เวทีเสวนาองค์กรต้านคอร์รัปชันฯ จี้เปิดเผยข้อมูล-เรียกร้องประชาชนจับตาการสรรหากรรมการโปร่งใสไร้การเมืองแทรก

อังคาร ๐๑ ตุลาคม ๒๐๑๙ ๐๙:๑๖
เวทีเสวนาองค์กรต้านคอร์รัปชันฯ จี้รัฐวิสาหกิจเปิดข้อมูลประจำปีแบบ 56-1 เหมือนบริษัทจดทะเบียน เพื่อความโปร่งใส พร้อมเรียกร้องสื่อ – ประชาชนจับตาใกล้ชิด โดยเฉพาะการสรรหากรรมการ แนะเพิ่มกลไกภายนอกตรวจสอบ และปรับปรุงระบบสรรหากรรมการรัฐวิสาหกิจสกัดการเมืองแทรกแซง

องค์กรต่อต้านคอร์รัปชัน (ประเทศไทย) จัดงานเสวนา หัวข้อ "มารยาท หรือจรรยาบรรณ ช่วยชาติได้มากกว่า?... กรณีเปลี่ยนบอร์ดรัฐวิสาหกิจกับการเมือง" ณ โรงแรมแบงค็อก แมริออท มาร์คีส์ ควีนส์ปาร์ค

นายวิเชียร พงศธร ประธานองค์กรต่อต้านคอร์รัปชัน (ประเทศไทย) กล่าวว่า รัฐวิสาหกิจเป็นของคนไทยทุกคน การแต่งตั้งกรรมการรัฐวิสาหกิจเข้าไปดำเนินการบริหาร ถือเป็นเรื่องสำคัญอย่างยิ่ง ดังนั้นการสรรหาแต่งตั้งจึงต้องมีจรรยาบรรณ เลือกคนไปทำงานที่มีความสามารถอย่างโปร่งใส ทั้งนี้ องค์กรต่อต้านคอร์รัปชันต้องการให้ผู้ที่มีหน้าที่สรรหาบุคคลมาเป็นกรรมการในรัฐวิสาหกิจต้องทำด้วยความบริสุทธิ์ใจ เพื่อให้การดูแลรับผิดชอบรัฐวิสาหกิจเป็นไปด้วยความโปร่งใสมีประสิทธิภาพ ดังนั้นอยากให้สื่อมวลชนและประชาชนเฝ้าดูการแต่งตั้งกรรมการให้บริสุทธิ์ยุติธรรมสูงสุดในสังคมไทย

นายประภาศ คงเอียด ผอ.สำนักงานคณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจ (สคร.) กล่าวว่า เรื่องคุณธรรมเป็นเรื่องสูงส่งเหนือกฎหมาย ถ้าทุกคนยึดเรื่องมารยาท คุณธรรม กฎหมายก็ไม่จำเป็น แต่เนื่องจากพฤติกรรมคนแตกต่างกันทำให้ต้องมีกฎหมาย ปัจจุบันเรามีพระราชบัญญัติการพัฒนาการกำกับดูแลและบริหารรัฐวิสาหกิจ 2562 ซึ่งประกาศใช้เมื่อวันที่ 22 พ.ค.2562 โดยนำสิ่งที่เป็นแนวบังคับใช้เดิมมาเป็นแนวทางปฏิบัติ ทั้งมติครม. หลักเกณฑ์การบริหารกำกับดูแลรัฐวิสาหกิจ และประเด็นอื่นๆ หนึ่งในประเด็นที่จะพูดถึงคือเรื่องการสรรหา เพราะมีข่าวว่าหลังจากรัฐบาลชุดนี้เข้ามาก็มีแนวคิดเดิมๆให้กรรมการรัฐวิสาหกิจลาออก

อย่างไรก็ตาม กำลังมีแนวทางที่จะออกกฎหมายลูกต่อ เริ่มตั้งแต่การมีคณะกรรมการกลั่นกรองกรรมการรัฐวิสาหกิจ ซึ่งประกอบด้วยบุคลที่เคยดำรงตำแหน่ง อดีตปลัดกระทรวงการคลัง เลขาธิการคณะกรรมการกฤษฎีกา เลขาธิการสภาพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ผู้อำนวยการสำนักงบประมาณ ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย เลขาธิการสำนักงานคณะกรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ และ จากภาคเอกชน 3 ราย นอกจากนี้ ยังได้กำหนดให้มีตารางบริหารทักษะในการทำงาน ( skill matrix) ใน 4 สาขา คือ บัญชี การเงิน ไอที กฎหมาย รวมทั้งต้องมีบุคคลที่มาจากภาคเอกชนไม่น้อยกว่า 1 ใน 3

นายประภาศ กล่าวว่า กรณีที่มีความเป็นห่วงว่าการเมืองเข้ามาแทรกแซงการแต่งตั้งนั้น สังคมไทยเราเป็นสังคมระบบอุปถัมภ์ แต่อย่างน้อยการมีกฎหมายออกจะทำให้ดำเนินการเหมือนที่ผ่านมายาก และการมีเกณฑ์ที่ชัดเจนก็จะเป็นการป้องกันได้ เช่น การจะเสนอคนนั้นคนนี้ก็ต้องดูว่ามี skill matrix หรือไม่ ซึ่งจะยกระดับกรรมการรัฐวิสาหกิจให้มีคุณภาพมากขึ้น ที่สำคัญประชาชนต้องเข้มแข็งร่วมติดตามตรวจสอบ

นอกจากนี้ เมื่อมีหลักเกณฑ์การสรรหาที่กำหนดไว้ชัดเจนและโปร่งใส ก็จะทำให้สังคมเข้าไปตรวจสอบได้ อีกทั้งการกลั่นกรองของคณะกรรมการคัดเลือกก็จะต้องกำหนดให้เหตุผลไว้ด้วยว่าแต่ละคนเลือกใครเพราะอะไร แต่ในส่วนนี้ไม่ได้กำหนดไว้ว่าต้องเปิดเผยเหมือนหลักเกณฑ์ หากเรามีระบบอย่างนี้ก็น่าจะทำให้ได้คนดีมีความสามารถเข้ามาทำหน้าที่ กรรมการรัฐวิสาหกิจ ปธ.มูลนิธินโยบายสาธารณะเพื่อสังคมฯ แนะเพิ่มกลไกภายนอกตรวจสอบการทำงานรัฐวิสาหกิจ เปิดเวทีชี้แจงผู้ถือหุ้นเหมือนบริษัทจดทะเบียน

ดร.บัณฑิต นิจถาวร ประธานมูลนิธินโยบายสาธารณะเพื่อสังคมและธรรมาภิบาล กล่าวว่า ความแตกต่างระหว่างรัฐวิสาหกิจและบริษัทธุรกิจทั่วไป คือ รัฐวิสาหกิจเป็นของประชาชน ซึ่งจะต้องทำให้ประชาชนรู้สึกเป็นเจ้าของ อย่างเช่นการสรรหากรรมการรัฐวิสาหกิจ ซึ่งมีการวางกลไกการสรรหาทั้ง skill matrix ซึ่งหนีไม่พ้น บัญชี การเงิน กฎหมาย ไอที โดยจะต้องให้เสนอชื่อมากกว่า 2 เท่าของตำแหน่งที่ว่าง และมีการกรรมการกลั่นกรองที่จะทำให้เกิดความโปร่งใสมีระบบดีขึ้น

อย่างไรก็ตาม เมื่อเทียบกับภาคธุรกิจแล้ว การคัดเลือกกรรมการจะเปิดให้ผู้ถือหุ้นได้รู้ว่าใครเป็นใคร มีการแจ้งรายชื่อล่วงหน้าว่าใครจะมาเป็นกรรมการบ้าง ซึ่งตรงนี้เป็นเรื่องดีหากรัฐวิสาหกิจจะนำมาใช้บ้าง คือเปิดเผยข้อมูลว่ามีใครจะมาเป็นกรรมการ หากประชาชนเห็นข้อมูลก็สามารถแจ้งข้อมูลที่มีเข้ามาประกอบการพิจารณาได้

ดร.บัณฑิต กล่าวอีกว่า กลไกการตรวจสอบของรัฐวิสาหกิจมีน้อย อย่างภาคเอกชนจะมีช่องทางการตรวจสอบจากภายนอก ทั้ง สคร. สถาบันนักลงทุน ชุมนุมนักลงทุนรายย่อย นักบัญชี สถาบันต่างๆ แต่รัฐวิสาหกิจไม่มีกลไกตรวจสอบจากภายนอก ซึ่งต้องทำให้เกิดขึ้นเพื่อประสิทธิภาพในการตรวจสอบ รวมทั้งจะต้องทำให้กรรมการมีอิสระในการแสดงความคิดความเห็นและตัดสินใจ ไม่ใช่รอฟังเสียงสัญญาณจากประธาน

ทั้งนี้ ต้องอย่าลืมว่าองค์กรจะขับเคลื่อนไปโดยมีเพียงกรรมการหรือประธานไม่ได้ แต่ต้องมีพนักงานด้วย เพราะกรรมการมาแล้วก็ไปแต่พนักงานคือคนที่สำคัญที่สุดต้องมีจริยธรรม มีความเข้มแข็ง ต้องไม่ยอมทำตามแบบผิดๆ ต้องมองผลประโยชน์ส่วนรวมเป็นสำคัญ อีกทั้ง การจะป้องกันนอมินีเข้ามาเป็นกรรมการก็อยู่ที่หลักเกณฑ์

ดร. บัณฑิต กล่าวอีกว่า เรื่องให้ปลัดกระทรวงต้องไปนั่งเป็นกรรมการในหลายแห่งนั้น ต้องถามว่ามีเวลาไปประชุมได้ครบหรือไม่ หรือการจะมอบหมายใครไปประชุมแทนคนที่รับมอบหมายไม่กล้าตัดสินใจ ซึ่งเป็นเรื่อง conflict of interest หากเป็นไปได้ควรกำหนดไว้ในกฎหมายว่า ข้าราชการประจำหนึ่งคนจะเป็นกรรมการได้กี่แห่ง เพื่อป้องกันการทับซ้อน

"เรื่องกระบวนการแต่งตั้งกรรมการที่สำคัญต้องทำให้เกิดความโปร่งใส ทั้งเรื่องหลักเกณฑ์ เรื่องเหตุผลการตัดสินใจของกรรมการสรรหาแต่ละคนซึ่งจะทำให้ประชาชนสบายใจ อีกทั้งควรเปิดเวทีแบบบริษัทเอกชนที่จัดงานประชุมผู้ถือหุ้นให้กรรมการมาชี้แจงตอบข้อซักถาม รัฐวิสาหกิจก็ควรจะทำบ้างหากทำได้สักสองถึงสามแห่งที่อื่นๆก็จะทำตาม" ดร.บัณฑิตกล่าว

นักวิชาการทีดีอาร์ไอ หนุนวางระบบสรรหา กก.รัฐวิสาหกิจสกัดการเมืองแทรก

ดร.เดือนเด่น นิคมบริรักษ์ ผอ.วิจัยนโยบายด้านการกำกับดูแลที่ดี สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย(ทีดีอาร์ไอ) กล่าวว่า หากเทียบกับต่างประเทศจะเห็นว่ากรรมการรัฐวิสาหกิจของเขาจะไม่มีข้าราชการประจำ และสามารถดูประวัติผลงานที่ผ่านมาได้ แต่ของไทยคลิกไปดูบางแห่งเห็นแต่ชื่อ ไม่รู้ว่าเคยทำอะไรมาบ้าง ตรงนี้ต้องปรับปรุงเพื่อให้เกิดความโปร่งใสตรวจสอบได้

นอกจากนี้ ในส่วนองการกำหนดคุณสมบัติ ไม่ใช่แค่บอกว่าต้องมีประสบการณ์ เช่น ด้านบัญชีก็ต้องบอกไปเลยว่าเชี่ยวชาญระดับไหน ต้องผ่านระดับประธานสภาวิชาชีพบัญชีหรือระดับไหนให้ชัด ไม่ใช่จะเอาใครมาก็ได้ หรืออย่างสิงคโปร์ก็เปิดให้มีกรรมการมาจากต่างประเทศทั่วโลกที่มีประสบการณ์ความรู้ความสามารถ แต่ของไทยยังจำกัดว่าต้องเป็นคนไทย รวมทั้งต้องสร้างแรงจูงใจให้คนมีความรู้ความสามารถเข้ามาทำงานด้วย

ดร.เดือนเด่น กล่าวว่า หากไม่ต้องการให้กรรมการรัฐวิสาหกิจต้องเปลี่ยนไปด้วยการเมือง ก็ต้องทำให้ที่มาไม่ได้มาจากการเมือง คือทำให้การคัดเลือกมาจากระบบที่ไม่ใช่ตามใครคนใดคนหนึ่ง การจะเอาออกจากตำแหน่งก็จะทำตามใจไม่ได้ วิธีที่ง่ายที่สุด คือ เปิดให้ประชาชน 70 ล้านคนได้เข้าไปตรวจสอบ พิจารณาคุณสมบัติ เพื่อเปรียบเทียบได้ว่าดีกว่าอย่างไร โดยสิ่งสำคัญไม่ใช่แค่กระบวนการคัดเลือกกรรมการ แต่ยังต้องมีกลไกการตรวจสอบการทำงาน ผู้บริหารระดับสูงของรัฐวิสาหกิจด้วย เช่น แคนาดา กรรมการรัฐวิสาหกิจทุกแห่งจะทำอะไร ต้องรายงานเปิดเผยให้ประชาชนได้รับรู้ตรวจสอบได้ ซึ่งตรงนี้เป็นเรื่องของความโปร่งใส

กรรมการองค์กรต่อต้านคอร์รัปชันฯ ย้ำต้องเปิดเผยข้อมูลเพื่อความโปร่งใส จี้รัฐวิสาหกิจเดินหน้าเปิดข้อมูลเบื้องต้น 56 - 1

นายบรรยง พงษ์พานิช ประธานกรรมการบริษัทหลักทรัพย์ ภัทร จำกัด (มหาชน) และ กรรมการองค์การต่อต้านคอร์รัปชัน (ประเทศไทย) กล่าวว่า รัฐวิสาหกิจไทยมีค่าใช้จ่ายต่อปี 5 ล้านล้านบาท มากกว่างบประมาณรายจ่ายประจำปีของประเทศที่อยู่ประมาณ 3 ล้านล้านบาท ดังนั้นถ้าหากมีการรั่วไหลจะรั่วไหลตรงไหนได้มากกว่ากัน โดยก่อนหน้านี้ คณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ได้ตั้งซุปเปอร์บอร์ดขึ้นมาเพื่อพัฒนาการดำเนินงานทำให้เกิดความโปร่งใส มีคุณค่า

ทั้งนี้ จากเดิมได้มีการวางกรอบร่าง พ.ร.บ.ของรัฐวิสาหกิจตามแนวทางของ OECD และ ธนาคารโลก แบ่งยกบทบาทหน้าที่การกำกับดูแล และการดำเนินการออกจากกันให้ชัดเจน มีกระบวนการส่งผ่านนโยบายที่ดี ไม่ต้องให้นักการเมือง ข้าราชการประจำไปติดตามดูว่าทำตามหรือไม่ เพราะรัฐวิสาหกิจ ตัดออกจากการเมืองไม่ได้ รัฐบาลมีสิทธิที่จะส่งผ่านแนวนโยบายจากการหาเสียงเลือกตั้งได้ แต่ต้องสร้างกระบวนการไม่ให้เกิดการบิดเบือน มีความรับผิดชอบ ชัดเจนโปร่งใส แต่สุดท้ายกฎหมายผ่านออกมาประกาศใช้เมื่อวันที่ 22 พ.ค.ที่ผ่านมา เหมือนเป็นคนละฉบับ เนื้อหาสาระหายไป 2 ใน 3

นายบรรยง กล่าวว่า กรณีที่การเมืองออกมาระบุถึงเรื่องมารยาทเพื่อให้กรรมการรัฐวิสาหกิจออกจากตำแหน่งนั้น ก็ต้องย้อนกลับให้นนักการเมืองไปฝึกมารยาทมากกว่าที่จะมาชี้ให้กรรมการรัฐวิสาหกิจลาออก เพราะการทำงานต้องการความต่อเนื่องหากเปลี่ยนกรรมการบ่อยองค์กรไหนก็ไปไม่รอด เพราะแต่ละที่จะมีระบบธรรมาภิบาล มีวาระที่ต้องสับเปลี่ยนตำแหน่งกำหนดไว้ชัดเจน ที่สำคัญไม่ใช่แค่รัฐบาลที่มีสิทธิเลือกคนเดียว เพราะผู้ถือหุ้นก็ควรมีสิทธิด้วย นอกจากนี้ สิ่งที่สำคัญอีกอย่างคือเรื่องทำระบบให้คนไม่ดีไม่อยากเข้ามา และทำให้คนดีไม่เป๋ ซึ่งต่างประเทศเขามีหลัก GLC หรือ government-linked company ซึ่งเขาไม่เรียกรัฐวิสาหกิจ โดยมีหลักที่จะต้องเปิดเผยเชิงรุก ไม่ใช่รอให้ถามแล้วค่อยตอบ

"ตอนที่ตนเป็น คนร. ไปประชุมครั้งแรกเมื่อปี 2557 เคยเสนอให้รัฐวิสาหกิจทั้ง 56 แห่งต้องเปิดเผยข้อมูลอย่างน้อยเทียบเท่ากับบริษัทจดทะเบียน มีการยื่นแบบแสดงรายการข้อมูลประจำปี (แบบ 56-1) โดยครม. อนุมัติแล้วแต่ 5 ปี ผ่านมาทำไปไม่ถึงครึ่ง ดังนั้นจึงอยากฝากว่าการเปิดเผยข้อมูลเป็นจุดสำคัญสำหรับการต่อต้านคอร์รัปชัน ซึ่งไม่ง่ายแต่ก็ไม่ใช่เรื่องเหนือบ่ากว่าแรงที่จะทำ" นายบรรยงกล่าว

ข่าวประชาสัมพันธ์ล่าสุด

๑๑ เม.ย. อ.อ.ป. ร่วม พิธีสรงน้ำพระ ขอพร เนื่องในวันสงกรานต์ประจำปี 2567 ทส.
๑๑ เม.ย. 1 จาก 1,159 ศูนย์การค้า เดอะ พาลาเดียม เวิลด์ ช้อปปิ้ง ส่งมอบลอตเตอรี่ที่ไม่ถูกรางวัล จำนวน 125,500 ใบ ให้กับศูนย์สาธารณสงเคราะห์เด็กพิเศษ วัดห้วยหมู
๑๑ เม.ย. JPARK ประชุมสามัญผู้ถือหุ้นประจำปี 2567 ผถห. อนุมัติปันผล 0.0375 บาทต่อหุ้น
๑๑ เม.ย. สเก็ตเชอร์ส สนับสนุนเทคโนโลยีเพื่อความสบายแก่บุคลากรทางการแพทย์ บริจาครองเท้ารุ่น GOwalk 7(TM) สำหรับบุคลากรทางการแพทย์
๑๑ เม.ย. ศูนย์คนหายไทยพีบีเอส ร่วมกับสถาบันนิติวิทยาศาสตร์ ทำงานเชิงป้องกัน เก็บก่อนหาย ในผู้สูงอายุ
๑๑ เม.ย. จุฬาฯ อันดับ 1 ของไทย การจัดอันดับมหาวิทยาลัยโดย QS WUR by Subject 2024
๑๑ เม.ย. ครั้งแรกในไทย 'Pet Us' เนรมิตพื้นที่จัดกิจกรรม มะหมามาหาสงกรานต์ ชวนน้องหมาทั่วทั้ง 4 ภาคร่วมสนุกในช่วงสงกรานต์ 13-14 เมษายน ตอกย้ำความสำเร็จฉลอง 'Pet Us' ครบ 3
๑๑ เม.ย. LINE STICKER OCHI MOVE จาก OCEAN LIFE ไทยสมุทร คว้ารางวัลชนะเลิศ Best Sponsored Stickers in Insurance ในงาน LINE THAILAND AWARDS
๑๑ เม.ย. วว. ผนึกกำลังหน่วยงานเครือข่าย พัฒนาเชื่อมโยงการค้า ตลาด วิจัย เทคโนโลยี นวัตกรรม สู่การพัฒนาที่ยั่งยืน
๑๑ เม.ย. บริษัท เค วัน วัน ดี จำกัด ถือฤกษ์ดีจัดพิธีบวงสรวง ซีรี่ส์ Girl's Love เรื่องใหม่ Unlock Your Love : รักได้ไหม ?