื่นล้านบาทจะทำให้ 2019 GDP เพิ่มขึ้นประมาณ 0.1 percentage point

ข่าวประชาสัมพันธ์ล่าสุด

๑๙ เม.ย. บิทูเมน มารีน บริษัทลูก TASCO ลงนามสัญญาต่อเรือขนส่งยางมะตอย เสริมศักยภาพกองเรือ
๑๙ เม.ย. รมว.เกษตรฯ ลุยร้อยเอ็ด ผลักดันโครงการพัฒนาแหล่งน้ำ 3 แห่ง
๑๙ เม.ย. กูรูหุ้นเชียร์ซื้อ PSP เคาะเป้าราคาสูงสุด 8 บ./หุ้น ยอดขายพุ่ง-หนี้ลด ดันกำไรปี 67 ออลไทม์ไฮ ดีล MA สร้าง New S-Curve
๑๙ เม.ย. ข้าวกล้อง-จักรีภัทร พร้อมเต็มร้อย! ประเดิม จูเนียร์จีพี สนามแรก ประเทศอิตาลี
๑๙ เม.ย. กรมประมงขอเชิญร่วมแข่งขันตกปลาชะโด
๑๙ เม.ย. เชลล์ดอน การ์ตูนดังร่วมสาดความสนุกในเทศกาลสงกรานต์
๑๙ เม.ย. สปสช. ติดปีกเทคโนโลยีไอทีด้วยคลาวด์กลางภาครัฐ GDCC ยกระดับบริการบัตรทองรวดเร็วทันสมัย ดูแลสุขภาพคนไทยยุคดิจิทัล
๑๙ เม.ย. GSK ร่วมงาน Re-imagining UK Aging Care Event ของสถานทูตอังกฤษ มุ่งสร้างเสริมภูมิคุ้มกันผู้สูงอายุ
๑๙ เม.ย. เอส เอฟ จับมือ กปน. มอบสิทธิ์ดูฟรีรวม 1,000 ที่นั่ง เพียงใช้ MWA Point ที่ เอส เอฟ!!
๑๙ เม.ย. เตรียมพร้อมนับถอยหลัง 12 ชั่วโมงสุดท้าย! ก่อนเริ่มประวัติศาสตร์ครั้งใหม่ Bitcoin Halving ครั้งที่ 4