PwC-World Bank เผยผลวิจัยใหม่ พบเทคโนโลยีทำให้ทั่วโลกจ่ายภาษีธุรกิจง่ายขึ้น

อังคาร ๒๖ พฤศจิกายน ๒๐๑๙ ๐๗:๐๑
PwC และ World Bank Group ประกาศเปิดตัวรายงานวิจัยประจำปีในหัวข้อ Paying Taxes 2020 ซึ่งได้ศึกษาการบริหารงานภาษีอากรทั่วโลก รายงานดังกล่าวพบว่า หลาย ๆ ประเทศทั่วโลกได้งัดใช้พลังของเทคโนโลยี เพื่อทำให้การจ่ายภาษีธุรกิจของบริษัทต่าง ๆ นั้นเป็นเรื่องง่ายขึ้น

รายงานดังกล่าวมีขึ้นเป็นฉบับที่ 14 แล้ว โดยฉบับล่าสุดนี้ชูให้เห็นข้อได้เปรียบสำคัญที่ฝ่ายบริหารงานภาษีมอบให้แก่ผู้ชำระภาษีหากใช้ความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีให้เกิดประโยชน์ โดยทั้งในบราซิลและเวียดนาม ระยะเวลาที่จำเป็นในการปฏิบัติตามข้อผูกมัดด้านภาษีปรับตัวลดลง 23% ในปี 2561 เมื่อเทียบกับปี 2560 ส่วนที่ประเทศโกตดิวัวร์ สาธารณรัฐคีร์กีซ และอิสราเอลนั้น ตัวเลขการชำระภาษีได้ปรับตัวลงอย่างมาก

ในภาพรวมแล้ว ภาระในการปฏิบัติตามข้อกำหนดด้านภาษีธุรกิจเฉลี่ยทั่วโลกยังคงค่อนข้างทรงตัว เมื่อดูจากเกณฑ์วัดหลัก 4 ประการที่ใช้ประเมินความสะดวกสบายในการจ่ายภาษีสำหรับธุรกิจต่าง ๆ เกณฑ์วัดเหล่านี้ประกอบด้วยเวลาในการปฏิบัติตาม (234 ชั่วโมง) จำนวนการชำระ (23.1) อัตราภาษีและภาษีพิเศษ (40.5%) และดัชนีวัดกระบวนการหลังยื่นภาษี (60.9 จาก 100)

สำหรับอัตราภาษีและภาษีพิเศษนั้นค่อนข้างทรงตัวทั่วโลก แต่ก็มีบางประเทศที่มีการเปลี่ยนแปลงนโยบายอยู่บ้าง โดยซาอุดีอาระเบียและสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ได้เริ่มเก็บภาษีมูลค่าเพิ่ม (VAT) เพราะทั้งสองประเทศต้องการขยายฐานภาษีและลดการพึ่งพารายได้จากทรัพยากรธรรมชาติ ส่วนประเทศกานาได้ทยอยย้ายจากการใช้โครงสร้าง VAT ไปเป็นภาษีขายในขั้นต่าง ๆ นอกจากนี้ แกมเบีย สหรัฐอเมริกา จีน และโมร็อกโก ยังได้มีการลดภาษีที่คิดจากผลกำไรของบริษัทด้วย

นอกจากนี้ การเพิ่มการเข้าถึงช่องทางขอคืนภาษีมูลค่าเพิ่ม ยังได้เข้ามามีบทบาทสำคัญในการยกระดับกระบวนการหลังยื่นภาษีในอาร์เมเนียและอียิปต์

นับตั้งแต่ปี 2555 ระยะเวลาในการปฏิบัติตามข้อกำหนดด้านภาษีโดยเฉลี่ยนั้นปรับตัวลดลง 27 ชั่วโมง ส่วนจำนวนครั้งการชำระก็ปรับตัวลดลงเฉลี่ย 4.4 ครั้ง โดยเป็นผลจากความก้าวหน้าทางเทคโนโลยี ขณะที่อัตราภาษีและภาษีพิเศษขยับลงแตะ 40.5% จากระดับ 41.9% ในช่วงเวลาเดียวกัน

ส่วนดัชนีวัดกระบวนการหลังยื่นภาษี ซึ่งเปิดตัวเมื่อปี 2557 ได้ปรับตัวเพิ่มขึ้นแตะ 60.9 ในปี 2561 จากระดับ 58.9 เมื่อ 5 ปีก่อนหน้า โดยการปรับตัวขึ้นที่ไม่มากนักนี้ได้ซ่อนความก้าวหน้าครั้งใหญ่ในหลาย ๆ ประเทศ ที่โดดเด่นที่สุดคือ บริษัทต่าง ๆ ขอคืนภาษี VAT ได้แล้วในทำนองเดียวกับกรณีศึกษาในอาร์เมเนียและอียิปต์ ขณะที่ตุรกีได้ยกเว้นให้การซื้อหลักทรัพย์ทุนไม่ต้องเสียภาษี VAT นอกจากนี้ กระบวนการขอคืนภาษี VAT ยังมีประสิทธิภาพมากขึ้นในอิสราเอลและโกตดิวัวร์ ส่วนการแก้ไขแบบแสดงรายการภาษีเงินได้นิติบุคคลในเอลซัลวาดอร์ ฮังการี ไทย และตูนิเซีย นั้นได้มีการปรับปรุงให้มีประสิทธิภาพขึ้น

เทคโนโลยีใหม่ ๆ เปิดโอกาสให้ฝ่ายบริหารงานภาษีอากรสามารถปรับปรุงกระบวนการชำระภาษีให้มีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น และสิ่งเหล่านี้มีการพัฒนาอยู่ตลอดเวลา ฝ่ายบริหารงานภาษีจึงจำเป็นต้องติดตามความก้าวหน้าของเทคโนโลยีอยู่เสมอ และงัดใช้เทคโนโลยีให้เกิดประโยชน์ต่อทั้งหน่วยงานและผู้ชำระภาษี ขณะที่ธุรกิจต่าง ๆ ควรผนวกรวมเทคโนโลยีภาษีใหม่ ๆ เข้ากับการดำเนินงานของตน เพื่อตอบรับกับความต้องการที่เพิ่มมากขึ้นจากฝ่ายบริหารงานภาษีในเรื่องข้อมูล

Rita Ramalho ผู้จัดการอาวุโสของ Global Indicators Group ในสังกัด World Bank กล่าวว่า "สำหรับรัฐบาลทุกประเทศแล้ว การบริหารงานภาษีที่มีประสิทธิภาพคือสิ่งสำคัญ ประสิทธิภาพในการทำงานของฝ่ายบริหารภาษีนั้นมีอิทธิพลต่อทัศนคติของรัฐบาล หากการชำระภาษีเป็นเรื่องง่าย ตรงไปตรงมา และยุติธรรมแล้ว สิ่งนี้จะสะท้อนผลลัพธ์ที่ดี และช่วยส่งเสริมแรงสนับสนุนการเก็บรายได้ที่มีส่วนสำคัญในการให้บริการที่จำเป็นเช่นนี้"

Andrew Packman หัวหน้าฝ่าย Tax Transparency and Total Tax Contribution ของ PwC กล่าวว่า "การวิจัยนี้แสดงให้เห็นว่า รัฐบาลและฝ่ายดูแลภาษีจำเป็นต้องเดินหน้าลงทุนต่อไปในการปรับปรุงระบบบริหารภาษีให้ทันสมัย อย่างไรก็ดี รัฐบาลทุกประเทศก็จำเป็นต้องเข้าใจความหมายของฉันทามติใหม่ ๆ ที่เกิดขึ้นอันเป็นผลจากการทำงานของกลุ่ม OECD และ G20 ในเรื่องระบบภาษีเศรษฐกิจดิจิทัล"

หมายเหตุ

Paying Taxes 2020 ศึกษาเปรียบเทียบระบบการจัดเก็บภาษีธุรกิจใน 190 ประเทศ รายงานฉบับนี้ช่วยให้รัฐบาลและบริษัทต่าง ๆ เข้าใจว่า ระบบภาษีของตนสอดคล้องกับการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นทั่วโลกหรือไม่ และช่วยให้พวกเขาได้เรียนรู้จากความเคลื่อนไหวของผู้อื่น รายงานนี้จำลองระบบภาษีธุรกิจในแต่ละประเทศโดยใช้บริษัทในประเทศขนาดกลางเป็นกรณีศึกษา

รับชมรายงานฉบับเต็มได้ที่ https://www.pwc.com/payingtaxes

เกี่ยวกับ World Bank Group

World Bank Group เป็นแหล่งเงินทุนและคลังความรู้ที่ใหญ่เป็นอันดับต้น ๆ ของโลกสำหรับประเทศกำลังพัฒนา โดยมีสถาบันในเครือ 5 แห่งที่ล้วนมีความมุ่งมั่นเดียวกันในการลดปัญหาความยากจนและส่งเสริมความเจริญรุ่งเรืองร่วมกัน ได้แก่ The International Bank for Reconstruction and Development (IBRD), The International Development Association (IDA), The International Finance Corporation (IFC), The Multilateral Investment Guarantee Agency (MIGA) และ The International Centre for Settlement of Investment Disputes (ICSID) สถาบันเหล่านี้มีประเทศสมาชิกรวมกัน 189 ประเทศ และมีสำนักงานในกว่า 130 แห่ง โดยทำงานร่วมกันเพื่อให้เงินทุน คำปรึกษาด้านนโยบาย ความช่วยเหลือทางเทคนิค การประกันความเสี่ยงทางการเมือง และการระงับข้อพิพาทแก่บริษัทเอกชน เพื่อให้ประเทศต่าง ๆ พัฒนาได้อย่างยั่งยืน

เกี่ยวกับ PwC

ที่ PwC เป้าประสงค์ของเราคือการสร้างความไว้วางใจในสังคมและช่วยแก้ปัญหาสำคัญให้กับลูกค้า เราเป็นเครือบริษัทใน 157 ประเทศทั่วโลก และมีพนักงานมากกว่า 276,000 คน ที่ยึดมั่นในการส่งมอบบริการคุณภาพด้านการตรวจสอบบัญชี ที่ปรึกษาทางธุรกิจ และภาษี หากคุณต้องการข้อมูลเพิ่มเติม สามารถเยี่ยมชมเว็บไซต์ของเราได้ที่ www.pwc.com

PwC หมายถึงเครือข่ายบริษัท PwC และ/หรือบริษัทสมาชิกหนึ่งบริษัทหรือหลายบริษัท โดยแต่ละบริษัทเป็นนิติบุคคลที่แยกกันชัดเจน สามารถดูรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ www.pwc.com/structure

(C) 2019 PwC สงวนลิขสิทธิ์

ติดต่อ:

Dalia Adawieh

มือถือ: +966590443771

อีเมล: [email protected]

Mark Felsenthal, World Bank

โทร: +1-(202)-458-0051

อีเมล: [email protected]

ข่าวประชาสัมพันธ์ล่าสุด

๑๑:๔๔ กรรมการ กคช. ลงพื้นที่ชุมชนดินแดง ย้ำ ! ตรวจสอบอาคาร D1 ให้ละเอียด เพื่อสร้างความมั่นใจให้พี่น้องดินแดง
๑๑:๑๑ สาขาการผลิตอีเว้นท์ฯ ม.กรุงเทพ พร้อมผลักดันวงการ T-POP ใน CHECKMATE T-POP DANCE BATTLE
๑๐:๑๓ ฟอร์ติเน็ตผนึกมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลล้านนา พร้อมเป็นศูนย์กลางภาคเหนือ สร้างกำลังพลมืออาชีพด้านไซเบอร์เต็มรูปแบบ
๑๐:๕๘ เดอะไนน์ เซ็นเตอร์ พระราม 9 ชวนสัมผัสฟาร์มกลางท้องทุ่ง และเรียนรู้อนุรักษ์ควายไทย ในงาน INTO THE FARM มนต์รัก
๑๐:๓๐ วว. แนะวัสดุปลูกต้นอ่อนทานตะวันจากก้อนเห็ดเก่าใช้แล้ว
๑๐:๒๑ MICRO จัดประชุมสามัญผู้ถือหุ้น (E-AGM) ประจำปี 2567 ชูกระแสเงินสดแกร่ง - เตรียมชำระคืนหุ้นกู้ 321 ลบ. เม.ย.
๐๙:๔๓ ยางคอนติเนนทอล ฉลองครบรอบความสำเร็จ 15 ปี ในประเทศไทย และการก่อตั้งโรงงานยางคอนติเนนทอลแห่งแรกในประเทศไทยกว่า 5
๐๙:๕๖ เนสท์เล่ ประเทศไทย เร่งเครื่องกลยุทธ์ ขับเคลื่อนสิ่งดี ๆ เพื่อผู้บริโภค นำเสนอผลิตภัณฑ์ ที่อร่อยและมีคุณค่าโภชนาการ
๐๙:๑๑ วอลโว่ คาร์ ประเทศไทย เปิดศูนย์บริการซ่อมตัวถั และสีมาตรฐานครบวงจรแห่งใหม่ ณ โชว์รูมและศูนย์บริการวอลโว่ พระนคร
๐๙:๔๔ HONNE (ฮอนน์) วงดูโอ้สุดแนวจากอังกฤษ ปล่อยเพลงใหม่ Imaginary ต้อนรับศักราชใหม่ เรื่องราวความรักโรแมนติกที่อิงจากชีวิตจริง