ผลการประชุมร่วมกันระหว่างคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) และคณะกรรมการนโยบายสถาบันการเงิน (กนส.) วันที่ 16 ธันวาคม 2562

อังคาร ๒๔ ธันวาคม ๒๐๑๙ ๐๗:๕๑
ธนาคารแห่งประเทศไทยเปิดเผยผลการประชุมร่วมกันระหว่าง กนง. และ กนส. วันที่ 16 ธันวาคม 2562 เพื่อติดตามและประเมินเสถียรภาพระบบการเงินไทย โดยมีประเด็นสำคัญดังนี้

ที่ประชุมเห็นว่าระบบการเงินไทยโดยรวมมีเสถียรภาพ ธนาคารพาณิชย์ (ธพ.) และธุรกิจประกันภัยมีเงินกองทุนอยู่ในระดับสูงอย่างไรก็ดี ระบบการเงินไทยยังคงมีจุดที่สะสมความเปราะบางภายใต้แนวโน้มเศรษฐกิจโลกและไทยที่ชะลอตัว และภาวะอัตราดอกเบี้ยต่ำต่อเนื่องเป็นเวลานานโดยที่ประชุมให้ความสำคัญกับประเด็นหลัก 4 เรื่อง ดังนี้

1. สินเชื่อเพื่อที่อยู่อาศัยปล่อยใหม่ในช่วง 9 เดือนแรกของปียังขยายตัว โดยสินเชื่อสำหรับผู้กู้ซื้อที่อยู่อาศัยหลังแรก (ผ่อนสัญญาเดียว) ไม่ได้รับผลกระทบจากหลักเกณฑ์กำกับดูแลสินเชื่อเพื่อที่อยู่อาศัย (มาตรการ loan to value: LTV) โดย LTV ยังทรงตัวในระดับสูง อย่างไรก็ดี สัญญาณการเก็งกำไรและความไม่สมดุลในตลาดอสังหาริมทรัพย์ปรับลดลงสอดคล้องกับเจตนารมณ์ของมาตรการ LTV กล่าวคือ (1) สถาบันการเงินมีมาตรฐานการพิจารณาสินเชื่อที่รัดกุมขึ้น สะท้อนจากค่าเฉลี่ย LTV ที่ลดลงสำหรับการกู้ซื้อที่อยู่อาศัยสัญญาที่ 2 ขึ้นไป (2) การเก็งกำไรชะลอลง สะท้อนจากจำนวนบัญชีสินเชื่อปล่อยใหม่สัญญาที่ 2 ขึ้นไปของ ธพ. ที่ลดลง โดยการลดลงในไตรมาสที่ 3 มีสัญญาณชะลอลงจากไตรมาสที่ 2 และ (3) ผู้ประกอบการอสังหาริมทรัพย์ชะลอการเปิดขายโครงการใหม่ การปรับตัวนี้จะช่วยให้อุปทานคงค้างปรับลดลงต่อไปและตลาดที่อยู่อาศัยเข้าสู่ภาวะสมดุล อย่างไรก็ดี คาดว่าจะเห็นอุปทานคงค้างในบางพื้นที่ลดลงช้ากว่าตลาดโดยรวมเพราะได้รับผลกระทบจากการชะลอตัวของอุปสงค์ต่างชาติและมีอุปทานคงค้างอยู่ในระดับสูงตั้งแต่ก่อนมาตรการ LTV มีผลบังคับใช้ อีกทั้งผู้ประกอบการรายเล็กปรับตัวได้ช้ากว่าผู้ประกอบการรายใหญ่ ที่ประชุมจึงเห็นควรให้ติดตามการปรับตัวของตลาดที่อยู่อาศัยอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะภาวะอุปทานคงค้างในตลาดอาคารชุดซึ่งอุปทานใช้เวลาปรับตัวนานกว่าแนวราบ

2. สถานการณ์หนี้ครัวเรือนและสินเชื่อธุรกิจ SMEs ยังคงน่ากังวล โดยสัดส่วนหนี้ครัวเรือนต่อ GDP อยู่ในระดับสูงและมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นในภาวะเศรษฐกิจชะลอตัว ส่วนหนึ่งเพราะ ธพ. และผู้ประกอบธุรกิจการเงินที่มิใช่ธนาคาร (non-banks) ยังขยายการปล่อยสินเชื่อให้กับครัวเรือน โดยเฉพาะสินเชื่อบัตรเครดิตและสินเชื่อส่วนบุคคล จึงต้องติดตามครัวเรือนบางกลุ่มที่มีฐานะทางการเงินเปราะบางมากขึ้น โดยเฉพาะครัวเรือนที่อ่อนไหวต่อปัจจัยลบด้านรายได้ เช่น จากการจ้างงานและชั่วโมงการทำงานที่ลดลง ขณะเดียวกัน คุณภาพของสินเชื่อธุรกิจ SMEs ด้อยลงต่อเนื่อง โดยปัญหาสินเชื่อด้อยคุณภาพเริ่มขยายวงจากธุรกิจขนาดเล็กซึ่งเดิมมีความเปราะบางสูงไปสู่ธุรกิจที่มีขนาดใหญ่ขึ้น

ภายใต้ภาวะที่เศรษฐกิจมีแนวโน้มชะลอตัวและธุรกิจต้องเผชิญการเปลี่ยนแปลงเชิงโครงสร้าง ที่ประชุมเห็นว่าการดูแลปัญหาหนี้ครัวเรือนและธุรกิจ SMEs ต้องบูรณาการความร่วมมือจากทุกภาคส่วนและต้องดำเนินการแบบองค์รวมทั้งในเชิงป้องกันและเชิงแก้ไข รวมทั้งต้องให้ความสำคัญกับการปรับโครงสร้างหนี้ที่มีปัญหาอยู่เดิม โดยที่ผ่านมาธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.)ขอความร่วมมือจากสถาบันการเงินปล่อยสินเชื่ออย่างเหมาะสมตามความสามารถในการชำระหนี้และการดำรงชีพของผู้กู้ รวมทั้งขอให้ดูแลลูกหนี้ตั้งแต่เริ่มเห็นสัญญาณความสามารถในการชำระหนี้ที่ด้อยลงเพื่อไม่ให้กลายเป็นหนี้เสียในอนาคตและเร่งปรับโครงสร้างหนี้ของลูกหนี้ SMEs กลุ่มที่มีศักยภาพแต่ขาดสภาพคล่องชั่วคราวเพื่อให้สามารถดำเนินกิจการต่อได้ นอกจากนี้ ธปท. ร่วมกับบริษัท บริหารสินทรัพย์สุขุมวิท จำกัด ขยายขอบเขตโครงการคลินิกแก้หนี้ให้ครอบคลุมลูกหนี้ที่มีเจ้าหนี้รายเดียวและที่อยู่ระหว่างการดำเนินคดีด้วย ในระยะต่อไป ที่ประชุมเห็นควรศึกษาหาแนวทางเพิ่มเติมเพื่อช่วยเหลือลูกหนี้ที่มีศักยภาพในวงที่กว้างขึ้น

3) ภายใต้ภาวะอัตราดอกเบี้ยต่ำต่อเนื่องเป็นเวลานาน พบการสะสมความเปราะบางทั้งด้านการระดมทุนและพฤติกรรมการแสวงหาผลตอบแทนที่สูงขึ้น (search for yield) กล่าวคือ (1)ภาคธุรกิจออกตราสารหนี้ที่ให้ผลตอบแทนสูง (high-yield bonds) เพิ่มขึ้นในภาวะที่ ธพ. ระมัดระวังการปล่อยสินเชื่อแก่ธุรกิจ และกองทุนตราสารหนี้ที่มีกำหนดอายุโครงการ (term funds) ที่ลงทุนต่างประเทศมีการลงทุนกระจุกตัวสูงในบางประเทศและผู้ออกตราสารบางราย ซึ่งส่วนใหญ่ของตราสารเหล่านี้ถือครองโดยนักลงทุนบุคคลซึ่งอาจไม่ได้รับข้อมูลความเสี่ยงของผลิตภัณฑ์อย่างครบถ้วน สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) จึงได้ยกระดับการกำกับดูแลกองทุนรวมและการออกตราสารหนี้ รวมทั้งมีการติดตามอย่างใกล้ชิด โดยปรับหลักเกณฑ์การเสนอขายและการให้ข้อมูลผลิตภัณฑ์ทางการเงินแก่ผู้ลงทุน เพื่อให้ผู้ลงทุนได้รับข้อมูลเพียงพอและคำแนะนำที่เหมาะสมกับระดับความเสี่ยงที่ยอมรับได้ของผู้ลงทุนแต่ละประเภท และ (2) กลุ่มธุรกิจขนาดใหญ่ระดมทุนโดยเฉพาะผ่านการออกตราสารหนี้เพิ่มขึ้น ทำให้ตลาดตราสารหนี้มีความเสี่ยงกระจุกตัวในกลุ่มธุรกิจขนาดใหญ่สูงขึ้น กอปรกับการประเมินความเสี่ยงของกลุ่มธุรกิจขนาดใหญ่ทำได้ยาก เนื่องจากโครงสร้างธุรกิจและการเงินมีความซับซ้อน การดูแลความเสี่ยงในส่วนนี้จึงจำเป็นต้องอาศัยความร่วมมือระหว่างหน่วยงานกำกับดูแลอย่างใกล้ชิด

ด้านธุรกิจประกันภัยยังเผชิญแรงกดดันด้านการทำกำไรในภาวะอัตราดอกเบี้ยต่ำ โดยในช่วงที่ผ่านมาธุรกิจประกันภัยได้ปรับตัวทั้งด้านสินทรัพย์ลงทุนและการออกผลิตภัณฑ์ที่เน้นความคุ้มครองแทนการรับประกันผลตอบแทนมากขึ้น ทั้งนี้ สำนักงานคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย (คปภ.) ได้ปรับปรุงเกณฑ์เพื่อช่วยการปรับตัวของธุรกิจประกันภัย ทั้งการปรับเกณฑ์ด้านการลงทุนให้สามารถขยายการลงทุนไปสู่นอกภูมิภาคอาเซียน และการให้ข้อมูลที่ถูกต้องและเพียงพอแก่ผู้บริโภคเพื่อรองรับการปรับตัวด้านผลิตภัณฑ์ประกันภัยที่มุ่งไปสู่การให้ความคุ้มครองมากขึ้น

4) ความเชื่อมโยงภายในระบบสหกรณ์ออมทรัพย์เพิ่มขึ้นจากการรับฝากและปล่อยกู้ระหว่างกัน ซึ่งอาจเป็นช่องทางสำคัญในการส่งผ่านความเสี่ยงในระบบสหกรณ์ออมทรัพย์ ขณะที่พฤติกรรม search for yield ยังมีต่อเนื่อง สะท้อนจากสัดส่วนการลงทุนในตราสารหนี้ภาคเอกชนที่เพิ่มขึ้น ที่ประชุมจึงเห็นว่าภาครัฐและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องจำเป็นต้องเร่งผลักดันกฎกระทรวงประกอบพระราชบัญญัติสหกรณ์ให้มีผลบังคับใช้โดยเร็ว โดยเฉพาะหลักเกณฑ์ด้านการลงทุน การบริหารจัดการความเสี่ยงด้านเครดิตและสภาพคล่อง และการก่อหนี้ของลูกหนี้สมาชิก ทั้งนี้ ยังต้องติดตามสหกรณ์ออมทรัพย์โดยเฉพาะกลุ่มที่ขาดสภาพคล่อง ซึ่งอาจมีความเสี่ยงเพิ่มขึ้นในภาวะเศรษฐกิจชะลอตัว

ที่ประชุมประเมินว่าระบบการเงินไทยโดยรวมมีเสถียรภาพ แต่ความเสี่ยงในระยะข้างหน้ายังอยู่ในระดับสูงจากแนวโน้มเศรษฐกิจโลกและไทยที่ขยายตัวชะลอลงและอัตราดอกเบี้ยที่อยู่ในระดับต่ำนานขึ้น ซึ่งเอื้อต่อการสะสมความเปราะบางในระบบการเงิน ที่ประชุมเห็นควรให้ติดตามพัฒนาการใน 4 ประเด็นข้างต้นอย่างใกล้ชิด รวมถึงติดตามผลของมาตรการที่ได้ดำเนินการไปแล้วและศึกษามาตรการที่เหมาะสมเพิ่มเติมเพื่อดูแลความเสี่ยงเชิงระบบที่อาจเพิ่มขึ้นในอนาคต

ทั้งนี้ หน่วยงานกำกับดูแลทั้ง ธปท. ก.ล.ต. และ คปภ. จะร่วมกันประเมินและติดตามความเสี่ยงต่าง ๆ อย่างต่อเนื่อง รวมถึงปรับปรุงและบังคับใช้กฎเกณฑ์การกำกับดูแลให้เหมาะสมกับสถานการณ์ในแต่ละช่วงเวลา เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดปัญหาที่อาจกระทบกับเสถียรภาพระบบการเงินไทย

ข่าวประชาสัมพันธ์ล่าสุด

๒๘ มี.ค. องค์การบรรจุภัณฑ์โลก จับมือ อินฟอร์มา มาร์เก็ตส์ ประเทศไทย ร่วมจัดกิจกรรมสัมมนาออนไลน์
๒๘ มี.ค. การแข่งขันกีฬาขี่ม้าโปโลรายการ King Power International Ladies' Polo Tournament 2024
๒๘ มี.ค. DEXON ปักธงรายได้ปี 67 ทะลุ 700 ลบ. โชว์ Backlog เฉียด 280 ลบ. ล็อคมาร์จิ้น 35-40%
๒๘ มี.ค. JPARK ร่วมงาน Dinner Talk ผู้บริหารจดทะเบียนพบนักลงทุน จ.ราชบุรี
๒๘ มี.ค. นีเวีย ซัน และ วัตสัน จับมือต่อปีที่สองชวนดูแลท้องทะเล กับโครงการ เพราะแคร์ จึงชวนแชร์ ร่วมพิทักษ์รักษ์ทะเลไทย
๒๘ มี.ค. Cloud เทคโนโลยีที่อยู่ใกล้ตัว เพียงแค่คุณไม่รู้เท่านั้นเอง
๒๘ มี.ค. โรยัล คานิน ร่วมกับ เพ็ทแอนด์มี จัดงาน Royal Canin Expo 2024: PAWRENTS' DAY เพื่อสร้างโลกที่ดีขึ้นสำหรับน้องแมวและน้องหมา
๒๘ มี.ค. STEAM Creative Math Competition
๒๘ มี.ค. A-HOST ร่วมวาน MFEC Inspire ขึ้นบรรยายพร้อมจัดบูธ Cost Optimization Pavilion
๒๘ มี.ค. ฟินเวอร์! ส่องความคิ้วท์ 'ฟอส-บุ๊ค' ควงคู่ร่วมงาน Discover Thailand เสิร์ฟโมเมนต์ฉ่ำให้แฟนๆ ได้ดับร้อนกันยกด้อมรับซัมเมอร์ และร่วมส่งต่อความสุขในกิจกรรม 'Exclusive Unseen Food Trip กับ คู่ซี้